เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 13593 อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
mckeyz
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


 เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 12:36

อยากทราบว่าคำว่า บุญมา และคำว่า วิวัศ
มาจากคำว่าอะไร
และเป็นคำมาจากภาษาอะไร
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 13:59

บุญ, บุญ- [บุน, บุนยะ-] น. การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี. ว. ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).

มา ๒ ก. เคลื่อนออกจากที่เข้าหาตัวผู้พูด เช่น มานี่ มาหาฉันหน่อย, ตรงกันข้ามกับ ไป. ว. ใช้ประกอบคํากริยาแสดงอดีต เช่น นานมาแล้ว ดังกล่าวมาแล้ว ไปมาแล้ว หรือ แสดงทิศทางเข้าหาตัวผู้พูด เช่น หันมาทางนี้ เอามานี่ หรือแสดงอาการที่ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เช่น ความเป็นมา อยู่มาวันหนึ่ง ส่งจดหมายบอกข่าวมา.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒


บุญมา จึงน่าจะพอแปลได้ว่า (ขอ)บุญจงมา(ยังเจ้าตัว คือ เจ้าของชื่อ) - บุญ มาจาก บาลี, มา เป็นคำไทย

ส่วนคำว่า วิวัศ ไม่ทราบครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 14:57

วิวัศ ในพจนานุกรมไม่มี

ถ้าถือตามพจนานุกรม มีให้เลือกอยู่ ๒ วิ

วิวัฏ และ วิวัฒน์

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 15:19

คำว่า บุญมา  นั้น  แปลเป็นคำไทยอย่างที่คุณภาณุเมศร์อธิบายก็ได้
หรือจะแปลเป็นความหมายคำภาษาบาลีแท้ๆ ก็แปลได้

คือ  บุญมา  มาจาก  ปุญฺญมา  มาจาก  ปุญฺญมนฺตุ  (สันสกกฤต ว่า ปุณฺยมตฺ)
ปกติคำคำนี้ เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า  คนมีบุญ  หรือผู้มีบุญ 
บางทีก็ใช้ว่า ปุญฺญวนฺตุ  (สันสกฤต  ปุณฺยวตฺ) ก็มีความหมายเหมือนกัน

คำว่า ปุญฺญมนฺตุ เมื่อนำไปแจกวิภัตินามแล้ว  รูปหนึ่ง  คือ ปุญฺญมา 
ใช้เป็นประธานประโยค (ปฐมาวิภัติ) ที่เป็นเอกพจน์ ปุลลิงค์ (เพศชาย) หรือคำร้องเรียก (อาลปนะ)
(เป็นหลักการทางไวยากรณ์ภาษาบาลี)

ส่วนคำว่า  วิวัศ
แยกวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้  วิ+วัศ   
วัศ  มาจาก  วศ  ในภาษาสันสกฤต  แปลว่า  อำนาจ   บาลีใช้ว่า  วส

ส่วน  วิ  เป็นคำอุปสรรค  ที่ใช้เติมหน้าศัพท์ แล้วมีความหมายต่างๆ กันไป
ในภาษาบาลี  ถ้าเอา วิ+วส  เป็น  วิวส  แปลว่า หมดอำนาจ  (เป็นคำคุณศัพท์)
เพราะ วิ ที่เติมหน้าศัพท์ ไปหักหรือเปลี่ยนความหมายของศัพท์ที่ตามมา
รูป วิวัศ  เป็นคำสันสกฤต  น่าจะแปลอย่างเดียวกัน 

เว้นแต่ว่า  คนที่คิดชื่อนี้ขึ้นใช้  คงประกอบศัพท์เอง   โดยมุ่งเอา วิ ไปสนับสนุนความหมายของคำว่า  วศ
ให้แปลออกได้ว่า  มีอำนาจอย่างยิ่ง  (คำนี้ความหมายกลางๆ  ไม่บวก ไม่ลบ) 
แต่ในเมื่อในภาษาบาลีสันสกฤตมีคำนี้อยู่  และมีความหมายชัดแจ้งแล้ว  ก็ไม่ควรไปแปลเอง
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 15:23

คุณหลวง ชี้แจงได้แจ่มชัดมากครับ

 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 15:31

ขออนุญาต จขกท. ออกนอกหัวข้อหน่อยนะครับ

เรียนถามคุณหลวงครับ ว่า
ภาณุมา หรือ ภานุมา มีที่มาจากอะไร
(ถ้าได้ละเอียดแบบ บุญมา จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งเลยครับ)

แล้วตามหลักไวยากรณ์แล้ว สามารถนำ ภาณุมา ไปสมาสกับคำอื่นได้เลยหรือไม่
หรือต้องนำไปแจกวิภัติ ใส่ปัจจัยอะไรก่อน (ผมก็ไม่รู้เรื่องทางไวยากรณ์บาลีนะครับ ถ้าเรียกผิดขออภัย)
 ฮืม ฮืม ฮืม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 15:57

ถ้าว่าตามหลักภาษาบาลี

ภาณุ  ไม่มี   มีแต่ ภานุ  แปลว่า  แสงสว่าง  พระอาทิตย์ ปุลลิงค์)

ผมไม่แน่ใจว่า ภานุ สร้างจากศัพท์ ภา (อิตถีลิงค์) ที่แปลว่า แสงสว่าง  รัศมี  อย่างไร
ขออนุญาตไปค้นดูก่อน   แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างมาจากศัพท์ ภา

ทีนี้ผมไม่แน่ใจว่า  สันสกฤต  ใช้ว่า ภานุ หรือ ภาณุ  หรือใช้ทั้งสองอย่าง
ในภาษาสันสกฤต มีหลักการเปลี่ยน น เป็น ณ  (ขอยกไปอธิบายคราวหน้า)
แต่ทั้งนี้คำว่า ภานุ  ไม่มีเหตุให้เปลี่ยน น เป็น ณ  ตามหลักสันสกฤต  เว้นแต่เป็นคำที่สันสกฤตมีใช้มาแต่เดิม
หรือใช้ได้ทั้ง ๒ คำ

การประกอบศัพท์ ภานุ เป็น ภานุมา  นั้น ก็ใช้หลักการเดียวกับ ปุญฺญมา  ที่ผมได้อธิบายไปแล้ว
แต่เมื่อจะเอาศัพท์ ภานุมนฺตุ  ภานุมตฺ ไปสนธิกับคำอื่น  คงต้องเปลี่ยนเป็น ภานุมา ก่อนแล้วจึงสนธิได้
อันนี้ไม่แน่ใจ  ขอไปทวนตำราดูก่อน  นานๆ ใช้ที  บางทีก็ลืมเหมือนกัน ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 16:07

ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับ

เท่าที่ทราบ (ซึ่งน้อยมาก -ฮา) เห็นสันสกฤต มีแต่ ภานุ ไม่มี ภาณุ

ส่วนบาลี เห็นว่าในประเทศอื่นใช้แต่ ภานุ มีแต่ที่ไทยที่เดียว (หรือที่รับจากไทย) ที่มีใช้ ภาณุ
ในพระบาลีของประเทศอื่น ดูเหมือนจะไม่มีใช้ ณ เลย 
แต่เคยเห็นว่า ในพระบาลีของไทย ใช้ ณ (รู้สึกจะใช้ น ด้วย)

อันนี้ งู ๆ ปลา ๆ นะครับ แหะ ๆ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 10:15

ขออนุญาตมาลุแก่โทษ

ในภาษาบาลีสันสกฤต  มีแต่ ปุญฺญวนฺตุ  และ  ปุณฺยวตฺ เป็น ปูญฺญมนฺตุ และ  ปุณฺยมตฺ  ไม่ได้
เพราะมีหลักเกณฑ์กำหนดว่า   ศัพท์ที่ลงท้ายด้วย อะ อา หรือ พยัญชนะการันต์ 
ให้ลงปัจจัยตัทธิต วนฺตุ (บาลี) และ  วตฺ (สันสกฤต) เช่น  ธนวนฺตุ  ภควนฺตุ  สุภาวตฺ เป็นต้น
หากเป็นศัพท์ที่ลงท้ายด้วยสระอื่นๆ นอกจากข้างต้น  ให้ลงปัจจัยตัทธิต มนฺตุ (บาลี) และ  มตฺ (สันสกฤต)
เช่น  ภานุมนฺตุ  รํสิมนฺตุ  พุทฺธิมตฺ  เป็นต้น

ขออภัยที่แปล บุญมา เป็น ปุญฺญมนฺตุ (ปุญฺญมา) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตามหลักไวยากรณ์บาลีสันสกฤต
แล้วแต่จะปรุงศัพท์เองแปลเองโดยไม่ยึดเอาตามหลักไวยากรณ์

บุญมา  ถ้าจะแปลให้ฟังสละสลวย  ก็น่าจะแปลว่า  ผู้มีบุญมาเกิด


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 10:24

ส่วนที่คุณ ภาณุเมศร์  ถามมานั้น
ได้ตรวจดูแล้ว  ทั้งบาลีและสันสกฤต มีแต่ ภานุ ที่ใช้ น
คำว่า ภาณุ ที่ใช้ ณ ไม่มี  

ภาณุ  คงมีใช้แต่ในภาษาไทย  อาจจะเป็นเพราะเอาไปเทียบกับคำอื่น
ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ มีบางคำที่โบราณก็ใช้ ณ แทน น  เช่น  หนุ เป็น หณุ เป็นต้น แต่มีความหมายเหมือนกันในภาษาไทย

ถามว่า  ภาณุ  จะแปลว่าอะไร  
ในภาษาบาลีสันสกฤต มีธาตุ(รากศัพท์กริยา) ภาณฺ ในความหมายว่า สวด (สวดมนต์)
เอามาสร้างเป็นศัพท์ เป็น ภาณ (การสวด  บทสวด เช่น สวดภาณยักษ์)
ภาณก  (ผู้สวด)  ก็ถ้านัยนี้ ภาณุ  อาจจะแปลว่าผู้สวดได้กระมัง  แต่ศัพท์นี้ไม่มีในบาลีสันสกฤต
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 00:42

ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับ

เท่าที่ทราบ (ซึ่งน้อยมาก -ฮา) เห็นสันสกฤต มีแต่ ภานุ ไม่มี ภาณุ

ส่วนบาลี เห็นว่าในประเทศอื่นใช้แต่ ภานุ มีแต่ที่ไทยที่เดียว (หรือที่รับจากไทย) ที่มีใช้ ภาณุ
ในพระบาลีของประเทศอื่น ดูเหมือนจะไม่มีใช้ ณ เลย  
แต่เคยเห็นว่า ในพระบาลีของไทย ใช้ ณ (รู้สึกจะใช้ น ด้วย)

อันนี้ งู ๆ ปลา ๆ นะครับ แหะ ๆ

แสดงว่าผมทราบมาถูกต้อง เรื่องที่ บาลี และ สันสกฤต ไม่ใช้ "ภาณุ" แต่ใช้ว่า "ภานุ"

แต่ขนาดในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังมีแค่

ภาณุ           น. แสงสว่าง; พระอาทิตย์. (ป.; ส. ภานุ).
ภาณุมาศ      น. พระอาทิตย์. (ป. ภาณุมา; ส. ภานุมนฺตฺ).

โดยไม่มีรูป "ภานุ" เลย (แถมบอกที่มาจากบาลีว่าเป็น "" ด้วย)
 
แต่พจนานุกรมของ อ.เปลื้อง ณ นคร ยังมีรูป "ภานุ" อยู่ (นอกเหนือจากที่มีตรงกับราชบัณฑิต) ได้แก่

ภานุ            (มค. ภานุ) น. แสงสว่าง; พระอาทิตย์.
ภานุมาต        (สก. ภานุมนฺตฺ) น. "ผู้มีแสงสว่าง" คือ พระอาทิตย์, คำนี้นิยมเขียน ภาณุมาศ.



จากการค้นหาคำว่า "ภาณุมา" ด้วยอากู๋ ดังนี้

ในรูปอักษรโรมัน "bhāṇumā" ได้ ๘๐ รายการ
ในรูปอักษรเทวนาครี "भाणुमा" ได้ ๒ รายการ

โดยทั้งหมดนั้น อยู่ในพระไตรปิฎก (ออนไลน์) ทั้งสิ้น

อาจเป็นได้ว่า รับจากพระไตรปิฎกไทยไป  เพราะเคยเห็นในพระไตรปิฎกพม่า ตรงที่ไทยใช้ "ภาณุมา" เขาใช้ "ภานุมา"


ส่วน "ภาณุ" คือ

"bhāṇu" และ "भाणु" ก็มีเหมือนกัน แต่มีทั้งในพระไตรปิฎก และในเว็บทั่วไป จึงไม่ทราบจำนวนแน่นอน (รวมถึงอาจเป็นคนละภาษา คนละคำ หรือคนละความหมาย)



ไม่ทราบเหมือนกันว่า ภานุ มาเพี้ยนเป็น ภาณุ ที่ไทย หรือที่ไหน และช่วงเวลาใด


จาก The Pali Text Society's Pali-English dictionary

Bhānu (adj.) [cp. Vedic bhānu (m.) shine, light, ray; Epic Sk. also "sun"] light, bright red J iii.62 (of the kaṇavera flower); VvA 175 (˚raŋsi).

Bhānumant (adj.) [fr. bhānu, ray of light Vedic bhānu- mant, Ep. of Agni; also Epic Sk. the sun] luminous, brilliant; mostly of the sun; nom. bhānumā S i.196= Th 1, 1252; Vv 6417, 787 (=ādicca VvA 304); J i.183. acc. bhānumaŋ Sn 1016. -- The spelling is sometimes bhāṇumā.

เห็นได้จากหมายสีแดงว่า มีการสะกดเป็น ภาณุมา ด้วย
(nom. bhānumā (ภานุมา ใช้ "น" nom. ย่อจาก nominative ประธานประโยค-ปฐมา) ... The spelling is sometimes bhāṇumā. (ภาณุมา ใช้ "ณ"))



สุดท้ายในภาษาสันสกฤต จาก Monier Williams Sanskrit-English Dictionary (2008 revision)

วฤษภานุ

vṛṣabhānu
m. (also written -bhāṇu or -bhāna)
N. of a Vaiśya (the son of Sūra-bhāna and father of Rādhā) (cf. vārṣabhānavii) Cat.

คงไม่ใช่ความหมายเดียวกับที่เราต้องการ ที่ยกมาเพียงแต่เห็นว่ามีการเปลี่ยน "" กะ "" ตามหมายสีแดง ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้ด้านไวยากรณ์สันสกฤตเลย
    
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 10:55

คุณภาณุเมศร์ค้นมาแสดงละเอียดดีมากครับ

คุณลองดูจากคำว่า ภานุ และ ภาณุ จากวิสามานยนามนะครับ
แล้วคุณก็จะทราบว่า  คนไทยชอบใช้  ภานุ  หรือ  ภาณุ  มากกว่า
เรื่องความหมายคงไม่มีปัญหา เพราะคำบาลีสันสกฤตในภาษาไทย เป็นแบบประยุกต์
ไม่ใช้รับเอามาใช้ตรงๆ 

ผมสังเกตว่า  คนไทยมักเปลี่ยนพยัญชนะวรรค ต ไปใช้พยัญชนะวรรค ฏ ที่ออกเสียงเหมือนกัน (ในภาษาไทย)
ถ้าเป็นชื่อคน  อาจจะมีเหตุผลเพื่อเลี่ยงอักษรกาลกรรณี  หรือเพื่อเพิ่มสิริแก่ชื่อ

และ ภานุมา (ภานุมานฺ หรือ ภานุมตฺ) ในภาษาสันสกฤต  มีความหมายมากกว่าที่คุณยกมามาก



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 11:13

ในหลักไวยากรณ์สันสกฤต (อาจจะรวมถึงบาลีด้วย  เพราะบางทีก็อนุโลมใช้กฎตามไวยากรณ์สันสกฤตก็มี)

มีหลักเกณฑ์การเปลี่ยน  น  เป็น  ณ  ดังนี้

๑. น  ที่ประสมกับสระใดๆ  เปลี่ยนเป็น  ณ  เมื่อ  น  อยู่หลัง  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ  ในคำเดียวกัน
โดยไม่มีพยัญชนะใดๆ  คั่นระหว่าง  น  กับ  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ

๒. น  ที่ประสมกับสระใดๆ  เปลี่ยนเป็น  ณ  เมื่อ  น  อยู่หลัง  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ  ในคำเดียวกัน
โดยมีพยัญชนะวรรค ก  วรรค ป  ย  ร  ล  ว  หรือ  ห  คั่นระหว่าง  น  กับ  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ

ตัวอย่าง 

ปริ + นายก  เป็น  ปริณายก

ปฺร + นิทาน   เป็น   ปฺรณิธาน

อย่าง  วฤษภานุ   ตามหลักนี้ ก็ต้องเป็น  วฤษภาณุ

กรินฺ  แปลว่า ช้างพลาย  ให้สังเกตว่า  นฺ เป็นตัวสะกด  ไม่มีสระ  จึงคงเป็น น
แต่ถ้าเป็น  กริณี  แปล  ช้างพัง  มีสระอีที่ น  ต้องเปลี่ยน  น เป็น ณ

มีตัวอย่างคำอื่นๆ อีก  แต่ตอนนี้นึกไม่ออก

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 11:20

ชื่อคุณภาณุเมศร์  แปลว่า  พระอาทิตย์
ทำให้ผมนึกถึง  พระอาทิตย์ ในสกุลบุนนาคอีกหลายท่าน
ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นพระอาทิตย์กันหลายคน
และรวมไปถึงเจ้านายที่มีพระชนนีเป็นสตรีในสกุลบุนนาค
ก็มีคำว่าดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ด้วย  มีใครบ้าง
เชิญคุณภาณุเมศร์  ค้นมาแสดงดีกว่าครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 11:47

ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับ

เท่าที่ทราบ เมืองไทย นิยมใช้ ภาณุ มากกว่า ภานุ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ไม่ยอมเก็บคำว่า ภานุ ไว้ด้วยซ้ำ)

ทั้งราชทินนาม (เช่น ภาณุวงษ์) พระนาม (เช่น ภาณุรังษี) พระนามกรม (เช่น ภาณุพันธุ)   และนามสกุลพระราชทานใน ร. ๖ ก็ใช้ ณ ทั้งสิ้น ไม่ใช้ น

และจากกูเกิ้ล มี ภาณุ  มากกว่า ภานุ อยู่เกือบ ๒ เท่า (ภาณุ ประมาณ ๑,๒๔๐,๐๐๐  ภานุ ประมาณ ๖๗๗,๐๐๐)


ส่วนความหมาย ในภาษาสันสกฤต ผมลองค้นเพิ่มเติมได้อีกเล็กน้อยครับ (ยกมานิดเดีนว เพราะมีมาก)

ภานุ           1. m. (เพศชาย) appearance , brightness , light or a ray of light , lustre , splendour RV. &c  
             2. the sun MBh. Ka1v. &c  
             3. a king , prince , master , lord L.  
             4. N. of the chapters of the dictionary of an anonymous author Cat.  
                      ฯลฯ             ฯลฯ             ฯลฯ

ภานุมตฺ       mfn. luminous , splendid , beautiful RV. &c   containing the word भानु S3a1n3khS3r.  
                      ฯลฯ             ฯลฯ             ฯลฯ

ชื่อคุณภาณุเมศร์  แปลว่า  พระอาทิตย์
ทำให้ผมนึกถึง  พระอาทิตย์ ในสกุลบุนนาคอีกหลายท่าน
ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นพระอาทิตย์กันหลายคน
และรวมไปถึงเจ้านายที่มีพระชนนีเป็นสตรีในสกุลบุนนาค
ก็มีคำว่าดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ด้วย  มีใครบ้าง
เชิญคุณภาณุเมศร์  ค้นมาแสดงดีกว่าครับ ยิงฟันยิ้ม

เท่าที่ทราบนะครับ

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (กรมหลวงชุมพร)
พระองเจ้าสุริยงประยุรพันธุ์

พระยาสุรวงศ์มนตรี พระยาสุรวงศ์โกษา (โบราณว่า สุริวงษ์) ใน ร. ๒ ภายหลังคือสมเด็จองค์ใหญ่
พระยาศรีสุริยวงศ์  ใน ร. ๒ ภายหลังคือ สมเด็จองค์น้อย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง
เจ้าพระยารวิวงศ์ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ขำ
พระยามนตรีสุริยวงศ์   ชุ่ม   ชื่น   วิเชียร   ฉี่
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ท้วม
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ พร (ชุมพร)
เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ เทศ    พระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ เทียน
พระยาสุรพันธ์เสนี อิ้น
พระสุรพันธาทิตย์ ฮัก
พระยาประภากรวงศ์    ชาย    ว่อง
พระยาสุริยานุวัตร เกิด
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ วร
เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ โต
พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ เตี้ยม
พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ    เต็น    เต๋า
หลวงสุริยพงศ์พิสุทธิแพทย์  กระจ่าง
พระยานิพัทธสุริยานุวงศ์ เหม

ฯลฯ    ฯลฯ    ฯลฯ

ส่วนเมื่อไม่มีการพระราชทานราชทินนามแล้ว ก็ยังมีบางสายตั้งชื่อเกี่ยวกะพระอาทิตย์อยู่ เช่น

พระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค)
ตะวัน สุรวงศ์ (ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค)
กลินท์ สุรวงศ์
ภากร สุรวงศ์
ภานุภัสสร์
ภาณุเมศวร์

ฯลฯ   ฯลฯ   ฯลฯ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง