ทีนี้ลองมาหาความหมายของคำว่า บาต
มีอยู่คำหนึ่งที่น่าสนใจ
ยกกระบัตร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้ว่า ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี; ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับ พนักงานอัยการ หรือ อัยการ ในปัจจุบัน, ยกบัตร หรือ พนักงานรักษาพระอัยการ ก็เรียก; เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร; เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี.
ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช เขียนในเรื่อง
ยุกระบัตร / ยกระบัตร / ยกกระบัตร ไว้ว่า
คำว่า ยุกระบัตร นั้นในพระไอยการอาชญาหลวงเขียนว่า ยุกรบัตร ซึ่งควรถือว่า เป็นคำที่เก่าที่สุดและถูกต้องที่สุด พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทรงสันนิษฐานไว้ทางหนึ่งว่า คำว่า ยุกฺต ใช้เรียกข้าราชการชั้นอาลักษณ์ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญเหมือนตำแหน่งยุกระบัตรของไทย คำว่า ยุกฺต ในภาษาอังกฤษแปลได้หลายความหมาย รวมทั้ง “ถูกต้อง, เหมาะสม, สมควร, อันพิสูจน์แล้ว” (right, fit, proper, proved) ตรงกับคำบาลีว่า ยุตฺต แปลว่า อันควร, สมควร ดังปรากฎความในพระธรรมศาสตร์ว่า “ยุตฺตายุตฺตชานโก” ซึ่งโบราณาจารย์แปลว่า “มีปกติรู้ซึ่งลักษณะอันควรแลมิได้ควร” ข้อความนี้สำคัญเพราะตรงกับหน้าที่หลักของยุกระบัตรในเรื่องของการวินิจฉัยข้อกฎหมายและการตัดสสินความว่า สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร
ส่วนคำว่า บัตร นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “บาตร” แปลว่า “ที่ปรึกษา, อมาตย์ของพระเจ้าแผ่นดิน” (king’s counseller or minister) โดยอนุโลมหมายถึง ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว คำว่า ยุกฺต + บาตร จึงมีนัยได้ทั้งคุณสมบัติและหน้าที่ กล่าวคือ ๑ ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัวผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และ ๒ เป็นข้าราชการผู้พิจารณาว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร
ใน
พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ให้ความหมายของคำว่า บาตร पात्र ว่านอกจากจะหมายถึงบาตรที่พระใช้ใส่อาหารแล้ว ยังหมายถึง deserving person, competent person หรือ capable person อีกด้วย
บาต ใน กลาบาต อาจมีที่มาเดียวกันกับ บัตร ในคำว่า ยกกระบัตร ซึ่งมาจากคำว่า บาตร หมายถึง ข้าราชการ
