เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 8794 นั่งกลาบาตคืออะไร? มีลักษณะอย่างไร?
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


 เมื่อ 22 ธ.ค. 10, 14:52

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหน้า ๗๙ คอลัมน์ขวา อธิบายคตวามมหายคำว่า กลาบาต ดังนี้

กลาบาต (กะลาบาด) น.พวกนั่งยามตามไฟ, การตามไฟรักษายาม;....(ความหมายอื่น).

แต่พอมาดูคำว่า กลาบาต และนั่งกลาบาตในตัวอย่างต่อไปนี้

๑. ...ผู้ใดทัดดอกไม้ แลนุ่งผ้าแดงผ้าชมภูไพรำการะกำหาเชิงมิได้ 
ห่มผ้านอกเสื้อห่มผ้าบ่าเดียวนุ่งผ้าเหนบหน้า  หิ้วชายลอยชายแลเข้าในสนวนประตูสนวน
ตะพานสนวนในรั้วไก่ในกะลาบาตแลหน้าธินั่งประตูทับเรือก็ดีพระตำหนักก็ดี
ฝ่ายผ้าเสื้อไว้ให้ฉีกเสีย ดอกไม้ไซ้ให้คลุกฝุ่นโพกหัว ตามโทษหนักโทษเบา...
(กฎมณเทียรบาล มาตรา 74 คัดลอกตามอักขรวิธีเดิม)

๒.จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสรรพกิจปรีชา (ชื่น โชติกเสถียร )
ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙
พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

๒.๑...กรมพระราชวังบวร กรมพระราชวังหลัง เจ้าต่างกรมฝ่ายหน้า ฝ่าย ใน มานั่งทิมดาบชั้นใน ( คือ ) ตำรวจในทิมดาบหนึ่ง ๓๐
ชาววัง ทิมดาบหนึ่ง ๓๐ ( รวม ) ๖๐ มานั่งทิมดาบชั้นนอก ( คือ ) ตำรวจใน ๒ ทิม ๆ ละ ๖๐ เป็น ๑๒๐ ชาววัง ๒ ทิม ๆ ละ ๖๐ เป็น ๑๒๐
( รวม ) ๒๔๐ ( รวมทั้งสิ้น ) ๓๐๐ คน และเกณฑ์หลวงขุนหมื่น นอกตำแหน่งเฝ้า มานั่งบนศาลาลูกขุน ศาลาละ ๕๐ คน
เฉลียงศาลาลูกขุนซ้าย ๑๐๐ คน ขวา ๑๐๐ คน ( รวม ) ๒๐๐ คน ให้ เกณฑ์ทะนายปืนใส่เสื้อหมวก ยืนรักษหาประตู ๒ ข้างถนน
แต่ ประตูทวารเทเวศร์จนถึงประตูสุวรรณบริบาล และยืนตามถนนหน้าศาลาลูกขุนซ้ายขวา เลี้ยวไปตามถนนโรงปืนนางตานี ไปตามถนน
จนประตูวิเศษชัยศรี และเกณฑ์นั่งกลาบาตที่สนามมวย ๔ กอง ๆ ละ ๒๐๐ คน เกณฑ์ขุนนางจีนญวนแขกฝรั่ง
นั่งตรงประตูกำแพง แก้ว ที่เสด็จออกหน้าโรงอาลักษณ์ ...

๒.๒...ตำรวจเลว ตำรวจในซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ ( รวม ) ๕๐ ตำรวจใหญ่ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ ตำรวจนอกซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐
( รวม ) ๔๐ สนมทหารซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ สนมกลางซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ ( รวม ) ๒๐ พันทะนายทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐
( รวม )๘๐( รวมทั้งหมด ) ๒๗๐ คน เกณฑ์นั่งริ้วกลาบาต ใส่เสื้อใส่หมวกถือปืนคาบสิลา หมู่ตำรวจในซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐
( รวม ) ๑๒๐...

๒.๓...เมื่อสั่งนั้นต่อหน้า พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาท้ายน้ำ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก ด้วยมีหมายนายจำเนียรมาว่า
พระยาพระคลังรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าองตนวีเสน แขกเมืองปัตุกัน จะได้เข้ากราบถวายบังคมลาณวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ
เพลาเข้า ให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์ขุนหมื่น มานั่งกลาบาต ณ ทิมดาบชั้นใน ตำรวจทิมหนึ่ง ๒๐ ชาววังทิมหนึ่ง ๒๐
( รวม ) ๔๐ ทิมดาบชั้นนอก ตำรวจ ๒ ทิมละ ๓๐ ( เป็น ) ๖๐ ชาววัง ๒ ทิมละ ๓๐ ( เป็น ) ๖๐ ( รวม ) ๑๒๐ และให้เกณฑ์
คือสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ ๘ ทะนายใส่เสื้อแดง เสื้อดำ หมวก ยืนประตูราบ ๒ ข้างถนน แต่ประตูวิเศษชัยศรี
จนถึงประตูทิมดาบชาววัง และเกณฑ์นั่งกลาบาต ที่สนามมวย ๔ กอง ๆ ละ ๕๐๐ เป็นคน ๒๐๐๐ ปี่กลองชะนะ ๑๐๐

(ขอยกตัวอย่างเท่านี้)

จากคำอธิบายความหมายที่ราชบัณฑิตให้มานั้น  เมื่อมาใช้แปลในข้อความที่ยกมาแล้ว
ฟังดูพิกล   จึงใคร่ขอความรู้และความคิดเห็นจากท่านที่ผ่านไปมาว่า

นั่งกลาบาต  แท้จริง น่าจะมีความหมายอย่างไร  มีลักษณะอย่างไร  และมาจากภาษาอะไร
(ถ้าใครมีภาพลักษณะการนั่งกลาบาตมาประกอบด้วยจะดียิ่ง)
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 ธ.ค. 10, 18:53

ผมคิดว่าน่าจะหมายถึงการนั่งเฝ้ายาม คุ้มครอง อารักขา รักษาความสงบกระมังครับ

เพราะหลายๆ แห่งที่ใช้คำว่ากลาบาตนั้น รู้สึกว่าจะต้องเป็นพระราชพิธี หรือการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยๆ
อาจจะคล้ายๆ คำว่า "นั่งกองจุกช่องล้อมวง" ก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 08:49

คงจะใช่ แต่...

"...เกณฑ์นั่งกลาบาตที่สนามมวย ๔ กอง ๆ ละ ๒๐๐ คน..."
"...เกณฑ์นั่งกลาบาต ที่สนามมวย ๔ กอง ๆ ละ ๕๐๐ เป็นคน ๒๐๐๐ ..."

สนามมวยในพระบรมมหาราชวัง ก็คือ บริเวณศาลาว่าการพระราชวัง
ต่อเนื่องมาถึงสนามหญ้าหน้าศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน
ถ้านั่งกลาบาต คือ การนั่งเฝ้ายาม คุ้มครอง อารักขา รักษาความสงบ
อย่าง "นั่งกองจุกช่องล้อมวง" แล้ว ทำไมถึงได้เกณฑ์กันเป็นร้อยเป็นพัน
ทั้งที่สถานที่ที่เกณฑ์นั่งกลาบาตนั้น ก็เป็นที่ในเขตพระราชฐาน
ความปลอดภัยก็น่าจะมีมากกว่าที่อื่นนอกพระบรมมหาราชวัง
อีกทั้งก็เป็นราชการเวลากลางวัน ไม่ใช่กลางคืน  และพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เสด็จฯ ออกไปที่ใด

ผมคิดว่า  นั่งกลาบาต  อาจจะเป็นอย่างที่เราเรียกกันสมัยปัจจุบันว่า กองทหารเกียรติยศ ได้หรือไม่ ฮืม
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 09:12

ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรือกลาบาต เช่นกัน

ฝ่ายทหารเกณฑ์เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด กลองชะนะลงไปรับพระราชศาสน์ณกำปั่นวิลันดามาขึ้นประตูท่าช้าง แล้วให้พนักงาน สี่ตำรวจเชิญพระเฉลี่ยงงา และสับประทนปี่กลองชะนะ และคู่แห่ถือปืนเดินเท้าแห่พระราชศาสน์ และรับแขกเมืองฝารังปัตุกัน มาเข้าประตูทวารเทเวศร์ ตามถนนมาถึงประตูสุวรรณบริบาล แล้วเลี้ยวมาศาลาลูกขุน เข้าประตูวิเศษชัยศรี และเกณฑ์ปี่กลองแตร และนั่งเรือกลาบาตสำหรับเสด็จออกแขกเมืองฝารังปัตุกัน ณวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก

เป็นไปได้ไหมว่าเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า Guard  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 09:21


ใจตรงกับคุณไซมีสค่ะ

กำลังอ่าน ประชุมพงศาวดาร ภาค ๖๒ อยู่พอดี



รับแขกเมืองฝารังปัตุกัน มาเข้าประตูทวารเทเวศร์ ตามถนนมาถึงประตูสุวรรณบริบาล แล้วเลี้ยวมาศาลาลูกขุน เข้าประตูวิเศษชัยศรี และเกณฑ์ปี่กลองแตร และนั่งเรือกลาบาตสำหรับเสด็จออกแขกเมืองฝารังปัตุกัน ณวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก เป็นคน ๑๓๕๓ ในนี้ ( คือ ) รับพระราชศาสน์มาทางเรือ เรือพระที่นั่งสักหลาด ตำรวจใหญ่ขวา พลพาย ๔๕ ปี่กลองชะนะ ๒ คู่ ( รวม ) ๔๙ คน แห่พระราชศาสน์มาทางบก สี่ตำรวจหามพระเฉลี่ยง ๘ สับประทนคัน ๑ ปี่กลอง ปี่คน ๑ กลองชะนะ ๕ คู่ ๑๐ ( รวม) ๑๑ แตรงอน ๒ คู่ ( เป็น ) ๔ ถือปืนแห่หน้าทะนายเลือกแสงปืน ๓๐ คู่ ( เป็น ) ๖๐ ( รวม ) ๘๔ คน ยืน ๒ ข้างประตูทวารเวศร์ ๕๐ ยืน ๒ ข้างประตูวิเศษชัยศรี ๕๐ ( รวม ) ๑๐๐ ยืน ๒ ริมถนน ๒๐๐ นั่งริ้วกลาบาต กองหนึ่ง ๒๐๐ กองหนึ่ง ๒๐๐ กองหนึ่ง ๒๐๐ กองหนึ่ง ๒๐๐ ( รวม ) ๘๐๐ ปี่กลอง ๕๐ คู่ จ่าปี่ ๒ จ่ากลอง ๒

๖ กลองชะนะ ๑๐๐ ( รวม ) ๑๐๔ แตรรับแตรส่งเสด็จ แตรฝรั่ง ๔ คู่ ( เป็น ) ๘ แตรงอน ๔ คู่ ( เป็น ) ๘ ( รวม ) ๑๖ ( รวมทั้งสิ้น ) ๑๒๒๐ คน สิริ ( เป็นคน ) ๑๓๕๓ คน คิดเลขฝ่ายทหารพันทะนายและไพร่มิพอ ขอเลขไพร่หลวง เลขฝ่ายพลเรือน คนกรมพระราชวังบวร เกณฑ์รักษาประตูทวารเทเวศร์ ใส่เสื้อหมวกถือปืนคาบสิลา พันทะนายตำรวจในซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ ประตูใน ๕๐ คน ยืนประตูวิเศษชัยศรีใส่เสื้อใส่หมวกถือปืนคาบสิลาพันทะนาย ตำรวจใหญ่ซ้าย ๑๕ ขวา ๑๕ ( รวม )๓๐ ตำรวจนอกซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ ( รวม ) ๒๐( รวมทั้งหมด ) ๕๐ คน ยืน ๒ ริมถนน แต่ประตูทวารเทเวศร์ ตามถนนเลี้ยวริมถนนหลังศาลาลูกขุนถึงประตูวิเศษชัยศรี ตำร วจเลว ตำรวจในซ้าย ๒๕ ขวา ๒๕ ( รวม ) ๕๐ ตำรวจใหญ่ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ ตำรวจนอกซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ สนมทหารซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ สนมกลางซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ ( รวม ) ๒๐ พันทะนายทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ ( รวม )๘๐( รวมทั้งหมด ) ๒๗๐ คน เกณฑ์นั่งริ้วกลาบาต ใส่เสื้อใส่หมวกถือปืนคาบสิลา หมู่ตำรวจในซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ ( รวม ) ๑๒๐ หมู่ตำรวจใหญ่ซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ ( รวม ) ๑๒๐ หมู่ตำรวจนอกซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ ( รวม ) ๘๐ หมู่สนมทหารซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ ( รวม ) ๘๐ หมู่สนมกลางซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ หมู่ทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ ( รวม ) ๘๐ หมู่อาษาเดโช ๔๐ อาษาท้ายน้ำ ๔๐ ( รวม ) ๘๐ หมู่เขนทองซ้าย ๔๐

๗ ขวา ๔๐ ( รวม ) ๘๐ หมู่อาษาซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ ( รวม ) ๘๐ หมู่รักษาองค์ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ ( รวม ) ๔๐ ( รวม ) ๘๐๐ คน ปี่กลองชะนะแตร แตรงอน ๔ คู่ ( เป็น ) ๘ แตรวิลันดา ๔ คู่ ( เป็น ) ๘ ( รวม ) ๑๖ กลองชะนะ จ่าปี่คู่หนึ่ง (เป็น ) ๒ จ่ากลองคู่หนึ่ง(เป็น ) ๒ กลองชะนะ ๑๐๐ ( รวม ) ๑๐๔ ( รวมแตรและกลอง ) ๑๒๐ คน ตั้งอยู่พระที่นั่งเย็น ออกมาหว่างโรงช้างพระมหาปราสาท (๑) วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก พระยาธรรมานั่งที่โรงปืนนางตานี ได้เรียนว่า คนซึ่งรักษาประตูยืน ๒ ข้าง ริมถนน และนั่งริ้วกลาบาต และคนปี่กลองชะนะนั้น จะให้ใส่เสื้อ ใส่หมวกด้วยหรือประการใด พระยาธรรมาสั่งว่า คนซึ่งเกณฑ์รักษาประตูยืนตามถนนนั่งริ้วกลาบาต ใส่เสื้อใส่หมวก ถือปืนคาบสิลา และคนตีกลองชะนะ ใส่เสื้อใส่หมวกจงทุกคน เมื่อสั่งนั้นต่อหน้า พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาท้ายน้ำ วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก ด้วยมีหมายนายจำเนียรมาว่า พระยาพระคลังรับสั่งใส่เกล้า ฯ สั่งว่าองตนวีเสน แขกเมืองปัตุกัน จะได้เข้ากราบถวายบังคมลาณวันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเข้า ให้มหาดไทย กลาโหม เกณฑ์ขุนหมื่น มานั่งกลาบาตณทิมดาบชั้นใน ตำรวจทิมหนึ่ง ๒๐ ชาววังทิมหนึ่ง ๒๐ ( รวม ) ๔๐ ทิมดาบชั้นนอก ตำรวจ ๒ ทิมละ ๓๐ ( เป็น ) ๖๐ ชาววัง ๒ ทิมละ ๓๐ ( เป็น ) ๖๐ ( รวม ) ๑๒๐ และให้เกณฑ์

(๑) คือสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ ๘ ทะนายใส่เสื้อแดง เสื้อดำ หมวก ยืนประตูราบ ๒ ข้างถนน แต่ประตูวิเศษชัยศรีจนถึงประตูทิมดาบชาววัง และเกณฑ์นั่งกลาบาต ที่สนามมวย ๔ กอง ๆ ละ ๕๐๐ เป็นคน ๒๐๐๐

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 09:39

เรื่องในพงศาวดารของคุณวันดี คงเป็นเนื้อความจาก หมายรับสั่งว่าด้วยรับแขกเมืองโปตุเกศ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙

เกณฑ์นั่งริ้วกลาบาต ใส่เสื้อใส่หมวกถือปืนคาบสิลาหมู่ตำรวจในซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ (รวม) ๑๒๐ หมู่ตำรวจใหญ่ซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ (รวม) ๑๒๐ หมู่ตำรวจนอกซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่สนมทหารซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่สนมกลางซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ (รวม) ๔๐ ห มู่ทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่อาษาเดโช ๔๐ อาษาท้ายน้ำ ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่เขนทองซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่อาษา ซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่รักษาองค์ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ (รวม) ๔๐ (รวม) ๘๐๐ คน ปี่กลองชะนะ แตร แตรงอน ๔ คู่ (เป็น) ๘ คู่หนึ่ง (เป็น) ๒ จ่ากลองคู่หนึ่ง (เป็น) ๒ กลองชะนะ ๑๐๐ (รวม) ๑๐๔ (รวมแตรและกลอง) ๑๒๐ คนตั้งอยู่พระที่นั่งเย็น ออกมาหว่างโรงช้างพระมหาปราสาท


สมัยนี้น่าจะเป็นลักษณะเดียวกับ ทหารรักษาพระองค์ ในงานพระราชพิธีก็แต่งตัวสวยงามเป็นกองเกียรติยศด้วยอย่างที่คุณหลวงให้ความเห็น



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 09:57

ความเห็นของคุณ siamese ที่ว่า "เป็นไปได้ไหมว่าเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า Guard"

แต่ว่า  คำว่า กลาบาต (อาจจะเขียนอย่างอีก เช่น กระลาบาต  กะลาบาต เป็นต้น)
ปรากฏมีใช้ในเอกสารมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว   ข้อที่ว่าน่าจะเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า Guard นั้น
ถ้าว่าเพิ่งปรากฏคำคำนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ ๔-๕ อาจจะพอสันนิษฐานเช่นนั้นได้ครับ
นี่แสดงว่า  การนั่งกลาบาตเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีในสยามมานานแล้ว
(ส่วนประเด็นว่าจะเอาอย่างเขมร มอญ ลาว หรือพม่ามาอีกทีนั้นเป็นอีกประเด็นที่ต้องค้นต่อไป)

ทีนี้ ผมมีเอกสารอีกชิ้นมาให้พิจารณากัน

หมายรับสั่ง เรื่อง เกณฑ์แผงกลาบาตในการต้อนรับแขกเมืองมะริกัน
(จากประชุมหมายรับสั่งภาค ๔ ตอนที่ ๑ รัชกาลที่ ๓)

วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีวอกอัฐศก  ด้วยพระยาพิพัฒนโกษา รับพระราชโองการใส่เกล้าฯ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า   เจ้าเมืองมะริกันแต่งให้แอศแมนรอเบ็ดกับฝรั่งมีชื่อเข้ามาเฝ้าทูลฯ
จะได้ตั้งริ้วกลาบาตให้เกณฑ์ทำแผงราชวัติสูง ๑ ศอก ๖ นิ้ว  ยาว ๖ ศอก มีเม็ดสำหรับเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้น
แลให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้เร่งทำแผงกลาบาตทาแดงให้งามดี  กำหนดจะตั้งวันใด  จะหมายบอกมาครั้งหลัง  ตามรับสั่ง

เกณฑ์  ตำรวจในซ้าย ๑๒ (คน) ขวา ๑๒ (คน) (รวม) ๒๔ คน ตำรวจใหญ่ซ้าย ๑๒ (คน) ขวา ๑๒ (คน)
(รวม) ๒๔ คน  ตำรวจนอกซ้าย ๑๒ (คน) ขวา ๑๒ (คน) (รวม) ๒๔ (คน)  สนมทหารซ้าย ๑๒ (คน)
ขวา ๑๒ (คน) (รวม) ๒๔ (คน)  ทหารในซ้าย ๒๐ (คน) ขวา ๒๐ (คน) (รวม) ๔๐ (คน) บ้านใหม่ ๑๔ (คน)
โพเรียง ๑๔ (คน) เกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ซ้าย ๖ (คน) ขวา ๖ (คน) (รวม) ๑๒ (คน) สนมกลาง ซ้าย ๖ (คน)
ขวา ๖ (คน) (รวม) ๑๒ (คน)  อาสาเดโช ๖ (คน) อาสาท้ายน้ำ ๖ (คน) อาสาซ้าย ๖ (คน) ขวา ๖ (คน)
(รวม) ๑๒  คน  เขนทองซ้าย  ๖ (คน) ขวา ๖ (คน) ขวา ๑๐ (คน) (รวม) ๑๘ (คน)  อาสาญี่ปุ่นซ้าย ๘ (คน)
ขวา ๑๐ (คน) (รวม) ๑๘ (คน) อาสาใหม่ ซ้าย  ๖ (คน) ขวา ๖ (คน) (รวม) ๑๒ (คน) ทำลุซ้าย ๖ (คน)
ขวา ๖ (คน) (รวม) ๑๒ (คน) วิเสทซ้าย ๑๒ (คน) ขวา ๑๒ (คน) (รวม) ๒๔ (คน) เกณฑ์หัดแสงปืน ๑๖ (คน)
กองกลางซ้าย ๑๒ (คน) ขวา ๑๒ (คน) (รวม) ๒๔ (คน) ล้อมวัง ๒๐ (คน)

คัดลอกตามฉบับ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 10:04

เรื่องในพงศาวดารของคุณวันดี คงเป็นเนื้อความจาก หมายรับสั่งว่าด้วยรับแขกเมืองโปตุเกศ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๒๙

เกณฑ์นั่งริ้วกลาบาต ใส่เสื้อใส่หมวกถือปืนคาบสิลาหมู่ตำรวจในซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ (รวม) ๑๒๐ หมู่ตำรวจใหญ่ซ้าย ๖๐ ขวา ๖๐ (รวม) ๑๒๐ หมู่ตำรวจนอกซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่สนมทหารซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่สนมกลางซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ (รวม) ๔๐ ห มู่ทหารในซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่อาษาเดโช ๔๐ อาษาท้ายน้ำ ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่เขนทองซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่อาษา ซ้าย ๔๐ ขวา ๔๐ (รวม) ๘๐ หมู่รักษาองค์ซ้าย ๒๐ ขวา ๒๐ (รวม) ๔๐ (รวม) ๘๐๐ คน ปี่กลองชะนะ แตร แตรงอน ๔ คู่ (เป็น) ๘ คู่หนึ่ง (เป็น) ๒ จ่ากลองคู่หนึ่ง (เป็น) ๒ กลองชะนะ ๑๐๐ (รวม) ๑๐๔ (รวมแตรและกลอง) ๑๒๐ คนตั้งอยู่พระที่นั่งเย็น ออกมาหว่างโรงช้างพระมหาปราสาท


สมัยนี้น่าจะเป็นลักษณะเดียวกับ ทหารรักษาพระองค์ ในงานพระราชพิธีก็แต่งตัวสวยงามเป็นกองเกียรติยศด้วยอย่างที่คุณหลวงให้ความเห็น



 ยิงฟันยิ้ม

ขอบคุณคุณเพ็ญฯ แต่ทหารรักษาพระองค์ยืนปฏิบัติหน้าที่ 
แต่กลาบาตที่กำลังหา นั่งปฏิบัติหน้าที่ครับ ถึงลงเรือ  ก็น่าจะนั่งเหมือนกัน
ส่วนจะเข้าแถวตอนแถวหน้ากระดานอย่างนี้หรือไม่ 
คิดว่าสมัยก่อนยังไม่ใช่อย่างที่เห็นปัจจุบัน  แต่เป็นอย่างไรก็ยังคิดไม่ออก
ภาพจิตรกรรมเก่าๆ จะมีบ้างหรือไม่ก็ไม่ทราบ อย่างภาพกระบวนพยุหยาตราเป็นต้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 11:08

เสฐียรโกเศศ อธิบายความหมายของคำว่า กลาบาต และ นั่งกลาบาตไว้ดังนี้

กลาบาต หมายถึงการอยู่ยามตามไฟ โดยคาดว่าน่าจะมาจากคำว่า อุกลาบาต ที่หมายถึงลูกไฟ โดยความหมายนั้นมักแปลไปในทางที่ไม่ดี เพราะเมื่ออุกลาบาตตกไปยังบ้านใครบ้านนั้นก็จะเกิดไฟไหม้

นั่งกลาบาต  ในอดีตใช้เป็นเครื่องหมายในการรับรองแขก 


 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 11:34

กองกลาบาตเกียรติยศสมัยก่อน (ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป) นั่งปฏิบัติหน้าที่

แต่ในรัชกาลที่ ๕ คงยืนได้แล้ว


ขออนุญาตเล่าต่อในเรื่องกระบวนแห่ฝ่ายหน้าที่เห็นว่าเป็นความที่หาอ่านได้ยาก
(ราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๓๖๙  วันอาทิตย เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ  ปีขาน สัมฤทธิศก ๑๒๔๐  แผ่นที่ ๔๗  หน้า ๓๗๕)

โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา  กรมพระบำราบปรปักษ์  พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ  ทรงกะเกณฑ์แลจัดกระบวนคู่แห่หน้าหลังแลยืนกลาบาตประจำริ้ว

ฝ่ายหน้าทั้งสิ้นได้ทรงจัดกระบวน  มีทหารญี่ปุ่น ๙   ทหารอย่างฝรั่งเศส ๒๕  ทหารแตร ๓๐  ทหารนา ๒๐๐  รวม ๒๖๔ คน  กระบวนหน้าตั้งริ้วนอกประตูราชสำราญ

กระบวนหน้า ๑๘๐ คนตั้งริ้วพระราชวังข้างใน(ขอข้ามรายละเอียด/วันดี)

คู่แห่บุตรข้าราชการ   จีนแต่งตัวอย่างจีน ๒๐   อาสาจามแต่งตัวอย่างมาลายู ๒๐  กรมท่าขวาแต่งตัวอย่างแขกเทศ ๒๐  บุตรข้าราชการศีรษะจุก ๘๐  รวม ๑๔๐  กระบวนนำตั้งริ้วในพระราชวังข้างใน

ต้นเชือกเด็กศีรษะจุก  หลวงรัตนา ๑  หลวงมหามณเฑียร ๑    รวม ๒ คน

ปลายเชือกเด็กศีรษะจุก  หลวงวิเชียรไพชยนต์ ๑   หลวงสกลพิมาน ๑  รวม ๒ คน

กระบวนแตรงอน  ๑๐  สารวัตร ๑  รวม ๑๑
ขุนหมื่นเชิญเครื่องสูง  รวม ๒๒ สารวัตร ๒  รวม ๒๔
มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่อง ๑๐

ขออนุญาตข้าม เจ็ดบรรทัด/วันดี

ขุนหมื่นหามพระราชยานกง ๑๖ สารวัตรกำกับพระราชยาน ๑  รวม ๑๗

คู่เคียง ๑๒ คน(ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสิ้น)
กระบวนทหารเดินต่อท้ายข้าหลวง รวม ๒๘๒


กรมอาสาญี่ปุ่น  แต่งตัวอย่างจีนถือขวานจีน  ๖๐
กรมอาสาจาม  แต่งอย่างมาลายูถือหอกคู่  ๖๐
กรมอาสาใหม่ กรมท่าแต่งตัวอย่างแขกเทศถือเสโลเขนหนังดิบ ๖๐
กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งสรวมเสื้อเสนากุฏถือพร้าประกัก(รักษาตัวสะกดเดิม) ๖๐  รวม ๒๔๐

กระบวนแต่งตัวถืออาวุธยืนกลาบาตรายทาง .................


(อ้างอิง พจนานุกรมมติชน ๒๕๔๗)
เสื้อเสนากุฏ เสื้อทหารสมัยโบราณ  พิมพ์เป็นลายสีรูปสิงห์ขบสำหรับแต่งเข้ากระบวนแห่ของหลวง
เสโล  เครื่องกันอาวุธ โล่ เช่นถือเสโลโล่ดั้งหอกดาบ  โตมรกำซาบปืนผา(รามเกียรติ์ ร.๒)
เขน  เครื่องป้องกันอาวุธรูปกลมนูนคล้ายกระดองเต่า ทำด้วยโลหะ หนัง หรือหวายถัก  ด้านหลังมีห่วงสำหรับคล้องแขนและมือจับ
พร้า   มีดขนาดใหญ่  เครื่องมือตัดฟัน  มีหลายชนิดเช่นพร้อขอ  พร้ากลาย
       
(อ้างอิง อักขราภิทานศรับท์  บลัดเล ๒๔๑๖ ฉบับอาจารย์แม้นมาศ ชวลิตพิมพ์ถอดแบบ ๒๕๑๔   หน้า ๔๗๑)
พร้า  มีด  คือเครื่องเหล็กใช้สำหรับสับฟันเป็นต้น  มีด้ามทำด้วยไม้  มีคมข้างเดียว  เช่นพร้าโต้คือพร้าหน้าไก่  พร้ากราย  พร้าหวด  หร้าหัวเสียม)

คำถาม
๑. พร้าประกัก  คือ พร้าปะตัก  เป็นไปได้หรือไม่
๒. อาสาจามถือหอกคู่  อาจจะเป็นหอกสั้นได้หรือไม่



 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 13:36

บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ

ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๔

...ท่านใฝ่ฝันในคำ ราชวัด นั้นดีแล้ว   เปนธรรมดาที่มีคำใดมาทำให้แปลกใจ  ก็จะต้องคิด
ท่านคิดถึงการพิธีนั้นดีมาก  ไม่ว่าพิธีอะไรก็ย่อมมีราชวัดล้อมทั้งนั้น  ราชวัดถือเดินไปก็มี
เช่น ราชวัดล้อมพระยาช้างเผือกซึ่งเขียนไว้ที่วัดยม  แต่สิ่งเหล่านี้เปนของที่ทำจับโน่นชนนี่กันมานานแล้ว
จะจัดเอาอะไรว่าเปนเที่ยงเปนแท้เหนจะยาก  ราชวัดรั้วไก่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มี
เหนจะแต่งทางสำหรับเสด็จเลียบพระนคร  หลังราชวัดใหญ่ (คือภายนอก) มีราชวัดเตี้ยๆ ล้อม
เรียกกันว่า ราชวัดรั้วไก่  ฉันคิดว่าเปนรั้วข่าย  แต่ประณีตไป รั้วก่าย ดีกว่า  เดิมคงเอาไม้มาก่าย
กันเปนคอก   ในนั้นมีคนแต่งตัวสรวมเสื้อเสนากุฎถืออาวุธต่างๆ นั่งอยู่เปนกลุ่ม  เรียกกันว่า
กองกะละบาด  หมายความว่าอะไร  เขียนอย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ  แต่ไม่เปนอย่างอื่นไปได้
นอกจากเอาทหารมาตั้งข้างทางเพื่อรักษาพระเจ้าแผ่นดินอันจะเสด็จผ่านไปตามทาง   การปักต้นกล้วย
ต้นอ้อย ได้เคยเหนพรรณนาโดยพิศดารในหนังสืออะไร  จะบอกก็ตกเพราะจำไม่ได้  แต่ไม่ประหลาดอะไร
เปนเรื่องกินเท่านั้น  แต่มานึกดูเดี๋ยวนี้เหนประกอบทั้งความงามด้วย  เพราะเหตุฉะนั้นต้นกล้วย
ควรจะเปนต้นกล้วยใหญ่ซึ่งมีเครือติด  ไม่ใช่ต้นกล้วยอ่อนเอาแต่ชื่ออย่างทุกวันนี้...



หนังสือพระยาอนุมานราชธนถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ   ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๘๔

...กะละบาด  ในปทานุกรมเขียนเป็น กระลาบาต  ที่เขียนไว้เช่นนี้   เป็นเขียนตามที่มีอยู่
ในหนังสือไทยลางเล่มเท่านั้น  และได้อธิบายไว้ว่า  พวกเข้านั่งพิธีนั่งยามตามไฟ  คือ
นั่งเรียงแถวอย่างหน้าจั่ว  เช่นแถวหน้า ๘ คน แถวหลัง ๘-๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑  คน
 
คำอธิบายนี้ได้มาจากที่พระสารศาสตร์พลขันธ์ (เยรินี) อธิบายไว้ในหนังสือ จุฬากันตมงคล
แต่ข้าพระพุทธเจ้า เคยพบคำที่พระสารศาสตร์ฯ อธิบายผิดไว้ในหนังสือเล่มนั้นก็มี  
คำว่า กระลาบาต  กรรมการชำระปทานุกรมหาอธิบายจากอื่นไม่ได้  
จึงได้อาศัยคำอธิบายของแกไปพลางก่อน...

(ยังมีอีก)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 14:11

ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ประทานแก่พระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๔

...คำ กะละบาด หรือ กระลาบาต  เขียนอย่างไรแน่ต้องตราไว้ที  เพราะเรายังไม่รู้ว่า
เขาหมายความว่าอะไร  ท่านพูดถึงพระสารศาสตรพลขันธ์ (เยรินี) ฉันก็รู้สึกในใจว่า
ใครจะเขียนหนังสือว่าอะไร  ก็เขียนไปตามความคิดที่ตัวคิดเหน  จะถูกก็ได้ผิดก็ได้   
ฉันเคยบอกแก่นักเรียนมาแล้ว  ซึ่งเขาอ้างถึงพจนานุกรมฉะบับนั้นฉะบับนี้  ว่าพจนานุกรมก็คนทำ
ตั้งใจหมายความว่าอาจผิดไปก็ได้  แต่ไม่ได้พูด...


หนังสือพระยาอนุมานราชธนถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ   ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๔

...คำว่า กระลาบาต  ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามสวามีสัตยนันทปุรี  ได้รับคำชี้แจงว่า
เพี้ยนไปจากคำ  กลาปัตร  แปลว่า ใบตอง  กลา เป็นภาษาเบงคาลี  แปลว่า กล้วย
ถ้ามีงานใหญ่มีคนไปประชุมกันมาก  จัดหาเสื่อสาดอาศนหรือที่นั่งให้ได้ไม่เพียงพอ
ก็ใช้ใบตองตัดเป็นชิ้นๆ ให้รองนั่ง   คิดด้วยเกล้าฯ ว่า  อธิบายนี้ฟังขึ้น   
ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในหมายรับสั่ง  เรื่องจัดรับรองฝรั่งแขกเมือง 
ว่าจัดให้มี คนนั่งกลาบาต  สองข้างทางที่แขกเมืองจะผ่านเข้ามา
นี่ก็คงจะจัดผู้คนมานั่งสองฟากทางให้ดูแน่นครึกครื้น   ส่วนใบตองรองนั่ง
อาจไม่มีก็ได้  ข้อที่ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยอยู่ก็ที่  กลาปัตร  เป็นของชาวเบงคาลี
เหตุไฉนไทยจึงได้ธรรมเนียมนี้เข้ามา   ลางทีจะเป็นเพราะแขกเมืองชาวอังกฤษ
ที่เข้ามาติดต่อกับประเทศไทย   แต่ก่อนเป้นฝรั่งซึ่งมาจากเบงคอล 
ซึ่งเป็นแคว้นของชาวเบงคาลีมาก่อน  ในมหาวงศ์เรียกแคว้นเบงคอลว่า พังคะจ 
นี้มาเป็นคำว่า ฝรั่งมังค่า  เพราะฉะนั้นการรับแขกเมืองด้วยมีคนนั่งมากๆ ที่เรียกว่า
นั่งกลาปัตร  อาจจะติดเข้ามาด้วย  หรือไม่เช่นนั้น  ไทยจะได้แบบอย่างจากมอญ
และพม่าซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทยฝ่ายหนึ่ง  และแคว้นเบงคอลอีกฝ่ายหนึ่ง
ข้พระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องรามเกียรติ์ ภาษเบงคาลี  ซึ่งเขาย่อเป็นภาษอังกฤษไว้
พบเรื่องนางยักษ์ซื่อนางศานตี ปลอมเป็นสาวใช้เข้ามาล่อลวงให้นางสีดาวาดรูปทศกรรฐ์
ไว้บนพัด  เรื่องตอนนี้คล้ายกับเรื่องตอนหนึ่งในรามเกียรติ์ ในรามายณ ของวาลมีกิ
และรามายณชวาฉะบับหนึ่ง  พระรามของเบงคาลีมีหน้าเขียวตรงกับของไทย
ส่วนพระรามอื่นๆ  ไม่ปรากฏว่าเป็นหน้าเขียว   ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดด้วยเกล้าฯ
ว่าเรื่องของชาวเบงคาลี  อย่างที่เรียกว่าวัฒนธรรมอยู่ในเวลานี้  คงจะผ่านเข้ามาในไทย
ทางใดทางหนึ่ง  พิธีกลาปัตรจึงได้ติดเข้ามาอยุ่คราวหนึ่ง 
แล้วก็ศูนย์ไปเพราะความเจริญที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่...

(ยังมีต่อ)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 17:02

คำว่า กลา ใน กลาบาต กับ กลาโหม อาจจะมีที่มาเดียวกัน ?

กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้วินิจฉัยคำว่า กระลาโหม ไว้ใน วารสารสยามสมาคม เล่มที่ ๓๑ ตอนที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๒  และภายหลังเก็บความเป็นภาษาไทย ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาฉบับคืนชีพ เล่มที่ ๑๗ ตอน ๑ สิงหาคม ๒๔๙๓ อีกครั้งหนึ่ง ในชื่อเรื่อง คำว่า กระลาโหม ทรงประทานความเห็นว่า กระลาโหม เป็นศัพท์ที่มาจากเขมร เขมรโบราณควงศัพท์นี้ขึ้นมาจากคำเขมรโบราณผนวกกับคำสันสกฤต กระลา เป็นคำเขมรว่า กฺรฬา แปลว่า สังเวียน โหม เป็นภาษาสันสกฤตหมายถึงพิธีบูชาไฟ ดังนี้น กฺรฬาโหม คือ สังเวียนแห่งการบูชาไฟ หรือ ยัญกรรม อันเป็นพิธีทำกันในสมัยโบราณก่อนยกทัพ และตำแหน่งสมุหกระลาโหมของไทยก็คือ ผู้ว่าการหรือผู้อำนวยการแห่งสังเวียนพิธีนั้น

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ศัพท์คำว่า "กระลา" นั้นเป็นที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัย มีปรากฏในจารึกวัดป่าแดงว่า

"เมื่อศักราชได้ ๗๖๘ จอนักษัตร เดือนอ้าย แรมสิบค่ำ วันอาทิตย์ ตราพระราชโอมการเสด็จพระมหาธรรมราชาธิราชในพระพิหารสีมา กระลาอุโบสถ อันมีในทะเลฉางนั้น..."

"มหาเถรธรรมกิตติเถรกับภิกษุบรรทัดทั้งหลาย ชุมกันใน กระลาอุโบสถ อันอยู่ในทะเลฉาง...."

กระลาอุโบสถ ก็คือ สังเวียนแห่งอุโบสถ เป็นสำนวนอย่าง กระลาโหม นั่นเอง


กลาบาต  อาจเป็น กระลาบาต - สังเวียนแห่ง "บาต"

แต่ "บาต" จะมาจากคำว่าอะไร และมีหมายความอย่างไรแน่

ยังไม่อาจคาดเอา

 ฮืม

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 ธ.ค. 10, 17:45

ถ้า "บาต" จะใช้ในความหมายอย่าง "สันนิบาต" ไหม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 24 ธ.ค. 10, 08:06

คำว่า บาต

หากมาจากบาลี คือ ปาต = ตก หรือ ตกไป เช่น อุกกาบาต -คบเพลิงที่ตก, บิณฑบาต-ก้อนข้าวที่ตก

สันนิบาตมาจากสันสกฤต คือ สํ = ร่วม + นิปาต = ตกลง รวมความได้ว่า ตกลงร่วมกัน = การประชุม

บาต มาจาก สันนิบาต น่าจะตกไป

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 20 คำสั่ง