เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 30769 “พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์”
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 09 ม.ค. 11, 20:21




        'ป้าย' ชาวจีนเรียกว่า 'เกสิน' หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน        ธรรมเนียมจีนถือว่าการบูชาเซ่นสรวงบรรพบุรุษเป็นการแสดงกตัญญูรู้คุณ อันจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ
         พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดสังเวยในวันไหว้ของจีน ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน และในวันตรุษจีน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ ของจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
เครื่องสังเวยที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษ ผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง
       ส่วนพระป้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพิธีสังเวย คือพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จารึกเป็นภาษาจีนบนแผ่นไม้จันทน์ ปิดทองขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลายลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน
       พระป้ายอีกที่ มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
       กำหนดการพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะ และธูปหาง ปักที่เครื่องสังเวย พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง
       เมื่อธูปที่เครื่องสังเวยหมดดอก เจ้าหน้าที่จึงลาถอนเครื่องสังเวย และนำมาวิมานเทวดาไปปักในแจกันที่ใต้เครื่องบูชา พร้อมผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

http://www.econnews.org/483/ekw0483.html
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 09 ม.ค. 11, 21:03


              พระป้ายอีกที่ มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
       

จัดภาพให้ชมกันครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 09 ม.ค. 11, 21:51

บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

 ทรงบอกว่ามีพระโอรสและธิดาอยู่ในราวยี่สิบองค์ องค์ใหญ่ ชื่อยอช เป็นผู้ดีหนุ่มที่ฉลาด อายุได้สิบแปดปี....
 พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ 



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 09 ม.ค. 11, 21:58

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน(คือเจ้าคุณมารดาเอม หรือเจ้าคุณพระชนนี) ดังนี้

1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง สิ้นพระชนม์ก่อนปรากฏพระนาม
2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศบวราโชรสรัตนราชกุมาร กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
3. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า(ชาย)ปรีดา สิ้นพระชนม์โดยไม่มีสายสืบราชสกุล
4. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์
5. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์


พระรูปกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 09 ม.ค. 11, 22:01

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงจันทร์

บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 08:02


              พระป้ายอีกที่ มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์ จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง ๕ ชั้น ตั้ง ๒ ข้าง จารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
       

องค์นี้ใช่ฝีมือการปั้นของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการใช่ไหมครับ

...ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไร เมื่อว่าเคยจะผ่านตามา ฮืม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 08:57

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาช่วยเสริมแต่งข้อมูลครับ
ส่วนคำถามข้างบน ขออนุญาตตอบ

พระสยามเทวาธิราช องค์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าชายดิศ (ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่น ณรงค์หริรักษ์พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมมารดาปาน องค์ต้นราชสกุลดวงจักร) ผู้ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นนายช่างเอกของกรมช่างสิบหมู่ ทรงปั้นและหล่อขึ้นนั้น เป็นรูปเทพยดาที่มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อยืน ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ สูง๘ นิ้ว งดงามได้สัดส่วน  องค์พระสยามเทวาธิราชทำด้วยทองคำทั้งพระองค์นี้สถิตในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์แบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีนแปลความว่า “เทพยดาผู้สิงสถิตรักษาสยามประเทศ” ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง

ในต้นรัชกาลที่๕ หม่อมเจ้าชายดิศ “ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างสิบหมู่ ภายหลังทรงมีความดีความชอบมาก ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

ส่วนพระบรมรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเลียนแบบพระสยามเทวาธิราชแต่แปลงเค้าพระพักตร์ให้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบรมราชชนกเพื่อทรงสักการะนั้น มิได้มีประวัติว่าใครเป็นนายช่างตัวจริงที่ปั้นขึ้น แต่ก็คงเป็นกรมช่างสิบหมู่นั่นเองที่รับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่าพระองค์เจ้าประดิษฐวรการเป็นผู้สร้างถวายก็คงจะไม่ผิด

พระบรมรูปองค์หลังนี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต





บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 09:08

มาชมเครื่องคุรุภัณฑ์ต่างๆที่จัดแสดงไว้ในห้องกลางนี้ครับ ผมเอามาจากหนังสือแจกของกรมศิลปากร

ที่มีมากคือพระราชอาสน์ มิใช่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทั้งหมด บางองค์สูงสง่ายิ่ง ผมเข้าไปเพ่งดูใกล้ๆ (แสงน้อยมาก การถ่ายรูปโดยไม่ใชแฟรช ไม่ค่อยจะได้เรื่อง ผมจึงไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายมา)เห็นตราว.ป.ร.ของพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯก็มี บางองค์มีตรา แต่พินิจดูไม่ออกว่าเป็นตราของพระองค์ใด สงสัยผมจะตาถั่วด้วย

ส่วนองค์นี้ เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯชัดเจน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 09:15

พระฉาย(กระจกเงา)ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 09:17

ตะเกียงแก้วแบบยุโรป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 09:20

ภายหลังที่ทรงทดลองระบบไฟโดยใช้แกสเป็นผลสำเร็จ  และทรงเดินท่อแกสสำหรับผลิตไฟแสงสว่างใช้ในวังหน้า โคมไฟในพระที่นั่งจึงเปลี่ยนมาใช้หลอด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 09:33

พระแท่นองค์นี้ใหญ่ขนาดที่นอนKingsizeในโรงแรมห้าดาว แต่ไม่โปรดกระมัง สมเด็จกรมพระยาดำรงฯจึงทรงบันทึกไว้ว่าในห้องพระบรรทม วางพระแท่นคู่ ดังภาพที่เสนอไปแล้ว

พระแท่นองค์นี้มิได้จัดแสดงต่อสาธารณะ แต่เก็บรักษาไว้ในส่วนเฉลียงหลัง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 11:32

บันทึกของเซอร์จอห์น เบาวริ่ง เมื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ครั้งแรกในตอนค่ำของคืนวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘

   " วังหน้ามีลูกด้วยเจ้าจอมคนเดียวถึงเจ็ดองค์ เจ้าจอมคนนั้นเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก และได้มาคลานคอยแอบดูอยู่ที่ข้างประตูในเวลาที่ข้าพเจ้าหยอกล้อเล่นอยู่กับองค์หญิงน้อยของเธอ ที่เรียกชื่อว่า 'เปีย' ซึ่งชอบข้าพเจ้า และได้เอาพวงมาลัยดอกไม้หอมมาสวมมือให้ วันนี้องค์หญิงเปียได้ทรงเครื่องอย่างฝรั่ง แต่ดูเหมือนว่าจะเดือดร้อนกับเครื่องทองที่เกะกะมากนัก พระองค์เจ้ายอชเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มที่น่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"


เจ้าจอมคนโปรด ที่เซอร์จอห์น บันทึกคือเจ้าจอมมารดากลีบ มีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า 7 องค์ 

1  พระองค์เจ้าหญิงบุปผา  ประสูติพ.ศ. 2382
2  พระองค์เจ้าหญิงตลับ   ประสูติ พ.ศ. 2384
3  พระองค์เจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม  ประสูติพ.ศ. 2391
4  พระองค์เจ้าหญิงจำเริญ (พ.ศ. 2393-2450)
5  พระองค์เจ้าชายโตสินี (พ.ศ. 2394-2458)  ทรงเป็นต้นสกุล โตษะณีย์
6  พระองค์เจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม ประสูติ พ.ศ. 2396
7  พระองค์เจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนาม ประสูติ พ.ศ. 2397

หลังจากปีที่เซอร์จอห์น เบาริ่งเข้าเฝ้าแล้ว  เจ้าจอมมารดากลีบมีพระองค์เจ้าอีก 2 องค์  เป็นพระองค์เจ้าหญิง ประสูติพ.ศ. 2398 และพระองค์เจ้าชาย ประสูติพ.ศ. 2400  แต่น่าจะสิ้นพระชนม์เมื่อประสูติหรือไม่ก็สิ้นเมื่อยังทรงพระเยาว์มาก ก่อนจะมีพระนาม

ส่วนพระองค์เจ้าหญิงเปีย ที่เซอร์จอห์น เบาริงเล่าว่าแต่งเครื่องทรงแบบฝรั่งแต่ประดับทองเต็มองค์ และทรงทาขมิ้นเสียจนเหลืองติดมือฝรั่ง  คือพระองค์เจ้าหญิงจำเริญ 

เรื่องราวของเจ้าจอมมารดากลีบเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีรสชาติสีสันมากเอาการ แต่ไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้   ท่านที่สนใจลองค้นกูเกิ้ลหาเอาเองนะคะ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 12:08

^
ครับ ผมจวนจะจบเรื่องหลักแล้ว หากจะกลับมาต่อเรื่องอื่นๆของพระองค์ท่านบ้างก็เชิญนะครับ
.
.
.
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ โดยเฉพาะในเรื่องของชาวตะวันตกตั้งแต่ครั้งทรงเป็นเจ้าฟ้าน้อย การศึกษาของพระองค์มุ่งไปในแนวทางเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์  เข้าใจได้จากพระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคต  เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักแต่ยังทรงดำรงพระสติอยู่ ได้มีกระแสพระราชดำรัสแสดงความที่ทรงห่วงใยบ้านเมืองไว้ว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”

ดอกเตอร์ แซมวล เฮ้าส์ (SAMUAL R. HOUSE, M.D.)ที่คนไทยเรียกว่า “หมอเหา”ที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่๓  เรื่องราวของท่านผู้นี้ได้ถูกบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ในตอนแรกเจ้าฟ้าน้อยทรงถือโอกาสที่ได้รู้จักกันนี้ให้ช่วยแนะนำวิชาวิทยาศาสตร์ให้ พระองค์ใช้มหาดเล็กมาขอยืมหนังสือ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับเคมี ไฟฟ้า การถ่ายรูป การพิมพ์หนังสือ และงานที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ดร.เฮ้าส์ได้ถูกเชิญให้เข้าไปเฝ้าในวังบ่อยๆ เพื่อขอความช่วยเหลือหรือถวายการสอนเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์บางประการ”

ในบันทึกหรือข้อเขียนต่างๆที่บรรดาฝรั่งทั้งหลายกล่าวถึงพระองค์ ล้วนแต่ศรัทธาในความเป็นผู้ที่มีการศึกษาทันสมัย และชื่นชมในความเป็น “ผู้เจริญแล้ว”ของพระองค์ ต่างกับที่เขาบันทึกถึงเจ้านายประเทศเอเซียทั่วๆไป ที่ฝรั่งมักจะมีอคติ ว่ายังเถื่อนๆอยู่ มิได้เป็นมนุษย์ที่เจริญแล้วเช่นพวกตน

ศาสตรจารย์ริกซซ์ (Professor Fred W. Riggs) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของสยามและพม่า” เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯสถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอขึ้นไว้ในตำแหน่งอุปราช ซึ่งมีพระราชอิสสริยยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน อุปราชพระองค์นี้ทรงนิยมตะวันตกและรับสั่งภาษาอังกฤษได้ดีกว่าพระเจ้าอยู่หัวเสียอีก พระองค์จึงได้อาศัยความช่วยเหลือและแนะนำจากอุปราชเป็นอันมาก”

ในขณะที่เอกสารของฝรั่งต่างยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และอาจจะเป็นทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯด้วย แต่เอกสารของไทยกลับไม่ได้กล่าวถึงไว้เลย

นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี นักประวัติศาสตร์ทหารเรือนามอุโฆษท่านหนึ่ง เขียนไว้ว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีห้องสมุดส่วนพระองค์ จะเสด็จไปไหนก็มักจะทรงพระอักษร(อ่าน)ไปเรื่อย มีพนักงานห้องสมุดคนหนึ่งเป็นหญิง หญิงผู้นี้ไม่รู้หนังสือเลย แต่ประหลาดที่ว่าทรงใช้ให้หยิบหนังสืออะไรเป็นหยิบมาได้ถูกต้องเสมอ”

ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูส่วนที่เป็นห้องทรงงานในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ประกอบด้วยห้องขนาดใหญ่๑ห้อง มีประตูเชื่อมไปยังห้องที่เล็กกว่า กรมศิลปากรบรรยายว่าห้องใหญ่คือห้องรับแขก ส่วนห้องเล็กคือห้องทรงพระอักษรและห้องสมุด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 10 ม.ค. 11, 12:14

ห้องที่ปัจจุบันแต่งเป็นห้องรับแขก ในครั้งที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯยังทรงดำรงอยู่ อาจเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดด้วย และโมเดลพวกงานทางวิศวกรรมอื่นๆก็น่าจะวางไว้ในห้องนี้ เซอร์จอห์น เบาวริงจึงมีโอกาสได้เห็นและบันทึกไว้ให้คนไทยรู้

น่าเสียดายที่ทางพิพิธภัณฑ์มิได้หาสรรพสิ่งต่างๆของพระองค์ ตามที่เซอร์จอห์น เบาวริงกล่าวไว้ กลับมาแสดงตามตำแหน่งแห่งที่เดิม ซึ่งจะทำให้เยาวชนเกิดความประทับใจในประวัติศาสตร์ยิ่งขึ้นไปอีก


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 19 คำสั่ง