เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 19249 หม่อมเสมอ สวัสดิวัฒน ณ อยุธยา
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 08:32


       ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ที่บริติชเคาน์ซิล     มีงานแสดงภาพเขียนของศิลปินบางท่าน    ทูตขรตรีเศียรคลาคล่ำ

ภรรยาของเอกอรรคราชทูตประเทศหนึ่ง  ถามดิฉันว่า  สุภาพสตรีใส่ชุดดำผู้หนึ่งคือใคร    จะไปรู้หรือจ๊ะ  วันดีนึกในใจ

จึงคว้าแขนของศิลปินประพันธ์  ศรีสุตาไว้แล้วถาม    ประพันธ์  ศรีสุตาตอนนั้นมีงานใหม่ ๆ ออกมา เช่นการออกแบบ

พรมผืนเล็ก ๆ  และการทำภาพพิมพ์รูปเด็ก ๆ ชาวบ้าน  ตอบว่าหม่อมเสมอไง  ไม่รู้จักเหรอ    ประพันธ์มองหน้าดิฉันที่งงงัน

อธิบายต่อว่าหม่อมท่านชิ้นไง      ดิฉันก็ปรับข้อมูลอย่างไวที่สุด  แล้วจัดการให้ตนเองกลับไปคุยกับมิสซิสไวท์เฮ้าท์อีกที

เล่าเรื่องสกุลสวัสดิวัฒนให้มาดามทูตฟัง      มาดามพยักหน้าน้อย ๆ  แล้ววนเวียนอยู่ในหมู่แขกเหรื่อ  ต่อมาก็ไปคุยกับหม่อมเสมอ

วันดีก็ไปเฝ้าประตูต่อไป   วันนั้นมาดามไวท์เฮาส์ซื้อพรมไปผืนหนึ่ง  ราคาไม่น่าตื่นเต้นนัก


       เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมานี้   ไปรับหนังสือหายากเล่มหนึ่งที่สะพานอรุณอัมรินทร์  หนังสือเล่มนี้ส่งวนเวียนไปมากว่าจะมาถึงมือของ

โสนน้อยเรือนงาม...เอ้ย..ดิฉัน     ก่อนจะออกจากร้านมา  วันดีขอยืมหนังสืออนุสรณ์มาหลายเล่ม

(ยืมกับชั้นหนังสือ เพราะเจ้าของร้านอยู่ต่างประเทศ)  เก่าทั้งนั้น    


       สหายปัญญาไวแถวนี้  เปรย ๆ ว่า  ไม่รู้จัก     เล่าทีฤา


       โปรดสดับ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 08:52



       หม่อมเสมอ  สวัสดิวัฒน  ณ อยุธยา  เป็นบุตรีคนเดียวของพระยาและคุณหญิงบุรีนวราษฎร์(ชวน และ เนื่อง  สิงหเสนี)

เกิดวันที่  ๒๐ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๕๓  ที่บ้านวัดสามปลื้ม (จักรวรรดิ์)   มีน้องชายร่วมบิดาอีกสองคน คือ

๑.   พันเอกขจร   สิงหเสนี

๒.   ทันตแพทย์ชิ้นพร   สิงหเสนี


       หม่อมเสมอเป็นลูกที่บิดารักมาก    แทบทุกครั้งที่บิดา  ในฐานะราชเลขานุการส่วนพระองค์ของ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตามเสด็จในการแปรพระราชฐานไปประทับแรมต่างจังหวัด  เช่น

ที่พระราชวังสนามจันทร์  นครปฐม  หรือพระราชวังบางปะอิน  บิดาต้องพาหม่อมเสมอไปด้วย

แม้นแต่เวลากลับจากราชการตอนดึก ๆ   บิดาก็มักปลุกลูกขึ้นเล่นด้วย  เพราะมิฉะนั้นแล้ว  จะไม่มีเวลาเล่นกับลูก

ด้วยเหตุที่หม่อมเสมอต้องคอยติดตามบิดามารดาไปต่างจังหวัดอยู่เสมอ    จึงไม่ได้เข้าโรงเรียนจนอายุ ๘ ขวบ

บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 13:57

มาติดตามอ่านด้วยคนนะคะ

ดิฉันแลกหนังสือ "1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์" มาในราคาน่าตกใจ(สำหรับคนจน ๆ ) จากร้านหนังสือเก่าในงานสัปดาห์หนังสือค่ะ

เรื่องของหม่อมเสมอ อ่านพบครั้งแรกในเกิดวังปารุสก์ค่ะ นั่นเป็นเรื่องสมัยท่านยังสาวรุ่น
และ มาได้อ่านจากหนังสือข้างบนนี้เพิ่มเติม เป็นชีวิตคู่หลังเป็นหม่อม น่ารักมาก ๆ

ขอเชิญชวนให้ทุกท่านตามอ่านค่ะ คุณวันดีท่านนำแต่สิ่งดี ๆ มาเสนอทั้งสิ้น
 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 15:07


ขอบคุณคุณร่วมฤดีค่ะ   


       หม่อมเสมอเข้าเรียนชั้นเตรียมประถม  โรงเรียนราชินีได้ไม่นาน  ก็ต้องติดตามบิดามารดาไปประเทศอังกฤษ 

เมื่อบิดาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชทูตไทยประจำสำนักเซต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ  เมื่อหม่อมเสมออายุ ๙ ขวบ


       ตอนนั้น  สงครามโลกครั้งที่ ๑ เพิ่งสิ้นสุดลง   ราชทูตไทยประจำอังกฤษและครอบครัว  จึงมิใช่เป็นคณะเดียวที่เดินทางไปอังกฤษ 

แต่มีข้าราชการสถานทูตไทยและครอบครัว  ตลอดจนนักเรียนไทยที่จะไปศึกษาต่ออีกจำนวนหนึ่ง  เดินทางร่วมกัน  รอนแรมไปในเรือ "มิเตา"

เป็นเวลาเกือบสองเดือน    ในจำนวนนักเรียนไทยที่เดินทางไปครั้งนี้มีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท  สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น)

ซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๙ แล้ว  กำลังจะไปเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่อังกฤษด้วย


       หม่อมเสมอ  เล่่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟังบ่อย ๆ ถึงความสนุกในการเดินทางครั้งนั้น  และเล่าว่า  จำ "ท่านชิ้น"  ได้แต่เพียงว่า

ชอบแกล้งเด็กเรื่อย  ด้วยว่า  หม่อมเสมอมีชื่อเล่นว่า "หนู"    ตอนอายุ ๙ ขวบหม่อมเสมอตัวผอมสูง  ผมบางแต่ไว้ยาว 

เมื่อถักหางเปีย  เปียเล็กเท่านิ้วก้อยเด็ก    ท่านชิ้นชอบแกล้งวิ่งมากระตุกหางเปีย และล้อว่า

"Miss Rat, where is your tail?"   แล้ววิ่งหนีไป   ซึ่งทำให้หม่อมเสมอเกลียดท่านชิ้นที่สุด"

บันทึกการเข้า
giggsmay
ชมพูพาน
***
ตอบ: 135


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 17:07

 8)สวัสดีคะมารอเรื่องของ คุณวันดี คะ มาเร็วๆนะคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 19:48


       เมื่อไปถึงอังกฤษ  หลังจากที่ได้เรัยนภาษาอังกฤษและกวดวิชาอื่น ๆ ให้ทันหลักสูตรแล้ว

หม่อมเสมอก็ได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำสำหรับกุลสตรีชื่อ  Belstead   เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ แต่หรูมาก

หม่อมเสมอเพิ่งจะได้ลิ้มรสชีวิตนักเรียนจริง ๆ ก็ที่โรงเรียนนี้   หม่อมเสมอมีความสุขและสนุกกับชีวิตนักเรียนมาก  และชอบทั้งการเรียน

และชอบเล่นกีฬาเป็นที่สุด   กีฬาที่เล่นที่โรงเรียนตอนนั้นมี เน็ตบอล  ลาครอสส์ และ เทนนิส


       ต่อมา  พระยาบุรีนวราษฐ์   ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ   ให้ย้ายไปรับตำแหน่งราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

พระยาบุรี ฯ เห็นลูกรักโรงเรียนมาก  จึงยอมทิ้งลูกไว้ที่อังกฤษต่อ   โดยส่งไปอยู่กับครอบครัว Rev. and Mrs. Sturges - Jones  ที่มีลูกสาวอายุไล่เลี่ยกัน

และได้คุ้นเคยกันมาแล้วเป็นอย่างดี   ทั้งยังฝากฝังพระยาและคุณหญิงภะรตราชา  ผู้เป็นเพื่อนรัก  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษ  ให้ช่วยดูแลลูกด้วย





(มีผู้คนแถวนี้  มาตามให้ไปอธิบายเรื่องหนังสืออนุสรณ์ที่ได้มาวันนี้  จึงขอหลบไปฝอย  จนผู้ถามหายข้องใจ  ประเดี๋ยวกลับมาค่ะ)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 20:56


       แต่พระยาบุรีนวราษฐ์ไปอยู่วอชิงตันได้ไม่นาน  คิดถึงลูกสาวเหลือเกิน   ก็เลยจำใจ

ขอให้ลูกย้ายไปอยู่ด้วย   หม่อมเสมอจำใจต้องจากเพื่อน ๆ  จากโรงเรียน  และจากครูใหญ่ Mrs. Harvey

ที่หม่อมเสมอรักมาก  ไปเข้าโรงเรียนมาเรต์  ซึ่งอยู่ใกล้สถานทุตไทยในกรุงวอชิงตัน เดินไปโรงเรียนได้   เจ้าของ

โรงเรียนแห่งใหม่นี้เป็นชาวฝรั่งเศส  จึงใช้ภาษาฝรั่งเศสสอนวิชาส่วนใหญ่ เช่นวิชาประวัติศาสตร์เป็นต้น 

หม่อมเสมอจึงเก่งภาษาฝรั่งเศส  และเวลาออกชื่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์  จึงมักเรียกตามแบบชาวฝรั่งเศส



       เมื่อหม่อมเสมออายุ ๑๕​ ปี  พระยาบุรีนวราษฐ์ล้มป่วยและในที่สุดก็ถึงแก่อนิจกรรม ณ สหรัฐอเมริกา

คุณหญืงเนื่องจึงต้องพาลูกสาวกลับเมืองไทยเพราะระยะเวลานั้นครอบครัวขัดสนเงินทอง   พระยาบุรีนวราษฐ์ยังมี

บุตรชายอีก ๒ คน  ควรเก็บเงินเท่าที่มีไว้ส่งเสียให้ลูกชายได้เรียน   สมัยนั้นครอบครัวคนไทยยังไม่ค่อยเห็นความจำเป็น

ในการให้ลูกผู้หญิงเรียนสูง ๆ   การศึกษาในโรงเรียนของหม่อมเสมอจึงยุติเพียงเท่านั้น




       เมื่อหม่อมเสมอกลับเมืองไทย  ก็ได้เป็นครูพิเศษที่โรงเรียนราชินี   สอนภาษาอังกฤษชั้นมัธยมปลาย

ในเวลาว่าง  ท่านอาจารย์หม่อมเจ้าพิจิตรจิรภา  เทวกุลก็ทรงสอนภาษาไทยแก่หม่อมเสมอ    หม่อมเสมอรู้สำนึกในพระกรุณา

ของท่านอาจารย์มิรู้ลืม  และพูดเสมอว่า  ที่อ่านเขียนภาษาไทยได้  รู้จักวรรณคดีไทย  ก็เพราะท่านอาจารย์


     หม่อมเสมอได้ทำงานที่โรงเรียนราชินีอย่างสนุก  ถึงแม้ว่านักเรียนบางชั้นจะมีอายุมากกว่าครูก็ตาม  แต่ไม่เคย

มีปัญหาในด้านการสอน   เมื่อว่างจากการสอนการเรียน  เห็นนักเรียนลงเล่นกีฬากัน  ก็อดขอเล่นด้วยไม่ได้

ตอนหลังจึงมีหน้าที่เพิ่มขึ้น  คือเป็นครูสอนเล่นเน็ตบอลด้วย


       ระหว่างที่หม่อมเสมอเป็นครูสอนพิเศษนั้น  หม่อมเสมอยังเรียบเรียงเรื่อง "คุณพ่อขายาว"  ซึ่งนำเค้าโครงเรื่อง

มาจากหนังสือ "Daddy - Long - Legs"     ของ Jean Webster  ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือราชินีบำรุงด้วย   

เป็นที่น่าเสียดายที่หม่อมเสมอไม่ได้เก็บต้นฉบับไว้ให้ลูกหลานได้อ่านบ้างเลย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 22:07

ขอเรียนถาม 
ราชสกุลสวัสดิวัตน์ สะกดด้วย ต. เต่า ไม่ใช่ ฒ ผู้เฒ่า
ไม่ทราบว่าในหนังสือเล่มนี้  สะกดด้วยตัวไหนคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 23:52


สะกดด้วย ต  ค่ะ

ดิฉันมัวระวังตัว น  อยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 09:47

ถ้างั้นต้องเติม ์ อีกตัวค่ะ   เป็น สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 13:23

 
       ขอประทานโทษค่ะ  หนังสือเล่มนี้สะกดไม่มี  ์ 

ดิฉันบอกตนเองว่า ระวังนะ  ไม่มี  ์     ใจก็หยุดอยู่ ณ ที่นั้น  โดยไม่ได้สังเกต  ตัว ต  เลย  เป็นความบกพร่องของดิฉันโดยแท้

เรียนถามคุณเทาชมพูอีกประการหนึ่งค่ะ   ในหนังสือเขียน  "หม่อมเสมอ ฯ"  ตลอด

ความรู้ภาษาไทยระดับมัธยมต้นของดิฉันไม่เคยเห็นเช่นนี้



เคยอ่านประวัติบิดามารดาของหม่อมเสมอ  จำได้ ว่า เจ้านายทางเมืองไทยประทานหีบอาหารใส่เครื่องปรุง

ไปให้คุณหญิงหลายครั้ง  เพราะท่านรับเสด็จเจ้านายและปรุงอาหารไทยถวาย  ดิฉันยังนึกภาพ เครื่องเทศนานาชนิด บรรจุใน

ขวดแก้ว  หุ้มห่อแล้วใส่ในหีบใบใหญ่ที่ใช้ในการเดินทางทางทะเล   อ่านแล้วก็รู้สึกอิ่มเอมใจไปกับคุณหญิงเนื่องด้วย

สำหรับนักเรียนไทยต่างแดนจะมีของอะไรจากบ้านที่มีค่าเท่าเครื่องแกงหรือน้ำพริกที่ปรุงแล้วเป็นไม่มี

ในการอ่านครั้งนี้  ได้สังเกตการสะกด  และได้ระวังไว้อีกจุดแล้ว  ว่าท่านใช้  บุรีนวราษฐ์


       เมื่อมาถึงการส่งอาหารไปต่างประเทศแล้ว     การทอดปลาทูด้วยน้ำมันหมู  แล้วอัดลงปี๊บ  ราดหน้าด้วยน้ำมันหมู

บัดกรีกระป๋องส่งไปเมืองจีน  เป็นเรื่องที่ยิ่งยงในหัวใจนักอ่านมาก

      นานมากมาแล้ว  เด็กผู้หญิงไทยคนหนึ่ง  ตามหาดิฉันใน student union  และวางหมูแผ่นห่อเบ้อเริ่มลงบนตักดิฉัน

ถามดิฉันว่า กินไหม  ตัวเธอไม่ชอบ  ทางบ้านเพิ่งส่งมา     ในชีวิตน้อย ๆ ของดิฉันในเวลานั้นไม่เคยเห็นห่อหมูแผ่นที่ใหญ่ขนาดนั้น

มาก่อน       ขอประทานโทษค่ะ  กำลังจะออกทะเลไปแล้วเรื่องอาหาร


       ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะที่กรุณาเตือน   จะพยายามไม่ผิดซ้ำค่ะ

คิดถึงคุณหาญบิงจริงๆ    กลับบ้านมาหรือยังหนอ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 13:46

ดิฉันตั้งใจจะเอาตัวสะกดในหนังสือเล่มนี้ ไปเป็นคำตอบในอีกกระทู้หนึ่ง   เป็นตัวอย่างให้คุณเพ็ญชมพูและท่านอื่นๆเห็นว่า  ในแต่ละยุค  คนไทยสะกดคำไม่เหมือนกัน   
ในหนังสือเล่มนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่า ราชสกุล  สวัสดิวัตน์  นอกจากอาจสะกดเป็น  สวัสดิวัฒน์ แล้ว   ถึงสะกด ต เต่า ถูก   ก็ยังไม่มีการันต์เสียอีก
จะเข้าไปเช็คในเว็บทะเบียฬนามสกุล  ว่าราชสกุล สวัสดิวัตน์ ได้รับพระราชทานมาอย่างไร   เว็บนั้นก็เข้าไม่ได้เสียอีก   ด้วยเหตุผลทางกูเกิ้ลว่า "เว็บนี้อาจเป็นอันตรายต่อคอมพิวเตอร์ของคุณ"  ไม่รู้เหมือนกันว่ามีไวรัสหรืออะไร

คำว่า "หม่อมเสมอฯ " ทำไมมี ฯ ตามหลัง ดิฉันไม่ทราบ   แต่ ฯ ใช้ต่อเมื่อมีคำอื่นตามมาหลังคำนี้ เพียงแต่คนเขียนเว้นไว้    เพราะเคยลงคำเต็มๆไว้แล้ว   ไม่ประสงค์จะเขียนซ้ำอีก  ถือว่าเป็นที่เข้าใจกัน
หม่อมเสมอท่านมีชื่อเต็มๆ มากกว่า "เสมอ" เฉยๆ  หรือเปล่าก็ไม่ทราบ  หรือคนเขียนอาจตั้งใจจะเรียกเต็มยศว่า หม่อมเสมอ สวัสดิวัตน ณ อยุธยา ก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 14:52



       หลังจากพาลูกสาวกลับเมืองไทยแล้วไม่นาน  คุณหญิงเนื่อง  ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า แต่งตั้งให้เป็น

นางสนองพระโอษฐ์ประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินี  เป็นเหตุให้ท่านชิ้นหวนมาติดต่อหม่อมเสมออีกครั้งหนึ่ง

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานสมรสแก่  หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท

สวัสดิวัตนและหม่อมเสมอ  ในวันที่ ๙ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๗๐  และพระราชทานเรือนหอหนึ่งหลังตรงมุมถนนราชวิถีตรงที่ต่อมาเป็นสภาสังคมสงเคราะห์

ท่านชิ้นและหม่อมเสมอ  มีธิดา ๔ คน  ได้แก่

๑.  ม.ร.ว. ปิ่มสาย  อัมระนันท์  สมรสกับนายปรก

๒. ม.ร.ว. สายสวัสดี  ทอมสัน  สมรสกับนายแกรี่

๓. ม.ร.ว.สมานสนิท  วอลตัน  สมรสกับนายเจฟฟรี่

๔. ม.ร.ว. สายสิงห์  ศิริบุตร  สมรสกับนายศิริ


มีหลาน ๑๔ คน


       ใน พ.ศ. ๒๔๗๔  หม่อมเสมอเดินทางไปประเทศอังกฤษอีกเป็นครั้งที่ ๒  ติดตามท่านชิ้นผู้ไปศึกษา

และดูงานเกี่ยวกับการตำรวจและสืบสวนสอบสวน    หม่อมเสมอทิ้งธิดา ๒ คนโตไว้ให้คุณหญิงเนื่องเลี้ยง

หม่อมราชวงศ์ สมานสนิท  ธิดาคนที่ ๓ เกิดที่ประเทศอังกฤษ

หม่อมเสมอเคยเล่าว่าชีวิตในอังกฤษครั้งนี้สนุกสนานและใจหายใจคว่ำ   ที่สนุกเพราะได้ใช้ชีวิตอิสสระ

ที่ใจหายใจคว่ำก็เพราะตอนสิ้นเดือนไม่ค่อยมีสตังค์ใช้  รับประทานแต่ขนมปังเปล่า ๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 15:06

ร.๔-๒๓ สวัสดิวัตน์ ณ กรุงเทพ Svastivatana na Krungdeb สำหรับเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมหลวงสวัสดิวัตนวิศิษฏ์

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 15:25

หนังสือ มหามกุฎราชสันตติวงศ์ หน้า 130 สะกดว่า "กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์"
ไม่ใช่ ต เต่า แต่เป็น ด เด็กค่ะ

อ้างว่าเป็นพระนามตามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฎตั้งพระนามกรม ในรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2468 ที่มาของข้อมูลนี้ มาจาก หนังสือเรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม 2 (แบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2538 หน้า 234
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 20 คำสั่ง