คณะกรรมการทุกท่านต่างมีชื่อเสียงด้านกวีหรือด้านหนังสือในรัชกาลนั้น
พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ
กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ใครๆ ก็รู้ว่าทรงสามารถด้านกวีขนาดไหน
ขุนวิสุทธากร ขุนวิสูตรเสนี ต่างแต่งเสภาเรื่องนิทราชาคริตร่วมกับกวีอีกหลายท่าน
พระยาราชสัมภารากร เป็นผู้รจนาโคลงนิราศระยะทางเมืองเชียงใหม่
แต่ทำไมเจ้าคุณศรีสุนทร (น้อย) ไม่ได้เป็นกรรมการ เป็นแค่พนักงานรับส่ง (และเว็บส่วนใหญ่ก็ผิดพลาดในข้อนี้)
ส่วนบุตรชาย (ขุนมหาสิทธิ์ฯ) กลับได้เป็นกรรมการ
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ อีกพระองค์ ไม่เคยได้ยินว่าทรงสามารถทางด้านกวีเลย
ทำไมถึงทรงได้เป็นกรรมการ
แล้วพระครูสมุหวรคณิศร (ตามตำแหน่งน่าเป็นที่พระปลัดของสมเด็จพระสังฆราช)
ก็ไม่ปรากฏในรายชื่อผู้แต่งโคลงรามเกียรติ์ หรือท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์ภายหลัง
และใช้สมณศักดิ์ภายหลังนั้นเป็นนามที่จารึกลงในโคลง 
เป็นเพียงข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ ครับ ใครสามารถทำให้ผมกระจ่างแจ้งในข้อสงสัยนี้ได้บ้าง

ขอตอบเป็นรายประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ ๑ ทำไมเจ้าคุณศรีสุนทร (น้อย) ไม่ได้เป็นกรรมการ
เป็นแค่พนักงานรับส่ง (และเว็บส่วนใหญ่ก็ผิดพลาดในข้อนี้)
ส่วนบุตรชาย (ขุนมหาสิทธิ์ฯ) กลับได้เป็นกรรมการ

ตรงนี้ ผมขอตั้งคำถามถามผู้สงสัยกลับว่า คุณทราบหรือไม่ว่า
ในขณะนั้น เจ้าคุณศรีสุนทรโวหารมีหน้าที่ราชการมากเพียงไร
ถ้าไม่ทราบ ผมจะเล่าให้ฟังอย่างย่อๆ ดังนี้
เจ้าคุณศรีสุนทรโวหาร นอกจากจะมีหน้าที่เจ้ากรมในกรมพระอาลักษณ์
อันเป็นหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือและหนังสือราชการทั้งปวงแล้ว
ท่านยังต้องดูแลกิจการโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวังเป็นอีกภาระหนึ่ง
มาตั้งแต่ปี ๒๔๑๒
ภาระต่อมา คือ หน้าที่ครูสอนหนังสือไทยที่กรมทหารมหาดเล็ก
ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี ๒๔๑๓
ภาระต่อไป คือ มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนหลวง
ในพระบรมมหาราชวัง และมีหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษร
แก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุตรหลานข้าราชการในโรงเรียนหลวง
พร้อมกันนั้นยังได้แต่งแบบเรียนภาษาไทยต่างๆ ด้วย
ปี ๒๔๑๘ ท่านได้รับตำแหน่ง เจ้ากรมพระอาลักษณ์แทนพระยาศรีสุนทรโวหาร(ฟัก)
ที่ถึงแก่อนิจกรรม
นอกจากนี้ท่านยังได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
และเป็นเลขานุการของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและองคมนตรีสภาด้วย
ตั้งมีหน้าที่ในการเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาประชุม
ตามที่มีพระบรมราชโองการ
ท่านเจ้าคุณยังมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดการโรงเรียนที่สวนนันทอุทยาน
เป็นกรรมการสอบไล่หนังสือไทยชั้นสูง เป้นกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ
เป็นกรรมการจัดพิมพืพระไตรปิฎก
ฉะนั้น แค่งานประจำของท่านก็นับว่ามากพอดูแล้ว โดยเฉพาะงานเลขานุการนั้น
เป็นงานราชการสำคัญที่ท่านมีบทบาทมาก และงานที่กรมพระอาลักษณ์ก็มีไม่น้อย
งานตรวจโคลงรามเกียรติ์นั้นเป็นงานเร่งมาก เพราะจวนเจียนจะใกล้พระราชพิธีสมโภชพระนครแล้ว
ทั้งโคลงนั้นมีหลายห้อง กว่าจะตรวจครบหมดแล้วคัดขึ้นถวายและนำไปจารึกแผ่นหินได้
ย่อมกินเวลาหลายเดือน จากหมายจะเห็นได้ว่า เป็นงานที่เร่งกันทำมาก
ท่านเจ้าคุณเองก็รับหน้าที่แต่งอยู่แล้ว จะให้มาตรวจด้วยเห็นจะเหนื่อยเกินตัว
อีกทั้งท่านก็อายุมาก งานก็มาก ในหลวงคงทรงเห็นการณ์ดังนี้ จึงให้ท่านเป็นผู้ประสานงานแทน
(ซึ่งไม่ได้เบากว่าการเป็นกรรมการตรวจเลย)
การที่ลูกชายท่านได้เป็นกรรมการตรวจก็เหมาะอยู่
เพราะขุนมหาสิทธิโวหาร (ห่วง) ก็มีความสามารถทางกวีเหมือนบิดา