เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 30766 “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 07 ม.ค. 11, 17:35

 ๗ มกราคม เป็นวันที่ตรงกับวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่๒ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

วันนี้ กรมศิลปากรและหน่วยราชการอื่นๆ ร่วมกับชมรมกองทุนพระบวรราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพิธีวางพวงมาลา บวงสรวงถวายสักการะพระบวรราชานุสาวรีย์ดังเช่นที่ได้กระทำเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระบวรราชวังอันที่ประทับของพระองค์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 17:38

วันนี้ มีกำหนดการพิเศษจากปีที่ผ่านๆมา เพราะกรมศิลปากรจะได้ทำการเปิด “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์” ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดพระนคร ให้ประชาชนได้เข้าชมได้ใหม่ หลังจากที่ปิดไปหลายปีเพื่อกระทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยสภาพเดิมได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 18:11

พระที่นั่งองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ หลังจาก “อยู่ดีๆ ท่านก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง”
“สมภารวัดร้าง” คือการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมเชษฐา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้กระทำพระราชพิธีบวรราชาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์วังหน้า ดำรงพระราชอิสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน  มิใช่จะทรงเป็นแค่อุปราชวังหน้า เช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรพระองค์อื่นๆ

แต่การที่วังหน้าถูกปล่อยไว้รกร้าง หลังจากในรัชกาลที่๓ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่โปรดสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นวังหน้าอีก แต่ได้โปรดเกล้าฯให้ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏทรงย้ายที่จำพรรษาจากวัดราชาธิวาส เสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประกาศความนัยให้คนทั้งปวงรู้ว่าในรัชกาลของพระองค์ต่อจากนั้น ผู้ใดเป็นองค์อุปราชพระบวรราชวัง

เมื่อขึ้นรัชกาลที่๔ สภาพวังหน้าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จมาครองนั้น ชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก และไม่โปรดที่จะประทับที่ “พระวิมาน” ในหมู่พระราชมณเฑียรเดิม จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระที่นั่งขึ้นมาใหม่เป็นตึกทรงยุโรป เสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า “พระที่นั่งวงจันทร์” ตามพระนามของพระธิดาองค์หนึ่ง แล้วเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้จนตลอดรัชกาล
หลังจากสวรรคตแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 19:02

บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

"เวลาค่ำไปเฝ้าวังหน้าในที่ข้างในพระราชฐาน วังหน้าเป็นคนมีปัญญาความคิดฉลาด และเงียบขรึม และอ่อนโยนดี จากปัญญาความคิดที่ฉลาด จึงไม่ค่อยจะทรงเกี่ยวข้องกับการเมือง ตั้งแต่ท่าน้ำที่เราเดินขึ้นไปจนถึงพระราชวังได้ปูเสื่อลาดตลอดทาง

ห้องที่ประทับเหมาะดีและตกแต่งเข้าที เว้นแต่ที่ชักพัดแขวนสูงเกินไปจนติดฝ้าเพดาน ถ้าไม่ฉะนั้นแล้ว การที่ใช้ เครื่องตกแต่ง เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านขุนนางฝรั่ง ทรงรับสั่งด้วยภาษาอังกฤษได้ไพเราะน่าฟัง ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาเล่าเรียน ปลูกฝังด้วยความรู้อย่างเลิศ ทั้งมีห้องสมุดหนังสืออังกฤษที่คัดเลือกมาอย่างดีเป็นจำนวนมาก กับมีเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในเครื่องจักรกล เท่ากับพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งทีเดียว ทั้งมีตัวอย่างงานช่างต่างๆที่ได้เจริญขึ้นในสมัยปัจจุบัน เช่นตัวอย่างเรือกลไฟขนาดย่อมและตัวอย่างเครื่องอาวุธต่างๆ ตลอดเวลาในคืนวันนั้นได้มีวงพิณพาทย์เล่นขับกล่อม ข้าพเจ้าชอบเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งที่ทำจากเนื้อไม้ เรียงกันเป็นแผ่นต่อกันยาวประมาณสักเจ็ดฟิต เมื่อตีบนผิวไม้จะฟังไพเราะ ได้ทรงลองเล่นให้ดูด้วยพระองค์เอง  แล้วทรงแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักพระธิดาองค์โปรดที่มีพระนามว่า เปีย ซึ่งได้เข้าเฝ้าอยู่ด้วย ทรงบอกว่ามีพระโอรสและธิดาอยู่ในราวยี่สิบองค์ องค์ใหญ่ ชื่อยอช เป็นผู้ดีหนุ่มที่ฉลาด อายุได้สิบแปดปี เราได้เห็นเจ้าจอมมารดาของเปียมาแอบยืนดูที่ประตู องค์หญิงทรงแต่งพระองค์ด้วยเครื่องเพชรเครื่องทองมาก แต่เมื่อเข้ามาใกล้แล้วก็ทำให้เสื้อผ้าเราเปื้อนไปด้วยสีเหลืองของขมิ้น"

     ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน เวลาบ่าย ๔-๕ โมง เซอร์จอห์น เบาวริ่งก็ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์อีกครั้งหนึ่ง และมีบันทึกว่า

   "วังหน้ามักจะทรงหลีกไม่ค่อยรับสั่งถึงเรื่องทางราชการแผ่นดิน วังหน้ามีลูกด้วยเจ้าจอมคนเดียวถึงเจ็ดองค์ เจ้าจอมคนนั้นเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก และได้มาคลานคอยแอบดูอยู่ที่ข้างประตูในเวลาที่ข้าพเจ้าหยอกล้อเล่นอยู่กับองค์หญิงน้อยของเธอ ที่เรียกชื่อว่า 'เปีย' ซึ่งชอบข้าพเจ้า และได้เอาพวงมาลัยดอกไม้หอมมาสวมมือให้ วันนี้องค์หญิงเปียได้ทรงเครื่องอย่างฝรั่ง แต่ดูเหมือนว่าจะเดือดร้อนกับเครื่องทองที่เกะกะมากนัก พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 19:16

ผมจะนำท่านเที่ยวชมพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ดังที่เซอร์จอห์น เบาวริ่งเล่าไว้ ในมุมมองของประวัติศาสตร์นะครับ ไม่ใช่โบราณสถาน แต่จะขออนุญาตที่จะไปช้าๆหน่อย แบบอ่านไปเขียนไป เพิ่งได้ไปดูแต่เช้าเป็นคณะแรกก่อนพิธีเปิด และถ่ายรูปทั้งหน้าฉากและหลังฉากของพระที่นั่งองค์นี้ เพราะเจ้าหน้าที่เขาเมตตาให้เข้าไปดูหลังเชือกที่กั้นเขตไว้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 19:47

เข้ามาจองที่นั่งแล้วครับ  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 21:35

^
ขอบคุณครับ
.
.
ขอให้ผมนำท่านผู้อ่านตามเสด็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นไปชมพระที่นั่งองค์นี้ ตามที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานวังหน้าว่า

"พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงสร้าง ตามแบบอย่างตึกฝรั่ง เป็นตึกเก้าห้อง พื้น ๒ ชั้น รูป ๔ เหลี่ยมรี มีบันไดทำเป็นมุขขึ้นข้างนอก เพราะในสมัยนั้นยังถือกันอยู่ว่า ถ้าขึ้นทางใต้ถุนเป็นอัปมงคล…ชั้นล่างเป็นแต่ที่พนักงานอาศัยหาได้ใช้การอย่างอื่นไม่…”

เมื่อขึ้นบันไดมาถึงชั้น๒อันเป็นที่ประทับแล้ว จะเป็นเฉลียงไม้ยาวตลอดหน้าห้อง

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบรรยายต่อไปว่า

"ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย ห้องต่อมาข้างใต้ ๒ ช่อง เป็นห้องพระบรรทม มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 22:06

“…ลักษณะที่ตกแต่งพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นแบบฝรั่งทั้งสิ้น พระแท่นบรรทมสั่งมาแต่เมืองนอก เป็นพระแท่นคู่ มีรูปช้างเผือกสลักอยู่ที่พนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ยกไปตั้งที่พระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน…”

ปัจจุบันพระแท่นทั้งคู่ ได้ถูกนำกลับมาประดิษฐานยังห้องพระบรรทมดังเดิมแล้ว ลักษณะของพระแท่นที่เห็นมีประทุนสูงนั้น ก็เพื่อไว้กางมุ้ง สำหรับคนรุ่นเราแล้ว พระแท่นที่บรรทมของพระมหากษัตริย์พระองค์ที่๒ในรัชกาลที่๔จะดูเล็กๆกว่าเตียงในโฮเต็ลทั้งหลายเสียด้วยซ้ำ มิได้ดูหรูหราอลังการอะไรดังภาพพจน์ที่เกิดจากการอ่านในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯก่อนจะมาเห็นของจริง



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ม.ค. 11, 22:09

ขออนุญาตปาดครับ

การก่อสร้างเป็นแบบตึกฝรั่ง มีบันได้อยุ่ด้านหน้า อยากทราบว่าการก่อสร้างเป็นแบบยุโรปนี้ การลงเสาเข็มไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร จะวางไม้แกงแนงรับน้ำหนักอาคาร หรือ อิฐหักวางบนตอม่อเสาเข็มฐานแผ่ ก็น่าศึกษานะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ม.ค. 11, 07:49

ที่คุณหนุ่มสยามตั้งปุจฉาไว้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย ผมเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมาแล้วก็จริง แต่จำไม่ได้ ครูบาอาจารย์ท่านได้บอกชัดๆหรือหาไม่ว่า การก่อสร้างของไทยเราเปลี่ยนจากระบบการกระจายน้ำหนักอาคาร ลงสู่ฐานรากแผ่ ให้ดินแบกรับน้ำหนัก มาเป็นฐานรากขนาดเล็กที่มีเสาเข็ม(เสาไม้)รองรับ แล้วกระจายลงให้ดินอีกทีโดยอาศัยความฝืด (friction) เพื่อรับน้ำหนัก ตั้งแต่เมื่อไหร่

พอดีเปิดตำราของอาจารย์ ดร.วิมลสิทธิ์ หรยางกูร กล่าวถึงการก่อสร้างอาคารสมัยรัชกาลที่๔ ว่า อาคารร่วมสมัยนั้น มักจะเป็นอาคารไม้แต่ก่อปูนหลอกให้ดูเป็นตึกเสียอีก ผมไม่แน่ใจเลยแต่อยากจะเดาเหมือนคุณหนุ่มสยามว่า เมื่อแรกรับรูปแบบอาคารมาจากตะวันตก คนไทยเราก็ยังเอามาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับวิธีการก่อสร้างโดยใช้ไม้ที่ชำนาญมาแต่เดิม ดังนั้น ในส่วนฐานรากก็น่าจะผสมผสานเช่นกัน พระที่นั่งนี้อาจสร้างโดยใช้ทั้งระบบตีเข็ม และฐานรากใหญ่แบบฐานรากแผ่ด้วย (อาคารหลังนี้ นายช่างไม่จำเป็นต้องประหยัดยิ่งยวดนี่ครับ) เท่าที่เห็น อาคารไม่มีรอยชำรุดเนื่องจากทรุดตัวไม่เท่ากันเลย แม้แต่ส่วนที่ตัวบันไดเชื่อมกับตัวอาคาร ปกติเป็นจุดอ่อนที่จะเกิดรอยร้าว(ที่ไม่อันตราย) เนื่องจากสิ่งก่อสร้างสองชิ้น น้ำหนักไม่เท่ากัน อัตราการทรุดตัวจึงแตกต่างกัน แต่เมื่อวานไม่เป็นที่สะดุดตานะครับ ระบบการก่อสร้างน่าจะคำนวณเผื่อพวกฐานรากไว้มาก การทรุดตัวลงของอาคารพระที่นั่งจึงสม่ำเสมอกันทั้งหลัง

แต่คุณหนุ่มสยามน่าจะมีมุมมองในฐานะวิศวกรมาช่วยเสริมต่อด้วยนะครับ และขอเชิญทุกท่านเข้ามาร่วมวงดังเคย จะปาดจะเขียด จะถามจะเถียง หรือจะมาพาเข้าซอย ยินดีนะครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ม.ค. 11, 08:18

คำว่า'ตึกเก้าห้อง'นั้น หมายความอย่างเรือนไทยที่นับช่วงระหว่างเสาถึงเสา ตามด้านยาว ๑ ช่องเท่ากับ ๑ ห้อง จึงมิใช่ว่าชั้นบนของพระที่นั่งนี้ กั้นเป็นห้องๆ รวม ๙ ห้อง

ตามที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายว่า "ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย” นั้น จึงเป็นห้องตามภาพนี้ ปัจจุบันได้ปล่อยพื้นที่ไว้เป็นห้องโถง มิได้มีโต๊ะเสวยแบบฝรั่งขนาดใหญ่ที่พระราชทานเลี้ยงรับรองเซอร์จอห์น เบาวริ่งในครั้งกระนั้น

“…เวลามีแขกเมืองฝรั่งต่างประเทศ เช่นราชทูตเข้ามา ก็ทรงรับรองเลี้ยงดูที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์นี้ เล่ากันว่าถึงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จฯอยู่ที่พระที่นั่ง อิศเรศราชานุสรณ์ ก็เสด็จอยู่อย่างฝรั่ง มีบ๋อยผู้ชาย และพนักงานข้างในเป็นสาวใช้จำกัดพอสำหรับรับใช้ แม้เจ้าจอมก็อยู่เฉพาะผู้ที่เป็น ราชูปฐาก พระเจ้าลูกเธอและพระสนมกำนัลเข้าเฝ้าฯ แต่เฉพาะเวลาเสวยเท่านั้น..."


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 ม.ค. 11, 09:13

ส่วนห้องพระบรรทม ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงบรรยายว่า “มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์” นั้น   ปัจจุบันไม่ปรากฏฝาเฟี้ยมกระจกดังกล่าวแล้ว

ผนังห้องพระบรรทม ด้านที่จะเข้าไปสู่ห้องแต่งพระองค์นั้น มีพระบวรฉายาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์แม่ทัพเรือสยามประดิษฐานอยู่



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ม.ค. 11, 09:31

พระบวรฉายาทิศลักษณ์ดังกล่าว จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้พระมัสสุ มีผู้ลงความเห็นแต่โบราณว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้นำชาวสยามในการไว้หนวด เพราะก่อนหน้านั้นเจ้านายไม่ทรงนิยมไว้พระมัสสุกัน

พระบวรฉายาทิศลักษณ์นี้เป็นภาพสีน้ำมัน ดูเก่าและมีริ้วรอยการเสื่อมสภาพขนาดหนัก เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นภาพที่วาดมาจากอินเดีย ไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลที่เดาเอาจากลักษณะพระพักตร์ที่ออกแนวแขกๆหน่อยหรือเป็นความจริงตามนั้น เพราะจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คนอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทยสมัยนั้นแทบจะทั้งหมด ก็โยกย้ายมาจากอินเดียด้วยกันทั้งสิ้น มิศหนอกหรือร้อยเอกน๊อกซ์ ครูฝึกทหารวังหน้าที่พระองค์ทรงจ้างไว้ นั่นก็คนสำคัญคนหนึ่งแหละ  อาจจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดหาภาพนี้มาถวายก็เป็นได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ม.ค. 11, 09:44

ส่วน “ด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์”นั้น  เมื่อผมเข้าไปแล้วก็รู้สึกว่าเป็นห้องเล็กๆจริงๆ มีโต๊ะกระจกตามภาพ แต่มีเตียงนอนวางไว้ กรมศิลปากรบรรยายต่างกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯว่า เป็นห้องพระบรรทมเล็ก

ผมยังงงๆอยู่  ทำไมจึงมีห้องพระบรรทมเล็ก อยู่ติดกับห้องพระบรรทมใหญ่ สันนิฐานว่า ในช่วงปลายๆอาจมีเจ้านายมาบรรทมคอยเฝ้าท่านที่นั่น หลังจากพระพลานามัยไม่สู้จะดีแล้ว หรืออย่างไรไม่แจ้ง



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ม.ค. 11, 09:54

ขอคั่นจังหวะนิดนึงครับ

ตราพระบวรราชลัญจกรที่คุณหนุ่มสยามเอามาลงไว้ กับพระบวรราชลัญจกรบนหน้่าจั่วของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.039 วินาที กับ 20 คำสั่ง