เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 27528 เพื่อชีวา ๕ ยุค
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 11:57

ใกล้่จะถึงเวลาอาหารกลางวันแล้ว

มาเปิบข้าว แล้วฟังเพลงกันเถอะ



แท้จริงแล้วเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทกวีที่ชื่อว่า "วิญญาณหนังสือพิมพ์" จิตรเขียนบทกวีนี้ลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ก่อนออกจากคุกเพียง ๔ เดือน

ตุณชูพงศ์เข้าไปอ่านได้ที่นี่

http://www.9dern.com/rsa/view.php?id=139

วงคาราวานนำส่วนหนึ่งของบทกวีนี้มาใส่ทำนอง เป็นเพลงในชื่อว่า "เปิบข้าว"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงเคยได้ฟังเพลงเปิบข้าวนี้ ทรงวิจารณ์เพลงนี้ในบทความชื่อ "ทุกข์ของชาวนาในบทกวี" พิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง ซึ่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน พระราชานุญาตให้นิสิตอักษรศาสตร์รุ่นที่ ๔๑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระมายุครบ ๓ รอบ

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกันได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้

เปิบข้าวทุกคราวคำ                 จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน                       จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส                       ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน                และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง                 ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว              ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด              ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                  จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                 และนำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น                 ที่สูซดกำซาบฟัน

ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะลำเลิกกับใคร ๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือการบริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป

หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์

หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย

ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้น ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร

เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง

เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

สิงหาคม ๒๕๓๓

http://www.thaihandiworks.com/KhunKhao_preface_page01.html
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 20 ม.ค. 11, 17:47

ขอขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูเป็นล้นพ้นครับ ที่อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเตือนความทรงจำผม เคยอ่านเคยเรียนตอนอยู่ชั้น ม.๔ ครับ นับย้อนเวลาไปก็เป็นสิบกว่าปีล่วงมาแล้ว

   เมื่อกล่าวถึง “เปิบข้าว” อันมีลีลากาพย์ยานีงดงาม ในขณะเดียวกันก็ทระนงทรงศักดิ์ในน้ำเสียง ถ้อยคำ ทำให้ผมนึกถึงกาพย์อีกชิ้นหนึ่งของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ขึ้นมาได้ กาพย์ ๔ บท ที่จะนำมาลงต่อไปนี้ กวีเลือกสรรคำแหละคัดเฟ้นสำเนียงได้ไพเราะนัก ปรากฏอยู่ในงานกานทนิพนธ์ชื่อ “เสียงแผ่นดิน” (พ.ศ. ๒๕๐๘) อันอาจถือได้ว่าเป็นบทกวี “ทิ้งทวน” ก่อนเจ้าของผลงานละเคหสถานสู่ภูพงดงดอย “เสียงแผ่นดิน” แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๘ ตอนย่อยๆ แหละเนื้อความต่อไปนี้ อยู่ช่วงท้ายของตอนที่ ๒ ซึ่งมีชื่อตอนว่า “ฟ้าเฟียด” ครับ

   สิ้นน้ำบ่สิ้นหวัง
ที่ใดยังพอทนทำ
แทงนาด้วยไม้นำ
เอากล้าซุกลงรูทราย

   “ปักหลุ้ง” ในทุ่งแล้ง
ที่หลอมลนแทบละลาย
เหงื่อผุดอยู่พรายพราย
ดั่งฝนพรมลงพร่างพรู

   พื้นนาและแนวเนิน
จะงามเกินด้วยเหงื่อกู
น้ำฟ้าไม่นองฟู
เท่าน้ำแรงนี้ไหลริน

   ปักหลุ้งไว้คอยท่า
ถนอมกล้าไว้คอยกิน
ปักกล้าไว้คาดิน
คงน้ำฟ้าจักมาเยือน

 
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 08:12

คุณตัวเล็กผู้ยิ่งใหญ่ ให้คำแปลดังนี้

ม้วยไก่ตังทียูโหล้ะ = ข้าวต้มใส่ซีอิ๊วราคาหนึ่งสตางค์

ดังนั้น ข้าวต้มไก่ สมัยนั้นคงราคามากกว่าหนึ่งสตางค์ จะสักเท่าไรคงต้องถามคุณเทาชมพู

ส่วนสมัยนี้ราคาคงขึ้นกับปริมาณ และสถานที่

ถ้าปริมาณพออิ่ม และร้านข้างทาง   ยี่สิบบาทคงเอาอยู่

 ยิงฟันยิ้ม

คุณเพ็ญชมพูคงจะนึกว่าดิฉันเกิดตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์   


รัตนโกสินทร์



พ่อฟัก และ แม่เพ็ญ เอ๊ย แม่เพ็ง

  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 08:32

เป็นอันว่า  เกิดพร้อมแม่เพ็ญ ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์  ยิงฟันยิ้ม

ราคาข้าวต้มไก่สมัยนั้นเท่าใดไม่อาจทราบได้   ขอเดาว่าไม่เกิน ๕ สตางค์ เพราะข้าวเปล่าใส่ซีอิ๊วซึ่งถือว่าเป็นอาหารคนจน ราคา ๑ สตางค์
ดิฉันเกิดในสมัยที่เงิน ๑ สตางค์ซื้ออะไรไม่ได้แล้ว    ต่ำสุดคือ ๑๐ สตางค์ ซื้อผักชีได้กำมือหนึ่ง  (ผักชีสมัยนั้นไม่แพง)  ขนมไทยๆห่อด้วยใบตอง ห่อละ ๑ สลึง  ตอนป. ๑ ได้เงินไปร.ร. ๒ บาท ก็พอซื้อก๋วยเตี๋ยวในร.ร.ได้ ๔ ชาม  เพราะก๋วยเตี๋ยวชามละ ๕๐ สตางค์ 
พอเรียนม.ปลาย  ไปเข้าร.ร.เตรียม  จำได้ว่าข้าวเปล่ามื้อกลางวัน มีกับข้าว ๑ อย่างราคา ๓ บาท     ถ้าชั้นดีสุด กับข้าว ๒ อย่างราคา ๔ บาท
สมัยอยู่อักษรฯ มีข้าวแกงกรมประชาสงเคราะห์มาตั้งเต๊นท์ขาย ข้าวแกงจานละ ๑ บาท แต่ปริมาณสักครึ่งของข้าวแกงทั่วไป
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 09:40

อ่านคำตอบท่านอาจารย์เทาชมพูเรื่องอาหารการกินแล้ว ผมเกิดข้อสงสัยทันทีครับ

   “สมัยก่อนตอนเก่าเมื่อครั้งที่เรายังเด็ก
สมัยรถเจ๊กวิ่งอ้าว อายุผมราวสิบห้า”

เรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ถ้าพิจารณาจากถ้อยสาธยายสภาพเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ในเพลง “ตาสีกำสรวล (๑)” ท่านอาจารย์คิดว่า “ผม” ที่อายุราวสิบห้า ณ ครานั้น น่าจะหมายถึงผู้แต่งหรือผู้ร้องครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 10:03

ผู้แต่งค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 10:21

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ที่ผมกังขาก็เพราะ เพลงนี้ถือกำเนิดขึ้น ในขณะนายชูพงค์ยังใช้หนี้กรรมอยู่ตรงนรกขุมไหนก็สุดรู้ (คงจะทำบาปไว้มาก ชาติปัจจุบันจึงตาบอด) กว่าจะเกิด ก็ล่วงเลยเวลาที่เพลงอุบัติขึ้นแล้วหลายศก จึงสนใจใคร่รู้ครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 10:28

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน เรื่อง “ชาวนา” ยังมีอะไรค้างคาในใจผมอยู่ ขออนุญาตสานต่อให้จบแล้วกันครับ

   ขอส่งท้ายด้วยเพลงนี้ครับ “มาร์ชชาวนาไทย” ข้อมูลเรื่องปีที่ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ง คงต้องขอความเมตตาคุณเพ็ญชมพูแล้วหละครับ ผมมิกล้าระบุ กลัวไก่ตัวโตจะบินอีกครั้งครับ

มาร์ชชาวนาไทย

   ชาวนาไทยผู้ทุกข์ลำเค็ญ
ชีวิตเห็นเพียงความมืดมน
ลงแรงกายไถดำกรำทน
ผลิตข้าวเป็นผลเลี้ยงโลกเสมอมา

   สิ่งตอบแทนคือเขากดขี่
เหยียดศักดิ์ศรีราวทาสไร้ค่า
ล้มละลายล้าหลังเรื่อยมา
เจ้าจักรพรรดินิยมล่ารุกราน

   มวลชาวนาอย่าหยามพลังตนร่วมกัน
สามัคคีชนชั้นคนงานกว้างใหญ่
เราผู้หลับมานานเนิ่นไกล
ตื่นเถิด ต่อสู้โค่นล้มผู้ขูดรีดเรา

   รวมพลังเร็วมาสามัคคีรวมใจ
มือที่เคยไถ เกี่ยวข้าวนี่ไซร้
พลังเกรียงไกร ใครจักทาน

   เคียวที่คมวาววาม ไถที่เราชาญชัย
เกี่ยวศัตรูไป พลิกแผ่นดินไทย
สร้างชีวิตใหม่ให้สุขศานติ์

   เชิญทุกท่านสราญจากการรับฟังที่ลิงค์นี้ครับ










บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 10:41



สันนิษฐานว่าจิตรแต่งเพลงนี้ในคุกระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕ โดยใช้นามปากกาว่า “สุธรรม บุญรุ่ง”

ทองใบ ทองเปาด์ วิจารณ์ไว้ในหนังสือ คอมมิวนิสต์ลาดยาว ว่า

"ท่านจะเห็นความงาม ความแจ่มชัดและความเกรียงไกรอยู่ในเนื้อเพลงนี้อย่างสมบุรณ์"

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 11:18

ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ ที่ปรานีนำข้อมูลมาเสริม ถ้าคุณเพ็ญชมพูยังเอื้อเอ็นดูชูชุบอุปถัมภ์ค้ำจุน ผมก็อุ่นใจครับ
เพราะคนไร้จักษุเยี่ยงผมหรือจะมองใดได้ทะลุปรุโปร่งเล่า ในชีวิตจริง ก็ต้องพึ่งพิงพึ่งพาผู้อื่น แม้มิอยากรับ ก็ต้องรับผลแห่งเพรงกรรมครับ เฮ่อ...

   ขอนำท่านผู้อ่านไปทัศนาชีวิต “กรรมกร” บ้างครับ ในบทกวี “เปิบข้าว” เราได้อ่าน/ฟังชาวนาพูดแล้ว คราวนี้ ฟังชนชั้นกรรมาชีพอุทธรณ์บ้างเป็นไรครับ ผมนำบางส่วนจากบทกวี “เสียงแผ่นดิน” ตอนที่ ๔ อันมีชื่อตอนว่า “ผู้สร้าง” มาฝากครับ

   กูทนระกำทำ
ทั้งเรือนร่างนี้ร้าวราน
แรงกายที่ทนทาน
เอาแทนทุนออกทุ่มเท

   หนักเอาและเบาสู้
จนกายโทรมแทบทรุดเซ
คงจนอยู่จำเจ
เหมือนตกปลักที่ดักดาน

   สองหูของกูอื้อ
ด้วยโลกลือว่าแรงงาน
สร้างโลกอันโอฬาร
และวังเวียงอันเพียงแมน

   แรงงานที่โลมหลั่ง
กระเดื่องดังทุกด้าวแดน
”คุณค่า” นั้นเหลือแสน
แต่ “ราคา” สิทรามเหลือ

   ความจนนั้นจองจำ
ไม่ยอมทำก็กินเกลือ
โรงงานไม่เหลือเฟือ
ถ้าคิดสู้ก็สู, เชิญ  เชิญออกไป

   โอ้อกเมื่อตกงาน
ต้องซมซานกระเซิงเดิน
”แรงงานย่อมล้นเกิน”
เป็นกฎแห่งสังคมทราม

   เกียรติกูนิเลิศล้ำ
ตระหง่านง้ำอย่างงดงาม
แต่ท้องที่คุกคาม
สิเอาเกียรติฤมากิน

โอ้ชีพไยชาชืด
ไยมนมืด.... ไยทึมทมิฬ
เพื่อนเอ๋ยจงยลยิน
เอาตีนคิดพินิจดู



   
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 16:00

สวัสดียามบ่ายใกล้เย็นครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   บทกวีของท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อตอนสาย ผมนำมาโพสต์ ก็เพื่อจะเปิดทางนำไปสู่เพลงต่อไปนี้ครับ

ความหวังยังไม่สิ้น

   ชะตาชีวิตเราช่างมืดมัวมน
ยากเข็ญทุกทนสุดที่จะพรรณนา
ถูกรีดขูดบีฑา
ทุกสิ่งสิ้นสูญหมดตัวยากไร้

   สิ่งที่คงเหลือมีเพียงแต่แรงงาน
เที่ยวขายซมซานค่าต่ำกว่าใดใด
ปวดร้าวรานดวงใจ
เจ้าอยู่แห่งไหนเล่าความเที่ยงธรรม

   อย่าเหยียดหยันเราสังคมแสนทราม
แม้เราพบความร้าวรานระกำ
มิยอมสูญความหวังสิ้นพลัง แม้ลมหายใจสองแขนนี้ยัง
จักกอบกู้ฟื้นพลิกความเป็นธรรม ให้ฟ้าแหละดินชื่นชม




   เรียนถามคุณเพ็ญชมพูครับ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเพลงนี้ประกอบละครเรื่องหนึ่งซึ่งเล่นกันในคุกลาดยาว โดยมีท่านสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) กำกับการแสดงใช่หรือเปล่าครับผม




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 21 ม.ค. 11, 16:15



คุณชูพงศ์เข้าใจถูกแล้ว เพลงนี้จิตรใช้นามปากกา สุธรรม บุญรุ่ง แต่งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๕ ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว วัตถุประสงค์เมื่อเหล่านักโทษการเมืองจัดง­านในขึ้นปีใหม่  ในงานดังกล่าวมีการแสดงละครเรื่อง "มนต์รักจากเสียงกระดึง" กำกับการแสดงโดย รพีพร

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 22 ม.ค. 11, 12:04

สวัสดีขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   อ่านคำยืนยันจากคุณเพ็ญชมพูจบ ผมรำพึงกับตนโดยพลัน “งานเข้าแล้ว นายชูพงค์เอ๋ย” ก็เพลง “มนต์รักจากเสียงกระดึง” นั่นน่ะ ผมอยากพิมพ์ให้ท่านอ่านเหลือเกิน แต่จนใจครับ เพราะเพลงนี้มีความพิเศษ คือท่านจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนให้มีการร้องรับลันลาด้วย ข้อสำคัญคือ ผมมิรู้ว่าต้นฉบับของท่านจะเขียนว่าอย่างไรน่ะซีครับ จะตัดเพลงนี้ทิ้งไปก็มิได้ เพราะถือเป็นคีตพยานสำคัญครับ

   เพลง “มนต์รักจากเสียงกระดึง” ผู้ประพันธ์นำทำนองเพลงแคนของภาคอิสานที่ชื่อ “ปางนางขึ้นภูเก็บผักหวาน”
มาประยุกต์ให้เป็นเพลงแนวไทยสากลที่ยังคงบรรยากาศพื้นถิ่นไว้ครบครัน ท่านจิตรฯ นั้น เกิดที่ปราจีนบุรี ท่านเป็นคนภาคตะวันออกแท้ๆ แต่สามารถเจาะทะลุจนปรุโปร่งในภาษาพื้นบ้านภาคต่างๆของไทย รวมเลยไปถึงภาษาอื่นๆได้อย่างน่าพิศวงยิ่ง ท่านผู้อ่านลองหาหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” มายลเถิดครับ

   เมื่อผมยังพิมพ์ มนต์รักจากเสียงกระดึงมิได้ ด้วยติดอุปสรรคดังได้กล่าวแล้ว ก็จะขอนำช่วงหนึ่งของงานกวี “เสียงแผ่นดิน” ของท่านจิตรฯ มาเสนอให้ท่านผู้อ่านทอดสายตาดูไปพลางๆก่อนครับ กลอนต่อไปนี้อยู่ในตอนที่ ๓ ชื่อตอน “หยดน้ำบนผืนทราย” กวีเอ่ยอ้างถึงเพลงพื้นบ้านภาคอิสานไว้หลายเพลง นั่น แสดงว่าท่านค้นคว้า จดบันทึกมาแล้วอย่างดีนอกจากนั้น ประเพณีการละเล่นหมอลำ ลีลาลวดลายทำนองทางแคนก็ปรากฏในกลอนด้วยครับ

   ฟ้าใส
ความหวังใหม่พราวเสน่ห์บนเวหา
ท้องทุ่งนี้ที่จักฟื้นเป็นผืนนา
เป็นพรมทองที่ทายท้าทุกด้าวแดน

   ณ ทุ่งนี้ที่พวกข้าจักถาโถม
พลังโลมเชี่ยวกระชับนับแสนแสน
ให้กลับฟื้นครื้นเครงด้วยเพลงแคน
ที่ลืมร้าง “สุดสะแนน” เสียเนิ่นนาน

   ที่เชิงโน้นโพ้นเพลงวังเวงคราง
ถึง “ปางนางขึ้นภูเก็บผักหวาน”
เสียงแคนนั้นคันคร่ำมือชำนาญ
ที่พริ้วสร้านเพลงทิพย์ลิบโพยม

   เจ้าเป่า “ภู่ตอมดอก” บอกความรัก
ที่สมัครมั่นเสมอเจ้าเลอโฉม
เป่า “ล่องของ” สองฝั่งจะหลั่งโลม
สำเนียงโน้มแนบมิตรสนิทมาน

   “เต้ยพม่า” บา... ขยับฉับกระเฉง
หวานเลวง “เต้ยของ” ทำนองหวาน
แล้วเป่าโดดโลดโผน “เต้ยโนนตาล”
พื้นโบราณ “ทางยาว” เพลงลาวเดิม

   ที่ชายทุ่ง “ซุง” เอกวิเวกแว่ว
เดี๋ยวโผยแผ่วหลบลึกเดี๋ยวฮึกเหิม
ลูกรับส่งประจงคิดประดิษฐ์เติม
ทั้งลดเพิ่มลูกแยกแปลกแปลกไป

   เสียงหมอลำนำแคนแล่นแตเร้า
คำหวานเว้าเลี้ยวลดเสียงสดใส
กลอนเกี้ยวสาวขาวเนื้อนวลละไม
แคนจะไล้ทุ่งนี้...ฟื้นชีวา

หมายเหตุ:
   ทุกถ้อยในบทกลอน ผมพิมพ์ตามที่มีอยู่ในหนังสือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ แม้บางคำจะสงกาก็มิกล้าแก้ไขโดยพลการครับ






บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 23 ม.ค. 11, 09:21



เรื่อรางรุ่งแสงตะวัน
นกน้อยก็พลันโผผก ยามตะวันโลม
ประดุจสาวงาม เจ้าอ่าอวดโฉม
ที่ร่าเริงโน้มน้าวชายให้ฝันคะนึง

เจ้าเดิน หว็อยหว็อยขึ้นภู
ย่างน้อยน่าดูแสนงามมองแล้วตะลึง
แขนไกวทั้งสอง ที่กลมดั่งกลึง
ช่างงามเหมือนหนึ่งร่ายรำในเสียงกระดึง

ลัน ลัน ลา ลา

เ่จ้าเที่ยวมองมอง  หมู่ไม้ทุกหมู่หมู่
เจ้าเที่ยวดูดู  ใบไม้ทุกใบใบ
เ่จ้าเลือกดึงดึง  ผักหวานทุกกิ่งกิ่ง
งามจริงจริง  มือน้อยเ่จ้าเต้นระไว

ดิง ดิง ดิง ดิง

ลัน ลัน ลา ลา

เจ้าพี่เยอ  เจ้างามจริงเออ
เจ้าหมั่นจริงเออ  รักงานกว่าสิงอื่นใด
รักพี่นี้ อยากมอบให้ไว้
ประดับดวงใจโฉมงามเจ้าเพียงคนเดียว

ดิง ดิง ดิง ดิง

ลัน ลัน ลา ลา

โอ้หนอ เจ้าเอย พี่มีแต่ตัว
ทำงานเลี้ยงงัว ฟังเสียงกระดึง

โอ้หนอ เจ้าเอย พี่่จนยากจริง
มีงานเป็นสิ่งหมั้นไว้ต่างเงิน

ลัน ลัน ลา ลา

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 23 ม.ค. 11, 11:25

ผมกลับเข้ามาคราวนี้ ขอนำ “ผักหวานทุกกิ่ง” เต็มกระเช้ามาขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ หากมิได้คุณเพ็ญชมพูช่วย ผมนึกไม่ออกเลยครับว่าจะต่อกระทู้ได้อย่างไร คิดไว้ว่า จะเสนอเพลงฟังสบายๆอีกสักเพลงหรือสองเพลง จากนั้น ก็เข้าสู่หมวดเพลงรบ ปลุกระดมกันเต็มที่ไปเลย ดีไหมครับทุกท่าน
   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง