เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 42858 บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 15:45

สวัสดีอีกคำรบครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   สวัสดีครับ คุณ Vendetta
   ผมเคยเข้าเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ได้ยินมากับหูเลยครับ มีคน (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยุวชนรุ่นใหม่) เสนอให้เอาบทอาขยานออกไปเสีย บ้างก็บ่นอุทธรณ์ว่าเซ็งวรรณคดี ไม่อยากแปลไทยเป็นไทย ผมคันไม้คันมือนัก อยากจะโพสต์ไปว่า คุณเปิดพจนานุกรมภาษาต่างด้าวคุณยังยินดีทำ
แถมกรี๊ดกร๊าดเสียด้วยถ้าหากแปลวรรณคดี บทกวีชั้นสูงของต่างชาติออก ก็แล้วทำไมกับภาษาของบรรพบุรุษเรา รากเหง้าของพวกเราแท้ๆ คุณจึงไม่สนใจ หาข้ออ้างสารพัดมากลบเกลื่อน แต่ไม่อยากมีเรื่อง เลยไม่โพสต์ครับ

   ขอต่อเรื่องอาขยานอีกนิดนะครับ วรรณคดีรามเกียรติ์ ผมยังเหลือบทอาขยานตกค้างอยู่ เกรงว่าประเดี๋ยวจะลืมเสีย จึงนำมาลงไว้ก่อนครับ

   สำหรับท่านที่เคยอ่านคำพากย์รามเกียรติ์ ตอน เอราวัณ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คงจะคุ้นเคยดีกับ
   “สามสิบสามเศียรโสภา
เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี” เป็นอันดี ผมค่อนข้างมั่นใจเสียด้วยซ้ำว่าบทนี้บังคับท่องครับ คุณน้าผมคือหนึ่งในพยานยืนยัน ท่านต้องท่องบทนี้หน้าชั้นเรียนสมัยเรียนอยู่มัธยมปลาย โรงเรียนศรีอยุธยา เพราะฉะนั้น ผมขออนุญาตข้ามไปก่อน เอาบทซึ่งผมท่องเพราะความสนเท่ห์มาลงแทนครับ

   ผมเคยฟัง (แน่หละ คนตาบอด จะดูได้ฉันใด) โขนกรมศิลปากร ตอน “เอราวัณ” ครับ ในการแสดงชุดนั้น มีกาพย์ (ยานี) อยู่ชิ้นหนึ่ง ผมไม่ทราบข้อมูลแม้แต่นิดเดียวครับว่ากวีท่านใดนิพนธ์ขึ้น ข้อความเป็นบทชมโฉมเอราวัณจำแลง คณาจารย์กรมศิลป์ ท่านขับร้องเข้ากับทำนองเพลง “กลองโยน” ต่อไปนี้ คือกาพย์อันอ้างถึง แหละผมท่องจำไว้ครับ

   “ช้างเอยช้างนิมิต
เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน
เริงแรงกำแหงหาญ
ชาญศึกสู้รู้ท่วงที

   ผูกเครื่องเรืองทองทอ
กระวินทองหล่อทอแสงสี
ห้อยหูพู่จามรี
ปกตระพองทองพรรณราย

   เครื่องสูงเรียงสามแถว
ลายกาบแก้วแสงแพรวพราย
อภิรุมสับชุมสาย
บังแทรกสู่เป็นคู่เคียง

   กลองชนะประโคมครึก
มโหระทึกกึกก้องเสียง
แตรสังข์ส่งสำเนียง
นางจำเรียงเคียงช้างทรง

สาวสุรางค์นางรำฟ้อน
ดังกินนรแน่งนวลหงส์
นักสิทธิ์ฤทธิรงค์
ถือทวนธงลิ่วลอยมา”

มิใช่แก้ตัว หาก ก็เหมือนแก้ตัวกลายๆ นั่นคือ ผมพิมพ์ตามโสตประสาทสัมผัส ได้สดับฟังกาพย์คลอไปกับปี่พาทย์ ฉะนั้น อาจมีถ้อยคำบางแห่งคลาดเคลื่อนไปบ้าง ผมขอขมาทุกท่านไว้ในที่นี้ด้วยครับ
   
   ท่านผู้มีข้อมูลว่า กาพย์นี้นิพนธ์โดยกวีท่านใด โปรดปรานีให้วิทยาทานคนปัญญาต่ำอย่างผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ





 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 16:23

เรียนคุณชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
ได้เห็นกลอนชมช้างเอราวัณ แล้วอยากให้ลองฟังโขนพรหมมาศ ซึ่งจัดตอนอินทรชิตแปลงร่างเป็นพระอินทร์ ตอนนี้จัดตอนที่พระรามจัดทัพและมีขบวนพระอินทร์จำแลงมาขวางไว้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 16:34

คลิปตอนชมช้างเอราวัณ อันแสนไพเราะครับ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 16:59

สวัสดีขอรับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขอบพระคุณคุณ siamese อย่างยิ่งยวดครับ สำหรับสุนทรียรสที่คุณกรุณาแนะนำให้เสพ ผมจะเข้าไปฟังครับ

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 17:06

ขอเรียนถามคุณชูพงค์ เพื่อเป็นความรู้นะคะ

ต้องอาศัยเว็บไซต์สำคัญช่วยอีกหนึ่งเว็บครับ คือ พจนานุกรมออนไลน์ ของราชบัณฑิตยสถาน
เว็บนี้ ผมจะเปิดไว้ตลอดขณะพิมพ์งานครับ สงสัยคำใดก็รีบสอบค้น ถ้าคำที่เขียนไปก่อนหน้านั้นผิด
ก็กลับมาแก้ใหม่ บางกรณี หากต้องพิมพ์ชื่อเฉพาะ ก็เข้า google ค้นครับ

สงสัยว่าคุณชูพงค์ มีวิธีใช้ พจนานุกรมออนไลน์ และgoogle อย่างไรคะ
เวลาใส่คำค้นแล้วมันขึ้นข้อมูลมาให้ คุณชูพงค์สามารถเลือกได้อย่างไรว่าข้อมูลไหนคือข้อมูลที่ต้องการคะ
ขอโทษนะคะที่เสียมารยาทถาม แต่อยากทราบน่ะค่ะ เผื่อจะได้แนะนำท่านอื่นๆ เป็นวิทยาทานด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 28 ต.ค. 10, 11:40

ข้อมูลจากสูจิบัตรการแสดงโขนชุด "พรหมาศ" ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  วันที่ ๑๙-๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๒

การแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พรหมาศ
บทพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ทางดนตรีโยธวาธิตโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์ร่วมกับ จางวางทั่ว พาทยโกศล
ทางดนตรีไทยโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

เมื่อนั้นทศพักตร์ยักษี               ออกมุขมนตรี
แลตรัสประภาษราชการ
สารันต์ทูตทูลบินาน                 สมเด็จพระเจ้าหลาน
ไปรณรงค์รามา
เสียรถเสียทศโยธา                 เสียเทพสาตรา
พระองค์ก็เสียชีวัน
ฟังข่าวผ่าวเพียงเพลิงกัลป์          เจ็บใจจาบัลย์
แล้วนิ่งคะนึงในใจ

บัดนั้น                              กาลสูรเสนีมีศักดิ์
รับสั่งบังคมทศพักตร์               ขุนยักษ์รีบเหาะระเห็จไป
ครั้นถึงโรงราชพิธี                  กาลสูรเสนีบังคมไหว้
ทูลว่าพระบิตุรงค์ทรงไชย          ให้มาทูลข่าวปัจจามิตร
แสงอาทิตย์ฤทธิรอนมังกรกรรฐ์   ไปโรมรันเสียทัพดับจิต
ขอให้พระองค์ทรงฤทธิ            ไปเข่นฆ่าปัจจามิตรให้มรณา

เมื่อนั้น                            อินทรชิตสิทธิศักดิ์ยักษา
ได้ยินบอกออกความอัปรา        โกรธาลืมเนตรเห็นเสนี
ว่าพลางทางทรงศรชัย             คลาไคลออกจากโรงพิธี
จึงตรัสสั่งรุทการชาญกำแหง      จะเปลี่ยนแปลงกายกูเป็นโกสีย์
จงให้การุณราชอสุรี                แปลงอินทรีย์เป็นคชาเอราวัณ
อันโยธาทั้งหลายให้กลายเพศ     เป็นเทเวศร์สุรางค์นางสวรรค์
ให้สำหรับขับรำระบำบรรพ์         เร่งเตรียมไว้ให้ทันฤกษ์ดี

เมื่อนั้น                             อินทรชิตชื่นชมสมประสงค์
จึงขึ้นบนแท่นสุวรรณบรรจง        จำแลงแปลงองค์อสุรา
เป็นโกสีย์ทรงเครื่องเรืองอร่าม     ล้วนแก้วเก้าเงางามวามเวหา
จับพระแสงพรมมาศยาตรา         เสด็จมาเกยสุวรรณทันใด
ขึ้นทรงคอคชาเอราวัณ             ทหารแห่โห่สนั่นหวั่นไหว
ขยายยกโยธาคลาไคล             ลอยฟ้ามาในโพยมยาน

ช้างเอยช้างนิมิต                    เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน
เริงแรงกำแหงหาญ                 ชาญศึกสู้รู้ท่วงที
ผูกเครื่องเรืองทองทอ              กระวินทองหล่อทอแสงสี
ห้อยหูพู่จามรี                         ปกตระพองทองพรรณราย
เครื่องสูงเรียงสามแถว             ลายกาบแก้วแสงแพรวพราย
อภิรุมสับชุมสาย                    บังแทรกสู่เป็นคู่เคียง
กลองชนะประโคมครึก            มโหระทึกกึกก้องเสียง
แตรสังข์ส่งสำเนียง                นางจำเรียงเคียงช้างทรง
สาวสุรางค์นางรำฟ้อน            ดังกินนรแน่งนวลหงส์
นักสิทธิ์ฤทธิรงค์                    ถือทวนธงลิ่วลอยมา


ครั้นถึงที่ประจันบานราญรอน     เห็นวานรนับแสนแน่นหนา
กับทั้งองค์พระลักษณ์ศักดา      ยืนรถรัตนาอยู่กลางพล
จึงหยุดช้างทรงองอาจ            ลอยเลื่อนเกลื่อนกลาดกลางเวหน
ให้กุมภัณฑ์บรรดาจแลงตน      ใส่กลขับรำระบำบรรพ์

บัดนั้น                             รูปนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน
สาวสุรางค์นางฟ้าเทวัญ           บังคมคัลคำนับรับบัญชา

เมื่อนั้น                           อินทรชิตยินดีจะมีไหน
เห็นข้าศึกเสียเชิงละเลิงใจ        จึงจับศรไชยขึ้นบูชา
พาดสายหมายเขม้นเข่นเขี้ยว     น้าวเหนี่ยวด้วยกำลังอังสา
สังเกตตรงองค์พระลักษณ์อนุชา  อสุราก็ลั่นไปทันใด
ลูกศรกระจายดังสายฝน          ตกถูกลิงพลไม่ทนได้
แล้วต้องพระอนุชาเสนาใน        สลบไปไม่เป็นสมประดี

บัดนั้น                             หนุมานไม่ต้องศรศรี
ยืนทะยานดาลโกรธดังอัคคี      ชี้หน้าว่าเหวยสหัสไนย
เหตุใดไปเข้าข้างพวกยักษื       มาแผลงผบาญพระลักษณ์ให้ตักษัย
กูจะล้างชีวันให้บรรลัย            ให้สาใจอินทราที่อาธรรม์
ว่าพลางเผ่นโผนโจนทะยาน      ขึ้นตีควาญท้ายคชาอาสัญ
ง้างหักคอพญาเอราวัฒ           ชิงคันศรศักดิ์มัฆวาน

ครั้นถึงสนามราวี                  เห็นพลกระบี่
พินาศดาษพื้นพสุธา
ทั้งองค์พระลักษณ์อนุชา         ศรศักดิ์ปักอุรา
พระเข้าฉุดชักศรชัย

แล้วครอบคีรีกับรี้พล              เคาะยาให้หล่นจากเขาใหญ่
ต้องพระอนุชาเสนาใน            บัดในก็ฟื้นคืนมา
 
  
 
  
 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 28 ต.ค. 10, 16:17

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ขออนุญาตตอบคำถามท่านที่สงสัยเรื่องการใช้เว็บค้นหาข้อมูลก่อนนะครับ

   วิธีใช้เว็บไซต์พจนานุกรมออนไลน์ก็ดี google ก็ดี สำหรับผม อาศัยพิจารณาจากเนื้อความที่ได้อ่านเมื่อระบบของเว็บแสดงผลครับ สำหรับพจนานุกรมออนไลน์นั้น หากพิมพ์ผิด ก็จะแสดงผลเป็นสองกรณี คือ

๑.   บอกว่าคำที่เราพิมพ์ “ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่” หน้าที่ของผมก็คือ พิมพ์ใหม่โดยเปลี่ยนแปลงตัวสะกดไปเรื่อยๆครับ จนเจอคำอันมีนิยามตามต้องการ
๒.   นอกเหนือไปจากข้อ ๑ แล้ว บางครั้ง ระบบสืบค้นในเว็บ ก็จะสุ่มคำที่มีลักษณะใกล้เคียง หรือประเมินคำที่คิดว่าน่าจะใช่มาให้เราเลือก ซึ่งบางหนก็สุ่มมาแบบห่างกันหลายสิบวาเชียวครับ หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องลองพิมพ์ใหม่ไปเรื่อยๆ ทำเช่นเดียวกับข้อ ๑ แต่ถ้าโชคดี ระบบสืบค้นค้นคำที่ใช่ (รู้ว่าใช่เมื่ออ่านความหมายของคำนั้นครับ) ตรงกับความประสงค์ ก็เป็นอันเชื่อได้แน่ถึงความถูกต้อง
ผมขอสาธิตสักนิดนะครับ สมมุติว่า ผมจะลองค้นคำ “อัชฌาศัย” ดู จะลองพิมพ์ผิดลงไป ดูซิครับ ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร

   ในช่องค้นหา ผมพิมพ์ลงไปว่า อัชชาศรัย แล้วนี่คือผลลัพธ์ครับ
คำ อัชชาศรัย ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่
เอาหละครับ ผมจะพิมพ์ใหม่ โดยมั่วเหมือนเดิม ทีนี้เป็น อัชชาสัย บ้าง ผลคือ

   
คำ อัชชาสัย ค้นไม่เจอ โปรดพิมพ์ใหม่

-----------------------------------

คำที่คล้ายกันมีดังต่อไปนี้

อัชฌาสัย   [ไส] น. กิริยาดี; นิสัยใจคอ, ความรู้จักผ่อนปรน; ใช้ว่า อัชฌา
   ก็มี, (โบ) อัชฌาศัย. (ป.; ส. อธฺยาศย).





   สรุป คำ อัชชาสัย ไม่มี แต่คำ อัชฌาสัย มี แถมยังมีคำ อัชฌาศัย ด้วย  แล้วจะเลือกคำไหนล่ะ? ผมจะใช้วิธีถามคนตาดีครับ ว่า ตามปกติที่เห็นในหนังสือบ่อยๆ ใช้คำใดในสองคำ หากชั่งน้ำหนักแล้วพบว่า ข้าง อัชฌาศัย มีผู้เห็นใช้กันมากกว่า อัชฌาสัย ก็จะจดจำว่า หากจะเขียนคำนี้ ให้เขียน อัชฌาศัย ครับ

   ใน google ก็คล้ายๆกันครับ จะต่างกันสักนิดคือ ต้องพิจารณาบริบทของข้อความแวดล้อมด้วย เพราะพ่อเจ้าประคุณเล่นกวาดมาหมด ไม่ว่าจะเว็บใดๆก็ตาม สะกดผิดสะกดถูกมินำพาทั้งนั้น ผู้ทำการค้นก็ต้องมาไตร่ตรอง ประกอบการซักถามอีกทอดหนึ่งครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
 
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 28 ต.ค. 10, 17:24

ขอบพระคุณคุณชูพงค์ มากค่ะ ที่ให้ความกระจ่างในข้อสงสัย
มีอาขยานที่ยังจำได้ดี ไม่แน่ใจว่าถูกบังคับให้ท่องหรือสมัครใจท่องเอง
แต่ไพเราะและมีความหมายดีค่ะ
เป็นพระนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ค่ะ

"ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร                             จิตคิดต้องกันหรรษา
มีความยินดีปรีดา                             ยิ่งกว่ามีสินเงินทอง

แม้มีสิ่งใดที่ข้องขัด                           มิตรช่วยกำจัดที่ขัดข้อง
ช่วยทำให้สมอารมณ์ปอง                   กิจการทั้งผองช่วยคิด
 
เต็มใจปรึกษาหารือ                         ไม่ถือเกินกล้ำคำผิด
สู้งดอดโกรธโทษนิตย์                      ผูกจิตมิตรไว้ด้วยไมตรี
 
สิ่งใดควรหย่อนผ่อนตาม                  ผ่อนให้ทุกยามถึงที่
แม้เห็นสิ่งใดไม่ดี                            ช่วยชี้ช่องธรรมนำทาง

การใดจะได้เกิดผล                         ไม่คิดถึงตนกีดขวาง
เป็นที่เชื่อใจไว้วาง                           มิได้อำพรางสิ่งใด

ยามดีสรรเสริญเยินยอ                     แต่จะสอพลอก็หาไม่
ที่ควรตำหนิติไป                             มิให้มิตรไซร้เพลี่ยงพล้ำ

ไม่เป็นเพื่อนกินสิ้นผลาญ                 ยามจนไม่พาลช่วยกระหน่ำ
คอยจ้องมองดูชูค้ำ                            อุปถัมภ์ทำชอบตอบแทน

หามิตรเช่นนี้เหลือยาก                     หาได้ลำบากยากแสน
เอาใจไว้อย่าดูแคลน                       รักแม้นพี่น้องร่วมอุทร

อุตส่าห์รักษาน้ำจิต                       ให้สนิทสามัคคีสโมสร
คงจะไม่มีอนาทร                           ไม่มีเดือดร้อนสักเวลา"

อาขยานบทนี้มอบแด่ "มิตร" ทุกท่านในเรือนไทยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 12:55

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   วันนี้ พอว่างจากงาน จึงเข้ามาอ่านกระทู้ขอรับ และก็ต้องขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูอย่างยวดยิ่งครับ สำหรับข้อมูลเสริมเรื่องเอราวัณ รวมไปถึงคำกลอนไพเราะที่กรุณาพิมพ์ให้อ่านกันโดยทั่วถ้วน ผมขออนุญาตเล่าถึงประสบการณ์จากการฟังสักนิดนะครับ โขนรามเกียรติ์ ตอน เอราวัณ ซึ่งผมฟังนั้น ภายหลังจาก

   “บัดนั้น
รูปนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน
สาวสุรางค์นางฟ้าเทวัน
บังคมคัลคำนับรับบัญชา” แล้ว ผมได้ยินบทต่อไปดังนี้ครับ

   “ต่างจับระบำรำฟ้อน
ทอดกรกรีดกรายซ้ายขวา
ร่ายเรียงเคียงคมประสมตา
เลี้ยวไล่ไขว่คว้าเป็นท่าทาง

   ซ้อนจังหวะประเท้าเคล่าคล่อง
เลี้ยวลอดสอดคล้องไปตามหว่าง
วงเวียนเหียนหันกั้นกาง
เป็นคู่คู่อยู่กลางอัมพร”
และ

   “เมื่อนั้น
พระลักษมณ์ผู้ทรงศักดิ์เธอทรงศร
พร้อมพวกพลากร
ดูรำฟ้อนบนเมฆา

   หมายว่าพระอินทร
สุรอัปสรเธอหรรษา
พิศเพลินเจริญตา
ทั้งพลสวาวานรไพร”

ข้อกังขาก็คือ ในสูจิบัตรอันอาจารย์นำมาลง ไม่มีบทร้องเหล่านี้ ผมจึงขออนุญาตเรียนถามครับ ว่าการแสดงโขน ณ วันเวลาดังกล่าวนั้น มีการตัดต่อย่อความให้สั้นกระชับเพื่อความเหมาะสมของเวลาหรือเปล่าครับ เพราะผมไม่มีโอกาสไปนั่งฟังด้วยตนเองจึงสนใจใคร่รู้ครับ

   สวัสดีครับ คุณ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ

   บทพระราชนิพนธ์ในองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ บทนี้ ผมเคยอ่านครับ แต่อ่านผ่านหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชั้นประฐมศึกษา ชุดที่แม้จะยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังทิ้งความประทับใจให้ผู้เคยเรียนเคยอ่านตลอดกาล ผมกำลังหมายถึง “มานี มานะ” แหละผองเพื่อน ผลงานของท่านอาจารย์รัชนี ศรีไพรวัลย์ ครับ คลับคล้ายคลับคลาว่า บท “ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร ฯลฯ” จะอยู่ในตอนเกี่ยวกับเด็กชายเพชรนะครับ แต่...เอ ตั้งหลายปีมาแล้ว ผมชักไม่แน่ใจแล้วซีครับ ท่านที่เข้ามาอ่าน หากจะเมตตาให้ความรู้เรียกกู่ความจำครั้งวัยเยาว์ของผมกลับคืนมา ก็จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 14:01

มีข่าวดีมาบอกกกกกกกกกกกกกก...........!!!!
สำหรับคนที่คิดถึง มานี มานะ และผองเพื่อน ค่ะ
อีกไม่นานจะมีการ์ตูนแอนนิเมชั่น ออกมาให้ชมแล้วนะคะ
ติดตามข่าวความคืบหน้าได้ที่นี่ค่ะ
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=manamane-jung&month=07-2010&date=26&group=2&gblog=6

ส่วนท่านที่ชอบอ่านหนังสือเก่า ไปรำลึกความหลังได้ที่นี่เลยนะคะ ฮ ฮูก ดอทคอม ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเด็กไทยค่ะ
http://www.horhook.com/ebook/thai2521/index.htm
มีหนังสือ มานี มานะ และผองเพื่อน ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 ชั้นละ 2 เล่ม รวม 12 เล่ม ให้อ่านรำลึกความหลังกันจุใจเลยค่ะ
มีทั้งแบบที่เปิดอ่านด้วย Flip Viewer และแบบ pdf เปิดอ่านด้วย Acrobat Reader ค่ะ
 
อ่านแล้วรู้สึกว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยก่อน รวมถึงผู้แต่งคือ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ และคณะ
และผู้วาดภาพประกอบ คุณเตรียม ชาชุมพร  คุณโอม รัชเวช และคุณปฐม พัวพิมล
มีความสุขุมลุ่มลึกในการถ่ายทอดวิชาความรู้ การอ่านการเขียน ขนบธรรมเนียม การใช้ชีวิตในสังคม
มีการจัดหลักสูตรและเนื้อหาของแต่ละเล่มได้อย่างเหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย
เป็นการสอนที่สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาที่มีความหลากหลาย อ่านสนุก เพลิดเพลิน
และเด็กค่อยๆ ซึมซับ คำสอนต่างๆ เข้าไปแบบไม่รู้ตัว และติดตัวมาจนทุกวันนี้....

ไม่อยากนึกถึงตำราและหลักสูตรของเด็กยุคปัจจุบันนี้เลยค่ะ....หดหู่ใจพิกล....


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 14:25

เรียนคุณชูพงศ์

เว้นวิจารณ์ว่างเว้น      สดับฟัง
เว้นที่ถามอันยัง        ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง-        เกตว่าง เว้นนา
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้        ปราชญ์ได้ฤามี ฯ


โคลงโลกนิติ

คุณชูพงศ์มีหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ ครบถ้วน

ความที่หายไปเป็นความผิดพลาดในการถ่ายทอดจากสูจิบัตร

ขออภัยในความผิดพลาดและขอขอบพระคุณที่นำความมาเพิ่มในส่วนที่หายไป

 ยิงฟันยิ้ม
 
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 15:00

คุณ ชูพงค์ มีความจำดีมากเลยค่ะ.......
พระนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 “ผู้ใดเป็นผู้มีมิตร..." อยู่ในตอนที่เกี่ยวกับเด็กชายเพชร จริงๆ ด้วยค่ะ
อยู่ในแบบเรียนภาษาไทย มานี มานะ ชั้นป.6 เล่ม 1  ตอน "เพื่อนของเพชร" ค่ะ
อ่านสนุกมากเลยค่ะ เนื้อเรื่องตื่นเต้นมีปริศนาชวนติดตาม สอดแทรกการสอนต่างๆ ไว้อย่างแยบยล
เลยเก็บมาฝากให้ได้อ่านกัน  เก็บมาเป็นภาพค่ะ คุณชูพงค์ คงต้องให้ผู้ช่วยอ่านให้ฟังนะคะ


บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 15:02

ต่อค่ะ


บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 15:03

อ่านต่อนะคะ


บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 15:04

...


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง