เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 17964 องเชียงสือ เชื้อพระวงศ์กว๋างนามผู้ปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ์แห่งเวียดนาม
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 18 พ.ย. 10, 11:58

อานิสงส์จากกระทู้ สายสกุลจีนของ เจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทำให้ผมตามสืบข้อมูลเรื่องชื่อกวางหนำเพิ่มเติม ยาวเลยไปถึงเรื่องราวขององเชียงสือ ซึ่งไม่ว่ากวางหนำของวงศ์องเชียงสือจะเป็นกวางหนำเดียวกับของ ก.ศ.ร.กุหลาบหรือไม่ เรื่องราวขององเชียงสือเองก็น่าสนใจมากพอที่จะเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

ราวปี ค.ศ.1600 (พ.ศ.๒๑๕๓) แผ่นดินเวียดนามแตกออกเป็นสองก๊ก ก๊กทางเหนือขุนนางตระกูลจิ่ง (Trịnh 鄭) กุมอำนาจรัฐผ่านจักรพรรด์หุ่นเชิดราชวงเล (Lê 黎) ตั้งตนเป็นเจ้านามบั๊ก (Nam Bắc 南北) อยู่ที่เมืองหลวง ทังลอง (Thăng Long 昇龍 ซึ่งต่อมาคือเมืองฮานอย) ในขณะที่ทางใต้นั้น ขุนนางตระกูลเหงวียน (Nguyễn 阮 เวียดนามว่าเงวี้ยน) ตั้งตนเป็นเจ้ากว๋างนาม (Quảng Nam 廣南) ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ ฟู้ซวน (Phú Xuân 富春) ซึ่งต่อมาคือเมืองเว้ (เวียดนามว่าเหฺว) เมืองหลวงของจักรพรรดิ์ราชวงศ์เหงวียน

ราวปี ค.ศ.1620 (พ.ศ.๒๑๗๓) เหงวียนฟุกเงวียน (Nguyễn Phúc Nguyên) เจ้ากว๋างนามถวายพระธิดาเป็นพระมเหสีของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์เขมร สามปีต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาฯ ตอบแทนโดยให้พวกญวนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองไพรนคร (Prei Nokor) เมืองท่าสำคัญของเขมร ผลของการนี้ทำให้คนญวนเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันมากจนกลืนเมืองนี้ กลายเป็นเมืองไซ่ง่อนในเวลาต่อมา (และเปลี่ยนชื่อเป็นโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน) เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายอำนาจลงใต้ของก๊กเหงวียน และเริ่มมีปัญหากับอยุธยาอยู่เนืองๆ ด้วยเรื่องการแทรกแซงการเมืองในเขมรครับ

หลังจากสงครามระหว่างทั้งสองก๊กยาวนานหลายสิบปี ก๊กจิ่งและก๊กเหงวียนก็ตกลงสงบศึกกันในปี ค.ศ. 1672 (พ.ศ.๒๒๑๕) โดยก๊กเหงวียนตกลงจะยอมรับอำนาจของจักพรรดิ์หุ่นเชิดราชวงศ์เลในมือของก๊กจิ่งในทางนิตินัย แต่ทางพฤตินัย ก๊กเหงวียนตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับจักรพรรดิ์เลแต่ประการใด

พงศาวดารเวียดนามที่ฝ่ายไทยบันทึกไว้ (ประชุมพงศาวดารภาค ๒๘) มีความว่า
"ครั้นเมื่อองเฮียวหูเวียงได้เป็นเจ้าเมืองเว้ก็ตั้งแข็งเมืองไม่ไปขึ้นกับ เมืองตังเกี๋ยเหมือนแต่ก่อน เจ้าเมืองตังเกี๋ยก็จัดกองทัพไปตีเมืองเว้หลายครั้งก็ไม่ได้ องเฮียวหูเวียงจึงให้ตั้งด่านทางบกลงไว้ที่ตำบลโปจัน ตำบลโปจันนั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำซงยัน ฟากแม่น้ำซงยันข้างตะวันออกเป็นแดนเมืองตังเกี๋ย ด่านโปจันทุกวันนี้เขาเรียกว่าเมืองกวางเบือง ทางน้ำนั้นให้เอาโซ่ขึงแม่น้ำกงเหยไว้ไม่ให้พวกเมืองตังเกี๋ยมาเมืองเว้ได้ เมืองเว้ก็ขาดจิ้มก้องเมืองตังเกี๋ยมาหลายปี ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ขึ้นด้วยกันทั้งสองเมือง

เมืองตังเกี๋ยที่ว่าหมายถึงก๊กจิ่งทางเหนือ อง (ông เวียดนามว่าองม์) เป็นคำนำหน้านามใช้เรียกอย่างให้เกียรติ เฮียวฮูเวือง เพี้ยนมาจาก เฮี้ยววู้เวือง (Hiếu Vũ Vương 孝武王) ซึ่งเป็นพระสมัญญาของเจ้ากว๋างนามซึ่งเป็นพระอัยกาขององเชียงสือ มีชื่อตัวว่า เหงวียนฟุกค้วด (Nguyễn Phúc Khoát 阮福濶) เป็นเจ้ากว๋างนามอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1738-1765 (พ.ศ.๒๒๘๑-๒๓๐๘) พงศาวดารญวนฉบับไทยอ้างเรื่องการตั้งตนเป็นเจ้าก๊กเหงวียนผิดสมัยไปร้อยกว่าปีครับ

น่าสนใจว่าในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ ราว ค.ศ.1710 (พ.ศ.๒๒๕๓) นักแก้วฟ้ามีปัญหากับพระธรรมราชาเจ้ากรุงเขมร นักแก้วฟ้าไปขอทัพญวนมาช่วย นักพระธรรมราชากับนักพระองค์ทองหนีพึ่งมาอยุธยา พระเจ้าท้ายสระทรงโปรดยกไปตีเขมร ให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพบกยกไปทางเสียมราบ พระยาโกษาธิบดีจีน (น่าจะเป็นคนเดียวกับผู้ที่นำตัวอ๋องเฮงฉ่วนเข้าเฝ้าพระเจ้าท้ายสระ) เป็นแม่ทัพเรือยกไปทางพุทไธมาศ ทัพเรือของพระยาโกษาธิบดีถูกทัพเรือญวนตีแตกที่ปากน้ำพุทไธมาศ (พงศาวดารว่าพระยาโกษาธิบดีขลาด และไม่ชำนาญในการสงคราม) ตัวพระยาโกษาธิบดีถอยหนีมา ในขณะที่พระยาจักรีทัพบกยกเข้าไปล้อมกรุงเขมร (ในเวลานั้นคือเมืองอุดง) เจรจากันแล้วนักพระแก้วฟ้ายอมอ่อนน้อม จึงให้นักแก้วฟ้าเป็นเจ้ากรุงเขมรต่อไป พระยาจักรียกทัพกลับ ได้ความดีความชอบเป็นอันมาก ส่วนพระยาโกษาธิบดีโดนปรับให้ชดใช้ค่าเรือรบ อาวุธ ดินปืนที่เสียหายทั้งหมด

เห็นได้ว่าพระยาโกษาธิบดีท่านนี้ นอกจากร่ำรวยมากแล้วคงมีบทบาทสำคัญที่ราชสำนักต้องพึ่งพา (ซึ่งก็คงไม่พ้นเรื่องการค้าเมืองจีน) จึงได้รับโทษเพียงเท่านี้ครับ

เพื่อไม่ให้เรื่องราวยืดเยื้อต่อไปมาก เพราะตัวเอกยังไม่ได้ออกโรงเสียที ขออนุญาตลัดไปเรื่องครอบครัวญาติวงศ์ขององเชียงสือเลยนะครับ

พงศาวดารญวนฉบับไทยว่า
"องเฮียวหูเวียงนั้นมีราชบุตร ๕ องคือ องดิกหมูที่ ๑ องเฮียวคางเวียงที่ ๒ องเทิงกวางที่ ๓ กับองเชียงฉุนที่ ๔ องทางที่ ๕

"ฝ่ายองดิกหมูราชบุตรใหญ่นั้นมีบุตรชายชื่อองหวางคน ๑ องเฮียวคางเวียงราชบุตรที่ ๒ มีบุตร ๓ คนคือ องยาบา ๑ องหมัน ๑ องไชสือ ๑ องดิกหมู องคางเวียงตายก่อนพระราชบิดา ครั้นองเฮียวหูเวียงพระราชบิดาตาย องกวักภัยขุนนางผู้ใหญ่ก็ยกกองเทิงกวางพระราชบุตรที่ ๓ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเว้ แล้วองกวักภ้อก็เป็นผู้สำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอยู่แต่ผู้เดียว เสนาบดีและราษฎรไม่เต็มใจ บ้านเมืองก็เกิดจลาจลต่างๆ


ข้อมูลจากพงศาวดารไทยมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ เฮี้ยววู้เวือง เหงวียนฟุดค้วด นั้น ตามหลักฐานที่ฝรั่งเศสรวบรวมไว้มีภรรยา ๓ คน มีบุตรทั้งสิ้น ๑๘ คน ธิดาอีก ๑๒ เฉพาะที่ปรากฏในพงศาวดารญวนฉบับไทยมีรายนามดังนี้

บุตรคนที่ ๒ มีนามว่า ฟุกลวน (Phúc Luân) เกิดแต่ภรรยาเอก ฟุกลวนผู้นี้คือบิดาขององเชียงสือ เมื่อองเชียงสือได้ปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ์แห่งเวียดนามแล้ว ได้เฉลิมพระนามพระบิดาว่า เฮี้ยวเคืองเวือง (Hiếu Khương Vương 孝康王) ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ คางเวีอง ที่ปรากฏในพงศาวดารญวนฉบับไทยครับ
บุตรคนที่ ๙ มีนามว่า เหี่ยว (Hiệu) มีอีกชื่อหนึ่งว่า ดึ๊กหมุ (Ðức Mụ) เป็นที่มาของชื่อดิกหมูที่เป็นพ่อขององหวางในพงศาวดารญวนฉบับไทย (เวียดนามเรียก ฟุกเซวือง Phúc Dương) แต่พงศาวดารญวนฉบับไทยบอกว่าเป็นบุตรคนโต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะบุตรคนโตชื่อเจือง ไม่มีบุตร มีแต่ธิดา ๑ คน
บุตรคนที่ ๑๖ มีนามว่า ฟุกถ่วน (Phúc Thuần) เป็นบุตรภรรยารอง ภายหลังได้ขึ้นเป็นเจ้ากว๋างนาม ใช้ชื่อว่า ดิ่งเวือง Định vương น่าจะเป็นที่มาของชื่อเทิงกวาง หรือเทืองกวางในพงศาวดารญวนฉบับไทย
บุตรคนที่ ๑๗ มีนามว่า ซวน  (Xuân) คำ Xuân ในชื่อ เขียนด้วยตัวอักษรจีนว่า 春 จีนอ่านว่าชุน น่าจะเป็นที่มาของชื่อ องเชียงชุน
บุตรคนที่ ๑๘ มีนามว่า แทง (Thănh) คือ ทาง ในพงศาวดารญวนฉบับไทย เป็นคนเดียวที่อยู่รอดมาจนได้เป็นพระเจ้าอาในแผ่นดินพระเจ้าเวียดนามยาลอง

พงศาวดารญวนฉบับไทยว่าคางเวีองมีบุตร ๓ คน คือ ยาบา องเชียงสือ และหมัน แต่หลักฐานฝรั่งเศสว่า มีบุตร ๖ ธิดาอีก ๔ มีรายนามบุตรดังนี้
บุตรคนโต นามว่า ฟุกเห่า (Phúc Hạo) ไม่มีหลักฐานว่าตายเมื่อใด
บุตรคนที่ ๒ นามว่า ฟุกด๊อง Phúc Đồng ตายในปี ค.ศ.1777 อาจจะเป็นคนนี้ที่พงศาวดารญวนฉบับไทยเรียก ยาบา เพราะตายในเหตุการณ์ปี 1777
บุตรคนที่ ๓ นามว่า ฟุกอ๊าง (Phúc Ánh) คือองเชียงสือ พงศาวดารไทยเกือบทั้งหมดออกชื่อว่าองเชียงสือ มีเพียงในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๘ ที่ออกชื่อว่าองไชสือ เป็นไปได้ว่าเป็นชื่อที่ถูก โดยมาจาก ไท้ตื๋อ (thái tử) แปลว่าองค์รัชทายาท
บุตรคนที่ ๔ ตายตั้งแต่ยังเด็ก
บุตรคนที่ ๕ นามว่า ฟุกเมิน (Phúc Mân) คือ หมัน ในพงศาวดารญวนฉบับไทย
บุตรคนที่ ๖ นามว่า ฟุกเดี่ยน (Phúc Điển) ตายในปี ค.ศ.1783
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 17:37

พงศาวดารไทยว่า เมื่อองเชียงสือเข้ามาพึ่งรัชกาลที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีอายุได้ ๓๓ ปี ผู้บันทึกคงเข้าใจผิดไปหนึ่งรอบ เพราะองเชียงสือ เหงียนฟุกอ๊าง หรือ เหงวียนอ๊าง เกิดวันที่ ๘ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๓๐๔ (เป็น ค.ศ. 1762 แล้ว แต่ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่) เมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจึงมีอายุเพียง ๒๑ ปีเท่านั้น

พ.ศ. ๒๓๐๘ เหงวียนฟุกค้วดเจ้ากว๋างนามตาย บิดาขององเชียงสือคือเหงวียนฟุกลวนขณะนั้นอายุ ๓๒ ปี เป็นรัชทายาท ถูกขุนนาง เจืองฟุกลวน (Trương Phúc Loan) จับขังคุก แล้วตั้งเทิงกวางซึ่งอายุเพียง ๑๒ ปีเป็นเจ้าหุ่นเชิด ตัวเจืองฟุกหล่วนเองตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการ หรือ ก๊วกโฟ้ (Quốc phó พงศาวดารไทยเรียกก๊กภ้อ) เหงวียนฟุกลวนตายในคุก

พ.ศ. ๒๓๐๙ ระหว่างพม่ายกมาล้อมอยุธยา พงศาวดารไทยว่า ทางอยุธยาให้พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศส่งกองทัพและเสบียงอาหารอาหารมาช่วย ทัพพระยาราชาเศรษฐีโดนทัพพม่าตีแตกที่ปากน้ำสมุทรปราการ ต้องล่าถอยไป ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าพระยาราชาเศรษฐีผู้นี้คือองเชียงชุน อาขององเชียงสือ แต่เป็นไปไม่ได้ครับ องเชียงชุนเกิดปี พ.ศ.๒๓๐๐ เวลานั้นอายุเพียง ๙ ปีเท่านั้นเอง

พ.ศ. ๒๓๐๙ ก่อนขึ้นปีใหม่ไทย พระยาตากตีฝ่าวงล้อมออกจากอยุธยา ไปสะสมกำลังที่ระยอง ให้แต่งหนังสือถึงพระยาราชาเศรษฐีที่ครองเมืองพุทไธมาศให้ส่งกำลังมาช่วยตีพม่า พระยาราชาเศรษฐี ผัดผ่อนว่าขัดเรื่องลม จะส่งเข้ามาช่วยเดือนแปดเดือนเก้าเดือนสิบ

พ.ศ. ๒๓๑๐ ๗ เมษายน กรุงแตก เจ้าจุ้ย เจ้าศรีสังข์ บุตรกรมพระราชวังหนีไปพุทไธมาศ พระยาตากตีได้เมืองจันทบุรี แล้วยกไปตีพวกสำเภาจีนที่ไม่ยอมอ่อนน้อมที่เมืองตราด ถึงเดือนสิบ ยกไปตีค่ายโพธิ์สามต้น แล้วกลับลงมาตั้งกรุงธนบุรี

พ.ศ. ๒๓๑๑ หลวงยกกระบัตรราชบุรีผู้พี่พระมหามนตรีถวายตัวเข้ารับราชการ ทรงตั้งเป็นพระราชวรินทร์

พ.ศ. ๒๓๑๑ ทัพพม่ายกมา พระเจ้าตากให้พระมหามนตรีเป็นกองหน้า แล้วยกทัพหลวงไปตีค่ายพม่าแตกที่บางกุ้ง

พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้าตากยกไปตีพิษณุโลก พระเจ้าตากถูกปืนที่พระชงฆ์จึงให้ถอยทัพ

พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้าตากตีก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธที่พิมาย ทัพพระมหามนตรี พระราชวรินทร์ ตีค่ายด่านขุนทดของพระยาวรวงศาธิราชแตก พระยาวรวงศาธิราชหนีไปเสียมราบ พระเจ้าตากให้พระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ยกตามไปตีได้เมืองเสียมราบ แต่พระยาวรวงศาธิราชหนีหายไป จึงให้เลิกทัพกลับ ตั้งพระราชวรินทร์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระมหามนตรีเป็นพระยาอนุชิตราชา และประหารกรมหมื่นพิพิธ

พ.ศ. ๒๓๑๑ ยังไม่ขึ้นปีใหม่ไทย เจ้าพิษณุโลกตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้เจ็ดวันป่วยตาย เจ้าฝางได้ข่าว จึงยกมาตีได้เมืองพิษณุโลก

พ.ศ. ๒๓๑๒ กรมการเมืองจันทบุรีแจ้งเข้ามาว่าทัพณวนเมืองพุทไธมาศจะยกเข้าตีกรุงเทพ พระเจ้าตากให้จัดทัพไปป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่มีศึกมาจริง

พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้าตากเตรียมยกทัพลงใต้ทำศึกกับนครศรีธรรมราช นักองค์ตนซึ่งเป็นพระอุทัยราชาไปขอทัพญวนมาตีพุทไธเพ็ชร นักพระรามาธิบดีซึ่งครองเมืองอยู่สู้ไม่ได้ยกครัวหนีเข้ามาพึ่งสยาม พระเจ้าตากให้พระยาอภัยฯ กับพระยาอนุชิต ฯ ยกทัพไปทางปราจีนบุรีเพื่อตีเอาเมืองพุทไธเพ็ชรคืน

พ.ศ. ๒๓๑๒ พระเจ้าตากยกทัพไปปราบนครศรีธรรมราช จัดการเมืองเสร็จแล้วยกกลับ ระหว่างนั้น นักองค์ตนซึ่งเป็นพระอุทัยราชายกทัพเรือมาทางทะเลสาปจะตีเสียมราบคืน รบติดพันอยู่หลายวัน พระยาอภัยฯ และพระยาอนุชิตฯ ได้ข่าวลือว่าพระเจ้าตากสวรรคตขณะไปรบเมืองนครฯ จึงถอยทัพกลับ พระยาอภัยฯ รออยู่นครราชสีมา พระยาอนุชิตฯ ยกมาถึงลพบุรีจึงรู้ว่าเป็นข่าวลือ พระยาโกษาฯ ฟ้องมายังกรุง พระเจ้าตากทรงสอบสวน แต่ไม่ทรงลงอาญา

พ.ศ. ๒๓๑๓ พระยายมราชตาย ให้เลื่อนพระยาอนุชิตเป็นพระยายมราช พระเจ้าตากยกทัพไปปราบพระฝางเสร็จ ตั้งพระยายมราชเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ครองเมืองพิษณุโลก ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นพระยายมราชว่าราชการสมุหนายก

พ.ศ. ๒๓๑๔ เกิดการกบฎประชาชนในดินแดนของก๊กเหวงียน นำโดยสามพี่น้องตระกูลเหงวียนชาวหมู่บ้านไตเซิน (Tây Sơn) โดยมีจุดมุ่งหมายในการรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น ฟื้นฟูอำนาจของจักรพรรดิ์เล ยุติการคอรัปชั่น และจัดปฏิรูปที่ดินให้เป็นธรรม

เรื่องกบฎไตเซินนี้ พงศาวดารญวนฉบับไทยว่าไว้ดังนี้
"ครั้นอยู่มาองหยากเป็นโจรป่าอยู่แดนเมืองกุยเยิน องหยากมีน้องชายสองคนชื่อองบาย ๑ องดาม ๑ ครั้นอยู่มาองกรุมหวดผู้เป็นบิดาตาย พี่น้องสามคนหาหมอดูที่ฝังศพ หมอดูว่าที่เขากวางนำนั้นเป็นที่ฮวงซุ้ยดี มีเขาเป็นรูปปากมังกร ถ้าผู้ใดได้ฝังศพบิดามารดาลงที่นั้น นานไปลูกหลานจะได้ดี พี่น้องทั้งสามก็เอาศพบิดามารดาลงไปฝังที่เขานั้น เมื่อขุดหลุมลงไปนั้นได้ทองสองไหแง แล้วจึงเอาศพบิดาฝังลงไว้ที่นั้น พี่น้องทั้งสามก็เอาทองนั้นมาขาย ครั้นได้เงินก็เอาไปช่วยที่ทุกข์ยากปล่อยเสีย แล้วเกลี้ยกล่อมผู้คนได้มาก

มาดูชื่อของพี่น้องทั้งสามคนนี้ก่อนครับ
องหยาก เวียดนามว่า เหงวียนหญัก (Nguyễn Nhạc)
องบาย เวียดนามว่า เหงวียนลื้อ (Nguyễn Lữ) ในภาษาเวียดนาม บ๋าย แปลว่าเจ็ด ที่ไทยเรียกอ้ายบายอาจหมายความว่า เหงวียนลื้อเป็นบุตรคนที่เจ็ด ซึ่งเป็นไปได้มาก เพราะหยากกับบายอายุห่างกันราว ๑๐ ปี
องตาม เวียดนามว่า เหงวียนเหฺวะ (Nguyễn Huệ) ในภาษาเวียดนาม ต๊าม แปลว่าแปด ที่ไทยเรียกอ้ายตามอาจหมายความว่า เหงวียนเหวะเป็นบุตรคนที่แปด

สามคนนี้ถึงจะแซ่เหงวียน แต่ก็ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาอะไรกับพวกก๊กเหงวียนนะครับ

เหตุการณ์กบฎไตเซินนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สมดุลอำนาจของสองก๊กในเวียดนามสั่นไหวครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 17:45

พ.ศ. ๒๓๑๔ เดือนสาม โปมยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกลงมาสวรรคโลก ทรงให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพพิษณุโลกขึ้นไปช่วย รบพม่าแตกกลับไปเชียงใหม่ พระเจ้าตากเกณฑ์ทัพยกไปล้อมเมืองเชียงใหม่ แต่ตีไม่ได้ จึงให้ยกกลับ

พ.ศ. ๒๓๑๔ เจ้าพระยาจักรีแขกตาย พระเจ้าตากตั้งพระยายมราชเป็นเจ้าพระยาจักรี ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีเขมร โดยยกไปทางปราจีน ตีปัตบอง โพธิสัตว์ จนถึงพุทไธเพ็ชร ให้เอานักองค์พระรามาธิบดี (ซึ่งมาอยู่ในกรุงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๒) ไปในทัพด้วย

พ.ศ. ๒๓๑๔ พระเจ้าตากยกทัพเรือไปทางจันทบุรี แล้วให้พระยาโกษาธิบดีเป็นกองหน้ายกไปตีกำพงโสม แล้วทัพหลวงตามไป ได้เมืองแล้วทัพหลวงไปพุทไธมาศ ตีได้เมือง พระยาราชาเศรษฐีญวนเจ้าเมืองหนีไปได้ ให้ตั้งพระยาพิพิธผู้ช่วยราชการกรมท่าเป็นพระยาราชาเศรษฐีจีนครองเมืองพุทไธมาศ แล้วยกทัพหลวงจะไปตีเมืองหลวงเขมรที่พุทไธเพ็ชร เมื่อไปถึงเกาะพนมเพ็ญ เจ้าพระยาจักรีที่ได้เมืองพุทไธเพ็ชรแล้วจึงให้นักองค์พระรามาธิบดีอยู่รับษาเมือง แล้วลงมาเฝ้าที่พนมเพ็ญ ทูลว่าพระอุทัยราชาหนีไปบาพนมแล้ว จึงทรงให้เจ้าพระยาจักรียกทัพตามไป แต่ญวนมารับพระอุทัยราชาไปเมืองญวนแล้ว จึงทรงตั้งพระรามาธิบดีให้ครองเมืองเขมรที่พุทไธเพ็ชร

พ.ศ. ๒๓๑๔ ฝ่ายพระยาโกษาตีได้กำพงโสมแล้วยกมาตีกำปอช พระยาปังกลีมาแขกจามเจ้าเมืองออกมาอ่อนน้อม พระเจ้าตากให้พระยาปังกลีมาครองเมืองกำปอชดังเดิม

พ.ศ. ๒๓๑๔ ทัพเจ้าพระยาจักรียกไปบาพนม เขมรอ่อนน้อม จึงให้เลิกทัพ ให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาโกษาธิบดีอยู่ช่วยราชการที่พุทไธเพ็ชร ทัพพระเจ้าตากยกกลับลงมาพุทไธมาศ แล้วกลับธนบุรี

พ.ศ. ๒๓๑๔ พระยาราชาเศรษฐีญวนซึ่งหนีไปอยู่เกาะ ซ่องสุมกำลังแล้วยกทัพเรือกลับมาตีพุทไธมาศ เจ้าเมืองใหม่สู้ไม่ได้จึงทิ้งเมืองมาอยู่กำปอช พระยาปังกลีมาช่วยจัดกำลังยกไปตีพุทไธมาศคืน แต่พระยาราชาเศรษฐีญวนหนีไปได้ พระยาราชาเศรษฐีจีนจึงครองเมืองดังเดิม พระยาราชาเศรษฐีแจ้งเรื่องมายังกรุงฯ พระเจ้าตากจึงว่าทำเลเมืองพุทไธมาศรักษายาก ให้ทิ้งเมืองเสีย พระยาราชาเศรษฐีจีนจึงกวาดครัวกลับมาที่กรุงธนบุรี แล้วให้ทัพเจ้าพระยาจักรี และพระยายมราชกลับมายังธนบุรีด้วย

พ.ศ. ๒๓๑๕ พม่าเชียงใหม่ยกลงมาตีพิชัยสองครั้ง แต่ไม่ได้เมือง

พ.ศ. ๒๓๑๖ พวกกบฎไตเซินยึดได้เมืองท่ากุยเยิน (Qui Nhơn เวียดนามว่ากวีเญิน) มีกำลังมากขึ้น ขยายดินแดนออกไปได้อีก ได้ทั้งกว๋างนามและกว๋างง้าย (Quảng Ngãi)

ถึงตอนนี้กำลังของพวกไตเซินเริ่มกล้าแข็ง จากสองก๊ก ตอนนี้เวียดนามกลายเป็นสามก๊กแล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 20:55

พ.ศ. ๒๓๑๗ พวกเหงวียนเพิ่งจะเริ่มเห็นว่าไตเซินเป็นภัยใหญ่ จึงสงบศึกกับสยาม ยุติการแทรกแซงการเมืองในเขมร ยกทัพใหญ่จากยาดิ่ง (Gia Địng คือไซ่ง่อน) ขึ้นไปตีพวกไตเซิน จนเหลือพื้นที่แค่ฟู้เอียน (Phú Yên) ถึงกว๋างง้าย

พ.ศ. ๒๓๑๗ ปลายปี พระเจ้าตากยกทัพขึ้นเชียงใหม่ พม่าส่งอะแซหวุ่นกี้มาตี โดยให้มอญเมาะตะมะเกณฑ์พลเข้ามาตั้งสะสมสเบียงที่ท่าดินแดง แต่พวกมอญเป็นกบฎ อะแซหวุ่นกี้จึงยกมาปราบกบฎมอญ ครัวมอญหนีทะลักเข้าไทย ทรงให้พระยายมราชแขกยกไปขัดทัพและรับครัวมอญที่ท่าดินแดง

พ.ศ. ๒๓๑๗ ก๊กจิ่ง (Trịnh) จากทางเหนือที่สงบศึกกับก๊กเหงวียนมาร่วมร้อยปี สบโอกาสที่ก๊กเหงวียนกำลังรบกับพวกกบฎไตเซิน ส่งกองทัพเปิดฉากรุกลงใต้ เดือนพฤศจิกายน ทัพจิ่งนำโดยห่วงงู้ฟุก (Hoàng Ngũ Phúc) เข้าโจมตีฟู้ซวนเมืองหลวงของพวกเหงวียน พวกจิ่งยึดเมืองได้สำเร็จ พวกเหงวียนต้องหนีไปกว๋างนาม เหงวียนหญักได้โอกาสยกทัพไปโจมตีกว๋างนาม บีบให้พวกเหงวียนลงเรือหนีไปที่ยาดิ่ง

พ.ศ. ๒๓๑๗ เดือนยี่ พระเจ้าตากตีได้เชียงใหม่ มีข่าวว่าพม่ายกมาด่านแม่ละเมาจึงรีบยกลงมาตีทัพพม่าแตก แล้วกลับลงมายังกรุงฯ ในเดือนสาม พม่ายกตามมอญเข้ามา ตีทัพไทยที่ท่าดินแดงแตก พระยายมราชถอยลงมา พระเจ้าตากให้เจ้าฟ้าจุ้ยกับพระยาธิเบศธิบดียกไปช่วยตั้งรับที่ราชบุรี แล้วเร่งเกณฑ์ทัพไปรับศึกพม่า

พ.ศ. ๒๓๑๗ เดือนสาม พม่าที่ยกมาทางกาญจนบุรี ย้ายมาตั้งที่ปากแพรก แล้วแบ่งทัพบางส่วนมาตั้งค่ายสามค่ายที่บางแก้วแขวงราชบุรี พระยายมราชถอยทัพ เจ้าฟ้าจุ้ยกับพระยาธิเบศร์ธิบดี และเจ้ารามลักษณ์ไปตั้งค่ายโอบ พระเจ้าตากยกทัพเรือไปสมทบ ล้อมจนจับเป็นได้จำนวนมาก ส่วนทัพอื่นๆตีจนล่าถอยไปหมด

พ.ศ. ๒๓๑๗ ต้นปี ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่ พวกจิ่งยกลงมาถึงกว๋างนามพร้อมๆ กับพวกไตเซิน พวกไตเซินจับวางตน(เหวงียนฟุกเซวือง บุตรของดึกหมุ) ไว้ได้  ในเวลาเดียวกันต๊งฟุกเหียบ (Tống Phúc Hiệp) แม่ทัพของพวกเหงวียนยกทัพไปฟู้เอียน พวกไตเซินจำต้องต้องถอยมารักษาฟู้เอียน ทัพจิ่งจึงได้เมืองกว๋างนาม

พ.ศ. ๒๓๑๘ ถึงหน้าร้อน ด้วยความเกรงศึกสองด้าน เหงวียนหญักยื่นข้อเสนอให้พวกจิ่งว่าถ้ายอมรับสถานะของพวกไตเซินอย่างเป็นทางการ จะช่วยรบกับพวกเหงวียน พวกจิ่งรับข้อเสนอ ให้ยศขุนนางแก่เหงวียนหญัก แต่เหงวียนหญักยังได้เจรจาสงบศึกกับพวกก๊กเหงวียนด้วย ส่งผลให้ต๊งฟุกเหียบคลายแรงกดดันต่อพวกไตเซิน และเป็นการลวงรัชทายาทเหงวียนฟุกเซวืองที่พวกตนกุมตัวไว้ให้ตายใจ ผลการสงบศึกสองด้าน เปิดโอกาสให้พวกไตเซินได้สะสมกำลังใหม่ ฝึกทหาร เกณฑ์ทหารเพิ่ม เสริมป้อมค่าย และสร้างฐานเพิ่มเพื่อตรียมบุก ในขณะที่ต๊งฟุกเหียบประมาท ไม่ได้เตรียมการทั้งรุกและรับ จากความประมาทของต๊งฟุกเหียบนี้เอง เหงวียนหญักส่งทัพไปโจมตี ต๊งฟุกเหียบต้องหนีไป เหงวียนหญักส่งข่าวชัยชนะไปยังพวกจิ่ง ทำให้ได้เลื่อนยศขึ้นอีก

พ.ศ. ๒๓๑๘ เดือนสิบ มีข่าวว่าโปสุพลาโป่มะยุง่วนที่ไปตั้งที่เชียงแสน ลงมาตีเชียงใหม่อีก พระเจ้าตากทรงโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพจากพิษณุโลกไปช่วย แล้วให้เจ้าพระยาจักรียกจากรุงฯ ขึ้นไปช่วยด้วย เดือนสิบเอ็ดอะแซหวุ่นกี้ยกทัพใหญ่เข้ามาทางตาก เป็นศึกใหญ่ รบติดพันข้ามปี

พ.ศ. ๒๓๑๘ ด้วยความไม่คุ้นกับอากาศทางใต้ แม่ทัพจิ่งห่วงงู้ฟุก ให้ถอนทัพจากกว๋างนามขึ้นไปที่ฟู้ซวน

พ.ศ. ๒๓๑๘ เดือน ก.พ. - มี.ค. ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่ เกิดโรคระบาด จิ่งถอยทัพจากฟู้ซวนขึ้นไปถ่วนฮั้ว (Thuận Hóa) ระหว่างนั้นเองห่วงงู้ฟุกแม่ทัพจิ่งป่วยตาย

พ.ศ. ๒๓๑๘ ต้นปี เหงวียนหญักฉวยโอกาสยึดพื้นที่ที่พวกจิ่งถอนกำลังออกไปไกลถึงฟู้ซวน ตั้งเหงวียนฟุกเซวืองเป็นรัชทายาท ได้ดินแดนและกำลังทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกมาก

พ.ศ. ๒๓๑๙ เหงวียนหญักขยายอำนาจอีก โดยส่งเหงวียนลื้อคุมทัพเรือขนาดใหญ่ไปโจมตียาดิ่งอย่างฉับพลัน และทำได้สำเร็จ พวกเหงวียนต้องถอยหนีไปเบียนฮั้ว (Biên Hòa)

พ.ศ. ๒๓๑๙ มิ.ย. - ก.ค. เหงวียนลื้อยึดยาดิ่งอยู่ได้ไม่นาน กองกำลังที่ภักดีต่อพวกเหงวียน นำโดยโซว้ถ่างเญิน (Đỗ Thành Nhân) ยึดเมืองคืนได้ เหงวียนลื้อขนเสบียงอาหารในเมืองไปหมดแล้วถอยทัพไปกุยเยิน

พ.ศ. ๒๓๑๙ เมื่อมีกำลังกล้าแข็งขึ้น เหงวียนหญักสร้างกำแพงเมืองโด่บ่าน (Đồ Bàn) เมืองหลวงเก่าของจาม ตั้งเป็นเมืองหลวง ตั้งตนเป็นเจ้าไตเซิน ไตเซินเวือง (Tây Sơn Vương) ตั้งเหงวียนเหวะเป็นรองนายก ฝู่จิ๊ง (Phụ Chính)

พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ามังระสวรรคต ทำให้อะแซหวุ่นกี้ต้องถอยทัพกลับ แต่หัวเมืองเหนือราบ

พ.ศ. ๒๓๑๙ ปลายปี รัชทายาทเหงวียนฟุกเซวืองที่เหงวียนหญักกุมตัวไว้ ลงเรือหนีไปยาดิ่ง (ทางไทยว่าไตเซินเอาวางตนไปไว้กุยเยิน กุยเยินเห็นท่าจะไม่ได้เป็นเจ้าเลยหนี)

พ.ศ. ๒๓๑๙ ต้นปี ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่ จิ่งตั้งเหงวียนหญักเป็นเจ้าครองกว๋างนามอย่างเป็นทางการ

พ.ศ. ๒๓๑๙ เดือนสี่ ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่ ทางนครราชสีมามีใบบอกมาว่าพระยานางรอง ร่วมกับเจ้าจำปาศักดิ์คิดการกบฎ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปปราบ เสร็จศึกปูนบำเหน็จแต่งตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก

พ.ศ. ๒๓๒๐ ราว เม.ย. - พ.ค. เหงวียนหญักส่งเหงวียนลื้อกับเหงวียนเหวะยกทัพไปยึดยาดิ่งสำเร็จ ฆ่ารัชทายาทเหงวียนฟุกเซวือง เจ้าเทิงกวางกับหลานชื่อด่ง Đồng (น่าจะเป็นยาบาในพงศาวดารข้างไทย) ฆ่าตัวตาย องเชียงสือหนีไปเจอกับบิชอป Pigneau de Behaine ที่ฮาเตียน(พุทไธมาศ) แล้วหนีไปเกาะ Pulo Panjang ในอ่าวไทย

พ.ศ. ๒๓๒๐ พงศาวดารไทยว่า องเชียงชุนหนีมาอาศัยพระยาราชาเศรษฐีญวน ณ เมืองพุทไธมาศ (แสดงว่าญวนกลับมายึดคืนไปแล้ว) เหงวียนหญักตามมาตี พระยาราชาเศรษฐีญวนกับองเชียงชุน (ถึงตอนนี้อายุราว ๒๐ ปี) หนีมาพึ่งสยาม พระเจ้าตากให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากตะวันออกธนบุรี

พ.ศ. ๒๓๒๐ เหงวียนลื้อกับเหงวียนเหวะถอยกลับไปที่กว๋างนาม ทิ้งข้าราชการไว้รักษาเมืองยาดิ่ง

พ.ศ. ๒๓๒๐ องเชียงสือลอบกลับเข้าเวียดนาม โดยความช่วยเหลือของโซว้ถ่างเญิน รวมถึงทหารรับจ้างเขมรและโจรสลัดจีน

พ.ศ. ๒๓๒๑ พวกก๊กเหงวียน (พงศาวดารไทยระบุว่าเป็นองเชียงสือ) ยึดยาดิ่งได้ ทำลายทัพเรือของไตเซินยับเยิน

พ.ศ. ๒๓๒๑ ในขณะที่พวกไตเซินอ้างว่าทำการเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์เล เหงวียนหญักตั้งตนเป็นจักรพรรดิ์

พงศาวดารญวนฉบับไทยบอกว่า ตั้งบายเป็นเจ้าชื่อ บากบินเยือง ครองไซ่ง่อน ตามชื่อ ลองเยือง ครองเว้
แต่ข้อมูลทางเวียดนามว่า
เหงวียนหญักตั้งตนเป็น จักรพรรดิ์จุงเอือง หรือจุงเอืองห่วงเด๊ (Trung ương Hoàng đế) ครองกุยเยิน
ตั้งบาย (เหงวียนลื้อ) เป็นเจ้าดงดิ่ง หรือดงดิ่งเวือง (Đông Định Vương) ครองยาดิ่ง (ไซ่ง่อน)
ตั้งตาม (เหงวียนเหวะ) เป็นเจ้าบั๊กบี่ง หรือบักบี่งเวือง (Bắc Bình Vương) ครองถ่วนฮั้ว (Thuận Hóa คือแถบเว้)

ถึงตอนนี้ พวกจิ่งอ่อนกำลังลงไป พวกเหงวียนจนตรอก ในขณะที่พวกไตเซินเริ่มตั้งหลักได้มั่นคงครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 พ.ย. 10, 12:34

พ.ศ. ๒๓๒๑ หลังจากนั้นพวกไตเซินพยายามรุกลงใต้อีกหลายครั้ง แต่ฝ่ายเหงวียนได้ชัยต่อเนื่อง รุกกลับ จ่อคอหอยมาถึงกว๋างนาม

พ.ศ. ๒๓๒๑ พระเจ้าตากให้สมเด็จเจ้าพระยา และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีได้ล้านช้าง

พ.ศ. ๒๓๒๒ ฤดูใบไม้ผลิ พวกไตเซินกลับมายึดยาดิ่งได้ใหม่ ก๊กเหงียนถูกบังคับให้ถอยไปยังตามฝู (Tam phủ) รวมกำลังได้ 5000 คน ลอบเข้าโจมตียาดิ่งในตอนกลางคืน ได้รับชัยชนะ ยึดยาดิ่งดลับมาได้อีก

พ.ศ. ๒๓๒๓ พันธมิตรระหว่างก๊กเหงวียนกับสยามขาดสะบั้น องเชียงสือส่งแม่ทัพคนเก่ง โซว้ถ่างเญิน ไปช่วยเจ้าฟ้าทละหะมูก่อกบฎ จับพระรามาธิบดี (นักองค์นน) ที่พุทไธเพ็ชรฆ่าเสีย แล้วรับเอาบุตรนักองค์ตน (พระอุทัยราชา) คือนักองค์เอง และนักองค์มิน ธิดาคือนักองค์อี นักองค์เภา มาที่พุทไธเพ็ชร ทละหะมูตั้งตนเป็นมหาอุปราช โซว้ถ่างเญินกลับเวียดนามอย่างวีรบุรุษและมุ่งมั่นปรับปรุงกองทัพเรือของก๊กเหงวียน

พ.ศ. ๒๓๒๓ เพื่อยกฐานะทางการเมืองของตน องเชียงสือ ซึ่งตอนนี้อายุได้ ๑๘ ปี ตั้งตนเป็นเจ้าเหงวียน หรือเหงวียนเวือง (Nguyễn Vương)

พ.ศ. ๒๓๒๓ ต้นปี มีโจทก์มาฟ้องว่าพระยาราชาเศรษฐีญวน จะหนีไปพุทไธมาศ พระเจ้าตากทรงให้ประหารทั้งหมด องเชียงชุนถูกประหารในคราวนี้ด้วย

พ.ศ. ๒๓๒๔ พระเจ้าตากให้สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยาสุรสีห์ ไปเกณฑ์พลที่โคราช แล้วสมเด็จเจ้าพระยายกไปเสียมราบ เจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปปัตบอง พระยายมราชยกไปพุทไธเพ็ชร เจ้าฟ้าจุ้ย(กรมขุนอินทนพิทักษ์)ยกหนุนไป กรมขุนรามภูเบศร์กับพระยาธรรมายกไปกำพงสวาย เจ้าฟ้าทละหะเห็นไทยยกมามากจึงหนีไปพนมเพ็ญ แล้วขอกองทัพจากไซ่ง่อนมาช่วย องเชียงสือส่งโซฺว้ถ่างเญินมาช่วย ทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ตามลงไปตั้งอยู่ที่พนมเพ็ญ ไม่ได้รบกัน ทัพพระเจ้าลูกเธอตั้งอยู่พุทไธเพ็ชร

พ.ศ. ๒๓๒๔ มีเหตุกบฎพระยาสรรค์ในกรุง พระยาสรรค์บังคับพระเจ้าตากทรงผนวช สมเด็จเจ้าพระยาให้พระยาสุริยอภัยกลับมาก่อน พระยาสรรค์ให้ปล่อยกรมขุนอนุรักษสงครามมาช่วยรบพระยาสุริยอภัย ฝ่ายพระยาสุริยอภัยชนะ สมเด็จเจ้าพระยาและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกลับเข้ากรุง ฝ่ายทัพกรมขุนอินทรพิทักษ์ถูกทัพญวนล้อมอยู่ที่เขมร ไม่ทราบข่าวในกรุง

พ.ศ. ๒๓๒๔ สมเด็จเจ้าพระยาจักรีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ประหารพระเจ้าตาก

พ.ศ. ๒๓๒๔ หลังจากเสร็จศึกในเขมรไม่นาน องเชียงสือประหารโซว้ถ่างเญิน ด้วยสาเหตุที่ไม่ชัดแจ้ง อาจเป็นด้วยความระแวง พวกไตเซินถึงกับเลี้ยงฉลองเมื่อทราบข่าวนี้ เพราะโซว้ถ่างเญินเป็นแม่ทัพฝ่ายเหงวียนที่พวกไตเซินกลัวที่สุด ลูกน้องของโซว้ถ่างเญินก่อการกบฎ ทำให้พวกเหงวียนยิ่งอ่อนกำลังลง

พ.ศ. ๒๓๒๔ เดือน พ.ค. เหงวียนหญักกับเหงวียนเหวะโจมตียาดิ่งอีก องเชียงสือต้องถอยจากยาดิ่ง พวกไตเซินเผาและปล้นสะดมพ่อค้าจีน ฆ่าชาวจีนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน องเชียงสือหนีไปพุทไธมาศ และต่อไปอยู่เกาะฟู้ก๊วก (Phú Quốc) แต่ทัพของพวกเหงวียนยังต่อสู้อยู่ถึงแม้องเชียงสือจะหนีไปแล้ว

พ.ศ. ๒๓๒๔ เหงวียนหญักกับเหงวียนเหวะยกทัพกลับไปที่กุยเยิน

พ.ศ. ๒๓๒๔ เดือน ต.ค. ทัพเหงวียน นำโดยหมัน (น้องชายขององเชียงสือ) และจูแวนเที้ยบ (Chu Văn Tiếp) ยึดยาดิ่งคืนได้อีก องเชียงสือจึงกลับมาพร้อมกับ Pigneau

พ.ศ. ๒๓๒๔ ทางก๊กจิ่ง จิ่งแซม (Trịnh Sâm) เจ้าก๊กตาย เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน ขุนนางบางส่วนจุงเอาใจออกห่าง โดยเฉพาะเหงวียนฮืวจิ๋ง (Nguyễn Hữu Chỉnh) หนีลงใต้ กลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพวกไตเซิน

พ.ศ. ๒๓๒๕ ต้นปี ไทยยังไม่เปลี่ยนศักราช เหงวียนหญักกับเหงวียนเหวะบุกยาดิ่งอีกครั้ง คราวนี้ทัพเหงวียนย่อยยับ หมันตายในศึก องเชียงสือหนีไปเกาะฟู้ก๊วกอีก แต่ที่ซ่อนขององเชียงสือถูกหาเจอ ทำให้ต้องหนีไป เกาะ rong ในอ่าวกำปงโสม(เมืองสีหนุวิลล์ในปัจจุบัน) แต่ก็ถูกหาเจออีก โชคดีที่ทัพเรือของพวกไตเซินเจอพายุ เปิดช่องให้องเชียงสือแหวกวงล้อมหนีออกไปได้

พ.ศ. ๒๓๒๕ เดือนสี่ ไทยยังไม่เปลี่ยนศักราช องเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

พ.ศ. ๒๓๒๖ ร. ๑ ทรงโปรดให้ กรมพระหริรักษ์นำทัพ ช่วยองเชียงสือตีพวกไตเซิน ทัพเรือของไตเซินทำลายทัพเรือสยาม-เหงวียนยับเยิน ในศึกใหญ่ Rach Gam-Xoai Mut ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง องเชียงสือต้องกลับมาสยาม พวกก๊กเหงวียนหมดกำลัง พวกไตเซินจึงมุ่งความสนใจไปที่พวกจิ่งทางเหนือ ตั้งเป้ารวมแผ่นดินเวียดนามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เป็นอันว่า ถึงตอนนี้ เวียดนามเหลือสองก๊กแต่ไม่เหมือนเหมือนเดิม โดยก๊กเหงวียนโดนพวกไตเซินกวาดล้าง ยึดพื้นที่ได้ทั้งหมดครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 พ.ย. 10, 16:28


ตามอ่านค่ะ  โดยเปิด พงศาวดารญวนที่นายติ่นแปลไปด้วย

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 พ.ย. 10, 22:39

ขอบพระคุณที่ติดตามครับ หากคุณวันดีหรือท่านใดมีอะไรจะเสริม จะแทรก จะขัด จะค้าน ขอเชิญเลยนะครับ เพราะผมเรียบเรียงในสภาพที่แหล่งข้อมูลและเวลามีจำกัด ทำอย่างนักเรียนทำการบ้าน ไม่ใช่เขียนวิทยานิพนธ์ครับ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 พ.ย. 10, 15:15

พ.ศ. ๒๓๒๗ เดือน ธ.ค. องเชียงสือส่ง Pigneau ไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสในการต่อสู้กับพวกไตเซิน โดย Pigneau นำบุตรชายคนโตขององเชียงสือไปด้วยเพื่อเป็นหลักประกันในการเจรจา

พ.ศ. ๒๓๒๗ เดือน ก.พ. ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่ Pigneau ไปถึงเมือง Pondichery ในอินเดีย แต่ไม่ได้รับความช่วยแหลือจากผู้ปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศส

พ.ศ. ๒๓๒๙ เดือน ก.ค. ผ่านไปปีกว่า ผู้ปกครอง Pondichery ยินยอมให้ Pigneau ไปฝรั่งเศสเพื่อไปขอความช่วยเหลือกับราชสำนักโดยตรง เพราะอยู่ที่ Pondichery ไม่มีอะไรคืบหน้า

พ.ศ. ๒๓๒๙ หลังเสร็จศึกกับพวกเหงวียน โดยคำแนะนำของเหงวียนฮืวจิ๋ง เหงวียนเหวะเปิดศึกกับพวกจิ่ง รุกขึ้นเหนือ ยึดพื้นที่ที่พวกจิ่งยึดได้ในปี ๒๓๑๗ ทัพไตเซินนำโดยเหงวียนเหวะ เหงวียนฮืวจิ๋ง และเหงวียนลื้อ รุกยึดถ่วนฮั้วซึ่งเป็นดินแดนเดิมของพวกก๊กเหงวียน (คือละแวกเว้และกวางจี) ด้วยความมั่นใจจากชัยชนะ เหงวียนฮื้วจิ๋งแนะนำให้เหงวียนเหวะให้รุกต่อไปถึงทางลอง(ฮานอย) โดยไม่ขออนุญาตจากเหงวียนหญัก และเข้าทางลองได้ในต้นเดือน ก.ค. เหงวียนเหวะประกาศว่าราชวงศ์เลเป็นอิสระจากพวกจิ่งแล้ว จักรพรรดิ์เลเฮี้ยนตง (Lê Hiển Tông) ทรงตอบแทนโดยอวยยศเหงวียนเหวะให้เป็นขุนนางระดับสูง และพระราชทานพระธิดาเลหง็อกเฮิน (Lê Ngọc Hân) ให้เป็นภรรยา

พ.ศ. ๒๓๒๙ เดือน ก.พ. ไทยยังไม่เปลี่ยนศักราช Pigneau ไปถึงราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ Pigneau เสนอต่อราชสำนักฯ ว่า หากฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือ เมื่อองเชียงสือปกครองเวียดนามแล้ว จะอนุญาตให้ฝรั่งเศสไปตั้งป้อมปราการและเมืองท่าตามแนวชายฝั่งเวียดนามเพื่อผูกขาดการค้าในเอเชียตะวันออกเป็นการตอบแทน

พ.ศ. ๒๓๓๐ ไทยยกไปตีทวาย ร.๑ ทรงโปรดให้องเชียงสือพาพวกยกไปในทัพด้วย

พ.ศ. ๒๓๓๐ จักรพรรดิ์เลเฮี้ยนตงสวรรคต เหงวียนเหวะตั้งเลซวุยเคียม (Lê Duy Khiêm) เป็นจักรพรรดิ์เลเจียวท้ง (Lê Chiêu Thống ไทยว่าเจียวธง) แล้วถอนกำลังเกือบทั้งหมดกลับฟู้เซียน (เว้) ทันทีที่พวกไตเซินถอย จิ่งบ่ง(Trịnh Bồng) กับจิ่งเหละ (Trịnh Lệ) ทายาทของพวกจิ่งกลับมาอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งเจ้าก๊กอีก จักรพรรดิ์เลผู้อ่อนแอตั้งจิ่งบ่งเป็นเจ้า จิ่งเหละไม่พอใจจึงก่อการก่อกบฎ จิ่งบ่งปราบปรามได้ แต่จิ่งบ่งเป็นผู้นำที่ไม่ได้ความ ก๊กจิ่งวุ่นวายไปทั่ว จักรพรรดิ์ต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากเหงวียนฮื้วจิ๋งซึ่งครองเหงะอานอยู่ 

พ.ศ. ๒๓๓๐ เกิดความแตกแยกในหมู่พี่น้องไตเซิน สาเหตุนั้นไม่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง อาจจะเพราะเหงวียนหญักปันส่วนผลประโยชน์ที่ได้จากทางเหนืออย่างไม่ยุติธรรม, เรื่องชู้สาว, เหงวียนหญักลังเลที่จะมอบอำนาจให้กับเหงวียนเหวะมากขึ้น

ไม่ว่าสาเเหตุคืออะไร เหงวียนหญักกับเหงวียนเหวะรบกันอยู่ราวสามเดือนตั้งแต่ปลายหน้าหนาวจนถึงฤดูใบไม้ร่วง ทัพของเหงวียนเหวะปิดล้อมเหงวียนหญักไว้ที่เมืองกุยเยิน และจบลงด้วยการที่เหงวียนหญักขอให้สงบศึกกันเพื่อความปรองดองของพี่น้อง หลังศึกนี้ เหงวียนหญักจำกัดอาณาเขตตัวเองไว้ที่ของด่านไหเวิน (Hải Vân) ทางตอนใต้ของฟู้ซวน

ผลของการแตกกันของพวกพี่น้องไตเซิน ยาดิ่ง(ไซ่ง่อน)ซึ่งอยู่ทางใต้อยู่ในสภาพอ่อนแอ เสี่ยงต่อการถูกโจมตี

พ.ศ. ๒๓๓๐ เหงวียนฮื้วจิ๋งนำทัพขึ้นเหนือ ปราบพวกจิ่งได้อย่างง่ายดาย จิ่งบ่งถอยไปยึดทางลอง หลังจากปราบทางเหนือได้ เหงวียนฮื้วจิ๋งรวบอำนาจเป็นของตัวเอง เหงวียนเหวะจึงส่งวู้แวนเหญิ่ม (Vũ Văn Nhậm) ไปจัดการ เหงวียนฮื้วจิ๋งถูกฆ่าตาย แต่ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย เพราะเมื่อวู้แวนเหญิ่มยึดทางลองได้ แต่ก็ตั้งตัวเป็นใหญ่เองเสียอีกคนหนึ่ง เหงวียนเหวะจึงส่งแม่ทัพอีกสองคนไปจัดการวู้แวนเหญิ่มแล้วยึดทางลองไว้ ขณะที่จักรพรรดิ์เจียวธงผู้อ่อนแอต้องหนีขึ้นเหนือไปอีก หลังจากปฏิเสธคำเชิญให้กลับมาของเหงวียนเหวะ จักรพรรดิ์เจียวธงรวบรวมผู้ภักดีได้จำนวนหนึ่ง ส่งไปขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดิ์เฉียนหลงของจีน

พ.ศ. ๒๓๓๐ เดือน พ.ย. เหงวียนเหวะตั้งตนเป็นจักรพรรดิ์กวางจุง (Quang Trung) ในฟู้ซวน เมื่อการปรับปรุงระบบการปกครองภายในเสร็จสิ้น เหงวียนเหวะก็มุ่งหน้านำทัพขึ้นเหนืออีก

พ.ศ. ๒๓๓๐ เดือน พ.ย. ฝรั่งเศสเซ็นสนธิสัญญากับองเชียงสือ โดยมี Pigneau เป็นตัวแทน รับปากว่าจะส่งเรือตรวจการณ์ ๔ ลำ ทหารฝรั่งเศส ๑,๖๕๐ คน ทหารอินเดียอีก ๒๕๐ คน แลกกับ Pulo Condore (คือเกาะโกนเซิน Côn Sơn) และ Tourane (เมืองดานัง) รวมทั้งสิทธิ์ในการผูกขาดการค้าเหนือชาติอื่นๆด้วย แต่ในทางฏิบัติ Thomas Conway เจ้าเมือง Pondichery ผู้ได้รับอำนาจจากฝรั่งเศสในการตัดสินใจว่าจะส่งกำลังไปช่วยองเชียงสือเมื่อใด แสดงทีท่าว่าไม่อยากจะช่วย Pigneau จึงต้องใช้เงินทุนที่ระดมได้จากปารีสในการจ้างทหารรับจ้างและทหารอาสา รวมไปถึงซื้ออาวุธด้วย

พ.ศ. ๒๓๓๐ องเชียงสือลอบหนีจากรุงเทพไปตั้งหลักที่เกาะกูด พงศาวดารไทยว่า ร.๑ ทรงพระราชทานเรือและอาวุธให้ในคราวนี้ด้วย เมื่อรวบรวมกำลังได้มากขึ้น จึงไปยึดเมืองปาสัก (ญวนเรียก ซ้อกแจง Sóc Trăng) หลังจากนั้นไปยึดมี้ทอ (Mỹ Tho) ใช้เป็นฐานในการต่อสู้ องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองครั้งที่หนึ่ง ร.๑ ทรงพระราชทานเรือ อาวุธ และส่งทัพเขมรไปช่วยองเชียงสือ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 พ.ย. 10, 14:50

พ.ศ. ๒๓๓๐ ปลายปี พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศตาย ร.๑ โปรดเกล้าตั้งองเทียมบุตรพระยาราชาเศรษฐีญวนเป็นเจ้าเมืองแทน (แสดงว่าพุทไธมาศในตนนี้เป็นของไทยอยู่)

พ.ศ. ๒๓๓๑ เดือน ก.ย. หลังจากโจมตียาดิ่ง (ไซ่ง่อน) อยู่สองครั้ง องเชียงสือจึงยึดเมืองได้สำเร็จ

พ.ศ. ๒๓๓๑ เดือน ๑๒ องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองครั้งที่ ๑ แจ้งความมาว่าได้เมืองไซ่ง่อน เมืองโลกนาย เมืองบาเรียแล้ว แต่อ้ายเชียงซำเจ้าเมืองไซ่ง่อนหนีมาอยู่เมืองปาสัก (เคยกล่าวถึงแล้ว เมืองนี้ญวนเรียกซกแจงอยู่แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง) ขอพระราชทานยืมเรือรบ ๓๐ ลำ ทั้งขอทัพเขมรไปช่วยตีเมืองปาสักจับอ้ายเชียงซำ ร.๑ ทรงพระราชทานเรือรบให้ แต่เลือกเรือดีได้เพียง ๕ ลำ และโปรดเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ส่งทัพเขมรไปช่วยตีปาสัก อ้ายเชียงซำยอมอ่อนน้อม องเชียงสือจึงให้พระยาจักรีแกบเขมรเป็นเจ้าเมืองปาสัก เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์กลับเขมร

พ.ศ. ๒๓๓๑ จักรพรรดิ์เฉียนหลงตกลงช่วยเหลือเจียวธง ให้ซุนซื่ออี้ 孫士毅 อุปราชแห่งเหลียงกว่าง (คือปกครองทั้งกวางตุ้งและกวางสี แต่พงศาวดารไทยว่าเป็นจงต้กเมืองกวางตุ้ง  (จกต้ก คือ 总督 เจ้าเมือง) ลดยศไปครึ่งนึง) เป็นแม่ทัพยกไป ผลักดันพวกไตเซินออกจากเวียดนามตอนเหนือได้อย่างง่ายดาย หลังยึดทางลองได้ จีนตั้งเจียวธงเป็นจักรพรรดิ์หุ่นเชิด แม้มีอำนาจเพียงเล็กน้อย แต่เจียวธงก็เปิดฉากล้างเลือดผู้ที่เคยสนับสนุนพวกไตเซิน และบังคับเรียกส่วยจากประชาชนอย่างหนัก พฤติกรรมของเจียวธง และการรุกรานของจีน ทำให้เหงวียนเหวะได้โอกาสดีในการอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ และความนิยมจากประชาชนในเวียดนามตอนเหนือ ๒๒ ธ.ค. พ.ศ.๒๓๓๑ เหงวียนเหวะตั้งตนเป็นจักรพรรดิ์กวางจุง และประกาศว่าราชวงศ์เลจบสิ้นอย่างเป็นทางการแล้ว

พ.ศ. ๒๓๓๑ ต้นปี ไทยยังไม่เปลี่ยนศักราช เหงวียนเหวะรวบรวมกำลังขึ้นเหนือ แม้ทัพของไตเซินจะมีกำลังน้อยกว่า แต่เหงวียนเหวะเอาชนะทัพจีนได้โดยการเข้าโจมตีตอนที่ทัพจีนกำลังฉลองตรุษจีน ทำลายทัพจีนย่อยยับในวัน 6 ในปีใหม่ของจีน เจียวธงหนีไปจีน ปิดฉากราชวงศ์เล (ไทยว่าลองเยือง(คือเหงวียนเหวะ)ยกบุตรชื่อกะวีให้ครองเมืองตังเกี๋ย ซึ่งเป็นไปได้ เพราะเหงวียนเหวะกลับไปอยู่ฟู้ซวน)

พ.ศ. ๒๓๓๑ หลังเอาชนะทัพจีนได้ เหงวียนเหวะขอให้จีนรับรองสถานภาพ จีนยอมตั้งให้เหวะเป็นอันนามก๊วกเวือง (An Nam Quốc Vương) เจ้าแห่งอันนามก๊ก

พ.ศ. ๒๓๓๒ เดือนห้า องเชียงสือส่งข้าวสารสองร้อยเกวียนเข้ามาถวาย ร.๑ ตามที่มีท้องตราออกไป

พ.ศ. ๒๓๓๒ เดือน ก.ค. กองกำลังฝรั่งเศสของ Pigneau เพิ่งมาถึง จำนวนนั้นไม่ชัดแจ้ง บ้างว่ามีราว ๔๐๐ แต่หลักฐานบางฉบับก็ว่ามีเพียง ๑๐๐ เศษ อ้า... จำนวนคนนะครับ ไม่ใช่จำนวนเรือ แต่ไม่ว่าอย่างไร Pigneau และชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาด้วย ได้ช่วยองเชียงสือปรับปรุงกองกำลัง โดยเอาเทคโนโลยีของทางตะวันตกเข้ามา มีการฝึกทหาร ปรับปรุงเรือรบ รวมไปถึงการออกแบบและก่อสร้างป้อมปราการด้วย

พ.ศ. ๒๓๓๒ เดือนแปด มีหนังสือเจ้าพระยาพระคลังออกไปถึงองเชียงสือ ความว่า องเชียงสือบอกข้อราชการเข้าไปเมื่อใด ร.๑ จะให้ยกกองทัพออกมาช่วย แต่ให้ต่อเรือกุไลเข้ามาให้สัก ๖๐-๗๐ ลำ เพื่อใช้ลำเลียงไพร่พล พร้อมทั้งเรือพระที่นั่งอีกลำหนึ่ง

พ.ศ. ๒๓๓๒ เดือนอ้าย องเชียงสือมีหนังสือเข้ามาแจ้งว่าพระยาตานีชวนให้ร่วมกันตีกรุงเทพฯ ร. ๑ ทรงโปรดให้พระยากระลาโหมราชเสนายกออกไปเมืองตานี จับพระยาตานีได้ โปรดให้จองจำไว้จนกว่าจะตาย

พ.ศ. ๒๓๓๓ องเชียงสือทุ่มกำลังคนและทรัพยากรสร้างป้อมปราการขนาดยักษ์ที่ยาดิ่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พวกไตเซินไม่กล้าที่จะยกทัพมาตียาดิ่งอีกเลย เมื่อปลอดจากภัยรุกราน องเชียงสือหันไปพัฒนาการเกษตรและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เนื่องจากระหว่างที่มีศึกกับพวกไตเซินอยู่เนืองๆ นั้น พวกไตเซินปล้นสะดมข้าวของชาวนาต่อเนื่องทุกปี

พ.ศ. ๒๓๓๓ เดือนอ้าย องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ครั้งที่ ๒ พร้อมกับส่งตัวอย่างเรือพระที่นั่งที่จะต่อถวายมาด้วย และขอพระบรมราชานุญาติให้ส่งเรือขนข้าวสารไปขายที่ไซ่ง่อน เนื่องจากปีนี้ฝนแล้ง ที่ไซ่ง่อนทำนาได้น้อย ร.๑ ทรงโปรดตามนั้น

พ.ศ. ๒๓๓๓ เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเวียงจันทร์บอกเข้ามาว่าพวกญวนเมืองตังเกี๋ย (คือพวกไตเซิน) ยกมาเวียงจันทน์ ทัพลาวตีพวกไตเซินแตกไป จับเชลยได้จำนวนหนึ่ง ส่งลงมากรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๓๓๔ เดือนห้า ร.๑ โปรดให้จัดของพระราชทานตอบแทนองเชียงสือ

พ.ศ. ๒๓๓๔ เดือนสิบเอ็ด องเชียงสือถวายเรือที่เกณฑ์ให้ต่อ ๗๐ ลำ และขอซื้อปืน ร.๑ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาติ

พ.ศ. ๒๓๓๕ เหงวียนเหวะพยายามเจรจากับโปรตุเกสในมาเก๊า พยายามชักจูงให้มาเรือพ่อค้าโปรตุเกสมาทำการค้ากับพวกไตเซินแทนเมืองท่าของพวกเหงวียนทางใต้ เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงขององเชียงสือ

พ.ศ. ๒๓๓๕ เหงวียนเหวะวางแผนโจมตีที่มั่นสุดท้ายขององเชียงสือในยาดิ่งทั้งทางบกและทางเรือพร้อมๆ กัน องเชียงสือส่งหนังสือมากรุงเทพ แจ้งว่าไตเซินจะบุกกรุงเทพฯ ขอให้ส่งทัพบกไปตังเกี๋ย (ฮานอย) องเชียงสือจะส่งทัพเรือไปสมทบ เจ้าพระยาพระคลังตอบไปว่าไม่เห็นว่าพวกไตเซินจะยกมากรุงเทพได้ และทางเดินบกไปตังเกี๋ยก็ทางไกล ส่งทัพไปไม่สะดวก หากองเชียงสือจะตีพวกไตเซินที่กุยเยินทางกรุงเทพฯก็ยินดีส่งทัพไปช่วย แต่ระหว่างนี้สถานการณ์ทางพม่ากำลังจะมีศึก ของดศึกกับทางตังเกี๋ยไว้ก่อน

พ.ศ. ๒๓๓๕ เดือน ก.ย.  ระหว่างทัพไตเซินรอหน้ามรสุมอยู่นั้น เหงวียนเหวะก็ตายลงอย่างกระทันหัน บุตรชายชื่อเหงวียนกวางต๋วน (Nguyễn Quang Toản ไทยว่าเป็นบุตรคนรอง ชื่อกลัก) ขึ้นครองราชเป็นจักรพรรดิ์แก๋งจิ่ง (Cảnh Thịnh) ด้วยวัยเพียงสิบปี แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือลุงคือบุ่ยดั๊กเตวียน (Bùi Đắc Tuyên)

ว่ากันว่า หากเหงวียนเหวะมีชีวิตต่อไปอีกสักสิบปี โฉมหน้าของประวัติศาสตร์เวียดนามคงเปลี่ยนไปกว่านี้มากนัก เพราะเหงวียนเหวะถือว่าเป็นผู้นำที่ฉลาดเฉียบคมมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เวียดนามเคยมีมาครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 24 พ.ย. 10, 15:15

ขอสลับฉากด้วยแผนที่ของเวียดนามจาก wiki ครับ เป็นแผนที่ยุค จิ่ง-เหงวียน ตอนเหนือเป็นพื้นที่ของพวกจิ่ง ตอนใต้เป็นพื้นที่ของพวกเหงวียน



แต่มาถึงปี พ.ศ. ๒๓๓๕ ตามเนื้อความในกระทู้นี้ นอกจากไซ่ง่อน (ยาดิ่ง) ที่องเชียงสือไปยึดเป็นที่มั่นไว้ได้แล้ว แผ่นดินเวียดนามทั้งหมดเป็นของราชวงศ์ไตเซินครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 พ.ย. 10, 20:54

พ.ศ. ๒๓๓๕ องเชียงสือทำรีเอนจิเนียริ่งเรือรบแบบตะวันตก โดยให้ช่างต่อเรือเวียดนามถอดเรือตะวันตกเป็นชิ้นๆ แล้วประกอบกลับเข้าไปใหม่ เพื่อเรียนรู้ส่วนประกอบต่างๆของเรือรบแบบตะวันตก อู่ต่อเรือในไซ่ง่อนเริ่มต่อเรือตรวจการณ์ ๑๕ ลำ โดยใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างเรือรบแบบตะวันตกกับเรือของเวียดนามเอง และเรียนรู้วิชาการเดินเรือจากตำราของตะวันตกโดย Pigneau เป็นผู้แปลให้ ส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์แล้ว องเชียงสือหลีกเลี่ยงการใช้ที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศส จำกัดวงไว้ในหมู่ชาวเวียดนามด้วยกันเอง ในขณะที่ที่ปรึกษาฝรั่งเศสแนะนำให้เร่งโจมตีพวกไตเซิน องเชียงสือเลือกที่จะสะสมกำลัง ตระเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการทหารและเศรษฐกิจไปควบคู่กันอย่างช้าๆแต่มั่นคง ในขณะที่การรุกไล่พวกไตเซินในช่วงแรกๆ นี้ กองทหารและผู้นำทหารชาวฝรั่งเศสมีส่วนสำคัญ แต่ในช่วงท้ายๆ พวกฝรั่งเศสถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนเท่านั้น

พ.ศ. ๒๓๓๖ เดือนหก องเชียงสือส่งหนังสือมาว่าขอตราผ่านทางเมืองลาวและขอเสบียงเมืองลาว จะไปตีกุยเยิน ร.๑ ทรงพระราชทานตามที่ขอมา

พ.ศ. ๒๓๓๖ องเชียงสือใช้แผน สงครามมรสุม (Monsoon Wars) โดยเปิดฉากโจมตีในฤดูมรสุมของทุกปี ใช้ลมมรสุมช่วยในการส่งทัพเรือไปจู่โจมโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า เป้าหมายคือที่มั่นของพวกไตเซินในกุยเยิน

พ.ศ. ๒๓๓๖ ทัพขององเชียงสือก็ทำลายทัพเรือของเหงวียนหญักจนหมดสิ้น เหงวียนหญักต้องขอความช่วยเหลือไปยังแก๋งจิ่งหลานผู้เยาว์ที่ฟู้ซวน ทัพขอฟู้ซวนลงมาช่วยขับไล่พวกองเชียงสือไปได้ แต่เหงวียนหญักก็ตายลงอีกคนหนึ่งในปีนี้

เหงียนลื้อนั้นตายลงเมื่อใดไม่แน่ชัด แต่ก็ก่อนหน้าเหงวียนหญักกับเหงวียนเหวะหลายปี เป็นอันว่าตอนนี้สามพี่น้องหัวหน้ากบฎไตเซินได้ตายลงหมดทั้งสามคนแล้ว

พ.ศ. ๒๓๓๖ เดือนอ้าย องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ครั้งที่ ๓

พ.ศ. ๒๓๓๖ หลังจากทำศึกได้ชัยต่อเนื่องหลายครั้งในพื้นที่ญาจาง (Nha Trang) องเชียงสือให้นายช่างชาวฝรั่งเศส Olivier de Puymanel สร้างป้อมปราการไว้ที่เซวียนค้าง Diên Khánh เพื่อรักษาพื้นที่นี้ไว้อย่างถาวร ไม่ต้องถอยเมื่อหมดหน้ามรสุม ป้อมนี้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเหงวียนฟุกก๋าง (Nguyễn Phúc Cảnh บุตรชายคนโตขององเชียงสือที่เคยไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสพร้อมกับ Pigneau) โดยมี Pigneau กับ Puymanel เป็นที่ปรึกษา

พ.ศ. ๒๓๓๖ เดือนสี่ องกันถิน (คือจักรพรรดิ์ผู้เยาว์แก๋งจิ่ง บุตรเหงวียนเหวะ) ส่งทูตมากรุงเทพฯ แจ้งว่าจะยกไปตีองเชียงสือ หากองเชียงสือหนีเข้ามาในไทย ขอให้จับตัวส่งให้ด้วย ร. ๑ ทรงตอบปฏิเสธ

พ.ศ. ๒๓๓๗ เดือนห้า พวกไตเซินยกมาล้อมเซวียนค้าง แต่ไม่สามารถตีป้อมให้แตกได้ หลังจากนั้นไม่นาน กำลังเสริมจากไซ่ง่อนก็มาถึง และเปิดฉากรุกครั้งใหม่อีก นับเป็นครั้งแรกที่พวกเหงวียนสามารถโจมตีพวกไตเซินได้โดยไม่ต้องรอหน้ามรสุม สามารถทำศึกรุกคืบเข้าไปในดินแดนของพวกไตเซินได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี

พ.ศ.๒๓๓๗ รัฐบาลไตเซินสั่นไหว บุ่ยดั๊กเตียนกวาดล้างศัตรูทางการเมืองยกใหญ่ ขุนนางเก่าของกวางจุงถูกประหารจำนวนมาก ที่เหลือก็เอาใจออกห่าง ทำให้พวกไตเซินอ่อนกำลังลงมาก จนเกิดการรัฐประหารขับไล่บุ่ยดั๊กเตวียนในที่สุด แต่ก็ชะลอความเสื่อมของพวกไตเซินลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พ.ศ. ๒๓๓๗ ออกพรรษา ร. ๑ ทรงตั้งนักองค์เองเป็นกษัตริย์เขมร

พ.ศ.๒๓๓๗ เดือนยี่ องเชียงสือยังตีกุยเยินไม่ได้ แจ้งมาว่า ช้าง ๒๐ เชือกที่ทรงพระราชทาน ยังไปไม่ถึง

พ.ศ. ๒๓๓๗ ร. ๑ โปรดให้มีหนังสือไปถึงองเชียงสือว่าองกันถินส่งทูตมา และได้ทรงปฏิเสธไป

พ.ศ.๒๓๓๘ เดือนอ้าย องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ครั้งที่ ๔ กับแจ้งว่าได้รับช้าง ๒๐ เชือกแล้ว

พ.ศ. ๒๓๓๙ นังองค์เองกษัตริย์กัมพูชาตาย โปรดให้ฟ้าทละหะเป็นผู้สำเร็จราชการไปก่อนจนกว่าบุตรนักองค์เองโตพอ จึงจะตั้งกษัตริย์ใหม่

พ.ศ.๒๓๔๐ เดือน ๑๒ มีข่าวศึกพม่า และมีข่าวว่าอังกฤษจะช่วยพม่าโดยส่งสลุปกำปั่นเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ร.๑ จึงโปรดให้มีตราออกไปให้องเชียงสือส่งทัพมาช่วยรักษาสมุทรปราการ องเชียงสือเตรียมทัพเรือ มีเรือรบใหญ่ปากกว้างสี่วาสิบห้าลำ เรือกุไลสิบห้าลำ เรือแง่ซายเจ็ดสิบแปดลำ ไพร่พลเจ็ดพันเจ็ดร้อยยี่สิบคน เครื่องศาสตราวุธพร้อม กำหนดจะส่งเข้ามาในเดือนห้า  แต่พอทางกรุงเห็นว่าศึกฝรั่งไม่มีเข้ามา จะให้กองทัพญวนเข้ามาอยู่ในกรุงมากไม่ไว้ใจ จึงส่งเรือเร็วออกไปห้ามทัพญวนไม่ให้เข้ามา

พ.ศ.๒๓๔๐ เดือน ๓ องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ครั้งที่ ๕

พ.ศ. ๒๓๔๒ สมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์สิ่นพระชนม์ ร.๑ โปรดให้ส่งสาส์นไปยังองเชียงสือขอซื้อเครื่องประกอบงานพระศพ เดือนอ้าย องเชียงสือจัดของมาถวายงานพระศพ

พ.ศ. ๒๓๔๒ เดือนสาม องเชียงสือถวายปืนเปรียมสิบกระบอก ทั้งขอซื้อเหล็กไปหล่อกระสุนปืน และขอทัพลาวทัพเขมรไปช่วยตีแง่อานลาวเรียกเมืองล่าน้ำ (ญวนเรียกเหงะอาน) เพื่อให้พวกไตเซินห่วงหน้าพะวงหลัง ร.๑ ทรงโปรดพระราชทานดินประสิวตอบแทน ๕๐๐ หาบ พระราชทานบรมราชานุญาตให้ซื้อเหล็กหล่อตามต้องการ แต่ที่ให้ส่งทัพลาวและเขมรไปตีเหงะอานนั้นทรงปฏิเสธ ทรงโปรดให้สมเด็จฟ้าทละหะส่งทัพเขมรไปช่วยตีกุยเยิน ฟ้าทละหะจึงให้พระยาวังเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลห้าพันไปเมืองลำดวน พระยาวังคุมคนไม่อยู่หนีทัพกันมาก เจ้าฟ้าทละหะจึงประหารพระยาวัง แล้วให้พระยากระลาโหมเกณฑ์คนห้าพันยกไปช่วยองเชียงสือ

พ.ศ. ๒๓๔๒ ทัพของเหงวียนฟุกก๋างยึดกุยเยินได้สำเร็จ(จนได้) บีบให้ทัพไตเซินต้องถอยขึ้นเหนือไปที่ฟู้ซวน กองทัพเรือของพวกเหงวียนมีผลต่อชัยชนะเป็นอย่างมาก มีพ่อค้าชาวอังกฤษรายงานว่ากองเรือของพวกเหงวียนประกอบด้วยเรือแจว (Galley) 100 ลำ สำเภา 40 ลำ เรือขนาดย่อม 200 ลำ และเรือลำเลียงอีก 800 ลำโดยมีเรือสลุปแบบตะวันตกไปด้วยอีก 3 ลำ

พ.ศ. ๒๓๔๒ แต่พวกไตเซินรุกกลับมาอีก จักรพรรดิ์กวางต๋วนนำทัพลงมาเอง พวกเหงียนฟุกก๋างถูกล้อมที่กุยเยิน
 
พ.ศ. ๒๓๔๓ พวกเหงวียนตัดสินใจถอยจากกุยเยิน และมุ่งหน้าไปยังฟู้ซวนเมืองหลวงของพวกไตเซินที่มีการป้องกันเบาบาง ทำให้พวกไตเซินต้องแบ่งกองกำลังไปรับศึกสองด้าน

พ.ศ. ๒๓๔๔ องเชียงสือถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ครั้งที่ ๖ ร.๑ ทรงพระราชทานดินประสิวขาวหนักห้าร้อยหาบให้องเชียงสือ

พ.ศ. ๒๓๔๔ พวกเหงวียนยึดกุยเยินได้สำเร็จอีกครั้ง

พ.ศ. ๒๓๔๕ องเชียงสือแจ้งความมาว่าพระยากลาโหมเขมรที่ ร.๑ โปรดให้ไปช่วยองเชียงสือตีกุยเยินเอาใจออกห่าง ลอบติดต่อกับพวกไตเซิน ร.๑ ตอบกลับว่าทราบความแล้ว จะสอบสวนอย่างเป็นธรรม

พ.ศ. ๒๓๔๕ เดือน มิ.ย. พวกเหงวียนยึดฟู้ซวน (เว้) ได้สำเร็จ องเชียงสือปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิ์ยาลอง (มาจาก ยาดิ๋ง + ทางลอง เป็นสัญญลักษณ์ของการรวมเวียดนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน) สถาปนาราชวงศ์เหงวียน (ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม) จักรพรรดิ์กวางต๋วนของพวกไตเซินต้องหนีขึ้นเหนือไปทางลอง(ฮานอย) มีรายงานว่ากองเรือหนึ่งขององเชียงสือประกอบด้วยสลุปติดปืน ๖๐ กระบอก ๙ ลำ, สลุปติดปืน ๕๐ กระบอก ๕ ลำ, สลุปติดปืน ๑๖ กระบอก ๔๐ ลำ, สำเภา ๑๐๐ ลำ, เรือพาย ๑๑๙ ลำ และเรือขนาดเล็กลงไปอีก ๓๖๕ ลำ เรือรบแบบตะวันตกทั้งหมดถูกต่อขึ้นในอู่ต่อเรือในไซ่ง่อนที่ดูแลอย่างใกล้ชิดโดยตัวองเชียงสือเอง

พ.ศ. ๒๓๔๕  เดือน มิ.ย. องเชียงสือยึดได้ทางลอง (ฮานอย) จักรพรรดิ์กวางต๋วนหนี แต่ถูกจับได้และถูกประหาร ปิดฉาก 24 ปีของราชวงศ์ไตเซิน พระเจ้ายาลองร้องขอการรับรองจากจีน และได้รับการตอบสนองทันที ในขณะที่ฝรั่งเศสไม่ได้รับผลตอบแทนจากสัญญาที่ Pigneau ได้ไปทำไว้เลย

พ.ศ. ๒๓๔๕ พงศาวดารไทยว่าองเชียงสือส่งพระราชสาส์นผ่านทางเวียงจันทน์มายังกรุงเทพ แจ้งข่าวว่าได้เมืองเว้ และฮานอย แล้วตั้งตนเป็นพระเจ้ายาลอง ตั้งแต่นั้นมาไม่ถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้ไทยอีก
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 พ.ย. 10, 22:08

ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ
ติดตามอ่านมาโดยตลอดครับ
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 พ.ย. 10, 11:11

ขอบคุณที่ติดตามครับคุณ Bhanumet ช่วงนี้จะช้าหน่อยครับ ...อู้... ครับ แฮ่ๆ

น่าสังเกตว่าพงศาวดารไทยมีการเอ่ยถึงชื่อเจ้าพระยาพระคลังในเรื่องการทูตกับเวียดนามไว้หลายครั้ง แต่ละช็อตนั้นเรียกได้ว่าเป็นการทูตชนิดเขี้ยวลากดินทั้งสิ้น

นอกจากเรื่องหน้าที่ในฐานะเจ้าพระยาพระคลังที่ดูแลการค้า (แน่นอนว่าในสมัยที่ยังไม่มีกระทรวงต่างประเทศก็ต้องดูการทูตด้วย) เจ้าพระยาพระคลังผู้นี้คงมีหลายท่านจำได้ว่าเคยเป็นหลวงสรวิชิตในรัชกาลพระเจ้ากรุุงธนบุรี ครั้นเปลี่ยนแผ่นดินจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาพิพัฒน์ เป็นอยู่ได้ปีเศษก็ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาพระคลัง มีชื่อตัวว่า หน บรรณาธิการแปลพงศาวดารสามก๊กผู้นี้เองครับ

นโยบายของ ร.๑ ในการสนับสนุนองเชียงสือ ทำให้ปัญหาเรื่องเขมรสงบเงียบหลายสิบปี ในขณะที่กำลังทหารที่ส่งไปช่วยองเชียงสือรบกับพวกไตเซินนั้น ถ้าไม่นับช่วงต้นๆ แล้ว เรียกได้ว่าใช้แต่กองทัพเขมรล้วนๆ  ครับ

ต้องถือว่าเหนือชั้นมาก น่าคิดว่าเจ้าพระยาพระคลังผู้นี้มีส่วนร่วมกับนโยบายนี้หรือไม่ อย่างไร ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 ธ.ค. 10, 23:41

พ.ศ. ๒๓๔๖ เดือน ๖ พระเจ้ายาลองส่งของมาถวาย ร.๑ และกรมพระราชวังบวร ฉลองพระคุณที่ได้พระราชทานปืนและเครื่องกระสุนเป็นกำลังสงครามจนทำให้การศึกสำเร็จ

พ.ศ. ๒๓๔๖ เดือน ๑๑ ร.๑ ทรงแต่งทูตไปเวียดนาม พระราชทานเครื่องยศต่างๆ สำหรับพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพระมาลาเบี่ยงองค์หนึ่ง พระเจ้ายาลองรับไว้เว้นแต่พระมาลาเบี่ยง ว่าเป็นของสูง ไม่เคยสวม ขอถวายคืน

พ.ศ. ๒๓๔๖ เดือน ๑๒ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จสวรรคต

พ.ศ. ๒๓๔๗ เดือน ๘ พระเจ้ายาลองส่งทูตคุมสิ่งของมาช่วยการพระบรมศพกรมพระราชวังบวรฯ และมีพระราชสาส์นเข้ามาแนะให้ตั้งพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ร. ๑ ทรงพระราชทานสิ่งของตอบแทน

พ.ศ. ๒๓๔๗ เดือน ๓ เจ้าอินทร เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตป่วยถึงแก่พิราลัย ปลงศพเสร็จแล้ว โปรดตั้งให้เจ้าอนุผู้น้องครองกรุงศรีสัตนาคนหุตแทน

พ.ศ. ๒๓๔๘ เดือนยี่ พระเจ้ายาลองให้ ฮาเตียน ถูคำทราย ซึ่งเป็นที่พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศเชิญพระราชสาส์นเข้ามาถวายสิ่งของ ร.๑ ทรงพระราชทานสิ่งของตอบแทน และแจ้งว่าจะตั้งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรในปีหน้า

เมืองฮาเตียน (ญวนว่า ห่าเตียน) หรือบันทายมาศ ในเวลานั้นเป็นของสยาม เห็นได้ว่าเจ้าเมืองมีตำแหน่งขุนนางไทย เป็นที่พระยาราชาเศรษฐี และน่าจะเป็นคนเดิมที่เป็นบุตรของพระยาราชาเศรษฐีญวนที่ถูกพระเจ้าตากประหารในช่วยปลายแผ่นดินกรุงธนบุรี ฮาเตียน ถูคำทรายนั้น ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไรแน่ แต่ thu gom (ทูกอม) แปลว่าเก็บ thuế (เทว้) แปลว่าภาษี ถ้าถูคำทราย คือ ทูกอมเทว้ ก็อาจจะเป็นเจ้าภาษีนายอากร และน่าคิดว่าฮาเตียนในเวลานั้นจะเป็นเมืองที่อยู่ใต้อิทธิพลทั้งของสยามและเวียดนาม แม้ราชสำนักสยามจะเป็นฝ่ายตั้งเจ้าเมือง แต่เจ้าเมืองซึ่งเป็นญวนก็รับใช้ฝ่ายเวียดนามอยู่ด้วย ส่วนชาวเมืองนั้น น่าจะเป็นญวนและจีนปนกันเป็นหลักครับ (เมืองนี้ตั้งโดยขุนนางจีนที่ลี้ภัยมาช่วงชาวแมนจูราชวงศ์ชิงขึ้นครองอำนาจในจีน) เรื่องนี้จะเป็นประเด็นต่อไปในต้นรัชกาลที่ ๒

พ.ศ. ๒๓๔๙ พระเชียงเงินไปรับญาติพี่น้องซึ่งตกไปอยู่เมืองทันของญวน ญวนจึงจับตัวพระเชียงเงินไว้และส่งหนังสือฟ้องส่งเข้ามาทางเขมร ร.๑ เกรงเวียดนามจะสงสัย จึงโปรดให้ข้าหลวงไปรับตัวพระเชียงเงินกลับมา ส่วนครัวเมืองทันให้คืนกลับไป แล้วจัดทูตไปทางบก เชิญพระราชสาส์นไปยังพระเจ้ายาลอง ถึงเดือนสิบ พระเจ้ายาลองส่งคณะทูตกลับมาทางเรือ มีพระราชสาส์นมาแจ้งว่าไม่มีความสงสัยแต่อย่างใด

พ.ศ. ๒๓๔๙ เดือน ๑๑ กรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคต

พ.ศ. ๒๓๔๙ สมเด็จฟ้าทละหะเห็นว่าตนชราแล้ว จึงพาพานักองค์จันและนักองค์สงวนเข้ามาเฝ้า ร.๑ ขอให้ทรงตั้งนักองค์จันเป็นเจ้าเมืองเขมร เดือนแปด ฟ้าทละหะตาย ร .๑ จึงโปรดให้ตั้งนักองค์จันเป็นพระอุไทยราชาให้ครองเขมร

พ.ศ. ๒๓๔๙ เดือนสี่ อุปราชาภิเษกสมเด็จเจ้าฟ้าลูกยาเธอกรมหลวงอิศรสุนทร เป็นพระราชวังบวรสถานมงคล

พ.ศ. ๒๓๔๙ เดือนสี่ พระเจ้ายาลองทราบข่าวกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคต จึงให้ทูตคุมสิ่งของเข้ามาสดับพระปกรณ์พระศพ

พ.ศ. ๒๓๕๐ พระเจ้ายาลองให้ทูตคุมสิ่งของเข้ามาถวายแสดงความยินดีเนื่องในการอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พ.ศ. ๒๓๕๑ เดือนแปด พระองค์เจ้าทับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงผนวช

พ.ศ. ๒๓๕๒ เดือนเก้า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 พ.ค. 11, 15:43

พ.ศ. ๒๓๕๒ เดือนเก้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ขึ้นสำเร็จราชการ ชำระคดีกบฎกรมขุนกระษัตรานุชิตแล้ว ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนสิบ เดือนสิบเอ็ด ทรงโปรดให้แต่งทูตไปเวียดนาม แจ้งข่าวการสวรรคตและการบรมราชาภิเษก

พ.ศ. ๒๓๕๒ เดือนสี่ พระอุทัยราชา (นักองค์จัน กษัตริย์เขมร) อ้างว่าป่วย ส่งนักองค์สงวน พระองค์แก้ว พระยากระลาโหมเมือง และพระยาจักรีแบน เข้ามาถวายบังคมพระบรมศพแทน ร.๒ ทรงดำริว่าจะตั้งนักองค์สงวนเป็นอุปราชเขมร

เรื่องพระอุทัยราชาไม่เข้ามาเฝ้านี้ส่อเค้าปัญหาระหว่างราชสำนักสยามและพระอุทัยราชา พงศาวดารไทยว่ามีเหตุอยู่สามประการเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ คือ
๑. เรื่องพระอุทัยราชาทูลขอนักองค์เภา นักองค์อี พระปิตุฉาของพระอุทัยราชา ซึ่งเป็นพระสนมในกรมพระราชวังบวร ร.๑ ทรงพระราชทานนักองเภากลับไปผู้เดียว แต่นักองค์อีนั้นไม่โปรดพระราชทานกลับไป เนื่องจากว่ามีพระองค์เจ้าอยู่ (พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร และพระองค์เจ้าหญิงวงศ์มาลา หรือวงศ์กษัตริย์ หรือวงศ์ขัติยา) ซึ่งก็เหตุผลข้อนี้ผมว่าแปลกอยู่ เพราะนักองค์เภาก็มีพระองค์เจ้าหญิงปุกอยู่ด้วยเหมือนกัน
๒. พระยาเดโชเมนเป็นอริกับพระอุทัยราชา เรื่องนี้เป็นเรื่องเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑ เมื่อครั้งที่แห่นักองค์เภากลับไปที่เขมร พระยาเดโชเมนไม่ยอมเข้าเฝ้า พระอุทัยราชาให้ขุนนางไปจับตัว แต่พระยาเดโชเมนหนีไปอยู่ที่กรุงทพฯ พระอุทัยราชาเคยส่งสาส์นขอตัวกลับไปชำระโทษ แต่ไม่โปรดพระราชทาน แต่สาเหตุที่พระยาเดโชไม่ยอมเข้าเฝ้านั้นยังน่าสงสัยว่า จะเคยมีความกันอยู่ก่อนหน้านั้นหรือไม่?
๓. ครั้งสุดท้ายที่พระอุทัยราชาเข้ามาเฝ้า ตอนจะกลับ เข้าถวายบังคมลาผิดธรรมเนียม ร.๑ ทรงพิโรธให้ได้อายต่อขุนนางทั้งปวง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทีหลังสองเหตุการณ์ข้างต้น เห็นได้ว่าสองเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ไม่ใช่สาเหตุหลักแน่ แต่อาจจะทำให้ความไม่พอใจของพระอุทัยราชาสะสมมาแต่นั้น

เรื่องนี้หากดูเหตุการณ์ย้อนกลับไปครั้งนักองค์จันขึ้นเป็นพระอุทัยราชากษัตริย์เขมรในเดือนหก พ.ศ.๒๓๔๙ น่าสังเกตว่าพงศาวดารเขมรกล่าวว่า ร.๑ ทรงพระราชทานเครื่องยศมาถึงบันทายเพชรเมื่อเดือน ๙ ในปีนั้น ผ่านไปปีเศษ ถึงเดือนอ้าย พ.ศ.๒๓๕๐ "เจ้าเวียดนามตรัสใช้องจันซือง้อกับองผอซือกิน  นำตราทอง ๔ เหลี่ยมรูปสิงโตข้างบนมีน้ำหนักเจ็ดแน่น มาถวายพระบาทผู้เปนเจ้า" สองเดือนต่อมา พระอุทัยราชาให้ทูตส่งราชบรรณาการมาถวาย ร.๑ เป็นคราวเดียวกับที่ทูลขอนักองค์เภา นักองค์อีนั่นเอง

ตราทองที่เจ้าเวียดนามพระราชทานให้พระอุทัยราชานั้นน่าจะเป็นตราแผ่นดิน แสดงถึงการรับรองอำนาจของพระอุทัยราชาโดยพระเจ้ายาลอง ในขณะที่พระอุทัยราชารับตรานั้นไว้ก็ต้องแสดงว่าเป็นการรับอำนาจของพระเจ้ายาลองเหนือเขมร แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงโดยสัญญลักษณ์ก็ตาม

พ.ศ. ๒๓๕๓ เดือนห้า ทูตเวียดนามชุดแรกเข้าถวายบังคมพระบรมศพ ทูตชุดที่สองเข้าถวายเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทรงยินดีกับ ร.๒ ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ และมีพระราชสาส์นอีกฉบับหนึ่งมาจากพระเจ้ายาลอง กล่าวโทษเจ้าเมืองบันทายมาศว่าเป็นคนไม่ดีหลายประการ พระเจ้ายาลองจึงตั้งคนใหม่แทน พร้อมทั้งขอเมืองบันทายมาศคืนจากสยาม ด้วยเหตุว่าเป็นเมืองขึ้นของเวียดนามมาแต่ก่อน ร.๒ ทรงทราบแล้วทรงดำริว่าการจะขัดขวางจะทำไม่ได้ไปตลอดเนื่องจากเป็นแผ่นดินใหม่ จะทำให้เสียพระราชไมตรีไป จึงยอมให้บันทายมาศเป็นของญวนนับแต่นั้น ส่วนราชทูตเวียดนามที่เข้ามานั้น โปรดให้รับรองแข็งแรงมากกว่าทูตญวนที่เข้ามาแต่ก่อนๆ ให้จัดเรือไปรับพระราชสาส์นถึงเมืองสมุทรปราการ รับทูตญวน พิณพาทย์แตรสังข์ประโคม แห่เข้ามาจนถึงกงกวน (ที่พักราชทูต) โปรดให้เข้าเฝ้าทุกวันเหมือนขุนนางในกรุง พระราชทานสำรับคาวหวาน จ่ายเบี้ยเลี้ยงทุกวัน ฝ่ายทูตญวนพักอยู่จนเสร็จราชการ ในเดือนหก ให้มีพระราชสาส์นตอบขอบพระทัยกลับไป ทั้งจัดของทรงยินดีออกไปด้วย

๕ ปีก่อนหน้านี้ พระเจ้ายาลองเคยให้พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองบันทายมาศนำพระราชสาส์นจากพระเจ้ายาลองเข้ามายังราชสำนักสยาม มีร่องรอยของการเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า อยู่ในอาณัติทั้งไทยและเวียดนามพร้อมๆกัน หากตำแหน่งเจ้าเมืองนั้นไทยเป็นฝ่ายตั้ง ครั้งนี้พระเจ้ายาลองเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองโดยพลการ การขอเมืองคืนนั้นเห็นจะทำพอเป็นพิธีทางการทูตมากกว่า ด้วยเห็นว่าไทยไม่อยู่ในสถานะที่จะรักษาอำนาจเหนือบันทายมาศไว้ได้

พ.ศ. ๒๓๕๓ โปรดตั้งนักองค์สงวนเป็นมหาอุปโยราชฝ่ายหลังของเขมร นักองค์อิ่มเป็นมหาอุปราชา (ทางเขมร ฝ่ายหลังสูงกว่าฝ่ายหน้า) ช่วยราชการพระอุทัยราชาเจ้ากรุงเขมร

การตั้งอุปราชเขมรข้ามหน้าข้ามตาเวียดนามและพระอุทัยราชาครั้งนี้ น่าจะเป็นการตอบโต้พระอุทัยราชาและเวียดนามไปพร้อมๆ กัน  นักองค์สงวนชันษาเพียง ๑๗ นักองค์อิ่มยังอายุน้อยกว่านั้นอีก ดูเป็นการทำในเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า อำนาจจริงน่าจะอยู่ในมือขุนนางเขมรฝ่ายนิยมสยาม คือพระยาจักรี และพระยากระลาโหม

ในพงศาวดารไทยยังระบุว่า ในปีนี้ ร.๒ ทรงเกรงว่าเพิ่งผลัดแผ่นดินใหม่ พม่าจะมารบกวน จึงโปรดให้เกณฑ์ทัพเขมรเข้ามาช่วยราชการในกรุงเทพฯ (ความเรื่องนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารเขมร)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.129 วินาที กับ 19 คำสั่ง