ขอไว้อาลัยเกือบ ๔๐๐ ชีวิตที่สูญเสียไปในเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบสองที่เขมร

ในเทศกาลนี้ที่เขมรนอกจากจะมีลอยกระทงเหมือนของไทยแล้ว ยังมีแข่งเรือ ไหว้พระจันทร์ และกินข้าวเม่า ด้วย
บาราย เขียนเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ประเพณีลอยกระทง ไม่ได้มีในเมืองไทย และบ้านเมืองใกล้เคียง เช่น เขมร ลาว เท่านั้น ในจีนและอินเดียก็มี จุดไฟใส่กระทงลอยน้ำเหมือนกัน แต่ เป้าหมายไม่เหมือนกัน
ที่อินเดีย เป็นหนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ ในพระราชฐานมีการ เอาไม้ยาวมาทำเสาโคมปัก จุดไฟไว้ ๑๕ วัน แล้วก็ชักโคมลงใส่แพ ลอยไปในแม่น้ำ ปล่อยให้ไหลลงทะเล ดวงไฟในกระทง ถ้าสว่างรุ่งโรจน์ ก็เชื่อกันว่าชะตาจะดี ดวงไฟริบหรี่ ก็เชื่อกันว่าชะตาจะร้าย
วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พวกผู้หญิงก็จะจุดโคมไฟถือไปบูชาพระวิษณุ
แต่ในเมืองไทย การลอยกระทงเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระพุทธบาท ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทนที แต่อีกตำราก็ว่า เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ว่ากันถึงกระบวนการลอยกระทง ของไทยกับลาวก็ต่างกัน ส.พลายน้อย เขียนไว้ในเกร็ด โบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทยว่า เริ่มแต่วัน ลอยกระทง ไทยนิยมลอยในวันเพ็ญเดือนสิบสอง แต่ของลาว เริ่มลอยตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑
กระทงของลาวนิยมทำเป็นรูปเรือ รูปสัตว์ ใหญ่ เพื่อจะได้ใส่เครื่องทำบุญได้มาก ๆ เรือบางลำ ใส่จีวรพระ อาหารการกิน ที่มีศรัทธาถอดสร้อย แหวนทองคำใส่ลงไปก็มี บางลำจุดตะเกียง เจ้าพายุสว่างจ้าไปทั้งแม่น้ำ ลาวเรียกว่า พิธีไหลเรือไฟ
วันรุ่งขึ้น แรม ๑ ค่ำ เป้าหมายบูชาพระพุทธเจ้า เปลี่ยนเป็นบังสุกุลให้ ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว กระทงรูปเรือเปลี่ยนเป็นน้ำเต้าจุดไฟ เรียกว่าไหลน้ำเต้า
เขมร...มีลอยกระทงเหมือนกัน แต่พิธีรีตอง ต่างกัน เริ่มลอยตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ต่อ ๑๕ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ รวมสามวัน ถ้าเป็นในราชสำนัก ก็จัดเป็นพระราชพิธี พระเจ้าแผ่นดินเสด็จ ประทับตำหนักแพ นักร้องสตรีฝ่ายในร้องเพลงแห่ถวาย
ส.พลายน้อยอธิบายว่า เพลงแห่ของเขมร ก็คือเพลงเห่ของไทยนี่เอง ร้องเพลงแห่กันไป จุดพลุ จุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลอง รำๆร้องๆกันไปจนสว่าง
อาจจะเป็นเพราะฉลองกันทั้งคืนนี่เอง คืนลอยกระทงของเขมร จึงต้องมีพิธีไหว้พระจันทร์ด้วย ผู้รู้ยังอธิบายไม่ได้ ธรรมเนียมไว้พระจันทร์ของจีน เชื่อมโยงไปถึงการไหว้พระจันทร์ของเขมร ได้อย่างไร
ลอยกระทงแล้ว ร้องเพลงแห่แล้ว ไหว้ พระจันทร์ ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่น ค่อนคืนแล้ว เข้าใจว่าคงจะหิว คืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของเขมร จึงมีพิธีออกอำบกด้วย
ออกอำบก ภาษาเขมรแปลเป็นไทย การกินข้าวเม่า
คนไทยก็คุ้นเคยกับข้าวเม่า เริ่มทำกันในช่วงท้ายปี ช่วงเวลาที่เรียกว่าข้าวใหม่ เลือกข้าวจากรวงที่ยังไม่ทันสุกดี ยังมีความหยุ่นเหนียว เอามาตำในครก ก็จะได้ข้าวเม่า นิยมเอาไปคลุกมะพร้าวทึนทึกกับน้ำตาลทราย หรือไม่ก็ใส่ น้ำกะทิ ก็ได้ขนมข้าวเม่า รสอร่อยไปคนละแบบ
แต่ในคืนลอยกระทงของเขมร พิธีออกอำบก เขาไม่มีอะไรยุ่งยาก เงยหน้ามองพระจันทร์ ใช้มือขวากอบข้าวเม่ากรอกเข้าปาก ก็เป็นอันพิธีเสร็จ แต่ถ้าหิวอีกจะกอบเข้าปากอีกจนอิ่ม เข้าใจว่า คงทำได้ ไม่มีใครห้าม