หลวงนายสิทธิ์ ใน คคห. ๑๔๓ ก็คือ
(ในรัชกาลที่ ๓) หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก (ช่วง บุนนาค) ต่อมาก็คือ จมื่นไวยวรนาถ (เพิ่มสร้อยเป็น จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์) หัวหมื่นมหาดเล็ก
และได้เลื่อนเป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ประมาณปีสุดท้ายในรัชกาล
ในรัชกาลที่ ๔ เป็นที่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ศักดินา ๒๐๐๐๐ (พิเศษ) เครื่องยศเทียบที่เจ้าต่างกรม (เข้าใจว่า เทียบที่พระองค์เจ้าตั้ง คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในบัดนี้)
ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็น ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และภายหลังได้เป็นที่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ศักดินา ๓๐๐๐๐ เครื่องยศเทียบที่พระองค์เจ้าต่างกรม
(เข้าใจว่า เทียบที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในบัดนี้ บ้างก็ว่าเทียบที่ กรมหลวง)
อธิบายยืดยาว เผื่อท่านที่ไม่ทราบว่า หลวงนายสิทธิ์ หรือ จมื่นไวยวรนาถ ในรัชกาลที่ ๓ ที่มีบทบาทในการต่อเรือ การทหารเรือ คือผู้ใด

ในรัชกาลที่ ๔ ท่านได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า
ตำแหน่ง ผบ.ทร.วังหน้า นั้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สืบทอดต่อจากพระราชบิดา
ส่วน ผบ.ทร. วังหลวง นั้น "เจ้าคุณทหาร" เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ วร บุนนาค สืบทอดต่อจากบิดา
ในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ ได้บันทึกไว้ว่า หลวงสิทธิ์นายเวร สนใจในการศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง เป็นนายช่างไทยคนแรกผู้สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้
ท่านได้ต่อเรือกำปั่นรบ เรียกว่าเรือกำปั่นบริค ลำแรกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ โปรดพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" (แต่ฝรั่งเรียกว่า เรืออาเรียล)
และได้ต่อเรือรบอีกหลายลำมีน้ำหนักถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ ตัน สำหรับลำเลียง ทหารไปรบกับญวน ในปลายปี พ.ศ. ๒๓๗๘
ได้ต่อเรือขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานชื่อว่า "ระบิลบัวแก้ว" (ภาษาอังกฤษว่า คองเคอเรอ) ซึ่งใหญ่กว่าเรือลำแรก
ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอู่ต่อเรือขึ้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพ ฯ หลายอู่ เรือกำปั่นลำแรกที่ต่อเสร็จในอู่กรุงเทพฯ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า เรือแคลิโดเนีย เป็นเรือที่ต่อค้างจากจันทบุรี
หลวงนายสิทธิ ได้นำมาต่อเพิ่มเติมจนแล้วเสร็จในอู่กรุงเทพ ฯ เมื่อต่อเรือลำนี้เสร็จ โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้หลวงนายสิทธิ เป็นช่างต่อเรือหลวงและเป็นผู้บัญชาการอู่หลวง
ปี พ.ศ. ๒๓๗๙ หลวงนายสิทธิได้ต่อเรือกำปั่นเสร็จอีก ๔ ลำ ได้แก่ เรือรบวิทยาคม เรือรบวัฒนานาม (แอโร) เรือจินดาดวงแก้ว (ประเภท
เรือบาร์ก ชื่อว่า ซักเซส) เรือลำที่สี่ชื่อ เทพโกสินทร์ (ประเภท
เรือชิป ซึ่งเป็นเรือของแม่ทัพหน้าคราวยกไปตีเมืองบันทายมาศ) เนื่องจากมีเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งหลายลำ จึงจำเป็นต้องจ้างชาวต่างประเทศ มาช่วยฝึกสอนวิชาเดินเรือให้แก่คนไทย ใน พ.ศ. ๒๓๘๐ โปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวอังกฤษชื่อ กัปตันทริกซ์ มาสอนวิชาเดินเรือทั้งเรือรบและเรือเดินสินค้า ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงนายสิทธิได้สร้างเรือกำปั่นแบบฝรั่งขึ้นอีกหลายลำ ได้แก่ เรือราชฤทธิ (พ.ศ. ๒๓๘๔) เรือสยามภพ (พ.ศ. ๒๓๘๕) เรือโผนเผ่นทะเล (พ.ศ. ๒๓๙๒) และเรือจรจบชล (พ.ศ. ๒๓๙๓)
หลวงสิทธินายเวร (ช่วง บุนนาค) รับราชการมี ความดีความชอบมากจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ได้เลื่อนเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก พ.ศ. ๒๓๘๔ เพิ่มสร้อยนามของท่านเป็นจมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์
ในปีนี้ได้เกิดสงครามกับญวน รัชกาลที่ ๓ ได้ให้จัดกองทัพเรือกำปั่นที่ต่อใหม่ โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพหลวง และจมื่นไวยวรนาถ เป็นทัพหน้ายกไปตีเมืองบันทายมาศ
จาก
http://www.marinerthai.com/sara/view.php?No=1113ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ค้นพบมองข้ามเรือกลไฟลำแรกที่ว่านี้ แล้วจัดให้เรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลเป็นเรือกลไฟลำแรกที่คนไทยต่อขึ้นใช้ได้เอง เรือพระที่นั่งลำนี้มีความยาว ๗๕ ฟุต และความกว้าง ๒๐ ฟุต โดยต่อตัวเรือกันที่อู่ตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ส่วนเครื่องจักรกำลัง ๑๕ แรงม้านั้น สั่งซื้อมาจากเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เรือลำนี้สร้างเสร็จและขึ้นระวางประจำการเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ (ค.ศ. ๑๘๕๕) เว็บไซต์ของกองทัพเรือจัดให้เป็นเรือรบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่หนังสือของอาจารย์ ส. พลายน้อย เห็นว่าควรเป็นเรือกลไฟธรรมดา ไม่ใช่เรือรบ เพราะไม่มีปืนใหญ่
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ทรงกล่าวถึงเรื่องการสร้างเรือกลไฟในหนังสือตำนานเรือรบไทยว่า (คัดลอกมาโดยไม่เปลี่ยนตัวสะกด) "เรื่องต่อเรือกลไฟในประเทศนี้ มีปรากฏในจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกัน กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้หมอจันดเลเปนผู้ช่วย ทรงพยายามทำหม้อและเครื่องจักรต่อเรือกลไฟขึ้นได้ลำ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๓ แต่ว่าเปนเรือพอแล่นได้ จะใช้การหาได้ไม่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สั่งเครื่องจักรกลไฟมาแต่เมืองอังกฤษ มาต่อเรือขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เปนเรือจักรข้าง ยาว ๗๕ ฟุต พระราชทานชื่อว่า เรือสยามอรสุมพล นับเปนเรือกลไฟลำแรกซึ่งมีขึ้นในประเทศนี้"
บันทึกของพระองค์ยืนยันเรื่องราวที่กล่าวไว้แล้วเป็นอย่างดี ยกเว้นเฉพาะแหล่งที่มาของเครื่องจักรสำหรับเรือสยามอรสุมพลเท่านั้นที่ขัดกันอยู่