เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4746 ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม ก่อนสายลมเดือนตุลาจะลาล่วง
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 24 ต.ค. 10, 16:39

   เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดถึงท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   กระทู้นี้ ถ้าหากผมสมัครเป็นสมาชิกเรือนไทยได้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ก็คงจะเขียนเสร็จไปนานแล้ว แต่... ตราบใด เดือนนี้ยังมิลีลาศคลาดคล้อย ก็คิดว่าคงไม่สายเกินไปกระมังครับ

   ผมอยากเรียนถามทุกๆท่านว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตเล่มใดที่ยังสถิตกลางใจของท่าน คำถามสั้นๆครับ หากได้คำตอบ ก็เท่ากับ ผมได้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือนั่นเอง

   สำหรับตัวผมนั้น ขออนุญาตเล่าประสบการณ์สักน้อยหนึ่งครับ ว่า ได้สัมผัสกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตครั้งแรกอย่างบังเอิญที่สุด พ.ศ. ๒๕๔๕ ภายหลังจากฟังรวมกวีนิพนธ์ชุด คำหยาด ของ ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จบไป รู้สึกซาบซึ้งตรึงใจนัก จึงค้นในตู้หนังสือ หางานของท่านอาจารย์เนาวรัตน์มาอ่านอีก แล้วก็พบ เพียงความเคลื่อนไหว ซึ่งพี่สาวเลิกอ่านแล้วยกให้ แต่เจ้าน้องชายมิเคยสนใจเลยนับเป็นเวลาหลายปี พอหยิบมาให้คุณน้าท่านอ่าน ตอนนั้น ยังไม่รู้เรื่อง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นพื้นฐานมาก่อน จึงงงงงันมิใช่น้อย กระนั้น ก็สัมผัสได้จากโสตประสาทว่า ลีลากลอนของกวีเปลี่ยนไปจากคำหยาด บางช่วง ถึงแม้จะมิแจ่มแจ้งกระจะกระจ่างในความหมาย แต่ถ้อยคำอันกวีสรรใช้ก็ทำให้ผมขนลุกครับ

   “ไปแล้วหรือไรลูกแม่”
”ไปแน่แม่จ๋าอย่าหวั่น
สายเลือดลูกแม่ทั้งนั้น
จะไปปั้นทางทองให้แม่เดิน”
(ตอนท้ายของบทกวีชื่อ “แด่ลูกที่ดีของประชาชน”)

   เพราะสงสัยจึงไต่ถามคุณน้า โดยเฉพาะ น้าชาย ซึ่งแน่หละ คนรุ่นนั้น ในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาทั้งสองคราสองคราวกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาวอันรุ่มร้อนด้วยไฟฟอนปณิธาน ได้ข้อมูลมาปะติดปะต่อ ถึงยังรัวๆรางๆก็ยังช่วยให้อ่านหนังสือเล่มต่อไปได้ง่ายขึ้น ไม่งงเหมือนเล่มแรก เล่มนั้นคือ ใบไม้ที่หายไป ของ ท่านอาจารย์จิระนันท์ พิตปรีชา ครับ เล่มนี้เอง ที่ทำให้ผมรู้สึกสะอึก เมื่อหูกระทบกลอนบทหนึ่งเข้า

   “ชีวิตตนจนบัดนี้ไม่มีแผก
สวะที่รอแตกตามกระแส
เริ่มละอาย เริ่มเพียรเพื่อเปลี่ยนแปร
ต่อตัวเองตั้งข้อแม้แก้สังคม”
   (ส่วนหนึ่งของบทกวี “ความในใจจากภูเขา”)

   ผมเล่ากำลังทำอะไรอยู่ ลื่นไหลไปตามกระแส ลืมคิดถึงผู้อื่นอยู่ใช่ไหม?

   หนังสือกวีนิพนธ์ซีไรต์อีกเล่มที่ซื้อเพราะตอนนั้นยึดติดกับรางวัลชื่อหรู ก็คือ นาฏกรรมบนลานกว้าง ของ ท่านอาจารย์คมทวน คันธนู ฟังแล้วอึ้ง คาดไม่ถึงครับว่าจะเจออะไรดุเดือด หนักหน่วงขนาดนี้

   จากสามเล่มซึ่งมีติดบ้าน ทำให้ติดอกติดใจ ต้องวิงวอนคุณน้าท่านให้พาไปศูนย์หนังสือจุฬาฯ เก็บ จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย ของท่านอาจารย์ทวีป วรดิลก กับ ขอบฟ้าขลิบทอง ของท่านอาจารย์ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา กลับมาเสพเพิ่ม แหละนับแต่บัดนั้น วรรณกรรมเพื่อชีวิต ก็เข้ามาผนึกผนิดกับชีวิตผมเฉกเช่นวรรณกรรมแนวอื่น  ไม่ใช่เพียงกวีนิพนธ์หรอกครับ ภายหลัง นวนิยาย รวมเรื่องสั้น ตลอดจนบทความ (บางเล่ม) ก็ตามมาด้วย

   ผมพล่ามมาเสียหลายบรรทัด ขอเอวังหละครับ สืบไป หากท่านผู้อ่านจะกรุณาแลกเปลี่ยนความเห็น ก็จะเป็นพระคุณพ้นประเมินประมาณครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ต.ค. 10, 22:47

วรรณกรรมเพื่อชีวิตเป็นวรรณกรรมบันทึกเหตุการณ์การเมืองช่วงหนึ่งในอดีต  นับแต่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ (บางคนนับย้อนไปตั้งแต่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖)
มาจนถึงวันที่นิสิตนักศึกษากลับออกจากป่า  ตามนโยบาย "การเมืองนำหน้าการทหาร" ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
หลังจากนั้นก็ค่อยๆคลายลงเป็นวรรณกรรมสะท้อนชีวิต และสังคม   นำเสนอชีวิตผู้คนที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้น

คุณคงจะเคยอ่าน เพียงความเคลื่อนไหว ของ  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  มาแล้ว
เป็นบทกวีดังที่สุดบทหนึ่งในวรรณกรรมแนวนี้

ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด
ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา
พอใบไม้ไหวพลิกริกริกมา
ก็รู้ว่าวันนี้มีลมวก


เพียงกระเพื่อมเลื่อมรับวับวับไหว
ก็รู้ว่าน้ำใสใช่กระจก
เพียงแววตาคู่นั้นสั่นสะทก
ก็รู้ว่าในหัวอกมีหัวใจ


โซ่ประตูตรึงผูกถูกกระชาก
เสียงแห่งความทุกข์ยากก็ยิ่งใหญ่
สว่างแวบแปลบพร่ามาไรไร
ก็รู้ได้ว่าทางยังพอมี


มือที่กำหมัดชื้นจนชุ่มเหงื่อ
ก็ร้อนเลือดเดือดเนื้อถนัดถนี่
กระหืดหอบฮวบล้มแต่ละที
ก็ยังดีที่ได้สู้ได้รู้รส


นิ้วกระดิกกระเดี้ยได้พอให้เห็น
เรี่ยวแรงที่แฝงเร้นก็ปรากฏ
ยอดหญ้าแยงหินแยกหยัดระชด
เกียรติยศแห่งหญ้าก็ระยับ


สี่สิบปีเปล่าโล่งตลอดย่าน
สี่สิบล้านไม่เคยเขยื้อนขยับ
ดินเป็นทรายไม้เป็นหินจนหักพับ
ดับและหลับตลอดถ้วนทั้งตาใจ


นกอยู่ฟ้านกหากไม่เห็นฟ้า
ปลาอยู่น้ำย่อมปลาเห็นน้ำไม่
ไส้เดือนไม่เห็นดินว่าฉันใด
หนอนย่อมไร้ดวงตารู้อาจม


ฉันนั้นความเปื่อยเน่าเป็นของแน่
ย่อมเกิดแก่ความนิ่งทุกสิ่งสม
แต่วันหนึ่งความเน่าในเปือกตม
ก็ผุดพรายให้ชมซึ่งดอกบัว


และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ
เป็นความงดความงามใช่ความชั่ว
มันอาจขุ่นอาจข้นอาจหม่นมัว
แต่ก็เริ่มจะเป็นตัวจะเป็นตน


พอเสียงร่ำรัวกลองประกาศกล้า
ก็รู้ว่าวันพระมาอีกหน
พอปืนเปรี้ยงแปลบไปในมณฑล
ก็รู้ว่าประชาชนจะชิงชัย

แต่ว่าปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปจากการต่อสู้ทางชนชั้น  ระหว่าง "ซ้าย" และ "ขวา"   มาเป็น "สี" ที่ต่างกัน
บทกวีล่าสุดของคุณเนาวรัตน์ จึงนำเสนอในความคิดอย่างที่ยกมา

@ทาษทุน@ โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
       
       
       @ ปลดทาษให้เป็นไท
       แต่ทาษใหญ่ก็ยังมี
       คือทาษที่ยอมพลี
       ขายวิญญาณให้นายเงิน
       
       @ เปลี่ยนโซ่มาเป็นสร้อย
       ห้อยกะพรวนเขย่าเพลิน
       เห่าโฮ่งกระโหย่งเดิน
       กระดกก้นไปตามกัน
       
       @ นายเงินก็หนักเงิน
       สะดุดเดินยังดึงดัน
       คือลิงที่พัลวัน
       จะแก้แหที่คลุมหัว
       
       @ ทั้งทาษแลทั้งนาย
       ยิ่งเหนอะน่ายยิ่งเนียนัว
       ภัยพาลก็พันพัว
       ยิ่งดิ้นพล่านยิ่งพลาดแพลง
       
       @ คือไทยที่ใจทาษ
       ทั้งปล้นชาติทั้งพาลกระแชง
       ยังตะบัน ยังตะแบง
       ตะเบ็งถ่อยตะโบมไท!
       
       
       
       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 ต.ค. 10, 13:15

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างยิ่งครับ สำหรับความรู้ และบทกวีที่ท่านนำมาย้ำเตือนความทรงจำผมอีกหน บท เพียงความเคลื่อนไหวนั้นอำมตะจริงๆครับ ผมเคยยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่า ในห้วงเวลาที่สงครามสีเสื้อดำเนินอยู่ (แหละก็คงจะดำเนินต่อเนื่อง โดยมิอาจคะเนได้ว่าวันใดจะยุติ) ข้างฟากแดง เคยมีนักปลุกระดมคนสำคัญของฝ่ายเขาคนหนึ่ง นำบทกวีนี้ไปขับขาน แล้วก็มีพรรคพวกเดียวกันกับเขาออกมาโวยวาย ผมฟังแล้วก็ขำครับ

   จะว่าไป บทกวีอันเกิดขึ้นระหว่างยุคสงครามเสื้อสีนี่ก็มีหลายชิ้นนะครับ ผมอ่านได้หมดหละครับทั้งเหลืองทั้งแดง ศิลปะก็คือศิลปะ มันมีความงดงามอร่ามเรืองอยู่ในตัว ผมยังเคยนั่งคิดเล่นๆเลยครับว่า ภายหลังสงครามสงบ และระยะเวลาผ่านไปนานพอจนเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงตกผลึกกลายเป็นประวัติศาสตร์แล้ว จะมีสำนักพิมพ์ไหนจัดรวบรวมพิมพ์บทกวียุคสงครามสีนี้หรือไม่ แบ่งหน้ากระดาษกันไปเลย ฝ่ายเหลืองใช้กระดาษสีเหลือง ฝ่ายแดงใช้กระดาษสีแดง จัดตั้งทีมบรรณาธิการคัดเอาเฉพาะบทกวีซึ่งพิจารณาแล้วว่า ถูกต้องตามครรลองฉันทลักษณ์ มีความงามทางวรรณศิลป์ ทรงพลัง สื่ออารมณ์ของแต่ละฝ่ายได้ชัดเจน เข้มข้นมารวมไว้ อย่างน้อย มันคือบันทึกอีกหน้าหนึ่งของผืนแผ่นดินที่อนุชนควรศึกษา นี่คือความเห็นส่วนตัวของผมครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:38

นำบทกวียุคปัจจุบัน ที่ดิฉันชอบมาให้ฟัง     บทนี้อาจไม่ใช่วรรณกรรมเพื่อชีวิต ที่มุ่งไปทางด้านสะท้อนชนชั้นในสังคม   แต่ก็สะท้อนชีวิตและอารมณ์ได้สะเทือนใจ
นึกถึง เดือนเพ็ญ ของ นายผี ขึ้นมารำไร

นกขมิ้น
นภาลัย สุวรรณธาดา

เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อน                            เจ้าบินร่อนมาแต่เช้า
จนยามสายบ่ายเข้า                               ไม่รู้ว่าเจ้าจะไปไหน
เจ้าบินเดียวเดี่ยวโดด                             เจ้าบินโลดไร้คู่
เห็นเขาบินมาเป็นหมู่                              เจ้าแลดูแล้วถอนใจ
ตะวันรอนอ่อนแสง                                 เจ้าอ่อนแรงปีกล้า
ค่ำนี้นอนชายป่า                                   แล้วค่ำหน้าจะนอนไหน
ไม่มีรังไม่มีเรือน                                   ไม่มีเพื่อนพักพิง
มีแต่อ้อมไม้อิง                                     ฟังหรีดหริ่งเรไร
หนาวน้ำค้างกลางฟ้า                              หนาวน้ำตากลางดึก
ทั้งหนาวลมพรมพฤกษ์                            มันหนาวลึกลึกกลางใจ
เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อน                            จะหาคอนให้เจ้าเคียง
เจ้าคงหลบคงเลี่ยง                                ขออยู่เพียงพงไพร
ความเสรีมีอยู่                                      แต่ก็คู่กับความเหงา
เจ้าเลือกชีวิตของเจ้า                              ถึงเปลี่ยวเปล่าก็ต้องไป
ถึงไร้เรือนเพื่อนพัก                                ถึงไร้รักเร่ร่อน
ถึงปีกหางบางอ่อน                                ยังบินฟ้อนฟ้าไกล
ชีวิตเอยชีวิต...                                    ถ้ามีสิทธิ์เลือกบ้าง
จะบินสู่ฟ้ากว้าง                                    ไปตามทางของหัวใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 11:43

อีกบทหนึ่งของ นภาลัย สุวรรณธาดา ชื่อ ประชาธิปไตย   ในหนังสือรวมบทกวี ๒๕๕๓

ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย                                      คืออะไรรู้ไหมหนู
ไม่ยากถ้าอยากรู้                                   หนูเห็นอยู่ไม่ห่างไกล
ประชาคือปวงชน                                  หมายถึงคนทั่วทั่วไป
ประชาธิปไตย                                      อำนาจในประชาชน
ประชาจึงเป็นใหญ่                                 มิใช่ใครเพียงบางคน
สิทธิมีมากล้น                                       หน้าที่คนก็ต้องมี
ประชาธิปไตย                                      เด็กทำได้ถ้าทำดี
สามข้อต่อไปนี้                                     เด็กควรมีทุกประเด็น

หนึ่งคือ “คารวะ”                                  ไม่เลยละฟังความเห็น
เขาพูด ฟังให้เป็น                                  อย่าคิดเด่นเพียงคนเดียว
สองคือ “สามัคคี”                                  ถ้างานมีต้องข้องเกี่ยว
ช่วยกันตัวเป็นเกลียว                              อย่าหนีเที่ยวเอาเปรียบคน
สามคือใช้ “ปัญญา”                              แก้ปัญหาด้วยเหตุผล
ปัญหาของปวงชน                                เหมือนของตนช่วยหาทาง
ประชาธิปไตย                                     ใช่ตามใจตนทุกอย่าง
ใจเขาใจเราพลาง                                 เปิดใจกว้างรักและอภัย
เด็กดีมีสามสิ่ง                                     ชาติจะยิ่งก้าวหน้าไกล
ประชาธิปไตย                                     อยู่ที่ใจของเราเอง
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 14:32

กราบขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เทาชมพู บทกวีของท่านอาจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา ไพเราะจับใจมากครับ อาจารย์นึกถึงเดือนเพ็ญ ผมก็นึกเฉกเดียวกันครับ

   มีงานกวีนิพนธ์ชิ้นหนึ่ง ชื่อ “ความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งสันนิษฐานกันว่า ท่านอัสนี พลจันทร น่าจะรจนาขึ้นในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๕ ภายหลังจอมพล ป. จับกุมนักโทษคดี “กบฏสันติภาพ” ไปเข้าคุกเรียบร้อยแล้ว ดูเหมือนจะเป็นวรรณาวุธชิ้นท้ายๆก่อนเข้าป่ากระมังครับ โดยส่วนตัวผม ชอบงานชิ้นนี้ด้วยเห็นว่า ท่านอัสนีนั้น เป็นนักเลงกาพย์ (ฉบัง ยานี) ชั้นเซียนทีเดียว แม้ส่วนใหญ่ของ “ความเปลี่ยนแปลง” จะออกไปในลีลาแกร่งกร้าวห้าวหาญ  แต่ผมคิดว่า กวีไม่สามารถปิดงำอารมณ์เปล่าเปลี่ยวเดียวดายของท่านไว้ได้มิดชิด อย่างน้อย นี่คือหลักฐานที่ผมพบเจอครับ

   “นกน้อยมีรวงรัง
จึงเริงร้องได้สำราญ
โพยภัยมิพ้องพาน
สำหรับลูกแลเมียมัน

   ตัวเราสิไร้เรือน
จะรองร่างทุเรศครัน
ลูกเมียไม่มีวัน
มารวมร่วมสำเริงรมย์

   แม้ตายแต่เพียงหลุม
จะใส่ร่างอันรันทม
ทั้งโลกอันสวยสม
ดูเสร็จแล้วไม่เห็นมี”

   ผมขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ครับ หนังสือรวมบทกวี ๒๕๕๓ สามารถหาซื้อได้จากแหล่งใดครับ หรือต้องโทรศัพท์สั่งจองกับท่านผู้ประพันธ์โดยตรง หนังสือของอาจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา ผมมีเก็บไว้เล่มเดียวเท่านั้นครับ คือ “ดอกไม้ใกล้หมอน” ที่พิมพ์ใหม่ รู้สึกจะสองปีก่อน จำได้เลยว่าซื้อจากศูนย์หนังสือจุฬาครับผม
 
   
บันทึกการเข้า
tikumporn
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ต.ค. 10, 08:33

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า

ฑิฆัมวงศ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 ต.ค. 10, 10:29

จะวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน ค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 ต.ค. 10, 13:25

ผมเข้ามารับข่าวดีจากท่านอาจารย์เทาชมพูครับ สำหรับตัวเอง การได้รับรู้ว่ามีหนังสือกวีนิพนธ์คุณภาพออกใหม่ (ไม่ว่าจะหนังสือเก่าพิมพ์ใหม่ หรือเพิ่งพิมพ์สดๆร้อนๆก็ตาม) ถือเป็นข่าวที่ผมปิติยิ่งกว่าข่าวทำนอง ส่งสลากหรือซองสินค้าไปชิงโชคแล้วได้รับรางวัลเสียอีก นับแต่นี้ไป ผมคงต้องหมั่นเข้าเว็บไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาเนืองๆแล้วหละครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งครับผม
 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง