เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 27723 เพื่อชีวา ๕ ยุค
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 14 ม.ค. 11, 14:26

เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยทุกท่านครับ

   เมื่อผมอ่านกระทู้เกี่ยวกับเพลง "เด็กข้างถนน" ซึ่งคุณ pathuma
ได้ตั้งไว้ ณ เว็บไซต์แห่งนี้จบลง ความคิดอยากเปิดกระทู้เพลงเพื่อชีวิตอย่างจริงจังก็เกิดขึ้นทันทีครับ จากข้อมูลอันผมเคยได้รับทราบ ประดานักวิชาการด้านนี้ แบ่งเพลงเพื่อชีวิตออกเป็น ๔ ยุคใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่ยุคแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จวบกระทั่งจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ กระทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ยุคต่อมา หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ยุคที่สาม คือหลังเหตุมหาอำมหิต ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ (ซึ่งเรียกเพลงยุคดังกล่าวว่า "เพลงปฏิวัติ" ได้อย่างเต็มตัว เพราะเนื้อหาพัฒนาไปจากแนวเพื่อชีวิตอีกระดับหนึ่งแล้ว) และยุคที่ ๔ คือเพลงเพื่อชีวิตพาณิชย์ หลังนิสิตนักศึกษาออกจากป่า และเทปเพลงเข้ามามีบทบาทสูงในสังคม แต่ที่ผมตั้งกระทู้โดยระบุว่า ๕ ยุค เพราะตัวเองมีความรู้สึกว่า เดี๋ยวนี้ คำ "เพื่อชีวิต" มักจะถูกนำไปห้อยท้ายเพลงประเภทอื่นๆ แล้วก็กวนกันจนเละเทะ บางเพลงระบุว่าเป็น "ลูกทุ่งแนวเพื่อชีวิต" หาก เนื้อหาหนีไม่พ้นเรื่องรักๆใคร่ๆ เพียงทำดนตรีให้มีกลิ่นอาย ท่วงทำนองท้องถิ่น ก็เท่านั้น ผมจึงขออนุญาตตั้งชื่อเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ไปพลางๆก่อนว่ายุค "เพื่อชีวิตตู" ครับ

   เริ่มแรกบุกเบิกเพลงสะท้อนปัญหาชนชั้นล่างของสังคม คงต้องคารวะท่าน "แสงนภา บุญราศี" เป็นปฐมคุรุหละครับ ท่านทำเพลงแนวนี้มาตั้งแต่ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติลุกลามมายังประเทศไทยเสียอีก ผมเคยค้นพบจาก google ว่า เพลง "คนจรหมอนหมิ่น" ของท่าน ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ แล้ว คิดว่าคงหาฟังยากปานหาเพชรทีเดียวในยุคปัจจุบัน ตัวผมเองมีโอกาสฟังเพลงของครูแสงนภาฯ ครับ แต่มิใช่จากเสียงร้องของท่านเอง

   ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ครบรอบ ๓๐ ปี เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ทางบริษัทแกรมมี จัดทำซีดีเพลงชุด "เสรีภาพ" ขึ้นมาจำนวน ๔ แผ่น ซีดีแผ่นแรก มีเพลงของครูแสงนภาบรรจุไว้ด้วย แต่ในรูปลักษณ์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ที่พยายามเรียบเรียงเสียงผสานให้ได้บรรยากาศเก่ามากที่สุดเต็มกำลังความสามารถของผู้นฤมิต ศิลปินผู้ได้รับเลือกให้ขับร้อง ล้วนเป็นศิลปินเพื่อชีวิตแถวหน้าของวงการ ผมขอประเดิมกระทู้ด้วยเพลง "คนปาดตาล" ครับ ฟังเสียหลายรอบ  เนื้อร้องที่ผมจำได้มีดังนี้ครับ

   นี่แหละหนอชีวิตฉัน
ทุกทุกวันมีเพื่อนปลอบใจคือกระบอกตาล
ตื่นแต่เช้า ฉันพบแต่รสอ่อนหวาน
หิ้วกระบอกน้ำตาลไต่ต้นขึ้นปาดปลายงวง

   น้ำตาลไหลร่วงจากงวงตาลหยดมา
คล้ายคล้ายน้ำตาของคนปาดตาลไหลร่วง
หยดหนึ่งน้ำตาลไหลมาจากงวง
น้ำตาแทบร่วง น้ำตาลแทบหลุดจากมือ

   นึกถึงลูกเมียที่อยู่หลังยังบ้าน
ไม่เพราะน้ำตาลดอกหรือ
ลูกเมียไม่เคยอดเลยสักมื้อ
ลูกเรียนหนังสือ พ่อมันใช้มือปาดตาล

   ถ้าขี้เกียจสิ้นขยัน
ไหนจะทันหากินให้ลูกได้สุขไปนาน
ลูกชายฉัน คนโตเป็นนายทหาร
พ่อมันเสาะน้ำตาลส่งเงินให้ลูกเล่าเรียน

   ยากแค้นลำเค็ญสักเพียงไหนพ่อทน
ขอให้ลูกเราทุกคนมานะพากเพียร
ไต่ต้นตาลสูงจนฉันจวนเจียน
บางครั้งวิงเวียน เป็นลมแทบตกจากตาล

   ลูกสาวคนรองศึกษาอยู่บางกอก
พ่อคนบ้านนอก...บักหนาน
ขอสู้เลี้ยงลูก หมั่นปลูกแต่ตาล
สุขจนลูกหลานเพราะคนปาดตาลไม่อาย

   ใครก็เหยียดใครก็หยาม
เขาประณามเห็นคนบ้านนอกไอ้โง่ดั่งควาย
ก็ข้าวที่หุง น้ำตาลที่กักกันขาย
เซ็งลี้กันมากมายก็เพราะไอ้ควายบ้านนา

   ฉันกินน้ำคลองเกือบต้องเป็นอหิวาต์
น้ำก๊อกประปาชาวกรุงเขามาเคยบอก
ว่าพวกบางกอกกินน้ำประปา
เหลียวดูเสื้อผ้า ขาดหลังปะหน้าสิ้นดี

   เพื่อนบ้านเขาเอากระเป๋าไปแลกกับเสื้อ
ขาดแล้วจึงเหลือมาบ้านนี้
เขาแลกน้ำตาล อ้อยหวานตาลดี
เพื่อนเพื่อนเซ็งลี้ เขาเล่นเจี๊ยะฟรีเสียจุใจ

   ข้าไม่แลกก็ไม่ไหว
เดี๋ยวจะไปอำเภอไม่มีผ้าจะนุ่งไป
เสื้อขาดแล้วเขาแลกน้ำตาลตั้งไห
พวกบ้านนอกช้ำใจ ถ้าใครไม่เชื่อไปดู

   ลูกเด็กเล็กแดงแก้ผ้าตัวล่อนจ้อน
สิ้นมุ้งจะนอนหมอนหนุนลูกหลานย่าปู่
ต้องหลับคุดคู้อยู่กลางชานเรือน
สุมไฟเป็นเพื่อน
กันยุงริ้นกัดทนกลืน

   นึกถึงลูกฉันคงอบอุ่นเหลืออยู่บางกอก
คอกคนบ้านนอกสุดฝืน
ไหว้พระกราบหมอนก่อนนอนทุกคืน
ให้ลูกสดชื่น
พ่อมันสะอื้นปาดตาล

   เพลงนี้ ขับร้องใหม่โดย คุณสุรชัย จันทิมาธรครับ ผมมีไฟล์ในรูปแบบออดิโอซีดี มอิหนำ ยังไม่มีโปรแกรมแปลงไฟล์เป็นเอ็มพีสาม เลยขออนุญาตเรียนถามทุกๆท่านไว้ในตอนท้ายของกระทู้ว่า พอจะมีหนทางนำเพลง "คนปาดตาล" นี้ ขึ้นเว็บไซต์เรือนไทยได้หรือไม่ครับ ถ้าหากมี ผมสามารถกระทำได้โดยวิธีใดครับ ขอขอบพระคุณในคำตอบและความกรุณาของท่านครับ

   ก่อนจบกระทู้ ผมมี "คนปาดตาล" ซึ่งเผอิญชื่อซ้ำกับผลงานของครูแสงนภา บุญราศี ไม่ทราบจริงๆครับว่าท่านผู้ใดนิพนธ์ เสียงร้องของคุณก้าน แก้วสุพรรณมาฝากทิ้งท้าย ตามลิงค์นี้ครับ


ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 





 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 14:43

เพลง คนปาดตาล
ขับร้องโดย ก้าน แก้วสุพรรณ
คำร้อง-ทำนอง สุรพล สมบัติเจริญ

เห็นตาลยืนต้น สูงจนเสียดฟ้า อุตส่าห์มองดู
นี่ใครจะรู้บ้าง ว่าเราเบื่อเหลือทน
แต่เช้าจรดเย็น ไม่เคยเว้นว่าง
แหงนคอเบิ่งค้าง มือโอบต้น กัดฟันสู้ทนแม้จะหม่นทรวง

สองมือเกาะแน่น แขนยังไม่เว้น หิ้วกระบอกตาล
หวังรองนำหวาน ของตาลไหลจากปลายงวง
หยดหนึ่งนำตาลที่ผ่านลงมา คล้ายดังกับว่านำตาไหลร่วง
หยดพรากจากทรวง ของคนปาดตาล

แม้จะเบื่อ เหงื่อย้อยไหลหยดโทรมกาย
ไม่เคยคิดสิ้นความหมาย อุตส่าห์ตะกายป่ายปีนทุกวัน
ถึงตาลเจ้าสูง เสียดฟ้าแหงนคอตั้งชัน
ผมเองไม่เคยนึกหวั่น ขอเพียงลูกเมียนั้นสุขหัวใจ

***เห็นตาลโอนลู่ เหลียวดูสะท้อน
มือไม้อ่อนเพลีย แทบจะขวัญเสีย เพราะตาลเจ้าถูกลมไกว
เหงื่อย้อยท่วมคางหยดหลั่งริน ถึงกายจะสิ้นก็ยอมให้
สิ่งเดียวพอใจ คือได้น้ำตาล




 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 15:15

อ้างถึง
เพลงนี้ ขับร้องใหม่โดย คุณสุรชัย จันทิมาธรครับ ผมมีไฟล์ในรูปแบบออดิโอซีดี มอิหนำ ยังไม่มีโปรแกรมแปลงไฟล์เป็นเอ็มพีสาม เลยขออนุญาตเรียนถามทุกๆท่านไว้ในตอนท้ายของกระทู้ว่า พอจะมีหนทางนำเพลง "คนปาดตาล" นี้ ขึ้นเว็บไซต์เรือนไทยได้หรือไม่ครับ ถ้าหากมี ผมสามารถกระทำได้โดยวิธีใดครับ ขอขอบพระคุณในคำตอบและความกรุณาของท่านครับ

คุณชูพงศ์ต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์   ถ้าเป็นเพลงที่มีอยู่แล้วในยูทูป  ก็พอจะนำมาได้    หรือถ้าเปิดในบล็อค ก็ทำลิ้งค์ให้ฟังได้
แต่ถ้าคุณแปลงไฟล์โดยพลการแล้วนำมาลง   ผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงอาจจะฟ้องเรือนไทยได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 15:31

ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูครับ สำหรับข้อมูลเสริม ผมอ่านเนื้อเพลงของครูสุรพลแล้ว คิดว่า ครูท่านน่าจะได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากครูแสงนภาฯ นะครับ มีบางอย่างคล้ายๆกัน แต่โดยส่วนตัว ผมว่า เพลงครูแสงนภาออกจะเข้มข้นกว่า เพราะมีท่อนที่บ่งชี้ถึงการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีฐานะเหนือกว่าที่กระทำต่อผู้อับจนสิ้นหนทาง ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ครูเพลงแต่ละท่าน ก็มีแนวทางเฉพาะ ซึ่งผลที่สุดก็คือ ได้เพลงไพเราะมาให้เราฟัง ให้เราเรียนรู้ถึงยุคสมัยที่ผ่านมาครับ

   กราบขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เทาชมพู ผมเข้าใจแล้วครับ ฉะนั้น ในการถ่ายทอดเพลงแต่ละยุค ผมจะยึดกฏิกาโดยเคร่งครัด คือ เพลงใดหาลิงค์จากเว็บไซต์อื่นๆได้ก็จะนำลิงค์มาวาง ส่วนเพลงใดหาไม่ได้ ก็จะทำเพียงพิมพ์เนื้อร้องเท่านั้น แล้วรอความการุณย์จากสมาชิกท่านอื่นๆที่หาพบครับผม

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:16

พูดถึง "เพลงชีวิต" (ยุคแรกๆ ยังไม่มีคำว่า "เพื่อ" แทรกกลางครับ) ถ้าไม่กล่าวถึงเพลงอันอภิมหาอำมตะบันลือชื่อ "กลิ่นโคลนสาบควาย" ซึ่งท่านครูไพบูลย์ บุตรขันรจนาไว้ ก็เห็นจะผิดไปหละครับ ผมขออนุญาตไม่พิมพ์เนื้อนะครับ เนื่องจากทุกท่านเจนใจเพลงนี้ดี นำลิงค์มาวางให้ฟังกันเลย


     พร้อมกันนี้ ก็มีบางสิ่งบางอย่างผุดรำไรขึ้นมาในมโนคำนึง ขอนำมาเรียนถามความเห็นจากทุกท่านครับ

   ทำไม ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ จึงประพันธ์เพลง "กลิ่นรวงทอง" ขึ้น ทั้งๆมีเพลง "กลิ่นโคลนสาบควาย" อันถ่ายทอดวิถีชาวนาได้กระชับชัดอยู่แล้ว?

   เท่าที่ผมทราบจากการค้นข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย ถูกห้ามออกอากาศอยู่สองช่วง ช่วงแรกโดยรัฐบาลจอมพล ป. (ป.๒) ช่วงหลัง ยุครัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ เหตุผลของการแบนครั้งหลัง ก็เพราะสถานีวิทยุของฟากฝั่งคอมมิวนิสต์ไทยนำไปใช้ (แหม เข้าใจแสวงจุดร่วมดีแท้) เป็นไปได้ไหมครับว่าทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อาจ (ผมใช้คำว่าอาจ เพราะนี่เป็นข้อสันนิษฐานส่วนตัวเท่านั้นครับ) มอบหมายอย่างลับๆให้ท่านจิตรฯ ประพันธ์เพลง "กลิ่นรวงทอง" ขึ้น เพื่อใช้แทน "กลิ่นโคลนสาบควาย" สำหรับจะให้เป็นเพลงของทาง พคท. เอง ผมขออนุญาตพิมพ์เนื้อเพลงกลิ่นรวงทองไว้ในที่นี้นะครับ ท่านที่อ่าน ลองฮำโดยยึดทำนองกลิ่นโคลนสาบควายเป็นหลัก จะพบว่า ผู้แต่ง กลิ่นรวงทอง พยายามใช้คำอันประกอบด้วยเสียงวรรณยุกต์ซึ่งกลมกลืนกับโน้ตของเพลงต้นแบบมาก ยิ่งสองวรรคแรกของท่อนสุดท้ายยิ่งเห็นชัดๆว่าแกะมาทั้งหมดโดยไม่ดัดแปลงเลย

   เพลง กลิ่นรวงทอง
คำร้อง ท่านจิตร ภูมิศักดิ์

   ท่ามกลางแดดแผดเปลวร้อนผ่าวดังไฟ
กลางผืนดินนาไร่ ใต้ฟ้ากว้างไกลสุดตา
ใครหนอกรำทำงานกลางนา
ไล่ควายดุ่มกุมไถฟันฝ่า คราดนาล้าเมื่อยระบม

   รุ่งจนค่ำปักดำชุ่มฉ่ำเหงื่อนอง
แปลงผืนนางามผ่องเป็นทุ่งรวงทองน่าชม
ยามหนาวยืนฝืนสู้แรงลม
จับเคียวเกี่ยวข้าวมัดก้อนกลม ระดมแรงนวดสุดใจ

   จากแรงเป็นรวงเหลืองงามจนขาวเป็นข้าวหอมกรุ่น
น้ำแรงเนื่องหนุนนั้นมากเพียงไหน
รสข้าวละมุนหวานอุ่นละไม ด้วยหยาดเหงื่อใคร
หวานเอยน้ำใจของหมู่ชาวนา

   อย่าดูถูกชาวนาเห็นว่าอับเฉา
มือถือเคียวชันเข่า เกี่ยวข้าวเลี้ยงเราผ่านมา
ความหวังเอยของเราชาวนา
สักวันหนึ่งเมฆร้ายเคลื่อนคลา ชาวนาสุขสันต์รื่นรมย์

   นำลิงค์จาก youtube มาให้ฟังกันชัดๆครับ






 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:26

เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย แต่งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖  ลาวัณย์ โชตามระ เขียนเล่าเอาไว้ใน "ไพบูลย์ บุตรขัน" นักแต่งเพลง "ประวัติการณ์" ว่า
     
"...นับว่าเป็นประวัติการณ์ทีเดียวที่เพลงไทยถูกทางการสั่งห้ามออกอากาศโดยอ้างว่าเนื้อเพลงมีข้อความที่ไม่เหมาะสม แสดงถึงความเหลื่อมล้ำแห่งชีวิตของชนชั้น เพลงที่ว่านี้คือเพลงกลิ่นโคลนสาบควายของไพบูลย์ บุตรขัน...
     
และนี่ก็เป็นประวัติการณ์อีกเหมือนกันที่ว่า พอถึงวันแม่ซึ่งทางการยุคหนึ่งกำหนดให้ถือเอา วันที่ ๑๕ เมษายน ตลอดวันวิทยุก็จะกระจายเสียง แต่เพลงที่เขาแต่งขึ้นอีกนั่นแหละ นั่นคือเพลงชุด "แม่" อันได้แก่ เพลงค่าน้ำนม ที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง..."




ฟังเพลงนี้ทีไร น้ำตาไหลทุกที

 เศร้า
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:36

ขอเรียนถามคุณเพ็ญชมพูครับ ในทรรศนะของคุณ เพลงใดที่ครูไพบูลย์ท่านเล่นแรงที่สุด สำหรับผมคิดว่า "ตาสีกำสรวล" นี่ออกจะหนักหนาสากรรจ์ไม่น้อยเลยนะครับสำหรับยุคนั้น ยุคอันปากกระบอกปืนทรงมหิทธานุภาพ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 16:51

ถ้าพูดถึงความแรง  คงสู้ จิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้

แต่ถ้าพูดถึงเนื้อหากินใจ กลิ่นโคลนสาบควาย เหนือว่า กลิ่นรวงทอง อยู่หลายขุม

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ม.ค. 11, 23:22

เคยได้ฟังแต่ เพื่อมวลชน เดือนเพ็ญ นกสีเหลือง อะไรทำนองนั้น

ไม่ทราบว่าเพลงเหล่านี้จัดอยู่ในยุคไหนของเพลงเพื่อชีวิตครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ม.ค. 11, 16:32

สวัสดีขอรับทุกๆท่าน

   นายชูพงค์กลับมาแล้วครับ เห็นด้วยกับคุณเพ็ญชมพูครับ ว่า กลิ่นโคลนสาบควายเนื้อหาจับใจนัก เรื่องของเพลงท่านจิตร ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่เบื่อกระทู้นี้เสียก่อน ผมจะชวนท่านคุยในช่วง...เอ จะช่วงไหนดีครับเนี่ย เพราะถ้าจะกล่าวตามสมัยแห่งการกำเนิด เพลงเหล่านั้นเขียนขึ้นช่วงรัฐบาลจอมพล ป. (ป. ๒) ต่อช่วงถึงยุคจอมพลผ้าขาวม้าแดง แล้วเลยมาถึงห้วงเวลาต้นๆของรัฐบาลจอมพลถนอม แต่ได้รับการบันทึกเสียงจริงๆหลัง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ครับ วงดนตรี “กรรมาชน” เป็นวงแรกๆที่นำมาเผยแพร่ และก็มีเพลงอยู่จำนวนหนึ่งที่เป็น “เพลงปฏิวัติ” เต็มที่ ตรงนี้ ขอความเห็นท่านผู้อ่านด้วยขอรับ

   ตอบคุณ art47
 ครับ

   “เพื่อมวลชน” ของวงกรรมาชน “นกสีเหลือง” วงคาราวาน “เดือนเพ็ญ” ท่านอัสนี พลจันทร ประพันธ์ พ.ศ.ใดนั้น ผมยังค้นข้อมูลไม่กระจะ แต่ที่แน่ๆ วงคาราวานนำมาเผยแพร่ครั้งแรกในอัลบัมชุด “บ้านนาสะเทือน” ยุคพลเอกเปรม ติณสูรานนท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สรุป เพลงที่คุณเอ่ยถึงส่วนใหญ่ จัดอยู่ในสมัยเพื่อชีวิตหลัง ๑๔ ตุลาครับ
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 ม.ค. 11, 16:59

   ก่อนจะเข้ายุคเพลงครูคำรณ ผมต้องขอกล่าวถึง “ครูเสน่ห์ โกมารชุน” ก่อนครับ มีเพลงโปรดผมเพลงหนึ่ง ถ้อยคำบริภาษกันชนิดตรงๆ ครูเสน่ห์ท่านไม่อ้อมค้อมเลย จะมีเว็บไหนนำมาให้ฟังหรือเปล่า ผมยังค้นไม่พบครับ ดังนั้น ขออนุญาตพิมพ์เนื้อร้องลงไว้ก่อนแล้วกันครับ

ผู้แทนควาย
โดย ครูเสน่ห์ โกมารชุน

   ฉันเป็นผู้แทนมาจากควาย
ฟังเถิดพี่น้องหญิงชาย นี่ควายเขาใช้ฉันมา
ให้ฉันช่วยถามเนื้อความเป็นปัญหา
ว่าควายที่ใช้ไถนามันเกิดมาเพื่อใคร

   ทำงานทุกอย่างส่วนต่างต่างของควาย
มีประโยชน์เหลือหลาย มากมายสุดพรรณนา
มนุษย์ขี้เหม็นยังเคี่ยวเข็ญต่างๆนานา
คิดแล้วช่างเอือมระอา คิดขึ้นมาควายน้อยใจ

   ยามมีชีวิตก็คิดแต่ใช้
ตากแดดตากฝนทนไป นี่แหละควายที่ไถนา
ทั้งเฆี่ยนทั้งตีขอแต่ให้มีข้าวมา
อาหารคือฟางกับหญ้าที่ให้มาเป็นค่าตอบแทน

   เพราะข้าวในนาเงินไหลมาเป็นแสนแสน
บางครั้งยังข้ามต่างแดน ควายมันแสนสลดใจ
ที่ควายไถนาเพราะเกิดมาเป็นควายไทย
ข้าวของเราแต่เขาขนไป คนอื่นกินได้ไทยไม่มีกิน

   ปักษ์เหนือปักษ์ใต้แดนไกลกันดาร
ไม่มีข้าวรับประทานเพราะคอร์รัปชั่นมันโกงกิน
ควายมันอยากร้องให้พี่น้องได้ยิน
ไปถึงสวรรค์ชั้นอินทร์ ให้พวกโกงกินมันวอดวาย

   แต่เกิดเป็นควายก็ได้แต่ยืนดู
ถึงจะรู้ก็เหมือนไม่รู้ ได้แต่ดูเขาขนไป
ถ้าควายปากบอนควายจะต้องนอนตาย
เอ้า โกงกันให้สบายเถอะไอ้ควายจะยอมทน

   ว่ากันว่า พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ถึงกับหนวดกระตุกอย่างแรง เรียกตัวครูเสน่ห์ไปพบ แล้วตั้งคำถามขู่ขวัญที่สรุปออกมาได้ว่า อยากมีลมหายใจอยู่ต่อหรือไม่? ครูเพลงชีวิตท่านนี้ จึงจำต้องป้องกันตัวท่านเอง ยุติบทบาทนักแต่ง/นักร้องเพลงชีวิตไป น่าเสียดายจริงๆครับ
 



 
บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 ม.ค. 11, 19:26

สนับสนุนคุณ chupong ด้วย 1 เสียงครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 ม.ค. 11, 11:39

สวัสดีอีกคำรบครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน
ผมหวนคืนมาคราใหม่ พร้อมการเริ่มต้นเพลงชีวิตของนักร้องสำคัญอีกท่านหนึ่ง “ครูคำรณ สัมบุญญานนท์” ครับ แรกทีเดียว ตั้งใจจะนำเสนอ “มนต์การเมือง” เพลงอกาลิโกที่ใช้ได้ทุกขณะ (แน่หละ ในเมื่อนักกินเมืองบ้านเรายังคลุกอาจมมิเปลี่ยนแปลง) แต่ ขออนุญาตเปลี่ยนใจกะทันหันครับ เพราะ...

    วันนี้หวยจะออกในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จึงนำเพลง “หวยใต้ดิน” มาฝากก่อนครับ ในแผ่นซีดีซึ่งผมถือครองมิได้ระบุนามผู้แต่งแหละ พ.ศ. อันเพลงดังกล่าวกำเนิดขึ้นเอาไว้ ท่านใดมีข้อมูลโปรดจุนเจือเกื้อกรุณาด้วยเถิดครับ ผมจำได้แต่เนื้อร้อง ก็จะพิมพ์ลงก่อนครับ

เพลง หวยใต้ดิน
ขับร้องโดย ครูคำรณ สัมบุญญานนท์

   อาดูรดวงใจ ข้าสูญสิ้นไปทุกอย่าง
เพราะใช้ชีวิตผิดทางสร้างความร่ำรวยด้วยหวยใต้ดิน
อาจารย์ไหนดีข้าไปหามาจนสิ้น
ตัวเก็งตัวกันตัวกินข้าแทงจนสิ้นวัวควายไร่นา

   เคยทำการงาน จิตใจก็พลันผันเปลี่ยน
ทั้งวันข้านั่งขีดเขียนพากเพียรคำนวณหวยตัวที่จะมา
บนบานพระภูมิเทพไทผีไพรเจ้าป่า
อินทร์พรหมสยมเทวาโปรดจงช่วยข้าให้รวยสักที

   อาจารย์ท่านใบ้ว่าช้างไปไข่ในเรือสำเภา
ตามกำลังวันพอเข้าบวกลบคูณหารได้เก้าสูญสี่
เพราะความอยากรวยรวบรวมทรัพย์สินที่มี
แทงหวยตัวเก้าสูญสี่หวังครองตำแหน่งเสรษฐีเมืองไทย

   ชะตาคนเรา เมื่อคราวมันจะถึงฆาต
หวยกินอย่างน่าอนาถโชควาสนาชักพาเป็นไป
มัวเมาสามตัวชั่วเพียงไม่นานเท่าไหร่
สินทรัพย์เงินทองบรรลัยต้องกลายสภาพกลับเป็นขอทาน

   ลงเอยกันที ไม่มีวันจะฝันใฝ่
สามตัวข้าขอห่างไกลยากจนเพียงใดไม่ขอพบพาน
นอนตามศาลาต้องอาศัยวัดแทนบ้าน
ขอร้องพี่น้องทั่วกัน อย่าได้เมามัวสามตัวอีกเลย



 
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 ม.ค. 11, 13:31

ไม่แน่ใจว่าเพลง ป่าลั่น จะเข้าข่าย เพลงเพื่อชีวิต หรือไม่  ทำนอง สมาน กาญจนผลิน คำร้อง ชาลี อินทรวิจิตร
คิดว่าเป็นเพลงจากภาพยนตร์ไทย     เป็นเพลงเก่าที่ร้องกันมาหลายยุค จนถึงปัจจุบัน

เรียงลำดับตั้งแต่เก่าสุด ของสุเทพ วงศ์คำแหง   อาจจะประมาณ 2500 กว่าๆ


ต่อมา ธานินทร์ อินทรเทพ นำมาร้อง  มีอีกหลายคน  ที่นำมาลงให้ฟังกันคือเสียงของฝรั่งร้องเพลงไทยได้ชัดกว่านักร้องไทยหลายคน
โจนัสกับคริสตี้


บันทึกการเข้า
pathuma
ชมพูพาน
***
ตอบ: 110


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 ม.ค. 11, 15:12

จะเป็นด้วยแรงบันดาลใจจากเพลง "ผู้แทนควาย" หรือเปล่าไม่ทราบได้ ทำให้ ส.ส. ไพฑูรย์ วงศ์วานิช จากสุราษฎร์ ธานี ครั้งหนึ่งเคยขี่ควายเข้าสภา  อ่านจากเรื่องพรหมลิขิตหักเห ในหนังสือ ฟ้าเมืองไทย จำได้ว่าคุณไพฑูรย์ นำควาย ขึ้นรถที่สถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ สุราษฎร์ธานีเพื่อนำควายเข้ากรุงเทพฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง