เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 52708 พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 25 ธ.ค. 10, 12:15

   พ.ท.พโยมเป็นเพื่อนสนิทของจอมพลสฤษดิ์มาก่อน      เมื่อเห็นการปกครองกลายเป็นแบบนี้  ก็กล่าวท้วงว่า
  “ไหนลื้อบอกว่าจะทำเพื่อประชาชนไง"
  คำตอบของท่านจอมพล ก็คือ
 ”  ลื้ออยู่เฉยๆเถอะแล้วดีเอง ”

    หลังจากนั้นไม่นาน  วันหนึ่ง ก็มีนายร้อยตำรวจเอกคนหนึ่งมาที่บ้านบางโพ  แจ้งว่า ถูกผู้ใหญ่ส่งตัวมาให้การอารักขา  ดูแลความปลอดภัยให้
     พ.ท.พโยมเข้าใจทันทีว่า ถูกหมายหัวอย่างไม่มีทางรอดเสียแล้ว    แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร คงต้อนรับด้วยดี   เชิญให้นายตำรวจนั่งในห้องรับแขก แล้วเรียกน้องสาวบอกว่า
     " เอาน้ำเอาท่ามาต้อนรับแขกด้วย"
     ส่วนตัวเอง  ก็ขอตัวเดินเข้าไปข้างใน   เร้นกายหายไปทางหลังบ้าน  ลัดเลาะสวนผลไม้ออกไปในวันนั้นเอง  
     จากวันนั้นเอง พ.ท.พโยมก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาหาลูกเมียและญาติพี่น้องอีกเลย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 25 ธ.ค. 10, 14:28

มีการออกกฏหมายคือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีโทษที่รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งประหารชีวิต นายศุภชัย ศรีสติ ข้อมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร เริ่มต้นจากยิงเป้า นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่ท้องสนามหลวง ตามมาด้วยการยิงเป้า นายทองพันธ์ สุทธมาศ และนายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ และในวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

ผลที่ตามมาคือ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกบีบคั้นกดดันจากอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาในชนบทเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลได้แต่อย่างใด

ปลาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุก แต่งเพลง "วีรชนปฏิวัติ" ขึ้น จากความความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของนายครอง จันดาวงศ์  และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบเนื่องต่อมาในขบวนการฝ่ายประชาชน


 ตกใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 25 ธ.ค. 10, 18:48

ยินดีต้อนรับเข้าร่วมวงค่ะ  คุณเพ็ญชมพู   ยิงฟันยิ้ม

ก่อนจะเล่าถึงพ.ท.พโยมต่อไป    ขอย้อนกลับไปเล่าความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเสียก่อน     เพื่อปูพื้นความเข้าใจ ก่อนจะกลับมาที่ชีวิตพ.ท.พโยมอีกครั้ง
ขอขอบพระคุณคุณ NavaratC. ที่กรุณาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลมาให้มากมายหลายเรื่อง        ทุ่นเวลาดิฉันไปได้มาก    
ตอนนี้ไม่ต้องรื้อตู้หนังสือหรือค้นลุงกู๊กจนตาลายอีกแล้ว   มีกูรูใหญ่เอื้อเฟื้อมาให้   ปัญหาเหลืออย่างเดียวคือต้องย่อยเอกสารของท่าน Navarat  เป็นการบ้านให้ทันเวลานำลงเท่านั้นเอง
 ยิ้มเท่ห์

***********************
พรรคคอมมิสนิสต์แห่งประเทศไทย หรือชื่อย่อว่า พคท. เกิดในประเทศไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ ๗   แต่ว่าการก่อตั้งระยะแรกไม่ใช่ความประสงค์ของคนไทยทั่วไป แต่เป็นคนเชื้อสายจีนกลุ่มหนึ่ง และคนเวียดนามในประเทศผู้เลื่อมใสลัทธิมาร์กซ์ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเป็นสมาคมลับ  ตั้งแต่ปี ๒๔๗๓  ตอนแรกก็มีสมาชิกน้อย  ก็ล้มลุกคลุกคลาน ไม่มีอิทธิพลอะไรกับสังคมไทย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 25 ธ.ค. 10, 18:50

อุดมการณ์ของพวกนี้ แบบเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก คือหวังสร้างสังคมใหม่ที่ผู้คนเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้น ไม่มีผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่  เรียกตามทางการว่าสังคมนิยม
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒   ราวปี ๒๔๘๘-๒๔๙๐ รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์เปิดโอกาสให้ผู้ฝักใฝ่สังคมนิยม เคลื่อนไหวได้ไม่ต้องปกปิดอย่างเมื่อก่อน      สมาชิกคนแรกที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคนแรก คือนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มีหนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงของตัวเอง คือ มหาชน รายสัปดาห์
แต่รัฐประหารที่ตามมาใน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ทำให้คอมมิวนิสต์หัวกะทิทั้งหลายถูกจับกุมกันกราวรูด  ที่รอดมาได้ก็ต้องหลบหนีไปชนบท หาแนวร่วมระดับล่าง ปะปนอยู่กับชาวบ้านในถิ่นไกลหรือในป่าลึกที่ทางการเอื้อมมือไปไม่ถึง   
การปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกระหว่างทหารตำรวจกับพคท. เกิดขึ้นเมื่อ ๗ สิงหาคม  เป็นที่รู้จักกันในนาม "วันเสียงปืนแตก" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธ

สมาชิกพคท. มีใครบ้าง
มีปัญญาชนที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครอง   มีนักการเมืองที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร   มีชาวบ้านที่อยู่ตรงข้ามกับข้าราชการในท้องถิ่น     และแม้แต่ชาวบ้านในถิ่นนั้นที่ช่วยเหลือ ๓ พวกที่กล่าวมา
แรงสนับสนุนจากนอกประเทศ มาจากประเทศแม่บทของคอมมิวนิสต์  ๒ ประเทศคือจีนแผ่นดินใหญ่ และโซเวียตรัสเซีย     รัฐบาลที่ถือนโยบายค่ายโลกเสรี ในยุคจอมพลสฤษดิ์  จึงเพิ่มกำลังในการปราบปรามพคท.  อย่างรุนแรงเพื่อให้สิ้นซาก     
นโยบายนี้ก็ดำเนินต่อเนื่องมาหลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมแล้ว   ผู้สืบทอดคือรัฐบาลของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 11:52

การปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกระหว่างทหารตำรวจกับพคท. เกิดขึ้นเมื่อ ๗ สิงหาคม  เป็นที่รู้จักกันในนาม "วันเสียงปืนแตก" นับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยอาวุธ

๗ สิงหา สู้บนทางปืน

คำร้อง วิสา คัญทัพ
ทำนอง กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ (จิ้น กรรมาชน)

ปัง ๆ คือเสียง เปรี้ยงปืนรัวร้อง ดังก้องป่า
ดังคำรามมา เป็นเพลงแห่งชัย ของประชา
นาบัวปืนรัว เพื่อนร่วมแนวทาง ทุกคน
ปืนธรรมคำรณ โค่นศัตรูร้าย

๗ สิงหาคม ระดมเพื่อนลุก ขึ้นยืนหยัด
ปืนปฏิวัติผงาดประจัญทหารกล้า
นักรบเกรียงไกรดวงใจศรัทธา นิรันดร์
ดังดวงตะวัน ทอแสงเรืองรอง

* พรรคคอมมิวนิสต์ ชี้ทิศนำทาง
ใสสว่าง ด้วยหนทางแห่งพรรคถูกต้อง
ภายใต้พรรคนำ กองทัพมุ่งไป ใฝ่ปอง
เพื่อไทยทั้งผองจะได้รุ่งเรือง

๗ สิงหาคมอุดมการณ์ของ ทหารป่า
อำนาจรัฐไทยนั้นจักได้มานั้นด้วยปืน
ขอผองเราจง รวมกันหยัดยืน สู้ทน
ก้าวสู่แห่งหนสู้บนทางปืน



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 26 ธ.ค. 10, 18:34

(ต่อ)
ฐานของพคท. อยู่ในชนบท เพราะยึดถือตามทฤษฎีของมาร์กซ์ ที่ถือมวลชนชาวไร่ชาวนาเป็นหลัก     ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม  กำลังของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท    ชาวไร่ชาวนาถ้าเข้ากับคอมมิวนิสต์ได้ ก็จะเป็นกำลังให้พคท.จุดประกายแนวคิดสังคมนิยมได้แพร่หลายกว่าในเมือง   
ดังนั้นการปลุกระดมมวลชนจึงเริ่มในชนบท  กระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของแรงงาน   ไม่ต้องเกรงศูนย์อำนาจจากเมืองหลวง คือพวกข้าราชการอย่างเมื่อก่อน   
ในตอนแรก  พคท.ยังไม่มีกำลังพอ  ก็เคลื่อนไหวอย่างสันติ แค่ส่งเสริมชาวไร่ชาวนาให้เลื่อมใสสังคมนิยม  แต่ยังไม่แข็งกร้าวกับข้าราชการทหารตำรวจ เพราะไม่ต้องการจุดชนวนให้ทางการไหวตัว    จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ "วันเสียงปืนแตก "
ที่มาก็คือเมื่อมวลชนค่อยๆโตขึ้น ก็ถึงเวลาที่ทางการเริ่มเห็นปัญหา และลงมือปราบปราม  จนเกิดการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธขึ้น  พคท.จึงกลายเป็นนักรบเต็มตัว    ทางการขนานนามให้ว่า "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์"

สงครามภายในประเทศระหว่างทางราชการ นำโดยรัฐบาล และสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกา  กับอีกฝ่ายหนึ่งคือพคท. และแนวร่วม ได้รับการสนับสนุนจากจีนและเวียดนามเริ่มแผ่ขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์
เหตุการณ์การเมืองสำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง คือวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนและขบวนนิสิตนักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  จนถูกรัฐบาลจอมพลถนอมปราบปรามด้วยอาวุธอย่างหนัก เป็นสงครามกลางเมือง   มีพคท.สายในเมืองเข้าร่วมด้วยกับประชาชน  และนิสิตนักศึกษา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 08:36

(ต่อ)

วันสำคัญที่จำผิดเพี้ยน

วันเสียงปืนแตก ที่ถูกต้องคือ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ ไม่ใช่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 17:59

(ต่อ)

วันสำคัญที่จำผิดเพี้ยน

วันเสียงปืนแตก ที่ถูกต้องคือ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘ ไม่ใช่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘

 ยิงฟันยิ้ม

ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์รายละเอียดในเรื่องนี้   คนสัมภาษณ์ถามว่าเกิดอะไรขึ้นในวันเสียงปืนแตกวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘   คุณธงก็อธิบายให้ฟัง   แต่ไม่ได้แก้ว่า เป็นวันที่ ๘ สิงหาคม   
ขอลอกมาให้อ่านกัน

วันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ความจริงในช่วงนั้นศูนย์กลางของพรรค ยังมีมติว่า พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ รักษาสภาพที่สงบเงียบ เพื่อทำให้เราเคลื่อนไหวใต้ดินได้สะดวก เคลื่อนไหวมวลชนได้ง่ายกว่า แต่เหตุปะทะขึ้นที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร เกิดขึ้นเพราะสหาย๖-๗ คนลงไปทำงานมวลชนที่นั่น แล้วเขตนี้ไม่มีป่ากำบัง สายลับถูกสายรายงาน ตำรวจก็เลยระดมกันมาปิดล้อม มีการสู้รบกัน สหายชื่อเสถียรถูกยิงตาย สหายคนนี้เขามีความรู้ด้านการทหาร เพราะไปเคลื่อนไหวในลาวมาก่อน พอกระแสปฏิวัติในไทยสูงขึ้นเขาก็กลับมา พอถูกปิดล้อมก็ยิงสู้กัน นายตำรวจยศพันโทคนหนึ่งโดนยิงบาดเจ็บ ตัวแกเองก็บาดเจ็บ แกยืนหยัดสู้ตายให้สหายที่เหลือแหวกวงล้อมไป พวกตำรวจมาล้อมทั้งวัน เอาปืนครกมายิงถล่ม พวกเราก็ซุ่มเงียบอยู่ไม่เป็นไร จนมืดค่ำก็ค่อย ๆ คลานเล็ดลอดผ่านแนวปิดล้อมจากทุ่งราบขึ้นภูไปได้ ยกเว้นคุณเสถียรที่ยอมตายคุ้มกันให้สหาย พอดีวันนั้นผมไปประชุมที่ดงหลวง ออกมาถึงที่ธาตุพนมจะต่อรถเข้าไปนครพนม สังเกตว่าทำไมตำรวจทหารแห่กันมาเยอะแยะ สอบถามจึงรู้ว่าเกิดการปะทะกันที่บ้านนาบัว แล้วตำรวจมาปิดล้อม วีรกรรมครั้งนั้นถือเป็นเรื่องใหม่และใหญ่ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้ว ทางกรมการเมืองมีมติให้ถือว่าเป็นวันเสียงปืนแตก แต่ก่อนที่เราห้ามไว้ ว่าควรจะหลีกเลี่ยง แต่ปัจจุบันมีเงื่อนไขเป็นฝ่ายกระทำก็ไม่ใช่วิ่งหนี ต้องใช้วิธีนี้ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง ต่อมาพวกตำรวจจำนวนน้อยจะไม่กล้าเข้าป่าเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 27 ธ.ค. 10, 20:21

หลังจากนักศึกษาเป็นฝ่ายมีชัยชนะ ในเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  ทำให้จอมพลถนอมและจอมพลประภาสต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไป    ไทยก็ได้มีประชาธิปไตย   คือมีรัฐสภาจากส.ส.เลือกตั้ง  ปลอดจากรัฐประหารอยู่ ๓ ปี    ระหว่างนั้นกระแสสังคมนิยมเริ่มมาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่     บ้านเมืองแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายคือซ้าย ได้แก่สังคมนิยม    และขวา คือผู้นิยมสถาบันเดิมๆที่ไทยเป็นอยู่  มีทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันทหาร และสถาบันนายทุน
ผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น มีธีรยุทธ บุญมี  เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  จีรนันท์ พิตรปรีชา    ฯลฯ    ความแตกแยกในหมู่นักศึกษาเริ่มก่อตัวขึ้น เมื่ออาชีวะที่เคยเข้าร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยแยกตัวออกไป     นอกจากนี้ ความคิดใหม่ๆในแนวสังคมนิยมของนศ. เริ่มถูกต่อต้าน   จนถึงจุดระเบิดเมื่อจอมพลประภาสเดินทางกลับมาในต้นเดือนตุลา พ.ศ. ๒๕๑๙  ตามมาด้วยจอมพลถนอมซึ่งบวชเป็นเณรเข้ามา แล้วมาบวชเป็นพระในกรุงเทพ
นักศึกษาต่อต้านการกลับมาของสองจอมพลอย่างเปิดเผย     ความตึงเครียดนำไปสู่จุดระเบิดในวันที่ ๖ ตุลาคม  มีการล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นักศึกษาชุมนุมกันอยู่  โดยตำรวจและกลุ่มพลัง ๒ กลุ่มคือนวพลและกระทิงแดง    ปราบปรามนักศึกษาจนได้รับบาดเจ็บและตายกันไปหลายคน   ศพถูกนำมาแขวนและเผาที่สนามหลวง 

ผลจากเหตุการณ์นี้ ทำให้นักศึกษาที่รอดตายไปได้จำนวนมาก พากันหนีเข้าป่า เพื่อเอาชีวิตรอด  จะอยู่ในเมืองเพื่อสู้คดีพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะพ้นอันตรายหรือไม่     ในวันเดียวกันนั้นก็เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง   เรียกว่า "คณะปฏิรูปการปกครอง" นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่

จำนวนนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไปสมทบกับพคท.  ทำให้กำลังของพคท.เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน   กลายเป็นปัญหาหนักของรัฐบาลที่ต้องสู้รบกันต่อมาอีกหลายปี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 28 ธ.ค. 10, 10:08

       อย่างไรก็ตาม   นิสิตนักศึกษาที่เข้าป่าไปเป็นฝ่ายพคท.  พบว่าความคิดเห็นและวิธีปฏิบัติหลายๆอย่างของปัญญาชนรุ่นใหม่ ไม่สอดคล้องกับพคท.รุ่นเก่า   นานเข้าแทนที่จะผนึกกำลังกันเพื่ออุดมการณ์ร่วมกัน  ก็กลับกลายเป็นความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างสมาชิกรุ่นเก่ากับสมาชิกรุ่นใหม่     แม้แต่สมาชิกรุ่นเก่าเอง ก็ขัดแย้งกันเรื่องการปฏิบัติตัวกับคนรุ่นใหม่      เหตุผลหนึ่งในหลายๆข้อคือภูมิหลังที่แตกต่างกัน   ความคิดอ่านของผู้คนคนละรุ่น ก็ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันได้
        นานเข้า   นิสิตนักศึกษาก็เริ่มท้อใจในการดำเนินงานในป่า   บางคนก็เริ่มอยากจะออกจากป่ากลับมาบ้าน    ใครอยากรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ ที่เข้าป่า    ลองไปหาหนังสือของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลมาอ่าน ก็พอจะมองเห็นภาพได้
        ทางฝ่ายรัฐบาลไทยกลับตัวทัน เมื่อตระหนักว่าการปราบปรามอย่าง ๖ ตุลาเป็นการดำเนินงานผิดพลาดไปเสียแล้ว    แผ่นดินไทยต้องเพิ่มพื้นที่สีแดงกันมากขึ้น  สิ้นเปลืองชีวิตทหารตำรวจและงบประมาณมหาศาลในการปราบปราม    ก็หันมาแก้เกมทางการเมืองด้วยวิธีการเมืองนำหน้าการทหาร    แทนที่จะเป็นปรปักษ์กับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างที่ทำกันมาสมัยจอมพลสฤษดิ์  ก็หันมาจับมือสร้างไมตรีเสียใหม่กับรัฐบาลจีน ผู้ให้การช่วยเหลือรายใหญ่ของพรรคพคท.   
        ทางจีนเองก็มีการเปลี่ยนนโยบายในเวลานั้น   เมื่อสิ้นสมัยของประธานเหมาเจ๋อตุง  นางเจียงชิงภรรยาของเหมา  กับพรรคพวกที่เรียกว่าแก๊งสี่คน ถูกโค่นอำนาจลง   เติ้งเสี่ยวผิง  ซึ่งเคยถูกนางเจียงชิงลงโทษอย่างหนักมาก่อนขึ้นสู่อำนาจแทน   ผู้นำคนใหม่เปลี่ยนนโยบายใหม่  เปิดประตูรับต่างประเทศ ในค่ายโลกเสรี  เพื่อผลดีแก่ประเทศจีนทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ       ดังนั้น นโยบายเดิมที่มุ่งเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และควักกระเป๋าสนับสนุนผู้นิยมลัทธิในประเทศต่างๆ ก็ยุติลง     ประเทศจีนเลือกคบรัฐบาลไทยที่ทอดสะพานไมตรีเข้าไปหา
เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี   ขอให้รัฐบาลจีนยุติการส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุของพคท. ในประเทศจีน  เมื่อรัฐบาลจีนตกลงยินยอม     พคท. ก็มองเห็นจุดจบอยู่ข้างหน้า
          รัฐบาลไทยดำเนินการสืบเนื่องต่อไปเป็นผลสำเร็จ   พลเอกเปรม ติณสูลานนท์  ใช้ "การเมืองนำการทหาร"  แทนที่จะเป็น "ทหารนำหน้าการเมือง" อย่างยุคก่อนๆ     ประกาศนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓      นโยบายนี้คือ ให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อพัฒนาชาติไทย ไม่เอาผิดกฎหมายกับคนที่เข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐ มีโครงการแจกที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านที่ออกมามอบตัว   เมื่อรัฐเปิดช่องทางให้  ก็ส่งผลให้นักศึกษาและประชาชนที่ไม่อยากจะอยู่ในป่าอีกต่อไป   พากันออกมามอบตัวกันเกือบหมด ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตกต่ำ  และล่มสลายลงในเวลาอันรวดเร็วตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ เป็นต้นมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ธ.ค. 10, 09:12

    ผลจากสหรัฐอเมริกาพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนามเมื่อพ.ศ. 2518 คือนโยบายการเมืองถูกกลับลำ    พอเริ่มทศวรรษ 2520  ยักษ์ใหญ่ของโลกนายทุนก็หันมาจับมือกับยักษ์หลับแห่งเอเชียซึ่งตื่นขึ้นมาแล้ว   พร้อมเปิดประตูรับประนีประนอมด้วย

    เดือนธันวาคม 2521 เวียดนามซึ่งอยู่ในคอมมิวนิสต์สายรัสเซีย บุกเข้ากัมพูชา   ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2522 จีนตอบโต้โดยบุกเข้าโจมตีเวียดนามเป็นการตอบแทน    ตอนนั้นพคท.มีฐานที่มั่นอยู่ในลาว  เวียดนามเกรงว่า พคท. ในลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์สายจีนจะกลายเป็นหอกข้างแคร่   จึงผลักดัน พคท. ออกไปจากลาว  ยุติการส่งสัมภาระด้านอาหารและยาให้   ปิดพรมแดนด้านไทยและจีน ไม่ให้พคท. ใช้เป็นทางผ่าน รวมทั้งยื่นคำขาดให้ พคท. อพยพสำนักต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในลาวออกไปท้งหมด   ทำให้พคท.เจอวิกฤตหนัก เพราะความช่วยเหลือถูกตัดขาดไปหมด

    รัฐบาลไทยได้จังหวะเหมาะ ก็เจรจาต่อรองกับรัฐบาลจีนโดยขอให้ทางจีนยุติการสนับสนุน พคท. และเพื่อเป็นการตอบแทน ฝ่ายไทยจะจับมือกับจีน ช่วยกัมพูชาให้รอดพ้นจากเวียดนาม 
     ผู้แทนรัฐบาลไทย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางไปปักกิ่งร่วมกับ พล.อ. พัฒน์ อัคนิบุตร และ พล.ท. ผิน เกษร โดยไปพบปะกับ เติ้ง เสี่ยว ผิง เพื่อเปิดการเจรจาให้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ยุติความช่วยเหลือ ต่อความเคลื่อนไหวของ พคท. ชัดเจนที่สุดคือการขอให้ ยุติการออกอากาศสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) สถานีวิทยุคลื่นสั้นของพคท. ที่ส่งจากปักกิ่ง
     พคจ.ลงมติให้ปิดตามคำขอของรัฐบาลไทย   ดังนั้น สปท. ซึ่งเคยออกอากาศโจมตีรัฐบาลไทยต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี  จึงมีการกระจายเสียงครั้งสุดท้ายวันที่ 11 กรกฎาคม 2522
   
      ปี 2524 เป็นปีวิกฤตศรัทธาของพคท. ผู้ปฏิบัติงาน พคท. ทะยอยออกจากป่า หลังจากรัฐบาลออกคำสั่ง 66/2523 ภายหลังมีคำสั่ง 65/2525 เรื่อง แผนรุกทางการเมือง ซ้ำอีกครั้ง ปฏิบัติการของ พคท. อ่อนกำลังลงทุกที
      ปี 2525 ศูนย์การนำย้ายจากภาคเหนือไปอยู่ภาคใต้,
      ปี 2530 ศูนย์การนำที่ย้ายมาอยู่ภาคตะวันตก สลายไปโดยปริยาย เนื่องจากระดับนำถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2
      ปี 2534 ผู้ปฏิบัติงานชุดสุดท้ายของ พคท. ในเขตงานภาคใต้ ออกจากป่า
      ถึงอวสานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 ธ.ค. 10, 11:06

ย้อนกลับมาที่ชีวิตของพ.ท.พโยม
นับแต่วันที่หนีตายออกจากบ้านบางโพ      ก็ไม่มีพ.ท.พโยม จุลานนท์อีกต่อไป   มีแต่ "สหายคำตัน" เข้าป่าที่ ต.ดงหลวง อ.นาแก จ.นครพนม หายไป   ไม่มีใครได้ข่าวคราวอีกเลย   จนกระทั่งปี 2510-2511 จึงเป็นที่รู้จักของสายข่าวทางทหาร ในฐานะผู้นำคนหนึ่งของ 'แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย'

ส่วนลูกชายคนโตซึ่งตัดสินใจเลือกอาชีพทหารเช่นเดียวกับพ่อ ปู่ และทวด  จบ จปร.รุ่นที่ 12  เข้ารับราชการติดยศร้อยตรี ในพ.ศ. 2508  ก้าวไปตามสายงาน จากนายร้อยเป็นนายพัน  และเลื่อนขึ้นเป็นลำดับจนติดยศพลเอก
ชีวิตราชการของพลเอกสุรยุทธ์   หนักหนาสาหัสกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน   นอกจากแบกภาระหนักตามหน้าที่ของทหารในช่วงประเทศไทยมีพื้นที่สีแดงอยู่ทั่วประเทศแล้ว    นามสกุล 'จุลานนท์' ก็เป็นที่เพ่งเล็งของทางการเป็นพิเศษ   เพราะกระทรวงกลาโหมเองก็รู้การเคลื่อนไหวและบทบาทของ "สหายคำตัน" มาโดยตลอด    ลูกชายซึ่งอยู่ในกองทัพบก จึงถูกเจ้าหน้าที่การข่าวติดตามแบบลับๆ อีกทั้งความหวาดระแวงของทางการ ยังส่งผลกระทบต่อหน้าที่ราชการของลูกชายพ.ท.พโยมด้วย

 แม้จะท้อ แต่พล.อ.สุรยุทธ์ก็ทำหน้าที่เต็มความสามารถ แสดงความเป็นผู้นำอย่างกล้าหาญในสมรภูมิรบ จึงได้รับหนังสือชมเชย และคำชมเชยจาก พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในสมัยนั้น และเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้น 1 จากจอมพลประภาส  จารุเสถียร ซึ่งถือว่าเป็นการปลดแอกความหวาดระแวงออกไปได้ในที่สุด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 03 ม.ค. 11, 22:22

ดิฉันไม่ทราบว่าพ.ท.พโยมรู้จักกับพคท.ตั้งแต่เมื่อไร   ในหนังสือบางเล่มบอกว่าตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ื2  เมื่อต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกัน
แต่ก็กล่าวไว้สั้นๆ ไม่มีที่มาที่ไป      จึงไม่สามารถจะบอกได้ว่าจริงหรือไม่

อันที่จริงถ้าใช้คำว่า คอมมิวนิสต์ หรืออีกคำคือพคท.  ก็อาจไม่ได้ความหมายอย่างต้องการ   เพราะความคิดของพ.ท.พโยมไม่ได้อยู่ที่คอมมิวนิสต์หรือไม่ใช่คอมมิวนิสต์    ถ้าใช้คำว่า"สังคมนิยม" น่าจะถูกต้องกว่า
เพราะอุดมการณ์ของท่าน คือเห็นว่าในเมื่อประเทศได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕  แต่ทำไมจนแล้วจนรอด ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ไม่เห็นจะดีขึ้นจากเดิม     คนจนก็ยังจน  แต่คนรวยหยิบมือเดียวก็ยิ่งรวย   พ.ท.พโยมเห็นว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ในความจริงไม่ได้ช่วยประชาชน    ถ้าจะให้ได้ผลดี ก็ควรเป็นสังคมนิยมที่เกลี่ยให้คนเสมอภาคกันมากกว่านี้

ส่วนลูกชายของพ.ท.พโยม เป็นนายทหารที่ยึดมั่นต่อหน้าที่  คือปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   นอกจากนี้ก็เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยสมกับเป็นทหาร  เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งมาอย่างใดก็ต้องปฏิบัติตามอย่างนั้น
เมื่อนโยบายของรัฐบาลคือปราบปรามคอมมิวนิสต์ในฐานะศัตรู    นายพันสุรยุทธ์ก็ต้องทำหน้าที่ตามนั้น

พ.ท.พโยมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานด้านเสนาธิการของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ซึ่งเป็น 'กองกำลังติดอาวุธ' ของพรรค   ด้วยความเป็นทหารเสนาธิการเก่า     ปฏิบัติงานอยู่ในเขตงานรอยต่อชายแดนไทย-ลาว
วางแผนโจมตีฐานปฏิบัติการห้วยโก๋น จ.น่าน อันเป็นการทดสอบกลยุทธ์ทางการทหารครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของ พคท.

พ.ท.พโยมมีสายสืบส่งข่าวความเคลื่อนไหวของทหารในกองทัพให้รู้เสมอ    ว่าลูกชายจะต้องปฏิบัติการในป่าไหนดงไหน  เมื่อไร
ทุกครั้งจะรู้ล่วงหน้า   
เมื่อรู้ก็หลีกเลี่ยงทุกครั้ง  มิให้ต้องเผชิญหน้ากัน   
พ่อเป็นฝ่ายวางแผนหลบหลีกการปะทะได้เก่งสมกับเป็นเสนาธิการเก่า      เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนพลาดท่าเสียทีถึงตาย ก็เป็นเรื่องเศร้าโศกแสนสาหัสทั้งสิ้น   
ตลอดเวลาหลายปีของการปฏิบัติงานซึ่งบีบคั้นหัวใจทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายลูก   พ.ท.พโยมก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ทุกครั้ง    มิให้เกิดอนันตริยกรรมขึ้นมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 04 ม.ค. 11, 11:51

จะว่าไปแล้ว อุดมการณ์ของพลอ.สุรยุทธ์ ที่ถือหน้าที่ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  กับอุดมการณ์ของพ.ท.พโยมที่มุ่งช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น   ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน     เพียงแต่ว่า วิธีปฏิบัติเพื่อจะบรรลุถึงอุดมการณ์ต่างหากที่เป็นอุปสรรคใหญ่

รัฐบาลไทยตั้งแต่พ.ศ. 2475 ปฏิเสธแนวคิดสังคมนิยม มาตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์       ประกอบกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เริ่มยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็น 2 ค่ายใหญ่คือโลกเสรี และค่ายคอมมิวนิสต์    ไทยเลือกอยู่ฝ่ายโลกเสรีของสหรัฐอเมริกา  ก็ยิ่งทำให้แนวคิดสังคมนิยมเป็นสิ่งต้องห้ามหนักเข้าไปอีก
ความพ่ายแพ้ของปรีดี พนมยงค์ในกรณีกบฏวังหลวง และการลี้ภัยไปอยู่ในประเทศจีน  ก็ทำให้สังคมนิยมถูกกลืนหายไปในคำ คอมมิวนิสต์ ซึ่งกลายมาเป็นคำน่าสะพรึงกลัวของคนไทย      นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่สืบเนื่องต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม   ก็ใช้วิธีทำศึกสงครามในประเทศกันมาโดยตลอด    ดังนั้นผู้มีอุดมการณ์ทั้งสองฝ่าย จึงไม่อาจประนีประนอมกันได้   หนทางข้างหน้าก็มีแต่คำว่าแพ้และชนะเท่านั้น
พ.ท.พโยมกับพลเอกสุรยุทธ์ ก็เป็นแต่เพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆในเครื่องจักรใหญ่มหึมา   เครื่องยนต์ใหญ่หมุนไปทางไหน  ส่วนประกอบชิ้นเล็กๆก็ต้องหมุนไปตามนั้น  ไม่สามารถจะหมุนในทิศทางตรงกันข้ามได้
อย่างไรก็ตาม พ.ท.พโยมก็ยึดมั่นอยู่ในเรื่องหนึ่ง คือต่อสู้ด้วยตัวเอง กับสหายร่วมอุดมการณ์    รับความช่วยเหลือได้เพียงแค่อาวุธ แต่ไม่ยอมให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาร่วมต่อสู้ในประเทศไทย  เพื่อเผด็จศึกกับคนไทย
เมื่อพคท.ตัดสินใจในทางตรงข้าม   พ.ท.พโยมก็ถอนตัวจากการปฏิบัติหน้าที่  อำลาชีวิตชายแดนไทยกลับไปอยู่ปักกิ่ง   ใช้ชีวิตอย่างสงบด้วยการเขียนตำราภาษาไทยให้คนจีนได้เล่าเรียน   ตำรานี้ยังใช้กันอยู่แม้เจ้าของตำราถึงแก่กรรมไปแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 04 ม.ค. 11, 20:51

พ่อกับลูกไม่ได้พบหน้ากันมานาน ตั้งแต่พ.ศ. 2506  มาพบกันอีกครั้ง เมื่อไทยกับจีนเปิดสัมพันธไมตรีกัน   พลเอกเปรม เป็นทูตไมตรีไปจีน  ได้พาพลเอกสุรยุทธ์ซึ่งขณะนั้นเป็นพันเอก   ร่วมขบวนไปด้วย    พ่อกับลูกจึงได้พบหน้ากันอีกครั้ง
ชีวิตตรากตรำมายาวนานในป่าทำให้สุขภาพของพ.ท.พโยมซึ่งย่างเข้าวัย 70 เสื่อมโทรมลงมาก    ตั้งแต่พ.ศ. 2521 พ.ท.พโยมป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นประจำ   แต่ก็ดีใจที่ได้พบหน้าลูกชายซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แล้วในตอนนั้น   พ่อกับลูกมีโอกาสพบกันชั่วระยะสั้นๆไม่กี่วัน   

จากพ.ศ. 2521 ถึงพ.ศ. 2523   พ.ท.พโยมกลายเป็นคนป่วยเรื้อรัง     แต่ก็สามารถติดต่อกับทางบ้าน ส่งข่าวคราวถึงกันได้   ภรรยาของพ.ท.พโยมคือคุณวรรณดีมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมสามีในช่วงนั้น     ลูกๆแต่ละคนโตเป็นหนุ่มสาวกันแล้ว  ก็ได้แต่ฟังข่าวจากแม่  ไม่มีใครมีโอกาสได้เดินทางไปจีน

ก่อนถึงแก่กรรมไม่นาน  พ.ท. พโยมเขียนจดหมายฉบับสุดท้ายถึงลูก ๓ คน     ดิฉันได้รับอนุญาตให้เปิดเผยบางส่วนได้  ส่วนที่ไม่เปิดเผย มิใช่เป็นความลับอะไร  แต่เป็นการเอ่ยถึงแบบส่วนตัวของพ่อๆลูกๆ ซึ่งเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องเอาออกมาให้สาธารณชนเห็น

จดหมายฉบับนี้มิได้เขียนโดยสหายคำตัน หรือนายทหารเสนาธิการชื่อพ.ท. พโยม   แต่เขียนโดยพ่อคนหนึ่งที่จำเป็นจะต้องห่างลูกไปไกล และยาวนานตลอดชีวิต   ไม่มีโอกาสกลับบ้านมาพบกันอีก    จะส่งข่าวถึงกันก็ไม่ได้
จนล่วงเข้าวัยชรา สถานการณ์เอื้ออำนวยให้ส่งข่าวถึงกันได้สะดวกกว่าเมื่อก่อนมาก     พ่อก็รู้ว่าเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้ว   อะไรที่อยู่ในใจของพ่อ  จึงถ่ายทอดออกมาให้ลูกๆเห็นและเข้าใจเป็นครั้งสุดท้าย     


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง