เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 18980 เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 21 ก.พ. 01, 11:05

เรื่องของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ว่ากันมาเป็นกระทู้มาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ในห้องสมุด
และมองอดีตของพันทิบมาจนถึงเรือนไทยนี้ เท่าที่จำได้ไม่ได้บทเต็มซักที ลุงแก่ก็เพิ่งจะได้มาอ่านพบ
บทเต็มของเพลงยาวพยากรณ์นี้ ก็เลยขออนุญาตฉายซ้ำเสนออีกครั้งก็แล้วกัน

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา "สันนิษฐาน"ว่าได้แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความดังนี้

  จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนะราชพระศาสนา ... มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา ... สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล ... จบสกลลูกค้าวาณิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา ... ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอกนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิษ ... ทั้งความวิกลจริตและความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา ... ครองขัณฑสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฏีกาทำนุก ... จึงอยู่เป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยมนุษย์ในใต้หล้า ... เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี ... คฤหบดีพราหมณ์พฤฒา
ประดุจดังศาลาอาศัย ... เหมือนหนึ่งร่มพระไทรสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำคงคา ... เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ ... อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขัณฑ์บันดาล ... แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์ ... เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติขจรจบ
อุดมบรมสุขทุกแผ่นภพ ... จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย ... จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์ ... จนเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ ๑๖ ประการ

 คือดาวเดือนดินฟ้าจะอาเพศ ... อุบัติเหตุเกิดทั่วทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ ... เกิดนิมิตพิศดารทั้งบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดเป็นเลือดนก ... อกแผ่นดินจะบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ... ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองก็จะเอาตัวหนี ... พระกากุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกให้ ... อกพระกาฬจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด ... เมื่อพินิจพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม ... มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น ... เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาผู้รักษาพระศาสนา ... จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สับปุรุษจะพ้นแก่ทุรชน ... มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว ... คนชั่วจะล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก ... จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ ... นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย ... น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า ... เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพย์สม
ผู้ทรงศีลจะเสียซึ่งอารมณ์ ... เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศชาติจะเสื่อมซุ่งยศฐา
อาสัตย์จะเลื่องฤๅชา ... พระธรรมจรรยาฤๅกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ ... จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ ... สับปุรุษจักอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอายุขัยจะถอยเคลื่อนเดือนปี ... ประเวณีจะรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนหย่อนไป ... ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งเภทพรรณว่านยาก็อาเพศ ... เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส ... จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง ... สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ... ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศเขตราชธานี ... จะบังเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างจากใจทั้งไพร่พล ... จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฏร์ ... จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวอดวาย ... ผู้คนจะล้มตายกันเป็นเบือ
ทั้งทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก ... เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงสาราสัตว์เนื้อเบื้อ ... จะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน
ทั้งฝูงคนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย ... จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาฬจะมาผลาญซึ่งแผ่นดิน ... จะสูญสิ้นด้วยการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว ... จะกลับรัศมีแก้วทั้งสาม
ไปจนคำรบปี เดือน คืน ยาม ... จะสิ้นนามศักราชถ้วนห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเกษมสุข ... แสนสนุกสุขล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ ... นับวันจะเสื่อมสูญเอย.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
นอกจากนี้ยังมีกล่าวกันว่าในช่วงก่อนเสียกรุงครั้งที่สองนี้ ได้เกิดเหตุอาเพศขึ้นคือ พระรูปจำลองของ
สมเด็จพระนเรศวร ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระโรงแสงในพระบรมมหาราชวังสำแดงอภินิหาร กระทืบ
พระบาททั้งสองสนั่นกึกก้องไปทั้ง ๔ ทิศ ยอดพระปรางค์วัดราชบูรณะฯ คู่บ้านคู่เมืองอันเคยเรื่อเหลือง
สุกสกาวด้วยสีทองยามเมื่อต้องแลงระวีฉาย ก็กลับกลายหม่นหมองเป็นสีดำคล้ำ ฝูงกาทั้งหลายต่างก็
โบกบินโฉบไปมาทั้ง ๔ ทิศ ต่างตัวต่างก็เอาหน้าอกของตนเสียบติดกับยอดปรางค์ถึงแก่ความตายไป
พระพุทธรูปปฎิมากรอันมีพระนามว่า พระเจ้าพนัญเชิงหรือแพนงเชิง ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดพนัญเชิง
ก็สำแดงอภินิหาร กล่าวคือ มีน้ำพระเนตรหลั่งไหลออกมามิได้ขาดสายทั้งกลางวันและกลางคืน น้ำพระเนตร
นั้นมีสีสันประดุจน้ำล้างโลหิต ความวิบัติอาเพศดังกล่าวนี้รวมตลอดไปถึงพืชพันธุ์ธัญญาหารในภูมินา
และเรือกสวน ก็มิได้เกิดขึ้นและงอกงามตามฤดูกาล
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - - - - - - - -  -
สำหรับในสมัยกรงรัตนโกสินทร์นี้ ก็กล่าวกันว่ามีคำทำนายที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ได้เขียน
ทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองไว้ ซึ่งมาพบหลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว กล่าวไว้เป็นลำดับดังนี้
ยุคมหากาฬ - พาลยักษ์ - สนิทธรรม - จำแขนขาด - ราษฏรโจร -
รักมิตร - ชนร้องทุกข์ - ยุคทมิฬ - ถิ่นตาขาว - ชาวศิวิไลซ์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -  - - -
ไม่ทราบว่านอสตราดามุสได้กล่าวทำนายทายทักเรื่องของเมืองไทยไว้บ้างหรือเปล่า ?
ยังอ่านไม่พบเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 ก.พ. 01, 10:25

เข้าใจว่าสมัยนอสตราดามุสมีชีวิตอยู่ ยังไม่มีเมืองไทยนะคะคุณลุงแก่
น่าจะมีอาณาจักรศรีอยุธยาตอนต้นๆ  และในแหลมทองก็มีอาณาจักรอื่นๆกระจัดกระจายกันอยู่อีกหลายแห่ง

คำพยากรณ์ที่ว่าแต่งสมัยอยุธยา ดิฉันคิดว่าน่าจะหลังกว่านั้นมาก
น่าจะเป็นอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์
เพราะการแต่งกลอนเพลงยาวเพิ่งจะมาพบกันสมัยอยุธยาตอนปลายนี่เองค่ะ   สมัยพระนารายณ์นิยมโคลงสี่ หรือฉันท์ และล่าสุดที่เพิ่งพบคือกาพย์  ไม่ใช่กลอน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 ก.พ. 01, 09:20

มีอยู่แนวคิดหนึ่งว่าเป็นงานประพันธ์ของพระเจ้าเสือครั้งยังเป็นหลวงสรศักดิ์ในแผ่นดินพระนารายณ์ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองคือปล่อยไปในลักษณะข่าวลือให้บ้านเมืองจลาจล เนื่องจากกำลังในมือของฝ่ายปฏิวัติมีจำกัด ไม่สามารถลงมือด้วยตนเองได้
ลองหาอ่านใน การเมืองในสมัยพระนารายณ์นะครับ ของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
บันทึกการเข้า
ปะกากะออม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ก.พ. 01, 09:43

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่าคำพยากรณ์นี้มาจากความทรงจำของคนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่เชื่อกันว่าเป็น "เรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองนพบุรีทำนายกรุง"   แต่ที่ปรากฏในหนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าเป็นคำพยากรณ์ของพระเจ้าเสือ

อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร เคยกล่าวไว้ว่าคำพยากรณ์นี้ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นของทั้งสมเด็จพระนารายณ์ หรือ พระเจ้าเสือ เพราะเนื้อหาลางวิบัติ 16 ประการนั้นมาจากมหาสุบินชาดก ซึ่งน่าจะเป็นที่รับรู้อยู่ในสังคมไทยมาก่อนหน้าแล้ว
บันทึกการเข้า
เปี้ยว
พาลี
****
ตอบ: 321

วิชาการ.คอม, อาจารย์ภาคฟิสิกส์ มหิดล


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ก.พ. 01, 23:05

พระกากุลี กับ พระกาฬ ทั้งสองท่านคือใครครับ
ผมพอจะรู้พระเสื้อเมือง พระธรณี
บันทึกการเข้า
นิธิณัช สังสิทธิ
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ก.ย. 06, 10:20

 ผมว่าถ้าอยากรู้ว่าแต่งขึ้นในสมัยใด อีกวิธีหนึ่งก็คือศึกษารูปของคำศัพท์และอักขรวิธีครับ ถ้าเป็นเพลงยาวฉบับดั้งเดิมก็จะมีรูปแบบอักขรวิธีดังนี้ครับ (ไม่เหมือนข้างบน ที่แปลงรูปเป็นปัจจุบันแล้ว)

๏ (๑) จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุทยา
เป็นกรุงรัตนราชพระสาศนา
มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฎิ์รจนา
สรรเสริญอยุทยาทุกแห่งหน
ทุกบุรียสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิจ
ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุทยาเป็นอัคะนิด
ประชาราษฎร์ปราศจากไภยพิศม์
ทั้งความพิกลจริตแลความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา
ครองขันทสิมาเป็นศุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก
จึ่งอยู่เย็นเป็นศุขสวัสดี
เป็นที่อาไศรยแก่มนุษย์ในใต้หล้า
เป็นที่อาไศรยแก่เทวาทุกราศรี
ทุกนิกรนรชนมนตรี
คะหะบดีชีพราหมณพฤฒา
ประดุจดั่งศาลาอาไศรย
ดั่งหนึ่งร่มพระไทรอันษาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำพระคงคา
เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาน
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ
อาจปราบไภยรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขันท์บันดาน
แต่งเครื่องบัณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุทยานั้นสมบูรณ์
เพิ่มภูญด้วยพระเกรียศคะจรจบ
อุดมบรมศุขทั้งแผ่นภพ
จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกีดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากระษัตรมิได้ทรงทศมิตราชธรรม์
จึงเกีดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพด
อุบัติเหตุเกีดทั่วทุกทีศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลีงกาล
เกิดนิมิตพิศดานทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงดั่งเลือดนก
อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี
พระกาลกุลีจะเข้ามาเปนใส้
พระธรณีจะตีอกให้
อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณทำนายไว้บห่อนผิด
เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น
มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระสาศนา
จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษย์จะแพ้แก่ทระชน
มิศตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว
คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกสิทธิ์จะสู้ครูพัก
จะหานหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า
เพราะจันทานมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์
เพราะสมัคสมาคมด้วยมารยา
พระมหากระษัตริจะเสื่อมสิงหนาท
ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัจจะเลืองฦๅชา
พระธรรมาจะตกฦกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาน
จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์
สัปรุษย์จะอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอยุศม์จะถอยเคลื่อนจากเดือนปี
ประเวณีจะแปรปรวนตามวิไส
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป
ผลหมากรากไม้จะถอยรศ
ทั้งแพศพรรว่านยาก็อาเพด
เคยเป็นคุณวิเศศก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรไม้อันหอมรศ
จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งเข้าก็จะยากหมากจะแพง
สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกีดทรพิศม์มิคสัญญี
ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี
จะเกีดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราช
จะเกีดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก
เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงห์สาระสัตว์เนื้อเบื้อ
นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน
ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย
จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาลจะมาผลานแผ่นดิน
จะสูญสิ้นการนะรงสงคราม
กรุงศรีอยุทยาจะสูญแล้ว
จะลับรัดสมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนคืนยาม
จนสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุทยาเขษมศุข
แสนสนุกนิ์ยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาทัน
นับวันจะเสื่อมสูญเอย

จบเรื่องพระนารายน์เป็นเจ้านพบุรีทำนายกรุงเแต่เท่านี้
(คงรักษาอักขรวิธี ตัวสะกดการันต์ ตามต้นฉบับตัวรง สมุดไทย)

คนที่เก่งทางภาษาศาสตร์ คงจะสามารถอธิบายได้นะครับ ผมไม่เชื่อว่าแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะคำว่า อยุทยา ถ้าเป็นรัตนโกสินทร์น่าจะใช้ "อยุธยา" แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะนำเสนอคือ คนที่ทำนายกรุง กับคนที่แต่งเพลงยาว อาจจะไม่ใช่คนเดียวกัน และอาจจะไม่ได้อยู่ในสมัยเดียวกันก็ได้ครับ ดังเช่นที่รัชกาลที่ ๕ ให้แต่งโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ไม่ได้หมายความว่าโคลงภาพพระราชพงศาวดารแต่งสมัยอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ (เพราะกล่าวเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไว้ต่อเนื่องยาวมาก) ดังนั้น ผมอยากให้วิเคราะห์เป็น ๒ ประเด็นดีกว่าครับ
บันทึกการเข้า
Package
มัจฉานุ
**
ตอบ: 55


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 ต.ค. 06, 16:15

 ยาวจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 ต.ค. 06, 18:41

 ถ้าไม่เชื่อว่าแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะคำว่า อยุทยา ถ้าเป็นรัตนโกสินทร์น่าจะใช้ "อยุธยา"  ก็เป็นการสรุปที่เร็วไปหน่อย
การสะกดคำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่เคร่งครัด  สะกดแตกต่างกันไปได้แล้วแต่อาลักษณ์แต่ละคนแต่ละสมัย
วรรณคดีที่เขียนลงในสมุดไทยถึงต้องเอามาชำระกันมากมาย ก็เพราะสะกดคำ เรียกคำ ต่างๆผิดเพี้ยนกันไปหลายสำนวน

คำพยากรณ์ที่ว่านี้ อย่างเก่าสุด ก็ปลายอยุธยา เพราะแบบแผนคำประพันธ์คือ "กลอน" นั้นมีมาในตอนปลายอยุธยา  สมัยสมเด็จพระนารายณ์นิยมโคลงสี่และฉันท์
แต่ดิฉันเชื่อว่าเป็นฉบับคัดลอกสมัยรัตนโกสินทร์มากกว่า  อาจจะระยะหลังถึงรัชกาลที่ ๕ เสียด้วยซ้ำ ดูจากตัวสะกด อย่างคำว่า "สนุกนิ์"
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ต.ค. 06, 21:22

 จะอย่างไรก็ดี  สิ่งที่เกิดขึ้นก็เราต้องเสียกรุงศรีอยุธยา
และเหตุการณ์นั้นอาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้  
กลัวๆแฮะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง