เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 11399 60 ปีสงครามมหาเอเชียบูรพา
ปะกากะออม
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 27 ก.พ. 01, 15:15

ปีนี้ครบ 60 ปีที่ญี่ปุ่นบุกไทย เปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในไทย

ใครเคยรับทราบประสบการณ์เกี่ยวกับสงครามโลกบ้างมั้ยคะ    บอกเล่ากันหน่อย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 ก.พ. 01, 23:02

เกิดไม่ทันครับผม

แต่คุยกันเรื่องนี้ ขอถามหน่อย อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเท่าไหร่
ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด Supreme Commander นั้น ผมเข้าใจว่าตั้งขึ้นในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาของคุณดอกกระออมนี่แหละ ดูเหมือนตอนแรกจะเรียกว่า ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย หรือยังไงนี่แหละนะครับ ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียกอย่างที่เรียกเดี๋ยวนี้
ผมพอจะพยายามเข้าใจได้ครับว่าในยามศึกสงคราม เพื่อความรวดเร็วฉับไวในการดำเนินการศึก กำลังของหน่วยต่างๆ ทั้งบกเรืออากาศต้องมีการบังคับบัญชาแหล่งเดียวที่จะสั่งได้ทุกเหล่า โดยเฉพาะในการยุทธที่ต้องใช้กำลังผสม
แต่ว่านี่ 60 ปีมาแล้ว ไทยยังรบสงครามมหาเอเชียบูรพาไม่เสร็จอีกหรือครับ? สถานการณ์เมืองไทย ทั้งในด้านการทหารและการเมืองเปลี่ยนไปจากสมัยท่านจอมพล ป. (ซึ่งขณะนั้นเป็นทั้งนายกฯ และ รมต.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วก็เป็น "ท่านผู้นำ" ด้วย) ตั้งเท่าไหร่แล้ว
เมื่อไหร่จะเปลี่ยนคำเรียกชื่อตำแหน่งนี้เสียที?

ตำแหน่งนี้เดี๋ยวนี้มีอำนาจสั่งทหารได้ทุกเหล่าทัพจริงๆ แค่ไหน? แล้วในระบบประชาธิปไตยที่ไทยเราใช้อยู่สมัยนี้ ไม่ใช่สมัย60 ปีโน้นน่ะ เราถือหลัก Civilian supremacy อยู่หรือเปล่า คือ รัฐบาล (พลเรือน) ที่มาจากการเลือกตั้ง สั่งทหารได้ ทหารเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐ ใช่ไหม อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎีแหละ ผมว่า เราก้าวพ้นยุคทหารทำปฏิวัติมานานแล้วนะครับ
ถ้า ผบ. "สูงสุด" จริง ถามว่า สูงกว่ารัฐมนตรีกลาโหมที่มาจากกระบวนการทางการเมืองหรือเปล่า ใครสูงกว่าใครครับ
และที่สำคัญที่สุด ติดอยู่ในใจผมมานานมากแล้ว ก็คือว่า คุณจะแปลยังไงระหว่างผู้บัญชาการทหาร "สูงสุด"  กับ ... องค์จอมทัพไทย
ทำไมต้องใช้คำว่า "สูงสุด" ? ทำไม?
เมื่อไม่กี่ปีก่อน เคยพบเอกสารเผยแพร่ของทางกองทัพเองนั่นแหละ เป็นภาษาอังกฤษ กล่าวถึงพระราชฐานะทางทหารของในหลวงที่เป็นสัญลักษณ์ (คือแปลมาจากคำว่า "ทรงเป็นจอมทัพไทย") ไว้ ว่า "the Highest Commander of All Armed Forces" - ประดักประเดิดที่สุด แล้วก็ไม่รู้ว่าใครสูงกว่าด้วยระหว่าง Supreme กับ Highest เพราะผมเปิดพจนานุกรมดูแล้ว ความหมายหนึ่งของ Supreme ก็คือ Highest.... กรรม...

เลิกใช้คำนี้เสียเหอะน่า ทั้งไทยทั้งอังกฤษแหละ จะเปลี่ยนเป็นแบบอเมริกันก็ได้ ไหนๆ ก็เลียนแบบเขามาเยอะแล้ว อเมริกันเขาเรียกตำแหน่งนี้ พอแปลได้ว่า ประธานคณะเสนาธิการทหารผสม ครับ ผู้บัญชาการสูงสุดของทหารหรือ Commander-in-Chief นั้น เขายกให้เกียรติประธานาธิบดีเขาไป เหมือนกับที่เราถวายพระเกียรติในหลวงว่าจอมทัพไทย

นี่เอาแค่เรื่องคำๆ เดียวคือคำว่า "สูงสุด" นะครับ ยังไม่ได้พูดถึงว่าที่จริงแล้วมีไว้ทำอะไร ทั้งตัวท่าน ผบ.สูงสุดเอง และลูกน้องท่านในกอง บก.สูงสุด นั่นแหละ เพราะจะกลายเป็นการชวนให้รื้อโครงสร้างกองทัพไป จะเป็นเรื่องยาวมากๆ เอาแค่ว่าขอให้เอาคำว่า สูงสุด ออกจากตำแหน่งท่านก็พอแล้ว แค่นี้ก็หลุดประเด็นกระทู้ไปแยะแล้ว
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ก.พ. 01, 18:10

เคยได้ยินว่าตอนที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก เอ...ที่ใหนน้า
รู้ว่าจะเป็นอ่าวมะนาวใช่ไหมครับ? จะมีการปะทะกับทหารไทยด้วย
ใช่ที่เรียกว่ายุวชนทหารหรือเปล่าครับ ถ้าเรื่องไม่ยาวไปนัก
ผู้ที่มีข้อมูลกรุณาช่วยเล่าให้เพื่อนๆ ฟังหน่อยจะขอบคุณมากครับ

อยากทราบว่าถ้าเป็นยุวชนจริงๆ ทำไมต้องยุวชน แล้วทำไมไม่เอาทหารจริงๆ
ออกไปรบละครับ?
บันทึกการเข้า
*กระออม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 09:12

ไม่ได้คิดหรอกค่ะว่าบนเรือนไทยนี้จะมีใครผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมา ( หรือจะมี?)  แต่อย่างน้อยคิดว่าทุกคนต้องอยู่ในครอบครัวที่มีประสบการณ์ร่วมนี้  

เท่าที่เรารับทราบเรื่องราวก็จะเป็นคำบอกเล่า  ข่าวสาร หรือแม้แต่นวนิยาย อ่านวนไปวนมาก็แค่นั้ น   ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์นี้มีผลกระทบทุกพื้นที่ของประเทศไทยก็ว่าได้
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 12:24

เรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 กับเมืองไทย เรียกได้ว่า รู้น้อยมาก เพราะ ไม่ได้มีใครเคยสอนผมเลย เอาง่าย ๆ มีสักกี่คน เด็กรุ่นนี้ทีรู้ว่า เมืองไทย เคยมีการเขียนคำว่า วัฒนธรรม ว่า
วัฒนธัม (ถูกเปล่า) ตอนญี่ปุ่นเข้ามา ประเทศไทย มีผลกระทบน้อยมาก เพราะเรายอมเค้า ให้เค้าผ่านประเทศไปได้ เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับเค้า แต่ตอนหลัง เราก็มีเสรีไทย มาช่วยไว้โดยสหรัฐฯ เท่านี้ที่ผมรู้ ไม่มีการสอนเรื่องนี้ สมัยเรียน ไม่ว่าจะระดับประถมหรือมัธยม ผมก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร
เพราะว่าไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังรู้หรือครับ ว่า ประเทศไทย ใช้นโยบายนกสองหัวในการเอาตัวรอดจากการเป็นผู้แพ้สงครามที่ผ่านมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 14:51

คุณปะกากะออม อ่านบทความเรื่องเสรีไทยหรือยังคะ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพา

http://vcharkarn.com/reurnthai/free_thai.php' target='_blank'>http://vcharkarn.com/reurnthai/free_thai.php



ถ้าจะเอาประสบการณ์    เอาวันแรกก็แล้วกันนะคะ

ถ่ายทอดคำบอกเล่าจากคุณปู่ของดิฉัน ผ่านมาทางคุณอาสู่หลานอีกที

ว่าคนไทยในกรุงเทพไม่รู้เรื่องนี้เลย   อยู่ในระหว่างรื่นเริงกับงานรัฐธรรมนูญ

ตื่นเช้าขึ้นมา ทหารญี่ปุ่นเต็มเมืองหลวง   แม้แต่คนญี่ปุ่นที่เราเข้าใจว่ามาทำงานประกอบอาชีพ อย่างหมอฟัน จู่ๆก็เปลี่ยนเป็นแต่งเครื่องแบบทหารกันหมด

บ้านของคุณปู่อยู่ที่ศรีย่าน  บอกว่าเห็นทหารญี่ปุ่นยกขบวนผ่านไปด้วย  คนไทยอยู่ในภาวะตกตะลึง   จะฟังแถลงการณ์จากรัฐบาล  ก็เงียบกริบ



ดิฉันมีเอกสารร่วมสมัย "บันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๗ และ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาเช้า"

อ่านพบว่าคณะรัฐมนตรีอยู่ในภาวะยุ่งยากใจอย่างหนักในการตัดสินปัญหาเฉพาะหน้าว่าจะทำอย่างไรดี  เพราะเราถูกยื่นคำขาดจากญี่ปุ่นให้ตอบภายในวันนั้น



ญี่ปุ่นส่งเรือรบมา ๓ ขบวน  ขบวนหนึ่งประมาณ ๑๕ ลำมุ่งหน้าไปทางสงขลา  ขบวนที่สองตรงมาที่อ่าวไทยบริเวณเกาะสมุย  ขบวนที่ ๓ มาที่ปากน้ำสมุทรปราการ และมาขึ้นที่บางปู

รัฐบาลไทยรับทราบว่า ญี่ปุ่นขึ้นที่สงขลา ปะทะกับทหารและตำรวจ  รบกันที่แม่น้ำน้อย   ส่วนที่ไปขึ้นที่ปัตตานีก็รบและยึดได้แล้ว



คุณพระนาย  สะกดว่า"วัธนธัม "ค่ะ  หารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ "ยุคไม่ขำ"

http://vcharkarn.com/reurnthai/no_joking.php' target='_blank'>http://vcharkarn.com/reurnthai/no_joking.php
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 15:08

ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าเราถูกญี่ปุ่นยึดได้แล้ว แต่ว่าญี่ปุ่น ยังอุตส่าห์ยื่นข้อเสนอให้ไทยเราเข้าร่วมด้วยเพราะอะไร ผมเดาว่าคงเพราะเห็นว่าไทยเราเป็นประเทศอิสระไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกอย่างประเทศเพื่อนบ้าน หรือเปล่าครับ เราเลยมีโอกาส ดิ้นไปได้ ทั้งสองทาง ผมคิดเสมอว่า ถ้าญี่ปุ่นกับเยอรมัน ชนะสงคราม ไทยเราก็คงเอาด้วย กลายเป็นประเทศที่ตามเยอรมันกับญี่ปุ่นแทน เหมือนตอนที่ผมอ่านสี่แผ่นดิน คุณเปรมนั้นเหมือนตอนแรกจะเอาใจช่วยเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่สุดท้ายไทยเราก็เข้าร่วมกับฝ่ายชนะ คืออังกฤษกับฝรั่งเศส
บันทึกการเข้า
จ้อ
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1081

แต่งงานแล้วจ้า ...


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 18:38

ผมว่าเรื่องเราเข้าทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายหรือน่าอับอายตรงไหน
ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว สงครามที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับไทย เป็นเรื่องของ
พวกจักรวรรดิ์นิยมสมัยนั้น การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ แล้วเราต้องแพ้ไปด้วย
ดูจะไม่ค่อยแฟร์ ผมมองว่าเหมือนคนไทยนั่งอยู่ในบ้านของเรา มีญี่ปุ่นกับ
ฝรั่งปีนข้ามรั้วมาทะเลาะกันในบ้านเรา พอต่อยกันรู้แพ้รู้ชนะแล้ว เราต้องจ่ายค่า
ทำแผลให้ด้วยหรือ?  บ้านเมืองเราถูกลูกระเบิดถล่มไม่รู้กี่ลูก แค่นี้ก็ช้ำพอแล้วครับ

ผมว่าประเทศเล็กๆ อย่างไทยดำเนินนโยบายยืดหยุ่นดีอย่างนี้ดีแล้วครับ
ไม่เห็นจะเป็นเรื่องต้องปกปิดไม่ให้เรียนเลย
ผมได้ยินมาว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรทั้งกับ
จีน และ สหรัฐอเมริกา ( ต้องให้คุณ นกข. หรือ ผู้รู้ท่านอื่นมายืนยันอีกที )
ดังนั้นถ้าในอนาคตเกิดวิกฤตการณ์ (ใต้หวัน ?) ไทยก็ไม่เกี่ยว เพราะเรามี
สัญญาไม่รบกับทั้งสองฝ่าย ( ใช้เทคนิคเดิม ฮี่ๆๆ )

ผมว่าแฟร์ดีออก ใครอยากรบก็รบกันไปสิ เราไม่ได้เกี่ยว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 19:11

ขอยกความเห็นของหลวงอดุลย์เดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจซึ่งอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มาลงในนี้ค่ะ

" ...สำหรับความรู้สึกของผมนั้น  การที่ญี่ปุ่นไม่กล้าทำอะไรรุนแรงอย่างอเมริกและอังกฤษนั้น
เข้าใจว่านโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่อยากจะให้มีอะไรระหว่างชาวเอเชียด้วยกัน  มิฉะนั้นก็จะเสียวาจาว่าที่ลั่นเอาไว้ว่าจะช่วยชาวเอเชียด้วยกัน
จึงเป็นอันว่าข้อเสนอที่เขายื่นแก่เรานั้น ไม่ใช่ว่าเขากลัวเรา  เพราะในเมื่อเขาประกาศรบกับอเมริกาและอังกฤษซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจได้แล้ว ก็เป็นอันว่าเขาให้เกียรติยศเราในฐานะที่เป็นชาวเอเซียด้วยกัน
การที่เขาส่งกองทัพเรือ ๑๕ ลำ เข้ากั้นบริเวณสงขลาและปัตตานีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กองทัพเรือของอเมริกาก็ดี ดัทช์ก็ดี กองทัพเรืออังกฤษก็ดี  ไม่สามารถจะมาช่วยไทยในอ่าวไทยได้
ปรากฏผลในขณะนี้จะเห็นว่าอังกฤษไม่สามารถจะช่วยไทยได้ทั้งๆที่แลเห็นอยู่แล้วว่าเขามาขึ้นที่สงขลาและปัตตานี  ไม่ปรากฏว่าทหารอังกฤษได้ล้ำแดนเข้ามาแม้แต่คนเดียว"

ตอบคุณ Jor
ถ้ามองในสายตาประเทศเล็กๆอย่างเราก็ไม่แฟร์ค่ะ เพราะเราบอบช้ำมาพอสมควรกับสงคราม
แต่ถ้ามองในสายตาฝ่ายชนะ  เขาถือว่าเราเปิดบ้านให้ญี่ปุ่นเข้ามานั่งนอนตั้งกองทัพ ให้กินให้อยู่ตามสบาย
ถือว่าพวกเดียวกันนี่นะ ก็ต้องโดนด้วยกัน
พอเขาชนะ เขาก็เลยลงโทษทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายร่วมมือ  ส่วนข้าวของเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเราที่หักพังตอนเขาเข้ามาตีกันในบ้าน-ก็ซ่อมกันไปเองซี

นึกถึงพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ค่ะ ทรงประชดประชันได้ตรงดี

"กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้
ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ"

หลังสงคราม ไทยโดนอังกฤษปรับเสียอาน   แต่จะด้วยโชคดีของไทย หรือเราดำเนินนโยบายถูก หรือนายพลนากามูระใช้นโยบายประนีประนอม ไม่รุกรานก้าวร้าวรุนแรง   (หรือ ๓ อย่างรวมกัน)
ไม่รวมอีกอย่างคือเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้เท่าไร
ผลคือไทยมีความทรงจำที่ขมขื่นกับญี่ปุ่นน้อยกว่าที่จีนและเกาหลีมี
มีจำนวนมากที่เป็นหนุ่มสาวรุ่นหลัง  จำญี่ปุ่นได้ชัดก็คือภาพพระเอกโกโบริเสียด้วยซ้ำไป
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 22:02

ผู้ใหญ่ไทยสมัยโน้นส่วนหนึ่งคิดว่า สาเหตุที่ฝรั่งเขาพลอยโกรธเราไปด้วย เพราะว่าตอนหลัง เรา คือ รัฐบาลท่านจอมพล ป. ไปตกลงปลงใจร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝรั่งด้วยครับ ไม่ใช่ทำตัวเป็น occupied territory เฉยๆ เราไม่ได้อยู่เฉยๆ ให้ฝรั่งกับญี่ปุ่นปีนรั้วเข้ามาตีกันเท่านั้น ต่อมารัฐบาลเรารู้เห็นเป็นใจและสนับสนุนเข้าข้างฝ่ายหนึ่งด้วย (จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีพวกใต้ดินที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลยุคนั้น คือเสรีไทย ต้องติดต่อกับสัมพันธมิตรไว้ ให้เขารู้วาไทยทั้งประเทศไม่ได้คบญี่ปุ่นไปหมด)

ต่อข้อนี้เห็นได้ชัดว่า ระหว่างสงครามและหลังสงครามท่าทีของฝรั่งเองก็ไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งคือ อังกฤษฝรั่งเศส มีท่าทีว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศศัตรู เพราะร่วมกับญี่ปุ่นรบกับเขา อีกฝ่ายคืออเมริกาไม่ได้ถืออย่างนั้น อเมริกาถือว่าไทยอยู่ในฐานะจำยอม และท่านทูตประจำวอชิงตัน คือคุณชายเสนีย์ ปราโมชท่านไม่ยอมยื่นประกาศสงครามกับอเมริกาด้วย หลังสงครามอเมริกาจึงออกจะเห็นใจไทยมากกว่าผู้ชนะชาติอื่นๆ และช่วยผ่อนหนักเป็นเบาให้เราไปได้มาก ทำให้นำไปสู่การกระโดดกอดคอร่วมรบกับอเมริกามหามิตร ในสงครามเย็นอย่างเต็มตัวในสมัยต่อมา


เรื่องโกโบริ อาจารย์คึกฤทธิ์น้องคุณชายเสนีย์ เขียนเรื่องความไม่มีปมของไทยไว้ คลับคล้ายคลับคลาว่าจะตอนที่ท่านไปเล่นหนังกับมาร์ลอน แบรนโดที่ฮอลลีวู้ด ทำนองว่า มาร์ลอน แบรนโด และคนต่างชาติอีกหลายคน ทั้งญี่ปุ่นทั้งฝรั่งชอบคบคนไทย ตรงที่เป็นตัวของตัวเองและไม่มีปมขมขื่นมากมายกับต่างชาติ เราคบเขาได้ทั่วไปหมด (ญี่ปุ่นขึ้นเราก็สงสารเอากล้วยไปให้เชลยฝรั่ง พอญี่ปุ่นแพ้ฝรั่งขึ้นเราก็สงสารเอากล้วยไปให้เชลยญี่ปุ่น- อันนี้ผมว่าเอง ไม่ใช่อาจารย์คึกฤทธิ์ว่า) เราไม่มีปมเรื่องเคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง (แม้จะมีแผลเล็กๆ กับฝรั่งเศสอังกฤษที่มาเฉือนดินแดนบ้าง แต่น้อยกว่าอดีตอาณานิคมแถวนี้เยอะ) และไม่มีปมกับทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก (โชคดีของเราที่ญี่ปุ่นไม่ได้แสดงความโหดร้ายในบ้านเราเมืองเราเหมือนที่อื่น) เราจึงพร้อมจะคบกับเขาได้อย่างสนิทใจในฐานะเป็นเพื่อนกันเสมอกัน ไม่ต้องโกรธฝรั่งหรือหงอฝรั่ง (ว่าเป็นนายเก่า) และไม่ต้องเคียดแค้นญี่ปุ่น

สมัยนายกทานากะ แถวๆ ก่อน 14 ตุลา 16 มีการประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นกันมาก และหลายประเทศในเอเชียก็มีเหตุรุนแรง ของไทยเราก็มี แต่ไม่ได้ต้านญี่ปุ่นรุนแรงมากเหมือนประเทศเอเชียอื่น
และ - ดูเหมือนไทยจะเป็นประเทศเดียวเท่าที่ผมทราบ ในเอเชียอาคเนย์ ที่ทหารพระจักรพรรดิญี่ปุ่นกลายเป็นพระเอกไปได้ ที่อื่นมีแต่เขาเห็นเป็นผู้ร้ายทั้งนั้น

ความรู้สึกไม่มีปมของเราต่อคนต่างชาติที่อาจารย์คึกฤทธิ์ว่ามานั้น มาถึงสมัยนี้ยังจะจริงอยู่หรือไม่ หรือมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างผมก็ไม่ทราบ ส่วนตัวผมเองรู้สึกว่าความรู้สึกต่อมหามิตรสหรัฐฯ ของเราชักจะเจือจางลง ตั้งแต่สักราวๆ สมัยที่อเมริกาจะใช้กฎหมายการค้า ซูเปอร์ 301 กับไทย และตอนไทย ศก. ตก ก็มีคนไทยด่าจอร์จ โซรอส ไอเอ็มเอฟ และอเมริกา กันมาก
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 22:10

หนังสือเรื่องไทยกับสงครามโลกครั้งที่สองที่ผมเห็นว่าละเอียดดี โดยเฉพาะในแง่การดำเนินนโยบายทางทูต คือเล่มที่เขียนโดยท่านทูตกนต์ธีร์ ศุภมงคลครับ แต่ตอนนี้ไม่ได้มีอยู่กับตัวผมเสียด้วย ใครอยู่ที่เมืองไทยลองหาดูครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 22:25

เรื่องยุวชนทหารที่คุณจ้อถามนั้น ผมก็ยังไม่ได้ดูหนังเรื่อง ยุวชนทหาร เขาว่ากันว่าดี แต่เข้าใจว่ายุวชนทหารสมัยนั้นก็คล้ายๆ รด. สมัยนี้ คือการหัดให้เยาวชนของชาติมีความรู้ทางทหารไว้เป็นกำลังสำรอง เพราะก่อนญี่ปุ่นขึ้นก็มีสถานการณ์โลกหน้าสิ่วหน้าขวานอยู่ รัฐบาลจอมพล ป. เองก็ไม่ไว้ใจเหมือนกันไม่รู้ฝรั่งหรือญี่ปุ่นจะมาขึ้นไทยเมื่อไหร่ จึงมีการประกาศให้ไทยเป็นกลางและประกาศจะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ประกาศหน้าที่ของคนไทยในเวลาสงคราม (เป็นการเตรียมไว้ - ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามจริง) และคงจะจัดตั้งกองกำลังยุวชนทหารขึ้นมาในบรรยากาศการเตรียมพร้อมเช่นนี้ (มีบางคนวิเคราะห์ว่า จอมพล ป. ท่านไปเอาแบบมาจากเยาวชนฮิตเล่อร์ของนาซีเยอรมัน แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะยุวชนทหารอย่างน้อยเมื่อแรกตั้ง ตั้งขึ้นเป็นกำลังสำรองของกองทัพ คือของชาติ จริงๆ ไม่ใช่เพื่อหนุนท่านในฐานะบุคคล ต่อๆ มาจะเป็นยังไงผมก็ไม่แน่ใจ ใครทราบบ้างครับว่าสมัยหลังยุวชนทหารกลายเป็นยุวชนของท่านผู้นำไปหรือเปล่า)

พอถึงวันที่ถูกญี่ปุ่นบุกจริง ในสถานการณ์สงครามจริง กำลังทุกส่วนที่เรามี ต้องปะทะใช้ต่อต้านข้าศึกคือญี่ปุ่นหมดครับ (ตอนนั้นยังไม่ได้สงบศึกระดับรัฐบาล และไทยยังไม่ได้ถือว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรร่วมรบ) กองทหารจริงๆ ก็สู้กับญี่ปุ่น ตำรวจก็รบด้วย ในกองกำลังยุวชนทหารก็มีทหารจริงๆ เป็นครูฝึกหรือผู้บังคับหน่วยอยู่ อย่าว่าแต่ยุวชนทหารเลย ผมจำได้ว่าเคยผ่านตาวีรกรรมของลูกเสือไทยด้วยซ้ำ สรุปว่ามีหลายหน่วยทั้งทหารและยุวชนทหารครับ ที่ต่อสู้รบกับญี่ปุ่นอยู่ - รู้สึกจะ 1 คืน - ก่อนที่จะเจรจาสงบศึกหยุดยิงกันได้ในระดับรัฐบาล
มีเกร็ดสนุกๆ ผู้ใหญ่ของผมเล่าว่า ยุวชนทหารไทยได้แสดงความห้าวหาญในการรบกับญี่ปุ่นไว้มากในคืนละเลงเลือดนั่น จนญี่ปุ่นจำได้ดี จนเมื่อไทยญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกันแล้ว ทหารญี่ปุ่นในเมืองไทยเดินผ่านเด็กที่แต่งเครื่องยุวชนทหาร ทหารญี่ปุ่นต้องตะเบ๊ะให้ทุกที ด้วยความนับถือว่ามันใจถึงจริงและกล้าจริง
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 ก.พ. 01, 23:52

อ่านแล้วได้ความรู้ขึ้นเยอะครับ
ผมเพียงแต่เสียดายที่ สมัยเรียน เรื่องนี้ไม่ได้บรรจุถึงไม่ว่ายุคที่ภาษาไทยวิบัติ คำว่าวัฒนธรรม เขียนไปเป็นอย่างอื่น
หรือที่ไทยเรานั้น ตอนหลังจากให้ญี่ปุ่นผ่านแดน ผมอ่านจากสามเกลอ ไทยเรายังไปรบยึดเอา ลาว เขมร เวียดนามมาจากฝรั่งเศสด้วย หรือเปล่าครับ โชคดีที่อเมริกา มาช่วยไม่ให้เราโดนอังกฤษกับฝรั่งเศสแบ่งประเทศออกครึ่งนึงไปได้ นโยบาย ยืดหยุ่นนั้นก็ดีนะครับ แต่มันก็กลับเป็นข้อเสียของคนไทยไปได้ด้วยเหมือนกัน ส่วนผมนั้นไม่เกลียดอเมริกา หรืออังกฤษเท่าไหร่ แต่ผมไม่ชอบคนฝรั่งเศสเลยจริง ๆ เคยเจอบางคนมันก้นิสัยหยิ่งจริง ๆ ดูถูกคนอื่นด้วย
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 ก.พ. 01, 01:52

ถ้าอ่านสามเกลอตอนสงครามอินโดจีน หรือตอนไหนๆ ก็ตาม จะได้ข้อมูลที่มีค่ามากอย่างหนึ่ง คือ ความคิดความอ่าน ความรู้สึก ความเห็น ความเชื่อ ความฝันของคนไทยธรรมดาๆ สมัยนั้น ตามการรับรู้ของคนธรรมดาขณะนั้น ไม่ว่าจะผิดพลาดหรือตรงกับข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

กระแสประชามติหรือความเห็นของสังคมไทย มันเปลี่ยนไปได้ต่างๆ ตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือตามที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองขณะนั้นตั้งใจจะให้คนไทยรับรู้อะไร
 
สมัยสงครามอินโดจีน มีการปลุกกระแสชาตินิยม ฝรั่งเศสเป็นผู้ร้าย คุณ ป. อินทรปาลิตก็ถ่ายทอดออกมาให้เราได้รู้ สามเกลอได้เป็นทหารไปรบลุยเข้าไปในอินโดจีนฝรั่งเศส (ในนิยายบุกเข้าไปมากกว่าในความเป็นจริงมาก) จนถึงเมื่อไทยร่วมรบกับฝ่ายอักษะ เจ้าคุณปัจจนึกฯ ก็เรียกเยอรมันและญี่ปุ่นว่า "พี่ชายของเรา" อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่พอหลังสงคราม กระแสสังคมเปลี่ยน สามเกลอก็เอ่ยถึงจอมพล ป.ที่ตกอำนาจไป ว่า "นายกรัฐมนตรีก๊วยเตี๋ยว"  มีเรื่องสามเกลอไปฟิลิปปินส์ไปเกิดเรื่องชกต่อยกับนักเลงบาร์ที่นั่นด้วยความรักชาติต้องการปกป้องศักดิ์ศรีของชาติ เพราะนักเลงมะนิลาด่าเอาว่าไทยเป็นชาติขี้ขลาด "เป็นลูกน้องอ้ายยุ่น"...

ในแง่ประวัติศาสตร์ สมรภูมิสงครามอินโดจีนในสามเกลอ อ่านเอาสาระมากนักไม่ได้ครับ เพราะแต่งให้ไทยบุกกินแดนฝรั่งเศสเข้าไปมากเกินไป เก่งเกินไป ถ้าคุณพระนายเชื่อคุณ ป. ท่านจริงๆ คุณพระนายก็ต้องเชื่อด้วยว่า ยอดนักบินฝรั่งเศสชื่อ โก๊สสับปะแรง แปลว่าแกงสับปะรด หรือนายพลผู้บัญชาการทหารอินโดจีนฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อนายพลเดอกู อีกคนเป็นน้องชาย ชื่อนายพลเดอมึง...

คุณ ป. ท่านก็บอกแล้วว่าท่านแต่งนิยายโกหกสนุกๆ  แต่ข้อมูลที่มีค่าที่สุดที่ท่านสะท้อนไว้ คือบรรยากาศสังคมไทยสมัยนั้น แล้วก็ความรู้สึกนึกคิดของคนไทยธรรมดาตอนนั้น
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 ก.พ. 01, 02:03

เรื่องข้อตกลงที่ไทยทำกับจีนและสหรัฐฯ ที่คุณจ้อพูดถึง ผมคิดว่า กับสหรัฐฯ เรายังมีสนธิสัญญาป้องกันร่วมที่เราเรียกว่า ถนัด-รัสก์ ที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยรัฐมนตรีต่างประเทศ ดีน รัสก์กับพันเอกถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไทย อันน้นค่อนข้างเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องความมั่นคง การทหาร
กับจีนใหม่กว่านั้นครับ เพิ่งทำเร็วๆ นี้เอง เรียกว่าอะไรผมก็จำไม่ได้แม่น ดูเหมือนจะเรียกว่าแผนการความร่วมมือไทย-จีนในศตวรรษที่ 21 หรือยังไงนี่แหละ พูดกว้างๆ ถึงความสัมพันธ์ทุกด้านไม่เฉพาะแต่ด้านความมั่นคงเท่านั้น
เราเป็นประเทศเล็ก คงไม่อยากจะทะเลาะกับใครทั้งนั้นครับ ต่อให้ไม่ต้องทะเลาะกับใคร แค่ประเทศใหญ่เขาทะเลาะกันเองเราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นด้วย เพราะมันกระทบสันติภาพส่วนรวมทั้งโลก โดยเฉพาะถ้ามาทะเลาะกันใกล้ๆ เรา
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง