เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5499 ประหยัด ศ. นาคะนาท
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 17 พ.ย. 10, 15:17



       หนังสืออนุสรณ์นักประพันธ์นักแปลหรือบุคคลในวงการหนังสือวงการโรงพิมพ์  เป็นกลุ่มหนังสือน่าเก็บประเภทหนึ่ง

หนังสือของศิลปินดัง ๆ ที่ลูกศิษย์ช่วยกันหล่อรูปทองแดงติดปกถือเป็นหนังสือระดับเยี่ยม   ดิฉันเมื่อได้เห็นแล้ว

ก็คิดเอาโดยง่ายเหมือนจับปลาที่หน้าไซว่า  ปกหนังสือที่มีรูปศิลปินท่านนั้นทำด้วยปูนปลาสเตอร์ ไม่ใช่ของจริง

ถือเป็นโชคที่มีมิตรสหายเป็นนักสะสมบ้าง  เป็นเจ้าของร้านหนังสือมือสองบ้าง  จึงป้องกันไม่ให้ดิฉันปล่อยไก่ หรือแสดง

ความตื้นเขินออกไป   เพราะว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่สอง       เพื่อน ๆ สนใจประวัติการพิมพ์กันเป็นอุดมการสูงสุด    

ในกลุ่มดิฉันเป็นนักอ่านคนเดียวที่พอใจแต่จะอ่านเพื่อความบันเทิง   และอ่านได้แทบทุกประเภท

       หนังสืออนุสรณ์นักประพันธ์ดัง ๆ บางคนที่มีมิตรสหายเกลื่อนเมือง  เวลาเขียนประวัติก็บรรยายกินความอย่างกินใจ

ถึงความหลังที่ได้ร่วมวงกับท่านผู้วายชนม์มา  ทั้ง ๆที่ในเวลาดังกล่าวท่านผู้เขียนได้ออกจากกลุ่มไปนานหลายปี

การที่ใครจะอ้างความสัมพันธ์กับผู้มีชื่อเสียงนั้น  เป็นเรื่องธรรมดา  เข้าใจ  และเห็นใจได้         แต่ข้อมูลเรื่อง

นักประพันธ์คนอื่นที่ท่านบรรจงโรยประดับ  หรือมีผู้จัดพิมพ์แต่ใช้แหล่งข่าวแหล่งเดียวนี้   เป็นการก่อความเข้าใจผิด

เมื่อจะใช้ข้อมูลหนังสืออนุสรณ์ก็พึงใช้หลาย ๆ เล่มหน่อยจึงจะรอดปลอดภัย

       การเก็บข้อมูลเรื่องนามปากกาก็เป็นเรื่องสนุก   เห็นหนังสือเก่าที่มีนามปากกาแปลก ๆ  ก็จะจดบันทึกไว้ หรือถ่ายเอกสารไว้

ทำไปแจกกันให้ครึกครื้นรื่นรมย์


       ขอเล่าเรื่องประวัติ  ประหยัด  ศ. นาคะนาท        


เกิดเมื่อ  วันที่ ๑๗  กรกฎาคม  ๒๔๕๗   ปีขาล  ที่บ้านฝั่งธน ถนนประชาธิปก  กรุงเทพมหานคร

บิดาขื่อ  ขุนวิจิตรวรรณกร( เปล่ง  นาคะนาท)        มารดาชื่อ เยื้อน

มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน  คือ

นายประหยัด   เดิมชื่อ ประหยัดศรี

นางประยงคุ์ศรี  อุณหธูป

นายประพันธ์  นาคะนาท

นางประภาศรี  สร้อยระย้า   และ

นางประอรศรี  อุณหธูป

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 15:42



       ประหยัดศรี  เริ่มเรียนชั้นประถมหนึ่งที่โรงเรียนวัดอนงคาราม       เมื่อจบป.๓

จึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนสุขุมาลัย   ในสังกัดของโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

หลังจากจบชั้นมัธยม ๑  ก็เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ

โรงเรียนี้เปิดโอกาสให้ประหยัดศรีได้ศึกษาภาษาต่าง ๆ  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  สเปน  อิตาลีและรัสเซีย

โดยอ่านจากห้องสมุดและร้านเครื่องเขียนและหนังสือข้างโรงเรียน


       ประหยัดศรีเลยได้พบงานของนักเขียนแนวอารมณ์ขันชั้นครู เช่น ครูอบ  ไชยวสุ  ยาขอบ  และนักเขียนลึกลับนาม ลำโพง

(ลึกลับที่ไหนวันดีคิดออกมาดังๆ   เทียน  เหลียวรักวงศ์  ต่างหาก)


       เมื่อเรียนถึง standard 5    ประหยัดศรีก็ไปเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์      มีเพื่อนร่วมชั้นชื่อ   แสน  ธรรมยศ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 16:02


       หลังจากจบชั้นมัธยมบริบูรณ์   ประหยัดศรีสมัครเข้าเป็นนักเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม  เมื่อถูกยุบให้ไปขึ้นอยู่กับคณะ

นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ตามไปเรียนที่นั่น          เมื่อแผนกนิติศาสตร์ถูกยุบไป 

มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  ก็ตามมาเรียนอีก

ประหยัดศรีป่วยเป็นโรคประสาทนัยน์ตา  ต้องหยุดเรียน

สอบเข้าบรรจุงานที่กรมบัญชีกลาง

ประหยัดศรีจึงทำราชการและเริ่มเขียนหนังสือ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 16:16

งานชิ้นแรกของประหยัดศรี คือแปลสุภาษิตสเปน  ตั้งชื่อว่า  วาจาที่ไม่ตาย  ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง


(วันดีอารมณ์ขุ่นมัวขึ้นมาทันที    วาดภาพตนเองเป็นโอชินที่ยากไร้จะหาคนมีหนังสือ ศรีกรุง ให้ยืมอ่านสักศอกสองศอกก็ไม่มี)


ใช้นามปากกา นายรำคาญ และ นายประโดก  ลงในหนังสือสุภาพบุรุษ ของ ศรีบูรพา     มีคอลัมน์ของตนเองชื่อ "ขืนอ่านเป็นเขว"

และมีคอลัมน์"จับแพะชนแกะ"  ในประชามิตร  ของครูมาลัย  ชูพินิจ

และยังมีคอลัมน์ "หางข่าว" และคอลัมน์เชิงความเรียงชื่อ"ทานตะวัน"

มาถึงตอนนีี้ประหยัดศรีก็เปลี่ยนชื่อตามรัฐนิยมแต่เสียดสีอักษรย่อของท่านผู้นำ เป็น ประหยัด ศ.

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 17:05


ขอยกตัวอย่างบทความ "นักอ่านหนังสือสนุก"  ที่ไม่มีอ้างอิงว่าลงที่ไหน เมื่อใด  แต่ดิฉันไม่ได้เดือดร้อน

เพราะอ่านจบในหนังสืออนุสรณ์

ขอตัดทอนมาครึ่งหนึ่งดังต่อไปนี้



     "กระบวนหนังสืออ่านเล่นที่สมัยใหม่เรียกว่า  นวนิยายชีวิตประจำวันที่ขายดีที่สุดในตอนนี้คือในปีสองปีนี้

ข้าพเจ้าว่าของ ก.สุรางคนางค์เป็นเด่นกว่าเพื่อน  หมายความว่านวนิยายชีวิตประจำวันเล่มใหญ่ถึงสามเรื่องคือ

"บ้านทรายทอง" หนึ่ง  "พจมาน  สว่างวงศ์" หนึ่ง  และ "ทางสายเปลี่ยว" หนึ่ง   บางเล่มก็พิมพ์แล้วพิมพ์อีก

ตั้งหลายครั้ง   บางเรื่องก็เพิ่งพิมพ์เล่มเดียว         แต่ข้าพเจ้าทราบตัวเลขและจำนวนพิมพ์จากสำนักพิมพ์

นวนิยายเหล่านั้นว่าแต่ละเล่มแต่ละเรื่องพิมพ์กันเป็นจำนวนหมื่น

       ข้าพเจ้าไปที่ไหนก็ได้ยินแต่คนบ่นถึงเรื่องใหม่ของ ก. สุรางคนางค์  อยากให้มีเรื่องใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อง 

หลายคนอยากให้เขียนต่อที่ได้เขียนจบไปแล้ว   ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า คงตืดอกติดใจเรื่องเก่า ๆที่จบไปเรียบร้อย

แล้วของ ก. สุรางคนางค์

       ถ้าข้าพเจ้าเป็น ก. สุรางคนางค์   ข้าพเจ้าจะเขียนนวนิยายชีวิตประจำวันเรื่องใหม่ขนาดยาวขึ้นอีกสักเรื่องหนึ่งโดยตั้งชื่อว่า

"พจมาน  สว่างวงค์บนทางสายเปลี่ยวหลังบ้านทรายทอง"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 05:24


       ระหว่างที่ทำงานอยู่กรมบัญชีกลาง   ประหยัด ศ. ก็พบกับเพื่อนนักเรียนเก่า  กุมุท  จันทร์เรือง

ชวนไปทำหนังสือภาพเมืองไทย  ชื่อ Thai Pictural  ขายราคา ๑ บาท    โดยเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับสังคม

เลยพบกับผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ชื่อ ประมูล  อุณหธูป


       ประหยัด ศ. ได้ทำงานให้กับเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

       หลังสงครามโลกได้รวบรวมเพื่อนฝูงทำงานหนังสือพิมพ์    ระหว่างที่หาทุนอยู่นี้   ได้รวมกับ ประยงคุ์ศรีน้องสาว

(ที่ต่อมาสมรสกับประมูล)  ทำหนังสือตามฤดูกาลตั้งชื่อเป็นดอกไม้   เล่มแรกชื่อลดาวัลย์  มีเรื่องของครูเหม เวชกรและ

งานเขียนของ ม.จ. ประสบสุข  สุขสวัสดิ์         ต่อมาก็ออกบานชื่นซึ่งพิมพ์ผลงานฉันท์ของ ชิต บูรทัต

       ต่อจากนั้น  สำนักพิมพ์บางกอก มีตรานกฮูกเกาะหนังสือ ได้เกิดขึ้น  มีสำนักงานอยู่เยื้องกับโรงเรียนเทพศิรินทร์


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 05:54



       บางกอกรายวัน  มีประหยัด ศ. เป็นบรรณาธิการ  ประมูลเป็นผู้ช่วย  ก็ออกมาได้

มีชีวิตอยู่ได้ ๔๕ วัน  เพราะ ถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดสังคมนิยม


       อารีย์  ลีวีระ  นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ซื้อกิจการ ไทยพณิชยการ ไปในราคา หนึ่งล้านบาท

ชวนประหยัด ศ. มาทำงานด้วยอย่างเต็มตัว 

ตอนนั้นสยามสมัยเป็นที่นิยมมาก  รวมนักเขียนไว้เยอะ   แสงทอง,  เวทางค์,  ม.ล.ต้อย  ชุมสาย

น.ประภาสถิต,  อัศนี  พลจันทร์, กุหลาบขาว(กอบกาญจน์  วิศิษฎศรี/วันดีเปิดตำรา), และอื่นๆอีกมาก

ยกมาแต่นามที่คนลืมไปแล้ว 

ตึกกรอสส์ของ อ. อุดากร  ก็ชนะรางวัลโบว์สีฟ้าที่นี่


       ประหยัด ศ. เป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์สายลม  พิมพ์งานของ ร. จันทรพิมพะ,  ครูมาลัย,

ยศ  วัชรเสถียร,  และ ช.แสงเพ็ญ

       แล้วประหยัด ศ. ก็มาอยู่สยามรัฐ  รับผิดชอบสยามรัฐรายสัปดาห์       เขียนคอลัมน์ "นาครสนทนา"

และ "ขัดคอ" ในชาวกรุง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 06:01


คคห ๑,​​​ ๒, ๓, ๕, ​และ ๖   อ่านมาจาก  หน้า ๔๑ - ๔๔   ของหนังสืออนุสรณ์

เป็นบทความของ คุณวีระยศ  สำราญสุขทิวาเวทย์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 06:13



ประหยัด ศ. สมรสกับ ละออ  กุสินเกิด  ในปี ๒๔๘๔  มีบุตรธิดา ๕ คน

มีบุตร ๒ คน  กับนางปุย แจะจันทร

กับนางอมร  เพ็งสมบัติ  มีบุตรธิดา ๖ คน

กับนางบุญเสริม  วิจิตรพลเกณฑ์  มีบุตรธิดา ๒ คน


ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๕  เมื่ออายุ ๘๘ ปี  ด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 06:21



หนังสือ ๙ เล่ม คือ

เที่ยวไปกับนายรำคาญ

เที่ยวเขรกับคึกฤทธิ์

ละคอนลิงแห่งชีวิต

ลิเกแห่งชีวิต

เรื่องอย่างว่าเล่ม ๑ - ๒

เรื่องนี้นางเอกมีหนวด

พระเอกเป็นนักสืบ  ตำรวจเป็นผู้ร้าย  และ

ผีโป่งที่ป่าร่อน


ใช้นามปากกา "นายรำคาญ" เขียนบทความการเมืองในหนังสือสยามรัฐรายวัน  สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

สยามมิศร์รายวันและรายสัปดาห์  และ เดลิมิเรอร์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 06:38



       'รงค์   วงษ์สวรรค์   เดินออกจากห้องแถวละแวกบางลำพูไปทำงานบนอาคาร ๖ ถนนราชดำเนิน

บางวันโหนรถราง( ๑ สลึง)    บางวันนั่งสามล้อ(๑๐ สลึง)


เล่าว่า  ผลงานขนาดยาวตามแบบนวนิยายของประหนัด ศ. ที่ได้รับความนิยมมากคือ

พระเจ้านาฬิกาธิบดี

ลิเกแห่งชีวิต

ที่เขียนค้างไว้ยังไม่จบ คือ ละครลิงแห่งชีวิต
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 13:22


ในปี ๒๔๙๒  จินตเทพ เขียน  เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก  ใน นิตยสารพิมพ์ไทยวันจันทร์


อาจินต์  ปัญจพรรค์   ใช้นามปากกา จินตเทพ  เขียน "สัญญาต่อหน้าเหล้า"  ลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารย์ฉบับปฐมฤกษ์

๑๗ มิถุนายน  ๒๔๙๗



ใน ""บางกอกรายปักษ์"   ฉบับไปตากอากาศ    ที่ ประหยัด ศ. ทำกับประมูล  อุณหธูป

แสน  ธรรมยศเขียนเรื่องยาว "ต้อยตีวิดหวาดฟ้า"    แล้วบอกกับประหยัด ศ. ว่า

"เขียนแล้วอายว่ะ  มันไม่ค่อยเข้าท่าอย่างไรก็ไม่รู้"      แล้วยังส่งเรื่องสั้นมาอีกหลายเรื่อง

เป็นเรื่องสั้นที่ดีถึงขนาด   กำลังจะพิมพ์ ชุดเรื่องสั้นของ ส. ธรรมยศอยู่แล้ว  แต่ สำนักพิมพ์

"เริงรมย์"   ล้มเสียก่อน


ถนอม  มหาเปาระยะ  ใช้นามปากกา แก้วเจียรนัย


เวทางค์ก็เขียนอยู่ในเล่มนี้ด้วย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 15:17


ขุนวิจิตรวรรณกร (เปล่ง  นาคะนาท)

บิดามารดา            นายโล้น และ นาง เปลี่ยน  นาคะนาท

เกิด วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖   ณ บ้านตำบลคลองหางหงษ์  อำเถอ สระประทุม  จังหวัดพระนคร

บิดาเป็นหมอแผนโยราณ  มารดาเป็นช่างกลึงฝีมือเยี่ยม


เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดทองนพคุณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔

เรียนต่อที่โรงเรียนวัดประยูรวงษาวาส    โรงเรียนมัธยมศึกษาอนงค์  และ โรงเรียนราชบูรณะ

ไล่ได้ประโยคมัธยมแผนกวิทยาบริบูรณ์ที่โรงเรียนนี้เมื่อ ๒๔๕๒

ศึกษาวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย  กระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

อุปสมบท ณ วัดประยูรวงศาวาศ  ธนบุรี


เริ่มรับราชการในตำแหน่งสัสดีอำเภอบุบผาราม  สังกัดกระทรวงกลาโหม  รับพระราชทานเงินเดือน ๒๐ บาท

ต่อมาย้ายไปกรมพระนครบาล

ตำแหน่งสุดท้ายคือจ่าจังหวัดสมุทรปราการ  รับพระราชทานเงินเดือน ๘๐ บาท

สอบเป็นนายอำเภอได้คะแนนเยี่ยม  แต่ป่วยจึงลาออก

อีกสามเดือนต่อมา รับราชการที่กรมบัญชีกลาง  รับราชการมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นหัวหน้ากองเงินเดือน

และบำเน็จบำนาญ   รับพระราชทานเงินเดือน ๓๕๐ บาท


สมรสกับเยื้อน  หุตะโชค  ธิดาของ นาย ฮวด และนางยิ้ม  หุตะโชค     มีบุตรธิดา ๕ คน  คือ

ประหยัดศรี

นางประยงคุ์ศรี  อุณหธูป   สมรสกับ ประมูล  อุณหธูป

นายประพันธุ์ศรี

นางสาว ประภาศรี

นางประอรศรี อุณหธูป  สมรสกับ นายปรีดา  อุณหธูป
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 15:23


       หลังจากลาออกจากราชการแล้ว  ขุนวิจิตรและภรรยา ได้ช่วยกันประกอบการค้่า  การประมง

พำนักอยู่ที่บ้านไร่ ชายทะเลบางละมุง


ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗  พฤษภาคม  ๒๔๙๓  อายุ ๕๖ ปี ๖ เดือน  ๖ วัน


พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดประยูรวงศาวาส  ธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๗
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 พ.ย. 10, 15:29



หนังสืออนุสรณ์ทั้งสองเล่ม  ยืมมาจากสหายที่เคารพนับถือ ที่ถนนพัฒนาการ

คนที่รักการอ่านนั้น   ขอให้ได้อ่านถือเป็นความพอใจสูงสุด

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง