เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7777 คนตาพิการในงานวรรณกรรมบันเทิงคดีไทย
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 05 พ.ย. 10, 14:44

   เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพ  ตลอดจนท่านสมาชิกผู้ทรงภูมิวิทยา และทรงเกียรติ (กว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายท่าน) แห่งเรือนไทยทุกๆท่านครับ

   ผมเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมชายคาเรือนได้มินานก็จริง หาก ก็ปลาบปลื้มดื่มด่ำกำซาบซึ้งในความกรุณาของทุกท่านครับ ในที่สุด เทคโนโลยีก็ทำให้พวกเราคนจักขุทวารปิด ได้มีโอกาสสื่อสารกับทุกท่านได้โดยไร้ปราการกั้น แหละนับวันๆ โลกของพวกเราก็กว้างขึ้น กว้างขึ้น ทำให้คำพูดเชิงอุดมคติอันเลอเลิศทำนอง “เราไม่ต่างกัน” ใกล้ความจริงเข้ามาทุกทีครับ

   อารัมภบทคล้ายลิเกอ้อนผู้ชมเสียหนึ่งย่อหน้า ก่อนจะค่อยๆคล้อยเคลื่อนเข้าสู่ประเด็นครับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ ผมมีโอกาสฟังนวนิยาย “พระอาทิตย์คืนแรม” ของอาจารย์ชไมพร แสงกระจ่าง ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วก็อัศจรรย์ใจเหลือล้น พวกเราหลายๆคนรู้สึกไม่แผกกันครับ ต่างตื่นเต้นที่ผู้เขียนค้นคว้าข้อมูลอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง แม่นยำ บางคนถึงขนาดออกปาก “เหมือนคนเขียนเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคนตาบอดเลย” จนบัดนี้ ผมก็ยังถือว่า นายกรรณ ทรัพย์มั่งคั่ง ตัวละครเอกของเรื่อง อยู่ในวงการพวกเรา ทุกครั้งที่ฟังชีวิตของเขา ผมจะบอกตัวเองว่า “ภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนตาบอด” ครับ

   แต่ ในความรู้สึกปรีดิ์เปรมเอมอิ่มกับพระอาทิตย์คืนแรมนั่นเอง ปรัศนีหนึ่งก็ผุดขึ้นครับ มันผุด เพื่อแสวงหาคำตอบ ทว่าก็ยังมิอาจรวบรวมคำตอบได้ครบถ้วนเสียที ปรัศนีนั้นคือ

ในวรรณกรรมบันเทิงคดีซึ่งประพนธ์โดยประพันธกรไทย เรื่องใดบ้างครับที่มีตัวละครเป็น “คนตาบอด” ไม่ว่าจะบอดชั่วคราว หรือบอดถาวรก็ตาม ชีวิตของพวกเขา หรือ พวกเธอ ดำเนินไปในรูปแบบไหน (ตรงนี้ ขอเพียงสังเขปก็พอครับ) แหละ จากการอ่านของท่าน ท่านคิดว่า ผู้เขียนมีทัศนคติต่อ “คนตาบอด” อย่างไรครับ

จุดประสงค์ของคำถามก็เพื่อ รวบรวมวรรณกรรมบันเทิงคดีที่มี “คนตาบอด” เป็นส่วนร่วมของเรื่อง คำตอบจากความการุณย์ของทุกๆท่าน จะเป็นประทีปนำทางให้ผมค้นคว้าหาวรรณกรรมเหล่านั้นมาอ่านในอนาคต สำหรับศึกษา เรียนรู้มุมมองที่สังคมไทยมีต่อ “คนตาบอด” โดยสะท้อนผ่านทางวรรณกรรมครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 พ.ย. 10, 15:07

ก่อนจะได้รับคำตอบจากเมตตาจิตของทุกท่าน มีครุโทษอุกฉกรรจ์ที่ผมต้องแก้ไขโดยด่วนเสียแล้วครับ เมื่อพิมพ์ชื่ออาจารย์ชมัยพร แสงกระจ่างนั้น เหตุที่พิมพ์เป็น “ชไม” เพราะคุ้นเคยกับคำนี้ อันมีความหมายว่า ทั้งคู่ แล้วเลยอนุมานว่า ชไมพร คือ พรของทั้งคู่ แต่ครั้นเข้าเว็บไซต์ google พิมพ์ “พระอาทิตย์คืนแรม” ในช่องค้นหา ผลลัพธ์แสดงชื่อผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ว่า “ชมัยพร” ตรวจสอบแล้วตรงกันเป็นอันมาก สรุป ผมผิดมหันต์ แหละสะเพร่าอย่างร้ายกาจครับ จึงเข้ามาเพื่อกราบขอขมาท่านอาจารย์ชมัยพร แสงกระจ่าง และท่านผู้อ่านทุกท่านในที่นี้ครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 พ.ย. 10, 16:20

ถ้าคุณชูพงษ์ (สะกดในพากษ์ไทยอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ) ไม่กล่าวอารัมภบทว่าเป็นคนตาบอด ก็จะไม่ทราบเลยจริงๆ เพราะคุณสามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องกว่าคนตาดีหลายล้านคนในยุคปัจจุบัน ที่ผมคิดว่าเขาคงจะละอายหรือกระดากใจที่จะใช้ภาษาไทยแท้ๆ จึงต้องแทรกภาษาต่างชาติ และมีภาษาวิบัติตามยุคสมัยแทรกเข้ามาด้วย แต่เรื่องของภาษาวิบัติก็เป็นเพียงความนิยมตามยุคสมัยเท่านั้น ก็ไม่ว่ากัน เพราะในสมัยที่ทุกคนเป็นวัยรุ่นก็ได้ใช้ภาษาเหล่านี้กันแทบทุกคน

ผมพิมพ์ตอบคุณนี่ ผมต้องใช้ความระวังมากขึ้นในการพิมพ์และการสะกดคำ เพื่อให้มีคำที่ผิดพลาดออกไปน้อยที่สุด เครื่องแปลภาษาจะได้ไม่ทำให้เสียความหมายที่ต้องการสื่อถึง

ขอเรียนถามคุณชูพงษ์ว่าสำหรับคนตาบอดนั้น ระหว่างหนังสือเสียงกับหนังสืออักษรเบลล์ ความต้องการของเขานั้นเป็นอย่างไร เขาอยากได้หนังสืออ่านประเภทไหนนอกเหนือจากหนังสือเรียน หรือตำราทางวิชาการ

อธิบายยาวๆ นะครับ

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 พ.ย. 10, 17:04

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   สวัสดีครับ คุณลุงไก่
   ผมขอบพระคุณคุณลุงครับ ที่กรุณาสนใจเรื่องราวของพวกเรา คนตาบอด ต้องการทั้งหนังสืออักษรเบรลล์ แหละหนังสือเสียงในปริมาณที่เท่ากันครับ หนังสือเสียงมีข้อดีตรง เข้าถึงสารได้ง่าย เพียงโสตกระทบก็รู้ความแล้ว ทว่า ข้อเสียของมันคือ ผู้ฟังจะไม่มีโอกาสรู้ตัวสะกดของคำ โดยเฉพาะ วิสามัญนาม (แน่หละครับ ในเมื่อหลักเกณฑ์การอ่านมิได้เข้มงวดขนาดนั้น หากกวดขันขนาดต้องอ่านทุกอักขระ คงไม่มีอาสาสมัครท่านใดมาอ่านหนังสือให้พวกเราฟังหรอกครับ) ส่วนประเภทของหนังสือนั้น ต้องเรียนคุณลุงแบบตรงๆครับ “คนตาดีอ่านอะไรได้บ้าง คนตาบอดก็อยากอ่านสิ่งนั้นได้หมด และได้เท่าเทียมกันด้วย” ฉะนั้นแล้ว ความต้องการของพวกเรา ก็ไม่ต่างจากคนสายตาปกติเลยครับ อยากสัมผัสกับหนังสือทุกชนิด ทุกแขนง ไม่มีละเว้นครับ

   ถ้าท่านสมาชิกเรือนไทยท่านใดว่างจากกิจธุระทั้งปวงแล้ว ผมขอเชิญชวนท่านเข้ามาเยี่ยมห้องสมุดเพื่อคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ณ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ดูสักหนนะครับ แล้วท่านจะพบว่า มีหนังสือเยอะแยะไปหมดครับ
 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 09:53

               แว่บเข้ามาพูดถึงนิยายเก่าแก่เกี่ยวกับผู้มองไม่เห็นเท่าที่นึกได้ตอนนี้อย่างสั้นๆ
เพื่อเป็นการไม่สปอยล์เนื้อหา
  
            ราชินีบอด - จินตนิยายของรพีพร ศิลปินแห่งชาติ

            แก้วตาพี่ - ของนิตยา นาฏยะสุนทร เป็นไพรัชนิยายพาฝัน สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ดำเนินเรื่องในไทยและในยุโรป เรื่องนี้พระเอกตาบอด
 
            รักในสายหมอก ของโสภาค สุวรรณ นิยายอิงจิตวิทยา นางเอกมีอาการมองไม่เห็น
เป็นผลจากภาวะจิตใจ ไม่ได้เป็นความพิการทางสายตา

            ชู้ เรื่องสั้นของ จำลักษณ์  พระเอกชายได้รับบาดเจ็บทางตา มีอาการมองไม่เห็นชั่วขณะ

ส่งท้ายเป็นหนัง เรื่องสวรรค์มืด วิกี้ไทยบอกว่า

            ฉายปี ๒๕๐๑ กำกับการแสดงโดยรัตน์ เปสตันยี จากบทประพันธ์ของสุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร)
เพลงประกอบไพเราะ แต่งโดย สมาน กาญจนผลิน เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 ม.ม.
เรื่องแรกของไทย พระเอกตาบอด ครับ

เพลงไพเราะ สวรรค์มืด ขอบคุณ youtube และผู้นำเสนอคลิปเพลง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 09:56

อีกหนึ่งเพลงไพเราะล้ำจากหนังเรื่องสวรรค์มืด เป็นเพลงคู่พระนาง

มนต์รักดวงใจ และ จนจริง ไม่จนรัก

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 11:40

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   สวัสดีครับ คุณ SILA
   เรื่องแก้วตาพี่ ผมเคยฟังบางตอนช่วงที่เป็นละครทางไทยทีวีสีช่องสามเมื่อไม่นานมานี้ครับ โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า ถ้านางเอกจะเป็น “แก้วตา” ให้แก่คนที่หล่อนรักอย่างสมบูรณ์หละก็ พระเอกน่าจะบอดถาวรนะครับ มิใช่หายในภายหลัง คนตาบอดแต่งงาน แหละใช้ชีวิตร่วมกับคนตาดีก็มีให้เห็นอยู่ แต่ เพราะนี่เป็นนวนิยายกระมังครับ ซ้ำประพันธ์ในยุคก่อนซึ่งคนตาบอดยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเท่าปัจจุบัน ฉะนั้น ผู้เขียนอาจเห็นว่า สภาวะ “ตาบอด” เป็นความอปลักษณ์อปภาคย์อย่างหนึ่งอันจะปล่อยให้มีในตัวละครเอกไม่ได้ เขาจึงต้องมองเห็น ผมแสดงความคิดของตนเช่นนี้ ก็เป็นไปโดยอัตตวิสัยครับ หากก่อให้เกิดความขุ่นเคืองแก่ท่าน ผมกราบขอขมาครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 15:50

คุณชูพงษ์พอจะแนะนำโปรแกรมสำหรับแปลงอักษรปกติให้เป็นอักษรเบรลล์ได้บ้างไหมครับ ผมเคยลองใช้โปรแกรม CU WRITER แล้ว พบว่า กฎ กติกา มารยาท มันยากพอสมควร สมองผมไม่สั่งงาน ก็เลยทิ้งไป
ไปลองโปรแกรมของต่างประเทศ ก็ไม่รับอักษรไทยครับ มีอะไรให้ช่วยเหลือบอกได้นะครับ จะช่วยเท่าที่ช่วยได้ครับ และขอชื่อเวปของห้องสมุด สมาคมคนตาบอดด้วยครับ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 20:38

ผมไม่ทราบว่าโปรแกรมที่คุณชูพงษ์ใช้ จะสามารถอ่านตัวหนังสือจาก pdf files ได้หรือไม่ ถ้าได้ ผมมีหนังสือที่อยู่ในรูป pdf files พอสมควร และยินดีจัดส่งให้ในลักษณะแผ่น CD ครับ

สำหรับวรรรกรรมฉันทลักษ์ จากตู้หนังสือของคุณ CrazyHorse คุณชูพงษ์คงจะได้อ่านอย่างจุใจนะครับ

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 พ.ย. 10, 12:01

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   สวัสดีครับ คุณลุงไก่
   โปรแกรมตัวหนึ่งอันทรงประสิทธิภาพ สามารถแปลงไฟล์อักษรปกติเป็นอักษรเบรลล์ได้ ชื่อ braill printerครับ ปกติจะใช้กันเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดเท่านั้น เพราะผู้ใช้จะต้องมีเครื่องพริ้นเตอร์พิเศษสำหรับพริ้นอักษรเบรลล์ ซึ่งราคาสูงมากครับ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณลุงสนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๒๔๖-๓๘๓๕ ต่อ ๓๑๐ ครับ ส่วนต่อไปนี้ คือเว็บไซต์สมาคมเรา ซึ่งจะมีลิงค์เชื่อมโยงไปยังห้องสมุดด้วยครับ

   www.tab.or.th

   คุณลุงครับ ผมขอบพระคุณในความการุณย์ของคุณลุงมากครับ ที่ปรารถนาแบ่งหนังสือให้ผมอ่าน แต่ โปรแกรมสังเคราะห์เสียงที่พวกเราใช้อ่านข้อความแล้วแปลงเป็นเสียงภาษาไทย ยังมิสามารถอ่านไฟล์ภาพ สกุล pdf ได้ครับ ถ้าสมมุติว่าคุณลุงส่งมา แล้วผมเปิดไฟล์ เวลาเลื่อนลูกศรขึ้น ลง ซ้าย ขวา จะได้ยินมันร้องคำเดียวซ้ำๆครับ “blank” ฉะนั้น พวกเราจะพยายามหลีกหนีไฟล์ pdfครับเนื่องเพราะถึงได้มา ก็หาอ่านได้ไม่ เป็นฉันนี้ครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ




 
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 พ.ย. 10, 12:46

ผมฝากข้อความไว้ทางหลังไมค์ครับ คุณชูพงศ์
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 พ.ย. 10, 13:01

ขออภัยครับคุณชูพงศ์ คราวหน้าไม่ทำอีกแล้ว
รบกวนเรื่องตัวอักษรเบรลล์ สำหรับพยัญชนะพิเศษของภาษาไทยหลายๆ ตัว คือไม่มีในตารางอักษร ตัวแรกคือ ไปยาลน้อย อักษรเบรลล์กำหนดจุดอย่างไร
และผมจะดาวน์โหลดฟ้อนต์อักษรเบรลล์ภาษาไทยได้ที่ไหน ตอนนี้ได้มาแต่ฟ้อนต์เบรลล์ภาษาอังกฤษครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 พ.ย. 10, 12:46

เรียนคุณลุงไก่ที่เคารพยิ่งครับ
เรื่องที่คุณลุงกรุณาถามมา ผมกำลังติดต่อสอบถามเพื่อนๆอยู่ครับ ว่ามีเว็บใดให้โหลดข้อมูลเกี่ยวกับอักษรเบรลล์โดยละเอียดบ้าง ได้ความแล้ว จะรีบนำเรียนคุณลุงทราบทันทีครับ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 พ.ย. 10, 09:19

ถามคุณชูพงศ์ว่า ไฟล์เสียง mp3 จะต้องนำไปแปลงเป็นไฟล์ ncc ก่อนถึงจะใช้เป็นหนังสือเสียงได้ใช่ไหมครับ
ผลลองใช้โปรแกรม thai baille translator ที่ download มาจากวิทยาลัยราชสุดา ปรากฎว่าการรับตัวอักษรภาษาไทยยังมีปัญหาอยู่ แต่กับตัวอักษรภาษาอังกฤษใช้ได้ตามปกติ

บันทึกการเข้า
Matoom
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 ก.ย. 12, 11:11

ฝากไว้เผื่อคุณ chupong บังเอิญกลับมาที่นี่ วรรณกรรมในแนวที่กล่าวถึงอีกเรื่องที่น่าอ่านมากๆ คือ ดวงตาที่สาม เขียนโดย แดนอรัญ แสงทอง ครับ ซึ้งปนขัน ในเรื่อง พระเอกตอนวัยรุ่นเคยอ่านเพชรพระอุมาลงแถบบันทึกเสียงให้ห้องสมุด ซึ่งทำให้นางเอกและเพื่อนๆ ฟังแล้วติดกันเกรียวด้วย จนมาพบกันอีกครั้งตอนโต มีการประชดประเทียดวรรณกรรมและค่านิยมสังคมสมัยก่อนแบบเจ็บๆ คันๆ ครับ อ่านไปยิ้มไป คนอ่านมีความสุข เพราะจบแบบ happy ending มีหักมุมแต่ไม่ถึงกับเอวเคล็ด เพราะคนอ่านพอจะคาดเดาได้ และลุ้นอยากให้จบอย่างนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง