เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 12929 ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 14:09



คัดจาก  หนังสืออนุสรณ์  ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา ท.จ.ว.

วันที่ ๒๙  ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๙


คัดย่อจากบทความของท่านผู้หญิงทัศนีย์  บุณยคุปต์ เรื่อง "๙๖ ปีของคุณแม่" เป็นส่วนใหญ่

กราบขออนุญาติถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตในพระบรมมหาราชวัง  ชีวิตนักเรียนหญิงในประเทศญี่ปุ่น

เวลาในประเทศอังกฤษ  ของกุลสตรีไทยผู้หนึ่ง




(รักษาตัวสะกดตามหนังสือฉบับนี้)



       
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 14:39

ภาพปก ฝีมือ คุณจักรพันธุ์ โษยกฤต


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 15:07

      
       หนังสืออนุสรณ์ฉบับนี้  เป็นเรื่องราวที่สนุกและน่าสนใจมาก


       เรื่องราวต้นสกุลของท่านผู้หญิง ๕ หน้า   มีประโยชน์ยิ่งสำหรับนักค้นคว้าสาแหรกสกุลขุนนาง    ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า

เด็กผู้หญิงกำพร้าจากครอบครัวนายร้อยโท  ได้กลับกลายมาเป็นข้าหลวงสมเด็จพระพันปีหลวง  ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณส่ง

ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น       ความสนุกสนานของพวกเด็ก ๆ ๔ - ๕ คนที่คอยขัดขวางการบรรทมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า  เมื่อพระชนมายุ

๓ พรรษาเศษโดยการเห่รับ  การเห่กล่อมของพระนมสาย        เกร็ดจากบทนิพนธ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล เมื่อเข้าเฝ้า

พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า กราบทูลลาไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ      ซึ่งจะทยอยนำมาเล่าตามลำดับไป      

นักการทูตญี่ปุ่นเมื่อมาคุยกับท่านผู้หญิงก็เล่าว่า  ท่านหญิงเล่าเหตุการณ์ในอดีตเป็นตอนๆเหมือนกับสาวเส้นไหมออกมาจากเครื่องปั่นฝ้าย  และได้ร้องเพลง

ญี่ปุ่นโบราณกัน  สรรเสริญทหารเรื่อญี่ปุ่นสมัยสงครามญี่ปุ่นรบกับรัสเซีย    เพลงที่คนไม่รู้จักเสียแล้ว


     หนังสือเล่มนี้  ดิฉันเคยอ่านมาสองครั้ง   และเมื่อไม่นานมานี้ได้มาจากร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่งที่กำลังจะส่งหนังสือจำนวนมากไปประเทศ

ออสเตรเลีย    ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งสั่งซื้อไว้    จึงเลือกได้มาสิบกว่าเล่มจากกอง   เจ้าของร้านยินดีที่หนังสือในรุ่นนี้ยังจะอยู่เมืองไทยต่อไป

ดิฉันได้ปลอบโยนเจ้าของร้่านหนังสือผู้เปรียบเสมือนน้องชายว่า  ไม่เป็นไรหรอก  งบอาจารย์ญี่ปุ่นหาหนังสือในเมืองไทยขึ้นอีกแล้ว  ๕๐%


     ขอเรียนเชิญทุกท่านในเรือนไทยลงมาพูดคุยแสดงความคิดเห็นหรือเพิ่มเติมเรื่องหลังจากดิฉันได้จบเรื่องแล้ว      ท่านที่มีหนังสือเล่มนี้ขอเรียนเชิญ

ให้ปาดได้ทุกขณะ  เพื่อรักษาเนื้อเรื่องตามที่ตั้งใจไว้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 15:09



ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู  ค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 15:35


       
       บิดาชื่อจร  มารดาชื่อหวาน      ตอนนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล

บิดาเป็นทหาร  ในยุคนั้นยังไม่มียศเป็นศัพท์ไทย  เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Lieutenant  ว่า

เลฟตาแน้นท์  เมื่อคำนั้นยาวและไม่สะดวกปากจึงย่อกันว่า "เล็บ"   บิดาท่านจึงเป็น "เล็บจร"


       คุณปู่คือหลวงประจักษ์ศิล(เปลี่ยน) เป็นเจ้ากรมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

คุณย่าชื่อหนูเสน  เป็นลูกสาวคหบดีที่บางจาก   แต่งงานแล้วก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางจากนั่นเอง  เป็นสวนผลไม้นานาชนิด

ผลไม้ที่ขึ้นชื่อก็มีเงาะและทุเรียน     เมื่อถึงฤดูเงาะออกผล  เจ้ากรมเปลี่ยนจะกราบบังคมทูลเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเก็บเงาะที่สวน         คุณปู่ปลูกพลับพลาที่ประทับขึ้นในบริเวณกลุ่มต้นเงาะที่ได้คัดแล้วว่าผลงาทและรสชาติดีที่สุด

ทอดสะพานไม้กระดานยาวจากพลับพลาไปยังท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา        พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จประประพาสต้น

พร้อมเจ้าจอมและข้าราชบริพาร  ประทับเสวยพระกระยาหารและทรงพระสำราญพระราชอิริยาบทอยู่ ณ พลับพลาจนเย็นค่ำ  จึงจะเสด็จกลับ

โดยเรือพระที่นั่ง        พระองค์ท่านได้เสด็จเช่นนี้เป็นประจำอยู่หลายปี  จนถึงปีก่อนสวรรคตจึงทรงงดเพราะพระพลานามัยไม่ดีเหมือนแต่ก่อน

(สำหรับทุเรียนนั้นไม่โปรดเสวยเลย      ท่านผู้หญิงเล่าว่าในสมัยนั้นห้ามนำทุเรียนเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 15:59


       นายร้อยโทจร รับราชการอยู่พระบรมมหาราชวัง  ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า  รับใช้สนองพระเดชพระคุณ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระพันปีหลวงอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ      ส่วนคุณหวานก็

ก็เข้ามาเฝ้าฯ สมเด็จพระพันปีหลวงอยู่เสมอ      


       ท่านผู้หญิงเล่าว่าคุณหวานนุ่งโจงกระเบนผ้าพื้นสีตามวัน  ใส่เสื้อแขนกระบอก  และสะพายผ้าแพรสีนวล ๆ

มิได้เปลี่ยนเป็นสีประจำวันอย่างที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น      ท่านสวมรองเท้าแตะเมื่ออยู่นอกวัง  เมื่อถึงเขต

ประตูพระบรมหาราชวังก็จะถอดรองเท้าแตะออก  ถือข้ามธรณีประตูและเดินเท้าเปล่าเข้าไปจนถึงพระที่นั่งสุทธาศรี

ซึ่งเรียกกันว่า "ที่บน"   จะนั่งรอเฝ้าที่ขั้นอัฒจรรย์ใหญ่จนกว่าจะเสด็จออก

       วันหนึ่งคุณหวานซึ่งตั้งครรภ์แรกเข้าเฝ้าอยู่    สมเด็จพระพันปีหลวงตรัสว่า   ถ้าลูกในท้องเป็นผู้หญิงก็ขอเถอะ

จะเอามาเลี้ยงให้  ถ้าเป็นผู้ชายไม่เอา

       สิบเดือนหลังจากท่านผู้หญิงเกิด   บิดา"เล็บจร" ก็ถึงแก่กรรม
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 20:48

ขอบคุณครับ คุณ Wandee ที่กรุณานำหนังสือมาให้ได้ชม และอ่านกัน, ผมเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้นานมากแล้ว พออ่านกระทู้แล้ว ก็เกิดระลึกถึง ท่านผู้หญิงและท่านเจ้าคุณขึ้นมา จึงไปปัดฝุ่นหนังสือดัวกล่าวออกมาอ่านอีกรอบ (ตัวผมเกิดไม่ทันท่านหรอกครับ แต่รู้จักท่านด้วย หนังสือและคำบอกเล่าของท่านผู้ใหญ่ )

อ่านกระทู้ใน เรือนไทย.วิชาการ.คอม มานานแล้วครับ แต่ยังไม่ได้ สมัครสมาชิกซักที จึงได้คราวนี้เป็นเหตุแล้วครับ

ถ้าเป็นเว็บไซด์อื่น คงต้องขอฝากเนื้อฝากตัวกันเป็นอารัมภบทก่อน....... แต่เป็นเว็บไซด์นี้ คงต้องขอ "ยกพาน หญ้าแพรก, ดอกเข็ม, ดอกมะเขือ, ข้าวตอก แล ธุปเทียน" เป็นการไหว้ครู ขอบพระคุณทุกท่านที่ ได้เป็นเสมือนอาจารย์ครับ 

กำลังรวบรวมเหตุการณ์ บางอย่างของไทยอยู่ครับ คงต้องได้รบกวนทุกท่านได้โปรดอนุเคราะห์ ..........ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 21:37




ยินดีต้อนรับแทนทุกคนในเรือนไทยค่ะ    ดิฉันอ่านหนังสือเก่าอย่างเดียวค่ะ    เรื่องสาแหรกทั้งหลายก็พอผ่านตา

วรรณคดีก็พออ่านพอออก      นี่ก็หวั่นไหวระทึกเพราะคุณหลวงเล็กท่านว่าจะต้อนรับปีใหม่โดยการตั้งคำถาม ๑๐๐ ข้อ

เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องหนึ่ง     มาช่วยกันตอบนะคะ  ถือว่ารื่นเริงด้วยกัน   คงจะหวิดสอบได้กันหลายคนทีเดียว

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่ะ         ดิฉันมีหนังสือของท่านเจ้าคุณอีกเล่มด้วย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 ธ.ค. 10, 07:52



ชีวิตในวัง


       เมื่อท่านผู้หญิงอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ     สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงเตือนว่า  เมื่อไรจะให้เข้ามาอยู่ในวังเสียที

ถ้ามาอยู่จะให้เรียนหนังสือ  จะโกนจุกให้  และจะให้เป็นข้าหลวงทูลกระหม่อมเอียดน้อย(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ท่านผู้หญิงก็ได้เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นข้าหลวงสมเด็จพระพันปีหลวงและเป็นข้าหลวงสำหรับเล่นกับทูลกระหม่อมเอียดน้อย

ในสมัยนั้น  สมเด็จพระพันปีหลวงทรงอุปการะเด็ก ๆ ไว้มาก   ส่วนหนึ่งจะเป็นพระราชนัดดาชั้นหม่อมเจ้า  และส่วนหนึ่งจะเป็นบุตรธิดา

ของข้าราชการบ้าง  ข้าราชบริพารบ้าง  ห้องพระราชนัดดานั้นเรียกว่า "ห้องหม่อมเจ้า"  เป็นห้องกว้างใหญ่  อยู่ชั้นล่างของพระที่นั่ง

เทพดนัย         ท่านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในห้อง "หม่อมเจ้า"


เด็ก ๆ ที่ยังไม่ได้โกนจุกจะมีพี่เลี้ยงคอยดูแล   พี่เลี้ยงคนหนึ่งจะดูแลเด็ก ๔ คน  ในเรื่องของการอาบน้ำ  ทาขมิ้น  แต่งตัว  เกล้าจุก 

กันไรจุก  และให้เด็กๆขึ้นเฝ้าฯทุกวันเมื่อเสด็จออก    ท่านผู้หญิงทัศนีย์ เขียนไว้ว่า  คุณแม่บรรยายให้ฟังว่าพี่เลี้ยงของท่านดุยังกับเสือ

และท่านเบื่อที่สุดก็ตอนเกล้าจุก  กันไร  เพราะต้องนั่งนิ่ง ๆ  ถ้าไม่นิ่งก็จะถูกดุ  หรือกลัวมีดโกนบาด


ข้าหลวงทูลกระหม่อมฯคือพระสหายในการเล่น  เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น  อายุ ๗ - ๙ ขวบ      ทูลกระหม่อมจะเล่นอะไรข้าหลวงก็จะเล่นเป็นเพื่อน

การเล่น ๒ - ๓ อย่างที่อยู่ในความทรงจำของท่านคือการเล่นไปเที่ยวศรีราชาและเก็บหอยตามชายหาด  โดยจะนำลูกกวาดและช็อคโกแลต 

ซึ่งหม่อมศรีพรหมมาเป็นผู้เบิกมาจากห้องขนมและเอามาโปรยกันที่พื้นสมมุติว่าเป็นหอยบนหาดทราย   เด็กๆสนุกในการเก็บขนม

รับประทานเป็นที่ครื้นเครง   ข้าหลวงจึงชวนทูลกระหม่อมให้ทรงเล่นไปเที่ยวชายทะเลอยู่เนือง ๆ


       ขณะนั้นกำลังโปรดเกล้าให้สร้างสวนดุสิต   ดังนั้นแทบทุกเย็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระพันปีหลวงจะเสด็จ

ไปทอดพระเนตรการก่อสร้าง   การเสด็จนั้นเสด็จกันคนละกระบวนโดยรถม้า   กระบวนของสมเด็จพระพันปีหลวงจะมีข้าหลวง

เด็ก ๆขี่จักรยานตามเสด็จ    ข้าหลวงเด็ก ๆ จะต้องแต่งตัวชุดโจงกระเบน  ใส่เสื้อคอแบบเชิ้ต  แขนหมูแฮม  สวมถุงน่องรองเท้า

และสวมหมวกฟาง   รถที่ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานคือรถฮัมเบอร์สีเขียว(ถือว่าโก้หนักหนาและช้อยในเรื่องสี่แผ่นดินก็ชื่นชม)   

หน้ารถมีตะกร้าที่เด็ก ๆ จะใส่ขนมและแตงโมลูกแก้ว      สมเด็จพระพันปีหลวงประทับรถม้าพระที่นั่งเปิดประทุน  มีคุณท้าวตามเสด็จ   

ราชองค์รักษ์ขี่ม้าตามเสด็จเยื้องมาเบื้องหลัง     ขบวนจักรยานของเด็ก ๆ ตามมาอีกทีหนึ่ง         


ราชองค์รักษ์มีชื่อว่าจมื่นไวยวรนารถ      แต่ด้วยเหตุที่มีผมน้อยมาก    ท่านหญิงพรพิมล(ท่านแม่ของพระองค์หญิงวิภาวดี)

จึงทรงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า  "จมื่นเกศาพินาศ"  และแอบเรียกกันจนเจ้าตัวก็รู้

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 ธ.ค. 10, 16:18


       สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงพระกรุณาให้ข้าหลวงเด็ก ๆ ของท่านได้มีโอกาสเรียนหนังสือ       เมื่อตอนเล็กอยู่

จะให้ผู้ใหญ่หรือเจ้านายผู้ใหญ่สอน


       เมื่ออายุประมาณ ๑๐ - ๑๑ ขวบ  นักเรียนจะออกมาเรียนที่โรงเรียนวังนอก  คือ  ที่กรมศิลปากร  แต่ก่อนเป็นวังของ

กรมหมื่นปราบปรปักษ์   การเรียนเรียนรวมกันทั้งชายหญิงและเรียนเป็นชั้น ๆ   การแต่งกายออกมาเรียนนอกวังต้องสวมถุงน่องรองเท้า

และต้องเดินเป็นแถว   ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี    ในภาคเช้าจะเรียนภาษาไทยมีครูผู้ชายชื่อครูเพื่อนเป็นผู้สอน

ส่วนในภาคบ่ายเรียนภาษาอังกฤษ  มีแหม่มลูกครึ่งปอร์ตุเกส  ชื่อ Miss Bellamin da Costa  เป็นผู้สอน

        
       ท่านผู้หญิงเล่าว่าการเรียนภาษาไทยสนุกสนานมาก   หนังสือที่ใช้สมัยนั้นเป็นชุด คือ มูลบทบรรพกิจ  วาห์นิติ์นิกร  

อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  พิศาลการันต์   ท่านไม่ได้เล่าว่าเรียนไปถึงเล่มไหนแต่เล่าเรื่องซุกซนไว้ว่า  หม่อมศรีพรหมา

เพื่อนรักของคุณแม่ได้บรรยายเกี่ยวกับครูเพื่อนไว้ว่า      "...ครูเพื่อนมีลักษณะโบราณ   ทุกส่วนเป็นสีน้ำตาล  ตั้งแต่สีผิว

ผม  ผ้านุ่ง  เสื้อ  มือ  เล็บ  แม้แต่ฟัน  เด็ก ๆ ไม่ค่อยเกรงใจครูเลย   จะว่าก็ไม่ฟัง"


       วันหนึ่งขณะหยุดพักกลางวัน   ครูเพื่อนเอาเสื้อนอกแขวนห้อยจากเพดานกลางห้อง  เพราะกลัวเด็กจะค้น   แต่ก็ไม่พ้นมือ

นักเรียนซน ๆ  ได้เอาเก้าอี้มาต่อกันแล้วค้นกระเป๋าครู   แก้ห่อหมากแห้งของครูออกมาค้น  แล้วหยิบสมุดบันทึกเก่า ๆ ที่ครู

บันทึกเกี่ยวกับนักเรียนมาอ่านเป็นที่ขบขัน   ครูบันทึกเป็นนัย ๆ ไว้ว่า


"คุณจร(ท่านผู้หญิง)  กาหล"  หมายความว่าเอ็ดตะโร

"คุณสายหยุดกางร่ม"  หมายความว่าดื้อดัน

คุณศรีโดนว่า "โคมลอย"  ซึ่งหมายความว่าพูดไม่ได้ความ          แล้วครูยังเขียนไว้ว่า  "นักเรียนเหล่านี้  ว่ายากจริงแฮ  

บาปที่ทำเช่นนี้    กรากขึ้นทันตาเห็น"

เมื่อนักเรียนอ่านแล้วก็เป็นที่ขบขัน  และขบขันกันมากเมื่อครูพบว่าหมากแห้งหายไป ๒ - ๓ คำ  ไม่พอสำหรับคนกินตลอดวัน

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ธ.ค. 10, 07:20



       ถึงแม้นักเรียนจะซนและแกล้งครูเช่นนั้นก็ตาม  แต่ก็ยังมีใจรักและเห็นอกเห็นใจครูในบางโอกาส  เช่นในวันเกิดของ

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ท่านมักจะแจกผ้านุ่ง   ครูเพื่อนได้รับแจกมาผืนหนึ่งแล้ว   แต่นักเรียนก็ยังไปขอมาให้ครูเพื่อนอีก ๒  - ๓  ผืน


       การเรียนภาษากับครูแหม่ม Bellamin  ไม่มีโอกาสได้ซนเท่ากับเวลาเรียนกับครูเพื่อน   นอกจากจะสอนอ่านและเขียน 

ยังสอนให้ร้องเพลงฝรั่งและเต้นรำแบบง่าย ๆ   ครูให้จับคู่กับเก้าอี้และร้อง one, two, three, hop  แล้วยกเก้าอี้   ต่อจากนั้น

นักเรียนก็จับคู่กันแล้วเต้นตาม    เด็กนักเรียนบางครั้งเก็บดอกจำปาจำปีมาให้แหม่ม        การออกกำลังของแหม่มในเวลาว่างคือ

ตีกอล์ฟที่ท้องสนามหลวงกับพวกฝรั่งด้วยกัน   บางครั้งเวลาสมเด็จพระพันปีกริ้วแหม่ม  ท่านทรงเรียกว่า "แหม่มแบหลา"   

ตอนหลังแหม่มได้แต่งงานกับชาวอังกฤษและเปลี่ยนชื่อเป็น Mrs. Spivey    แหม่มอยู่ประเทศไทยนาน  เมื่อถึงแก่กรรม

ศพก็ไว้ที่สุสานในกรุงเทพ ฯ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 31 ธ.ค. 10, 06:39


ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๒๔๕๑)

 
       เหตุที่ท่านผู้หญิงได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับพระราชทานทุนไปศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่นสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์

ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร  ระหว่างเสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ 

ได้เสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่นและทรงเห็นความก้าวหน้าของหัตถกรรมและศิลปะญี่ปุ่น  จึงมากราบบังคมทูล  และรับสั่งว่า

ถ้าสมเด็จแม่มีเด็กที่มีแววทางนี้ก็น่าจะส่งให้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อเรียนจบกลับมาแล้วจะได้มาสอนคนไทยบ้าง

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเห็นชอบในพระราชดำริ  จึงทรงเลือกกุลสตรี ๔ คน มี  แม่พิศหลานท่านผะอบ   แม่นวลซึ่งมีป้าอยู่ห้องเครื่อง

แม่หลีซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของข้าหลวงพระองค์นารี  และ ท่านผู้หญิง    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้ทรงเลือกมหาดเล็กของพระองค์

๔ ​คนให้เดินทางไปศึกษาด้วย          ท่านผู้หญิงกับคุณพิศไปเรียนวิชาปักสะดึงและวาดเขียนแบบญี่ปุ่น   คุณหลีกับคุณนวลไปเรียนการทำดอกไม้แห้ง

ออกเดินทางประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๖    สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงฝากให้เดินทางไปกับ นาย โทคิชิ  มาซาโอะ(นายเมาเซา) และภรรยา

นายเมาเซา  รับราชการเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงยุติธรรม  เป็นผู้เริ่มให้ญี่ปุ่นยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในไทย   ต่อมาได้รับพระราชทาน

บรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยามหิธรมนูปกรณโกศลคุณ

       การเดินทางไปญี่ปุุ่นสมัยนั้นมีอยู่ทางเดียวคือโดยเรือเดินสมุทรซึ่งใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือน   ต้องไปขึ้นฝั่งที่ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้  แล้วไปขึ้นฝั่งที่โยโกฮามา

แล้วขึ้นรถไฟต่อไปยังกรุงโตเกียวไปพักอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่นซึ่งเป็นทั้งครูและผู้ปกครอง

       ในตอนเช้าท่านผู้หญิงเดินไปโรงเรียนเพื่อเรียนภาษาญี่ปุ่น  แล้วกลับมากินอาหารกลางวันที่บ้าน   ในตอนบ่ายจะไปเรียนวิชาพิเศษที่บ้านครู

บางวันไปเรียนวาดเขียน  บางวันไปเรียนปักสะดึง    บ้านครูพิเศษนี้อยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับโรงเรียน   ต้องเดินไปไกลพอใช้   ในฤดูที่อากาศดี

ก็ไม่ลำบาก  แต่ถ้าฝนตกหรือหิมะตกและต้องเดินเท้าแบบญี่ปุ่นยำ่หิมะก็ทุลักทุเล

       เมื่อท่านผู้หญิงอยู่ญี่ปุ่น  ท่านเป็นที่นิยมรักใคร่ในแวดวงของท่าน    เขาตั้งชื่อญี่ปุ่นให้ท่านว่า  ฮานาโซนะ  ยูริโกะ  แปลว่า  ดอกลิลลี่(ว่าน)ในสวนดอกไม้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 31 ธ.ค. 10, 07:44


ชีวิตในวังหลังจากกลับจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๕


        เมื่อสำเร็จการศึกษาและกลับสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๕๑    ท่านผู้หญิงได้กลับมาเป็นข้าหลวงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระพันปีหลวงเช่นเดิม  

ซึ่งในขณะนั้นประทับที่พระตำหนักสวนสี่ฤดูพระราชวังดุสิต        สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีพระเสาวณีย์ให้คุณแม่ไปเป็นครูที่โรงเรียนราชินี  

มี ม.จ. พิจิตรจิราภา ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่    สอนวิชาวาดเขียนและปักสะดึงแทนครูญี่ปุ่นซึ่งกลับไปเมื่อหมดสัญญา

เวลาไปโรงเรียนก็ไปเรือเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและไปขึ้นที่ท่าราชินี  


       ท่านผู้หญิงพักอยู่ที่เรือนไม้ ๒ ชั้น  ข้างล่างเป็นที่อยู่ของ "นายแดง"  (แต่เป็นผู้หญิง)หัวหน้าห้องเครื่องซึ่งชอบพอกับคุณแม่มาก  

และมีข้อตกลงกันว่าถ้าคุณแม่หิวก็ให้หย่อนเชือกลงมาแล้วนายแดงก็จะห่ออาหารผูกเชือกให้ท่านผู้หญิงสาวเชือกขึ้นไป    บางครั้งนายแดง

ก็จะใจดีห่ออะไรแอบมาวางให้ในห้อง   ถ้าท่านไม่อยู่หรือเผลอ  ท่านหญิงพรพิมลพรรณซึ่งอยู่ห้องติดกันทรงแกล้งเอาไปซ่อน  หรือแอบเอาไปเสวย

เสียก่อน          นายแดงมีความสามารถในการทำและจัดอาหาร   ในการตั้งเครื่องทุกครั้งจะมี เครื่องใหญ่ซึ่งเป็นกับข้าวหลักนานาชนิด

เต็มหนึ่งถาดใหญ่  มีเครื่องเคียงอีกหนึ่งถาด  แล้วถึงจะถึงเครื่องหวาน   ที่เก่งกว่าปกติคือจัดเครื่องพิเศษ  ซึ่งจะเสวยเมื่อใดก็เมื่อนั้น

ไม่มีกำหนดล่วงหน้า   สามารถจัดถวายได้ในระยะเวลาอันสั้น   ทั้งๆที่สมัยนั้นไม่มีตู้เย็นสำหรับถนอมอาหารสดไว้มาก ๆ

หรือมีเครื่องผ่อนแรงอย่างสมัยนี้แต่ประการใด    
บันทึกการเข้า
เทพกร
ชมพูพาน
***
ตอบ: 142



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 31 ธ.ค. 10, 14:09

ขอบคุณสำหรับเรื่องดี ๆ ครับ  ยิ้มกว้างๆ





บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 31 ธ.ค. 10, 14:53



ขอบคุณคุณเทพกรอย่างยิ่ง


     การอ่านเรื่องราวดี ๆ ที่สนุกและให้ความรู้เป็นการแบ่งปันความสุขกันค่ะ   เป็นความสุขที่หาได้ง่าย

ปัดและเป่าทุกข์บางประการให้ห่างออกไป    สร้างกำลังใจเมื่อเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ที่มีเกียรติยศ  ชื่อเสียง

และบรรดาศักดิ์หลายต่อหลายท่านมาจากสามัญชน  เรียนรู้ว่าท่านเหล่านั้นคิดอย่างไร  ทำตัวอย่างไร

และประสบความสำเร็จปานใด  มีครอบครัวเป็นสุขและบุตรหลานที่ดีงาม มีการศึกษา  มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพทั่วไป



ในปีที่ผ่านมานี้  ดิฉันคิดว่าเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตเพราะได้พบปะและสนทนากับเพื่อน ๆ ในเรือนไทย

ได้รับโอกาสจากท่านเจ้าเรือนให้เขียนถึงเรื่องราวบางประการที่ดิฉันคิดว่าสำคัญ   โดยมีหลักฐานพอสมควร

ได้รวมรวมหนังสืออนุสรณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ในบ้านให้มารวมอยู่ในตู้หนังสือ    ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ

หลายคนว่าการเสริมความรู้และหาหลักฐานเพิ่มเติมทำอย่างไร        เพื่อน ๆ ของดิฉันเป็นนักอ่านค่ะ  เราอ่านหนังสือ

แข่งกันและคุยกันแต่เรื่องหนังสือโดยเฉพาะหนังสือเก่าที่มีค่าและหายาก     


เมื่อวานนี้ได้รับเชิญจากนักสะสม ริชาร์ด  ใจสิงห์  ให้ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดของเธอ    ต้องจดรายละเอียดเอง 

ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปเพราะหนังสือโบราณคร่ำคร่า    ดิฉันได้พบหนังสือ "ราชินีบำรุง" แล้วส่วนหนึ่งค่ะ  แต่ยังไม่เจอรุ่นที่หม่อมเสมอ แปล

คุณพ่อขายาวไว้  หวังว่าคงจะได้พบเป็นแน่ในเวลาไม่นานนัก


       ขอบคุณที่อ่านและกรุณาโพสรูป   เพื่อน ๆ จะได้เห็นว่า ท่านผู้หญิงเฟี้ยวขนาดไหน  และละมุนละม่อมปานใด

       สวัสดีปีใหม่ค่ะ    และเราคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันต่อไป

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง