เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 27526 เพื่อชีวา ๕ ยุค
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 24 ม.ค. 11, 15:34

เพิ่งไปหาข้อมูลอาหารมาได้ว่า สมัยก่อนสงครามโลก    ก๋วยเตี๋ยวใส่เครื่อง เช่นเนื้อ ตับ เครื่องใน  จนพูนล้นชาม  ราคา ๕ สตางค์
ข้าวเปล่าจานละ ๒ สตางค์  เนื้อวัวต้มเปื่อยชามละ ๕ สตางค์
ถ้างั้นข้าวต้มไก่น่าจะถูกกว่า ๕ สตางค์  คงประมาณ ๓-๔ สตางค์
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 24 ม.ค. 11, 16:14

ขอบพระคุณครับ ท่านอาจารย์เทาชมพู ผมสารภาพครับว่าในกระบวนเนื้อสัตว์แล้ว ชอบเนื้อวัวเป็นที่หนึ่ง ได้เรียนรู้ข้อมูลจากท่านอาจารย์ว่า สมัยก่อนสงครามโลก ก๋วยเตี๋ยวเนื้อมีเครื่องในครบ ชามละห้าสตางค์แล้วอยากมีเครื่องย้อนเวลาจังครับ เดี๋ยวนี้ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เครื่องในพร้อม ร้านโปรดของผม ราคาปกติ ๕๐ บาท ถ้าจะเพิ่มสามสิบกีบ, ขอบกระด้ง ผ้าขี้ริ้ว ฯลฯ เผลอๆราคาอาจถีบตัวขึ้นถึง ๘๐ ฉะนั้นแม้จะอยากแสนอยากปานใดบางทีก็ต้องประหยัดใจครับผม
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 24 ม.ค. 11, 16:22

ดิฉันเลิกกินเนื้อวัวและทุกอย่างเกี่ยวกับวัว ไม่ว่าหางวัว ลิ้นวัว เครื่องในฯลฯมา ๓๐ กว่าปีแล้ว  เป็นอันว่าประหยัดไปได้ ๘๐ บาท  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 25 ม.ค. 11, 08:43

ขออนุญาตนำจดหมายของคุณชูพงศ์มาลง

เรียน คุณเพ็ญชมพูที่เคารพยิ่งครับ

ผมมีความตั้งใจจะพิมพ์เนื้อร้องเพลง "อาณาจักรความรัก" ลงในกระทู้ เพื่อชีวาห้ายุคครับ แต่เพลงนี้มีความอัศจรรย์นัก ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ แต่งในคุก ทว่าได้บรรเลง/ขับร้องต่อสาธารณชนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้เอง ในคอนเสิร์ต "เพลงของจิตร" ซึ่งจัดขึ้น ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ขับร้องคือ คุณกมลพร หุ่นเจริญ กับ คุณอิสรพงษ์ ดอกยอ เนื่องจากเพลงดังกล่าวเป็นเพลงคู่ ผมเลยไม่แน่ใจว่าต้นฉบับของท่านจิตรจะเป็นดังที่โสตประสาทของตนเองสดับหรือเปล่า จึงตัดสินใจพิมพ์เนื้อมาให้คุณเพ็ญชมพูเมตตาปรู๊ฟให้ก่อนครับ

อาณาจักรความรัก

   (ชาย) เพื่อนรักเอย อยู่หนใด
(หญิง) อยู่แสนไกล

   (ชาย) อย่าเพ่อทอดท้อระทม
(หญิง) ชีวิตสิ้นรักนี้ขื่นขม
อยากตายหลีกหนีความตรอมตรม
(ชาย) อย่าด่วนซานซมหนีชีวิตเลย

   (หญิง) ต่อสู้ชีวิตผู้เดียว
เปล่าเปลี่ยวอ้างว้างจริงอกเอ๋ย สุดทน

(ชาย) โลกยังมีรักจีรัง
อย่าเพ่อสิ้นหวังและหมองหม่น
(หญิง) ฉันตรมจะทนคงอยู่ต่อไป...ไร้ค่า

   (หญิง) อันความรักแท้จริงจากใจ
ฝากไว้ในยอดยุพิน
รักทรยศเหมือนนกผกผิน
โผโบยบินจากรังลืมคู่ไปไม่คืนมา

   (ชาย) อันความรักแท้จริงจากใจ
แผ่กว้างไปในนภา
เหมือนนกน้อยร่อนเริงถลา
เผยอาณาจักรรักกว้างแผ่ไปถึงมวลชน
(ร้องพร้องกัน) รักชนชั้นลำเค็ญยากจน
ไร้ทรยศจากคนและชนชั้นที่ยิ่งใหญ่

   (หญิง) เพื่อนรักเอย อยู่หนใด
(ชาย) อย่าหมองไหม้

   (ชาย) ชีวิตไม่ไร้คุณค่า
(หญิง) อยู่รออนาคตสดใส
(ชาย) แผ่รักที่คับแคบออกไป
(หญิง) ออกสู่ดวงใจผองผู้ทุกข์ยาก

   (ร้องพร้อมกัน) ชีวิตไม่ไร้คุณค่า
อยู่รออนาคตสดใส
แผ่รักที่คับแคบออกไป
ออกสู่ดวงใจผองผู้ทุกข์ยาก...ทั่วแคว้นแดนดิน

   หากคุณเพ็ญชมพูว่าง โปรดปรานีผมสักน้อยหนึ่งเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 25 ม.ค. 11, 08:52

เนื้อเพลง "อาณาจักรรัก" ของคุณชูพงศ์ถูกต้อง เพลงนี้จิตรแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘

เมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจับกุมด้วยข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภ­ายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิ­วนิสต์" เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ขณะที่มีอายุ ๒๘ จิตรให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักง­านสอบสวนว่า

"ข้าฯ ยังไม่แต่งงาน เพราะข้าฯ รู้สึกว่าความรู้สึกในตัวข้าฯ เฉยเมยต่อความรู้สึกทางกามารมณ์ และรู้สึกหนักใจในภาระการครองชีพ กลัวว่าเมื่อได้หญิงใดมาเป็นภรรยาแล้วจะให­้ความสุขกับภรรยาได้ไม่เพียงพอ"

หลายประโยคข้างต้นเป็นปากคำในเชิงคดีความ ซึ่งอาจถูกเขียนขึ้นภายใต้เงื่อนไขหรือเป้­าหมายหนึ่งใดก็เป็นไปได้ แต่อุดมคติที่แท้จริงของเขาต่อเรื่องความร­ัก น่าจะอยู่ในบทเพลง "อาณาจักรความรัก" ที่เขาเขียนขึ้นหลังจากนั้น

จาก นิตยสารสารคดี เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗

เพลงข้างล่างนี้เรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลง และขับร้องประสานเสียงโดย วงออเสตราวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  วันเสาร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 25 ม.ค. 11, 09:36

ขอบพระคุณยิ่งยวดครับ คุณเพ็ญชมพู มาได้รับคำรับรองว่าถูกต้องจากคุณเพ็ญชมพูในวันที่มีม็อบหลากสีพอดีเลยครับ แหะๆ อย่าอ้อยอิ่งทิ้งช่วงดีกว่า ขอเดินเครื่องต่อนะครับทุกท่าน

   สายๆอย่างนี้ ยังไม่เหมาะแก่การปลุกระดมแบบร้อนจัด เอาไว้เที่ยงๆแดดเปรี้ยงแผดเผาก่อนเถิดครับ ค่อยเสนอเพลงอุณหภูมิสูงๆ ผมขอเริ่มด้วยการนำเพลงโปรดของเพื่อนร่วมงานผมมาฝากกันก่อนครับ เวลาผมเปิดฟังทีไร พี่แกต้องร้องตามคลอไปทุกที นี่เป็นเพลงที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกาแปลกออกไปจากปกติที่มักเป็น "สุธรรม บุญรุ่ง" เปลี่ยนมาเป็น "ส. หิรัญภาส" คุณวิชัย นภารัศมี (เมือง บ่อยาง) สันนิษฐานว่า อักษร ส. น่าจะมีที่มาจาก สมจิตร ชื่อเดิมของท่านก่อนจะตัดคำหน้าออก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลจอมพล ป. สมัยนั้น ที่กำหนดให้หญิงชายพึงมีชื่อเสียงเรียงนามเหมาะควรแก่เพศแห่งตน สำหรับ หิรัญภาส นั้น คุณวิชัยให้ความเห็นว่าอาจเป็นนามมารดาของท่าน คุณแม่แสงเงิน ภูมิศักดิ์ (หิรัญ = เงิน ภาส = แสงสว่าง) ผมมิอาจรู้ได้ว่าขณะแต่งเพลงนี้ ท่านจิตร กำลังคิดถึงใคร แต่สัมผัสถึงอารมณ์ห่วงกังวลอันลอยอ้อยอิ่งอยู่ในเนื้อเพลงได้ครับ

ทะเลชีวิต
โดย ส. หิรัญภาส

   ลมหวิว
เจ้าแผ่วโชยพลิ้วมาปลอบใจข้า
ยิ่งกระพือโหมไฟที่เริงร่า
ลนลวกอุราให้แสนสุดร้อนรน

   คอยหา
เหม่อมองขอบฟ้าไยช่างมืดมน
โอ้สุดที่รักล่องลอยทุกข์ทน
ฝ่าคลื่นฝืนลม ว่ายวน

   ดวงดาวเอ๋ย วอนดาวโปรดจงปรานี
วานดาวชี้ทิศทางให้แก่เพื่อนใจ
จงทรงผองพลังยืนหยัดสู้ภัย
ฝ่าฟันจนเขามีชัยรอดพ้นคืนมา

   ความหวัง
โปรดอย่าหักหลังลวงหลอกใจข้า
สิ่งที่ใฝ่ฝันจงอย่าโรยรา
บรรเจิดอยู่บนนภาดังแสงดาว ตราบนิรันดร


 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 25 ม.ค. 11, 09:46



เพลงนี้ จิตรแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เดิมตั้งใจจะให้ชื่อเพลงว่า "ขอบฟ้าสีเงิน" จากหลักฐานที่หลงเหลือ กว่าจะเป็นเพลง "ทะเลชีวิต" จิตรต้องใช้แต่งถึง ๔ ครั้งจึงจะพอใจ วัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ที่ต่อส­ู้กับรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 26 ม.ค. 11, 14:47

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ในทรรศนะส่วนตัวของผม โดยมิต้องอ้างตำรา เอาเฉพาะความรู้สึกล้วนๆ ผมคิดว่า เพลงที่กล่าวถึงชีวิตของ "กลุ่มชน" มิใช่แค่ "ปัจเจกชน" สะท้อนถ่ายวิถีความเป็นอยู่อย่างซื่อตรง หลากหลายมุม ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ น่าจะจัดเข้าทำเนียบเพื่อชีวิตครับ แหละเพลง "ป่าลั่น" ก็เป็นเพลงโปรดของผมอีกเพลงเช่นกันครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งครับที่กรุณานำมาให้รับอรรถรสกันทั่วถ้วน

   ขอบพระคุณคุณ pathuma
 เป็นอเนกอนันต์ครับ สำหรับข้อมูลเสริมที่ผมเองก็ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เอ ว่าแต่ เรื่อง ส.ส. ท่านนั้น เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. อะไรครับ
 

 
กำลังอ่านเรื่องเพลงเก่าเพลินขอวกกลับไปที่เพลงผู้แทนควายที่คุณชูพงค์ นำมาลงทำให้ผมนึกถึงผู้แทนที่ขี่ควายเข้าสภาคือ ส.ส.ไพฑูรย์ วงศ์วานิช ที่ขี่ควายเข้าสภาเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ในเช้าวันที่ 16 เมษายน 2519  คุณไพฑูรย์ เป็นชาวสุราษฎร์ธานี เป็นน้องชายของพลเอก วิมล วงศ์วานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็น ส.ส. สุราษฎร์ธานี ช่วงเดือน เมษายน-ตุลาคม 2519 ซึ่งขณะนั้นการเมืองไทยกำลังร้อนระอุ คุณไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในสี่ของ ส.ส.ที่ยื่นกระทู้ด่วนในสภาเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ผลการอภิปรายทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่อาจเสนอ พ.ร.บ. จำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภทซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 47 อีกทั้งยังไม่สามรถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้(siamparade.wordpress.com)
ลักษณะควายเขากางที่คุณไพฑูรย์ขี่มานั้น สมัยก่อนถ้าควายตายลงก็จะนำเขาทั้ง 2 ข้างไปวางไว้ที่หน้าพระพุทธรูปเพื่อใช้แทนเชิงเทียน ขอเล่าเพิ่มเติมนิดนะครับว่า ควายไทยที่นำมาใช้ไถนานั้นเจ้าของจะตั้งชื่อให้เป็นมงคล เช่นอยากให้เจ้าของมีเงินทอง มาก ก็จะตั้งชื่อว่า พัน หมื่น แสน เป็นต้น บางทีก็ตั้งตามลักษณะเขาควายเช่นไอ้ กาง เป็นต้นหรือถ้าเป็นควายเผือกเพศเมียก็มักเรียกว่า อีเผือก หรือถ้าเป็นเพศผู้ก็เรียกไอ้เผือก ควายแต่ละตัวจะมีทะเบียนบอกรูปพรรณเอาไว้เวลาซื้อขายก็จะใช้ทะเบียนยืนยัน ดูทะเบียนควายไปที่นี่ครับ
http://www.cm108.com/bbb/index.php?showtopic=6140&pid=81871&mode=threaded&start=


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 27 ม.ค. 11, 08:35

ขอบพระคุณครับ คุณ pathuma  ที่กรุณาเล่าเรื่อง ส.ส. ขี่ควายเข้าสภาให้พวกเราได้อ่านกัน ผมอยากรู้จริงๆเจียวครับ ว่าพอคุณไพฑูรย์ วงศ์วานิช ขี่ควายเข้ามา ประดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ (ทว่าที่แท้น่าเกลียด) จะรู้สึกอย่างไร ตอนนั้น ท่านประทานสภาฯ คือใครครับ

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 28 ม.ค. 11, 14:00

กราบขออภัยท่านผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งครับ กระผมหายตัวไปพักหนึ่ง มิได้นำเพลงเสนอต่อท่าน ทั้งนี้ เพราะไปทำการบ้านมาครับ อีกมินาน พอจบเพลงท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ผมก็จะชวนท่านย้อนอดีตสู่ยุคหลัง ๑๔ ตุลาคม ซึ่งถือเป็นยุคทองของเพลงเพื่อชีวิต ก่อนจะดับวูบลงชั่วคราว เมื่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ระเบิดขึ้น เพลงแนวนี้ก็เปลี่ยนภูมิสถานไปดังก้องกังวานในป่าแทน แหละมันมิใช่เพื่อชีวิตธรรมดาๆอีกต่อไปแล้ว

   ความจริง เพลงของท่านจิตรฯ ที่ผมนำเสนอผ่านมา ก็มีบางเพลง อาทิ “มาร์ชกรรมกร,” “มาร์ชชาวนาไทย” ปรากฏแนวของเพลงปฏิวัติชัดแจ้ง ยิ่งเพลงอันจะเสนอต่อไปยิ่งเข้าแนวดังกล่าวแจ้งชัด สิ่งซึ่งจะขอเรียนทุกท่านเป็นอารัมภบทก่อนจะขึ้นเพลงใหม่ในกระทู้ก็คือ ผมนำเพลงเหล่านี้มาย้อนทบทวนเพื่อฟังกันเล่นเป็นเครื่องสำเริงอารมณ์เท่านั้น มิได้มีเจตนาปลุกระดม หรือมีจุดประสงค์อื่นใดแอบแฝงแสร้งซ่อนอยู่เลย แหละสำหรับผม ชอบเรียนประวัติศาสตร์ผ่านเพลงครับ

   เข้าเพลงกันเลยดีกว่า ตั้งใจจะเสนอ “หยดน้ำบนผืนทราย” ครับ ผมชอบเพลงนี้ตรงอุปมาโวหาร ผู้นิพนธ์นำทวิภาวะอันแตกต่างกันสุดขั้วของธรรมชาติ มาเปรียบกับช่องว่างทางชนชั้นได้อย่างแยบคาย เชิญอ่านเชิญฟังกันดูเถิดครับ

หยดน้ำบนผืนทราย

   ท่ามกลางสิ่งบำเรอ
ความหวานปรนเปรอ หวานดั่งน้ำทิพย์รื่นรมย์
กลั่นมาจากความตรอมตรม
ความร้าวระบม ความขื่นขมของหมู่ชน

   ดื่มกิน
หยาดเหงื่อมนุษย์ที่หลั่งไหลริน
หยดเลือดแดงฉานที่สาดผืนดิน
ประดุจฟากฟ้าบรรเจิดโสภิน
ประดับเปลวร้อนลามแห่งทะเลทราย
ดูธรรมชาติขัดแย้งประหนึ่งขาวดำ
ชีวาที่สุขแสนหวานและขื่นขมใจ
งามในนภาเพียงใด คุณค่าย่อมไร้เหนือแผ่นดินยากเข็ญ
บนความระกำลำเค็ญ ใครเล่าจักเห็นสุขของตนชื่นชม

   ข้าขอ
เปล่งคำสาบานไปกับสายลม
จักพิทักษ์ชีวิตผู้ทุกข์ตรม
จักลบล้างการกดขี่ระทม
แหละต่อสู้ล้มอำนาจอธรรม

   ชีพนี้
จักอุทิศพลีเพื่อกอบกู้ธรรม
จักจองล้างทรราชระยำ
ให้โลกร่ำลือในวีรกรรม
ตราบจนฟ้าดินจักสิ้นมลาย




   สำหรับท่านที่คลิกเข้าไปฟังตามลิงค์ได้ ผมขอความเห็นด้วยครับ ว่า ทำนองเพลงนี้มีกลิ่นอายของเพลงภารตะอยู่หรือไม่ ผมรู้สึกเอาเองว่ากระเดียดไปทางนั้นครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 28 ม.ค. 11, 15:29



เพลง "หยดน้ำบนผืนทราย" ประพันธ์ขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ถือเป็นเพียงการตั้งชื่อขั้นต้นเท่านั้น เพราะลายเส้นดินสอที่จิตรเขียนชื่อเพลงในต­้นฉบับนั้นอ่อนมาก เนื้อเพลงนี้ จิตรได้นำลักษณะความขัดแย้งและแตกต่างทางส­ังคมให้มาเกี่ยวโยงกับความขัดแย้งและแตกต่­างทางธรรมชาติ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 07 พ.ค. 23, 20:19

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกๆท่านครับ

   ขออนุญาตดึงกระทู้นี้กลับขึ้นมาอีกครั้งนะครับ สาเหตุก็เนื่องจาก ใน พ.ศ. ๒๕๕๒ ผมนำร้อยกรองที่เคยเขียนสดุดีท่านอาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มาปรับแปรแก้ไขจนเรียบร้อยแล้ว ก็คิดว่าคงมิมีอะไรให้เขียนถึงท่านจิตรฯ หรือหยิบจับบทกวีของท่านมาเล่นประยุกต์ด้วยความสนุกสนานได้อีกต่อไป แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นซีครับ พอเกิดประเด็นดรามาสนั่นโลกออนไลน์ เกี่ยวกับแบบเรียนชุด “ภาษาพาที” ของน้องๆหนูๆชั้นประฐมศึกษา กรณี “ไข่ต้มครึ่งซีก” กับ “ข้าวคลุกน้ำปลา” จู่ๆ อารมณ์ขันของผมก็บังเกิดครับ ปรารถนาจะล้อเลียน สพฐ. เขาสักหน่อย พลัน บทกวีสำนวน “เปิบข้าว” ของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ผุดขึ้นในความคิด ผมรีบหยิบฉวยทันใด นำกลับมาแต่งเล่นเสียจนแฟนคลับท่านจิตรฯ บางท่านอาจจะเคือง แต่นายชูสำเริงสำราญยิ่งยวดครับ เขียนพลางหัวเราะพลาง ครั้นเสร็จ ก็นึกถึงเว็บไซต์เรือนไทย อยากนำกาพย์มาลงเพื่อสร้างความครึกครื้นแก่ทุกท่านบ้าง ทว่ามิรู้ควรลงกระทู้ใดดี เมื่อวาน ผมส่งข้อความหลังไมค์ไปขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์เพ็ญชมพู ท่านก็กรุณาชี้ทางสว่างให้ และต่อไปนี้คือ “เปิบข้าว” ฉบับดัดแปลงครั้งล่าสุดของผมครับ

ตักข้าว

   ตักข้าวทุกคราวคำ
จงสูจำกลางใจเจิม
ไข่ต้มครึ่งซีกเติม
จึงเด็กเติบกายโตโต
   ข้าวคลุกน้ำปลาเคล้า
ใช่ซึมเซาแร้นแค้นโซ
พวกหลงหยุดพาโล
นี้สอนหลักอำนรรฆหลาย
   จัดเจนเจอความจน
ชนะตนแล้วไป่ตาย
อึดทานการท้าทาย
ทุกข์ร้อนที่รุมถี่ถม
   ฝึกอยู่อย่างอดอยาก
ล้นสุขฉากซึ้งน่าชม
หมู่ตัวอยู่ใต้ตม
พึงเจียมตัวตอนติเตียน
   น้ำจิตร่วมกิจแจง
บวกน้ำแรงทำแบบเรียน
กูใส่เข้าในเศียร
ให้สูซับกำซาบทรวง ฯ

ร่างเดิม ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖
ปรับแปรแก้ไขครั้งล่าสุด ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ครับ

หมายเหตุ: งานเขียนสำนวนนี้ ก่อเกิดแรงบันดาลใจจากบางส่วนของบทกวีชื่อ “วิญญาณหนังสือพิมพ์ (คำเตือนจากเพื่อนเก่าอีกครั้ง)” นิพนธ์โดยท่านอาจารย์จิตร ภูมิศักดิ์ ครับผม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 07 พ.ค. 23, 20:35

แบบเรียนชุด “ภาษาพาที” ของน้องๆหนูๆชั้นประฐมศึกษา กรณี “ไข่ต้มครึ่งซีก” กับ “ข้าวคลุกน้ำปลา”

จาก หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุดภาษาเพื่อชีวิต
ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕
บทที่ ๙ ชีวิตมีค่า หน้า ๑๔๘



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 08 พ.ค. 23, 17:32

สวัสดีค่ะคุณชูพงศ์
ไม่ได้เข้ามาโพสในเรือนไทยเสียนาน   ขอต้อนรับด้วยความยินดีค่ะ
ดีใจที่เห็นคุณชูพงศ์ยังคงเบิกบานสนุกสนานกับผลงานเช่นเดิม    เขียนล้อเลียนสพฐ.ได้ยอดเยี่ยมค่ะ
ว่างๆน่าจะเขียนอีก

ไม่ค่อยอยากพูดถึงแบบเรียนนี้เพราะสงสารคนเขียนและสพฐ.ว่าโดนหนักค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 08 พ.ค. 23, 20:13

กราบท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพยิ่งครับ

   หัวใจผมไม่เคยไปไกลห่างเรือนไทยเลยครับ เข้ามาอ่านกระทู้นานาอยู่บ่อยๆ แต่ที่ยังมิเขียนอะไร เพราะใช้เวลาหมกตัวอยู่กับเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณอยู่นานทีเดียวครับ ผมอยากอ่านวรรณคดีไทยหลายเรื่องมานานแล้ว แต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบซึ่งคนตาบอดสามารถเข้าถึงได้ง่ายไม่ค่อยจะมี พอพบแหล่งศึกษาถูกใจเข้า เลยบอกตัวเองว่าต้องตักตวงให้คุ้มความกระหายครับ


   ตอนแรกเมื่อเกิดดรามาใหม่ๆ ผมก็เฉยๆนะครับ แต่พอทาง สพฐ. บอกว่า ให้คนอ่านแยกเรื่องแต่งกับเรื่องจริงออกจากกัน  ผมปรี๊ดแตกทันทีครับ เพราะคุณกำลังดื้อตาใส คุณรู้ทั้งรู้ว่า แม้เป็นเรื่องแต่ง ทว่าหากองค์ประกอบต่างๆสร้างขึ้นจากบริบทของความจริงในสังคม ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องสมจริง สมเหตุสมผล กระนั้นก็ยังแถ โอ๊ะ! ใช้คำว่ารั้นดีกว่า ผมจึงจัดร้อยกรองให้เขาไปหนึ่งสำนวนครับอาจารย์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง