เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 42906 บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 15:07

จบตอนแล้วค่ะ...สนุกไหมคะ  ยิงฟันยิ้ม
ถ้ายังไม่หายคิดถึง เข้าไปอ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่เลยค่ะ
http://www.horhook.com/ebook/thai2521/index.htm


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 15:39

เรียนท่านผู้อ่าน ท่านผู้มีเมตตาจิตทุกท่านครับ

   ผมเข้ามาครั้งนี้ เพื่อมาร้องไห้ครับ ฮือ ฮือ ฮือ คิดถึงมานี มานะจังเลย อาวรณ์หาปิติ ชูใจ วีระ เพชร จันทร สมคิด ดวงแก้ว เจ้าแก่ เจ้านิล เจ้าโต ฯลฯ

   ถึงใครจะว่าแบบเรียนชุดนั้นเชย ตกสมัย แต่ผมรักของผม รักเอามากมายครับ ว่าแต่... คนตาบอดจะอ่านได้อย่างไรครับเนี่ย ในเมื่อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ที่คุณ :d :d กรุณาแนะนำ มันไม่สามารถอ่านได้ด้วยโปรแกรมสังเคราะห์เสียงครับ หรือจะกล่าวอีกอย่างก็คือ โปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับอ่านจอภาพเพื่อคนตาบอดยังไม่มีขีดความสามารถจะอ่านไฟล์ภาพออก ขืนแค่นข่มขู่ให้มันอ่าน ไม่ว่าจะเลื่อนลูกศร ขึ้น ลง ซ้าย ขวา มันก็จะร้องออกมาคำเดียวสั้นๆครับ เป็นคำที่ไม่มีใครในพวกเราอยากฟังเลย “blank” พุทโธ่ ตัวหนังสือมีออกพรืด ดันบอกว่าบรรทัดว่าง มิฉะนั้น ถ้าเจออักษรภาพในเว็บ พอเลื่อนลูกศร มันก็จะอ่านออกมาว่า “ขีด” โธ่เอ๋ย!

   พูดถึงเรื่อง การอ่าน กับ คนตาบอด ท่านสมาชิกเรือนไทยท่านใดเคยอ่านหนังสือเสียงบันทึกเทปหรือซีดีให้พวกเราฟังบ้างครับ ที่เรียนถาม เพราะผมจะได้ไปยืมมาฟัง ทำความรู้จักกับท่านก่อนผ่านทางเสียงอย่างไรเล่าครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 16:13

คุณ ชูพงค์ คะอย่าเพิ่งร้องไห้ นะคะ โอ๋ โอ๋ !!!!
ลองเข้าไปดูใน youtube นะคะ มีหลายตอนค่ะ เขาทำเป็นหนังการ์ตูนค่ะ
ที่เอามาฝากชื่อตอน วัดร้างค่ะ พอให้หายคิดถึง มานี มานะ ปิติ ชูใจ เพชร และเพื่อนๆ ไปได้บ้างนะคะ

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 16:15

ร่วมด้วยช่วยกันครับ ตามคุณสองยิ้ม ติดๆด้วยแบบเรียน เลยครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 16:45

เรียนคุณสองยิ้ม  และคุณ siamese ครับ

   สำหรับผม การ์ตูน หรือภาพยนตร์ แม้แต่ละคร สู้หนังสือไม่ได้ครับ เพราะหลากหลายถ้อยคำอันสื่ออารมณ์ หรือสร้างจินตภาพ ใช้จิตทัศน์สนุกกว่าเยอะครับ จะวาดให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามใจเราปรารถนา มิใช่ มันต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างคนสร้างเขาประสงค์ เพราะฉะนั้น บทประพันธ์อันเป็นที่รักของผม ผมจะพยายามไม่ดูในรูปแบบอื่นครับ

   สมัยเรียน ม.๓ ผมรักนวนิยาย “หุบเขากินคน” ของท่านอาจารย์มาลา คำจันทร์ มาก พอมีการทำละครทีวี (ทั้งสองครั้งสองช่องนั่นหละครับ) ทำเอาผมเลือดขึ้นหน้า โมโหสุดขีด ทำไม จะใช้เด็กแสดงจริงๆไม่ได้หรือ ทำไมต้องเปลี่ยนจากเด็ก ป.๖ เป็นวัยรุ่นด้วย แล้วเอาเรื่องรักๆใคร่ๆแบบหนุ่มสาวมาใส่อีก โอ๊ย โกรธ โกรธ โกรธ โกรธยังไม่หายง่ายๆครับผม
 
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 00:13

สวัสดีค่ะคุณชูพงศ์คะ ยินดีอย่างยิ่งที่มีคุณชูพงศ์เข้ามาให้ความรู้ในเรือนไทยค่ะ

ดิฉันเป็นคนรุ่นใกล้เคียงกับหลายท่านที่เคยเรียนภาษาไทยจากหนังสือดรุณศึกษาเช่นกัน

และก็ท่อง บทนี้ขึ้นใจเช่นกัน
อ้างถึง
วิชาเหมือนสินค้า                อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป                 จึงจะได้สินค้ามา

แต่แตกต่างจากทุกท่านที่นี่มาก และ อายคุณชูพงศ์เป็นที่สุดค่ะ  เศร้า ลังเล ลังเล

เพราะดิฉันเขียนภาษาไทยผิดมาก ไม่ได้เรื่องถึงขนาด สอบวิชาเขียนไทยทีไร ไม่เคยได้สักคะแนนเดียว

จนวันนี้ เวลาจะเขียนบางคำ ต้องนึกนะคะว่าสะกดอย่างไรจึงถูก จัดว่าเป็นผู้พิการทางภาษาเขียนค่ะ

แต่ก็แปลกที่รักที่จะอ่านวรรณคดี และ หลงไหลบทกลอนอันไพเราะ ทั้ง ๆ ที่ แต่งเองไม่เป็นเลยอ่ะค่ะ

มาที่นี่ ต้องมาอิงแอบ ขออาศัยอ่านคำกลอนดี ๆ จากคุณชูพงศ์นะคะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 09:24

เรียน คุณ Ruamrudee ที่เคารพยิ่งครับ

   ตัวผมปัญญาแค่กระจ้อยร่อยครับ เข้ามาที่นี่ก็เพื่อจะ “รับความรู้” ต่างหากครับ ที่เขียนไปทั้งหมด เป็นเพียงสิ่งซึ่งตนเองเคยฟังมาเท่านั้น และก็มีวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนเรื่องราวของคนตาบอดตัวเล็กๆคนหนึ่งให้คนตาดีมากมาย ณ เรือนหลังนี้รับรู้ เพื่อพิสูจน์ ยืนยันว่า คนพิการกับคนปกติ แท้แล้ว ยืนอยู่บนผืนดินแผ่นเดียวกัน ฉะนั้น โปรดอย่ากีดกั้นคนพิการ แบ่งแยกพวกเราจากคนร่างกายครบสามสิบสองเลยครับ 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:07

ร่วมรำลึก ย้อนอดีตอาขยาน
                   ตอนเรียนประถม ท่องอาขยานกลอนดอกสร้อย    

เริ่มด้วย

           เด็กเอ๋ยเด็กน้อย                   ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา                  เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน     จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน                   เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย ฯ

ผู้แต่ง ไม่ระบุ

         นอกจากนี้ก็มี  
              
          จิงเอ๋ยจิงโจ้
เล่นโล้ ในลำ สำเภาใหญ่
เพื่อออกแรง ออกกำลัง โดยตั้งใจ
ที่จะให้ เข้มแข็ง และอดทน

     เรานักเรียน ต้องไม่คร้าน การกีฬา
เรื่อง พลศึกษา ต้องฝึกฝน
ให้แข็งแรง ถ้วนทั่ว ทุกตัวคน
เพื่อเป็นคุณ แก่ตน และชาติเอย ฯ

เนื้อหาเป็นแบบฉบับ "ยุคท่านผู้นำ" ผู้แต่งระบุว่าคือ  หลวงวิจิตรวาทการ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:09

ตัดต่อเรื่องราวจิงโจ้จาก เน็ท พจนานุกรมและ บทความของ ส.พลายน้อย

        คำว่า "จิงโจ้" ในภาษาไทย มีความหมายได้แก่

จากพจนานุกรม ราชบัณฑิต

             ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Macropodidae ขาคู่หน้าสั้น  คู่หลังยาว
และแข็งแรง ใช้กระโดดได้ไกล ๆ หางยาวและแข็งแรงใช้เป็นอวัยวะช่วยในการทรงตัว
ตัวเมียออกลูกเป็นตัวไม่มีรกติดออกมา มีถุงที่หน้าท้องสําหรับใส่ลูก มีหลายชนิด เช่น
ชนิด Macropus rufus, M. giganteus มีถิ่นกําเนิดในทวีปออสเตรเลีย

            ชื่อแมลงพวกมวนในวงศ์ Gerridae หรือ Gerrididae ลําตัวลีบและยาว 
โดยทั่วไปยาว ๑-๒ เซนติเมตร มีทั้งพวกที่มีปีกซึ่งอาจสั้นหรือยาวหรือไม่มีปีก ขาคู่หน้าสั้น
ใช้จับสัตว์เล็ก ๆ กิน ขาคู่กลางและคู่หลังยาวกว่าลําตัวมาก ที่ปลายขามีขนละเอียดปกคลุมแน่น
สามารถวิ่งไปตามผิวนํ้าได้ อาศัยตามแหล่งนํ้าต่าง ๆ มีหลายชนิด ที่พบบ่อย ๆ ตามสระมักเป็นพวก
ที่อยู่ในสกุล Limnogonus, จิงโจ้นํ้า ก็เรียก.

          เครื่องป้องกันใบจักรเรือไม่ให้สวะเข้าไปปะกันกระทบ และกันไม่ให้เพลาแกว่ง.
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:11

            เรียกทหารผู้หญิงในวังครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า ทหารจิงโจ้.

อธิบายเพิ่มเติมว่า

          ลักษณะของจิงโจ้ Kangaroo มีกระเป๋าที่ท้อง สำหรับใส่ลูก ฉะนั้นที่ท้องจึงดูใหญ่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเห็นใครแต่งตัวแล้วท้องโต ก็จะทรงเปรียบกับจิงโจ้ เช่น
ในพระราชหัตถเลขา ตรัสเล่าถึงพวกแขก ไว้ตอนหนึ่งว่า
         "ขุนนางลังกา มาคอยรับ แต่งจิงโจ้ท้องโตเต็มที" คือแขกลังกาจะนุ่งผ้าหลายชั้นทำให้ท้องโตออกมา

           ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัดพวกโขลนขึ้นเป็นทหาร แต่งตัวเสื้อแดง
กางเกงแดง เสื้อมีชายยาวถึงเข่า หมวกแก๊ปสูง ในพระราชนิพนธ์ โคลงดั้น เรื่อง โสกันต์ ได้กล่าวถึงทหารจิงโจ้ว่า

      จิงโจ้ยืนเรียบร้อย      ริมถนน

เสื้อจีบชายกระจาย          สุกจ้า

ถือปืนทั่วทุกคน              พล่องแพล่ง
 
นายดาบเดินด้อมถ้า         ถ่องถนน

   ขบวนเดินเป็นระเบียบคล้อย      คลาไป

พิณพาทย์ทุกวงตี                    สนั่นก้อง

จิงโจ้เมื่อถึงใคร                      คำนับ

เสียงจิงโจ้กัดร้อง                    เร่าเร้ารุมระงม

           ทหารหญิงจิงโจ้ จัดตั้งขึ้นใน พระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งเรียกทหารหญิงครั้งนั้นว่า จิงโจ้ และได้เรียกต่อมาอีกนาน
คำสั่งที่ใช้บอกทหาร ก็แปลกกว่าทหารอื่นๆ คือแทนที่จะใช้ว่า วันทิยาวุธ ก็บอกว่า"จิงโจ้กัด" ดังที่กล่าว
ไว้ในโคลงบาทสุดท้ายข้างต้น และแทนที่จะใช้ คำว่า บ่าอาวุธ ก็ใช้ว่า "จิงโจ้หยุด" และแทนที่จะ
บอกว่า เรียบอาวุธ ก็สั่งว่า "จิงโจ้นอน" ดังนี้เป็นต้น
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:15

และความหมายที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม คือ

           เครื่องห้อยเปลให้เด็กดูเล่น ทำด้วยไม้ไผ่จักเข้าใจว่าเลียนแบบมาจากตัวแมงมุมน้ำอีกที
และ
           นกชนิดหนึ่งชื่อ จิงโจ้ ดังที่มีกลอนว่า "กะลุมพู จับกะล้อพ้อ จิงโจ้ จับจิงจ้อ แล้วส่งเสียง"       

มีคำร้องของ เด็กสมัยโบราณอยู่บทหนึ่งว่า

         จิงโจ้เอย มาโย้สำเภา หมาไล่เห่า
จิงโจ้ตกน้ำ หมาไล่ซ้ำ จิงโจ้ดำหนี.
ได้กล้วยสองหวี ทำขวัญจิงโจ้ โห่ฮิ้วๆ

            เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนรูป จิงโจ้โย้สำเภา ไว้ด้วยเป็นภาพปิดทองรดน้ำ ประดับอยู่ที่
เชิงบานหน้าต่าง พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

......     จิงโจ้ที่โย้สำเภา ในรูปเขียน ที่วัดพระเชตุพนฯ นั้นอยู่ทางหัวเรือ แต่ในตัวเรือ
ที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ ก็ทำจิงโจ้ด้วยไม้ไว้ใต้ท้องเรือเป็นที่สอดเพลา ไม่ให้เพลาแกว่ง
และเมื่อมีสวะ หรือสิ่งใดครูดใต้ท้องเรือมา ก็จะปะทะกับจิงโจ้ ลอยข้ามไป ไม่ถูกใบพัด
ส่วนเรือที่ใช้หางเสือ เช่น เรือกระแชง ก็จะมีจิงโจ้ตัวเล็กๆ ติดที่ท้องเรือตรงกับปลายหางเสือ
เป็นประโยชน์กันสวะ หรือเชือก ที่จะมาทำให้หางเสือเรือหลุดได้

รูปจากคุณเพ็ญในกระทู้สัตว์ประหลาด


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:24

ดอกสร้อยประถมต้นที่ชอบที่สุดคือ

        นกเอ๋ย นกกิ้งโครง
หลงเข้าโพรง นกเอี้ยง เถียงเจ้าของ
อ๋อยอี๋เอียง อ๋อยอี๋เอียง ส่งเสียงร้อง
เจ้าของ เขาว่า น่าไม่อาย

     แต่นก ยังรู้ ว่าผิดรัง
นักปราชญ์ รู้พลั้ง ไม่แม่นหมาย
แต่ผิด รับผิด พอผ่อนร้าย
ภายหลัง จงระวัง อย่าพลั้งเอย ฯ

ชอบคำประพันธ์ของบทแรกมาก

ผู้แต่งระบุว่าคือ พระยาพินิจสารา (ทิม)

ชอบภาพนี้จากสำนักข่าว  Xinhua ครับ


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:25

เมื่อโตขึ้น ดอกสร้อยที่ประทับใจจำคือ รำพึงในป่าช้า

         พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ประพันธ์จากต้นฉบับแปลของเสฐียรโกเศศ
จากบทกวีนิพนธ์เรื่อง Elegy Written in a Country Churchyard ของ Thormas Gray
กวีอังกฤษในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นกลอนดอกสร้อยจำนวน 33 บท 
เริ่มต้นอย่างเร้าอารมณ์ว่า

The curfew tolls the knell of parting day,
The lowing herd wind slowly o'er the lea,
The plowman homeward plods his weary way,
And leaves the world to darkness and to me.

   ใน answers.yahoo.com มีคนตั้งคำถามว่า วรรคแรกหมายถึงอะไร

Answer - The curfew was a bell which was rung to tell people
it was time to put their fires out (and, presumably, go to bed).
The knell is the sound of the solemn ringing of a bell
to announce a death or a funeral. Parting day meant that
the day was coming to an end. Put it all together and Gray
was saying the solemn bell was ringing and it sounded
to him as if it was announcing the death of the day.
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:27

พระยาท่านประพันธ์ว่า

๑. วังเอ๋ยวังเวง                     หง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน  
ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล         ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน  
ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ      ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน  
ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล           และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียว เอย.

       อ่านแล้วได้อารมณ์วังเวง เหงา และหวาด เพราะอยู่คนเดียวยามค่ำมืดในป่าช้า


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 ต.ค. 10, 10:55

         มีอาขยานจำไม่ลืมอีกบทสมัยประถม เป็นสักวาสมัยเด็กที่สุดประทับใจ
ให้อารมณ์คล้ายๆ กัน คือ เหงา และหนาว แต่ไม่หวาด

ผู้แต่งระบุว่าคือ พระสุนทรโวหาร (ภู่)

        สักวาดาวจระเข้ก็เหหก
 ศีรษะตกหันหางขึ้นกลางหาว
 เป็นวันแรมแจ่มแจ้งด้วยแสงดาว
 น้ำค้างพราวปรายโปรยโรยละออง
        ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ
 ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง
 สกุณา(กา)ดุเหว่าก็เร่าร้อง
 พอแสงทองส่องฟ้าขอลาเอย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง