เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 30888 “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 12:16

ส่วนห้องเล็กๆที่อยู่ติดกัน วางโต๊ะทรงพระอักษรไว้ แค่โต๊ะเดียวก็คับห้อง ดังนั้นห้องนี้แม้ในอดีตจะมีตู้หนังสือ ก็น่าจะเป็นส่วนน้อย และคงจะเป็นพวกReference bookที่จะทรงหยิบมาใช้งานบ่อยๆ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 12:18

ห้องที่น่าสนใจที่สุด และติดตาติดใจผมกลับมาก็คือห้องน้อยที่อยู่แนวระเบียงหลัง ติดกับห้องทรงพระอักษรนั่นเอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 12:25

เมื่อเห็นว่าสนใจ เจ้าหน้าที่จึงกล่าวกับพวกเราด้วยเสียงเรียบๆว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคตในห้องนั้น

ผมเดินเข้าไปใกล้ๆ ที่นั่นมีเตียงเล็กๆตั้งอยู่
“บนพระแท่นนี่หรือครับ”
“ครับ บนพระแท่นนี่”
ผมกวาดสายตามองไปรอบๆห้อง
“ที่พระจอมเกล้าฯกับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จมาเยี่ยม ก็ห้องนี้หรือครับ”
“ครับ”
....เงียบ
....ทั้งหมดถอยออกมาจากห้องนั้นช้าๆ ไม่มีใครพูดอะไรกันอีก

ตั้งแต่ปลายปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆ ไม่เป็นไปโดยปรกติ  ไม่สบายพระองค์เรื่อยมา
  
เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเล่าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯฟังว่า

“…..เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรหนักอยู่นั้น  วันหนึ่งพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเยี่ยม  พระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า  ใคร่จะกราบบังคมทูลความลับสักเรื่องหนึ่ง  แล้วตรัสขับบรรดาผู้ที่เฝ้าแหนอยู่ในที่นั้น ให้ลงมาเสียจากพระที่นั่งอิศเรศร์ราชานุสรณ์  ให้อยู่แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้เชิญพระแสงของสมเด็จพระบรมชนกนาถพระองค์ ๑ กับกลีบจอมมารดาซึ่งเป็นผู้พยาบาล  และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกคน ๑ เมื่อเป็นที่รโหฐานแล้ว พระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกราบบังคับทูลว่า  พระองค์ก็จะไม่ได้ดำรงพระชนม์อยู่ไปได้กี่วันแล้ว  จะขอถวายปฏิญาณว่าการที่ได้ทรงสะสมกำลังทหารและเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ไว้เป็นอันมากนั้น  จะคิดร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย  แต่ไม่ไว้ใจเจ้าพระศรีสุริยวงศ์  เกรงว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลงเมื่อใด  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะกำเริบขึ้น  จึงได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันพระองค์  เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว ขอให้สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระวังต่อไปให้จงดี ดังนี้  พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานปฏิญาณว่า  มิได้เคยทรงระแวงสงสัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอย่หัวว่าจะทรงคิดร้ายต่อพระองค์  แต่เรื่องเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์นั้น  หาได้มีพระราชดำรัสตอบประการใดไม่”
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ได้ทรงสั่งการอันหนึ่งอันใดให้ลำบากพระราชหฤทัยอีก  แสดงความเชื่อถือพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสิ่งหนึ่งสิ่งใดในอนาคต

จนถึงเดือน๖ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ทรงพระประชวรมาก พระกายทรุดโทรม  พระกำลังหย่อนลง  แพทย์หมอหลายพวกหลายเหล่าถวายพระโอสถแก้ไข   พระอาการคลายบ้าง แล้วทรุดไปเล่า จนถึงวันอาทิตย์  เดือน๒ แรม ๖ ค่ำ  ปีฉลู  สัปตศก  เวลาเช้า๓โมง  คือ๙ นาฬิกา แต่เที่ยงคืน เมื่อเวลาพระอาทิตย์  สถิตราศีธนู องศา ๒๕ (วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘ เวลา ๐๙.๐๐)  เสด็จสวรรคต    สิริพระชนมายุตามจันทรคติอย่างชาวสยามใช้  ได้ ๕๗ ปี กับ ๕เดือน กับ ๕ วัน    นับเป็นวันได้ ๒๐๙๔๓ กับเศษอีก ๔ ชั่วโมง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 13:31

สงสัยว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯจึงประทับบรรทมอยู่ในห้องเล็กขนาดนั้น       ไม่บรรทมในห้องใหญ่ของเดิม  ซึ่งกว้างขวาง
น่าจะสบายกว่า
ห้องเล็กขนาดนี้ เจ้าจอมหม่อมห้ามและพระราชโอรสธิดาจะเข้าเฝ้าก็ลำบาก    แล้วยังพวกหมอที่ถวายการรักษามาตั้ง ๕ ปี   น่าจะเข้ากันได้แค่ทีละคนสองคนอย่างมาก  มากกว่านี้ไม่มีที่นั่ง

สังเกตว่าห้องเล็กไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านหัวเตียงและข้างเตียง  ส่วนปลายเตียงมีหรือเปล่าไม่ทราบ   
ถ้าประตูนั้นเปิดออกไปสู่ระเบียงก็น่าจะลมพัดผ่านเข้ามาได้  พอเข้าใจได้ว่าบรรทมในห้องนี้น่าจะสบาย       แต่ถ้าเปิดไปสู่อีกห้อง  คงทำให้ห้องนี้อับทึบเอาการ

ดูจากรูปที่คุณ Navarat.C ถ่ายมา  ห้องบรรทมใหญ่และห้องบรรทมเล็ก เจ้าหน้าที่จัดพระแท่นที่บรรทมบังประตูไว้ทั้ง 2 รูป 




ปกติเวลาจัดห้อง   เราจะไม่ตั้งเครื่องเรือนขวางประตู    ทำให้ประตูหมดโอกาสใช้ไปโดยปริยาย   เลยคิดว่าแต่เดิม พระแท่นคงไม่ได้วางอยู่ตามจุดนี้ละมังคะ 
ทำให้สงสัยต่อไปว่า ห้องเล็กเป็นห้องบรรทมตอนประชวรจริงหรือ?
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 13:53

^
คำเห็นและคำถามข้างบน เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกเช่นนั้น แต่ก็ไม่มีใครคิดจะซักถามเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลให้ดังกล่าวให้ทราบ ข้อเท็จจริงจะต่างกับที่ท่านว่าหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถจะยืนยันได้ (อย่างน้อยในขณะนี้)

ความรู้ใหม่ที่ได้เห็นพระที่นั่งที่ประทับอยู่ตลอดรัชสมัย ย้ำความเข้าใจผมของผมที่มีมาโดยตลอดก็คือ สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนั้นทรงสมถะ โปรดอะไรที่เรียบง่าย มิได้หรูหราฟุ่มเฟือย แม้ด้วยโดยพระราชฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์ก็น่าจะกระทำอะไรๆให้ยิ่งกว่านี้ได้ แต่ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ทรงใช้ มิใช่เพื่อบำเรอความสุขส่วนพระองค์ แต่น่าจะหมดไปมากกับงบทางการทหาร ที่ทรงสร้างสมกำลังทั้งทหารเรือและทหารปืนใหญ่ ตลอดจนยุทโธปกรณ์นำสมัยตามมาตรฐานของยุโรป

ถึงกระนั้น แม้พระบวรราชวังและพระที่นั่งที่ประทับ จะห่างระดับกับพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังของชาวยุโรปมาก แต่ก็ไม่มีฝรั่งผู้ใดที่เคยพบเห็นและสัมผัสกับพระองค์จะหยามเหยียดในข้อด้อยดังกล่าว นอกจากจะยกย่องความเป็นผู้รู้ และการวางพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบ้านการเมือง อันที่เป็นที่เข้าใจเป็นดีว่า เป็นพระราชอาญาสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ที่๑ ส่วนพระองค์เองนั้นทรงเป็นทหาร รับภาระหน้าที่ต่อบ้านเมืองคนละประเภทกับพระเชษฐา

เมื่อเริ่มต้นเขียนกระทู้นี้ ผมไม่ทราบดอกว่า พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมปีละ๑ครั้ง ในทุกวันที ๗ มกราคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระองค์ท่านเท่านั้น มาทราบจากการคลิ๊กไปคลิ๊กมาในอินเทอเนตนี่เอง และไม่ทราบเหมือนกันว่ากรมศิลปากรมีเหตุผลอะไร ที่ลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยงบประมาณใหญ่โตเพื่อปีหนึ่งๆจะปิดเอาไว้๓๖๔วัน เปิดเพียง๑วัน เช่นนั้น
.
.
รู้สึกว่าดีที่ผมเขียนกระทู้นี้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯท่านทรงเจียมพระองค์ต่อสมเด็จพระเชษฐาอย่างยิ่ง เกรงจะไปทัดเทียม จึงเป็นเพียงเสมอเงาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเท่านั้น  ไม่มีใครจะได้ทราบบทบาทแท้จริงของพระองค์โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อช่วงต้นของรัชกาล ที่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คงไม่ใช่เรื่องดวงพระชะตาที่เจ้าฟ้ามงกุฏทรงอ้างในการยกเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็นกษัตริย์เสมอพระองค์เลย แม้โหราจารย์บางท่านก็ออกมาวิจารณ์อย่างสอดคล้องว่าดวงพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนั้นข่มดวงพระชะตาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทุกอย่าง ยกเว้นเรื่องดาวอังคารอันเกี่ยวกับการทหาร ดังนั้น นอกจากคนที่หลักสูตรการศึกษากำหนดให้เรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้ว จึงไม่มีใครจะรู้จักพระองค์ ที่รู้จักก็ยังน้อยมาก กระทู้นี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านรู้จักพระองค์ในบางแง่บางมุมเพิ่มขึ้น

เป็นความจริงนะครับ ที่ว่าคนยุคใหม่เข้าใจว่า “พระปิ่นเกล้า” คือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งหนึ่งในกรุงเทพเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 14:23

อ้างถึง
ปกติเวลาจัดห้อง   เราจะไม่ตั้งเครื่องเรือนขวางประตู    ทำให้ประตูหมดโอกาสใช้ไปโดยปริยาย
 

ที่เห็นในรูปนี้ไม่ใช่ประตูครับ แต่เป็นหน้าต่างยาวตลอดที่เรียกว่า(French Window) สังเกตุลูกกรงไม้ที่เป็นที่กันตก ด้านบนของลูกกรง สมัยโน้นคงเปิดโล่ง ปัจจุบันมีเหล็กดัดไปใส่ไว้เป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่
ถ้าเปิดบานหน้าต่างยาวนี้ออกไป ห้องจะโปร่งมาก อาจจะมากไปด้วยซ้ำสำหรับคนไข้

ถ้าทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ในห้องนี้จริงๆ พระแท่นคงไม่ได้อยู่ตำแหน่งนั้นอยู่ดี อย่างน้อยต้องขยับออกมาให้ผู้ถวายการพยาบาลเดินรอบได้

ห้องพระบรรทมใหญ่ก็เหมือนกันครับ ช่องที่ว่าประตูนั้นมีลูกกรงไม้สีเหลืองๆติดอยู่ แสดงว่าสามารถเปิดออกเหมือนประตู แต่ไม่ได้ให้คนเดินเข้าเดินออกทางนั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 14:52

เพิ่งดูออกว่าเป็น French windows แบบไทย    ช่วงบนเป็นเหล็กดัด ช่วงล่างเป็นลูกกรง    เดิมคงมีแต่เฉพาะลูกกรงครึ่งล่าง ส่วนครึ่งบนโล่งให้ลมพัดเข้าออกได้

เอารูป french windows แบบต่างๆมาให้ดูกันค่ะ บางแบบก็ทำหน้าที่เหมือนหน้าต่าง ไม่ได้เอาไว้ให้เดินเข้าออก


แต่บางแบบก็ทำหน้าที่เดียวกับประตู


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 15:35

ตั้งแต่ปลายปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆ ไม่เป็นไปโดยปรกติ  ไม่สบายพระองค์เรื่อยมา
  
จนถึงเดือน๖ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ทรงพระประชวรมาก พระกายทรุดโทรม  พระกำลังหย่อนลง  แพทย์หมอหลายพวกหลายเหล่าถวายพระโอสถแก้ไข   พระอาการคลายบ้าง แล้วทรุดไปเล่า จนถึงวันอาทิตย์  เดือน๒ แรม ๖ ค่ำ  ปีฉลู  สัปตศก  เวลาเช้า๓โมง  คือ๙ นาฬิกา แต่เที่ยงคืน เมื่อเวลาพระอาทิตย์  สถิตราศีธนู องศา ๒๕ (วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๘ เวลา ๐๙.๐๐)  เสด็จสวรรคต    สิริพระชนมายุตามจันทรคติอย่างชาวสยามใช้  ได้ ๕๗ ปี กับ ๕เดือน กับ ๕ วัน    นับเป็นวันได้ ๒๐๙๔๓ กับเศษอีก ๔ ชั่วโมง


อาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว คือวัณโรค  สมัยนั้นเป็นโรคร้ายแรงพอๆกับมะเร็ง  เพราะรักษาไม่หาย ไม่มียาดีเหมือนสมัยนี้
ตามประวัติเล่าว่าเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมือง   มักจะเสด็จไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาว  เพราะโปรดฯแอ่วลาว  สถานที่ที่เสด็จก็เป็นบ้านสัมปะทวน แขวงจังหวัดนครชัยศรีบ้าง  ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง  แต่ไปประทับที่ตำหนักบ้านสีทา แขวงจังหวัดสระบุรีโดยมาก  

ดิฉันไม่ทราบว่าสมัยนั้นหมอไทยแนะนำการรักษาอย่างไร ต้องถามคุณหมอ CVT   แต่เคยอ่านพบว่าฝรั่งรักษาวัณโรคด้วยการให้คนป่วยโยกย้ายไปอยู่ในที่อากาศดี  เชื่อว่าอากาศในทุ่งกว้าง รักษาโรคนี้ได้   ถ้าอยู่ในเมืองมักไม่รอด
สมเด็จพระปิ่นเกล้าอาจจะเสด็จไปหัวเมืองเพราะมีหมอฝรั่งทูลแนะนำก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม  ทรงไม่หายขาด   พ.ศ. ๒๓๑๘  พระอาการหนักลง  ต้องเสด็จกลับกรุงเทพ   ถึงกำหนดพระฤกษ์จะได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมาก  จะโปรดฯให้เลื่อนงานโสกันต์ไป  ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลขออย่าให้เลื่อนงาน  ว่าพระองค์ประชวรมากอยู่แล้วจะไม่ได้มีโอกาสสมโภช  จึงต้องโปรดฯให้คงงานไว้ตามพระฤกษ์เดิม

ครั้นถึงงาน  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเตรียมกระบวนจะเสด็จลงมาจรดพระกรรไกรพระราชทาน  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ต้องรับสั่งให้ทอดที่ราชอาสน์เตรียมไว้รับเสด็จตามเคย  ทั้งทรงทราบอยู่ว่าพระอาการมากจะไม่เสด็จลงมาได้  โดยจะมิให้สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯน้อยพระทัย  ด้วยทรงพระเมตตาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก  รับสั่งเล่าว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น  เสด็จขึ้นไปเฝ้าเมื่อใด  มักดำรัสเรียกเข้าไปใกล้แล้วยกพระหัตถ์ลูบ รับสั่งว่า "เจ้าใหญ่นี่แหละ ต่อไปจะเป็นที่พึ่งของญาติได้"

พอถึงวันสุดงานพระราชพิธีโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์  พระชนมายุได้๕๘ พรรษา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 19:09

การพระศพโปรดเกล้าฯให้เรียกว่าพระบรมศพ  จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง  เว้นแต่มิได้ทรงพระลองเงินกับประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์แต่ที่มีสังกัดในพระบวรราชวัง  เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรฯ  มิได้ให้โกนหัวทั้งแผ่นดิน

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง  ตามแบบอย่างพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  และจัดการแห่พระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทำนองกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒  แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นอีกหลายอย่าง
      รายการงานพระเมรุครั้งนั้น ณ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ  เชิญพระบรมธาตุแห่แต่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง  ออกประตูมหาโภคราช  และประตูบวรยาตราด้านตะวันออก  มาสมโภชที่พระเมรุวันกับคืนหนึ่ง  แห่พระบรมธาตุกลับแล้ว  ถึงเดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาบ่าย ๒ โมง  เชิญพระบรมศพแห่ออกประตูโอภาษพิมานชั้นกลางด้านเหนือ  และประตูพิจิตรเจษฎาด้านตะวันตกพระบวรราชวัง  ไปถึงตำหนักแพ  เชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุข  แห่ล่องมาประทับที่พระราชวังเดิม  ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่ตลอดในรัชกาลที่ ๓ มีมหรสพสมโภชคืนหนึ่ง 
    ครั้นเวลาดึกเคลื่อนเรือพระบรมศพมาประทับที่ท่าฉนวนวัดพระเชตุพนฯ  รุ่งขึ้น ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาเช้าแห่กระบวนน้อยไปยังที่ตั้งกระบวนใหญ่ที่สนามชัย  เชิญพระบรมโกศขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุมาศ  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๗ วัน  แล้วพระราชทางเพลิงเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓  เมื่อเสร็จการสมโภชพระบรมอัฐิแล้ว  โปรดฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่ในพระบวรราชวัง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 19:37

เมื่อจบเรื่องหลักแล้ว อ.NAVARAT.C พอจะมีเรื่อง "วังสีทา" บ้างหรือไม่ครับ

เมื่อได้อ่านช่วงปลายรัชกาลแล้ว พระองค์ท่านพระชนม์น้อยเกินไปนะครับ ทรงแต่งตำราปืนใหญ่ เรือรบ ไว้สำหรับเป็นเกียรติยศแก่แผ่นดิน และพระองค์ทรงทันสมัยมากในสมัยนั้นไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

ภาพการตั้งพระโกศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 19:44

ภาพริ้วกระบวน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 19:45

ภาพพระเมรุ เดิมพระเมรุปรุงยอดแบบปราสาท แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงโปรดให้เปลี่ยนเป็นยอดปรางค์


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 20:39

เรื่องห้องบรรทมในวาระสุดท้ายของพระชนมชีพนั้น เป็นหน้าต่างบานใหญ่ยาวตั้งแต่พื้นยาวขึ้นไปตามความสูง
1. บานหน้าต่างเปิดได้ชั้นเดียว หรือ เปิดได้ผสมบานกระทุ้งครับ
2. การที่เป็นวัณโรค คงต้องการอากาศที่ปลอดโปร่ง จึงต้องให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ดังนั้นผมใคร่อยากทราบถึงตำแหน่งของห้องนี้ตั้งอยู่มุมใด
3. อยากทราบว่า เมื่อเปิดหน้าต่างทั้งสองบานออก ใคร่อยากทราบวิว ที่มองผ่านออกไปจังเลยครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 22:08

อ้างถึง
1บานหน้าต่างเปิดได้ชั้นเดียว หรือ เปิดได้ผสมบานกระทุ้งครับ
เท่าที่เห็นจากด้านอื่น ดูภายนอกเป็นบานเกล็ดในท่อนบน ท่อนล่างเป็นบานทึบ แต่สังเกตุในรูปซึ่งเป็นด้านภายในของห้องนั้นจริงๆ จะเห็นเป็นบานทึบตลอด อันนี้ไม่แน่ครับ อาจมาเสริมเข้าไปตอนเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ได้ หน้าต่างบานเกล็ดที่ไม่มีคนเฝ้าดูอยู่เป็นประจำจะมีปัญหาทั้งฝน ทั้งฝุ่น ไม่เหมาะแก่การใช้สอยอาคารที่เปลี่ยนประเภทไป

อ้างถึง
2. การที่เป็นวัณโรค คงต้องการอากาศที่ปลอดโปร่ง จึงต้องให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ดังนั้นผมใคร่อยากทราบถึงตำแหน่งของห้องนี้ตั้งอยู่มุมใด

ตามภาพนะครับ

อ้างถึง
3. อยากทราบว่า เมื่อเปิดหน้าต่างทั้งสองบานออก ใคร่อยากทราบวิว ที่มองผ่านออกไปจังเลยครับ
สมัยของพระองค์ท่านกับสมัยนี้ต่างกันมโหฬาร ลองดูภาพปัจจุบันก่อนนะครับ แล้วลองเปรียบเทียบกับแผนผังวังหน้าในสมัยโบราณดู

1 พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
2 โรงราชรถ
3 กลุ่มพระบวรราชมณเฑียร
4 พระที่นั่งสุทไธสวรรค์
5 พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
6 โรงละครแห่งชาติ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 11 ม.ค. 11, 06:35

อ้างถึง
เมื่อจบเรื่องหลักแล้ว อ.NAVARAT.C พอจะมีเรื่อง "วังสีทา" บ้างหรือไม่ครับ
เคยไปดูโบราณสถานวังสีทาที่แก่งคอยเมื่อกว่าห้าปีมาแล้ว หลังจากที่มีข่าวว่าพบวังของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯที่อำเภอนั้น เมื่อไปเห็นก็สลดใจครับ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครองของเอกชน ทางราชการคงทำอะไรมากไม่ได้  ส่วนใหญ่ก็เป็นไร่ข้าวโพดไปแล้ว ผมไปเห็นศาลทำค้วยไม้ ลักษณะเป็นศาลเพียงตาขนาดใหญ่หน่อย เพื่งจะทำขึ้นมาใหม่ เห็นพระบวรฉายาลักษณ์ใส่กรอบรูปตั้งอยู่ มีร่องรอยชาวบ้านไปจุดธูปจุดเทียนขอหวยกันมากมาย เป็นวัตถุประสงค์หลักที่คนไปที่นั่น

ภายในขอบเขตที่ดินที่ไม่รกเกินพอจะเดินไปดูได้ ปรากฏทรากฐานอาคารกระจัดกระจายอยู่ ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร แต่ดูอาณาบริเวณแล้ว ก็ไม่ใช่วังมโหฬารอะไร บ้านตากอากาศของเจ้านายสมัยหลังที่ไปสร้างกันตอนหัวหินบูมใหม่ๆ ยังดูจะใหญ่กว่า

ถ้าจะบีบคั้นถามความเห็น ผมว่าวังสีทาไม่น่าจะมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นปราการต่อต้านฝรั่ง หากโดนเอาเรือรบเข้ามายึดกรุงเทพดังที่เอกสารประวัติศาสตร์อ้าง แต่คงจะเป็นที่หลบพักอารมณ์มากกว่า ในยามที่การเมืองภายในมีเชื้อ พวกอยู่ไม่สุขจะโหมลมปากให้ไฟระอุ อยากเห็นพญาช้างสารชนกัน การถอยเข้าฉากจะเป็นวิธีดีที่สุดที่จะลดอุณหภูมิ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เอง ในช่วงปลายๆชีวิตก็ทำเช่นเดียวกัน ท่านเลือกที่จะลี้ภัยจากข่าวลืออัปมงคลต่างๆไปพำนักอยู่ที่ราชบุรี ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว พวกลูกขุนพลอยพยักก็ไม่รู้จะเอามูลที่ไหนไปเต้าข่าว เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็จางลงไปเอง

เดี๋ยวนี้สภาพโบราณสถานวังสีทาดีชึ้นมากว่าที่ผมเคยเห็น ท่านที่สนใจจะลองเข้าไปหาข้อมูลอ่านจากกูเกิลได้ โดยพิมพ์คำว่า “วังสีทา” ลงไป จะปรากฏเวปต่างๆที่เกี่ยวข้องออกมามากมาย ถ้าให้ผมเขียนขึ้นมาอีก ทั้งเนื้อและน้ำก็คงจะซ้ำๆตามนั้น ไม่มีอะไรใหม่ อย่างที่ผมปรารภไปแล้ว เราทราบพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯน้อยมาก

เวปที่เอามาให้ลองเข้าไปดูนี้ เป็นของกรมศิลปากร จะมีข้อมูลที่เป็นทางการหน่อยครับ

http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.asp?id=0000761#


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง