sally chu
อสุรผัด

ตอบ: 38
|
ขอความกรุณาท่านผู้รู้ ขอทราบว่าพระราชดำรัส พระราชหัตถเลขา ร. 5 ต่อไปนี้ ต้องอ้างอิงอย่างไร จึงจะถูกต้องคะ
“.….. วิชาหนังสือเป็นวิชาที่น่านับถือและเป็นที่น่าสรรเสริญมาแต่โบราณว่า เป็นวิชาอย่างประเสริฐซึ่งผู้ยิ่งใหญ่นับแต่ พระมหากษัตริย์เป็นต้นมา ตลอดจนราษฎรพลเมืองสมควรและจำเป็นจะต้องรู้เพราะเป็นวิชาที่อาจทำให้การทั้งปวงสำเร็จในทุกสิ่งทุกอย่าง… ”
“ในเวลานั้นอายุพ่อเพียง ๑๕ ปี กับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการ ถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็ก มีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ … ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายใหญ่ คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคต ในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมุติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอกหมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส”
“การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดใครแล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้ว มีสองทาง คือ บวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชิงชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลัก มากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้”
ขอบคุณมากค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
luanglek
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 31 ธ.ค. 10, 12:47
|
|
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ใคร ในโอกาสอะไร เมื่อไร ที่ไหน คัดตัดตอนมาจากหนังสือหรือเอกสารอะไร (ปีที่พิมพ์) หน้าที่เท่าไร
พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ใคร ในโอกาสอะไร เมื่อไร ที่ไหน คัดตัดตอนมาจากหนังสือหรือเอกสารอะไร (ปีหรือปีที่พิมพ์) หน้าที่เท่าไร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
sally chu
อสุรผัด

ตอบ: 38
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 31 ธ.ค. 10, 13:23
|
|
ที่ตั้งใจก็อยากทราบรายละเอียดน่ะค่ะ ว่า พระราชดำรัช พระราชหัตเลขา ที่คัดมานี้ มาจากไหน อ่ะค่ะ
พระราชทานแก่ใคร ในโอกาสอะไร เมื่อไร ที่ไหน คัดตัดตอนมาจากหนังสือหรือเอกสารอะไร (ปีที่พิมพ์) หน้าที่เท่าไร
เพราะเห็นจากเว็ป ไม่มีการอ้างอิง อยากจะอ่านต่ออ่ะค่ะ ไม่ทราบจะหาที่ไหนค่ะ คุณหลวงเล็ก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
siamese
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 01 ม.ค. 11, 11:18
|
|
พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
----------------------------------
ที่ ๒/๖๑๓๔ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒
ถึง ลูกชายใหญ่ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
ด้วยเมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ เวลากลางคืน เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อเมื่อได้รับสมมติเป็นเจ้าแผ่นดิน นึกตั้งใจไว้ว่าจะเขียนหนังสืออำนวยพร และสั่งสอนตักเตือนเล็กน้อย ก็เฉพาะถูกเวลาลงไปปากลัดเสีย จึงเป็นแต่ได้บอกด้วยปากโดยย่อ บัดนี้พอที่จะหาเวลาเขียนหนังสือฉบับนี้ได้จึงได้รีบเขียน ขอเริ่มความว่า
คำซึ่งกล่าวว่า ได้รับสิริราชสมบัติเป็นคำไพเราะจริงหนอ เพราะสมบัติย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่าย ๆ ว่า ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศยิ่งกว่าคนสามัญ ย่อมจะมีอำนาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจ และเป็นผู้มีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัวหรือให้ปันแก่ผู้ที่พึงใจได้ตามประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดีกล่าวโดยย่อเพียงเท่านั้น ยังมีข้ออื่นอีกเป็นหลายประการ จะกล่าวไม่รู้สิ้น
แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้วอันจะพูดตามคำไทยอย่างเลว ๆ ว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเอง อันจะเล่าโดยย่อให้ทราบต่อไปนี้
ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดามารดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีอายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือ ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในเวลานั้น เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอกหมายเอาทั้งในกรุงและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส
เพราะฉะนั้น พ่อจึงถือว่าวันนั้นเป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง อันตั้งแต่เกิดมาพึ่งได้มีแก่ตัวจึงสามารถที่จะกล่าวในหนังสือฉบับก่อนว่าเหมือนตะเกียงอันริบหรี่ แต่เหตุใดจึงไม่ดับ เป็นข้อที่ควรจะถามหรือควรจะเล่าบอก การที่ไม่ดับไปได้นั้น ๑. คือเยียวยารักษาร่างกายด้วยยาบำบัดโรคและความอดกลั้นต่อปรารถนา คือไม่หาความสุขเพราะกินของที่มีรสอร่อย อันจะทำให้เกิดโรค ๒. ปฏิบัติอธิษฐานใจเป็นกลาง มิได้สำแดงอาการกิริยาโดยแกล้งทำอย่างเดียว ตั้งใจเป็นความแน่นอนมั่นคง เพื่อจะแผ่ความเมตตากรุณาต่อชนภายใน คือน้อง และแม่เลี้ยงทั้งปวงตามโอกาสที่จะทำได้ ให้เห็นความจริงใจว่ามิได้มุ่งร้ายหมายขวัญต่อผู้หนึ่งผู้ใด การอันใดที่เป็นข้อกระทบกระเทือนมาเก่าแก่เพียงใดมากหรือน้อย ย่อมสำแดงให้ปรากฏว่าได้ละทิ้งเสียมิได้นึกถึงเลย คิดแต่จะมั่วสุมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยควรที่จะสงเคราะห์ได้อย่างใดก็สงเคราะห์ มีที่สุดถึงว่าอายุน้อยเพียงเท่านั้นยังได้จูงน้องเด็ก ๆ ติดเป็นพรวนโตอยู่ทุกวัน แม่เจ้าคงจะจำได้ในการที่พ่อประพฤติอย่างใดในขณะนั้น ๓. ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ใหญ่ซึ่งท่านเชื่อเป็นแน่ว่าพ่อเป็นเจว็ดครั้งหนึ่งคราวหนึ่งอย่างเรื่องจีน แต่ถึงดังนั้นพ่อได้แสดงความเคารพนับถืออ่อนน้อมต่อท่านอยู่เสมอ เหมือนอย่างเมื่อยังมิได้เลือกขึ้นเป็นสมมติกษัตริย์เช่นนั้น จนท่านก็มีความเมตตาปรานีขึ้นทุกวัน ๆ ๔. ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งรู้อยู่ว่ามีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิมก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งกว่าแต่ก่อน จนมีความหวังใจว่าถ้ากระไรคงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง หรือถ้ากระไรก็จะเป็นอันตรายสักมื้อหนึ่ง ๕. ผู้ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูป้องร้ายก็มิได้ตั้งเวรตอบคือเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุว่าคิดจะประทุษร้ายตอบหรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่าง จนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบเพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู ๖. ข้าราชการซึ่งเป็นกลางคอยฟังว่าชนะไหนจะเล่นนั่นนั้นมีเป็นอันมาก แต่พ่อมิได้แสดงความรู้สึกให้ปรากฏเลย ย่อมประพฤติต่อด้วยอาการเสมอ แล้วแต่ความดีความชั่วของผู้นั้น แม้ถึงรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูหรือเฉย ๆ แต่เมื่อทำความดีแล้วต้องช่วยยกย่องให้ตามคุณความดี ๗. ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้องมิได้ยกย่องให้มียศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิดต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดีก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงมารู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่าปรารถนาจะให้ไปในทางดีเพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปทางที่ผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มาหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด ๘. ละเว้นความสุขสบาย คือ กินและนอนเป็นต้น สักแต่ชั่วรักษาชีวิตไว้พอดำรงวงศ์ตระกูลสืบไป พยายามหาคนที่จะใช้สอยอันควรจะเป็นที่วางใจได้ มีน้องเป็นต้น อันมีอายุเจริญขึ้นโดยลำดับ ๙. เมื่อมีผู้ที่ร่วมคิดในทางอันดีมากขึ้น จึงค่อยแผ่อำนาจออกโดยยึดเอาทางที่ถูก ต่อสู้ทางที่ผิด เมื่อชนะได้ครั้งหนึ่งสองครั้ง ความนิยมของคนซึ่งตั้งอยู่ในทางกลางย่อมรวนเรหันมาเห็นด้วยก่อน จึงเกิดความนิยมมากขึ้น ๆ จนถึงผู้ซึ่งเป็นศัตรูก็ต้องกลับเป็นมิตร เว้นไว้แต่ผู้ซึ่งมีความปรารถนากล้า อันจะถอยกลับมิได้เสียแล้วก็ต้องทำไป แต่ย่อมเห็นว่ากำลังอ่อนลงทุกเมื่อ ๆ ๑๐. พ่อไม่ปฏิเสธว่า ในเวลาหนุ่มคะนองเช่นนั้นจะมิได้ซุกซน อันเป็นเหตุให้พลาดไปหลายครั้ง แต่อาศัยเหตุโอบอ้อมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น และความรู้เห็นในผู้ซึ่งควรจะไว้ใจได้แก้ไขให้รอดจากความเสียถ้าไม่ได้ประพฤติใจดังเบื้องต้นแล้ว ไหนเลยจะรอดอยู่ได้ คงล่มเสียนานแล้ว การอันใดซึ่งเกิดเป็นการใหญ่ ๆ ขึ้น ดูก็ไม่น่าที่จะยกหยิบเอามากล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้หนังสือยาวเกินไป แต่พ่อยังเชื่อว่าถึงเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะเป็นคนหนุ่มก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ จึงได้ตั้งตัวยืนยาวมาได้ถึง ๒๕ ปี นี้แล้ว
บัดนี้ ลูกมีอายุเท่ากับพ่อในเวลาที่ได้มีความทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนั้น จึงได้มีใจระลึกถึงประสงค์จะแนะให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติอันได้ทดลองมาแล้วในชั่วอายุเดียวเท่านั้น แต่จะถือเอาเป็นอย่างเดียวกันเหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่ได้อยู่เอง เพราะบริษัทและบุคคลกับทั้งเหตุการณ์ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดี ง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เองก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดีจะดีได้เร็วกว่าง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้าอย่างพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็วไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา จึงขอเตือนว่า ๑. ให้โอบอ้อมอารีต่อญาติและมิตรอันสนิท มีน้องเป็นต้น เอาไว้เป็นกำลังให้จงได้ ๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนในที่ควรฟัง ๓. อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสำหรับจะเทียมแอกเทียมไถทำการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้นเป็นความทุกข์มิใช่ความสุข ๔. การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทาง คือ บวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจหรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้
เมื่อลงปลายหนังสือฉบับนี้ ต้องขออำนวยพรเจ้า ซึ่งยังมิต้องรับการหนักอย่างเช่นพ่อต้องรับมา ในเมื่ออายุเพียงนี้ยังมีพร้อมอยู่ทั้งบิดามารดาคณาญาติ ซึ่งจะช่วยอุปถัมภ์บำรุงให้สติปัญญาความคิดแก่กล้าขึ้น จนถึงเวลาที่ควรจะรับแล้วและได้รับโดยความสะดวกใจดีกว่าที่พ่อได้เป็นมาแล้ว ขอให้หมั่นศึกษาและทำในใจในข้อความที่ได้กล่าวตักเตือนมานี้ ละความเกียจคร้าน ตั้งใจพยายามทำทางไว้ให้ดีทุกเมื่อ ถ้าสงสัยอันใดข้อใดไม่เข้าใจให้ถาม จะอธิบายให้ฟัง ให้อ่านหนังสือนี้จำได้ทุกข้ออย่าให้เป็นแต่เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์เล่น
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
sally chu
อสุรผัด

ตอบ: 38
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 19 ก.พ. 11, 15:38
|
|
ขอบพระคุณมากๆค่ะ 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|