เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 8762 นั่งกลาบาตคืออะไร? มีลักษณะอย่างไร?
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 24 ธ.ค. 10, 08:53

คุณเพ็ญฯ อธิบายและสันนิษฐานได้พิสดารดีครับ

แต่ สันนิบาต ไม่ใช่แต่เป็นสันสกฤตอย่างเดียว บาลีก็ใช้เหมือนกันครับ

เรื่องคำว่า กระลา หรือ กลา นี่น่าจะค้นต่อว่าตกลงมาจากภาษาอะไรกันแน่
และเกี่ยวข้องกับ กลาบาต หรือ กระลาบาต อย่างไร

คุณเพ็ญฯ ยกข้อเขียนของเสด็จในกรมพิทยลาภฯ และจิตร ภูมิศักดิ์มาแสดง
ทำให้เห็นว่า  กระลาบาต (กลาบาต) กระลาโหม (กลาโหม) กระลาอุโบสถ
และอาจจะมีคำว่า กระลา+คำอื่นๆ อีก 

ที่สำคัญ  คือ  บาต ในกรณีที่วิเคราะห์ว่า  กลาบาต คือ กระลาบาต มาจาก กระลา+บาต
"บาต" จะมีความหมายว่าอะไร  ซึ่งต้องเข้ากับตัวอย่างข้อความที่ได้ยกมาแสดงแล้วด้วย

ท่าทางกระทู้นี้จะไม่จบง่ายๆ เสียแล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 24 ธ.ค. 10, 09:44

คำว่า กระลา+คำอื่นในภาษาเขมรโบราณ มีอีกหลายคำ

จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ข้อมูลไว้ในเรื่อง "กระลาโหม" (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน อักษรานุสรณ์ ฉบับต้อนรับนิสิตใหม่ พ.ศ.๒๔๙๗) ดังนี้

ที่พระบรรทม เขมรโบราณเรียกว่า วฺระ กฺรฬา ผฺทํ - พระกระลาผทม

มหาดเล็กผู้ดูแลงานหรือรับใช้ในนั้น เรียกว่า กันเมียงบำเรอพระกระลาผทม

ผู้ตรวจตราสถานที่และมหาดเล็กพวกนี้ เรียกว่า ตำรวจพระกระลาผทม

ไทยเราแต่โบราณรับเอา "พระกระลาผทม" ไว้เหมือนกัน ดังปรากฏในพระธรรมศาสตร์ ซึ่งกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงพบและยกมาอ้างไว้ในเรื่องคำว่า กระลาโหม ของพระองค์ ว่า

"ครั้นปัจฉิมยามเสด็จเข้าที่ พระกรลาบันทม บรมศุขไสยาศน์ โดยควรแก่เวลา..."

นอกจาก "กระลาผทม" เขมรโบราณยังมีอีกหลายอย่าง เช่น สรง เรียกว่า "พระกระลาโสรง" มีมหาดเล็กเรียกว่า "กันเมียงพระกระลาโสรง" และมีตำรวจเรียกว่า "ตำรวจพระกระลาโสรง" เหมือนกัน  ในราชสำนักมีที่ฟ้อนรำถวายก็เรียกว่า "พระกระลารำ" พระคลังก็เรียก "พระกระลาคลัง" และยังมีกระลาอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ทราบได้ว่า กระลาหรือพระกระลาเหล่านี้ จะเข้ามาถึงเมืองไทยครั้งนั้นบ้างหรือเปล่า


"กระลาบาต" อาจนำเข้ามาจากเขมรก็ได้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 12:38

ทีนี้ลองมาหาความหมายของคำว่า บาต

มีอยู่คำหนึ่งที่น่าสนใจ

ยกกระบัตร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี; ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับ พนักงานอัยการ หรือ อัยการ ในปัจจุบัน, ยกบัตร หรือ พนักงานรักษาพระอัยการ ก็เรียก; เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร; เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี.

ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช เขียนในเรื่อง ยุกระบัตร / ยกระบัตร / ยกกระบัตร ไว้ว่า

คำว่า ยุกระบัตร นั้นในพระไอยการอาชญาหลวงเขียนว่า ยุกรบัตร ซึ่งควรถือว่า เป็นคำที่เก่าที่สุดและถูกต้องที่สุด พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทรงสันนิษฐานไว้ทางหนึ่งว่า คำว่า ยุกฺต ใช้เรียกข้าราชการชั้นอาลักษณ์ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญเหมือนตำแหน่งยุกระบัตรของไทย คำว่า ยุกฺต ในภาษาอังกฤษแปลได้หลายความหมาย รวมทั้ง “ถูกต้อง, เหมาะสม, สมควร, อันพิสูจน์แล้ว” (right, fit, proper, proved) ตรงกับคำบาลีว่า ยุตฺต แปลว่า อันควร, สมควร ดังปรากฎความในพระธรรมศาสตร์ว่า “ยุตฺตายุตฺตชานโก” ซึ่งโบราณาจารย์แปลว่า “มีปกติรู้ซึ่งลักษณะอันควรแลมิได้ควร” ข้อความนี้สำคัญเพราะตรงกับหน้าที่หลักของยุกระบัตรในเรื่องของการวินิจฉัยข้อกฎหมายและการตัดสสินความว่า สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร  ส่วนคำว่า บัตร นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “บาตร” แปลว่า “ที่ปรึกษา, อมาตย์ของพระเจ้าแผ่นดิน” (king’s counseller or minister) โดยอนุโลมหมายถึง ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว คำว่า ยุกฺต + บาตร จึงมีนัยได้ทั้งคุณสมบัติและหน้าที่ กล่าวคือ ๑ ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัวผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และ ๒ เป็นข้าราชการผู้พิจารณาว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร

ใน พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ให้ความหมายของคำว่า บาตร पात्र ว่านอกจากจะหมายถึงบาตรที่พระใช้ใส่อาหารแล้ว ยังหมายถึง deserving person, competent person หรือ capable person อีกด้วย

บาต ใน กลาบาต อาจมีที่มาเดียวกันกับ บัตร ในคำว่า ยกกระบัตร ซึ่งมาจากคำว่า บาตร หมายถึง ข้าราชการ

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 13:46

น่าสนใจดีครับคุณเพ็ญฯ

แต่คำว่า ยกระบัตร  (หรือที่เขียนเป็นอย่างอื่น) ไม่ได้เกิดจากการประสมคำ ๒ คำ
เป็นคำคำเดียว ซึ่งจิตรเองก็ทราบ  ส่วนมาจากคำว่าอะไร เอาไว้อภิปรายกันในกระทู้หน้าดีกว่า

ผมคิดว่า  บาต ใน กลาบาต หรือกระลาบาต  ไม่ได้มาจาก บาตร (ปาตฺร) ค่อนข้างแน่
และกลาบาต กับ ยกระบัตร  (หรือที่เขียนเป็นอย่างอื่น) ไม่เกี่ยวข้องกัน
แม้จะเห็นว่าลงท้ายว่า บาต หรือบัตร คล้ายกันก็ตาม

ที่ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เขียนนั้น  ผมไม่ขอวิจารณ์
ผมจะพูดเฉพาะในกระทู้นี้เท่านั้น

อันที่จริงผมเคยเอาคำคำนี้ไปสนทนากับผู้ใหญ่หลายท่าน
บางท่านสันนิษฐานสนุกมาก  เสียดายไม่ได้จดจำมาเล่าต่อ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 15:55

ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๘๔

...การปูเครื่องลาดรับรอง เคยได้ยินสมเด็จพระปกเกล้าตรัสเล่าถึงเสด็จไปเกาะ
ฮอนะลูลู  ว่าที่นั่นเขาใช้ใบตองลาดต้อนรับ   คิดดูก็จะเปนประเพณีเก่าซึ่งเหมือนกันทั้งโลก
ที่ไหนยังไม่จำเริญพอที่จะทำของแทนขึ้นได้  ก็ใช้ของธรรมดาไป  หรือจะหัวเห็ดถืออย่างเก่าไปก็
ตามแต่ใจชอบ  ที่คิดแปล กะละบาด เปน กาลาบัตร  นั้นก็แปลไปตามเสียง   จะถือเอาว่าเปนถูกก็
ยาก  ตามที่ท่านว่าเคยเหนหนังสือกล่าวถึงการรับแขกเมืองมีกองกะละบาดด้วยนั้นถูกแล้ว ที่ฉัน
บอกถึงการพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเปนแต่ตัวอย่าง  ที่แท้มีหลายอย่าง  ดูทีจะเปนยศด้วย   ต่อเปนการ
ใหญ่จึ่งมีกองกะละบาด  ถ้าเปนยศน้อยก็ไม่มี  แท้จริงการตั้งกองกะละบาดก็คือตั้งกองทหารรายทางนั่นเอง
ถ้าแปลคำ กะละบาด  ให้เกี่ยวแก่ทหารได้จะเชื่อได้ว่าเปนถูฏ...


ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๔

...คำ  กลา  พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ว่า  ลาน  คือ พื้นราบแห่งที่ดินอันหนึ่งซึ่งปราบไว้
ราบ  ถ้าเปนเช่นนั้นคำ ตั้งกองกลาบาต ก็ดีกว่าคำ  กลาปตฺร  ซึ่งแปลว่า ใบตอง เปนอันมาก.
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง