เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 22849 คติธรรม ส่งท้ายปีเก่า ๒๕๕๓ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๔
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 01 ธ.ค. 10, 15:36

วลี ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" สะกดคนไทยมาหลายสิบปีแล้ว และหากเราไม่ลุกขึ้นมาพิจารณาวลีนี้อย่างจริงจังสักทีหนึ่ง คนรุ่นหลังก็จะถูกสะกดทางจิตวิญญาณต่อไปอีกยาวนาน

ในครั้งพุทธกาลเคยมีชาวบ้านถามพระพุทธเจ้าว่า บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายต่างบอกว่าตนเป็นผู้ "รู้แจ้ง" ทั้งนั้น จนไม่รู้จะเชื่อใครดี ในกรณีนี้ควรจะมีท่าทีอย่างไร แทนที่พระพุทธองค์จะตรัสว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ต่อเจ้าลัทธิเหล่านั้น แต่กลับตรัสว่า "ไม่เชื่อต้องศึกษา" และผู้เขียนต่อให้อีกประโยคหนึ่งว่า "ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้" ท่าทีของพุทธต่อความเชื่อที่ถูกจึงควรหนีจากวลีที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มาเป็น "ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้"

ย้ำชัด ๆ อีกครั้ง เราคนไทยต้องเปลี่ยนจากท่าที "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มาเป็น

"ไม่เชื่อต้องศึกษา ไม่มีปัญญาต้องเรียนรู้"

อย่ากลัวคำขู่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" อีกเลย วลีนี้ "มัดตราสัง" จิตวิญญาณของสังคมไทยให้ง่อยเปลี้ยเสียขาทางปัญญามานานแล้ว มาถึงยุคสมัยของเรา เราควรจะลุกขึ้นมาปลดตราสังนี้ทิ้งไปเสีย สิ่งใดที่ไม่เชื่อก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นความลึกลับดำมึดต่อไป แต่ควรตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นมีพัฒนาการอย่างไร ไยจึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจคนมากมายได้ ขอเพียงรู้จักตั้งคำถามว่า "ทำไม" เท่านั้นเอง อวิชชาจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาอย่างง่ายดาย เช่น ครั้งหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะทรงพบคนตาย แล้วทรงถามตัวเองว่า "ทำไมเขาถึงตาย" กระบวนการค้นหาคำตอบทำให้ทราบว่า ที่คนต้องตายก็เพราะมีการเกิดเป็นสาเหตุ ทรงถามต่อว่า ทำไมจึงมีการเกิด ก็ทรงค้นพบว่าเรายังมีตัณหา ความต้องการสืบทอดตัวตน และคำถามเหล่านี้เองเป็นจุดตั้งต้นแห่งการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา

ไม่น่าเชื่อว่าคำถามแสนธรรดาที่เกิดขึ้นระหว่าการเดินทาง จะกลายเป็นที่มาของศาสนาสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก

ใน เรื่องเดียวกันนี้หากเด็กไทยสักคนหนึ่งเดินทางไปตามถนนกับคุณแม่แล้วพบคนตาย เจ้าหนูถามแม่ว่า "แม่ฮะ ทำไมคนจึงตาย" แทนที่แม่จะตอบว่า "ลองคิดดูสิลูก ว่าทำไมคนเราจึงตาย" คำตอบที่ได้อาจเป็น "เงียบนะ ถามอะไรบ้า ๆ เดี๋ยวผีก็หลอกหรอก ขอขมาคนตายเดี๋ยวนี้เลย"

หรือพอเด็ก ๆ เห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ห้อยเทพเต็มคอแล้วถามว่า "แม่ฮะ เทพมีจริงไหม" แทนที่แม่จะสอนว่า "ลองคิดดูสิ ถ้าเทพไม่มีแล้วทำไมคนจึงนับถือท่านล่ะ" แม่อาจตอบว่า "หยุดนะลูก เทพมีจริงหรือไม่ ไม่รู้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เชียว"

พอเจอคุณแม่นัก "ดับฝัน" อย่างนี้ กระบวนการแห่งปัญญาของเด็กก็เป็นอันสิ้นสุด คนไทยส่วนใหญ่มักทำฆาตกรรมทางปัญญากันด้วยท่าทีเช่นนี้เสมอ ทำให้ทัศนะ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" มีอิทธิพลเหนือจิตใจคนไทย การค้นพบภูมิปัญญาใหม่ ๆ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้นในสังคมไทยมากนัก บ้านเราจึงมีแต่นักลอกเลียนแบบกระจายกันไปทุกวงการ เพราะเราไม่ค่อยถูกสอนให้คิดเชิงวิเคราะห์

ตอนเด็ก ๆ กาลิเลโอ มักเบื่อและขัดใจเสมอเมื่อได้ยินครูเอาแต่พูดว่า "อริสโตเติลกล่าวไว้ว่า… " และเมื่อที่สุดแห่งความเบื่อเดินทางมาถึง กาลิเลโอจึงลงมือพิสูจน์ทฤษฎีของเขาที่หอเอนปิซา จนทฤษฎีของอริสโตเติลพังทลายลงไป จากนั้นเขาก็กลายเป็นปัญญาชนคนใหม่ของโลก และมนุษยชาติอีกจำนวนนับไม่ถ้วนก็ถูกปลดจากขื่อคาตราสังของความเชื่อฝังหัว ที่ถูกส่งทอดมา ภายใต้แบรนด์ "อริสโตเติล" นับร้อย ๆ ปี

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะมี "ปัญญาเป็นของตัวเอง" มาตั้งแต่เกิด ขอเพียงให้รู้จักตั้งคำถามกับสิ่งรอบข้างอยู่เสมอ "

ว. วชิรเมธี นิตยสารแพรว ฉบับวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 01 ธ.ค. 10, 15:57

มาสนับสนุนการไม่ลบหลู่ด้วยการพิสูจน์ทราบค่ะ

เวลานี้มีคนแอบอ้างคุณวิเศษเยอะ จึงขอเอาพุทธพจน์มาเป็นหลักให้ชาวเรือนไทยได้ใช้ในปีใหม่นี้ค่ะ

๑. ดูกรมหาบพิตร ศีล พึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย เมื่อมนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ ฯ

๒. ความเป็นผู้สะอาด พึงทราบได้ด้วยการปราศรัย และความเป็นผู้สะอาดนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยกาลนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ ฯ

๓. กำลังใจ พึงทราบได้ในเพราะอันตราย และกำลังใจนั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยการนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบ ผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ ฯ

๔. ปัญญา พึงทราบได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นแลพึงทราบได้โดยกาลนาน ไม่ใช่โดยการนิดหน่อย มนสิการพึงทราบได้ ไม่มนสิการไม่พึงทราบผู้มีปัญญาพึงทราบได้ ผู้มีปัญญาทรามไม่พึงทราบ ฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 01 ธ.ค. 10, 16:39

      น่าสังเกตว่า ทำไมสังคมไทยของเรา จึงเชื่อหมอดูมากกว่า ปัญญาชน,นักวิชาการ

      ในทางพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าตรัสถึงลัทธินอกพุทธศาสนาสามอย่างที่เป็นชนวนของความ “ยอมจำนนต่อปัญหา” ทำให้มนุษย์ไม่ก้าวไปข้างหน้า ลัทธิที่ว่านั้นก็คือ

                  (๑) ลัทธิกรรมเก่า      เชื่อกันว่า ความเป็นไปในชีวิตของคนเป็นผลมาจากกรรมเก่าล้วนๆ
                  (๒) ลัทธิเทพเจ้าบันดาล        เชื่อกันว่า  ชีวิตของคนจะเป็นไปอย่างไร “พระพรหม” ท่านลิขิตไว้หมดแล้ว
                  (๓) ลัทธิบังเอิญ     เชื่อกันว่า  ชีวิตของคนจะเป็นไปอย่างไร ถึงเวลามันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง  ไม่มีที่มา  ไม่มีที่ไป อะไรจะเกิดมันก็เกิด

                  ลัทธิกรรมเก่า  นำไปสู่ภาวะ “ยอมจำนน” ต่อปัญหา
                  เช่น เกิดมาจน ก็ก้มหน้ารับความจน  ถูกเขาโกง ก็บอกตัวเองว่า ชาติที่แล้วไปโกงเขาไว้เยอะ พออธิบายอย่างนี้ คนโกงก็เลยลอยนวล สบาย  ไม่มีความผิด และถ้าเป็นเช่นนั้น คนไทยชาติที่แล้วคงเป็นขโมยกันค่อนประเทศ  ชาตินี้จึงถูกเขาโกงพร้อมกันทั้งชาติอย่างซ้ำซาก หรือบางทีมีวิกฤติการเมืองตีบตัน  ก็อธิบายกันว่า เป็นเพราะกรรมเก่าของประเทศ ดังนั้น จึงต้องแก้กรรมด้วยการทำบุญประเทศ  แต่แล้วยิ่งทำบุญประเทศ ยิ่งกรรมหนัก  จนคนนำทำบุญประเทศ  แทบไม่มีประเทศให้อยู่

                  ลัทธิเทพเจ้าบันดาล  นำไปสู่ภาวะ “ไม่พึ่งตนเอง” และ “ปัดความรับผิดชอบ”
                  เช่น เวลามีปัญหาขึ้นมาแทนที่จะมองหาวิธีแก้ปัญหา กลับมองหาวิธีบวงสรวง  สะเดาะเคราะห์ต่อชะตา  ปั้นเทพขึ้นมาบูชา แล้วก็รอให้เทพมาช่วย  ซึ่งถ้าเทพมีอานุภาพจริง เมืองไทยไม่มีทางเข้าสู่วิกฤติเลย เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีเทพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  (แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยปัญหามากที่สุดเช่นกัน)

                 ลัทธิบังเอิญ นำไปสู่ภาวะ “หลักลอยทางความเชื่อ” และ “ไม่มุ่งมั่นทำการ” ไม่เชื่อมั่นในสติปัญญาของมนุษย์  เน้นการ “พึ่งพาอัศวินขี่ม้าขาว” มาโปรด
             เช่น เวลามีปัญหาเกิดขึ้น  มักอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นโชค  เวลามีวิกฤติ เกิดขึ้นมักอธิบายว่าเป็นเคราะห์ พอถามต่อไปว่า เคราะห์และโชคเกิดจากอะไร ก็ตอบไม่ได้ ลัทธินี้เห็นชัดมาก ในช่วงใกล้วันหวยออก คนไทยจึงชอบ “เสี่ยงดวง” ใครจะดวงดี ใครจะดวงตก ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ถ้าดวงดีดีเพราะอะไร ถ้าดวงตก ตกเพราะอะไร ก็อธิบายลำบาก  ลัทธินี้ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และกำลังอหังการสุดๆ ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้  เพราะคนที่เชื่อลัทธินี้ ล้วนแต่เป็นแม่ทัพนายกอง และผู้อยู่ในอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

                ว.วชิรเมธี
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 12:21

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ขอเสนอพุทธภาษิตว่าด้วยพระราชาค่ะ

พุทธศาสนสุภาษิต : พระราชา

ราชา รฏฺฐสฺส ปญฺญาณํ
                        พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของแว่นแคว้น

ราชา มุขํ นุสฺสสานํ
                        พระราชาเป็นประมุขของประชาชน

สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ โหตุ ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก
                        ถ้าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรม ราษฎรทั้งปวงก็เป็นสุข

กุทฺธํ อปฺปฏิกุชฺฌนฺโต ราชา รฏฺฐสฺส ปูชิโต
                        พระราชาผู้ไม่กริ้วตอบผู้โกรธ ราษฎรก็บูชา

สนฺนทฺโธ ขตฺติโย ตปติ
                        พระมหากษัตริย์ทรงเครื่องรบย่อมสง่า

ขตฺติโย เสฏฺโฐ ชเนตสฺมิง เย โคตฺตปฏิสาริโน
                        พระมหากษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยสกุล
           
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 12:25

ขอต่อต้านการทำแท้งเถื่อน การไม่เห็นคุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์ ด้วยพุทธภาษิตต่อไปนี้ค่ะ

พุทธศาสนสุภาษิต : สิ่งที่เป็นการยาก

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ
ความได้เป็นมนุษย์เป็นการยาก
กิจฺฉํ มจฺจาน ชีวิตํ
ความเป็นอยู่ของสัตว์เป็นการยาก
กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ
การฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นการยาก
กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท
ความเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้เป็นการยาก
ทุลฺลภํ ทสฺสนํ โหติ สมฺพุทฺธานํ อภิณฺหโส
การเห็นพระพุทธเจ้าเนืองๆ เป็นการหาได้ยาก
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 03 ธ.ค. 10, 12:42

สำหรับคติพจน์ต่อไปนี้ ขอน้อมมาบูชาพระคุณโดยเฉพาะ
อ.เทาชมพู อ.เนาวรัตน์ คุณวันดี คุณหลวงเล็ก และ
ทุก ๆ ท่านที่เอาความรู้ทั้งหลายมาเผื่อแผ่ชาวเรือนไทย

เพราะที่แห่งนี้ คือ "หนังสือ" ที่มีสาระมากมายหลายด้าน
ทำให้ระลึกถึงคำกลอนสมัยเป็นเด็ก
ครูภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนำมาให้นักเรียนท่องจำให้ขึ้นใจว่า.....

"หนังสือ   คือ กุญแจ    ไขความรู้ื
 หนังสือ   คือ ประตู      แดนสุขสันต์
 หนังสือ   คือ วิถี         นำชีวัน
 หนังสือ   คือ มิตรขวัญ  เชิญอ่านเทอญ"


แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษค่ะ

"Books are keys to wisdom's treasure;
Books are gates to lands of pleasure;
Books are paths that upward lead;
Books are friends. Come, let us read."

— Emilie Poulsson
[/b][/color]
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 07 ธ.ค. 10, 20:30

หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

    ผู้ใดทำให้ใจถึงความเป็นกลางได้
    ผู้นั่นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
    ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ในโลกนี้ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น
    แท้จริงความนึกคึดไม่ใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นของตน จึงเป็นทุกข์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 07 ธ.ค. 10, 20:33

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

    สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 15:03

เป็นอะไรเป็นให้ดีที่สุด

แม้มิได้เป็นดอกกุหลาบหอม
ก็จงยอมเป็นเพียงลดาขาว
แม้มิได้เป็นจันทร์อันสกาว
จงเป็นดาวดวงแจ่มแอร่มตา

แม้มิได้เป็นหงส์ทะนงศักดิ์
ก็จงรักเป็นโนรีที่หรรษา
แม้มิได้เป็นน้ำแม่คงคา
ก็จงเป็นธาราใสที่ไหลเย็น

แม้มิได้เป็นมหาหิมาลัย
จงพอใจจอมปลวกที่แลเห็น
แม้มิได้เป็นวันพระจันทร์เพ็ญ
ก็จงเป็นวันแรมอันแจ่มจาง

แม้มิได้เป็นต้นสนระหง
จงเป็นพงอ้อสะบัดไม่ขัดขวาง
แม้มิได้เป็นนุชสุดสะอาง
จงเป็นนางที่มิใช่ไร้ความดี

อันจะเป็นอะไรนั้นไม่แปลก
ย่อมผิดแผกดีงามตามวิถี
ประกอบกิจบำเพ็ญให้เด่นดี
สมกับที่ตนเป็นเช่นนั้นเทอญ

ศ. ฐะปะนีย์  นาครทรรพ หนังสือ "เรียนรู้ร้อยใจ เพื่อใครคนนั้นที่ชื่อว่าเรา"

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 15:59

พร 4 ข้อของท่าน ว.วชิรเมธี

   1. อย่าเป็นนักจับผิด
   คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง
   " กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก "
   คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส " จิตประภัสสร " ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี
   " แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข "

   2. อย่ามัวแต่คิดริษยา 
   " แข่งกันดี ไม่ดีสักคน    ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน "
   คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
   คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า " เจ้ากรรมนายเวร "   ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์   ฉะนั้น เราต้อง ถอดถอน
   ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น " ไฟสุมขอน " ( ไฟเย็น) เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
   เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี  " แผ่เมตตา " หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา 
   แล้วปล่อยให้ลอยไป

  3. อย่าเสียเวลากับความหลัง
   90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ " ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น "
   มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
   ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ " อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน "
   " อยู่กับปัจจุบันให้เป็น "   ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย คือมี " สติ " กำกับตลอดเวลา

   4. อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
   " ตัณหา " ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่ เกินพอดี เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อ 
   ธรรมชาติของตัณหา คือ " ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม "
   ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม   เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้  ใส่เพื่อ
   ความโก้หรู 
   คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่ คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
   เราต้องถามตัวเองว่า " เกิดมาทำไม " " คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน" ตามหา " แก่น " ของชีวิตให้เจอ
   คำว่า "พอดี" คือถ้า "พอ" แล้วจะ"ดี"   รู้จัก  "พอ" จะมีชีวิตอย่างมีความสุข
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 08 ธ.ค. 10, 21:11

คติธรรมของหลวงพ่อปัญญานันทะ

คติธรรม ที่ ๑.
คิดดี พูดดี ทำดี คบคนดี ไปสู่สถานที่ดี
คติธรรม ที่ ๒.
งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข
ทำงานให้สนุกเป็นสุขขณะทำงาน
คติธรรม ที่ ๓.
ตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้า
ทำงานแข่งกับเวลา
พัฒนาตัวเองและสังคม
ทำให้ชีวิตมีคุณค่า
คติธรรม ที่ ๔.
ยิ่งให้ ยิ่งได้
คติธรรม ที่ ๕.
จิตที่คิดจะให้ สบายกว่าจิตที่คิดจะเอา
คติธรรม ที่ ๖.
น อนริยํ กริสฺสามิ
เราจักไม่กระทำสิ่งที่ต่ำทราม
คติธรรม ที่ ๗.
ทำดีแล้วช่วยตัวเองได้
คติธรรม ที่ ๘.
จงอยู่กันด้วยความรัก
คติธรรม ที่ ๙.
รักลูกให้ถูกทาง
คติธรรม ที่ ๑๐.
อย่าอยู่ให้เป็นทุกข์ แต่อยู่อย่างสบายใจ
คติธรรม ที่ ๑๑.
คิดดูให้ดี คิดดูให้ดี
ร่างกายนี้ เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับอยู่ทุกเวลานาที
ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์
แล้วจะมีค่า มีราคาที่ตรงไหน
คติธรรม ที่ ๑๒.
ขอให้ชาวพุทธคิดว่า
“ดี ชั่ว สุข ทุกข์ เสื่อม เจริญ
เป็นเรื่องของตนเอง”
คติธรรม ที่ ๑๓.
ศาสนาต้องอยู่คู่โลก
พระธรรมต้องอยู่คู่ใจคน
ทำดีด้วยตน
ชักชวนให้คนอื่นให้ทำดี
สนับสนุนคนดี ให้ทำดียิ่ง ๆ ขึ้นไป.
คติธรรม ที่ ๑๔.
ใจมีธรรม เป็นใจอันเดียวกัน
ใจที่มีกิเลสนั้นมีหลายใจ
คติธรรม ที่ ๑๕.
จงทำตนให้เป็นไท อย่าทำตนให้เป็นทาส
คติธรรม ที่ ๑๖.
ชาวพุทธต้องไม่ไปสู่ ๓ สถานที่
๑. อย่าไปหาหมอดู
๒. อย่าไปสำนักทรงเจ้าเข้าผี
๓. อย่าไปกราบไหว้สถานที่ศํกดิ์สิทธิ์ที่ทำให้งมงาย
คติธรรม ที่ ๑๗.
เผาศพทั้งที เผาผีเสียบ้าง
คติธรรม ที่ ๑๘.
ร่างกายเป็นของผสม ง่ายต่อการแตกสลาย
คติธรรม ที่ ๑๙.
อยู่เพื่อทำหน้าที่
ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่
ทำงานเพื่องาน
คติธรรม ที่ ๒๐.
คนชั่วโกรธง่าย
คติธรรม ที่ ๒๑.
ให้ความไม่มีโรค ได้ความไม่มีโรค
คติธรรม ที่ ๒๒.
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา
คติธรรม ที่ ๒๓.
พระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “ดลบันดาล”
คติธรรม ที่ ๒๔.
ประพฤติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเอง
คติธรรม ที่ ๒๕.
วันนี้เจ้าอยู่กับฉัน
พรุ่งนี้มันไม่แน่
คติธรรม ที่ ๒๖.
การที่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
มีอำนาจมาก ศักดิ์สิทธิ์มาก
คติธรรม ที่ ๒๗.
พิจารณาตัวเอง
ตักเตือนตัวเอง
แก้ไขตัวเอง
คติธรรม ที่ ๒๘.
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาคือ ธรรมะ
คติธรรม ที่ ๒๙.
อยู่อย่างผู้รู้ ไม่เป็นทุกข์
คติธรรม ที่ ๓๐.
พ่อแม่คือพระในบ้าน
คติธรรม ที่ ๓๑.
เราควรถามตัวเองว่า
เราเกิดมาทำไม
เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร
และเราได้กระทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง
คติธรรม ที่ ๓๒.
หลับเพื่อตื่น ตื่นเพื่อหน้าที่
คติธรรม ที่ ๓๓.
ช่วยให้เขารู้แจ้ง
เห็นจริงในธรรม
คติธรรม ที่ ๓๔.
คนในสังคมยังมืดบอดอยู่อีกมาก
จึงต้องช่วยกันเผยแผ่หลักธรรมอันถูกต้องให้มากยิ่งขึ้น
คติธรรม ที่ ๓๕.
พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ
พระธรรมเป็นทางเดิน
พระสงฆ์เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินชีวิต
คติธรรม ที่ ๓๖.
ผู้หวังความก้าวหน้า
ให้หมั่นเข้าใกล้ผู้รู้
ฟังคำสอนด้วยความเคารพ
นำคำสอนมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ
คติธรรม ที่ ๓๗.
นรกสวรรค์อยู่ที่ใจ
คติธรรม ที่ ๓๘.
นํ้ามนต์ชโลมกาย
พระธรรมชโลมใจ
คติธรรม ที่ ๓๙.
อย่าเรียนเพื่อหาช่อง แต่เรียนเพื่อปิดช่อง
คติธรรม ที่ ๔๐.
จงช่วยกันสอนธรรม
 อย่าช่วยกันเสกของขลัง
คติธรรม ที่ ๔๑.
ไปพบพระ ฟังธรรมะ ชีวิตจะสดใส
คติธรรม ที่ ๔๒.
ทำหน้าที่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 13 ธ.ค. 10, 12:22

พิจารณาตัวเอง
คืน หนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที
ไม่ติดต่อกับใคร ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ
ว่าที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง
คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้
มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

อยู่ให้สบาย

ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด   อยู่กันอย่างไม่ยินดี   อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ   เหนือนินทา   เหนือความผิดหวัง   เหนือความสำเร็จ   เหนือรัก   เหนือชัง


หลวงปู่ทวด วัดช้างให้
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 13 ธ.ค. 10, 14:00

ได้เห็นหัวข้อคติธรรมว่า พิจารณาตนเอง ช่างพอดีกับจดหมายลงทะเบียนที่เพิ่งจะได้รับค่ะ
เพื่อนส่งคติธรรม ลายมือหลวงพ่อที่ไม่ได้ดังมากมายอะไรนัก ท่านเขียนด้วยมือ สอนศิษย์ชาวบ้าน ดังนี้



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 13 ธ.ค. 10, 20:37

ปรัชญาขงจื้อ

-ไม่ต้องเป็นห่วงคนอื่นที่ไม่เข้าใจเรา แต่ต้องเป็นห่วงว่าเรา ไม่เข้าใจคนอื่น

-การที่ยอมรับว่าไม่รู้นั้น ก็คือความที่รู้แล้ว

-บัณฑิตคิดถึงว่า ทำอย่างไรจะเพิ่มพูนคุณธรรมของตนได้

คนพาลคิดถึงว่า ทำอย่างไรจึงจะเห็นความเป็นอยู่ขอตนสะดวกสบายขึ้น โดยไม่คำนึง ถึงคุณธรรม

-บัณฑิตรู้เฉพาะเรื่องที่ขอบด้วยคุณธรรม คนพาลรู้เฉพาะเรื่องที่ได้ผลกำไร โดยไม่คำนึง ถึงคุณธรรม

-ผู้มีคุณธรรมย่อมไม่ถูกทอดทิ้งโดยโดดเดี่ยว และจะต้องมีเพื่อนบ้านมาคบหา

-ไม่คิดถึงความชั่วของคนอื่นในอดีตกาล จึงมีคนโกรธท่านน้อย

-จงเป็นนักศึกษาในแบบบัณฑิต อย่าเป็นนักศึกษาในแบบคนพาล

-บัณฑิตย่อมมีจิตใจกว้างขวางราบรื่น

คนพาลย่อมมีความกลัดกลุ้มอยู่เวลา

-ยังปรนนิบัติคนที่มีชีวิตไม่เป็น จะปรนนิบัติเซ่นไหว้เทพเจ้ากับผีได้อย่างไรเล่า

-ต่างตักเตือนให้กำลังใจกันและกัน อยู่กันด้วยความสามัคคี เรียกว่าเป็นนักศึกษาได้

-ในระหว่างเป็นเพื่อนกันต้องตักเตือนให้กำลังใจกันและกัน ในระหว่างพี่น้องต้องสามัคคีกัน

-เมื่อรักเขาจะไม่ให้กำลังใจเขาได้หรือ เมื่อซื่อสัตย์ต่อเขา จะไม่ตักเตือนสั่งสอนเขาได้หรือ

-ปราชญ์ย่อมหลีกเลี่ยงสังคมที่เลวร้าย สถานที่เลวร้าย มารยาทที่เลวร้าย และวาจาที่เลวร้าย

-ตำหนิตนเองให้มาก ตำหนิผู้อื่นให้น้อย ก็จะไม่มีใครโกรธแค้น

-บัณฑิตขอร้องกับตนเอง ส่วนคนพาลนั้นจะขอร้องกับคนผู้อื่น

-บัณฑิตมีความภาคภูมิใจในตนเอง โดยไม่แย่งชิงความภาคภูมิใจของคนอื่น บัณฑิตมีความสามัคคี แต่ไม่เล่นพวกกัน

-พูดไพเราะตลบแตลง ทำให้สูญเสียคุณธรรม

เรื่องเล็กไม่อดกลั้นไว้จะทำให้แผนเรื่องใหญ่เสีย

-ทุกคนเกลียดก็ต้องพิจารณา ทุกคนรักก็ต้องพิจารณา

-เพื่อนที่ซื่อตรง เพื่อนที่มีความชอบธรรม เพื่อนที่มีความรู้ ทั้ง ๓ ประเภทนี้มีประโยชน์แก่เรา

-เพื่อนที่ประจบสอพลอ เพื่อนที่ทำอ่อนน้อมเอาใจ เพื่อนที่ชอบเถียงโดยไม่มีความรู้ ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นภัยแก่เรา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 20 ธ.ค. 10, 13:48

มีคำเก่าได้ยินมานานแล้วประโยคหนึ่ง คือที่พูดว่า  “คนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า” ความเชื่ออย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา และต้องระวังจะเป็นลัทธินิครนถ์

ลัทธินิครนถ์ ซึ่งก็มีผู้นับถือในสมัยพุทธกาลจนกระทั่งในอินเดียทุกวันนี้ เป็นลัทธิกรรมเก่าโดยตรง เขาสอนว่า คนเราจะได้สุข ได้ทุกข์อย่างไรก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อน และสอนต่อไปว่า ไม่ให้ทำกรรมใหม่ แต่ต้องทำกรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ จึงจะสิ้นกรรมสิ้นทุกข์   นักบวชลัทธินี้จึงบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ
   

มีคำถามที่น่าสังเกตว่า
ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะหมดไปเองไหม

เมื่อไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไป กรรมเก่าก็น่าจะหมดไปเอง แต่ไม่หมดหรอก   ไม่ต้องอยู่เฉยๆ แม้แต่จะชดใช้กรรมเก่าไปเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางหมดไปได้
หตุผลง่ายๆ คือ

๑. คนเรายังมีชีวิต ก็คือเป็นอยู่ ต้องกินอยู่ เคลื่อนไหวอิริยาบถ  ทำโน่นทำนี่ เมื่อยังไม่ตาย ก็ไม่ได้อยู่นิ่งๆ

๒. คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน ก็มีโลภ โกรธ หลง โดยเฉพาะความหลง หรือโมหะนี้มีอยู่ประจำในใจตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้รู้เข้าใจความจริงถึงสัจธรรม

เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้ก็คือ คนที่อยู่เพื่อใช้กรรมนั้น เขาก็ทำกรรมใหม่อยู่ตลอดเวลา แม้แต่โดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่เป็นบาปกรรมที่ร้ายแรง แต่ก็เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยโมหะ เช่นกรรมในรูปต่างๆ ของความประมาท   ปล่อยชีวิตเรื่อยเปื่อย
ถ้ามองลึกเข้าไปในใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ผุดโผล่ขึ้นมาในใจของเขาอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะต่างๆ เช่น เศร้า ขุ่นมัว กังวล   อยากโน่นอยากนี่ หงุดหงิด เหงา เบื่อหน่าย กังวล คับข้อง ฯลฯ นี่ก็คือทำกรรมอยู่ตลอดเวลา แถมเป็นอกุศลกรรมเสียด้วย
เพราะฉะนั้นอย่างนี้จึงไม่มีทางสิ้นกรรม  ชดใช้ไปเท่าไรก็ไม่รู้จักสิ้นสุด มีแต่เพิ่มกรรม

“แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม ?”
การที่จะหมดกรรม  ก็คือ ไม่ทำกรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น  คือแม้แต่กรรมดีก็เปลี่ยนให้ดีขึ้น   จากระดับหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

พูดเป็นภาษาพระว่า เปลี่ยนจากทำอกุศลกรรม เป็นทำกุศลกรรม และทำกุศลระดับสูงขึ้นไป จนถึงขั้นเป็นโลกุตตรกุศล
ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็พูดว่า พัฒนากรรมให้ดียิ่งขึ้น  เราก็จะมีศีล มีจิตใจ มีปัญญา ดีขึ้นๆ ในที่สุดก็จะพ้นกรรม

พูดสั้นๆ ว่า กรรมไม่หมดไปด้วยการชดใช้กรรม แต่หมดกรรมด้วยการพัฒนากรรม คือปรับปรุงตัวให้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นๆ จนพ้นขั้นของ
กรรมไป ถึงขั้นทำ แต่ไม่เป็นกรรม คือทำด้วยปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ถูกครอบงำหรือชักจูงด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงจะเรียกว่า พ้นกรรม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง