เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 42860 บทอาขยานที่ท่านสมัครใจท่องเอง
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 26 ต.ค. 10, 13:40

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านขอรับ

   ผมคิดว่า คงจะเคยมีกระทู้เกี่ยวกับบทอาขยานประทับใจในเว็บนี้มาแล้ว ฉะนั้น หะแรก เคยคิดจะตั้งกระทู้เรื่องบทอาขยานสมัยก่อน เพื่อขอความรู้จากทุกๆท่าน ก็เลยแปรไปในอีกลักษณะหนึ่งครับ

   ผมเชื่อว่า สำหรับคนรักวรรณคดี ผูกพันกับกวีนิพนธ์ ย่อมจะท่องจำบทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ฯลฯ เอาไว้ไม่มากก็น้อย และก็คงมีหลายบทที่แต่ละท่านสมัครใจท่องเองเพราะความชื่นชอบเป็นเหตุสำคัญ ปราศจากคำสั่งจากคุณครูในทำนอง “เธอไปท่องตรงนี้มานะ” ไม่ต้องท่องเพื่อเก็บคะแนน หรือเพื่อเขียนตอบข้อสอบ บทเหล่านี้แหละครับ ที่ผมจะขอวิทยาทานจากท่าน เนื่องด้วยตัวเองก็ชอบท่องอยู่แล้ว แหละก็เห็นหิตานุหิตแห่งอาขยานมากมายหลายประการครับ

   สมัยผมเรียน ม.๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) อยู่ ณ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ตรงถนนพญาไท ซึ่งคิดว่าทุกๆท่านคงเคยผ่านเคยพานพบเห็นมาแล้ว ยามนั้น ท่านอาจารย์ทิพวัลย์ ดุริยางคเศรษฐ์ ท่านสอนภาษาไทยพวกเราครับ ผมโปรดปรานหนังสือทักษะสัมพันธ์มาก ถ้าได้หนังสืออักษรเบรลล์มาไว้ในมือเป็นต้องอ่านก่อนเรียนจริงเสมอ ครั้นถึงบทละครในเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ อันกระทรวงศึกษาธิการตัดเอาตอนทศกัณฐ์ล้มมาให้เรียน บทพรรณนารถทรงของพระรามที่ทรงขณะเสด็จฯ ไปปราบท้าวสิบเศียรนั้น คือบทอาขยานที่อาจารย์ท่านมิได้สั่งท่อง แต่ผมท่องเอง แล้วยังจำได้กระทั่งบัดนี้ครับ

   “รถเอยรถวิมาน
กงประไพแก้วประพาฬประภัสสร
ดุมทองดวงธูปอรชร
แอกงอนอ่อนงามสลวยลอย

   บัลลังก์บทลวดประกวดภาพ
เครือกระหนกครุฑกระหนาบจับนาคห้อย
บุษบกบันสะบัดจำรัสพลอย
ทวยช้อยทองช่อบราลี

   เทียมสินธพสิบเทเวศ
ลำพองล้ำเพศราชสีห์
เผ่นโจนโผนจรด้วยฤทธี
ขุนรถขับรี่ดังลมกาล

   พระลักษมณ์นั่งประณตประนมหัตถ์
เครื่องสูงแถวฉัตรธงฉาน
เสียงกลองซ้องกลบกังสดาล
พวกทหารขานโห่เป็นโกลา

   กงเลื่อนก้องลั่นพันลึก
เสียงคึกแซ่ลั่นสนั่นป่า
โบกธงบ่ายทัพยาตรา
กองหน้าเกณฑ์นำเสด็จจร”

   อีกบทหนึ่ง ตอนทศกัณฐ์กำลังจะตาย ผมเคยท่องได้ครับ แต่บัดนี้เลือนไปจากความทรงจำเสียแล้ว ระลึกได้เพียงสั้นๆว่า:

   “ปากหนึ่งว่าโอ้พิเพกเอ๋ย
ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี
ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง
ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด
เป็นอิศรภาพแก่หมู่มาร ฯลฯ”
   ท่านใดท่องได้ โปรดอนุกูลทวนอดีตให้ผมด้วยเถิดครับ

   สำหรับผมคงยุติเพียงนี้ เพื่อจะรอแลกเปลี่ยนกับท่านผู้การุณย์ทุกๆท่านในโอกาสต่อไป ครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



 
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 03:48

ดิฉันถูกสอนให้ท่องกลอนบทนี้    จำได้เป็นนกแก้วนกขุนทอง  ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน
คนแต่งคือ บราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์

วิชาเหมือนสินค้า                อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป                 จึงจะได้สินค้ามา

จงตั้งเอากายเจ้า                 เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา                  แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

นิ้วเป็นสายระยาง              สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป              อัชฌาสัยเป็นเสบียง

สติเป็นหางเสือ                                   ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง                                 ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา

ปัญญาเป็นกล้องแก้ว                          ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา                                  เป็นล้าต้าฟังดูลม

ขี้เกียจคือปลาร้าย                             จะทำลายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม                                ยิงระดมให้จมไป

จึงจะได้สินค้ามา                              คือวิชาอันพิศมัย
จงหมั่นมั่นหมายใจ                            อย่าได้คร้านการวิชาฯ

ขอถามไว้เป็นความรู้นะคะ    หวังว่าคงไม่เป็นการละลาบละล้วง

คุณเขียนหนังสือได้ดีมาก  ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยน    ทั้งที่บทกวีที่นำลงก็อ่านยากสะกดยากทั้งนั้น  อยากทราบว่าทำได้อย่างไร   ใช้โปรแกรมอะไรในการอ่านเว็บบอร์ด
หรือว่าคุณมีผู้ช่วย  ช่วยอ่านและพิมพ์ให้?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 03:49

บททศกัณฐ์ลาตาย   ถ้าหาโอกาสได้จะนำมาลงให้อ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 07:40

ขอถามไว้เป็นความรู้นะคะ    หวังว่าคงไม่เป็นการละลาบละล้วง

คุณเขียนหนังสือได้ดีมาก  ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยน    ทั้งที่บทกวีที่นำลงก็อ่านยากสะกดยากทั้งนั้น  อยากทราบว่าทำได้อย่างไร   ใช้โปรแกรมอะไรในการอ่านเว็บบอร์ด
หรือว่าคุณมีผู้ช่วย  ช่วยอ่านและพิมพ์ให้?

ผมสงสัยตั้งแต่กระทู้ตามหาหนังสือของคุณชูพงศ์แล้วครับ
แต่ไม่กล้าถามเหมือนกัน เพราะอ่านปุ๊บรู้เลยว่าคุณชูพงศ์เป็นผู้พิการทางตา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 09:07

เข้ามาช่วยคุณชูพงศ์ ถ้าคอมพิวเตอร์สามารถแปลงข้อความเป็นเสียงได้ จะดียิ่งขึ้น

บราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์ ถึงแม้ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศส แต่ท่านก็มีความรักในเมืองไทยอย่างมาก แต่งตำราดรุณศึกษา และเรียนรู้ภาษาไทยจนแตกฉาน แต่งหนังสือเรื่อง "โกษาปานไปฝรั่งเศส" ได้อย่างดีเยี่ยม ผมเองก็ได้เรียนตำราจากบราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์ เช่นกันครับ ดังกลอนนี้

"คนดีที่ประสงค์"

    อันคนดี  ที่ไทย  ใฝ่ประสงค์          ไม่เจาะจง  คนรวย  หรือสวยสี
ไม่ใช่คน  ปริญญา  วิชาดี                   แต่เซ็งลี้  ถึงขนาด  ที่ชาติงอม
ไม่ใช่เช่น  พุ่มพวง  ลวงประดิษฐ์          งามวิจิตร  แต่รูป  จูบไม่หอม
ไม่ใช่เช่น  ธำมะรงค์  เครื่องทรงปลอม   ที่เขาย้อม  ทองเปลว  เลวจริงจริง

    อันคนดี  ที่ไทย  ใฝ่ประสงค์            คือคนตรง  เช่นพันท้าย  นรสิงห์
หัวเรือหัก  พักให้  ใครมาติง                ขึ้นตลิ่ง  ร้องให้ฟัน  จบบัลลัย
คนเช่นนี้  มีน้อย  เหมือนพลอยเพ็ชร     แต่ละเม็ด  ค่าเท่า  ภูเขาใหญ่
ควรเชิดชู  คู่ควง  กับดวงใจ                 เพื่อชาติไทย  รุ่งโรจน์  ปราโมทย์  เอย
                                                                    ฟ. ฮีแลร์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 09:23

ผลงานของ ฟ. ฮีแลร์ ที่คนไทยรู้จักกันดี

http://th.wikipedia.org/wiki/ฟ._ฮีแลร์


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 10:31

เคยท่องตอนเป็นเด็กๆ ค่ะ ทำให้จำเนื้อเรื่องได้จนถึงทุกวันนี้

" ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา      คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์
  ชิ้นสองต้องขับเที่ยวเซซัง  อุ้มลูกไปยังพนาลัย
  ชิ้นสามเมื่ออยู่ด้วยยายตา  ลูกยาออกช่วยขับไก่
  ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร         ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน
  ชิ้นห้าปิตุรงค์ทรงศักดิ์       ให้รับตัวลูกรักมาจากบ้าน
  ชิ้นหกจองจำทำประจาน     ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรลัย
  ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล
  เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรไท     ใครใครไม่ทันจะสงกา "

ค่ะ ละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนนางจันท์เทวีสลักชิ้นฟัก เพื่อแกงถวายพระสังข์
 พระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ช่อง 7 สี นำมาสร้างเป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ คนติดกันงอมเลยค่ะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 10:54

สงสัยอยู่ว่านางจันท์เทวีสลักข้อความยาว ๆ บนฟักแต่ละชิ้นได้อย่างไร

 ฮืม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:03

เรียน ท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนสมาชิกเรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกๆท่านครับ

   อันดับแรก ผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับสำหรับ “วิชาเหมือนสินค้า” ตอนผมเรียนอนุบาล ๑ ก็ได้ท่อง ทว่าปัจจุบันจำได้อย่างกระท่อนกระแท่นเต็มทีแล้วครับ ผมจะเข้ามาอ่านเรื่อยๆ เพื่อท่องฟื้นความทรงจำครับ

   เรื่องพิมพ์หนังสือเป็นตัวอักษรปกตินั้น พวกเราคนตาบอดมีโปรแกรมสังเคราะห์เสียงช่วยครับ สามโปรแกรมทำงานประสมประสานกัน ทำให้เมื่อกดตัวอักษรใดๆก็ตามบนแป้นพิมพ์ มันก็จะส่งเสียงออกมา เช่นจิ้มตัว ก มันจะร้องขานว่า “กอไก่” ครับ ฉะนั้น พอจิ้มผิด เสียงจะฟ้องทันที ทำให้สามารถถอยหลังกลับมาลบได้ทัน ผมพิมพ์ผิดบ่อยไปครับ แต่มีกฎซึ่งถือเป็นมติสำหรับตัวเองประการหนึ่งคือ ก่อนส่งข้อความขึ้นเว็บบอร์ด อันถือเป็นพื้นที่สาธารณะ จะต้องตรวจแก้ไขทุกคราครับ

   อีกประการหนึ่ง ภายหลังจากคุณน้า หรือคนตาดีท่านอื่นๆอ่านบทกวีซึ่งถูกอกถูกใจให้ฟังแล้ว จะต้องจดเป็นอักษรเบรลล์ใส่สมุดไว้อ่านก่อนนอนประจำ ผมเรียกสมุดเหล่านั้นว่า “สมุดข้างหมอน” ครับ เพราะเมื่อวางอ่านขณะอยู่ในอิริยาบถนอน มันจะอยู่เกือบชิดหมอนเลย ตอนจด ผมก็จะคอยถามผู้บอกว่า คำใดสะกดเช่นไร ถามชนิดจี้ทุกอักขระเลยหละครับ เมื่อจดบ่อยๆเข้า อ่านด้วยวิธีคลำบ่อยๆเข้า ก็เกิดความทรงจำ กระนั้น ก็ใช่ว่าจะสะกดคำต่างๆได้ถูกถ้วน ต้องอาศัยเว็บไซต์สำคัญช่วยอีกหนึ่งเว็บครับ คือ พจนานุกรมออนไลน์ ของราชบัณฑิตยสถาน เว็บนี้ ผมจะเปิดไว้ตลอดขณะพิมพ์งานครับ สงสัยคำใดก็รีบสอบค้น ถ้าคำที่เขียนไปก่อนหน้านั้นผิด ก็กลับมาแก้ใหม่ บางกรณี หากต้องพิมพ์ชื่อเฉพาะ ก็เข้า google ค้นครับ นอกไปจากนี้ ก็คือถามคนตาดีแล้วจำไว้ในสมอง ถามหลายๆหน จำหลายๆเที่ยว เวลาพิมพ์ก็อุ่นใจ ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นวิธีซึ่งผมใช้อยู่ครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:18

สวัสดีรอบสองครับ ท่านผู้มีอุปการคุณทุกท่าน

   ความรักในประเทศไทยและภาษาไทยของท่านบราเธอร์ ฟ.ฮีแลร์ น่าจะเตือนใจวัยรุ่นบางคนได้เป็นอย่างดีนะครับ ลางเหล่าที่ภูมิอกภูมิใจนักหนาว่าตนแตกฉานในภาษาต่างชาติ แต่เบื่อหน่าย มองเมิน หนักๆเข้าก็ผลักไสภาษาประจำชาติของตนไปเสีย ไม่นำพาวรรณคดี โดยอ้างว่าเชยบ้างหละ ตัวละครตกยุคบ้างหละ ทั้งๆ หากเปิดใจรับ ก็จะได้ข้อคิด คติธรรม มากล้นเกินคณนาครับผม
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:18

บทกวีที่แม่ท่องให้ฟังบ่อยๆจนจำได้  คือโคลงโลกนิติ  
ที่เคยท่องให้ฟังบ่อยๆคือ

ยามจนคนเคียดแค้น          ชิงชัง
ยามมั่งมีคนประณัง            นอบน้อม
เฉกพฤกษ์ดกนกหวัง          เวียนสู่ เสมอนา
ยามหมดผลนกพร้อม         พรากสิ้นบินหนี

รักกันอยู่ขอบฟ้า               เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว         ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียว             ตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง         ป่าไม้มาบัง

นาคีมีพิษเพี้ยง              สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช            แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส            แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า            อวดอ้างฤทธี

งาสารฤาห่อนเหี้ยน             หดคืน
คำกล่าวสาธุชนยืน            อย่างนั้น
ทุรชนกล่าวคำฝืน            คำเล่า
หัวเต่ายาวแล้วสั้น            เล่ห์ลิ้นทรชน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:33

คุณชูพงศ์ลองเข้าไปอ่านในนี้

http://th.wikisource.org/wiki/บทอาขยาน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:44


   อีกบทหนึ่ง ตอนทศกัณฐ์กำลังจะตาย ผมเคยท่องได้ครับ แต่บัดนี้เลือนไปจากความทรงจำเสียแล้ว ระลึกได้เพียงสั้นๆว่า:

   “ปากหนึ่งว่าโอ้พิเพกเอ๋ย
ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี
ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง
ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด
เป็นอิศรภาพแก่หมู่มาร ฯลฯ”
   ท่านใดท่องได้ โปรดอนุกูลทวนอดีตให้ผมด้วยเถิดครับ


ปากหนึ่งว่าโอ้พิเภกเอ๋ย              
ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี                      
ในเวลานี้ด้วยศรพิษ

ปากสองว่าเจ้าผู้เป็นน้อง              
ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด                
เป็นอิสรภาพแก่หมู่มาร

ปากสามขอฝากมณโฑด้วย          
ช่วยบำรุงให้เป็นแก่นสาร
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล                
ฝูงสนมบริวารทั้งนั้น

ปากสี่ว่าเจ้าจะครองยศ                      
ปรากฏเป็นจอมไอศวรรย์
จงเอ็นดูสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์                  
โดยธรรม์สุจริตประเวณี

ปากห้าจงดำรงทศพิธ                        
อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่
ตัดโลภโอบอ้อมอารี                        
แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร

ปากหกว่าเจ้าจงอดโทษ                      
ซึ่งกริ้วโกรธด่าว่ามาแต่ก่อน
อย่าให้เป็นเวราอาวรณ์                      
แก่เราผู้จะจรไปเมืองฟ้า

ปากเจ็ดขอฝากนคเรศ                        
อันทรงวงศ์พรหมเมศนาถา
สืบมาแต่องค์พระอัยกา                      
เมตตาอย่าให้จลาจล

ปากแปดว่าเราเลี้ยงท่าน                      
ก็ประมาณหมายใจให้เป็นผล
ตัวเราชั่วเองจึ่งเสียชนม์                    
แล้วได้ร้อนรนทั้งแผ่นภพ

ปากเก้าว่าพี่จะลาตาย                        
น้องชายเมตตาช่วยปลงศพ
อย่าให้ค้างราตรีในที่รบ                      
ไตรภพจะหมิ่นนินทา

สิบปากสิ้นฝากสิ้นเชิง                        
สิ้นกำลังสิ้นคิดยักษา
พิษศรร้อนรุ่มทั้งกายา                        
อสุรากลิ้งเกลือกเสือกไป  
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 12:49

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูครับ โคลงโลกนิติ เป็นวรรณคดีจำหลักใจผมนับแต่เรียนจนปัจจุบัน รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะได้สัมผัสครั้งแรกช่วงประฐมปลายมั้งครับ คุณครูท่านให้ท่องก็หลายบท ตัวเองจำได้ก็มี อย่างเช่นบทนี้ ท่องโดยใจสมัครครับ

   บางคาบภาณุเมศขึ้น         ทางลง ก็ดี
บางคาบเมรุบ่ตรง               อ่อนแอ้
ไฟยมดับเย็นบง-               กชงอก ผานา
ยืนสัตย์สาทุชนแล้               ห่อนเพี้ยนสักปาง

   กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูครับ และแล้ว ความทรงจำเกี่ยวกับคำสั่งเสียของเจ้ากรุงลงกาก็ถูกปลุกขึ้นในสมองก้อนน้อยๆของผม พลัน ก็อดสงสารท่านทศเศียรขุนมารมิได้ ก็ยังดีที่อุตส่าห์สำนึกผิด สำนึกสุจริตก่อนดับลมปราณนี้แรงนัก เอ... ชักอยากรู้แล้วซีครับ ว่าวิญญาณท่านจอมอสูรจะไปสิงสถิต ณ ตำแหน่งไหน ภายหลังถูกผลาญชีพแล้ว มีบันทึกไว้หรือเปล่าครับ ท่านใดทราบ โปรดเอื้อเฟื้อข้อมูลด้วยเถิดครับ

   เมื่อวาน ผมลืมเล่าไปครับว่าเหตุไฉนถึงสมัครใจท่อง “รถเอยรถวิมาน” เหตุผล คือวรรณลีลาโดนใจผมอย่างจัง กลอนทำนองกลบทกบเต้นนี่เพริศเพราพริ้งพรายดีนักแล ความจริง มีบท “บุษเอยบุษบกแก้ว” อีกหนึ่งบทที่ผมท่องได้ครับ ท่องภายหลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว แต่เนื่องจาก กระทรวงศึกษาธิการร่างหลักสูตรใหม่ (ภายหลังผมจบมัธยมปลาย) กำหนดให้บุษบกแก้วเป็นอาขยานบทหลักของชั้น ม.๑ คือครูต้องบังคับให้ท่อง หรือเคี่ยวเข็ญให้เด็กเลือกท่องแหงๆ จึงยังไม่พิมพ์ก่อน แต่จะขอมติจากทุกท่านครับว่าเห็นควรให้พิมพ์หรือไม่ หากมติเห็นชอบแล้วไซร้ ผมจึงจะพิมพ์ขอรับ

   เอารถมาฝากอีกคันแล้วกันครับ นี่มิใช่รถทรง หาก เป็นรถซิ่งครับ

   ดังได้กล่าวแล้วในย่อหน้าก่อนว่า กลอนกลบทเชิงกบเต้นนั้นท่วงทำนองเสนาะ กวีที่จับคั้นฟั้นเฟ้นเล่นกับฉันทลักษณ์จนช่ำมือย่อมสามารถพลิกแพลงแปรงแปรไปได้ตามใจของท่าน แหละท่านคมทวน คันธนู ก็เป็นหนึ่งในกวีแถวหน้าที่แม่นยำในคำกานท์ มีบทกวีสุดแสบชิ้นหนึ่งของท่าน ชื่อ “พาราสาวัตถี” พิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ “วิเคราะห์วรรณกรรม วิจารณ์วรรณกร” ครับ ผมสันนิษฐานเอาจากบริบทของข้อความว่าเห็นจะประพันธ์ประมาณ พ.ษ. ๒๕๒๘ กระมังครับ งานชุดนี้แบ่งเป็น ๑๐ ภาค ผมน่ะไม่มีหนังสือติดตัวหรอกครับ แต่โชคดี น้องเอกวิทย์ ทวีผล นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ชอบอ่านกาพย์กลอนเหมือนกันไปเจอเข้า น้องเขาตาโตตื่นเต้น พิมพ์เก็บไว้อ่านเองแล้วยังเผื่อแผ่ส่งอีเมล์มาให้ผมอ่านด้วย ผมอ่านทีไรก็ขำทีนั้นครับ

   แหม เลี้ยวลดคดค้อมอ้อมคุ้งมาตั้งไกล เข้าประเด็นดีกว่าครับ ใน “พาราสาวัตถี” มีอยู่ช่วงหนึ่ง กวีท่านจงใจประเทียดเสียดสีประดาคนมีตำแหน่งที่ชอบวางเขื่อง โดยนำเสนอด้วยลีลากลอนเชิงกลบทกบเต้น ผมอ่านไปปรบมือไปหัวเราะน้ำตาเล็ดอีกต่างหาก ส่วนท่านผู้อ่านจะขำก๊ากเหมือนผมหรือไม่ ลองอ่านกันดูเถิดขอรับ นี่อาขยานนอกตำราเรียนแท้ๆครับผม

   เบ็นซ์เอยเบ็นซ์ซิ่ง
เงาพลามงามพริ้งอภิสุข
วิ่งปราดวาดเปรียวเลี้ยวรุก
เฆี่ยนสนับขับสนุกไปทุกทิศ

   ใครแซงแข่งสู้เดี๋ยวกูเสียบ
กูเหยียบกูใหญ่กูไม่ผิด
แอบท้ายอ้ายถ่อยถอยชิด
ประกาศิตประกาศสั่งไปทั้งทาง

   ตัวไหนตัดหน้าก็ฆ่าเสีย
อะฮ้าอ้ายเหี้ยไม่มีหาง
ซัดเปรี้ยงเสียงเปรี้ยงกระหึ่มคราง
ทุกบ้านทั้งบางเป็นใบ้ดู

   มุ่งหน้ามาแนบเมียน้อย
ปากหื่นปืนห้อยมู่ฮู่
สำเริงเซิ้งรส รูรูรู
อาฮะ อู้ฮู ดาดาดา ฯ ๘ คำ ฯ






 


 
 
บันทึกการเข้า
Vendetta
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 14:40

น่าเสียดายนะครับที่เดี๋ยวนี้แม้หนังสือเรียนวรรณคดีไทยจะกำหนดวรรคทองให้นักเรียนได้ท่องกัน
แต่ก็ปรากฎว่าไม่ค่อยมีคนทำตามเท่าใหร่นัก แต่ละบทเพราะทั้งนั้นเลย  

ผมชอบบทนี้ครับ
ดูผิวสินวลละอองอ่อน  มะลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น
สองเนตรงามกว่ามฤคินทร์  นางนี้เป็นปิ่นโลกา
งามโอษฐ์ดังใบไม้อ่อน  งามกรดังลายเลขา
งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า  งามยิ่งบุปฝาแบ่งบาน
ควรฤๅมานุ่งคากรอง  ควรแต่เครื่องทองไพศาล
ควรแต่เป็นยอดนงคราญ  ควรคู่ผู้ผ่านแผ่นไผท

เป็นบทชมโฉมนางศกุนตลา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง