เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 52641 พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 13 ธ.ค. 10, 12:14

ถูกต้องค่ะ



ไปหาข้อมูลมาแล้ว  ได้ข้อมูลเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องเดียวกับกบฏเสนาธิการหรือไม่  โปรดพิจารณา
ข้างล่างนี้ เป็นคำบอกเล่าของธิดาคนโตของท่าน

ครั้งหนึ่ง  พ.ท.พโยมเคยไปรับลูกสาวเมื่อครั้งเป็นนักเรียนที่ร.ร.เซนฟรังซิสซาเวียร์   แล้วพามารอหน้ากระทรวงมหาดไทย
ท่านคุยกับลูกสาวว่า 
"ไม่ต้องกลัวว่าถ้าใครบอกว่าพ่อเคยติดคุก    เพราะคนที่สอบเสนาธิการได้ที่ ๑ ถึง ๙ ติดคุกหมดทุกคน แต่ติดไม่กี่เดือน"
 
สาเหตุมาจากกในวิชาหนึ่ง มีการตั้งคำถามว่าคุณเห็นยังไงกับระบอบการปกครองและรัฐบาล    ในสมัยนั้นกระแสความไม่พอใจรัฐบาลก่อตัวขึ้นสูงมาก   นายทหารที่เข้าเรียนเสนาธิการต่างก็วิพากย์วิจารณ์รัฐบาลในทำนองไม่เห็นด้วย   ก็คงจะแรงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
จากที่วิพากย์วิจารณ์กันในห้องเรียน   ข่าวรั่วไปถึงรัฐบาลจอมพลป.    จากนั้น นักเรียนเสนาธิการที่สอบได้ลำดับที่ ๑-๙ ต้องย้ายที่เรียนไปเข้าคุกทั้งหมด
พร้อมกับคำบอกเล่า  พ.ท.พโยมก็ให้ลูกสาวดูชายคนหนึ่งที่เดินผ่านมา   แล้วบอกว่านี่คือคนที่สอบได้ที่ ๑  เดินนำหน้าเข้าคุก  ส่วนพ่อสอบได้ที่ ๖ ก็ติดเข้าไปด้วย   แต่เมื่อขึ้นศาล  ศาลก็ตัดสินปล่อยตัวพ.ท.พโยมไป     เพียงแต่ต้องไปรายงานตัวกับสันติบาลทุกเดือน


เมื่อลี้ภัยไปเมืองหางในพ.ศ. ๒๔๙๑    พ.ท.พโยมได้พาคุณวรรณดี และบุตรทั้งสองคนไปด้วย   คือคุณพยนต์และคุณศิริพร ซึ่งยังเล็กมากทั้งคู่ พักอยู่เมืองหางประมาณปีกว่าๆ
จากนั้นระหว่างพ.ศ. ๒๔๙๒ ถึง ๒๕๐๐ พ.ท.พโยมเดินทางเลาะๆอยู่ตามตะเข็บชายแดน   ไม่ได้ไปเมืองจีน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 14 ธ.ค. 10, 09:40

ดิฉันเข้าใจว่า กบฏเสนาธิการที่มีเรื่องว่าพ.ท.พโยมเข้าไปร่วมก่อการด้วย  จริงๆอาจไม่มีกบฏอะไรเลยก็ได้  เพราะตามรูปการณ์ ก็ไม่เคยมีการลงมือปฏิบัติการกันจริงๆ   มีแต่ข่าวออกมาจากทางฝ่ายรัฐบาลว่าจับกุมผู้วางแผนได้ก่อนลงมือเพียงวันเดียว   
แต่เมื่อมีการส่งฟ้องศาล พ.ท.พโยมกลับได้รับการปล่อยตัว   แสดงว่าไม่มีหลักฐานตามคำกล่าวหา    คือที่กล่าวหาว่าท่านมีหน้าที่จี้จับจอมพลป. หรือบุคคลสำคัญคนอื่น   
เพราะถ้ามีหลักฐาน แม้แต่มีพยานซัดทอด   พ.ท.พโยมคงเจอโทษหนัก  ถึงขั้นติดคุกหัวโต    และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกข้อหาล้มล้างรัฐบาลก็คงไม่ถูกศาลสั่งจำคุกแต่ ๓ ปี  แต่คงถูกประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว
เมื่อเทียบโทษที่ได้รับกับข้อหาฉกาจฉกรรจ์   จะเห็นว่าไม่สมดุลกันเลย   แต่ถ้าเป็นการวิพากย์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลป. โดยนายทหารกลุ่มหนึ่ง  เจอโทษขั้นนี้ก็น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงในยุคนั้นมากกว่า
เพราะสมัยนั้นการวิพากย์วิจารณ์รัฐบาล เป็นสิ่งต้องห้าม   โดยเฉพาะจากนายทหารในกองทัพแล้วถือว่าผิดวินัยร้ายแรง

ดังนั้น เมื่อ พ.ท.พโยม ได้รับคำตัดสินของศาลให้เป็นอิสระแล้ว   ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรจะต้องลี้ภัยไปเมืองจีน    แต่ก็กลับเข้ารับราชการทหารไม่ได้อยู่ดี    ท่านก็คงจะต้องเก็บตัวเงียบอยู่ ไม่ให้เป็นที่ขวางหูขวางตาของผู้เป็นใหญ่
ดังนั้นถ้าพ.ท.พโยมไปเมืองจีนในระยะนี้จริง ก็คงไปด้วยอุดมการณ์มากกว่าจะลี้ภัยการเมือง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 14 ธ.ค. 10, 13:19

พิมพ์เสร็จ คลิกผิดนิดเดียว หายไปเกลี้ยง   ต้องมาเริ่มหาข้อมูลและพิมพ์ใหม่   ร้องไห้
ระหว่างพ.ศ. 2492-2500 ที่พ.ท.พโยมต้องยุติบทบาททางการเมืองของตน  การเมืองไทยไม่ได้สงบลงหลังกบฏเสนาธิการ แต่เต็มไปด้วยความยุ่งยากและยุ่งเหยิง ต่อเนื่องกันมาอีกนานหลายปี
เรียงลำดับรายชื่อกบฏหรือรัฐประหารที่เรียงแถวต่อมา  ก็มีดังนี้

1. กบฏแบ่งแยกดินแดน (พฤศจิกายน 2491)
เป็นกบฏทำนองเดียวกับกบฏเสนาธิการ คือไม่มีการลงมือ  แต่มีการตั้งข้อหาจากรัฐบาลว่าส.ส.จากภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม ว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย 
แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิคุ้มครองทางการเมือง

ต่อมาพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ออกคำสั่งจับกุม 4 อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน ประกอบด้วย จำลอง ดาวเรือง ถวิล อุดล ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ทั้งหมดเป็นนักการเมืองในสังกัดของนายปรีดี พนมยงค์ และเตียง ศิริขันธ์

 เวลา 03:00  ในคืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 ที่ถนนพหลโยธิน ก.ม.ที่ 11 บริเวณบางเขน (ใกล้แยกรัชโยธิน) ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวขึ้นรถขนนักโทษ   ทางตำรวจแถลงว่าเกิดจากการปะทะกับโจรมลายูที่จะมาชิงตัวนักโทษ   ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโจรมลายูจะมาชิงผู้ต้องหาที่แบ่งแยกดินแดนอีสาน?
     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 15 ธ.ค. 10, 18:10

2  กบฏวังหลวง

คงจำได้ในค.ห.ก่อนหน้านี้ว่า เมื่อรัฐบาลจอมพลป. ลงมือจับกุมกบฏเสนาธิการ   ได้ส่งทหารไปจับนาย ปรีดี พนมยงค์ ด้วยในฐานะผู้ร่วมก่อการ  ในคืนวันที่ 30 กันยายน 2491   แต่ว่านายปรีดีหนีรอดไปได้   ไปลี้ภัยอยู่ที่เมืองจีน พร้อมด้วย เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการเลขานุการส่วนตัว   
แต่ก็อยู่ได้ไม่กี่เดือน ก็เดินทางกลับมา เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2492  ตอนแรกนายปรีดี ให้เหตุผลว่าต้องการกลับมาสู้คดีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล   
ด้วยความที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทหารเรือ จึงขอให้ เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช เป็นตัวแทนไปติดต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล เช่นพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ พันโท ละม้าย อุทยานานนท์ และพลตรี สฤษดิ์ธนะรัชต์ เพื่อให้แน่ใจก่อนว่าตัวเองจะปลอดภัย ในการต่อสู้คดีอย่างเปิดเผย

แต่คนสำคัญเหล่านั้นปฏิเสธ  เล่นไม้แข็ง ไม่ประนีประนอมด้วย     นายปรีดีมองออกว่าถ้าหากว่าอยู่ในประเทศต่อไปโดยมีข้อหากบฏเป็นชนักปักหลังอยู่  ก็มีแต่ชะตาจะเลวร้ายลงทุกที    จึงฮึดสู้รัฐบาล   ตั้งกองทัพพลเรือนขึ้นมา โดยได้ความร่วมมือจากทหารเรือ ทหารบก และตำรวจบางส่วน   ส่วนพลเรือนก็มีเหล่าอดีตเสรีไทยเป็นกองหนุน 
วิธีการก็คือการจู่โจมแบบ "สายฟ้าแลบ" เข้ายึดสถานที่สำคัญ จับกุมบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่าง ๆ แล้ว ทำการปลดอาวุธ จากนั้นจึงล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศตั้งรัฐบาลใหม่ตลอดจน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2475 มาใช้ โดยนัดหมายสมาชิกเสรีไทย เวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ว่าจะมีงานเลี้ยง
บุคคลที่นายปรีดีนัดแนะมาได้แก่ พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นายสมพงษ์ ชัยเจริญ นายละออ เชื้อภัย นายกมล ชลศึกษ์นายทวี ตเวทิกุล และยังมีคนอื่นๆอีกประมาณ 50 คน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 15 ธ.ค. 10, 18:17

เว็บนี้เล่าเรื่องกบฏวังหลวงไว้ละเอียดลออ   ได้สีสันตื่นเต้นราวกับกำลังดูหนังสงคราม
ดิฉันจะมาเรียบเรียงใหม่ก็คงได้อรรถรสสู้ของเดิมไม่ได้  จึงขอลอกมาให้อ่านรายละเอียดกันตามนี้

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=134659

.............
    แผนแรกคือใช้กำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอาไว้ เป็นกองบัญชาการ และรวบรวมสรรพกำลัง  แผน ต่อไปคือจะใช้กำลังส่วนหนึ่ง เข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้เป็นกองบัญชาการชั่วคราว เหตุผลที่เลือกพระบรมมหาราชวัง เพราะมีกำแพงมั่นคงแข็งแรง มีปราสาทราชมณเฑียรอันล้ำค่า ซึ่ง ฝ่ายก่อการคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงไม่กล้าที่จะใช้อาวุธหนักเข้าทำการปราบปราม
    และที่สำคัญที่สุดคืออยู่ติดกับกองเรือรบ ซึ่งขณะนั้นยังตั้งอยู่ที่ฝั่งพระนคร ส่วนที่บัญชาการคุมกำลังส่วนใหญ่ หรือเป็นที่รวบรวมสรรพอาวุธอันสำคัญนั้น อยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือที่ศาลาแดง
    กำลังอีกส่วนหนึ่ง นายปรีดี ได้บัญชาการให้ไปยึดบริเวณวัดพระเชตุพนตรงข้ามกับ ร. พัน 1. เพื่อเป็นการตรึงกำลัง ร. พัน. 1 ไว้ เมื่อกำลังส่วนต่างๆในพระนคร ซึ่งมีทหารบก พลเรือน ตำรวจเข้ายึดสถานที่สำคัญๆ เพื่อตรึงกำลังของหน่วยทหารบกบางแห่งไว้แล้ว กลุ่มเสรีไทยที่เคยร่วมมือกับนายปรีดีต้านญี่ปุ่น ก็จะเคลื่อนกำลังเข้าสมทบโดยเร็วที่สุด
    โดยนายชาญ บุนนาค ผู้จัดการป่าไม้สัมปทานหัวหิน จะเป็นผู้นำพวกเสรีไทยเข้าสู่พระนคร นายชวน เข็มเพชร นำพวกเสรีไทยภาคตะวันออกได้แก่ ลาว ญวณอิสระ เข้ามาทางอรัญประเทศ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ จะนำพวกเสรีไทยยึดภาคอิสาน แล้วจะนำพวกเสรีไทยเข้ามาสมทบในพระนคร นายเปลว ชลภูมิ จะนำเสรีไทยจากเมืองกาญจนบุรี เข้ามาสมทบอีก สำหรับทหารเรือที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฎิวัติของนายปรีดีนั้น ก็มี พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ  พล. ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ ก็จะนำกำลังทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบ ชลบุรี ระยอง เคลื่อนมารวมกำลังที่ชลบุรี ต่อจากนั้นจะมุ่งสู่กรุงเทพฯ เพื่อดำเนินตามแผนการณ์ที่วางไว้

     ด้าน ของทหารเรือนั้นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลย กับการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ แต่จากการที่ทหารบกและทหารเรือ มีข้อขัดแย้งที่ลึกซึ้ง กันมาก่อน จึงได้มีการเคลื่อนพลใหญ่ เพื่อทำการซ้อมรบ ทั้งจากหน่วยนาวิกโยธิน กองเรือรบ และกองโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนทหารบกก็มีการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ ด้วยกระสุนจริงใน 23 กุมภา พันธ์ พ.ศ. 2492 เรียกว่า "การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก"

   ต่อมา  รัฐบาลซึ่งพอทราบระแคะระคายเกี่ยวกับการกลับมาของนายปรีดี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น และสั่งให้มีการ เตรียมพร้อมทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ภายใต้แผนการปราบจลาจล ที่เรียกเป็นรหัสลับว่า "แผนช้างดำ ช้างน้ำ" โดยมีข้อตกลงระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นให้แต่ละกองทัพแบ่งเขตกันทำการปราบปรามและปฏิบัติงาน ร่วมกันในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ของแต่ละกองทัพ

    ใน ส่วนของกองทัพบกในตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 มี การเตรียมพร้อมตามกองพันต่างๆ มีการตั้งปืนกลตามจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะข้างวังสวนกุหลาบ ปิดการจราจร
    ส่วนกำลังทหารเรือ จากกองสัญญาณทหารเรือ ณ ที่ตั้ง (ซึ่ง ต่อมากลาย เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร ลุมพินี) ได้วางกำลังที่สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่เวลา 18.00 น และ ปิดถนนสายกรุงเทพ สมุทรปราการ สำหรับกำลังนาวิกโยธินจากจังหวัดชลบุรี ที่เตรียมนำมา เสริมตามจุดต่าง ๆ ปรากฏว่าแพขนานยนต์ติดแห้งที่ท่าข้ามบางปะกง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 15 ธ.ค. 10, 18:19

     ขณะ เดียวกันสมาชิก เสรีไทย คือ นายประสิทธิ์ ลุสิตานนท์ ได้นำอาวุธที่นำมาจากบริษัท เคเถา ตัวแทนจำหน่ายปืน ไปแจกจ่ายให้พรรคพวกในธรรมศาสตร์ เวลา 20.30 น เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวชนายทหารนอกราชการ  ได้เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรถยนต์ 4 คัน ภายในรถมีอาวุธและพลพรรคเต็มคันรถ ที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี นายเรือเอก วัชรชัย กระโดดลงจากรถ พร้อมด้วยพรรคพวก ก็พร้อมอยู่แล้วสำหรับเหตุการณที่จะเกิดขึ้น
จากนั้น ร.อ. วัชรชัย ก็ร้องเรียกให้นายร้อยโทพร เลิศล้ำ ผู้ขกองรักษาการณ์ ร. พัน. 1 ประจำ พระบรมมหาราชวัง ออกมาพบที่หน้าประตู เมื่อ ร.ท. พร ออกมาพบก็ถูกเอาปืนจี้บังคับให้ปลดอาวุธโดยทันที จากนั้นก็บุกเข้าไปปลดอาวุธทหารที่รักษาการณ์ทั้งหมด แล้วเข้ายึดพระบรมมหาราชวังไว้ได้ ก่อนจะลำเลียงอาวุธนานาชนิดเข้าไป

เมื่อการยึดพระบรมมหาราชวังได้เป็นไปตามแผนแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ กับพรรคพวก 7 คน สวมเครื่องแบบทหารสื่อสาร พร้อมอาวุธครบมือ ได้พากันเข้าไปในสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการพญาไท แล้วใช้อาวุธบังคับเจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ แล้วกระจายข่าวเมื่อเวลา 21.15 น. ด้วยเสียงของ พันตรี โผน อินทรทัต เสรีไทยสายอเมริกาแทรกรายการแสดงลิเกเรื่องคำปฏิญาณของ นายสุชิน ว่า
 ....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ล้มเลิกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสีย และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วย และได้แต่งตั้งนาย ดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ให้นายทวี บุณยเกต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้ประกาศแต่งตั้งและปลดบุคคลสำคัญ อีกหลายคน จากนั้นก็ถอดชิ้นส่วนของเครื่องกระจายเสียงไปด้วย เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลทำการกระจายเสียงต่อไป

คำ แถลงการณ์จากวิทยุของพวกกบฎแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ฝูงชนที่สัญจรไปมา พากันกลับบ้านจ้าละหวั่น เพราะเกรงอันตราย ร้านรวงต่างๆพากันปิดกิจการ เพราะกลัวพวกปล้นสะดมจะฉวยโอกาส

จุดแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ และพรรคพวกจะเข้ายึดก็คือ กรมรักษาดินแดน อันอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พ.อ. จรัส โรมรัน รองเจ้ากรมรักษาดินแดน และทำการปลดอาวุธให้สิ้นเชิง      แต่ก็ช้าไป คำสั่งจากกองบัญชาการของรัฐบาลให้เตรียมรับสถานการณ์จากฝ่ายกบฎ ทำให้ทหารในกรมการรักษาดินแดน จึงพร้อมอยู่เสมอในการที่จะรับการจู่โจมจากฝ่ายกบฎ ทหารเข้าประจำอยู่ตามจุดต่างๆ อย่างพร้อมเพียงที่จะหยุดยั้งการจู่โจมของกบฎ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายรัฐบาลก็ลำเลียงกำลังทหารและอาวุธเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทำให้กรมการรักษาดินแดนมีกำลังต้านทานแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

แผนการจู่โจมได้กระทำสำเร็จแล้วในการยึดวังหลวง สำหรับกรมการรักษาดินแดนนั้นล้มเหลว เพราะรัฐบาลสั่งการและป้องกันไว้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ฝ่ายกบฎจึงได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ใช้การเจรจาทางการทูตแทน โดยให้คนยกธงขาวขอเปิดการเจรจาด้วยสันติวิธี แต่ได้รับการปฎิเสธไม่ยอมร่วมมือ ทูตสันติจึงกลับไปรายงานถึงความล้มเหลวในการเจรจา และพันเอกจำรัส โรมรัน เจ้ากรมรักษาดินแดนยังได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฎถอยออกไปเสียจากวังหลวง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนรุ่งอรุณ ถ้าไม่ปฎิบัติตามจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป


จึงอาจวิเคราะห์ แยกการปะทะออกมาเป็นสองกรณี คือ การปะทะกันระหว่าง ทหารบกผู้ปราบจลาจลกับฝ่ายกบฏในวังหลวง กับ กรณีปะทะกันที่ราชประสงค์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ แต่ทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นวันเวลาเดียวกัน คือ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทหารเรือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเอง เป็นกบฏ หรือ เป็นฝ่ายกบฏเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล กับหยุดยั้งความก้าวร้าวของทหารบก ยกเว้นทหารเรือกลุ่ม พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เท่านั้นที่คิดว่าตนเองแพ้ไปพร้อมกับฝ่ายกบฏด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 15 ธ.ค. 10, 18:23

23.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ให้ลูกน้องยิงปืนจากท่าวาสุกรีไปยังวังสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทหาร โดยฝ่ายกบฎใช้เครื่องยิงลูกระเบิด ค. 85 ชุดแรกยิงไป 4 นัด แต่ลูกกระสุนพลาดเป้าไปตกที่หลังบ้านพลโทสุข ชาตินักรบ

ก่อน เสียงปืนจะดังขึ้น พลต.ตเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้นำกำลังตำรวจสถานีชนะสงครามมายึดกรมโฆษณาการไว้โดยเรียบร้อย ในเวลาเดียวกันรถยนต์หุ้มเกราะขบวนหนึ่งก็วิ่งมาที่กรมโฆษณาการ พร้อมด้วยทหารอาวุธครบมือ นำโดย พลโทหลวงกาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นกำลังทหารอีกหน่วยหนึ่งจากสวนเจ้าเชตุก็มาถึง และเข้าทำการรักษากรมโฆษณาการต่อจากกำลังตำรวจ ต่อมาเวลา 02.00 น. ได้เข้ายึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไท และยิงพันตรี โผน อินทรทัต ตายแต่ ไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้ เนื่องจากชิ้นส่วนของเครื่องส่งถูกถอดออก จึงย้ายไปส่งกระจาย เสียงจากสถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร

จอม พล ป. และคณะรัฐบาลจึงออกประกาศเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงการปฎิวัตินั้นว่า รัฐบาลได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกกบฎอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเป็นระยะ จึงได้ทราบแน่ชัดว่า ไม่มีวิถีทางใดที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้ จึงเตรียมอยู่ทุกโอกาสที่จะรับมือพวกกบฎ เมื่อการกบฎเกิดขึ้นฝ่ายรัฐบาลจึงได้แต่งตั้งให้ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกที่ 1 เป็นผู้อำนวยการปราบปรามกบฎคราวนี้ ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ

ใน ด้านสะพานเฉลิมโลก (ตรงประตูน้ำ) อันเป็นแดนแบ่งเขตรักษาการณ์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ หรือเป็นพื้นที่ร่วมก็ เกิดการเข้าใจผิดจนเกิดปะทะกัน เมื่อเรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจ ทหารเรือ ขอเข้าไปตรวจ แต่ทหารบกไม่ยอม เกิดการโต้เถียงและยิงกันจน เรือตรี ประภัทร จันทรเขต ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส (ท่านผู้นี้ต่อมา เป็นพลเรือโท เจ้ากรมยุทธศึกษาทหาร) เมื่อ เวลา 01.00 น. ทำให้ นาวาเอก ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งท่านมีนิสัยรักลูกน้อง ยิ่ง เกิดความเจ็บแค้น จึงเขียนข้อความออกอากาศทางสถานีวิทยุของกอง สัญญาณทหารเรือ ซ้ำ ๆ อยู่หลายครั้งว่า "ทหาร บกกระทำแก่ทหารเรือจนสุดจะทนทาน ขอให้ทหารเรือกระทำ ตอบแทน โดยให้เรือรบทุกลำเข้ามาในพระนครเพื่อทำการต่อสู้กับทหารบก เพื่อเกียรติและ ศักดิ์ศรีของ ทหารเรือเอง"

เนื่อง จากการกระจายเสียงของสถานีวิทยุกองสัญญาณทหารเรือ ดัง กล่าว ใช้คลื่น เดียวกับคลื่นส่งวิทยุของกรมจเรทหารสื่อสารกองทัพบก ประชาชนจึง ตกอยู่ใน ความหวาดผวา ในเหตุการณ์ที่สับสน การต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างทหารบกและทหารเรือ เกิดขึ้น จากการปลุกเร้า ของวิทยุกองสัญญาณ ทหารเรือ ที่มุ่งเน้นอยู่ตรงความไม่พอใจจากการ ที่ ทหารเรือถูกทหาร บกยิง มิใช่อยู่ที่การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจการปกครองแต่อย่างใด

การ ปลุกเร้า ดังกล่าวสามารถ ระดมกำลังแทบทุกส่วนของกองทัพเรือ แม้แต่เรือรบที่กำลังฝึกทางทะเล ก็ ยัง เดินทางเข้ามา ตามคำประกาศนั้น ยกเว้นกองพันนาวิกโยธิน ที่ 4 และ 5 สวนอนันต์ ซึ่ง อยู่ใกล้ กับพระบรม มหาราชวัง อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายกบฏ มิได้แสดง ท่าทีและ ออกปฏิบัติ การที่เป็น การ หนุนช่วยหรือให้ความคุ้มกันฝ่ายกบฏแต่อย่างใด การที่ทหารเรือ ไม่ได้สนับสนุน เต็มที่ใน ทุกส่วนนี่เอง เป็นผลให้นายปรีดี ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา

ทางด้านพระบรมมหาราชวังอันเป็นป้อมปราการของนายปรีดี ยังเปิดฉากยิงเข้าไปใน ร. พัน. 1 มีทหารเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกหลายนาย ผู้บังคับบัญชาการกองทัพทหารราบที่ 1 ได้สั่งการให้ยิงโต้ตอบไปบ้างเสียงสนั่นกรุง ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เงีบยไป

เวลา 02.00 น.พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 สั่งการให้ พันเอก ถนอม กิตติขจร ผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 11 และ พันโท กฤช ปุณณกัณฑ์ ผู้บังคับการกรมรถรบ ให้ล้อมพระบรมมหาราชวัง 3 ด้าน (ยกเว้นด้านกองเรือรบ) และบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทหารราบและ ป.ต.อ. วิ่งตามเข้าไปอย่างไม่เกรงกลัว พวกฝ่ายกบฎในพระบรมมหาราชวังยิงปืนกราดออกมาดังห่าฝน รถถังคันหนึ่งในจำนวนหลายคันถูกปืนบาซูก้ากระหน่ำเสียจนไปต่อไม่ได้ จากนั้นรถถังอีก 2 คัน ก็พุ่งเข้าชนประตูวิเศษไชยศรีจนประตูเบื้องซ้ายพังลงมา จากนั้นก็พากันบุกเข้าไปอย่างรวดเร็ว เกิดการยิงต่อสู้กันอย่างรุนแรงและหนักหน่วง

กำลังฝ่ายรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งได้โอบล้อมเข้าไปอย่างเงียบๆ โดยกำลังทหาร ร. พัน 1 สวนเจ้าเชตุ ได้เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และระดมยิงปืนใหญ่ พอเวลา 06.00 น. ประตูสวัสดิ์โสภา และเทวาพิทักษ์ก็พังลง เปิดทางให้ทหารราบกรูกันเข้าไปในพระบรมมหาราชวังได้อีก 2 ทาง ฝ่ายกบฏจึงถูกบีบวงล้อมกระชับขึ้น และตกอยู่ในฐานะลำบาก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 15 ธ.ค. 10, 18:24

นาย ปรีดี พนมยงค์ ในชุดพันจ่าเอกไว้หนวด เรือเอก วัชรชัยและชนชั้นหัวหน้าพากันหลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวัง ออกไปทาง ประตูเทวาภิรมย์ ด้านท่าราชวรดิษฐ์ โดยเรือโท สิริ ข้าราชการกรมพระธรรมนูญทหารเรือ เป็นผู้นำออกไป แต่เมื่อได้นำตัวนายปรีดีออกไปได้แล้ว ก็เกิดกลัวความผิด จึงได้กระโดดน้ำตายที่ท่าราชวรดิตถ์นั่นเอง แม้ว่าผู้ก่อการชั้นหัวหน้าจะหนีไปแล้ว ฝ่ายผู้ก่อ การในวังที่เหลือ ยังใช้กลยุทธ์ยิงทางโน้นทีทางนี้ที ลวงให้ทหารบก ผู้ปราบจลาจล และทหาร เรือที่กองเรือรบ เข้าใจผิดต่างกระหน่ำยิงกันต่อไปกันใหญ่ จนสายก็ไม่หยุด

ใน อีกด้านหนึ่งของ กรุงเทพ ฯ ทางด้านสี่แยกราชประสงค์ รถถังของ พันเอก ประภาส จารุเสถียร ผู้บังคับการกรม ทหารราบที่ 1 ได้รับคำสั่งให้ข้ามสะพานราชเทวี เพื่อเตรียมเผด็จศึกด้านกองสัญญาณทหารเรือ ถูกบาซูก้าของทหารเรือยิงทำลายกลางสะพาน จากนั้นทหารเรือก็ใช้ปืน ค.85 ยิงถล่มใส่ อย่างรุนแรง จนทหารบกต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวนข้ามทางรถไฟสายอรัญประเทศไปตั้ง หลักที่สี่แยกพญาไท และทหารเรือสามารถยึดรถถังกับปืนใหญ่ทหารบกได้

เหตุการณ์ ดำเนิน มาถึง ราว 16.00 น. กำลังทหารเรือหนุนเนื่องเป็นสายก็ขึ้นมาจากเรือ ณ ท่าเรือใหม่(ท่าเรือ คลองเตย) มาสู่กองสัญญาณ เสียงทหารเรือพูดกันอย่างมั่นใจว่าพวกเราเป็นผู้ถูกข่มเหงน้ำใจ มานานแล้ว เลือดนาวีต้องสู้กันละ

ภาย หลังการปราบปรามพวกกบฎ ภายในพระบรมมหาราชวังเรียบร้อยแล้ว พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้นำกำลังที่มีอยู่เคลื่อนมายังบริเวณดังกล่าว ท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างดุเดือดนั้น พลตรีประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดเจรจาหยุดยิง พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยอมรับข้อเสนอในการหยุดยิงของฝ่ายทหารเรือ เพราะไม่ต้องการให้คนไทยฆ่ากันเอง โดยให้ตั้งเวลาหยุดยิงให้ตรงกันคือ 10.15 น.

 ครั้นได้เวลา 10.15 น. ฝ่ายทหารเรือ ทหารบก ก็หยุดยิงกันตลอดแนว และจากนั้นก็ไกล่เกลี่ยกันจนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว แต่ละฝ่ายก็เคลื่อนกำลังเข้าสู่ที่ตั้งของตน

หลัง จากปราบปรามพวกกบฎในครั้งนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข อดีตผู้บังคับการสันติบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ แต่ทั้งสองคนถูกตำรวจยิงตายในข้อหาว่า ต่อสู้เจ้าหน้าที่.

ส่วน นายปรีดี ยังคงหลบซ่อนตัว ในประเทศ ไทยต่อไปอีก 6 เดือน จึงได้อาศัยเรือหาปลาเล็ก ๆ ลำหนึ่ง เดินทางไปประเทศ สิงคโปร์ ซ่อน ตัวอยู่ในประเทศสิงคโปร์อีก 11 วัน จากนั้นจึงเดินทางโดยเรือเดินสมุทร "ฮอยวอง" ไปประเทศ ฮ่องกง และต่อด้วยรถยนต์ไปซิงเตา

กบฏวังหลวง มีพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้ง 2 มิติ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือว่าเป็นกบฏวังหลวงแท้ๆ      อีกมิติหนึ่งคือ ความขัดแย้งที่ดำเนินมา เป็นระยะ เวลาอันยาวนานระหว่างทหาร บกกับทหารเรือ ซึ่งเกิดมาภายหลังการเปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.2475 จากกรณี ต่าง ๆ เช่น การที่ทหารบกซึ่งคุมอำนาจทางการเมือง แทรกแซงการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ทหารเรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรณีกบฏบวรเดช และผู้นำทหารบก ออกคำสั่งที่ได้ขัดต่อความรู้สึก ของทหารเรือทั่วไป

จึงอาจวิเคราะห์ แยกการปะทะออกมาเป็นสองกรณี คือ การปะทะกันระหว่าง ทหารบกผู้ปราบจลาจลกับฝ่ายกบฏในวังหลวง กับ กรณีปะทะกันที่ราชประสงค์ระหว่างทหารบก ทหารเรือ แต่ทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นวันเวลาเดียวกัน คือ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทหารเรือ ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตนเอง เป็นกบฏ หรือ เป็นฝ่ายกบฏเข้าข้างฝ่ายกบฏ แต่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดในระหว่างการ ปราบจลาจล กับหยุดยั้งความก้าวร้าวของทหารบก ยกเว้นทหารเรือกลุ่ม พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เท่านั้นที่คิดว่าตนเองแพ้ไปพร้อมกับฝ่ายกบฏด้วย


กบฏวังหลวงจบสิ้นลงด้วยความพ่ายแพ้ของนายปรีดี พนมยงค์และผู้ร่วมก่อการ   รัฐบาลจอมพลป. ชนะ  แต่ความตึงเครียดทางการเมืองไม่ได้จบลงแค่นี้
ผลกระทบต่อเนื่องคือความไม่พอใจของทหารเรือ ต่อรัฐบาล ก็ส่งผลให้เกิดกบฏใน 2 ปีต่อมา คือกบฏแมนฮัตตัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 16 ธ.ค. 10, 07:56

กบฏวังหลวงที่พ่ายแพ้ต่อรัฐบาล อาจวิเคราะห์สาเหตุได้ในบางประเด็น คือ
๑   ฝ่ายกบฏประเมินสถานการณ์ผิด ที่ว่าการยึดพระบรมมหาราชวังเป็น "หลักประกัน"  ที่จะทำให้รัฐบาลไม่กล้าใช้ปืนใหญ่โจมตี    เพราะคงเกรงความเสียหายต่อพระที่นั่งสำคัญๆ  ซึ่งรวมทั้งวัดพระแก้วอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์     
แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่กลัวข้อนี้  เล่นไม้แข็ง  กล้าล้อมยิงและบุกเข้าไป   เพียงแต่ไม่ลุยเปะปะ จนทำความเสียหายให้กับพระที่นั่งและตัววัดเท่านั้น
๒   การยึดวังหลวง เป็นที่แคบ  ทำให้ถูกล้อมและฝ่ายรัฐบาลกระชับพื้นที่ได้ง่าย
๓   ทหารเรือบางส่วนไม่ร่วมมือด้วย โดยเฉพาะหน่วยกำลังสำคัญ คือนาวิกโยธิน
๔   กำลังของรัฐบาลเหนือกว่า  ความจัดเจนในการรบก็มากกว่าด้วย

นโยบายรัฐบาลลุยแบบไม่คำนึงถึงตัวประกัน  ถูกนำมาให้อีกครั้งในกบฏแมนฮัตตันใน ๒ ปีต่อมา   

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง นำโดย น.ต.มนัส จารุภา รน. จู่โจมเข้าจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ แมนฮัตตัน ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร  นำไปกักขังไว้ในเรือหลวงชื่อ "ศรีอยุธยา" ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ. อานนท์ บุญฑริกธาดา รน. สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระนคร และประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยบังคับให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกประกาศกระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรีจากในเรือ
แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม กลับกระจายเสียงตอบโต้ โดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดินแดน (ร.ด.) แล้วตั้งนายวรการบัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีแทน และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม) จึงเกิดการต่อสู้ยิงกันอย่างหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ

รัฐบาลปราบกบฏแบบลำหักลำโค้น   กระหน่ำระเบิดจากเครื่องบินแบบ Spirt fire และ T6 ใส่เรือหลวงศรีอยุธยาที่อยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไม่เกรงว่าหัวหน้ารัฐบาลถูกจับเป็นนักโทษอยู่ในเรือ   จะพลอยเป็นอันตรายไปด้วย   ในที่สุดเรือก็จม
แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดวงแข็งเอาการ  นอกจากไม่ได้รับบาดเจ็บ   ก็ได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือ   ว่ายน้ำหลบหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย
การกบฏครั้งนี้นับว่าเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และประชาชนเคราะห์ร้ายโดนลูกหลงไปด้วย   ส่วนผู้ก่อการได้แยกย้ายกันหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์

น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้ทำการจี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2495

เหตุการณ์สิ้นสุดลงด้วยการจับกุมผู้ต้องหาร่วม 1,000 คน ปล่อยตัวเพราะหาหลักฐานไม่เพียงพอจนเหลือฟ้องศาลประมาณ 100 คน ภายหลังนักโทษคดีนี้ส่วนใหญ่ได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ
ในส่วนของกองทัพเรือ แม้ทหารที่ก่อการจะไม่ใช่ทหารระดับสูงและทหารเรือส่วนใหญ่ก็ไม่เกี่ยวข้องด้วย กระนั้น ต่อมา พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือก็ ยังต้องโทษตัดสินจำคุกนานถึง 3 ปี โดยที่ไม่มีความผิด และได้มีการปรับลดอัตรากำลังพลของกองทัพเรือลงไปมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ยุบกรมนาวิกโยธินกรุงเทพ ยุบกองการบินกองทัพเรือไปรวมกับกองทัพอากาศ ย้ายกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนวิทยุ ที่ต่อมากลายเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร ใกล้สวนลุมพินี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 20 ธ.ค. 10, 16:21

กบฏในคิวต่อมา เกิดเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2495 เรียกกันว่า "กบฏสันติภาพ"
กบฏนี้มีบางอย่างคล้ายคลึงกับกบฏเสนาธิการ คือฝ่ายรัฐบาลจับกุมบุคคลกลุ่มหนึ่ง โดยไม่มีการลงมือทำการอันใดล้มล้างรัฐบาล  เพียงแต่ไม่เห็นด้วย    พวกนี้ก็ถูกจับกุมคุมขังเสียแล้ว

กรมตำรวจ ที่มีพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์เป็นอธิบดีตำรวจ  แถลงว่า//
"...ปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..."

กลุ่มที่ถูกประเดิมข้อหา'กบฏ' คือสมาชิกคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2494  มี นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธานคณะกรรมการ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส. โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี    ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี
คณะกรรมการกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีนเพื่อต่อต้านสงครามเกาหลี  ก็เจอข้อหากบฏเข้าเสียก่อน 

จากนั้นการจับกุมคุมขังก็ขยายผลกว้างออกไปเรื่อยๆ   นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนมีชื่อหลายคนอยู่ในระลอกสองสามต่อมา 
นอกเหนือจากนายกุหลาบ สายประดิษฐ์  หรือ"ศรีบูรพา" ก็มี
นาย อารีย์ ลีวีระ - เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร
นาย สุภา ศิริมานนท์ - เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น
นาย อุทธรณ์ พลกุล - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ
นาย แสวง ตุงคะบริหาร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร
นาย บุศย์ สิมะเสถียร - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย
นาย ฉัตร บุณยศิริชัย - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ
นาย สมุทร สุรักขกะ - บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
นาย สมัคร บุราวาศ
นาย เปลื้อง วรรณศรี ฯลฯ

รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อาทิ

นาย มารุต บุนนาค - ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นาย ลิ่วละล่อง บุนนาค - ผู้นำนักศึกษา
นาย สุวัฒน์ วรดิลก - นักประพันธ์
นายฟัก ณ สงขลา - ทนายความ
นายสุ่น กิจจำนงค์ - เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร
นายสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ

กลุ่มต่อมาที่โดนเข้าด้วยคือภรรยาและบุตรของนายปรีดี ซึ่งลี้ภัยออกนอกประเทศไปตั้งแต่ล้มเหลวจากกบฏแมนฮัตตัน 
ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ และนายปาล พนมยงค์
อีกคนหนึ่งคือพลตรี เนตร เขมะโยธิน ที่เคยถูกข้อหากบฏเสนาธิการมาก่อน

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ  โดยร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  จึงขจัดเสี้ยนหนามเสียก่อน

คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ใน พ.ศ. 2500

ในเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างนี้   บุคคลใกล้ตัวที่พ.ท.พโยมรู้จักดีต่างก็ได้รับภัยการเมืองไปตามๆกัน    พ.ท.พโยมจึงรู้ดีว่าไม่อาจกลับมาสู่วงการเมืองได้อีก
ตราบใดที่จอมพลป.และพลต.อ.เผ่า ยังมีอำนาจอยู่ในการบริหารประเทศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 20 ธ.ค. 10, 16:44

ขอคั่นด้วยบันทึกจากหลานคนหนึ่งของพ.ท.พโยม  ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากที่ได้พบท่าน  และได้รับคำบอกเล่าจากญาติผู้ใหญ่
ถึงการลี้ภัยทางการเมืองครั้งแรก

               มีเรื่องที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังอีกว่า "...."   ไม่ชอบคุณลุง มีความขัดแย้งกันมาก  ครั้งหนึ่งมีการนำรถ ไปปิดล้อมรัฐสภาหมายจะจับคุณลุงให้ได้ แต่คุณลุงไหวตัวทันจึงวางหมวกที่สวมประจำไว้ที่โต๊ะ   แล้วก็ล่องหนไปเลย นานเท่าใดไม่ทราบแต่คุณสมบูรณ์ วรพงษ์  เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า ไปพบคุณลุงลี้ภัย(ครั้งแรก)ที่เชียงตุง
               เมื่อคุณลุงกลับจากเชียงตุง มากรุงเทพฯ ท่านมาที่บ้านแต่ยังไม่ขึ้นมาบนบ้าน  คงยืนรีรออยู่บริเวณลานบ้าน ดิฉันอายุราว 6-7 ขวบ เดินเล่นอยู่บนบ้าน มองไปเห็น “ใครก็ไม่รู้”  ก็วิ่งไปบอกคุณแม่ซึ่งเป็นน้องสาวของท่าน  ตั้งแต่นั้น ดิฉันจึงรู้ว่าท่านเป็นใคร เราอยู่บ้านเดียวกัน ดิฉันยังภาพตอนนั้นจำได้ว่าคุณลุงเป็นชายร่างสันทัด สมส่วนชายชาติทหาร  ทุกเช้าจะเห็นท่านออกกำลังกายอยู่นานมาก   ทั้งวิดพื้น ซิดอัพ ยกลูกตุ้ม  ใช้เวลาเป็นชั่วโมงทุกวัน               
              เมื่อต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจก็เป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ดิฉันเคยเห็นภาพนั้น นักข่าวก็จะไปดักเพื่อทำข่าวแต่คุณลุงก็จะหลบนักข่าวเหล่านี้ได้ทุกที
                 ชีวิตในบ้านดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ดิฉันจำได้ว่าคุณป้า จะนั่งมวนบุหรี่ให้คุณลุงด้วยอุปกรณ์เล็กๆ แต่เดี๋ยวเดียวก็จะได้บุหรี่เป็นมวนวางเรียงกันเป็นแถว ตอนนั้นไม่เข้าใจว่า คุณป้าทำได้ไง แต่ถ้าเทียบกับการทำข้าวปั้นญี่ปุ่นสมัยนี้ก็คงได้ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า และใช้ใบยาสูบแห้งๆห่อยาเส้น   
                คุณลุงเป็นคนที่มีความรู้ดี ภาษาอังกฤษก็เก่ง  ถ้าอ่านหนังสือที่แจกในงานฌาปนกิจศพมารดาของท่าน ก็จะเห็นฝีไม้ลายมือว่าเขียนได้ดีเพียงใด      หนังสือเล่มนั้นชื่อ “ อ้อมอกแม่ ”  และดิฉันจำได้ว่า เคยได้ยินคุณลุงพูดภาษาเหนือ กับคุณป้า ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ ด้วยสำเนียงเหมือนคนเชียงใหม่เลย


    ภรรยาที่เอ่ยถึงในบันทึกนี้คือคุณวรรณดี จุลานนท์   เป็นชาวเชียงใหม่   ตามประวัติว่าเคยเป็นช่างฟ้อนในคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่มาก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 20 ธ.ค. 10, 16:49

จากบันทึกของหลานสาวพ.ท.พโยม   แสดงว่า ท่านไม่ได้ลี้ภัยจากเมืองหางไปอยู่ที่ประเทศจีน ๘ ปีอย่างที่ปรากฏในหนังสือบางเล่ม 
แต่ว่าคงจะอยู่นอกประเทศไทยสักระยะหนึ่งแล้วกลับมากรุงเทพ   เก็บตัวอยู่ที่บ้านญาติ  พ้นข้อหาคดีกบฏเสนาธิการ  แต่ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ   
ระหว่างที่จอมพล.ป บริหารประเทศอยู่จนถึงพ.ศ. ๒๕๐๐   พ.ท.พโยมก็เก็บตัวอยู่เงียบๆ ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับวงการเมืองอีก จนกระทั่งจอมพลป. หมดอำนาจเพราะถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 22 ธ.ค. 10, 13:09

เมื่อสิ้นเสี้ยนหนามทางการเมือง ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๕   รัฐบาลจอมพลป. ก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ   ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่มีทางอื่นนอกจากจะถอนตัวจากการเมือง    หรือว่าไปดำเนินงานอยู่นอกประเทศ
คนที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยแบบไทย  ซึ่งจริงๆแล้วคือรัฐประหารสลับกับระบอบรัฐสภาคั่นอยู่ช่วงสั้นๆ    ไม่มีทางเลือกมากนักในยุคนั้น   เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  การเมืองของโลกก็แบ่งออกเป็น ๒ ค่ายใหญ่คือค่ายโลกเสรี นำด้วยพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกา  และค่ายคอมมิวนิสต์ นำด้วยโซเวียตรัสเซีย   ในเอเชียมีจีนแผ่นดินใหญ่เป็นพันธมิตรใหญ่ของรัสเซีย

ในระบอบการเมือง   สหรัฐอเมริกาเป็นประชาธิปไตย  ในทางเศรษฐกิจเป็นทุนนิยม     การเมืองในรัสเซียและจีนเป็นเผด็จการ  ในทางเศรษฐกิจเป็นสังคมนิยม

สหรัฐอเมริกาก้าวเข้ามาหนุนหลังประเทศไทย  เพื่อเอาไว้เป็นพวกในการต่อต้านค่ายใหญ่ตรงข้าม     ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยซึ่งขึ้นมาจากรัฐประหาร จะพึ่งประชาธิปไตยแบบอเมริกาก็ไม่ถนัด เพราะอเมริกาหนุนหลังรัฐบาลไทยอยู่ไม่ว่ารัฐประหารหรือไม่รัฐประหารก็ตาม   
ค่ายใหญ่ที่อยู่นอกอำนาจของอเมริกาก็มีแต่จีนและรัสเซีย   จึงมีหลายคนลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน   รวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ด้วย  นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของจีน ก็เป็นที่เชื่อถือของหลายคนในจำนวนนี้  ว่าจะช่วยแก้ปัญหาในประเทศไทยได้

พ.ท.พโยมเห็นว่าการปกครองของรัฐบาล ไม่ได้กระจายรายได้ให้ประชาชนไทยอย่างทั่วถึง     คนส่วนใหญ่ยังคงยากจน และถูกกดขี่ขูดรีดด้วยวิธีต่างๆ  ขณะที่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการได้เปรียบในสังคม   รัฐบาลเองนอกจากไม่ได้แก้ปัญหาให้ตกแล้ว  ยังรวมทั้งอำนาจและเศรษฐกิจเข้าไปไว้ในศูนย์กลางอีกด้วย
ความอยุติธรรมเช่นนี้ ฝังอยู่ในใจพ.ท.พโยมตลอดมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 22 ธ.ค. 10, 17:43

ขอแนะนำให้กลับไปอ่านกระทู้มหากาพย์  จอมพลป. 2 ไม่ผ่านขึ้น ป.3  หน้าที่ 8  จะเห็นภาพการเมืองที่พ.ท.พโยมเฝ้ามองอยู่ ได้ชัดยิ่งขึ้น
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.105

พ.ท.พโยมมองเห็นชัดว่าอำนาจของอธิบดีตำรวจ แผ่ไพศาลขึ้นมาคู่คี่กับอำนาจของนายกรัฐมนตรีก็ว่าได้     กรมตำรวจในยุคนั้นกลายเป็น "กองทัพตำรวจ" ไปแล้วโดยปริยาย
ส่วนกองทัพของไทยก็มีดาวโรจน์ดวงใหม่ฉายแสงขึ้นมา คือนายทหารใหญ่ตำแหน่งผบ.ทบ. ชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   ซึ่งเป็นเพื่อนของพ.ท.พโยมมาก่อน  เพื่อนนายทหารอีกคนหนึ่งของท่านก็คือพลโทถนอม กิตติขจร
จอมพลสฤษดิ์ กลายมาเป็นขวัญใจของประชาชน เนื่องด้วยวางตัวเป็นมิตรกับนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่เดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรกที่สุดในประวัติการณ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐   ตอนนั้นรัศมีรอบตัวจอมพลป. เริ่มอับแสงลงไปมากแล้ว
รัศมีรอบตัวของจอมพลสฤษดิ์ก็ฉายแสงเจิดจ้าขึ้นมาแทน   มีสหรัฐอเมริกาเป็นแบ๊คหนุนอยู่เบื้องหลัง

ในที่สุด เหตุการณ์การเมืองก็เดินมาถึงวันที่จอมพลป.ถูกคว่ำลงจากเก้าอี้ิ ด้วยฝีมือรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์   ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไป และไม่ได้กลับมาอีกเลย  เช่นเดียวกับพลต.อ.เผ่า ศรียานนท์
พ.ท.พโยมก็รู้ตัวว่า กลับเข้ามาสู่วงการเมืองได้อีกครั้งอย่างปลอดภัยแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 25 ธ.ค. 10, 12:09

ด้วยความสนิทสนมกับจอมพลสฤษดิ์เป็นส่วนตัว   พ.ท.พโยมจึงตัดสินใจสมัครเข้าพรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์   และส่วนตัว ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านบางโพกับภรรยาคือคุณวรรณดีและลูกสองคน   ในช่วงเวลา 6 ปี  ท่านมีลูกอีก 2 คนคือลูกสาวชื่อ ประกายแก้ว และลูกชายชื่อ กอแก้ว     จุดมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่งของท่านคือกลับมาจัดการเรื่องงานศพของคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ ผู้มารดา  
คุณหญิงถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2490  ศพเก็บไว้ยาวนาน รอลูกชายคนโตซึ่งญาติพี่น้อง ถือกันว่าเป็นลูกคู่ทุกข์คู่ยากของแม่ กลับมาเผา   พ.ท.พโยมก็ได้กลับมาทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายของลูกได้จบ
รูปภาพที่นำลงในกระทู้นี้ ก็คือรูปที่พ.ท.พโยมถ่ายกับญาติและลูกๆเป็นครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม   เมื่อเปลี่ยนตัวผู้บริหารประเทศ  สถานการณ์ทางการเมืองก็ตึงเครียดมากขึ้น แทนที่จะผ่อนคลายลง   เพราะจอมพลสฤษดิ์รับนโยบายจากอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ อย่างเฉียบขาดยิ่งกว่าเมื่อก่อน
คอมมิวนิสต์กลายเป็นคำน่าสะพรึงกลัว  เป็นศัตรูที่จะต้องถูกปราบให้หมดเสี้ยนหนาม      แม้ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์  แต่เป็นบุคคลที่จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย   มาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ที่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม  ก็ถูกนำมาใช้ได้ทันที
การปราบปรามฝ่ายตรงข้ามจึงทำอย่างรุนแรง ยิ่งกว่าครั้งใดๆ    มีการออกกฏหมายคือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีโทษที่รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งประหารชีวิต นายศุภชัย ศรีสติ ข้อมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง