เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 17968 องเชียงสือ เชื้อพระวงศ์กว๋างนามผู้ปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ์แห่งเวียดนาม
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 15:49

พ.ศ. ๒๓๕๓ เดือนเจ็ด นักองค์สงวนกลับไปบันทายเพชร พระยาเดโชเมน (ซึ่งมีปัญหาอยู่กับพระอุทัยราชา) ไปด้วย แต่ไปอยู่ที่กะพงสวาย พงศาวดารไทยว่าพระอุทัยราชาทราบความเรื่องตั้งอุปราชฝ่ายหน้าฝ่ายหลังแล้วไม่พอพระทัย นิ่งเฉยอยู่ ไม่เกณฑ์ทัพมาช่วยรักษากรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๓๕๓ เดือนสิบ นักองค์สงวน และขุนนางเขมร ได้แก่พระยาจักรี พระยากระลาโหม พระยาสังขโลกย์ เห็นพระอุทัยราชาเพิกเฉย เกรงจะมีความผิด จึงปรึกษากันเกณฑ์คนจะยกเข้ามาช่วยราชการกรุงเทพฯ พระอุทัยราชาทราบความจึงให้พระยาแสนท้องฟ้า พระราชอาญา คุมคนไปจับพระยาจักรีแบน และพระยากระลาโหมเมืองฆ่าเสีย พระยาสังขโลกย์หนีเข้ามากรุงเทพฯ

เรื่องนี้พงศาวดารเขมรว่าพระยาจักรีกับพระยากระลาโหมเป็นกบฏ พระอุทัยราชาจึงให้ประหาร ส่วนพระยาเดโชเมนเกณฑ์พลตั้งทัพอยู่ที่กะพงสวาย

พงศาวดารไทยว่า พระอุทัยราชาแจ้งไปยังองต๋ากุนเมืองไซ่ง่อนว่าพระยาจักรีและพระยากระลาโหมยุให้พี่น้องวิวาทกัน และจะเกณฑ์ผู้คนตามอำเภอใจจึงฆ่าเสีย จะขอบารมีพระเจ้าเวียดนามเป็นที่พึ่ง

เกี่ยวกับองต๋ากุนนี้ (เวียดนามว่าต๋าเกฺวิน Tả quân) เมื่อพระเจ้ายาลองขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ ให้จัดการปกครองตามอย่างจีน ซึ่งเป็นมาครั้งก่อนพวกไตเซินขึ้นเป็นเจ้า หากแต่ยังไม่รวมศูนย์อำนาจ แบ่งเขตการปกครองเป็นสามเขตคือเหนือ กลาง และใต้ แต่ละเขตมีเจ้าปกครอง พระเจ้ายาลองปกครองภาคกลางอยู่ที่เว้ ทางเหนือตั้ง เหงวียนแวนถ่าง (Nguyễn Văn Thành) เป็นอุปราชปกครองที่ฮานอย ทางใต้ให้ องต๋ากุนผู้นี้มีชื่อตัวว่า เลแวนเสวียด (Lê Văn Duyệt) เป็นแม่ทัพสำคัญผู้หนึ่งขององเชียงสือมาตั้งแต่ทำศึกกับพวกไตเซิน ให้เป็นอุปราชครองทางใต้อยู่ที่ไซ่งอน พระเจ้ายาลองยังได้พระราชทานพระธิดาองค์หนึ่งให้เป็นภรรยาของเลแวนโคยบุตรบุญธรรมของเลแวนเสวียดด้วย   อุปราชยาดิ่งผู้นี้มีอำนาจเต็มอย่างเจ้าประเทศราช นอกจากพื้นที่เวียดนามตอนใต้หนึ่งในสามแล้ว ยังรับผิดชอบกิจการในเขมรด้วย ชะตากรรมขององต๋ากุนผู้นี้จะมีส่วนสำคัญในการจุดชนวนสงครามอานามสยามยุทธ์ในอีกสิบกว่าปีต่อมาครับ

แล้วพระอุทัยราชาก็ทำหนังสือแจ้งไปยังกรุงเทพฯ ว่าได้เกณฑ์ทัพจะเข้าไปช่วยราชการแล้ว แต่พระยาจักรีและพระยากระลาโหมเป็นกบฎ จึงให้งดกองทัพไว้ก่อน ร.๒ ทรงดำริว่า หากไม่ทำโทษพระยาสังขโลกย์จะเป็นการเข้าด้วยกับคนผิด จึงให้จำพระยาสังขโลกย์ไว้ ฝ่ายพระยาเดโชเมนเห็นพระยาจักรีกับพระยากระลาโหมถูกฆ่าโดยหาความผิดมิได้จึงหนีมากรุงเทพฯ ด้วย

พงศาวดารเขมรว่าพระยาอภัยภูเบศร์ตั้งค่ายที่ปัตบอง พระอุทัยราชาจึงส่งข่าวไปยังพระเจ้ายาลองที่เว้ (เรื่องนี้พงศาวดารไทยดูจะสมจริงกว่า เพราะจากเขมรส่งข่าวตรงไปถึงเว้ กว่าจะได้เรื่องคงไม่ทันการณ์ ในขณะที่ทางไซ่ง่อนก็มีองต๋ากุนเป็นเจ้าอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องไปถึงเว้)  แล้วใช้พระยาวงษาอรรคราชตีว่าที่พระยาจักรี  เป็นพระยาเดโชยกไพร่พลไปเมืองกะพงสวาย  พระยาเดโชเมนพาบุตรแลภรรยาหนีเข้าไปกรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๓๕๓ เดือนอ้าย ฝ่ายองต๋ากุน เมื่อได้รับหนังสือจากพระอุทัยราชา จึงให้จีนกิมเติงตรัน มาตั้งอยู่เกาะจีน (เขมรว่าเดือนอ้ายข้างขึ้นองลกกับองผอเตียงยกทัพเรือมา ๑๐๐๐ ถึงข้างแรม องติงเกี๋ยยกมาอีก ๑๐๐๐๐ ถึงเดือนยี่ องลิวกินเป็นใหญ่เมืองไซ่ง่อน กับทุงโงน ยกทัพเรือมาตั้งอยู่เมืองแพรกมีลาภไปถึงเกาะจีน) จีนกิมเติงตรันส่งหนังสือผ่านพระยาอภัยภูเบศร์ลงมายังกรุงเทพฯ ฝ่ายพระอุทัยราชาก็เกณฑ์ทัพไปรักษาด่านทางทุกตำบล (พงศาวดารเขมรว่า ร.๒ โปรดให้พระยาสีหราชรองเมือง พระยาอภัยรณฤทธิ  พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ยกพลไปเมืองปัตบอง  ให้พระยาธรรมาเดโชออกไปรักษาด่านอยู่เปี่ยมบันทายมาศให้พระยาเสนาอันชิตออกไปรักษาด่านอยู่เปียมแสนให้พระยาบวรนายกสอดไปตั้งรักษาด่านอยู่กะพงชะนัง ให้พระยาเทพวรชุนหาบออกไปรักษาด่านอยู่สะทึงปรัดกันเตล)

พ.ศ. ๒๓๕๓ เดือนยี่ จีนกิมเติงตรัน (พงศาวดารเชมรว่า องลิวกิน องติงเกี๋ย) เห็นว่าไม่มีราชการสิ่งใด จึงยกทัพกลับไซ่ง่อน  ร.๒ โปรดให้พระยาพิไชยรณฤทธิ์คุมพลถือหนังสือไปพูดจากับกิมเติงตรัน แต่ไปถึงปัตบองจึงทราบว่ากิมเติงตรันกลับไปไซ่ง่อนแล้ว จึงยั้งอยู่ที่ปัตบอง

พ.ศ. ๒๓๕๔ เดือนสิบเอ็ด ตึกทายเฮา พระชนนีของพระเจ้ายาลอง สิ้นพระชนม์

พ.ศ. ๒๓๕๔ เดือนอ้าย นักองค์แก้วถึงแก่กรรม

พ.ศ. ๒๓๕๔ เดือนสาม นักองค์สงวนระแวงพระอุทัยราชาผู้พี่ หนีไปตั้งอยู่ที่เมืองโปริสาท พระอุทัยราชาส่งขุนนางมาเกลี้ยกล่อม นักองค์สงวนก็จับตัวขุนนางนั้นไว้ พระยาอภัยภูเบศร์ผู้รักษาเมืองปัตบองแจ้งเหตุ จึงส่งข่าวมายังกรุงเทพฯ พงศาวดารเขมรว่าพระอุทัยราแจ้งข่าวไปทางเวียดนาม ทางเวียดนามให้องลิวกิน องเจิงเกนเทืองนำพล ๕๐๐ กับเรือมาตั้งกองรักษาพระอุทัยราชาที่เกาะจีน

พงศ. ๒๓๕๔ เดือนสาม พงศาวดารเขมรว่า ร.๒ ทรงโปรดให้พระยายมราชควนมาช่วยการศพนักองค์แก้ว พระยายมราชมาพบกับนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว นักองค์สงวนให้กราบทูลขอเมืองตะคร้อ  เมืองขลุง เมืองตรอง ต่อ ร.๒

พ.ศ. ๒๓๕๔ เดือนสี่ ร.๒ ให้แต่งทูตไปคำนับพระศพตึกทายเฮา

พ.ศ. ๒๓๕๔ เดือนสี่ ร.๒ ทรงให้เจ้าพระยายมราชน้อยคุมทัพไปสมทบทัพพระยาพิไชยรณฤทธิ์ซึ่งยังคงตั้งอยู่ที่ปัตบอง และให้เชิญศุภอักษรออกไปไกล่เกลี่ยให้พี่น้องสามัคคีกัน ( พงศาวดารเขมรว่า ร.๒ โปรดให้เจ้าพระยายมราชเปนแม่กองใหญ่  กับพระยาสีหราชรองเมืองพระยาท้ายน้ำ พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาสุรสงคราม นำไพร่พล ๕๐๐  ยกมาถึงเมืองปัตบอง  โปรดให้พระยาพลเทพยกมาทางสทึงแครง ให้นักองค์สงวนยกไปเอาเมืองสมบูรณ์ พระอุทัยราชาทราบว่ากองทัพไทยยกมา จึงให้พระยายมราชคงนำไพร่พล ๑๐๐๐ ยกไปตั้งทัพรักษาด่านลาดตระเวนระวังเมืองระเว แล้วให้พระยาโยธาสงครามมา  พระยามนตรีเสนหามั่น พระยานราธิบดีไชย พระรัษฐเสนาโล พระอินทรวิไชยนาทเพิ่ม มาอยู่เมืองกะพงชะนังด้วยกันกับพระยาบวรนายกสอด  แล้วตั้งพระยาธรรมาเดโชมันเป็นแม่ทัพเรือ)

พ.ศ. ๒๓๕๕ เดือนห้า พงศาวดารเขมรว่า นักองค์สงวนให้พระยาภิมุขวงษากุยไปทำให้กำเริบแขวงเมืองตวันตกพนมเพ็ญ ให้ตวนซอกับพระยาจักรีมาดเปนแม่ทัพยกไปเมืองตะวันตก

พ.ศ. ๒๓๕๕ องเชืองเกนเทือง ใช้องจันกว้านไปเมืองปัตบองกลับมาถึงเมืองโพธิสัต นักองค์สงวนก็จับองจันกว้านไว้อีก

พ.ศ. ๒๓๕๕ เดือนห้า พระอุทับราชาหนีออกจากวังมาอยู่กะพงโพตูก ถึงแรมเก้าค่ำ พระมนตรีเสนหาดกหนีมาบอกว่า เจ้าพระยายมราชไทยใช้พระยายมราชควน พระยาจักรีเชด พระยาท้ายน้ำ    พระยาอนุรักษ์โยธา พระยาสุรสงคราม พระยาสุรภาโลกมก พระยาวงษาธิราชแก้ว นำไพร่พล  ๒๐๐  ยกมาทางเรือ

พ.ศ. ๒๓๕๕ พระยาอภัยภูเบศร์ทราบว่าพระอุทัยราชาส่งทัพมาหลายทาง จึงให้พระยาโกษา พระยาวิเสศ พระยาสุนทรเขมร ยกทัพไปโปริสาท ฝ่ายเจ้าพระยายามราชไปถึงปัตบองทราบความจึงยกทัพตามไปโปริสาท ทราบว่าพระอุทัยราชาให้พระยาพิศณุโลกย์ พระยาเอกราช พระยาเพชรเดโช เจ้าเมืองลาดปเอีย ยกทัพมาตั้งอยู่ตำบลฉนาก เจ้าพระยายมราชจึงคิดจะยกทัพลงไปที่บันทายเพชร แต่เกรงว่าพระอุทัยราชาไม่ทราบความจะตกใจ จึงส่งพระยานางรองนำหนังสือแจ้งไปก่อน พระอุทัยราชาทราบแล้วก็นิ่งเฉยอยู่ เจ้าพระยายมราชจึงส่งพระภักดีนุชิตปลัดแทนลงไปแจ้งอีก แต่ไปถึงรวิฉนากเจอทัพเขมรกั้นทางอยู่ ให้ยึดหนังสือไว้ แล้วแจ้งพระอุทัยราชา พระอุทัยราชาให้ไล่พระภักดีนุชิตกลับไป ไม่รับหนังสือนั้น

พระภักดีนุชิตกลับมาแจ้งเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยายมราชจึงพานักองค์สงวนยกทัพลงมา แต่มาถึงตำบลรวิฉนากพบแต่ค่ายเปล่า ฝ่ายพระยาสุรสงครามยกทัพเรือคุมเสบียงอาหารมาถึงกระพงชนัง พบกองทัพเรือของพระยาธรรมาเดโช พระยาโยธาสงคราม และพระยามนตรีเสนหา เอาปืนใหญ่ไล่ยิง ฝ่ายไทยไม่ได้ยิงตอบ ครั้นพอเรือใกล้กัน ทัพเขมรก็ถอยไป พระยาธรรมเดโชให้พระยามนตรีสงครามลงเรือเร็วไปแจ้งพระอุทัยราชาว่าทัพเจ้าพระยายมราชมาทั้งทางบกทางเรือมากนักเหลือจะสู้รบ

พ.ศ. ๒๓๕๕ เดือนห้า พระอุทัยราชาทราบข่าวจึงหนีออกจากบันทายเพชรไปอยู่พนมเพ็ญ นักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง เห็นท่าไม่ดี จึงหนีจากพระอุทัยราชาจะไปหานักองค์สงวน พระอุทัยราชาส่งคนตามไปแต่ไม่ทัน

ฝ่ายพระยาสุรสงครามมาถึงโพโดก ทราบว่าพระอุทัยราชาหนีลงมาพนมเพ็ญ จะรีบมาห้ามไว้ก็ไม่ทัน พบเรือครอบครัวเขมรวุ่นวายอยู่จึงป่าวร้องขับไล่ให้ขึ้นมาอยู่บ้านเรือนตามเดิม

ฝ่ายเจ้าพระยายมราชมาถึงเมืองบันทายเพชร ทราบว่าพระอุทัยราชาหนีไปไซ่ง่อน ตั้งแต่เดือนหกแล้ว เจ้าพระยายมราชจึงมีหนังสือไปยังองต๋ากุนฉบับหนึ่ง ถึงพระอุทัยราชาฉบับหนึ่ง ก็ไม่ตอบกลับมา เจ้าพระยายมราชจึงให้คอยอยู่

ฝ่ายนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง ทราบว่าเจ้าพระยายมราชกับนักองค์สงวนมาตั้งอยู่บันทายเพชรจึงมาอยู่ด้วย เจ้าพระยายมราชจึงแจ้งมายังกรุงเทพฯ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 15:53

พ.ศ. ๒๓๕๙ ทางญวนว่าตั้งเมืองโจดกขึ้นแล้ว จักรพรรดิ์ยาลองเห็นว่าหากมีคลองเชื่อมจากเมืองโจดกไปออกอ่าวไทยที่เมืองบันทายมาศจะมีผลประโยชน์ในทางการค้ามาก

พ.ศ. ๒๓๖๐ นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส Armand-Emmanuel du Plessis ส่งเรือฟรีเกต Cybele ติดปืน 52 กระบอกมาให้ที่ Tourane (ปัจจุบันคือเมืองด่าหนัง) เพื่อผูกสัมพันธไมตรี

พ.ศ. ๒๓๖๒ ปลายปีฝรั่ง ภายใต้การอำนวยการขององต๋ากุน เหงวียนแวนเสวียด เวียดนามเริ่มขุดคลองโจดกระหว่างพรมแดนเวียดนามกับเขมร เชื่อมบันทายมาศกับสาขาแม่น้ำโขงที่เมืองโจดก  (ญวนเรียก เจิวด๊ก Châu Đốc) เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้เวียดนามสามารถส่งกำลังมาป้องกันเมืองบันทายมาศได้ถนัด (เวียดนามเรียกคลองนี้ว่า คลองวิ้งเต้ Vĩnh Tế ตั้งชื่อตามชื่อภรรยาของเหงวียนแวนถ่อยผู้เป็นแม่งานในการขุดคลองนี้) คลองนี้ขุดโดยใช้แรงงานญวนและเขมรถึง ๘๐,๐๐๐ คน  มีแรงงานชาวเขมรเสียชีวิตในระหว่างการขุดคลองนี้เป็นจำนวนมาก  ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการกดขี่ชาวเขมรโดยเวียดนามซึ่งเขมรแดงเอามาใช้โฆษณาชวนเชื่อในช่วงสงครามกลางเมืองในเขมร

พ.ศ. ๒๓๖๓ เดือน ก.พ. จักรพรรดิ์ยาลองสวรรคต ปิดฉากจักรพรรดิ์องค์แรกของราชวงศ์สุดท้ายแห่งเวียดนามเพียงเท่านี้เองครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 22:05

เพิ่งเข้ามาเห็น

ขอเวลาอ่านหน่อยนะครับ ข้อมูลเพียบ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 12 พ.ค. 11, 12:55

ข้อมูลส่วนมากรวบรวมจากในเน็ตครับ แต่ใช้ข้อมูลภาษาอังกฤษ จีน และเวียดนาม (โดยความช่วยเหลือของ google translate) ซึ่งเยอะจนมึนบ้าง หากจะมีที่ผิดพลาดในบางตอนก็ขออภัยใน ณ ที่นี้ด้วยครับ

ผมพึ่งจะได้ข้อมูลใหม่มาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระยาราชาเศรษฐี คนที่ถูกพระเจ้าตากประหารนั่นแหละครับ

เขาเป็นลูกครึ่ง พ่อจีน แม่เวียดนาม ชื่อตัวคือ 鄚天賜 (ม่อเทียนชื่อ) เวียดนามว่า Mạc Thiên Tứ (หมักเทียนตื๊อ) ถ้าจะเรียกเฉพาะชื่อตัวอย่างเวียดนามก็เป็น องเทียนตื๊อ ครับ

ผมค่อนข้างจะเชื่อว่าชื่อองเทียนตื๊อนี่แหละที่พงศาวดารไทยจับแพะชนแกะเอามาเป็นชื่อองเชียงสือในยุคหลัง ซึ่งก็น่าเห็นใจ เพราะชื่อชวนสับสนจริงๆ

สรุปตามความเข้าใจของผม ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกันในยุคนั้นมีสามคน
1. พระยาราชาเศรษฐี-องเชียงสือ
2. พระเจ้าอาของพระเจ้ายาลอง-องเชียงชุน ซึ่งเอกสารไทยบางฉบับหลงเข้าใจว่าเป็นพระยาราชาเศรษฐี
3. พระเจ้ายาลอง-องไชสือ ซึ่งพงศาวดารไทยส่วนมากเรียกผิดเป็นองเชียงสือ

ผิดถูกอย่างไร ขอเชิญพิจารณาดูกันนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง