เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 52711 พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 28 ม.ค. 11, 09:33

เรื่องการมาพักแรมในพระนคร เป็นเกร็ดความรู้ที่พ.ท.พโยมเล่าไว้ละเอียดพอใช้    เป็นวัฒนธรรมการอยู่อาศัยที่จางหายไปแล้วตามกาลเวลา  จึงขอเก็บมาบันทึกไว้ในกระทู้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นกัน

เรื่องโฮเต็ลเป็นเรื่องตัดออกไปได้เลยสำหรับคนต่างจังหวัดที่มีกิจธุระมาพักในกรุงเทพ   ถ้าไม่ใช่ฝรั่ง ก็ต้องเป็นพวกนักเรียนนอก หรือคนไทยระดับหรูหรามีหน้ามีตา     บรรดาชาวบ้านทั่วไป มีที่อยู่อาศัยกันเป็นแหล่งๆ ตามแต่ว่าเป็นคนจังหวัดไหน  เป็นที่รู้กันในแวดวง
ส่วนใหญ่จะไปพึ่งพระที่เป็นชาวจังหวัดนั้นแต่มาเล่าเรียนอยู่ในเมืองหลวง  หรือไม่ก็เป็นพระอาวุโสเป็นที่นับหน้าถือตา  พระอยู่วัดไหน  ชาวบ้านก็มาขอพำนักอยู่ในกุฏิของท่านในวัดนั้น        จนเสร็จธุระก็ลากลับเพชรบุรี
ชาวเพชรบุรีมีแหล่งวัดสระเกศ  เป็นที่พำนักในคณะ "หลวงปู่แก้ว"   รองลงมาคือวัดประยูรวงศ์  ชาวเมืองเพชรเรียกว่า"วัดรั้วเหล็ก"   พวกที่มาอาศัยตามวัดแบบนี้มักจะเป็นชาวบ้านชาย   หรือถ้ามีผู้หญิงมาด้วยก็มากันเป็นกลุ่มขบวนใหญ่ ล่องเรือมาขอพักเพราะไม่มีญาติจะพักด้วยได้
ส่วนบ้านของฆราวาสที่ชาวเพชรได้พึ่งพิงรวมทั้งแม่ด้วย   คือบ้านของพระยาปริยัติฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นคุณพระ    เพราะท่านเป็นคนโอบอ้อมอารีต้อนรับชาวบ้านอยู่เสมอ   และยังเป็นคนกว้างขวางในพระนคร   ใครมีธุระปะปังอะไรก็มักจะมาปรึกษาหารือหรือพึ่งพิงขอพักอยู่เป็นประจำ     หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือแม่ของพ.ท.พโยม 

แม้ว่ามีที่พัก   และเดินทางรถไฟมาก็สะดวก  แต่เข้ากรุงเทพก็ยังมีปัญหาทุลักทุเลอยู่เป็นประจำ   อย่างหนึ่งคือ แม่เป็นคนชนบทไม่ชิบกับถนนหนทางบ้านเรือนในเมืองหลวง จนแล้วจนรอด     อย่างที่สองคือแม่พูดสำเนียงชาวเมืองเพชร  ซึ่งคนเมืองหลวงฟังไม่เข้าใจ  จึงปรากฏว่ามีบางครั้งแม่ก็หลงทาง    มาถึงท่าช้างวังหน้าแล้วจำไม่ได้ว่าทางไปถนนข้าวสารไปทางไหน    จะจ้างรถม้าก็แพงเกินไป   จึงจ้างรถลากที่มีคนจีนเป็นคนลาก  สมัยนั้นเรียกว่ารถเจ๊ก     
เจ้ากรรมว่าจีนคนลากรถก็เป็นจีนใหม่ คือจีนเพิ่งเข้ามาอยู่เมืองไทยไม่นาน    ฟังสำเนียงชาวเมืองเพชรไม่ออก  ก็ลากไปตามบุญตามกรรม   พาไปถึงสี่แยกคอกวัวในเวลาพลบค่ำ     สมัยนั้นถนนราชดำเนินไม่ได้กว้างขวางโอ่อ่าเป็นระเบียบอย่างที่เห็นกันในรูป  แต่เป็นถนนสายเปลี่ยว  มีต้นมะฮ็อกกะนีขึ้นทึบ    ในยามพลบค่ำแล้วน่ากลัวอันตรายมาก    แม่ก็โวยวายให้หยุด    จีนลากรถก็ฟังไม่ออก   จึงเกิดชุลมุนกันขึ้นมา

หมายเหตุ  พ.ท.พโยมบรรยายรถลากไว้ว่า  มี ๒ ชั้น  ชั้นที่ ๑ เป็นรถลากขนาดเล็ก ที่นั่งเดียว ค่อนข้างสะอาด   เป็นที่นิยมของพวกขุนนางหรือพวกคนเมืองหลวงฐานะค่อนข้างดี   ราคาแพงกว่ารถลากชั้น ๒ ซึ่งเป็นรถลากที่นั่งคู่      ขนาดเทอะทะกว่า และสกปรก เพราะใช้บรรทุกของด้วย 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 31 ม.ค. 11, 08:58

ระหว่างที่แม่กับจีนลากรถกำลังเอะอะกันอยู่   พูดจากันเท่าไรก็ไม่รู้เรื่อง  ก็พอดีมีนักเรียนนายร้อยทหารบกคนหนึ่งเดินผ่านมา    แม่จึงร้องเรียกขอความช่วยเหลือ    นักเรียนนายร้อยคนนั้นก็เดินเข้ามาช่วยทันที
เมื่อจีนลากรถเห็นหนุ่มในเครื่องแบบคาดดาบปลายปืนเดินเข้ามาช่วยผู้โดยสาร ก็ยำเกรง   หยุดล้งเล้ง  ยอมฟังโดยดี   สอบถามกันจนเข้าใจทั้งสองฝ่าย     นักเรียนนายร้อยผู้ "มีจิตใจรับใช้ประชาชน" (อย่างที่พ.ท.พโยมเรียกในหนังสือ) ก็สั่งจีนลากรถให้พาแม่ลูกไปส่งที่ปากตรอกถนนข้าวสาร  ซึ่งอยู่ถัดจากสี่แยกคอกวัวไปนิดเดียว
แม่ประทับใจในตัวนักเรียนนายร้อยมาก   คุณงามความดีของเขากลายเป็นภาพประจำใจแม่ตลอดมา   พร้อมกันนั้นแม่ก็เริ่มเปลี่ยนความคิดที่จะให้ลูกชายเป็นมหาเปรียญ   มาเป็นนักเรียนนายร้อยเช่นเดียวกันกับชายหนุ่มใจอารีคนนั้น
และเพื่อเจริญรอยตามพ่อผู้เคยเป็นนักเรียนนายร้อยมาก่อนเช่นกัน

พ.ท.พโยมท่านละเอียดถี่ถ้วนในการบรรยาย   เมื่อบอกว่านักเรียนนายร้อยคนนั้นคาดดาบปลายปืน  ท่านก็ไม่ลืมอธิบายแถมไว้ด้วยว่า
"นักเรียนนายร้อยรุ่นใหญ่สมัยเก่า   เมื่อออกนอกบริเวณโรงเรียน ต้องคาดดาบปลายปืน    มายกเลิกคาดดาบปลายปืนเอาเมื่อใกล้พ.ศ. ๒๔๗๐"     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 01 ก.พ. 11, 18:35

แม่หอบลูกขึ้นมากรุงเทพฯหลายครั้ง จนเงินทองร่อยหรอ  ถึงขั้นอดมื้อกินมื้อ  เพื่อติดตามข่าวคราวของพ่อที่มีคนส่งข่าวให้ว่าพ่อย้ายจากเมืองหมากแข้งหรืออุดร กลับมาพระนครแล้ว     แต่เที่ยวสืบหาหลายครั้งก็ไม่พบตัวพ่อสักที    ญาติพี่น้องก็พากันเวทนาว่าเป็นความเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง
แต่แม่ก็ยังมีปณิธานแน่วแน่ ในการติดตามถามข่าวพ่อเพื่อให้พบจนได้    เชื่อว่าความดีต้องชนะความชั่ว  ธรรมะย่อมชนะอธรรม   แม้นไม่ชนะในวันนี้ก็ต้องชนะในวันหน้า   สัจธรรมต้องเป็นสัจธรรม

ย้อนหลังกลับไปถึงสาเหตุที่พ่อแม่ลูกต้องพลัดพรากกัน   พ.ท.พโยมเล่าว่าเมื่อท่านอายุได้หนึ่งขวบ   พ่อซึ่งเป็นนายทหารชั้นพันโทถูกย้ายจากเพชรบุรีแบบสายฟ้าแลบ ไปประจำอยู่อุดร  ด้วยสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของท่านเลย   
คือฝ่ายมหาดไทย(ตำรวจ)กับทหารในเพชรบุรีเกิดขัดแย้งถึงขั้นปะทะกัน     เจ้าเมืองหรือหัวหน้าฝ่ายมหาดไทยซึ่งสืบตระกูลจากขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งกินเมืองเพชรบุรีมาหลายชั่วคน ไม่ได้เกรงใจพ่อซึ่งมาจากตระกูลคนสามัญ      ก็เลยสั่งย้ายพ่อไปเกือบจะสุดหล้าฟ้าเขียว
พ่อตั้งใจจะพาแม่และลูกน้อยไปด้วยกัน    แต่แม่ขอไว้ เพราะลูกอ่อนแอและขี้โรค  ตอนคลอดก็มีกระเพาะและรกพันอยู่  หมอตำแยต้องฉีกกระเพาะออกถึงรอดมาได้    ถ้าต้องเดินทางตรากตรำบุกป่าฝ่าดงไปถึงอีสานก็เกรงว่าจะตายเสียก่อน   แม่จึงยอมถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง  รอให้ลูกโตจึงค่อยพาไปพบพ่อ
ด้วยความรักลูกเป็นแก้วตา  ชื่อแรกของพ.ท.พโยมที่แม่ตั้งให้ คือ "แก้ว"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 02 ก.พ. 11, 09:33

   ในความเป็นจริง ที่ญาติคนหนึ่งของพ่อที่ติดตามไปถึงอุดรธานี  กลับมาเล่าให้ฟังว่า เมื่อพ่อเดินทางจากเพชรบุรีไปรับตำแหน่งใหม่ รอเวลาให้ลูกโต ร่างกายแข็งแรงพอจะเดินทางได้ก็จะกลับมารับแม่ลูกไปด้วยกัน    แต่พ่อไม่ได้ตรงไปอุดรธานี แต่ต้องแวะกรุงเทพเพื่อแวะรายงานตัวเพื่อรับคำสั่งและรับงานที่กระทรวงเสียก่อน     ถือเป็นโอกาสเยี่ยมญาติพี่น้องซึ่งเป็นชาวกรุงเทพ  และพบเพื่อนฝูงเก่าๆด้วย
   แต่ขึ้นชื่อว่านครหลวง ไม่ว่าที่ใดก็มีสังคมที่สลับซับซ้อน มีแสงสีน่าตื่นตาตื่นใจ    พ่อได้พบปะเพื่อนฝูงเก่าๆ เที่ยวเตร่กันไปตามสถานที่หย่อนใจต่างๆ ตามประสานายทหารข้าราชการ      พ่อจึงได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง ที่พ.ท.พโยมเรียกว่า "สาวสังคม"   เกิดถูกตาถูกใจ   เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางออกจากพระนครไปอุดรธานี    หญิงสาวคนนั้นก็เดินทางไปด้วยในฐานะภรรยา   ก่อความตะลึงงันและงุนงงกับผู้ร่วมทางที่มาจากเพชรบุรีด้วยกันอย่างยิ่ง  แต่ก็ไม่มีใครกล้าพูดอะไร 

   ขออธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อถึงต้นรัชกาลที่ ๖    ยังไม่มีทะเบียนสมรส   ผู้ชายมีภรรยาหลายคนได้ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ถือเป็นเรื่องผิดอย่างสมัยปัจจุบัน   ส่วนจะถือว่าใครเป็นภรรยาเอกก็แล้วแต่สามียกย่องใครขึ้นมา  โดยมากก็นับจากการแต่งงานออกหน้าออกตาตามประเพณีกับคนไหนก็ถือว่าคนนั้นเป็นเมียเอก    ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภรรยาคนแรกถึงจะได้ตำแหน่งนี้ 
     แม่พลอยไม่ได้เป็นภรรยาคนแรกของคุณเปรม  แม่ตาอ้นต่างหากเป็นภรรยาคนแรก  แต่เธออยู่ในฐานะสาวใช้ในบ้าน ญาติพี่น้องและคุณเปรมไม่ได้ยกย่อง     เมื่อออกจากบ้านไปก็ถือว่าจบกัน   ต่อให้ไม่ออกจากบ้าน ยังอยู่ในบ้านก็ยังเป็นเมียน้อยอยู่ดี   แม่พลอยต่างหากเป็นภรรยาเอก ได้เป็นคุณหญิงเมื่อคุณเปรมเป็นพระยา  เพราะแม่พลอยแต่งงานมีการสู่ขอรดน้ำทำพิธีกันตามประเพณี

    เส้นทางเดินทางไปอุดรธานีใน ๑๐๐ ปีก่อน บรรยายไว้ในหนังสือละเอียดลออ  เห็นภาพชัดมาก   ถ้าท่านลองนึกภาพว่าเราขับรถไปตามถนนไฮเวย์ได้สะดวกสบาย  ถึงอุดรธานีในเวลาไม่กี่ชั่วโมง   ก็ลองเทียบกับเส้นทางสัญจรในเรื่องนี้ดูนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 02 ก.พ. 11, 10:10

    พ.ท. พโยมให้เกร็ดความรู้ไว้ว่า รถยนต์ในสมัยนั้น คนไทยเรียกว่า "รถมอระคา" (Motor car)  หรือเพี้ยนไปเป็นรถ "มรณา"   รถยนต์ที่ชาวบ้านในกรุงเทพเห็น ก็เป็นรถในรั้วในวังเสียเป็นส่วนใหญ่ มีถนนไม่กี่สายในเมืองหลวง    ชานเมืองยังไม่มีแม้แต่ถนนลาดยางหรือลูกรัง     จึงไม่อาจหวังได้เลยว่านอกเมืองออกไปจะมีถนนไปสู่จังหวัดต่างๆ
   เส้นทางจากกรุงเทพไปอีสาน  เริ่มช่วงแรกจากกรุงเทพไปแก่งคอย  ทางรถไฟสายอีสานไปด้วนอยู่แค่นั้น  ก็ลงรถไฟไปพักที่นั่น รอการถ่ายลำเลียงไปทางอีสานอีกที    อีกทางคือไปทางเรือ  ชาวบ้านนั่งเรือแจวหรือเรือถ่อ (ไม่มีเรือใช้เครื่องยนต์) ล่องจากเจ้าพระยาไปเลี้ยวเข้าแม่น้ำป่าสัก  แล้วไปพักรอที่แก่งคอยก่อนเดินทางต่อ
   ท่านเล่าว่า ตำบลที่พักคอยเดินทางต่อไปอีสาน เป็นตำบลที่มีแก่งหินใหญ่  จึงเป็นที่มาของตำบล "แก่งคอย"

   จากแก่งคอยขึ้นสู่ที่ราบสูง คือระยะทางทุรกันดารอย่างแท้จริง    แม้ว่ามีเส้นทางการค้าและเส้นทางยาตราทัพอยู่หลายทาง แต่ทางที่สะดวกที่สุดคือทางที่เริ่มจาก ปากเพียว( หรือต่อมาเรียกว่าปากเพรียว) ไปเริ่มปรับขบวนเดินทางที่แก่งคอย จากนั้นก็ขึ้นทิวเขาใหญ่ ผ่านดงดิบไปออกเมืองโคราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่หน้าด่าน  เป็นประตูสู่หัวเมืองอีสาน

    จะว่าไป การเดินทางไปอีกสานไม่สลับซับซ้อนเท่าภาคเหนือซึ่งล้วนแต่ต้องผ่านภูเขาสูงชัน    เป็นเส้นทางที่ขบวนเกวียนเดินทางได้สะดวก     แต่ความยากลำบากอยู่ตรงผ่านป่าทึบดงดิบ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า ดงพระยาไฟ
    คนสมัยนี้ขับรถไปกินสเต๊คเนื้อโชคชัย หรือนกกระจอกเทศผัดพริกไทยดำของร้านครูต้อ ที่ปากช่องอย่างสะดวกสบายในวันนี้  คงนึกไม่ออกว่าเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  แถวนี้คือป่าดงดิบมหึมา มีแต่ต้นไม้ใหญ่สูงระฟ้า  ด้านล่างก็มีต้นไม้เครือเถาและว่าน มืดทึบจนแสงตะวันส่องลงมาไม่ถึง     เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ดุร้ายทุกชนิด เรื่อยไปถึงแมลงมีพิษทุกชนิดพร้อมจะทำอันตรายทั้งกลางวันและกลางคืน     
นอกจากเส้นทางเกวียนลัดเลาะไปในป่า    ก็หาหมู่บ้านหรือบ้านช่องผู้คนไม่ได้เลยสักแห่งเดียว    ที่สำคัญคือดงพระยาไฟยังอุดมไปด้วยไข้มาลาเรียจากยุงป่า   ทำให้คนที่ต้องเดินทางผ่านหรือพักแรม เอาชีวิตมาทิ้งกันมากต่อมาก   เป็นป่าที่ผู้คนหวาดกลัวกันมาก จนกลายเป็นโจษจันกันถึงอิทธิฤทธิ์ของภูตผีพรายป่าทั้งหลาย  ว่าใครจะผ่านไปโดยไม่เจอเรื่องร้ายต่างๆเป็นไม่มี   ใครเอาชีวิตรอดไปได้ก็ถือว่ากระดูกแข็งเอามากๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 03 ก.พ. 11, 10:18

    เพราะความร้ายแรงของป่าที่ทำให้คนเอาชีวิตมาทิ้งเสียมากต่อมาก  ป่าตรงนี้ถึงชื่อว่า "ดงพระยาไฟ"  เมื่อมีการบุกเบิกรถไฟจากแก่งคอยไปโคราชในเวลาต่อมา     ป่านี้ก็เอาชีวิตคนงานเสียนับไม่ถ้วน  เพื่อให้ร้ายกลายเป็นดี จึงมีการเปลี่ยนชื่อจาก "ดงพระยาไฟ" เป็น "ดงพระยาเย็น"
    ขบวนเกวียนของพ่อผ่านดงพระยาไฟไปถึงโคราชได้สำเร็จ  จากโคราชทางก็ค่อยสบายขึ้นกว่าตอนแรก แต่ก็ยังลำบากลำบนอยู่ดี  เกวียนต้องลัดเลาะไปตามทุ่งหญ้าป่าแพะ   (พ.ท.พโยมหมายถึงป่าละเมาะ)     บางครั้งต้องผ่าน"ทุ่งทราย" (ในหนังสืออธิบายว่า เข้าใจว่าเป็นทุ่งสัมฤทธิ์)ที่แห้งแล้งร้อนระอุปราศจากน้ำแม้แต่หยดเดียว
    ขอลอกสำนวนของพ.ท.พโยมมาให้อ่านกัน เมื่อบรรยายเส้นทางทุรกันดารของอีสาน

    " ขบวนกองเกวียนของพ่อออกจากแก่งคอย  ตัดเข้าดงดิบถึงที่ราบสูง  รอนแรมลัดเลาะฟังเสียงวงล้อถูกับเพลาเกวียนไปท่ามกลางความร้อนระอุ   เคล้าคลุ้งด้วยฝุ่นทรายที่ขบวนโคลากเกวียนเหยียบย่ำไปนานเท่านาน   จวบจนกินเวลาหนึ่งเดือนจึงบรรลุถุงจุดหมายปลายทางคือ "เมืองหมากแข้ง"   ต่อจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพ่อ ก็เงียบหายไป   เสมือนหนึ่งได้ถูกขุนเขาและดงดิบพระยาไฟเป็นด่านกักกั้นไว้เป็นเวลาถึง ๘ ปีเต็ม   โดยไม่มีข่าวคราวใดๆทั้งสิ้น"

    อ่านแล้ว เห็นว่าถ้าพ.ท.พโยมไม่ไปเอาดีทางทหาร    น่าจะเป็นนักประพันธ์ได้ดีทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 04 ก.พ. 11, 12:24

ตอนท้ายหนังสือ  พ.ท.พโยมเล่าถึงชีวิตหลังจากนั้นอย่างรวบรัด  จะเป็นเพราะต้องเร่งเขียนให้เสร็จทันงานศพ  หรือต้องการเพียงเน้นถึงชีวิตในวัยเยาว์กับแม่ ก็ไม่ทราบ     ท่านเล่าเพียงย่อๆว่า เมื่อไปอยู่อุดรธานีได้ ๘ ปี   พ่อก็ได้ย้ายคืนกลับมาพระนคร    แต่ไม่ได้ส่งข่าวให้แม่ทางเพชรบุรีทราบ
แม่เข้ากรุงเทพฯมาติดตามถามข่าวจากญาติฝ่ายพ่อ  จึงทราบว่าพ่อกำลังลำบาก  ทั้งชีวิตส่วนตัวและฐานะการงาน    เพราะย้ายไปอุดร ๘ ปีพ่อก็ยังเป็น "คุณพระ" เช่นเดิม   จะเป็นเพราะมีเรื่องจากเพชรบุรีเป็นชนักปักหลัง  หรือว่ามีกรณีใหม่ ลูกชายไม่อาจทราบได้      แต่ก็ยังเคราะห์ดีได้ย้ายกลับกรุงเทพ มาดำรงตำแหน่งใหม่เป็นราชองครักษ์     แต่ตำแหน่งนี้แทนที่จะส่งผลดีให้ก็กลับเป็นโทษ   เพราะเป็นตำแหน่งที่จำต้องทำตัวโอ่อ่าให้สมเกียรติยศ
ราคาเกียรติยศที่ว่า คือพ่อต้องเช่าบ้านหลังโอ่โถงไว้อยู่  มีรถม้าดีๆเอาไว้นั่งไปทำงานและเข้าเวร    ต้องมีเวลาสำหรับเข้าสังคมคนใหญ่โต  ล้วนแต่เป็นเรื่องเปลืองเงินทองเกินกว่าเงินเดือนของพ่อ   ส่วนภรรยาของพ่อ ก็ทำตัวเป็น "คุณนาย"  เข้าวง"ญาติมิตร" เป็นประจำ ให้เปลืองเงินหนักเข้าไปอีก    ทั้งๆพ่ออยู่ในฐานะที่ใครๆเห็นว่ามีหน้ามีตา  พ่อก็หมองคล้ำ ไม่มีความสุข   ภาระส่วนตัวของพ่อก็กลายเป็นปัญหานุงนังแก้ไม่ตก ทำให้ผู้บังคับบัญชาเพ่งเล็งหนักเข้าไปอีก
ในภาวะเช่นนั้นเอง ที่แม่ได้มาพบพ่อ     พ่อก็ต้องตัดสินใจอย่างหนักว่าจะทำอย่างไรดี     ในที่สุดพ่อมองเห็นว่าหนทางที่กำลังเผชิญอยู่นี้มีแต่จะทำให้ชีวิตตกต่ำ ไม่มีสิ่งใดดีขึ้น  มีแต่ความล้มละลายรออยู่ปลายทาง     พ่อก็ตัดสินใจเด็ดขาดหันหลังให้ชีวิตปัจจุบัน เพราะเล็งเห็นว่ามีแต่จะเป็นภัยพิบัติกับตัวเองและวงศ์ตระกูล

เรื่องเล่าตอนนี้ไม่มีในหนังสือ  แต่ว่าได้ข้อมูลจากบุคคลที่รู้เรื่องดีว่า เมื่อพ่อกลับมาหาแม่   ในตอนแรกก็ยังประสานกันไม่ได้เร็วนัก    แต่ว่าอาศัยความอนุเคราะห์จากเจ้าจอมอาบ (ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าจอมก๊ก อ.)  ช่วยประสานความเข้าใจระหว่างพ่อกับแม่ให้      พระนเรนทร์รักษากับภรรยาจึงได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง     เด็กชายพโยมก็อำลาชีวิตเด็กเมืองเพชรมาอยู่ในเมืองหลวง   ได้เรียนหนังสือชั้นมัธยม เพื่อเรียนต่อทางด้านทหารตามความประสงค์ของแม่ต่อไป
พันโทพระนเรนทร์รักษาได้เลื่อนขึ้นเป็นพันเอกพระยาวิเศษสิงหนาถ     ภรรยาจึงได้เป็นคุณหญิงวิเศษสิงหนาถ    มีบุตรธิดาอีก ๒ คนคือธิดาชื่อพยูร และบุตรชายคนเล็กชื่อพยศ  แต่ต่อมาได้ตัด พ. ออก เหลือแต่ชื่อ ยศ เฉยๆ    ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อ.บางโพ  ในกรุงเทพ
พระยาวิเศษสิงหนาถถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2468 ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 6   คุณหญิงยังมีชีวิตต่อมาจนถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2490  แต่ได้เก็บศพไว้ รอเผาเมื่อพ.ท.พโยมกลับมาอีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายให้มารดา
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 18 ก.พ. 11, 13:31

หลังต้องข้อหากบฏเสนาธิการ  พ.ท.พโยมหลุดข้อหาจริงครับ   ศาลสั่งยกฟ้อง  แต่ท่านก็เดินทางไปลี้ภัยที่เมืองหาง  และจากนั้นก็ไปประเทศจีน   
ประเทศไทยไม่ปลอดภัยสำหรับพ.ท.พโยม    ในยุคที่จอมพลป. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ  ที่สำคัญคือเป็นยุคที่ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้    อำนาจของพลต.อ. เผ่า ศรียานนท์มีมากถึงขีดสุด   
พ.ท.พโยมกลับมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจได้แล้ว    อำนาจเก่าหมดไป  ท่านก็กลับมาเพราะคิดว่าการเมืองไทยน่าจะดีขึ้น    แต่ก็ต้องระเห็จลี้ภัยออกนอกประเทศไปเป็นคำรบสองครับ
จากนั้นไม่มีโอกาสกลับมาอีกจนถึงแก่กรรม
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 18 พ.ย. 15, 19:41

ตามรอยพ่อเนตร ลูกชายคู่ทุกข์คู่ยากของแม่เกด ยอดหญิงเมืองเพชร เข้ามาจนถึงกระทู้นี้เลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 18 พ.ย. 15, 20:37

เขาเรียกว่าอินค่ะ อิน
บันทึกการเข้า
unming
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 20 พ.ย. 15, 14:56

เข้ามา ติดตาม อ่าน คะ  ชอบเรื่อง ราตรี ประดับดาว และ สองฝั่งคลอง มาก ๆ เวลา ท้อแท้ ก็จะหยิบ 2 เล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
เคยคิด เหมือนกันคะว่า ในช่วงเวลา วัน พ.ศ. เดียวกัน คนเรามักจะเจอ ปัญหา แตกต่างกันไป ใหญ่ เล็ก อยู่ที่ ความสามารถในการแก้ไข
 
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 14 ม.ค. 16, 21:52

เป็นเรื่องที่น่าติดตามมากครับ โดยเฉพาะข้อมูลประเทศไทยในสมัยก่อน และเรื่องพ่อกับลูกที่ต้องอยู่คนล่ะฝ่ายในสงครามใหญ่

ช่วงนี้ผมพยายามกำจัดทุกข์ในใจเรื่องหนึ่งอยู่ ได้อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวเองนี่มันติงต๊องแฮะ แต่พรุ่งนี้ต่อไปอีกร่วมอาทิตย์มีงานสำคัญมากต้องทำก็ทำไปก่อน เดี๋ยวว่างเมื่อไหร่ค่อยมานั่งทุกข์ใจต่อ
บันทึกการเข้า
นัทชา
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 21 ม.ค. 16, 10:51

รบกวนถามว่า คุณสิรินทร์ พัธโนทัยได้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตไว้ในหนังสือ
The Dragon's Pearl หรือ ‘มุกมังกร’ เกี่ยวกับ พ.ท.พโยม อย่างไรบ้างครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 21 ม.ค. 16, 11:20

คุณนัทชาถามเหมือนได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว     
บันทึกการเข้า
นัทชา
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 21 ม.ค. 16, 13:31

ยังครับ แต่มีข่าวสารบางส่วนจากกระทู้นี้
http://topicstock.pantip.com/rajdumnern/topicstock/2010/01/P8746277/P8746277.html
คห.5 ของคุณพาชื่น
พอดีผมมีหนังสือหลายเล่มที่ต้องอ่าน เลยต้องขอรบกวนถาม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 20 คำสั่ง