เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 44315 สายสกุลจีนของ เจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 25 ต.ค. 10, 12:12

บุตรเจ้าพระยาพระคลังจีน(อ๋องเฮงฉ่วน)ที่เกิดที่เมืองกวางหนำในเมืองจีน(ไม่ทราบว่าคือเมืองใดในปัจจุบัน)กับภรรยาหลวงมี๖คน บุตรชาย๔คนได้ติดตามบิดามาช่วยทำมาค้าขายอยู่กรุงศรีอยุธยา มีนามว่า เจ๊สัวอ๋องไซ่ฮู่ เจ๊สัวอ๋องไล่ฮู่ เจ๊สัวอ๋องซี เจ๊สัวอ๋องไช่   ส่วนบุตรสาวคนสุดท้องชื่อเง็กซิว บิดาพามาอยู่เมืองไทย พอเป็นสาวได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมพระราชวังบวร มีพระองค์เจ้าหญิงพระองค์หนึ่งประสูติแด่เจ้าจอมมารดาเง็กซิว ชื่อพระองค์เจ้านพรัตนรัศมี

เมืองกวางหนำนี้ น่าจะเขียน 广南 มีข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อนี้อยู่ 2 ประการ
1. การออกเสียง กวางหนำ นี้มีอะไรแปลกๆอยู่ เพราะไม่ตรงกับจีนสำเนีงยใดเสียงทีเดียว จีนกลางจะออกเสียงว่า กว่างหนาน ถ้าเป็นแต้จิ๋วจะว่า กึ๋งน้ำ ฮกเกี้ยนผมไม่ทราบชัด แต่จะใกล้เคียงกับแต้จิ๋ว ผมสงสัยมานานแล้วว่าชื่อ กวางตุ้ง (กวาง ตัวเดียวกับ กวาง ในกวางหนำ ตุ้ง คือ ทิศตะวันออก หนำ คือทิศใต้) ไทยเรียกกันมาตั้งแต่เมื่อใด เพราะดูจะเป็นชื่อเรียกที่ไม่ตรงกับสำเนียงจีนใด แต่น่าจะเป็นการอ่านเพี้ยนจากตัวเขียนของฝรั่งเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง

2. ที่ตั้งของกวางหนำ เมืองนี้อยู่มณฑลยูนนาน ไม่ติดทะเล และไม่ใช่พื้นที่ของพวกฮกเกี้ยน ทั้งยังค่อนข้างไกลปืนเที่ยง ไม่น่าเชื่อว่าอ๋องเฮงฉ่วนจะไปอาศัยอยู่ที่นั่นได้ แต่ชื่อเมืองนี้ยังมีปรากฏอีกที่หนึ่งคือทางตอนกลางของเวียดนาม ใต้เมืองเหฺวลงมา เวียดนามออกชื่อเมืองว่า กว๋างนาม ซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่ากวางหนำในจีนอยู่มากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 25 ต.ค. 10, 13:22

^
คุณม้าครับ

ที่ว่าเมืองกวางหนำไปๆมาๆจะกลายเป็นเมืองกว๋างนามของญวนคงจะปลงใจให้เชื่อได้ยาก

เพราะลูกสาวคนหนึ่งของอ๋องเฮงฉ่วนชื่อกิมลี้ แต่งงานกับจ๋งต๊กเจ้าเมืองกวางหนำ มีบุตรเป็นขุนนางจีนหลายคน ดังนั้นเมืองนี้ถึงชื่อจะเพี้ยนยังไงๆก็คงอยู่ในเมืองจีนที่ออกทะเลได้นั่นแหละครับ



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 25 ต.ค. 10, 14:42

ขอบคุณกระทู้น่าสนใจจาก คุณนวรัตน ครับ

                ไล่เรียงดูได้ข้อสังเกต ครับ

ว่า             รุ่นลูกหลานเกิดในไทย ถ้าเป็นหญิงจะมีชื่อไทย ส่วนชายก็จะได้ชื่อจีนตามหลังชื่อสกุล  
                ลูกสาวเจ๊สัวอ๋องไซ ชื่อ สวาสดิ์ พริ้ง บุญนาก
                ลูกชายคนเล็กซึ่งมีชื่อไทย(อ๋องบุญมาก) อาจเพราะเพื่อให้คล้องจองกับพี่สาว
ในขณะที่พี่ชายทั้งสองชื่อ - อ๋องเส็ง และ อ๋องหลง
            
              แต่พอรุ่นลูกชายของเจ๊สัวบุญมากก็กลับไปชื่อจีน - อ๋องฮี้ อ๋องป้า

              ยกเว้น ลูกจากมารดา(ที่มีเชื้อสายความ)เป็นไทย(มาก) ลูกชายก็จะได้ชื่อไทย และ(มารดา)เลี้ยงดู
แบบคนไทย คือ - อ๋องบุญมี และ อ๋องฟัก จากมารดาบุญเลี้ยง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 25 ต.ค. 10, 15:35

ขออนุญาติแก้ความเพี้ยนของผมก่อนครับ เรื่องชื่อกวางตุ้งไทยเรียกเพี้ยนมาจากฝรั่ง อันนี้ผมลืมไปว่าเคยคิดเรื่องนี้แล้ว และไม่ถูกต้อง เพราะชื่อกวางตุ้งปรากฏใช้ในไทยมานานกว่านั้นมาก เป็นอันว่าสมมติฐานเรื่องนี้ตกปไครับ

กลับไปที่กวางหนำ เรื่องนี้เป็นเรื่องลำบากใจ เพราะชื่อ 广南 ที่ว่าปรากฎอยู่สองแห่งในจีนกับเวียดนามนั้น ขัดกับข้อมูลของ กศร. กุหลาบทั้งคู่

กว่างหนาน กวางหนำในจีนอยู่ในยูนนาน ใกล้กับกว่างซี (กว่างสี) อยู่ห่างจากทะเล 300 กว่า กม. ไม่มีแม่น้ำที่จะออกทะเลได้ และไม่ใช่ศูนย์กลางการค้า ทั้งไกลจากฟุเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ไม่น่าเป็นไปได้ว่าอ๋องเฮงฉ่วนจะไปสร้างครอบครัวที่นั่นได้

กว๋างนาม กวางหนำในเวียดนาม มีเมืองท่าสำคัญในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 คือเมืองโห่ยอาน (ที่ชอบเรียกกันว่าฮอยอันนั่นแหละครับ) เมืองโห่ยอ่านนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสมัยนั้น มีคนจีนและชาติอื่นมาค้าอย่างคึกคัก ก่อนที่จะพระเจ้ายาลองจะย้ายเมืองท่าไปที่ด่าหนังซึ่งอยู่ใกล้กันในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ครับ ดังนั้นถ้าตัดข้อมูลที่ว่า "ในจีน" ของ กศร.กุหลาบออกไป กว๋างนามในเวียดนามนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นกวางหนำอยู่มากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 25 ต.ค. 10, 16:19

^
อย่างนี้ก็ต้องเลือกจะต้องเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง

ถ้าจะเชื่อว่าอ๋องเฮงฉ่วนและลูกๆเป็นคนจีน ไม่ใช่คนญวน (จึงเป็นผู้นำคนจีนในกรุงศรีอยุธยาและธนบุรี กรุงเทพได้) และมามีมาตุภูมิอยู่ในจีน ก็ต้องเชื่อว่าก.ศ.ร.กุหลาบบันทึกข้อมูลชื่อเมืองจีนที่ว่ากวางหนำนั้น ผิดหรือเพี้ยน

หรือถ้าจะเชื่อว่าก.ศ.ร.กุหลาบบันทึกชื่อเมืองถูก และคุณม้ายืนยันว่าในเมืองจีนไม่มีชื่อนี้ มีแต่ในญวน ถ้าเชื่อคุณม้าก็ต้องเปลี่ยนความเชื่อเสียใหม่ว่า อ๋องเฮงฉ่วนและลูกๆเป็นคนจีนมาจากเมืองญวน(คงไม่เลยไปถึงขั้นว่าเป็นคนญวนหรอกนะครับ) แต่ก็ยังไม่เนียนอยู่ดี เพราะคิดได้อย่างไรที่จะตีเรือไปจีนเพื่อขนตุ๊กตาหินและแผ่นหินอ่อน มาขายเมืองไทย แถมยังเชี่ยวชาญขนาดรับใช้ราชสำนักไทย พาคณะทูตไปจิ้มก้องถึงเมืองปักกิ่ง ถ้าเป็นจีนพลัดถิ่นอยู่เมืองญวน คงทำได้ยาก

เรื่องลูกสาวแต่งงานกับเจ้าเมืองญวน(กวางหนำ) แต่บุตรหลายคนกลับไปรับราชการที่เมืองจีน เป็นขุนน้ำขุงนางได้ ก็จะประหลาดไปอีกเรื่องหนึ่งด้วย

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 26 ต.ค. 10, 06:49

คุณหนุ่มสยามนำภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่๔นี้มาลงไว้ในเวป ผมจึงได้สังเกตุว่าเสาสูงที่อยู่เบื้องหน้าคือเสาธงวังหน้า ในตำนาน…..

พระองค์น้อยได้เสด็จเข้าไปอยู่ในพระบวรราชวังแต่  ณ  วันศุกร์    เดือน  ๖  ขึ้น  ๒  ค่ำ    ปีกุน  ตรีศก  จุลศักราช  ๑๒๑๓     แต่ก่อนงานพระราชพิธีบวรราชาภิเศก   เสด็จประทับแรมอยู่ในพระฉาก ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย  เสด็จขึ้นไปประทับที่พระบวรราชวังเวลากำลังปรักหักพังทรุดโทรมทั่วไปทั้งวัง   ข้าราชการวังน่าที่ได้ตามเสด็จไปแต่แรกเล่ากันว่า   ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพระโอษฐ์ว่า  "เออ อยู่ดีดีก็ให้มาเปนสมภารวัดร้าง"

เมื่อเสด็จประทับพระบวรราชวังแล้ว  ก็โปรดให้ตั้งเสาธงสำหรับพระบวรราชวังขึ้น    ได้ชักธงพระจุฑามณีเป็นประจำ

           . . . ฉันมาทราบในภายหลังว่า การทำเสาธงนั้น เกี่ยวกับการเมือง เป็นข้อสำคัญ ควรจะเล่าให้ปรากฏ คือในเมืองไทยแต่ก่อนมา การตั้งเสาธงมีแต่ในเรือกำปั่น  บนบกหามีประเพณีเช่นนั้นไม่     มีคำเล่ากันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม  อันเป็นที่เสด็จประทับ  และชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระกฐิน     เมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามผู้อยู่ใกล้พระองค์ว่า “นั่น ท่านฟ้าน้อย เอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม?”

 พิเคราะห์เห็นว่า มิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่า ทำโดยเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้น เพราะไม่โปรดที่ไปเอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง

"ความทรงจำ"
พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 26 ต.ค. 10, 09:00

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนถึงเจ้าคุณจอมมารดาเอม

เวลาที่เจ้านายพวกฉันออกไปเรียนภาษามคธนั้น  ร่วมเวลาประชุมปรึกษาราชการแผ่นดินที่เก๋งวรสภาภิรมย์ อยู่ใกล้ๆกันได้ยินถนัด  เสียงเจ้าพระยาภูธราภัย สมุหนายกนั้นดังกว่าเพื่อน  แต่ปรึกษาหารือกันอย่างไรไม่เข้าใจ ถึงกระนั้นก็ชอบแอบดูตามประสาเด็ก  พอจวนเวลา ๑๑ นาฬิกากรมพระราชวังบวรฯเสด็จมา  มีกระบวนแห่มาจากวังหน้าทุกวัน  กระบวนหน้ามีทหารคน ๑ ถือธงช้างนำ แล้วถึงแตรวงและทหารราบกองร้อย ๑  พวกนี้มาหยุดอยู่นอกประตูวิเศษชัยศรี  ต่อนั้นถึงกระบวนตำรวจหน้าเดิน ๒ สาย  ไพร่ถือมัดหวาย นายถือหอก   เดินเข้ามาจนถึงประตูพิมานชัยศรี  ต้องวางหอกและมัดหวายไว้เพียงนั้น  เดินประสานมือเปล่าเข้าประตูต่อมา   กรมพระราชวังบวรฯทรงพระราชยาน กั้นพระกลด  มีมหาดเล็กเชิญเครื่องตามและมีวอพระที่นั่งรอง(สำหรับเวลาฝนตก)ด้วยหลัง ๑  กระบวนหลังมีนายทหารคาดกระบี่และตำรวจหลังเดินแซง ๒ สาย  มาปลดกระบี่วางหอกที่นอกประตูพิมานชัยศรีเหมือนพวกกระบวนหน้า   กรมพระราชวังบวรฯเสด็จลงจากพระราชยานที่หน้าเก๋งวรเทพสถาน  ทรงพระราชดำเนินมาประทับแท่นพระราชอาสน์ในเก๋งวรสภาภิรมย์   มีมหาดเล็กเชิญพระแสงดาบอยู่ด้วยคน ๑ กับมหาดเล็กอยู่งานพัดคน ๑  ประทับคอยอยู่จนถึงเวลาเข้าเฝ้าในท้องพระโรง   แต่เมื่อกรมพระราชวังบวรฯเสด็จเข้าเฝ้านั้น  พวกข้าราชการวังหน้าต้องคอยอยู่ข้างนอกบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  มีแต่จางวางหรือหัวหมื่นมหาดเล็กตามเสด็จติดพระองค์เข้าไปจนถึงพระทวารเพียงคนหนึ่งหรือสองคน  

เจ้านายพวกฉันแต่พอเสด็จออกก็เลิกเรียนเข้าไปในท้องพระโรงก่อนกรมพระราชวังบวรฯ  เมื่อเข้าพระทวารพระที่นั่งอมรินทรฯต้องคลานผ่านที่ประทับของเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่  พระองค์อื่นดูท่านเฉยๆ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์(เวลานั้นยังเป็นกรมขุน) กับกรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติและกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์  สามพระองค์ทรงเมตตาพวกเจ้านายเด็กๆมักตรัสทักทาย  ส่วนตัวฉันเองดูเหมือนสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงพระเมตตาโดยเฉพาะตัวมาแต่สมัยนั้น  เวลาเข้าไปกราบกรานมักทรงลูบหลังและตรัสเล่นด้วย  บางวันก็มีของเล่นใส่กระเป๋าฉลองพระองค์มาประทาน  ฉันก็รักท่านมาแต่ในสมัยนั้น  เมื่อเข้าไปเฝ้าเจ้านายเด็กๆทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิงไปนั่งรวมกันอยู่ข้างหลังราชอาสน์  แล้วคอยอยู่จนเสด็จขึ้นก็ตามเสด็จเข้าไปในวัง  บางวันก็เลยไปเรือน  บางวันก็แวะเล่นหัวตามตำหนักเจ้านายพี่น้องแล้วจึงกลับไปเรือน   แต่ตัวฉันเองดูเหมือนจะชอบเที่ยวเป็นอุปนิสัยติดตัวมาแต่เล็ก  ถึงสมัยนี้มักหาช่องให้คุณตาพาไปบ้าน  หรือมิฉะนั้นก็ตามเสด็จกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร(เวลานั้นยังเรียกกันว่า พระองค์เจ้ากมทลาสเลอสรรค์ ซึ่งเป็นลูกคุณป้าเที่ยง)ไปยังตำหนักที่พักของท่าน อยู่ริมคลองวัดสุทัศน์ฯเนื่องๆ ไปค้างคืน ๑  พอรุ่งขึ้นท่านจะเข้าเฝ้าก็พากลับมาส่งในวังทันเวลาเรียนหนังสือ   บางวันเก่งกว่านั้น ถึงลอบขึ้นวอตามเสด็จกรมพระราชวังบวรฯขึ้นไปวังหน้า  เพราะฉันเคยตามเสด็จทูลกระหม่อม รู้จักทางเข้าออกและคุ้นเคยกับท่านผู้ใหญ่ในวังหน้ามาแต่ก่อน  พอไปถึงก็ตรงไปหาเจ้าคุณจอมมารดาเอม ชนนีของกรมพระราชวังบวรฯ  ท่านเลี้ยงดูแล้วเลยไปนอนค้างที่ตำหนักหม่อมเจ้าหญิงรุ่ม ในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี  ซึ่งเคยเอาเป็นธุระเลี้ยงดูด้วยถือว่าเป็นหลาน  รุ่งขึ้นก็ขึ้นวอตามเสด็จกรมพระราชวังบวรฯกลับมาวังหลวง   เมื่อฉันไปครั้งแรกกรมพระราชวังบวรฯไม่ทรงทราบ  ครั้นไปอีกครั้งหนึ่งคงทอดพระพเนตรเห็นเมื่อฉันขึ้นวอ พอเสด็จถึงวังหน้าตรัสถามถึง พวกข้าราชการทูลว่าฉันลงจากวอแล้วหายไป   ตกพระหฤทัยเที่ยวตามหา ไปพบอยู่ที่เจ้าคุณจอมมารดาเอมก็เป็นอันแล้วกันไป


ภาพประกอบเป็นพระรูปหายากของสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงฉายกับพระโอรสองค์สุดท้าย พระองค์เจ้าไชยรัตโนภาส  สี่ห้าปีต่อมาหลังจากนั้นก็เสด็จสวรรคตด้วยพระชนม์เพียง๔๘พรรษา พระองค์เจ้าไชยรัตโนภาสเองก็สิ้นพระชนม์แต่ยังหนุ่มเพียง๒๒พรรษา ไม่ทันได้สืบสายราชสกุล


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 26 ต.ค. 10, 09:19

มีพระนามเจ้านายอยู่หลายพระองค์ ข้างบนนี้   พอจะพาแยกซอยออกมาได้สัก ๒ ค.ห.
๑   สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์



 เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่สมเด็จพระราชชายานารี เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี   ทรงรับราชการกรมวัง ในรัชกาลที่ ๓  ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๔  ดูแลภายในพระบรมมหาราชวังและพิจารณาตัดสินคดีความ กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ (ปัจจุบันคือกรมการศาสนา) ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศและทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นบำราบปรปักษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ทรงบังคับบัญชากรมพระภูษามาลาคลังวิเศษคลังข้างใน  มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕  ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักและว่าพระคลังทั้งปวง ต่อมาทรงเป็นผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี ว่าราชการหัวเมืองต่างๆ และเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ และเป็นประธานของพระบรมวงศานุวงศ์ ต่อมาทรงได้รับการเลื่อนพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘

กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๙ ทรงเป็นต้นราชสกุล มาลากุล

ถ้านับญาติกัน   เจ้าฟ้ามหามาลาก็ทรงเป็น "อา" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 26 ต.ค. 10, 09:42

๒)
กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ



ขอสารภาพว่าไม่คุ้นกับพระนามของเจ้านายพระองค์นี้   ไปถามคุณวิกี้ดู ก็ไม่คุ้นเคยเพิ่มขึ้นมา   ทราบแต่ว่าพระนามเดิม พระองค์เจ้าอุไร  เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓  ทรงกำกับกรมช่างศิลาและกรมแสง   สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕
ทรงเป็นต้นราชสกุล อุไรพงศ์ ณ อยุธยา   (ซึ่งก็ไม่คุ้นกับชื่อราชสกุลนี้อีกเหมือนกัน)

เกร็ดส่วนพระองค์ที่ควรบันทึกไว้ คือประสูติจากเจ้าจอมมารดาเขียว  สุนทรกุล ณ ชลบุรี   สกุลนี้สืบสายมาจากเจ้านายนอกราชวงศ์จักรี  คือจีนเรืองหรือกรมขุนสุนทรภูเบศร์  พระสหายสนิทของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท   จึงได้รับพระกรุณาฯจากรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเจ้านายทรงกรม    เป็นกรณีพิเศษ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 26 ต.ค. 10, 10:01

๓  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๒ พระองค์เจ้ายุคันธร  กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์  พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒



ต้นราชสกุล  ยุคันธร ณ อยุธยา

ดูเหมือนในกระทู้เก่าเรือนไทยเคยพูดถึงเจ้านายองค์นี้ แต่ยังไม่ได้หา  ขอทิ้งเป็นการบ้านไว้ก่อน

มึนๆตรงที่ว่า  มีหลายเว็บที่ระบุว่ากรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ เป็นเจ้านายวังหน้า   คุณวิกิบอกว่าเป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒      แต่ดิฉันเข้าใจว่าคงจะสับสนกับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้ายุคนธร  ซึ่งเป็นต้นราชสกุล ยุคันธรานนท์ ณ อยุธยา   
ในรายชื่อนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ ๖  ระบุว่าทรงเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒  ก็แปลว่าเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒

ฝากคุณ V_Mee หรือท่านใดที่พอจะจำได้ ช่วยบอกรายละเอียดที่ถูกต้อง  จะขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 19:56

ขอประทานโทษคุณครูทุกท่านที่ผมได้เข้ามาคั่นจังหวะนะครับ
เห็นมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง เมืองกวางหนำ

เรื่องเมืองนี้ เคยมีปรากฎในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๕ ไว้ครับ
มีกล่าวถึงเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๑ ว่ามีการแต่งเรือ "ไปค้าขายที่เมืองหกเกี้ยน เมืองเสเกี๋ยง เมืองกวางหนำ ๓๒ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๓๐๔,๐๐๐ หาบ"

หากนำเอาชื่อเมืองทั้งสามนี้ ไปสืบค้นดูคร่าวๆ ซึ่งผมค้นพบข้อมูลและขออนุมานว่า
เขตคู่"กว่าง" จีนกลางปัจจุบันเรียก "เหลี่ยงกว่าง" (หมายถึงดินแดนสองมณฑล คือ กว่างตงและกว่างซี [กวางตุ้ง,กวางไส])ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซึ่งเก่าแก่มาก ก่อนสมัยสุโขทัยเสียอีก)
จะเรียกว่า แดนกว่างหนาน อันประกอบด้วยเขตกว่างหนานตง (廣難東) และกว่างหนานซี (廣南西) ซึ่งปัจจุบันคือดินแดนในเขตมณฑลกว่างซีและไห่หนาน(ไหหลำ)

แต่ในสมัยหลังต่อมา ได้มีการตั้งข้าหลวงสองมณฑล"กว่าง"(liang guang / เหลี่ยงกว่าง) ซึ่งคำว่าหนาน ถูกตัดทิ้งไปแล้ว
ตัวกระผมเองก็ไม่แข็งแรงภาษาจีน จึงไม่แน่ใจว่าในสมัยใด ที่กว่างหนานตง และกว่างหนานซี ถูกกร่อนเหลือแค่ กว่างตง กว่างซี และไห่หนานก็ถูกแยกออกมาเป็นอีกมณฑลเพราะสภาพเป็นเกาะ ดังเช่น ณ ปัจจุบัน

ผมว่า ดังที่คุณ  Navarat.C ตั้งข้อสังเกตไว้มาประกอบด้วย ผมเชื่อว่า เมืองกว่างหนำคือคำโบราณของเขตแคว้นที่กินพื้นที่คลอบคลุมมณฑลกวางตุ้งและกวางสีและไหหลำ
และต้องอยู่ติดหรือใกล้ชายทะเลแน่นอนครับ
ไม่เช่นนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ คงไม่สามารถแต่งลำเรือไปค้าขายได้ง่ายๆแน่นอนครับ
ส่วนจะเป็นเมืองใหน อำเภอใหน ในปัจจุบันนี้ อาจจะต้องสืบค้นเพิ่มเติมต่อไปครับ

ไม่ทราบความเห็นผม พอเข้าเค้าใหมครับ ขอคะแนนด้วยครับคุณครู
 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 20:39

รอลุ้นด้วยคนนึงครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 22:02

รอความเห็นคุณม้าค่ะ   อยากรู้ว่าล็อตเตอรี่จะไปออกที่เมืองไหน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 23:37

ว่าจะเข้ามาตั้งข้อสังเกตเรื่องตุ๊กตาหินที่ขนมาเป็นอับเฉา แต่เจอ คคห. คุณ Diwali เข้าไปถึงกับมึนครับ ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ เพราะเป็นความรู้ใหม่สำหรับผมครับ

กว่างตง กับกว่างซี ถูกเรียกรวมกันว่าเหลียงกว่าง (สองกว่าง) อันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในความนึกคิดของคนปัจจุบัน ไม่มีอะไรพิศดารครับ

แต่เรื่อง(เก่า)ที่ว่าใหม่(สำหรับผม) คือเรื่องที่ว่า กว่างตง และกว่างซี เคยถูกเรียกว่า กว่างหนานตง และกว่างหนานซีครับ และเรื่องนี้ถือเป็น "ข้อเท็จจริง" โดยกว่างหนานตงนั้นรวมเอาไห่หนาน หรือเกาะไหหลำเข้าไปด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องสมัยราชวงศ์ซ่ง (ถูกมงโกลตีแตกตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย)

ทีนี้เป็นเรื่อง "สมมติฐาน"ของคุณ diwali ว่า กว่างหนานตงหนาน+กว่างหนานซี อาจจะเคยถูกเรียกว่า กว่างหนาน

เห็นได้ชัดว่า "เป็นไปได้มาก" ครับ แต่ผมยังหาหลักฐานรับรองไม่ได้เหมือนกัน และไม่แน่ใจว่าถ้าเคยถูกเรียกอย่างนี้จริง จะเป็นเรื่องเก่าถึงขนาดไหน เห็นจะเกินสติปัญญาผมไปมากแล้วครับ

เมื่อทางจีนตัน ขอหันมามองทางไทยบ้าง

จากความในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๕ ที่คุณ Diwali ได้กรุณายกมา "ไปค้าขายที่เมืองหกเกี้ยน เมืองเสเกี๋ยง เมืองกวางหนำ ๓๒ ลำ สินค้าหนักประมาณ ๓๐๔,๐๐๐ หาบ"

หกเกี๋ยน คือ ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน แน่นอน)
เสเกี๋ยง คือ เจ้อเจียง เป็นมณฑลติดทะเลอยู่ถัดจากฮกเกี้ยนออกไป

กวางหนำ ตรงนี้จึงชวนให้คิดว่าเป็น กวางตุ้ง + กวางสี + ไหหลำ จริง ๆ ครับ เพราะเลยจากเจ้อเจียงออกไปก็เป็นเซี่ยงไฮ้และเจียงซูไกลเกินไป (ซึ่งความจริงแล้วแค่ไปถึงเจ้อเจียงก็แปลกมากแล้ว เพราะส่วนมากเรือสยามจะไม่ค้าไกลไปกว่าฮกเกี้ยน เรือนำเครื่องราชบรรณาการไปจีนจะไปขึ้นที่ท่าเมืองกวางตุ้ง(คือเมืองกวางเจาในปัจจุบัน) แล้วส่งเครื่องราชบรรณาการไปเมืองหลวงทางบก) หากจะคิดว่ากวางหนำนี้อยู่ในเวียดนาม ก็เท่ากับไม่กล่าวถึงกว้างตุ้งเสียเฉยๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นสถานีการค้าหลัก

หลักฐานมัดตัวว่า ผู้เขียนพงศาวดารภาค ๔๕ เรียกกวางสี กวางตุ้ง ไหหลำ รวมกัน (หรืออย่างน้อยก็ต้องกวางตุ้ง) ว่ากวางหนำครับ

ฟังดูน่าจะ ซตพ. แต่ในความเป็นจริง ผมว่าเอาชื่อกว่างหนานไปถามคนจีน น่าจะส่ายหน้ากันหมด ไม่น่าจะมีชื่อนี้อยู่ในมโนสำนึกเลยครับ

มึนครับ!

ลองเอาชื่อกวางหนำไปใส่ google ดู เจออันนี้ครับ http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=0c8067bb65ccb51c

มีย่อหน้าหนึ่งเขียนว่า
ความเฟื่องฟูของการค้าต่างประเทศเริ่มเห็นชัด ในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีเรือสำเภาชนิดและขนาดต่าง ๆ บรรทุกสินค้าเต็มอัตรา มีทั้งเรือหลวง เรือเจ้านาย ข้าราชการไทยและเรือของพ่อค้าเอกชนขนถ่ายสินค้ากันอยู่ประมาณ ๗๐๐ ลำ เพื่อส่งไปขายเมืองจีนเป็นส่วนใหญ่เช่นที่เมือง กึนต๋ง ไหหลำ ฮกเกี้ยน เสเกี้ยง กวางหนำและไปเมืองปัตตาเวีย มะละกา เกาะหมาก สิงคโปร์ ไซ่ง่อน เป็นต้น

ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ตอบเอาข้อมูลจากไหน แต่ กึนต๋ง นี่ก็คือ กว่างตง (กวางตุ้ง) เห็นได้ว่า มีชื่อกึนต๋ง ไหหลำ แล้วยังกวางหนำซ้ำเข้าไปอีก

น่าคิดว่าต้นตอข้อมูลนี้มาจากไหนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 27 ต.ค. 10, 23:56

เอ๊ะ เอะใจอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งครับ

พื้นที่แถบเซี่ยงไฮ้ และมณฑลเจียงซู (ที่ว่าอยู่ถัดจากฮกเกี้ยน) ตรงนี้เป็นพื้นที่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง(หยางจื่อเจียง) เรียกว่า เจียงหนาน (江南 แปลว่าฝั่งใต้แม่น้ำ) คอกำลังภายในรู้จักกันดีในสำเนียงแต้จิ๋วปนไทยว่า กังหนำ

ผมกลับไปอ่านประชุมพงศาวดารฉบับที่ ๕๕ ไม่ได้ระบุอะไรแน่ชัดนัก เป็นไปได้หรือไม่ว่าเรียก กังหนำ เพี้ยนเป็น กวางหนำ ผิดฝาผิดตัวไปเลยครับ

แล้วก็ต้องกลับเข้าเรื่องในกระทู้นี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าครอบครัวของอ๋องเฮงฉ่วนจะมาจากเจียงหนาน?

ซึ่งก็ไม่ใช่พวกฮกเกี้ยนอยู่ดีครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 20 คำสั่ง