เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 52713 พ.ท. โพยม จุลานนท์ นายพันใจเพชร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 10:44

ขอปูพื้นการเมืองหลังสงครามโลกอย่างย่อๆอีกครั้ง    เพื่อให้เห็นสภาพการเมืองรอบๆตัวพ.ท.โพยม ที่ยังอลหม่านไม่เลิกรา  เมื่อท่านเข้าสู่วงวนนี้
ถ้าอ่านรายละเอียดก็ไปอ่านได้ที่ลิ้งค์นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3438.0

ผลจากการญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒  พันธมิตรที่มีลูกพี่ใหญ่คือสหรัฐอเมริกากลายมาเป็นฮีโร่  ขบวนการเสรีไทยสายสายอเมริกาที่มีม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นหัวหน้าจึงเป็นแกนนำล้างอำนาจจอมพลป.ลงได้สำเร็จ
      
วังวนของขั้วอำนาจ เปลี่ยนมือกันอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี ๓ คนคือม.ร.ว.เสนีย์  นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   และอดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายพลเรือน คือนายปรีดี พนมยงค์
จากนายปรีดี พนมยงค์  ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบทอดไปที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์    พอได้เป็น   รัฐบาลชุดนี้ก็งานเข้าหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นคลื่นยักษ์ระดับสึนามิ    เริ่มตั้งแต่กรณีสวรรคตที่ประชาชนไม่เคลียร์กับคำชี้แจงของรัฐบาลว่าเกิดอะไรขึ้นแน่    และข้อหาอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลมาทุกหน คือการคอรัปชั่นที่รัฐบาลเคลียร์ตัวเองไม่ได้เช่นกัน  

ทุจริตคอร์รัปชั่นข้อหนึ่ง คือราชการที่นำเงินงบประมาณ ไปซื้อจอบเสียมแจกจ่ายให้ราษฎรทำการเกษตร ทว่าความแตกออกมาว่าเป็นจอบเสียมที่ไม่ได้มาตรฐาน  ใช้งานไม่ได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างอิ่มหมีพีมันไปตามกัน    เรื่องนี้กลายเป็นที่มาของสำนวนว่า "กินจอบกินเสียม"    
คอรัปชั่นทำนองนี้มีวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบัน เราคงจำข้อกล่าวหา เรื่องข้าวเปลือก  เรื่องนมบูด   ฯลฯ และเรื่องอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน  ด้วยจำนวนงบงบประมาณที่มหาศาลขึ้นจากตามยุคสมัย  แต่เนื้อหาล้วนแต่โจทย์เดิมๆเพียงแต่เปลี่ยนชื่อบุคคลและรายละเอียดวัสดุไปเท่านั้น

เรื่องนี้เป็นสาเหตุ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้ออ้าง  ทำให้เกิดการยึดอำนาจของรัฐบาล    โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์   โดยมีนายทหารหนุ่มระดับคุมกำลัง คือพ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และคนสุดท้ายเป็นนายทหารหนุ่มยศ ร.อ. ชื่อสมบูรณ์  ชุณหะวัณ บุตรชายจอมพลผิน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อจากสมบูรณ์ เป็นชาติชาย)  ก่อรัฐประหารที่เรียกภายหลังว่ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ในงานนี้ พันโทพโยม จากร.ร.เสนาธิการ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ.อ.สฤษดิ์ และพ.อ. ถนอม ได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษกของคณะรัฐประหาร  ซึ่งทำการสำเร็จ  แม้จะมีอะไรน่าใจหายใจคว่ำอยู่บ้างในตอนแรก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 11:30

การรัฐประหารครั้งนี้ เดิมทีวางแผนลงมือเวลาตีห้าของวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่ทว่าการเคลื่อนไหวไม่เงียบพอ     พล.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก รู้ข่าวเข้าเสียก่อน
นายพลตำรวจผู้กลายมาเป็นนายพลทหาร ผบ.ทบ. คนนี้มีชีวิตและบทบาททางการเมืองมีสีสันมาก  ถ้าอยากอ่านชีวิตและบทบาทของพลอ. (หรือพลต.อ.)อดุล  อดุลเดชจรัส  หาอ่านได้ที่กระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.0

พลอ. อดุลไม่ได้เกี่ยวข้องร่วมมือกับคณะรัฐประหารชุดนี้  พอรู้ข่าวก็ออกคำสั่งเรียกให้นายทหารทุกชั้นเข้ามารายงานตัว เป็นการระงับแผนการณ์ของพวกก่อการรัฐประหารเสียก่อน   แต่ทางฝ่ายเสนาธิการของคณะผู้ก่อการก็ไม่ยอมแพ้   ใช้วิธีเปลี่ยนแผนกะทันหัน เลื่อนกำหนดเดิมให้เร็วขึ้นหนึ่งวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน
ฝ่ายรัฐประหารใช้วิธีจู่โจมสายฟ้าแลบ  กองกำลังรถถังส่วนหนึ่งบุกเข้าไปที่ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เพื่อควบคุมตัว พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรถถังอีกส่วนหนึ่งบุกเข้าไปประตูทำเนียบท่าช้างวังหลวงเพื่อควบคุมตัว นายปรีดี พนมยงค์
แต่นายปรีดีหนีทัน   ลงเรือหลบหนีการถูกจับกุมไปได้อย่างหวุดหวิด ในบ้านเหลือเพียง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาและลูก ๆ เท่านั้น

เช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน  ยึดอำนาจได้เรียบร้อย   พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งเรียกกลุ่มของตนว่า "คณะทหารแห่งชาติ"ได้แถลงต่อสื่อมวลชนทั้งน้ำตาว่าทำไปเพราะความจำเป็นที่จะต้องแก้วิกฤติของชาติ    บทบาทของท่านทำให้ได้รับฉายาต่อมาว่า  "วีรบุรุษเจ้าน้ำตา" หรือ "จอมพลเจ้าน้ำตา"
สาเหตุของการรัฐประหารในครั้งนี้ เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" เพราะตอนวางแผนรัฐประหาร   คนร่างซ่อนเอาไว้ใต้ตุ่มน้ำในบ้าน   ด้วยความรอบคอบเผื่อแผนรั่ว  ถูกตำรวจบุกค้นบ้าน ก็คงไม่มีใครเฉลียวใจไปยกตุ่มน้ำขึ้นมาดู  
เมื่อรัฐประหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่ซ่อนพิสดาร ก็ถูกนำออกมาใช้หลังจากนั้น

ขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ
" บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบาก เดือดร้อน เพราะขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่มและขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปการ เครื่องบริโภคอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน…ผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับสู่ภาวะดังเดิมได้…เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ…ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติ…"


ในตอนแรก คณะทหารแห่งชาติก็ยืนยันอุดมการณ์ของตัวเองว่าทำเพื่อประชาชน  ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง  จึงให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน
ส่วนคณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา ใช้ชื่อว่า "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491

พันโทพโยม  เห็นว่าภารกิจของคณะรัฐประหารจบสิ้นลงแล้ว  ต่อไปก็ควรทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชนตามอุดมการณ์ของตัวเองอย่างเต็มขั้นเสียที  จึงลาออกจากราชการทหาร  เมื่อมีเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  ก็สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ถิ่นเกิดอีกครั้ง  
คราวนี้ ด้วยชื่อเสียงและผลงานที่ประชาชนนิยม ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑  
เมื่อเข้าสภา ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  

ความคิดของพ.ท.พโยมไม่เหมือนคนอื่นๆ   ซึ่งส่วนใหญ่จะทำตัวเป็นต้นอ้อลู่ลม  ไม่ขัดใจผู้เป็นใหญ่    หากมีตำแหน่งที่หาได้ยาก  ก็จะพยายามรักษาเก้าอี้ตัวเองเอาไว้ให้นานที่สุด  จะเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตัวเอง  หรือว่าเป็นลาภยศสรรเสริญอะไรก็ตาม  
แต่พ.ท.พโยมเป็นคนตรง  เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็ค้าน  ไม่ยอมร่วมมือด้วยง่ายๆ   เป็นประเภท "เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว" ไม่ใช่ว่า "มอบไว้แก่นาย"    
ทำงานแบบนี้   ไม่ช้าไม่นานก็ถูกกดกันอย่างหนักจากการนั่งอยู่ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม  เพราะไม่อาจสนองความประสงค์ของผู้เป็นใหญ่ได้
อยู่ได้ไม่นานก็ถูกบีบให้ลาออก  ท่านจึงได้ลาออกจากการเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

คณะรัฐประหารดำเนินอุดมการณ์ว่าจะไม่เกี่ยวกับการเมืองไปได้ไม่นาน   ถึงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารในกลุ่ม 4 คน นำโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม ก็ได้ทำการบีบบังคับให้นายควงลาออก และไปเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งออกจากแวดวงการเมืองไปนั่งเฉยๆอยู่พักใหญ่แล้ว  กลับเป็นนายกรัฐมนตรีแทน  
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 11:49

คณะนายทหารในกลุ่ม 4 คน นำโดย น.อ.กาจ กาจสงคราม ก็ได้ทำการบีบบังคับให้นายควงลาออก และไปเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งออกจากแวดวงการเมืองไปนั่งเฉยๆอยู่พักใหญ่แล้ว  กลับเป็นนายกรัฐมนตรีแทน  

ในทีึ่่สุดหลวงกาจสงครามเองก็หนีภัยการเมืองไม่พ้น

ขอฉายภาพเหตุการณ์ในวันที่หลวงกาจสงครามถูกจับ  ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓  ให้คุณเทาชมพูได้ทราบรายละเอียดว่าในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นกับหลวงกาจฯ

ขณะที่หลวงกาจสงครามนั่งโต๊ะทำงานอยู่ที่วังสวนกุหลาบ มีนายทหารฝ่ายเสนาธิการยศพันโทผู้หนึ่งเข้าไปรายงานว่ามีคนจะพูดโทรศัพท์ด้วย หลวงกาจฯ จึงยกหูโทรศัพท์ขึ้นฟังแล้วตอบไปว่า

"นี่ผมหลวงกาจฯ พูด"

มีเสียงตอบมา หลวงกาจฯ จำได้ว่าเป็นเสียงนายกรัฐมนตรี

"อ้อ คุณหลวงกาจฯ หรือ บ่าย ๒ โมงวันนี้ขอเชิญมาประชุึมที่ทำเนียบรัฐบาลหน่อย มีเรื่องทางภาคเหนือที่เกี่ยวกับทหารจีน ควรจะได้ปรึกษากัน" 

หลวงกาจฯ ตอบไปทันที่ว่า

"ผมจะไปประชุมตามกำหนดนั้น"

นั่นเป็นคำพูดสุดท้ายกับนายกรัฐมนตรี ก่อนที่หลวงกาจฯ จะถูกจับโดยรองอธิบดีกรมตำรวจที่ทำเนียบรัฐบาล 

รองอธิบดีกรมตำรวจถือปืนพกรีวอลเวอร์จ่อตรงศีรษะหลวงกาจฯ แล้วกล่าวว่า

"โดยราชการ ข้าพเจ้าขอจับท่านบัดนี้" 

หลวงกาจฯ ถามว่า จับเรื่องอะไรกัน ตอบว่า จับฐานขบถ ถามว่า มีหลักฐานอะไรหรือ ตอบอย่างสั้นคำเดียวว่า มี ถามว่า ขอให้พอไปพบนายกรัฐมนตรีหน่อยได้ไหม ตอบ ไม่ได้ ไม่ยอมให้ไปพบ หลวงกาจฯ ว่า ถ้าเช่นนั้นจะเอาตัวไปไหนก็เอาไป

หลวงกาจฯ ถูกคุมขังไว้ที่ตึกใหญ่ในวังปารุสกวันชั้นบน  ห้องนี้ธรรมดาจัดไว้สำหรับนายสิบตำรวจนอน สกปรกมาก  สามชั่วโมงหลังจากที่หลวงกาจฯ ถูกส่งมาขังที่นี่ มีผู้มาตามหลวงกาจฯ ไปพบรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ที่ห้องทำงานชั้นบนของตึกในวังปารุสกวันเหมือนกัน  รองอธิบดีถามว่า จะไปอยู่ที่ใดในต่างประเทศ คำตอบของหลวงกาจฯ คือ แล้วแต่จะให้ไป ไปอังกฤษ สวิส ฝรั่งเศส อเมริกา ปีนัง หรือสิงคโปร์ ก็ได้

แต่ในที่สุด  ข่าวสารที่หลวงกาจฯ ได้รับในคืนวันนั้นคือ ทางการจะส่งตัวไปอยู่ฮ่องกง พรุ่งนี้ ๗ โมงเช้า จะต้องออกเดินทางจากวังปารุสกวัน

หลวงกาจฯ รำพึงกับตนเองว่า

วโส อิสสิรยฺ โลเก

อำนาจเป็นใหญ่ในโลก


เก็บความจาก หนังสืออนุสรณืในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ปช.,ปม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๐

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 12:14

ต้อนรับเข้าร่วมวงค่ะ คุณเพ็ญชมพู  ดิฉันได้ไม่ต้องคุยอยู่คนเดียว

ด้วยความที่เป็นคนวงใน  พ.ท.พโยมจึงรู้ตื้นหนาบางของผู้มีอำนาจในสมัยนั้นเป็นอย่างดี     รู้ว่าเอาเข้าจริงนายควง อภัยวงศ์ก็ไม่ได้มีอำนาจจริงจังสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี     นั่งอยู่บนเก้าอี้ก็อยู่อย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   เก้าอี้ก็โยกคลอนอยู่ตลอดเวลา
ส่วนอุดมการณ์ที่อ้างว่าทำเพื่อชาติ    ผ่านไปสักพัก ผู้เป็นใหญ่บางคนที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อ  ก็ดำเนินรอยตามแบบเดิมๆ แบบ"ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"  คือเริ่มเอาตำแหน่งหน้าที่และความเป็นใหญ่ไปแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม  
ถ้าตัวเองไม่ทำ ก็มี"นอมินี" เช่นเครือญาติและลูกน้องทำแทน
ในฐานะส.ส.   พ.ท. พโยมพยายามปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ด้วยการแฉบ้าง คัดค้านบ้างเท่าที่ทำได้  ตามระบอบประชาธิปไตย คือไปตั้งกระทู้ถามในสภาอยู่บ่อยๆ   เป็นเหตุให้ก่อศัตรูซึ่งล้วนแล้วบิ๊กเบิ้มกันทั้งนั้น
ตัวพ.ท. พโยม เป็นคนไม่กลัวศัตรู     ถือหลักชนเป็นชน  สู้ด้วยหลักการของรัฐสภา   แต่ฝ่ายตรงข้ามฉลาดเกินกว่าจะชนกลับอย่างตรงๆ  
ความพยายามของไม้ซีกที่ไปงัดไม้ซุง    จึงส่งผลให้ชะตากรรมของพันโทพโยมวูบลงเหมือนตกเหว   นับเป็นครั้งแรก
จากรัฐประหารที่เรียกว่า "กบฏเสนาธิการ"

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ธ.ค. 10, 18:38 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 06 ธ.ค. 10, 19:01

การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากนายกรัฐมนตรีที่นายควงเป็นอยู่  กลับมาเป็นจอมพลป. ที่คณะรัฐประหารยกขึ้นมาเป็นหัวหน้าอีกครั้ง  แม้ว่าเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีศึกกลางเมือง  ไม่ได้เสียเลือดเนื้อ  แต่ก็ใช่ว่าทหารทั้งหมดจะพอใจกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้     โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลในระบอบรัฐสภาพ้นอำนาจไป   ด้วยข้ออ้างว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สำเร็จ    และมีข่าวออกมาว่า ผู้เป็นใหญ่ในรัฐประหาร กลับทำตรงข้ามกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

พวกนี้ทำอะไรบ้าง 
ขอยกส่วนหนึ่งจากฐานข้อมูลของเว็บสถาบันพระปกเกล้า  เรียบเรียงโดย จุฑามาศ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  มาเป็นคำตอบ   
ส่วนข้อความเหล่านี้ จริงเท็จแค่ไหน  โปรดพิจารณาด้วยวิจารณญาณ

...เมื่อ พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบกและเม่ทัพกองทัพบกที่ 1 ดำเนินการก้าวก่ายการเมืองและเคลื่อนไหวทางทหารตามชอบ และเข้าไปเป็นกรรมการองค์การ อจส (องค์การจัดซื้อและขายสินค้า) นอกจากนี้ยังมีข่าวพัวพันการทุจริต มีข่าวในด้านลบต่างๆ เช่น ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินรูปี จน พล.ท.กาจ กาจสงคราม ได้รับฉายาว่า “นายพลรูปี” ทั้งยังเป็นคนเขียนหนังสือเรื่องกรณีสวรรคตที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล จึงถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล ถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท  รวมถึงการที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เข้าไปควบคุมองค์การทหารผ่านศึก และเริ่มเข้าไปพัวพันกับสัมปทานและการแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้นว่าคณะรัฐประหารก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เช่นกัน และนำมาซึ่งความพยายามในการก่อการยึดอำนาจ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 06 ธ.ค. 10, 20:00

กบฏเสนาธิการ เป็นกบฏที่ประหลาดกว่ากบฏหรือรัฐประหารครั้งอื่นๆที่เคยมีมา  คือเป็นกบฏที่ยังไม่มีการลงมือ  แต่มีการจับกุมบรรดากบฏได้หลายคน   มีตัวอย่างที่พอเทียบได้ก็คือกบฏร.ศ. 130 ในสมัยรัชกาลที่ 6  ที่แผนรั่ว ทำให้กลุ่มผู้ก่อการถูกจับได้เสียก่อนจะลงมือ
ที่มาของกบฏเสนาธิการ คือความคิดที่แตกต่างกันของนายทหารในกองทัพ   ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าทหารมีหน้าที่เข้าระงับปัญหาทางการเมือง  เป็นบทบาทที่ไม่สามารถแยกออกจากหน้าที่โดยตรงของทหารได้    แต่อีกฝ่ายเห็นว่าทหารไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเรื่องการเมือง แต่ควรจะทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติเท่านั้น

นายทหารที่มีความคิดแบบนี้ เป็นทหารปัญญาชน และเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย ว่าปัญหาทางการเมืองและสังคมควรถูกแก้อย่างมีระบบ ให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วยตัวของมันเอง    ไม่ใช่ว่าทหารกลุ่มหนึ่งจะเข้าไประงับยับยั้งปัญหาด้วยวิธีรัฐประหาร ยึดอำนาจเด็ดขาด แล้วเอาการเมืองกับสังคมมาจัดระเบียบเสียเอง 
ถ้าทำแบบนี้ซ้ำซากต่อไป  ก็จะกลายเป็นระบอบเผด็จการ  ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เริ่มต้นกันมาแต่แรก

ผู้นำกลุ่มที่คิดแบบนี้คือพล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต (หลวงศรานุชิต) รองเสนาธิการกลาโหม พล.ต.เนตร เขมะโยธิน รองเสนาธิการทหารบก และ พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท (เพิ่ม ศิริวิสูตร) นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก
นอกจากนี้ก็มีหลายคนเป็นอาจารย์ร.ร.เสนาธิการหรือพวกเสนาธิการทหาร เช่น พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.จรูญ สิทธิเดชะ พ.อ.สงบ บุณยเกศานนท์ (ขุบสงบระงับศึก) พ.อ.หลวงจิตรโยธี (จาด รัตนสถิตย์)และ พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม (โลม ศิริปาลกะ)
ส่วน พ.ท.พโยม จุลานนท์ มีชื่อรวมอยู่ด้วย

หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองหลายเล่มระบุว่า  พวกนี้ต้องการระงับยับยั้งอำนาจรัฐประหารของจอมพลป.และจอมพลผิน  ด้วยการจู่โจมเข้ารัฐประหารคณะรัฐประหารเสียเอง
วางแผนลงมือในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งจะเป็นวันที่มีการฉลองงานมงคลสมรสระหว่าง พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ น.ส.วิจิตรา ชลทรัพย์  เพราะคนสำคัญในคณะรัฐประหารจะมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล  และจะเป็นการง่ายแก่การจับกุม
ในแผนการนั้นคือ พ.ท.พโยม จุลานนท์ จะเข้าควบคุมตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ส่วน พ.ต.เจริญ พงษ์พานิช รับหน้าที่จับกุมตัว พล.ต.หลวงสถิตยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ 1 และ พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดินทร์ ผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 1
และกำลังอีกส่วนหนึ่งนำโดย พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ จะบุกเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเพื่อใช้เป็นกองบัญชาการในการยึดอำนาจ

สรุปอีกครั้งว่า กบฏเสนาธิการคือกบฏที่กลุ่มนายทหารเสนาธิการผู้ต่อต้านรัฐประหารจะกระทำรัฐประหาร  เพื่อล้มล้างคณะรัฐประหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นเสียเอง
อ่านแล้ว รู้สึกแปลกๆบ้างไหมคะ ว่านี่มันเรื่องจริงหรือ?
โดยเฉพาะพ.ท.พโยม ผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมาตลอด




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 07 ธ.ค. 10, 08:09

เบื้องหลังกบฏเสนาธิการเป็นอย่างไรกันแน่   ยังมีความเคลือบคลุมกันอยู่หลายประเด็น    นอกเหนือจากประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไปแล้วในค.ห.ข้างบน
นอกจากนี้  ข้อมูลต่างๆที่มีผู้บันทึกเอาไว้ก็แตกต่างกันในรายละเอียดหลายอย่าง  เช่น ในคอลัมน์ พายเรือในอ่าง  โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า อริน ลงใน "โลกวันนี้" ฉบับวันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2552   ให้ข้อมูลที่ดุเดือดเลือดพล่านกว่าข้างบนมาก

ผู้ก่อการกำหนดเอาวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. อันเป็นเวลาที่คณะรัฐประหารและรัฐบาลจะมาอยู่พร้อมหน้ากันที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเลี้ยงส่งนายทหาร และร่วมแสดงความยินดีในงานพิธีมงคลสมรสของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ โดยวางแผนที่จะจู่โจมเข้าสังหารกลุ่มผู้นำทางทหารและนายกรัฐมนตรีแบบทำลายล้าง ด้วยการระดมขว้างระเบิดมือและยิงกราดเข้าไปในงาน ต่อจากนั้นจะยกกำลังเข้ายึดสวนพุดตาล ให้ พ.ต.เจริญ พงศ์พานิชย์ ไปควบคุมตัว พล.ต.หลวงสถิตย์ยุทธการ เสนาธิการกองทัพที่ ๑ ผู้ควบคุมกำลังป้องกันกองบัญชาการทหารบก ณ วังสวนกุหลาบ พร้อมกับให้ พล.ท.โพยม จุฬานนท์ ควบคุม พ.อ.บัญญัติ เทพหัสดิน ผู้บังคับกองทหารราบที่ ๑ ส่วน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ ให้นำนายทหารเสนาธิการเข้ายึดกระทรวงกลาโหมไว้ เพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการ

แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ลดละในการไล่ล่าผู้ร่วมก่อการ จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป



ถ้างั้น  มาพิจารณากันในข้อเท็จจริงดีกว่าค่ะ   สิ่งที่พอจะประมวลมาได้ก็คือ

๑   เกิดความไม่เห็นด้วยเมื่อคณะรัฐประหารขึ้นบริหารประเทศเสียเอง  ด้วยวิธีบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออก   ไม่ใช่การพ้นตำแหน่งตามวิถีทางของประชาธิปไตย    ผู้ไม่เห็นด้วยคือกลุ่มนายทหารกลุ่มหนึ่ง   ที่เป็นนายทหารเสนาธิการเป็นส่วนใหญ่   ไม่ใช่นายทหารคุมกำลังโดยตรง
๒   นายทหารเหล่านี้เห็นว่าทหารไม่ควรมาแสดงบทบาททางการเมือง  โดยเฉพาะทำรัฐประหาร
๓   กบฏเสนาธิการ เป็นกบฏที่ไม่ปรากฏว่ามีการลงมือ   รัฐบาลสืบทราบและจับกุมในฐานะวางแผนกบฏเสียก่อน
๔   เมื่อมีการจับกุมผู้ก่อการในภายหลัง  โทษของพวกนี้คือจำคุก 3  ปี เท่านั้นเอง  และบางคนเช่นพ.ท.พโยม ถูกปล่อยตัวไป

บทความข้างบนนี้ที่ว่ามีการวางแผนถึงขั้นจะสังหารรัฐบาล   ถ้าเป็นจริงก็ประหลาดมาก เพราะศาลลงโทษเพียงจำคุก 3 ปี    ผิดกับกรณีกบฏและลอบสังหารจอมพลป. ที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2   ความผิดระดับยิงเป้ากันกราวรูด 

กลับมาที่นายพันใจเพชรของเรา

พ.ท.พโยม รู้ตัวก่อนหน้านี้แล้วว่า ใครก็ตามที่มีจุดยืนเข้มแข็ง กล้าคัดค้านรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าประเทศไหนในโลกนั้น  ย่อมมีที่ยืนอยู่ได้ 2 แห่งเท่านั้นคือ ถ้าไม่ยืนอยู่ในคุก(หรือที่หลักประหาร)   ก็ต้องไปยืนอยู่นอกประเทศ 
เมื่อแว่วข่าวว่ารัฐบาลจะเข้ากวาดล้างกลุ่มนายทหารที่กล้าคัดค้านการกระทำของรัฐบาล ด้วยการตั้งข้อหากบฏ ทั้งๆไม่มีการลงมือใดๆทั้งสิ้น      พ.ท.พโยมก็ไม่รอช้า   เรื่องอะไรจะอยู่สู้ข้อหาที่เห็นๆจากในอดีตอยู่แล้วว่าไม่มีทางรอด     ก็หลบหนีออกจากกรุงเทพ ขึ้นเหนือออกพ้นประเทศไทย
ไปสู่เมืองหาง  ซึ่งเคยไปประจำอยู่พักหนึ่งช่วงสงครามโลก   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 07 ธ.ค. 10, 18:53

อยากได้"วิวาทะของพ.ท.พโยม กับจอมพลป.  ใครมีหนังสือเล่มนี้บ้างคะ?

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 ธ.ค. 10, 19:31

ก่อนหน้าจะต้องหลบหนี พ.ท.พโยมรู้ตัวว่าตกอยู่ในอันตรายมาหลายเดือนแล้ว เมื่อมีตำรวจลับของพลต.อ. เผ่า ศรียานนท์คอยติดตามอยู่ทุกระยะ   เป็นผลจากความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในยุคนั้น   เมื่อรู้ว่ามีการกวาดล้างฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ด้วยข้อหา "กบฏเสนาธิการ " การหนีออกนอกประเทศจึงเป็นทางรอดทางเดียว 
แต่เมืองหางที่พ.ท.พโยมไปลี้ภัยอยู่นั้น ก็ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย ทั้งๆเคยมีมิตรภาพที่ดีมากมาก่อนสมัยมาช่วยรบกับพรรคก๊กมินตั๋งที่นี่     เพราะเมืองหางกำลังร้อนระอุจากศึกแบ่งแยกดินแดน  จากศึกกระเหรี่ยง ศึกคอมมิวนิสต์ และศึกพม่าอิสระต่อต้านรัฐบาลพม่า     
พ.ท.พโยมไม่ประสงค์จะเข้าเกี่ยวข้องกับการเมือง  จึงปฏิเสธเข้าร่วมกับเจ้าเมืองพาน เพื่อรบกับกระเหรี่ยง  จึงทำให้เกิดความหมางเมินระหว่างกันอย่างช่วยไม่ได้    นอกจากนี้จีนฮ่อก็แผ่อิทธิพลกว้างใหญ่ขึ้นทุกขณะ  ทำให้พ.ท.พโยมไม่อาจจะวางใจถึงความปลอดภัยของตนเองได้อีกต่อไป   ก็ทำให้จำต้องหนีต่อไปอีก

เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้  เจอข้อมูลขัดแย้งกันอยู่     
ข้อมูลหนึ่งบอกว่าพ.ท.พโยมกลับเข้าประเทศไทยและถูกจับกุมตัวได้ เช่นเดียวกับพลต. เนตร เขมะโยธินเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม  จึงถูกส่งฟ้องศาล ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด   ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป
หมายความว่า พ.ท.พโยมพ้นผิดในคดีกบฏเสนาธิการ

แต่อีกข้อมูลหนึ่ง  บอกว่าเมื่ออยู่เมืองหาง  สถานการณ์คับขัน พ.ท.พโยมจึงลี้ภัยอีกต่อหนึ่ง  ขี่ม้าข้ามป่าเขา จากเมืองท่าขี้เหล็กไปจีน ไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เสนิน อยู่นาน 8 ปี

แต่จะเป็นข้อมูลไหนถูกต้องก็ตาม  ผลก็ลงเอยว่า พ.ท. พโยม ต้องระหกระเหินห่างบ้านเมืองไป    และผลสุดท้าย ศาลสั่งปล่อยตัวพ้นผิดในคดีกบฏเสนาธิการ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 09:36

อุดม สีสุวรรณ ในนามปากกา พ. เมืองชมพู ที่มีโอกาสเดินทางไปพบ พ.ท.พโยม ที่เมืองหาง ได้สรุปถึงสถานการณ์รอบตัวของ พ.ท.พโยม ไว้ใน 'สู่สมรภูมิภูพาน' ว่า

๑. ศึกกระเหรี่ยง ศึกคอมมิวนิสต์ และศึกพม่าอิสระที่รัฐบาลพม่ากำลังเผชิญอยู่นั้น ทำให้ดินแดนที่ลุง (หมายถึง พ.ท.พโยม) กำลังหลบภัยอยู่นั้นคับขัน

๒. การปฏิเสธที่จะช่วยเจ้าเมืองพาน (เพื่อรบกับกระเหรี่ยง) ย่อมสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างคุณลุงกับคนเมืองหางที่เคยสร้างไว้ในอดีต

๓. ความขัดแย้งกับพวกจีนฮ่อซึ่งนับวันมีอิทธิพลเหนือดินแดนอันน่าสงสารแห่งนี้ ทำให้ความปลอดภัยของลุงลดลงถึงระดับที่ยากจะประกันอะไรได้

ทั้งสามประการดังที่วิเคราะห์นี้แสดงว่า ลุงอยู่ต่อไปไม่ได้เสียแล้วในดินแดนแห่งนี้ ลุงจะต้องหาทางเพื่อหลุดพ้นจากสถานะเช่นนี้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้


และผู้เล่าเรื่องนี้ก็กลับจากเมืองหาง พร้อมกับเอกสารแสดงความจำนงเข้าร่วมกับ พคท.ของ พ.ท.พโยม เพื่อยื่นต่อ พายัพ อังคสิงห์ สมาชิกพรรคฯคนสำคัญ ที่ทำงานในเมืองอยู่ในขณะนั้น นั่นคือปี ๒๔๙๒ ขณะที่ ด.ช.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุได้เพียง ๖ ขวบ พ.ท.พโยม กำลังเดินทางเลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า-ลาว โดยการอำนวยความสะดวกจาก รวม วงศ์พันธ์ เข้าสู่แผ่นดินจีน ปลายทาง 'สำนักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน' ณ กรุงปักกิ่ง ๘ ปีในแผ่นดินจีน หล่อหลอมให้นายทหารเสนาธิการแห่งกองทัพไทยกลายเป็นนักปฏิวัติที่พร้อมจะทำงานเพื่อสร้างสังคมใหม่ พ.ท.พโยม คืนแผ่นดินเกิดในปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี ๒๕๐๐ในชื่อจัดตั้งว่า 'สหายคำตัน' หรือ 'ลุงคำตัน' ของนักปฏิวัติในยุคหลัง และกลับสู่บ้านที่บางโพในวันที่ลูกชายคนโตอายุได้ประมาณ ๑๔ ปี พร้อมกับเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งกับพรรคสหภูมิ 

ข้อมูลโดยชูวัส ฤกษ์ศิริสุข จาก Nation Weekend ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๕๘๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
http://gotoknow.org/blog/dongluang/75179
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 09:54

งั้นกลับมาดูข้อมูลอีกด้านหนึ่งนะคะ
http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8E%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3

เว็บไซต์ ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า  บันทึกถึงกบฏเสนาธิการว่า

การดำเนินการครั้งนี้ประสบความล้มเหลว แผนการต่างๆรั่วไหล ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังไปจับกุม พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์และกำลังส่วนใหญ่ของฝ่ายเสนาธิการได้ที่กระทรวงกลาโหมในคืนวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2491 ก่อนเวลาลงมือปฏิบัติการ และเช้าวันรุ่งขึ้นได้จับตัว พล.ต.หลวงรณกรรมโกวิท และ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม แต่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์นั้นหนีรอดไปได้

จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม ก็สามารถตามจับกุมผู้ที่หลบหนีไปได้อีก 7 คน รวมทั้ง พล.ต.เนตร เขมะโยธิน และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ส่งฟ้องศาลรวม 22 คน
[10] ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี 9 ราย คือ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน พ.อ.กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ.หลวงจิตรโยธี พ.อ.หลวงศรีสิงหสงคราม พ.ท.ประสบ ฐิติวร พ.ต.ชิน หงส์รัตน์ ร.อ.หิรัญ สมัครเสวี ร.อ.สุรพันธ์ อิงคุลานนท์ ร.ท.บุญช่วย ศรีทองเกิด ส่วนที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป[11]

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากหนังสือของ  โรม บุนนาค ชื่อ คู่มือรัฐประหาร  , กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2549,
และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  หนังสือชื่อ แผนชิงชาติไทย, พิมพ์ครั้งที่2, กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2550,
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 22:50

เหตุที่หยุดชะงักในตอนนี้ ก็เพราะประวัติของพ.ท.โพยมในช่วงหลังกบฏเสนาธิการ มีอะไรแย้งกันอยู่  ที่ดิฉันยังสางไม่ออก

ข้อเขียนของ อุดม สีสุวรรณ ในนามปากกา พ. เมืองชมพู จากที่คุณเพ็ญชมพูนำมาลง มีตอนหนึ่งบอกว่า

"นั่นคือปี ๒๔๙๒ ขณะที่ ด.ช.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อายุได้เพียง ๖ ขวบ พ.ท.พโยม กำลังเดินทางเลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า-ลาว โดยการอำนวยความสะดวกจาก รวม วงศ์พันธ์ เข้าสู่แผ่นดินจีน ปลายทาง 'สำนักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน' ณ กรุงปักกิ่ง ๘ ปีในแผ่นดินจีน หล่อหลอมให้นายทหารเสนาธิการแห่งกองทัพไทยกลายเป็นนักปฏิวัติที่พร้อมจะทำ งานเพื่อสร้างสังคมใหม่      พ.ท.พโยม คืนแผ่นดินเกิดในปลายสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี ๒๕๐๐ในชื่อจัดตั้งว่า 'สหายคำตัน' หรือ 'ลุงคำตัน' ของนักปฏิวัติในยุคหลัง และกลับสู่บ้านที่บางโพในวันที่ลูกชายคนโตอายุได้ประมาณ ๑๔ ปี พร้อมกับเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งกับพรรคสหภูมิ "


เมื่อพ.ท.พโยมลี้ภัยไปที่เมืองหาง  ได้พาครอบครัวไปด้วย คือนางวรรณดี จุลานนท์ และบุตรชายอายุประมาณ ๒ ขวบชื่อ พยนต์  ส่วนคุณอัมโภช (ท่าราบ) ได้แยกทางกันแล้วก่อนหน้านี้   พ.ท.พโยมย้ายไปอยู่บางโพกับภรรยา และมีบุตรชายคนแรกกับภรรยาคนนี้ชื่อพยนต์
จากนั้น พ.ท.พโยมมีบุตรอีก ๓ คนจากคุณวรรณดี คือ ศิริพร  ประกายแก้ว และกอแก้ว     ล้วนแต่เกิดในประเทศไทย  ไม่ได้เกิดในประเทศจีน   
ถ้าอย่างนั้น   พ.ท.พโยมอยู่ในปักกิ่งตลอด ๘ ปีได้อย่างไร? 
พ.ท.พโยมน่าจะอยู่ในประเทศไทย  หลังจากหลุดพ้นจากข้อหากบฏเสนาธิการ เพราะศาลสั่งยกฟ้องปล่อยตัวไปแล้ว  (ตามข้อมูลจากเว็บสถาบันพระปกเกล้า)
ในเมื่อศาลยกฟ้อง  ก็แปลว่าไม่มีความผิดติดตัว  พ.ท.พโยมก็ไม่จำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ปักกิ่ง  หรือถ้าตัดสินใจไปอยู่ปักกิ่งจริงๆ บุตรคนที่สอง สาม และสี่ก็จะต้องเกิดที่นั่น    แต่นี่ทุกคนก็เกิดในประเทศไทย  ได้รับการศึกษาในร.ร.ไทย กันทุกคน จนกระทั่งเรียจบ    ก็ล้วนแต่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง

พ.ท.พโยมลี้ภัยครั้งที่ ๒ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖  คราวนี้ไปอยู่จีน และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  จนอายุมากขึ้นจึงได้ถอนตัวจากการเมือง  จนถึงแก่กรรมที่ปักกิ่งเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๓
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 09 ธ.ค. 10, 22:54

นี่คือภาพถ่ายในงานศพของคุณหญิงเก๋ง วิเศษสิงหนาถ มารดาของพ.ท.พโยม เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖   
พ.ท.พโยมอยู่ในประเทศไทยแน่นอนในตอนนั้น
ใครสังเกตเห็นพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ในรูปนี้บ้างคะ?



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 10 ธ.ค. 10, 22:38

เข้ามารายงานตัวครับ คุณครูทุกๆท่านๆ

ส่วนคำถามท้ายบทที่คุณหญิงฯถามมา ขออนุญาตไม่ตอบตอนนี้นะครับ



 อายจัง อายจัง อายจัง อายจัง
เพราะ ยังหาไม่เจอครับ แหะๆๆๆๆ
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 12 ธ.ค. 10, 17:10

พลเอกสุรยุทธ น่าจะเป็นเพียงคนเดียวที่มีบั่ง ติดที่บ่า คือ คนที่ 2 จากซ้ายมือ
แถวที่ 2 นับจากบนลงมาล่างค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง