เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 11542 ศุภร บุนนาค และ สมบัติกวี ชุด "ขุนช้างขุนแผน"
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 14 พ.ย. 10, 05:47


       จากหนังสือ ที่ระลึก   ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เมื่อวันที่ ๑๕  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๑๘



ชอุ่ม  ปัญจพรรค์ - แย้มงาม   เขียนถึง


กรคนสวย

       ฉันเป็นเด็กภูธรเข้ามาเรียนหนังสือกรุงเทพฯ      และเป็นเพื่อนเธอเมื่อสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา

แห่งจุฬาลวกรณมหาวิทยาลัยรุ่นแรก         เธอสวยจังเลย   สูงสง่า   ผิวอ่อนละเอียดสีนวลแตงร่มใบ

ใบหน้ารูปไข่   คางแฉล้ม       คิ้วเป็นปื้น        ผมของเธอก็ดำขลับ   มีชาร์มเก๋ด้วย       แขนเธอก็สวย

จริง ๆ         นัยน์ตาใสกระจ่างบอกความฉลาดชัด      จมูกโด่ง      ปากรูปแปลกอ่อนอิ่ม    แต่จัดจ้าน

เมื่อโต้แย้งกันกับเพื่อน ๆ หรือกับอาจารย์ที่ตัวไม่พอใจ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 พ.ย. 10, 05:58


ธิดาคนเดียว  คุณหญิง ดร.สุริยา  รัตนกุล   เล่าประวัติคุณแม่


       คุณแม่เป็นบุตรี ศาสตรจารย์พระวรเวทย์พิสิฐ  และนางวรเวทย์พิสิฐ​(ผึ่ง   ศิวะศริยานนท์)


เกิดเมือวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔

พี่น้องร่วมบิดามารดา ๓ คน คือ

๑.   ดร.วิทย์   ศิวะศริยานนท์

๒.  นายแพทย์ ประเสริฐ   ศิวะศริยานนท์

๓.  นางศุภร   บุนนาค

๔.  อาจารย์ชุมศรี   ศิวะศริยานนท์


       คุณแม่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม  ๒๕๑๗  รวมอายุได้ ๕๓ ปีบริบูรณ์

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 พ.ย. 10, 06:26



       ในสมัยนั้นครอบครัวเราตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลวังบูรพาภิรมย์  ใกล้ศาลาเฉลิมกรุง

เมื่อคุณแม่แรกเกิดศาลาเฉลิมกรุงยังไม่ได้สร้าง


ชอุ่ม  ปัญจพรรค์:   ฉันกับอาจินต์น้องชาย   เดินไปเที่ยวบ้านเก่าของเธอที่บ้านหม้อ

ก่อนไฟไหม้  ก่อนน้ำท่วม        บ้านเธอมีพุทราหวานอยู่ด้วย  ที่ทะลุนอกชานออกลูกดกและหวานจริง ๆ 



       ครอบครัวทางฝ่ายคุณยายมีอาชีพเป็นช่างทอง  สืบฝีมือมาจากเจ้าตาคง เชื้อสาย

พระราชวงศ์เวียงจันทน์ และเคยรับราขการอยู่ในกรมช่างสิบหมู่       คุณแม่เล่าว่าในสมัย

ที่มีงานทำเต็มมือเช่นได้รับงานเครื่องโขนละครของหลวง   ฐานะครอบครัวของเราสบายมากทีเดียว

มีการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน   มีการสังเวยครูช่างทอง       ถือกันว่าครูเตาลงยาไม่ใช้หัวหมู  จะมีแต่ไก่ต้ม 

ปลาช่อนต้ม   กล้วยอ้อยน้ำมะพร้าว  เพราะเทพยดาซึ่งเป็นเจ้าแห่งศิลปการลงยา เป็นเทวดาแขก

เรื่องนี้ฟังดูก็สมเหตุผลเพราะชาติที่ขึ้นชื่อทางศิลปกรรมการลงยาก็เป็นชาติที่ไทยเราเรียกว่าแขกทั้งสิ้น เช่น

อิหร่าน  อินเดียเป็นต้น

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 พ.ย. 10, 10:20


       เมื่อคุณแม่(คุณศุภร) เกิดมาเป็นหลานผู้หญิงคนเดียวที่อยู่รอด   พวกญาติจึงทำขวัญ

กันเป็นพิเศษด้วยงานฝีมือแบบมิเนเจอร์  คือเครื่องเล่นเงินสลักลงยาทั้งชุด   แสดงออกถึงความทนุถนอม

ของปู่ย่า ตายาย    เป็นสำรับข้าวคาวหวาน  กาน้ำ  ขันน้ำ  พานรอง  คันฉ่อง  ตลับเล็กตลับน้อยย่อส่วน

คุณศุภรรักของเล่นชุดนี้มากเพราะบางชิ้นเป็นฝีมือคุณชวด



        ครูภาษาไทยคนแรกคือคุณยาย อิ่ม  คงสถิตย์  คุณยายของคุณศุภรเอง          คุณยายอิ่มรู้ภาษาไทย

อย่างดีเยี่ยม  สมัยที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  ท่านเป็นครูผู้หญิงสอนหนังสือชาววัง     ใช้ตำรามูลบทบรรพกิจ


        ในเวลานั้นเป็นระยะกลางรัชกาลที่ ๖         เป็นวันเวลาของความสุขที่คุณศุภรฝังใจมาก   

สถานการณ์บ้านเมืองทั่วโลกสงบสุข  เมืองไทยก็เป็นระยะรุ่งเรือง         คุณหลวงวรเวทย์พืสิฐเป็นข้าราชการ

กระทรวงธรรมการ  สนใจในด้านภาษาและวรรณคดีไทย   นับว่าต้องพระราชนิยมเป็นที่ยิ่ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 พ.ย. 10, 13:29


       คุณหลวงวรเวทย์พิสิฐได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ร่วมโต๊ะเสวย  และวิพากย์วิจารณ์

งานพระราชนิพนธ์และงานของผู้รักวรรณศิลป์คนอื่น ๆ        ในเวลาที่รับสั่งเรื่องงาน

ประพันธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖  ไม่ทรงถือเรื่องอิสสริยยศ  และวางพระองค์เป็นนักประพันธ์

คนหนึ่งเท่านั้น        ท่านชื่นชมโสมนัสในเรื่องนี้อย่างยิ่ง    และนำเรื่องพระราชจริยาวัตรมาเล่าสู่กันฟัง

ในครอบครัว


       คุณหลวงมีหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกของเพื่อนนักประพันธ์เช่น เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป   ของ

กรมหมื่นพฤฒยลาภพฤติยากร  ของน.ม.ส.   และแม้นแต่หนังสือพระราชนิพนธ์เก็บไว้เป็นจำนวนมาก

หนังสือพวกนี้มีพระปรมาภิไธย  พระนามและลายเซ็นของผู้ให้กำกับไว้ด้วย      ท่านเก็บหนังสือพวกนี้

ไว้ในตู้ลายทองตั้งอยู่ที่หอนั่ง      เป็นของรักอย่างยิ่ง       


       คุณหญิง ดร.สุริยา เล่าไว้ว่า  คุณแม่ได้ลูบคลำหนังสือเหล่านี้มาแต่เด็ก   เป็นแรงบันดาลใจที่จะเขียน

หนังสือบ้างก็คงเกิดกับคุณแม่ตั้งแต่เด็กนี้เอง       ภายหลังใน พ.ศ.​๒๔๘๗  บ้านเก่าของเราที่วังบูรพาต้องภัยพิบัติ

ของสงครามโลกครั้งที่ ๒           หนังสือตู้ทองนั้นก็ถูกระเบิดกระจัดกระจายทำลายไปเกือบทั้งหมด    ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้า

ยังเด็กและต้องระเหเร่ร่อน   ย้ายไปอยู่บ้านนั้นบ้างบ้านนี้บ้าง          ข้าพเจ้าจำได้ดีว่า  คุณแม่มีตะกร้่าหวายใบใหญ่อยู่

สองใบ   ใส่หนังสือผุขาดกะรุ่งกะริ่ง  เปื้อนโคลน  ซึ่งคุณแม่หอบติดตัวไปด้วยเสมอ   ไม่เคยยอมทิ้งเลย    เมื่อถามคุณแม่

ก็ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า "หนังสือตู้ทองของคุณตา"         เมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้น      ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าหนังสือเหล่านั้นเป็น

ตัวแทนของยุคทองในชีวิตคุณตา       คุณแม่จึงรักและผูกพันอย่างยิ่ง      และได้ทราบลักษณะนิสัยนักต่อสู้ไม่ยอมแพ้โชค

ชะตาชีวิตของคุณแม่ว่า   ท่านตั้งปณิธานไว้ว่าจะเพียรเช็ดโคลนออกจากหนังสือเหล่านั้นทีละหน้าและเย็บปกหนังเดินทองใหม่ 

ใส่ตู้ทองไว้ในเรือนไทยในสภาพเดิม  ซึ่งท่านก็ทำสำเร็จ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 07:09

จดหมายถึง "กร"

ชอ่ม ปัญจพรรค์


       ฉันกับน้องชิบอ่านหนังสืออ่านเล่นมากทุกคน   แต่คุณป้าฉันห้ามอ่าน  เพราะกลัวใจจะแตก

แต่บ้านเธอมีตู้หนังสือตั้งกลางบ้านเต็มบ้าน  และเธอมีหนังสือไม้เมืองเดิมแต่งครบชุดเลย  ฉันขอยม

ไปอ่านที่บ้านหลายเล่ม  เธอหยิบให้ยืมง่าย ๆ ไม่หวงของเลย


       ฉันยังจำได้เธออุตส่าห์เอาผ้าพันคอสีเหลืองเนื้อหนาของเธอมาห่อผูกเงื่อนตายให้อาจินต์ถือหิ้วกลับบ้าน

ฉันรู้ดีเธองามทั้งรูปร่างและน้ำใจ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 07:43


       ธิดาคนเดียวเล่าไว้


       คุณแม่เข้ารับการศึกษาอย่างจริงจังเมื่ออายุ ๘ ขวบ      โรงเรียนแรกที่เข้าคือโรงเรียนเสาวภา

อยู่ไม่นานแล้วย้ายไปโรงเรียนสตรีวิทยา      ต่อจากสตรีวิทยาคุณตาให้คุณแม่ไปอยู่โรงเรียนวัฒนาเพราะตอนนั้นคุณยายเสียแล่ว

คุณตามีความประสงค์จะให้คุณแม่เรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัย   คุณตาเป็นอาจารย์รุ่นแรกเมื่อเริ่มตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

และเล็งเห็นคุณค่าของการศึกษา   คุณแม่ไปอยู่วัฒนาปีเดียวคุณตาก็พาย้ายเพราะโรงเรียนอยู่ไกลเกินไป         เวลาไปรับคุณแม่

เสาร์ทีอาทิตย์ทีต้องนั่งรถม้า


       คุณแม่มาเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ที่โรงเรียนราชินี ถนนมหาราช      ท่านเรียนเก่งภาษาต่างประเทศและชอบแต่งโคลงฉันท์

กาพย์กลอน   เคยแต่งกาพย์เห่เรือขมพานกาชาด   โดยเลียนแบบกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร  ตั้งแต่เมื่อท่านอายุ ๑๕

แต่งดีจนท่านอาจารย์ (ม.จ.หญิง อัจฉราฉวี  เทวกุล) รับสั่งถามว่า  "นี่ให้คุณพ่อช่วยแต่งหรือเปล่าแม่กร(เพื่อนนักเรียนชอบเรียกคุณแม่ว่า กร

ทำให้คนูบาอาจารย์พลอยเรียกไปด้วย)     ซึ่งคุณแม่ก็กล้าทูลตอบอย่างที่เด็กสมัยนั้นไม่กล้าทูลตอบผู้ใหญ่ว่า "ถ้าคุณพ่อแต่งต้องดีกว่านั้น"

เป็นเหตุให้ท่านอาจารย์ทรงจำชื่อคุณแม่ไปได้อีกนาน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 11:30



       คุณแม่เข้าเป็นนักเรียนเตรียมรุ่นที่ ๑   ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา    อาจารย์ปกครองที่ท่าน

รักมากคืออาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ  ผู้พาท่านไปหัดรำละครที่วังบ้านหม้อ   จนกระทั่งท่าน

สามารถรำเป็นนางนารายณ์ได้ในฉาก "นารายณ์ปราบนนทุกข์"   ซึ่งเป็นงานโรงเรียนที่นับว่าซู่ซ่ามาก

คุณแม่อยู่ในมหาวิทยาลัยระหว่าง ๒๔๘๓ - ๒๔๘๗   สนใจร่วมในงานกิจกรรมอย่างมาก   ท่านเลือกวิชาวรรณคดีอังกฤษ

กับประวัติศาสตร์        ข้าพเจ้าถามคุณแม่ว่าทำไมท่านไม่เลือกวิชาเรียนวิชาภาษาไทย เพราะเห็นว่าคุณแม่สนใจภาษา

และวรรณคดีไทยอย่างยิ่ง  และเก่งโคลงฉัณท์กาพย์กลอนชนิดที่สามารถบอกสักวากลอนสดได้       ท่านบอกว่าเลือกเรียนไม่ได้หรอก

เพราะคุณตาเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาภาษาไทยอยู่ในเวลานั้น     ถ้าขืนเรียนถ้าจะทำคะแนนได้ดีอย่างไร    คุณตาก็ไม่ให้เกิน

๖๕ % เพราะเกรงข้อครหา





       คุณดำรง  บุนนาค    สามีของคุณศุภร  เล่า เรื่องการพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์

       ข้าพเจ้ารู้จักศุภรมิใช่แต่เมื่อเริ่มรักกันเมื่อเป็นหนุ่มเป็นสาว        ข้าพเจ้าเห็นเธอครั้งแรกเมื่อเธออายุ ๖ ขวบ

ข้าพเจ้า ๘ ขวบ        แม่เธอเสียเมื่อเธอ ๙ ขวบ       ส่วนแม่ของข้าพเจ้าเสียเมื่อข้าพเจ้าอายุ ๑๘​ ปี

วันที่ ๕ มิถุนายน  ๒๔๘๗  วันที่กรุงเทพฯ ถูกบอมบ์ครั้งแรกอย่างหนักในตอนกลางวัน       บ้านเธอถูกระเบิดยับไปทั้งหลัง       

ข้าพเจ้าพร้อมคุณกุศบุนนาค  และตุณตรึก  บุนนาค   ได้ไปฉุดเธอ  น้องสาว และน้ารวมสามชีวิตขึ้นมาจากกองทราก

เสาไม้ของตัวเรือนที่พังทับลงไป   เธอช่างมีสติดีและไม่มีการร้องห่มร้องไห้เลย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 11:52



       คุณแม่เรียนจบอักษรศาสตร์บัณฑิตเมื่อ ๒๔๘๗  และแต่งงานกับคุณพ่อในปีนั้นเอง

แล้วติดตามคุณพ่อผู้เป็นวิศวกรเหมืองแร่ไประหกระเหินตามที่ต่าง ๆ       ที่ที่ไปอยู่นานที่สุดคือ

เหมืองที่หนองเป็ด  อำเภอร่อนพิบูลย์  จังหวัดนครศรีธรรมราช          เวลาคุณพ่อไปตรวจงานตอนกลางคืน

ทิ้งคุณแม่อยู่บ้านคนเดียวกับปืนสองกระบอกและข้าพ้จ้าซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเบาะ     ไฟฟ้าก็ไม่มี

มีแต่ตะเกียงลานส่งเสียงออด ๆ   คุณแม่ก็อยู่ได้   ไม่มีความหวาดกลัวอะไร



คุณดำรงเล่า

       ข้าพเจ้าพาเธอไปตกระกำลำบาก   เธอก็อยู่ได้โดยไม่สทกสะท้าน         เมื่อใกล้วันดีเดย์(วันเตรียมรับมือกับกองทัพญี่ปุ่น ปี ๘๘)

เธอก็เตรียมพร้อมที่จะอพยพ  ถือกระเป๋าคนละใบขึ้นเขาไปอยู่กับกงสีของเถ้าแก่อึ้งค่ายท่าย  เธอประดิษฐ์ถุงย่ามที่จะให้ข้าพเจ้าแบกลูกสาว

อายุ ๔ เดือนสะพายหลังไปด้วย

       เธอเป็นคนช่างเก็บช่างงำถนอมกินถนอมใช้         ข้าวของทุกชิ้นที่ข้าพเจ้าหาได้เอง  ไม่ว่าจะมีราคาค่างวดอย่างใดก็ตาม

เธอก็ถนอมใช้และเมื่อเลิกใช้เธอก็เก็บงำเป็นอย่างดีโดยไม่ทิ้งขว้าง            จดหมายของข้าพเจ้าทุกฉบับที่เขียนถึงเธอ

เธอก็รวบรวมไว้อย่างเรียบร้อย          เสื้อผ้าชุดแรกที่ตัดให้ลูกใส่       เธอก็ยังรวบรวมเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย




ธิดาคนเดียวเล่า

       เมื่อเลิกสงคราม  บริษัทแร่และยางไทยเลิกกิจการ   คุณพ่อจึงพาคุณแม่กลับเข้ากรุงเทพ

คุณพ่อเข้าทำงานที่โรงงานยาสูบ   คุณแม่เข้าทำงานธนาคารศรีนครจำกัด

บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 14:51

ดีใจจริง ๆ ที่คุณวันดีเอาเรื่องของท่านผู้นี้มาเล่าสู่กันฟัง
ดิฉันได้อ่านหนังสือของท่านเรื่อง "ฟ้าใหม่" และอีกเรื่อง จำชื่อไม่ได้
 
แต่ที่อยากอ่านมาก และหาไม่ได้เลยคือ "สมบัติกวี" ค่ะ
มีคนบอกว่า หากหาหนังสือนี้ได้ ต้องรักษาไว้อย่างดี เพราะหาไม่ได้อีกแล้ว

ดิฉันดีใจและหายเหงาไปเยอะที่รู้ว่าคุณวันดีก็อ่านหนังสือของท่านผู้นี้ด้วย
เพราะหนังสือของท่าน คนรอบตัวดิฉันเขาเมินกันหมด จึงไม่รู้จะไปคุยกับใครได้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 15:25


       ประวัติคุณศุภรเกือบจบแล้วค่ะ   เคยอ่านรสลินและไม่ได้อ่านอีกเลย(อิอิ  ขออย่าเอ่ยจำนวนปีเลยนะคะ)

สมบัติกวีที่มีในมือคืออิเหนา     ที่ยืมสหายมาคือขุนช้างขุนแผน  ที่อยากชวนทุกคนมาคุยกัน

จะเห็นต่างกันก็ไม่แปลกอะไร  เพราะเราเคารพความคิดของทุกคน 


     ดิฉันเคยรับใช้ท่านผู้ปกครองไปที่เรือนไทยที่ลาดพร้าวหนหนึ่ง   ดิฉันไม่แตกตื่นอะไรเลยเมื่อเห็น

เรือนไทยของรสลินที่มีผ้าม่านเป็นลูกไม้โปร่งสีแดง  และตู้มุกด์(เฉพาะชิ้นนี้ดูจากรูป)

       ส่วนหมูหวานที่เคี่ยวจนน้ำมันใสแจ๋วนั้น    เคยได้รับแจกอยู่ค่ะ
       
       เมื่ออ่านรสลินใหม่ ๆ  ดิฉันพยายามท่องจำลิลิตพระลอ  ทั้งๆที่ห่างไกลความเข้าใจเหลือเกิน


ท่านผู้ใหญ่ของเราอีกคนที่ตีวรรณคดีน่าฟังมาก  สำหรับดิฉันนะคะ ในฐานะนักอ่าน  คือ พลเรือตรี สมภพ  ภิรมย์ค่ะ

อ่านแล้วก็ยังคิดว่าทำไมเราถึงอ่านตกไปได้หนอ  อาจจะเป็นเพราะเด็กมากเมื่อเริ่มอ่าน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 พ.ย. 10, 04:28




       คุณศุภรเริ่มงานเขียนครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕  โดยเขียนเรื่องสั้นสองเรื่องไปลงในหนังสือโฆษณาสาร 

ที่คุณชอุ่ม  ปัญจพรรค์เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ คือเรื่อง "ผ้าไหมผืนใหม่" และเรื่อง "วลัยมรกต"      ตอนนั้นท่านยังไม่ได้

ใช้พิมพ์ดีด   ท่านชอบนั่งกับพื้นเขียนบนตั่งเล็ก ๆ ที่ทำด้วยไม้มะเกลือฝังมุก  ซึ่งเป็นเครื่องเรือนชิ้นเดียวที่เหลือรอดจากภัยระเบิดมาได้


       คุณหญิง ดร.สุริยาเล่าไว้อย่างน่าฟัง  ว่าคุณศุภรมีแมวตัวโปรดชื่อเจ้าม่ำเคล้าเคลียอยู่ด้วย

คุณแม่เป็นคนมีนิสัยเด็ดเดี่ยว  พูดจริง  ทำจริง   ใครๆจึงมักคิดว่าท่านใจแข็ง  แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทราบดีว่า 

ท่านใจอ่อนเป็นนำ้ทีเดียวกับสัตว์เล็กๆที่ช่วยตัวเองไม่ได้   นิสัยรักสัตว์ของท่านทำให้ท่านเขียนเรื่องสั้นหลายต่อหลายเรื่อง

ที่มีสัตว์เป็นตัวละครเอก  มีวัตถุประสงค์เพื่อขอร้องไม่ให้คนทารุณสัตว์

       คุณหญิงชี้แจงว่า คุณศุภรไม่เคยนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงไปเป็นเค้าโครงนวนิยายที่ท่านแต่งเลย  แต่ท่านใช้

บรรยากาศที่ท่านคุ้นเคย เช่นบ้านโบราณที่มีต้นพุทรา   บ้านผู้จัดการเหมืองฝรั่ง เป็นต้น


รายชื่อหนังสือ และปีที่พิมพ์รวมเล่ม

ปาริชาติลวง                ๒๔๙๗
รสลิน                        ๒๕๐๒  และ  ๒๕๐๖
สมบัติกวี  สารคดี          ๒๕๐๓ และ ๒๕๑๖
แม้ความตายมาพราก      ๒๕๐๙
ลมเย็น  รวมเรื่องสั้น       ๒๕๐๙
คนซื้อฝัน                    ๒๕๐๙
รถเมล์สายพระพุทธบาท   ๒๕๑๐
ฟ้าใหม่                      ๒๕๑๐
สวรรค์ขุมไหน              ๒๕๑๐       รวมเรื่องสั้น
ที่รัก                         ๒๕๑๐       รวมเรื่องสั้น
แผ่นดินยังกว้าง            ๒๕๑๑
เกลียวทอง                  ๒๕๑๒
รอบตะเกียงลาน            ๒๕๑๒
ไม้ร่วมกอ                   ๒๕๑๓
บุญเพรงหากพระสรรค์     ๒๕๑๕
ขอบฟ้าหรือจะกั้น           ๒๕๑๖
ผืนผไทนี้ลำ้  แหล่งคุณ     ๒๕๑๖
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 พ.ย. 10, 05:06



คุณศุภรป่วยเป็นโรคไตและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช


ข้อเขียนทั้งหมดที่ยกมานี้ก็มาจากหนังสืออนุสรณ์ 

กราบขออภัยต่อคุณหญิง ดร.สุริยา   ที่ได้คัดลอกความ  หากขาดตกบกพร่องประการใด

ดิฉันเป็นนักอ่านที่ได้อ่านรสลิน  เมื่อพุทรากะลักกะตาร่วง  ดิฉันก็นั่งอยู่ที่นั่น

เมื่อคุณยายทำบุญบ้าน  ดิฉันก็รวมอยู่ในกลุ่มทโมน

คุณศุภรเป็นนักเขียนยอดนิยมของดิฉัน       ความรักวรรณคดีไทยของเธอก็กระเซ็นมาจับใจดิฉัน

หนังสือของท่านเป็นหนังสือหายากมาก

หนังสือสมบัติกวี ชุดขุนช้างขุนแผน  ดิฉันเคยอ่านนานมากมาแล้ว   ไม่เคยมีโอกาสเก็บเป็นสมบัติ

เมื่อได้งัดมหาสมบัติออกมาจากกรุของสหายนักสะสมที่ไม่ยอมแลกเปลี่ยนหนังสือกับหนังสือเล่มอื่น ๆ หรือเงินทอง

ดิฉันอ่านอย่างกระหาย      เก็บความรู้ที่คุณศุภรมอบให้  ประหลาดใจในความลุ่มลึกของเรื่อง

เพื่อนรุ่นเยาว์ของดิฉันคนหนึ่งเมื่ออ่านกระทู้นี้  พูดว่า   ลูกสาวพระวรเวทย์พิสิฐหรือนี่


       การได้อ่านเรื่องที่อยากอ่านมานานอีกที   เป็นความสุขอย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 พ.ย. 10, 10:56


ตามอ่าน ขุนช้างขุนแผน  ที่คุณศุภร  เล่าไว้ ๖๘๘ หน้า

ท่านบอกว่า


       เรื่องขุนช้างขุนแผน  ตามความเห็นของข้าพเจ้านั้น   ความดีเด่นเป็นที่สุดอยู่ตรงว่า  เป็นชีวิตสามัญ

ของคนไทยแท้ ๆ  ไม่ใช่เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ     เป็นเรื่องสนุกนัก  และเป็นของไทยแท้   ตัวนางเอก  พระเอก  ผู้ร้าย  ฉากบ้านช่อง  และป่าสวน

อ่านแล้วซึมซาบ   พลอยโกรธ พลอยสงสารไปด้วย         เรื่องนี้มีลักษณะพิเศษคือเป็นตัวแทนของชีวิตไทยแท้       ฉบับที่

เราอ่านกันอยู่นี้  เป็นฉบับที่ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์จากเค้าเรื่องและตัวบุคคลที่สืบมาจากครั้งกรุงเก่า


เริ่มจากบิดามารดาของขุนแผน  ขุนไกรพลพ่ายกับนางทองประศรี


            คุณสมบัติของบิดาของขุนแผน

       อาจองคงกระพันชาตรี                    เข้าที่ไหนไม่มีที่จะถอย

รบศึกศัตรูอยู่กับรอย                             ถึงมากน้อยเท่าไรไม่หนีมา


คุณศุภรอธิบายว่า  "อยู่กับรอย"  เป็นคำพิ้น ๆ  ไม่เป็นศัพท์แสงที่ต้องแปล    เมื่อเอามาใช้ถูกที่

ก็ทำให้เตือนใจถึงความทรหดอดทนของคนที่เป็นปู่ย่าตายาย         จุดเด่นเหล่านี้มีอยู่ตลอดในเรื่องของขุนช้างขุนแผน

คนไทยเวลารบนั้นเขารบกันอย่างนี้  เวลารบนั้นไม่ให้ถอนรอย  นอกจากจะรุกไปข้างหน้า

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 พ.ย. 10, 11:15



       ดิฉันมาเล่าประวัติของคุณ คุณ​ศุภร  บุนนาค  และบังอาจจะยกบางตอนใน ขุนช้างขุนแผน

ที่ดิฉันชอบ  เห็นว่าแปลกและให้ความรู้อย่างยวดยิ่ง      เพื่อแนะนำว่าหนังสือดีที่น่าอ่านเล่มหนึ่ง

พลาดไปก็จะคุยกับวงการลำบากหน่อย

หนังสือที่ออกมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐  ในความเข้าใจของนักอ่านหนังสือเก่า  ถือว่าไม่ใช่หนังสือเก่าทีเดียว

หนังสืออายุ ๑๐๐ ปี  ก็ไม่ใช่จะเป็นหนังสือมีค่าเสมอไป



ขอเชิญนักอ่านที่แวะมาสนทนาได้ตามชอบ     



        นับตั้งแต่บัดนี้ไปถึงสิ้นปี    ชมรมนักอ่านหนังสือเก่าจะมีการพบปะกันบ่อยครั้ง

แทบทุกอาทิตย์          ดิฉันได้ติดอาวุธให้ตนเองแล้วด้วย  สมบัติกวี เรื่องขุนช้างขุนแผน

   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 20 คำสั่ง