เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 10793 ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดโพธิ์บางโอ
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


 เมื่อ 02 ธ.ค. 10, 01:27

ได้อ่านบทความในชมรมแล้วรู้สึกสนใจมาก เพราะส่วนตัวก็ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมไทยอันงดงามหาที่เปรียบได้ยากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็เลยมีข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับวัดโพธิ์บางโออยู่บ้าง
จากที่ทราบประวัติมาเลาๆ ดูเหมือนว่าวัดนี้จะสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา และมาปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ดูรู้แน่ๆ ก็น่าจะเป็นหอระฆังกับเจดีย์ทิศบนกำแพงแก้วทั้งสี่มุมของพระอุโบสถว่าอยุธยาตอนปลาย ส่วนพระอุโบสถนั้นยังไม่แน่ใจนัก จึงอยากขอความรู้ว่าตัวพระอุโบสถเป็นลักษณะศิลปสมัยใด อยุธยาเพียวๆ หรือมีรัตนโกสินทร์ผสมด้วย
กับอีกสิ่งหนึ่ง หน้าบันจำหลักไม้ของพระอุโบสถนั้น เรียกว่าลายเครือเถา หรือลายก้านขดครับ ดูคล้ายๆ กัน
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 22:10

วัดโพธิ์บางโออยู่แถวบ้านผมเองครับ แต่ก็ไม่ึค่อยได้เข้าไป เคยชมในพระอุโบสถแค่ครั้งเดียวเท่านั้น จิตรกรรมข้างในงามมาก เป็นภาพจับรามเกียรติ์ ส่วนสะกัดหน้าเขียนเรื่องพระพุทธองค์โปรดสัจจพันธดาบส

ผมว่าพระอุโบสถวัดโพธิ์บางโอนี้ มีลักษณะค่อนข้างคล้ายกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเลยครับ โดยเฉพาะการใช้พาไลรอบ ถึงจะคล้ายกับอาคารส่วนมากในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่กลับใช้เสาย่อมุม หัวเสาเป็นบัวแวง แบบประเพณีไทยแท้

ส่วนหน้าบันแทนที่จะเป็นหน้าับันพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เป็นลายไม้แกะสลัก ผมว่าอุโบสถแบบนี้ค่อนข้างหาชมได้ยาก และคล้ายคลึงกับโบสถ์วัดพระแก้ว คงเนื่องจากเป็นวัดที่วังหลังสร้างด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบครับ
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 23:11

อยากจะเข้าไปชมจิตรกรรมภายในอยู่เหมือนกันครับ เพราะมีเสียงเล่าลือพอควรว่าน่าชม
แต่โดนปฏิเสธเสียก่อน (จากใครก็ไม่รู้ แต่ดูท่าทางคงเป็นมรรคนายกไม่งั้นก็สัปเร่อ ที่ว่า "ไม่" คำเดียว แล้วแกก็เดินหนีหายไปเลย)
จะขอจากพระก็ไม่เห็นสักรูปหนึ่ง สงสัยจำวัดกันกระมั้ง
เลยได้แต่ถ่ายรูปด้านนอกพอเป็นกิริยาบุญเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
ฉันรักบางกอก
พาลี
****
ตอบ: 334



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ธ.ค. 10, 03:38

สวัสดีคะ ^_^ ดีใจที่ยังมีคนตามกระทู้อยู่บ้าง
บันทึกการเข้า

กนก นารี กระบี่ คชะ
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 04 ธ.ค. 10, 09:46

ขอจากพระครับ พระวัดนี้ท่านหน้าดุแต่ใจดี อิอิอิ โดยเฉพาะองค์ที่สักทั้งองค์ น่ากลัวมาก แต่เมตตาสูง (ใช้ศัพท์วงการพระเครื่อง อิอิ)

จิตรกรรมข้างในงามมากครับ โดยเฉพาะบานหน้าต่าง ภาพจับจากเรื่องรามเกียรติ์ยังเหลือสมบูรณ์มาก ส่วนจิตรกรรมฝาผนังคงเหลือเฉพาะสกัดหน้า ระหว่างประตูเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีภาพเขียนบนกระจกแบบจีน งามมากเช่นกัน แต่โดนขโมยไปมากแล้ว
บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 19:22

วัดโพธิ์บางโอหรือวัดโพธิ์เสนีตั้งอยู่ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย เป็นวัดโบราณสมัยรัชกาลที่ 3 กรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุลเสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลังเป็นผู้สร้าง ภายในวัดมีซุ้มเสมาเป็นทรงกลม ตัวซุ้มเป็นหน้าต่างสามช่อง หันหลังชนกันสามทิศ ทรงยอดโค้งส่วนยอด เป็นปูนปั้นลายงดงามรับกับบัวยอดซุ้มและแข้งสิงห์เบื้องล่าง ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ใบเสมาก็ฌช่นกัน สังเกตได้จากมีหัวนาคโผล่จากทั้ง สองข้างเอวใบเสมา ส่วนพระอุโบสถนั้นสร้างตามแบบประเพณีนิยม คือมีมุขหน้าและมุขหลัง มีเฉลียงสองข้างประกอบด้วยเสาสี่เหลี่ยม หน้าเป็นลาย จำหลักไม้รูปนารายณ์ทรงครุฑ ลาายกระหนกงดงาม ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำฝีมือประณีตสวยงามภายในพระอุโบสถมีงานจิตรกรรม ฝาผนังโดยช่างสกุลนนทบุรีที่น่าสนใจมาก เนื่องจากว่าที่เรื่องราวที่เขียนนั้นแปลกกว่าที่อื่น กล่าวคือ แทนที่จะเขียนเป็นชาดกดังเช่นววัดอื่นๆ กลับเขียน เป็นเรื่องปริศนาธรรม เช่น ภาพปริศนาธรรมทางด้านขวาของพระประธานเขียนภาพคนกำลังวิ่งหนีชายถืออาวุธ 5 คน ซึ่งวิ่งตามมาติดๆ กันและมีคำบรรยาย ไว้ใต้ภาพว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หมายถึงเบญญจขันธ์ และเบื้องหน้าของชายผู้วิ่งหนี คือ พระภิกษุรูปหนึ่งกำลังนั่งชักประคำอยู่หน้าถ้ำ อันหมายความว่า มนุษย์จะหลุดพ้นจากกองกิเลสและจากขันธ์ 5 ขอองตนได้ ก็ด้วยการเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา แสวงหาความวิเวกเพื่อชำระกล่อมเกลาจิตใจ ของตนเท่านั้น และภาพปริศนาธรรมที่งดงามตรงบานประตูด้านในเขีนยรูปท่าจับในเรื่องรามเกียรติ์เป็นรูปพระกับยักษ์เป็นปริศนาธรรม หมายถึง ความชั่ว กับความดีย่อมเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นในโลกธรรมของมนุษย์ แต่ความดีย่อมเหนือกว่าความชั่วเสมอ ดังเช่นภาพพระจะต้องอยู่เบื้องบนยักษ์ทุกรูป จึงมีผู้สนใจแวะเวียน มาชมภาพปริศนาธรรมที่วัดนี้อยู่เสมอ
1.พระอุโบสถหันหน้าสู่สายน้ำตามคติของคนไทยโบราณ วัดนี้จึงหันหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แทนที่จะเป็นตะวันออกโดยตรง ดังเช่นวัดที่นิยมสร้างกันในสมัยหลัง ทรงพระอุโบสถซึ่งทำชายหลังคาของพาไลรอบพระ
อุโบสถแบบวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น จึงเห็นที่มาอย่างชัดเจนว่าเอาแบบไปจากแบบชนิดนี้ ซึ่งเป็นพระอุโบสถหลวงสมัยอยุธยาตอนปลายสุด หน้าบันทำเป็นลายก้านขดเทพ-ยักษ์-ครุฑพนมแวดล้อมนารายณ์ทรงครุฑ(ครุฑหายไปแล้วอย่างไร้ร่องรอย) คันทวยไม่แน่ใจว่าถอดเก็บหรือถูกขโมยไปแล้วเหมือนกัน
2.วัดแถบจังหวัดนนทบุรีมักจะมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างเช่นวัดนี้ก็น่าจะใช่ แต่สภาพปัจจุบันคงเป็นสมัยรัตนโกสินทร์เสียทั้งสิ้น(ร.3 ต่อเนื่อง  ร.4ซึ่งนิยมอยุธยา)
3.การเข้าชมจิตรกรรมไม่ใช่เรื่องยากครับแต่ต้องเข้าให้ถูกทางคือไปพบกับท่านเจ้าอาวาส สำแดงตัวตนว่ามีจุดประสงค์อย่างไร เพราะมิจฉาชีพมันเยอะ พระท่านย่อมไม่ไว้วางใจ และการไปควรไปในช่วงเช้าก่อนเพล เพราะท่านยังไม่จำวัด ตอนเพลก็ไม่ได้ กำลังฉัน เป็นการรบกวนอย่างแรง
4.วัดนี้เมื่อ5ปีก่อน เกิดไฟไหม้ในพระอุโบสถ ทำให้เปลวไฟทำลายจิตรกรรมฝาผนังไปมาก โดยเฉพาะรูปภาพในกรอบกระจกเหนือบานหน้าต่าง ซึ่งเป็นรูปเขียนสีหลังกระจกอันงดงาม แตกชำรุดเสียหายเสียสิ้น โดยเฉพาะรูปภาพชาวฝรั่งเศสซึ่งช่างเขียนน่าจะเป็นช่างจีนเพราะเขียนหน้าตาเป็นจีนแต่ใส่ชุดอย่างฝรั่งเศสเขียนลงบนหลังกระจกใส ภาพชัดเจนแจ่มใสและงดงามน่าสนใจมาก อันแสนงดงาม(เคยโพสต์ไว้ในเว็ปนี้ก็ถึงการสูญสิ้นไปด้วย) ดีที่มีรูปอยู่ที่ผมให้พอชมความงามในอดีตได้ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังก็หม่นหมองจากคราบเขม่าควันไฟจนหมด แม้จะทำการอนุรักษ์แล้วก็ไม่สามารถทำให้สีภาพอันสดใสสวยงามกลับคืนมาได้ ซ้ำการซ่อมยังได้ทำลายคุณลักษณ์ของภาพบางส่วนเสียสิ้น



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 19:27

ภาพราหูอมจันทร์อันงดงาม(เปรียบเทียม) รูปแรกสภาพปัจจุบัน รูปสองถ่ายไว้เมื่อ25ปีที่แล้ว ส่วนอีกรูปคือรูปแหม่มฝรั่งเศสในกรอบกระจกที่เลื่องลือ สมัยเรียนเพาะช่างเหล่านักศึกษาจิตรกรรมไทยถึงกับเรียกเธอว่าโมนาลิซ่าแห่งวัดโพธิ์บางโอเลยทีเดียว




บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 19:34

ภาพจับบนบานหระตูหน้าต่างเรื่องรามเกียรติ์อันงดงาม อาจารย์ น.ณ ปากน้ำกล่าวไว้ว่า . "ภาพจับ หรือ ท่าจับ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องนำรูปท่าจับ มาเขียนไว้หลังบานประตูหน้าต่างเช่นนี้ แทนที่จะเป็นรูปทวารบาลหรือรูปเสี้ยวกางอันเป็นที่นิยมกันในยุคนั้น หรือว่าจะเป็นปริศนาธรรมด้วยกระมัง คือตัวพระราม พระลักษมณ์ หมายถึงความดี ยักษ์คือความชั่ว ย่อมเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่นในโลกธรรมของมนุษย์ แต่ความดีย่อมชนะความชั่วเสมอ" รูปแรกถ่ายไว้เมื่อ25ปีที่แล้ว รูปสอง-สามสภาพปัจจุบัน




บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 19:41

ภาพจับอีกหลายภาพอันงดงาม ว่ากันว่าภาพวาดชุดนี้น่าจะเขียนราวปลายรัชกาลที่32ต่อเนื่องไปถึงรัชกาลที่4 บางภาพสัดส่วนตัวภาพดูผิดส่วน แต่ช่างก็เขียนออกมาได้อย่างกลมกลืน





บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 19:47


       ตามอ่านอย่างชื่นชม

เล่าเรื่องแหม่มฝรั่งเศสเพิ่มเติมได้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 20:08

ภาพพระปางป่าเลไลย์หน้าทางเข้าพระอุโบสถ ร่ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก มีของแก้บนอยู่รอบๆมากมาย ลายรดน้ำที่งดงามบนบานหน้าต่างลบเลือนมากแล้ว ซุ้มประตูลักษณะนี้มีปรากฎอยู่ในวัดแถบจังหวัดนนทบุรีหลายวัด ซึ่งตรงนี้ละมังที่มีอิทธิพลของอยุธยาที่ยังมีหลงเหลืออยู่(เทียบได้กับวัดชมภูเวก)แต่ฝีมือที่ปรากฎอยู่เป็นรัตนโกสินทร์แล้ว
      สวัสดีครับคุณวันดี ได้รับข้อความระลึกถึงจากคุณหลวงเล็กและอ้างถึงคุณวันดี ขอบคุณสำหรับความห่วงใยครับ(ตอบคุณหลวงเล็กไปแล้ว ไม่รู้ได้รับหรือไม่) สำหรับเรื่องภาพแหม่มนั้น ไม่มีข้อมูลใดๆเลยครับ เข้าใจว่าในสมัยร.3นั้นพระองค์ท่านน่าจะสั่งนำเข้าภาพเขียนเหล่านี้มา แล้วก็นำมาตกแต่งตามวัดวาอารามที่พระองค์ท่านทรงสร้างและบูรณะ สำหรับภาพนี้อยู่ด้านขวามือพระประธานตรงเหนือภาพราหูอมจันทร์ และถ้าจำไมผิดเป็นภาพบุคคลเพียงภาพเดียวในวัดเวลาเข้าไปในอุโบสถเลยสะดุดตา อาจจะเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่งก็ได้ นึกเอาเองนะครับ อย่างเช่นเวลาพระท่านลงอุโบสถ จะได้ยุบหนอพองหนอ เพราะเเหม่มใส่เสื้อคว้านคอลึกโชว์อกอวบอูมอย่างนั้นย่อมจะสะกิดต่อมกิเลสให้กระเจิดกระเจิงไปได้ ส่วนภาพอื่นๆเป็นภาพช่อดอกไม้ เหลืออยู่ภาพเดียวหน้าพระประธานครับ





บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 20:14

ภาพจิตรกรรมฝาผนังบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แม้จะผ่านการบูรณะแล้วก็ตาม รอวันผุพังตามยถากรรมของจิตรกรรมฝาผนังไทย วึ่งก็เป็นหน้าที่ของชมรมเราที่จะรีบบันทึกภาพถ่ายจิตรกรรมเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานพอได้เห็นอดดีตก็เท่านั้นตามกำลังทรัพย์กำลังกายเท่าที่จะทำได้





บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 20:25

ชมต่อ
1.ภาพแรกผนังด้านหน้าพระประธานระหว่างบานประตูการเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท จำไม่ได้ว่าของใคร ใครรู้วานบอกทีลืมจริงๆ
2.ภาพ2อยู่หลังพระประธาน ไม่เคยเห็นใครเผยแพร่ ชำรุดมาก ถ่ายภาพลำบาก ผนังหลุดร่อนจากไฟไหม้ เขียนตอนอภิเษกสมรสน่าจะเป็นพระเจ้าสุทโทธนะกับพระนางสิริมหามายา(มากกว่าอภิเษกสมรสเจ้าชายสิทธัตถะ)ฝีมืองดงามมาก





บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 20:43

ลาด้วยรูปจิตรกรรมและพระประธานครับ พร้อมขออำนวยพรให้เพื่อนสมาชิกทุกท่านจงประสบสุขเจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้านเนื่องในวันพ่อนี้และขอให้พ่อหลวงของเราจงพระเกษมสำราญ พระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเจริญตลอดกาลนาน เทอญ (อ้อเพื่อนสมาชิก ช่วยกันมาโพสต์กระทู้กันให้บ่อยๆเหมือนแต่ก่อนหน่อยนะครับ เพราะหัวหน้าชมรมชีวิตยังไม่ปกติสุขนัก นานๆถึงจะมาได้(ไม่รู้เมื่อไหร่) ยังไงก็ช่วยๆกันนะครับ)





บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 ธ.ค. 10, 20:58

พี่ยีนส์ไปถ่ายมาเมื่อไรครับ ดูเหมือนว่าภาพยังใหม่ๆ อยู่เลย แต่คงก่อนหน้าผมแน่ๆ
เพราะตอนที่ผมไปถ่ายเมื่อสามเดือนก่อน รกกว่านี้มาก ใบไม้ใบหน้าหล่นเกลื่อนเต็มลานไปหมด ฝนก็เพิ่งจะหยุดเลยเฉอะแฉะเจิ่งนองไปหมด
แถมสีขาวที่ทาตามกำแพงแก้วก็เริ่มจะมีคราบไคลสีดำจากน้ำฝนบ้างแล้วด้วย (แต่ของพี่ยังขาวสะอาดราวกับเพิ่งจะทาอยู่เลย)

เรื่องลายรดน้ำนี่ลบเลือนไปมากจริงๆ หน้าต่างบางบานก็เหลือแต่รักสีดำเท่านั้น แต่บางบานยังพอได้เห็นกวาง กระต่าย และฤาษีนั่งถือปะคำให้เห็นอยู่ลางๆ
ส่วนบานประตูด้านตุ๊กตาจีน ด้านบนก็ยังมีเหลือลายรดน้ำอยู่ จะลบเลือนก็เฉพาะด้านล่างเท่านั้น
ที่พอจะสังเกตได้ว่ามีลายรดน้ำเป็นรูปเทวดาเหาะ กับยักษ์อีกสองตนด้วย (แถมมีลิงทะเลาะกันบนโขดหินใกล้ๆ เทวดาอีกต่างหาก)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง