เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 44347 สายสกุลจีนของ เจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:22

หลายเดือนมาแล้ว มีผู้นำพระรูปเจ้านายวังหน้าพระองค์หนึ่งมาถามในเรือนไทย ผมจึงได้มีโอกาสเขียนเรื่องราวพระประวัติของพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ ต้นราชสกุลนวรัตนลงเท่าที่ตนมีภูมิรู้อยู่ในขณะนั้น ลงในกระทู้ข้างล่างนี้

http://www.reurnthai.com/index.php?PHPSESSID=1e401f5faa9e69780a476e4c61a11f22&topic=3000.0

ต่อมาท่านผู้ใหญ่ที่เคารพในห้องเรือนไทยนี้ท่านหนึ่งได้เมตตามอบสำเนาถ่ายเอกสารหนังสือโบราณอันหาค่ามิได้ชื่อ "มหามุขมาตยานุกูลวงศ์" เล่มที่๑ เรียบเรียงโดย ก.ศ.ร.กุหลาบให้ ขณะนั้นผมกำลังง่วนเรื่องที่เขียนในกระทู้สืบเนื่องอื่นๆอยู่ จึงได้แต่อ่านผ่านไปครั้งหนึ่ง เห็นเป็นเรื่องพระมารดาของท่านซึ่งเชื้อสายมาจากสกุลเจ้าสัวจีนแซ่อ๋องแต่ครั้งกรุงศรี มีรายละเอียดโดยพิศดาร บางจุดต่างกับที่ผมเขียนไปอย่างฉกรรจ์สมควรแก้ไข แต่เห็นว่า จะคัดย่อเนื้อเรื่องจากหนังสือดังกล่าวมาเสนอดิบๆเห็นจะไม่เหมาะ น่าจะต้องค้นคว้าหาสาระจากที่อื่นมาประกอบเปรียบเทียบกันด้วย เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่หนังสือประวัติศาสตร์ฉบับหลวงมิได้ชำระไว้ แต่เมื่อคราวนั้นเวลาไม่อำนวยจึงได้นำหนังสือไปเก็บไว้ก่อนเป็นอย่างดี จนกระทั่งลืมไปว่าสถานที่นั้นอยู่มุมใด นานๆจึงนึกขึ้นมาได้ทีหนึ่งว่าตนเองมีอะไรจะต้องทำที่ค้างคาอยู่ แต่ก็หากรุที่ซ่อนหนังสือไว้ไม่พบ เวลาจึงล่วงเลยมามาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:25

อยู่ๆผมก็เห็นว่า ควรจะจัดการกับกองหนังสือที่นำออกมาค้นคว้าจนเกลื่อนห้องเสียที ขณะจัดหนังสือกลับเข้าที่ ก็ได้เจอที่ซ่อนของมหามุขมาตยานุกูลวงศ์ที่ได้นำไปซุกไว้ จึงเห็นว่าถึงเวลาจะต้องทำกิจที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จแล้ว

ประวัติของตระกูลจีนที่ผมจะนำเสนอในบทความนี้ เป็นต้นตระกูลของเจ้าคุณจอมมารดาเอม ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดฯให้ขนานนามท่านว่า “เจ้าคุณพระชนนี” เมื่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ได้รับอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  วังหน้าองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย
 
นอกจาก มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่มที่๑ เรียบเรียงโดย ก.ศ.ร.กุหลาบที่ใช้เป็นหลักแล้ว ผมยังได้ค้นคว้าเรียบเรียงบางตอนของบทความนี้จากหนังสือและเวปประวัติศาสตร์อื่นๆด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:29

ก.ศ.ร. กุหลาบคือใคร เชื่อถือได้เพียงใดหรือไม่

นักเรียนประวัติศาสตร์ตัวจริงคงจะต้องคุ้นกับนามนี้บ้าง และอาจจะทราบด้วยว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯท่านไม่โปรดนักเขียนท่านนี้เอามากๆ โดยทรงหาว่านายกุหลาบชอบแปลงเรื่องในตำนานประวัติศาสตร์หลายเรื่องในหนังสือของตน จนเป็นที่มาของสำนวนว่า “กุ” เช่นกุเรื่องขึ้นหรือกุข่าวขึ้น แปลว่าเอาความเท็จมาแสดงว่าเป็นเรื่องจริง

อย่างไรก็ตาม หากได้ศึกษาประวัติและผลงานของท่านผู้นี้ให้ลึกลงไป จะเห็นว่าท่านมิได้เพี้ยน แต่ท่านมีเหตุผลที่จะเสนอผลงานบางชิ้นแบบเพี้ยนๆเช่นนั้น เพราะการเขียนหนังสือเสนอต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับการเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขืนเขียนตรงๆมีสิทธิ์ติดคุกหัวโต ต้องเขียนให้ดูจริงบ้างไม่จริงบ้าง ดังนั้น เราจะต้องเลือกเหมือนกันว่าจะเชื่อเรื่องอะไรที่ท่านเขียน ส่วนใหญ่แล้ว เรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองในสมัยรัชกาลที่๕ ถือว่าน่าเชื่อได้ โดยเฉพาะส่วนคาบเกี่ยวระหว่างปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ที่นายกุหลาบแอบคัดลอกออกมาจากต้นฉบับจอหมายเหตุตัวจริงที่เก็บไว้ในพระบรมมหาราชวัง

คุณวิกี้ได้ย่อประวัติของก.ศ.ร. กุหลาบ ไว้ดีแล้วว่าดังนี้

ก.ศ.ร. กุหลาบ (พ.ศ. ๒๓๗๗ - พ.ศ. ๒๔๖๔) มีนามเดิมว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ (หนังสือบางเล่มเขียนว่า ตรุษ ตฤษณานนท์) เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้นำเสนอความคิดเห็นทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๕

กุหลาบ ตฤษณานนท์ เกิดในปี พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่ออายุได้สี่เดือน พระองค์เจ้ากินรี พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม และเติบโตในวังหลวง เมื่อโตขึ้นจึงออกมาอยู่นอกวังในฐานะมหาดเล็กวังนอก บรรพชาเป็นสามเณร โดยสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรสทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า เกศโร ซึ่งต่อมาได้นำชื่อนี้มาเป็นชื่อหน้าของตนตามแบบชาวตะวันตกว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ

เนื่องจากนายกุหลาบได้ใช้ชีวิตอยู่ในวัง จึงมีโอกาสได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ทั้งพงศาวดาร และชีวประวัติบุคคลสำคัญ ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ เพื่อไม่ให้ถูกจับได้
นายกุหลาบเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามออบเซิร์ฟเวอร์ และได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ "สยามประเภท" ในปี พ.ศ. 2440 เขียนบทความวิพากษ์สังคม เสียดสีชนชั้นสูงที่ทำตัวฟุ้งเฟ้อ อีกทั้งยังมีแนวคิดแบบพวกหัวก้าวหน้า ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก จึงเป็นที่เพ่งเล็งจากทางการ แต่โชคดีที่ไม่ได้ถูกลั่นแกล้งจนต้องติดคุกเหมือน เทียนวรรณ

ก.ศ.ร. กุหลาบ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ อายุได้ ๘๗ ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:30

มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่มที่๑ เริ่มต้นว่า

ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่๙ หรือที่เรียกกันสั้นๆในหน้าประวัติศาสตร์ว่าพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กษัตริย์องค์ที่ ๓๑ของกรุงศรีอยุธยานั้น มีสำเภาจีน๕ลำของจีนอ๋องเฮงฉ่วนเข้าเทียบท่า สินค้าที่มาในขบวนเรือคือตุ๊กตาหินแกะสลักรูปคนและสัตว์ต่างๆ เพราะข่าวว่าคนไทยนิยมซื้อตุ๊กตาเหล่านั้นประดับวัดวาอาราม บังเอิญคราวนั้นยังไม่มีใครสร้างวัดขึ้นมาใหม่ บรรดาผู้ที่สร้างวัดเก่าต่างก็มีตุ๊กตาเช่นนั้นตั้งประดับวัดมากแล้ว จีนอ๋องเฮงฉ่วนจึงขายสินค้าในเรือไม่ได้ ครั้นจะเอาไปขายเมืองพม่าเมืองญวนก็คงไม่มีใครซื้อเพราะไม่เป็นที่นิยม มีหวังคงจะต้องเอาตุ๊กตาหินเหล่านั้นไปทิ้งทะเลสถานเดียว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:33

จีนอ๋องเฮงฉ่วนได้นำความเข้าปรึกษากับเจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีจัตุสดมภ์กรมพระคลังซึ่งว่าการต่างประเทศด้วย(บ้างเรียกโดยย่อว่าเจ้าพระยาพระคลัง)ว่า ข้าพเจ้าเป็นนายพานิชนาวาเดินเรือค้าขายกับนานาประเทศแต่เป็นครั้งแรกที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา และประจวบเหตุอาจต้องขาดทุน จึงเข้ามาขอความกรุณาต่อท่านเจ้าคุณขอเป็นที่พึ่ง ได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯช่วยซื้อตุ๊กตาเครื่องสลักหินเหล่านี้ทั้ง๕ลำเรือ โดยข้าพเจ้ายอมขาดทุนครึ่งหนึ่ง และยอมรับชำระเป็นของแลกเปลี่ยนตามมูลค่า เป็นสินค้าที่จะไปขายเมืองจีนได้ เช่น ฝาง ไม้แดง ไม้แก่น เขา หนัง งาช้าง นรมาด กำมะยาน ครั่ง ไหม รง เร่ว กระวาน ดีบุก เนื้อแห้ง ปลาแห้ง ข้าว เกลือ เป็นต้น เพื่อที่ข้าพเจ้าจะพอมีโอกาสฟื้นตัว และจะได้กลับมาทำการค้าขายกับกรุงสยามอีกในอนาคต หากแม้ไม่ทรงพระกรุณา ข้าพเจ้าก็จักขอถวายสินค้าของข้าพเจ้าทั้ง๕ลำเรือนี้เป็นราชบรรณาการ ยอมนำเรือเปล่าๆกลับไปเมืองจีน ยอมรับความพินาศซึ่งเป็นการจำเป็นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยเหตุนี้

เจ้าพระยาพระคลังมีความเห็นใจ จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลตามคำขอร้องดังกล่าว พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้สดับความแล้วก็ทรงมีพระทัยสังเวช เห็นใจจีนอ๋องเฮงฉ่วน จึงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลัง ให้สั่งการพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จางวางพระคลังภาษีสินค้า ให้จัดของป่าต่างๆที่ได้มาจากส่วยของบรรดาหัวเมือง แลกกับสินค้าเครื่องสลักหินทั้ง๕ลำเรือโดยสมควรแก่ราคา จีนอ๋องเฮงฉ่วนหาได้ขาดทุนไม่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:34

จีนอ๋องเฮงฉ่วนจึงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ทูลเกล้าฯถวายแผ่นหินอ่อนสองหมื่นแผ่น มูลค่าตามราคาตลาดขณะนั้นถึง๕๐๐๐บาท พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระกำลังทรงมีพระราชประสงค์จะได้หินอ่อนมาปูสระปลาตาเหลือกและสระปลาหน้าคนที่ขนาบสองข้างพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์มหาปราสาท ทั้งปูรอบพระที่นั่งทรงปืนที่อยู่ริมสระด้านตะวันออกอยู่พอดี เมื่อทรงได้แผ่นหินอ่อนที่จีนอ๋องเฮงฉ่วนทูลเกล้าฯถวายก็ทรงโสมนัส ดำรัสสั่งพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีให้จัดหาของป่าในคลังภาษีสินค้าตอบแทนให้จีนอ๋องเฮงฉ่วนตามสมควร สินค้าที่จีนอ๋องเฮงฉ่วนได้รับตอบแทนไปนั้นมีมูลค่าประมาณ๓๐๐๐บาท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:35

กับทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จีนอ๋องเฮงฉ่วนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่บริเวณสระน้ำดังกล่าว ทรงปฏิสันถารพอสมควรแก่เหตุแล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า เราจะตั้งเจ้าให้เป็นที่ขุนท่องสื่อ เจ้าพนักงานผู้นำราชทูตานุทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรี(จิ้มก้อง)ยังกรุงปักกิ่งประเทศจีนในคราวมรสุมนี้ เจ้าจะรับตำแหน่งยศแลหน้าที่หรือไม่ จีนอ๋องเฮงฉ่วนได้ยินดังนั้นก็มีความปราโมทย์ยิ่ง กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีด้วยเกล้าฯเป็นที่สุดที่จะรับตำแหน่งยศเป็นขุนนางไทย สนองพระมหากรุณาธิคุณให้ถึงที่สุดแห่งชีวิต


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:37

พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เสนาบดีกรมวัง ออกหมายตั้งจีนอ๋องเฮงฉ่วนเป็นขุนท่องสื่อ เมื่อลมพัดมาต้องตามฤดูกาลขุนท่องสื่อก็ออกเรือ นำคณะราชทูตสยามไปจิ้มก้องฮ่องเต้ ณ กรุงปักกิ่ง สิ้นมรสุมหนึ่งจึงเดินทางกลับคืนสู่กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยาโดยสวัสดิภาพ ขุนท่องสือ(อ๋องเฮงฉ่วน)มีความดีความชอบ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นหลวงศิริสมบัติ เจ้าท่าเปิดระวางสำเภาที่เข้าเทียบท่ากรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น

หลวงศิริสมบัติ(อ๋องเฮงฉ่วน)รับราชการมิบกพร่องหน้าที่ และยังคงรักษาสถานะความเป็นนายพานิชสำเภา ตกแต่งสำเภาของตนและสำเภาหลวงออกไปค้าขายยังเมืองจีนเนืองๆ และถ้าถึงวาระครบ๓ปีเมื่อไร ก็จะนำคณะราชทูตสยามออกไปจิ้มก้องยังกรุงปักกิ่งมิได้ขาด จนสิ้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:38

ในรัชกาลต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่๓ หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ขึ้นครองสิริราชสมบัติพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาลำดับที่๓๒ หลวงศิริสมบัติ(อ๋องเฮงฉ่วน)มีความดีความชอบต่อแผ่นดิน คราวต้นรัชกาลได้นำสมัครพรรคพวกไทยจีนกว่าพันคนเข้าช่วยปราบการจราจลครั้งพวกตั้วเฮียคิดการกำเริบยกกำลังเข้าไปถึงท้องสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งเย็นภายในพระราชวังหลวง ครั้งนั้นพวกจีนตั้วเฮียถูกฆ่าตายและจับเป็นได้หลายร้อยคน สอบสวนแล้วโปรดเกล้าฯให้นำพวกหัวหน้าไปประหารชีวิต๕๓คน พวกรองลงมาให้จำคุกไว้๑๖๔คน  ที่เหลือตาย๗๐๐คนให้ตัดผมเปียออกเป็นไทย สักหน้าว่าไพรหลวงจาม ส่งไปทำงานรักษาเรือรบทะเลที่ปากคลองตะเคียน
 
เสร็จการแล้วทรงพระกรุณาเลื่อนหลวงศิริสมบัติ(อ๋องเฮงฉ่วน)ขึ้นเป็นที่ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ดูแลการค้ากับประเทศทางตะวันออก คู่กับกรมท่าขวาที่สังกัดออกพระจุฬาราชมนตรีขุนนางแขก ซึ่งจะดูแลการค้ากับประเทศทางตะวันตก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:39

ครั้นอยู่มาถึงกาลครั้งหนึ่งออกพระโชฎึกราชเศรษฐี(อ๋องเฮงฉ่วน)กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ข่าวจากนายสำเภาจีนที่เพิ่งเข้ามาเทียบท่ากรุงศรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชกำลังสมคบกับพวกเจ้าเมืองแขกผิดสังเกตุ เกรงว่าพวกหัวเมืองปักษ์ใต้จะร่วมกันคิดการขบถ ขอพระบรมราชานุญาตไปสร้างค่ายไม้สักปักเสาระเนียดเชิงเรียงไว้ที่บ้านโกรกกราก ใกล้ปากน้ำท่าจีนค่ายหนึ่ง ที่ปากน้ำแม่กลองค่ายหนึ่ง และที่หน้าวัดพระธาตุปากน้ำพระประแดงอีกค่ายหนึ่ง เพื่อที่จะได้รองรับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช หากยกเข้ามาจริงตามข่าว ทรงโปรดเกล้าฯตามคำกราบบังคมทูลเสนอ

ต่อมามีเหตุ ทัพจากเมืองตานียกกองเรือมาถึงปากน้ำเมืองเพชรบุรี เจ้าเมืองมีใบบอกมาถึงที่ค่ายเมืองสมุทรสงคราม ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี(อ๋องเฮงฉ่วน)จึงรีบยกทัพเรือออกไปได้ทันการและสามารถจับได้เรือสลุปทัพเมืองตานีได้หลายลำ ทหารแขกในเรือให้การว่ามาติดตามจับพวกโจรสลัดที่ออกปล้นในทะเล จึงโปรดเกล้าฯให้สักข้อมือพวกเหล่านั้นว่า แขกเชลยกองอาษาจาม มอบไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของออกญาราชวังสันถึง๒๖๗คน ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี(อ๋องเฮงฉ่วน)มีความดีความชอบในการครั้งนี้มาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:41

ครั้นเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่พิราลัย จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี(อ๋องเฮงฉ่วน)ขึ้นว่าที่เจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ เป็นเสนาบดีจัตุสดมภ์สืบแทนต่อไป ตามเอกสารเรียกราชทินนามนี้ว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี(จีน) แต่ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าคุณพระคลังจีน เพราะท่านยังไว้ผมมวยตามแบบฉบับคนจีนเชื้อเจ้าโบราณ โดยที่สายสกุลของท่านคือแซ่อ๋องนั้น เดิมทีเป็นแซ่ของเชื้อพระวงศ์โจว (周朝  ๑๐๔๕ปี ถึง๒๕๖ปี ก่อนคริศตกาล) สาขาหนึ่งที่แตกออกมา คำว่า อ๋อง แปลว่ากษัตริย์ หรือเจ้าครองเมือง

สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนั้น ข้าหลวงฟูเกี้ยนรายงานต่อราชสำนักจีนว่า ไม้ที่กรุงศรีอยุธยาราคาถูกและพ่อค้าฟูเกี้ยนสามารถทำกำไรมหาศาลจากการเดินทางไปต่อเรือที่กรุงศรีอยุธยา และบรรทุกข้าวกลับมาขายในเรือเหล่านั้น และสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีหลักฐานว่ากิจการต่อเรือเจริญก้าวหน้ามาก พระองค์และชนชั้นปกครองเน้นความสำคัญของผลประโยชน์ที่ได้จากการค้า ชาวจีนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ที่เรียกว่าโกษาธิบดี(จีน) ท่านผู้นี้มีอิทธิพลในราชสำนักมากและมีความใกล้ชิดกับชุมชนชาวจีน

เจ้าพระยาพระคลังจีน(อ๋องเฮงฉ่วน)ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านถนนตาล หลังวัดพนัญเชิง มีภรรยาและบุตรธิดาหลายคน ทั้งภรรยาหลวงที่เมืองจีน และภรรยาคนไทย แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะบุตรที่มีความสำคัญและเป็นบรรพบุรุษของเจ้าคุณจอมมารดาเอมเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:44

บุตรเจ้าพระยาพระคลังจีน(อ๋องเฮงฉ่วน)ที่เกิดที่เมืองกวางหนำในเมืองจีน(ไม่ทราบว่าคือเมืองใดในปัจจุบัน)กับภรรยาหลวงมี๖คน บุตรชาย๔คนได้ติดตามบิดามาช่วยทำมาค้าขายอยู่กรุงศรีอยุธยา มีนามว่า เจ๊สัวอ๋องไซ่ฮู่ เจ๊สัวอ๋องไล่ฮู่ เจ๊สัวอ๋องซี เจ๊สัวอ๋องไช่   ส่วนบุตรสาวคนสุดท้องชื่อเง็กซิว บิดาพามาอยู่เมืองไทย พอเป็นสาวได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมพระราชวังบวร มีพระองค์เจ้าหญิงพระองค์หนึ่งประสูติแด่เจ้าจอมมารดาเง็กซิว ชื่อพระองค์เจ้านพรัตนรัศมี

เจ้าสัวทั้งสีมิได้รับราชการโดยตรงเช่นท่านบิดา แต่ปักหลักตั้งร้านฐานถิ่นอยู่ในกรุงศรีอยุธยาทำมาค้าขายด้วยการเดินเรือสำเภาสินค้าตามถนัด ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อัมรินทร์ มีข่าวว่า เมืองกำปอตและเมืองกำปงโสมในเขมรเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เจ้าสัวสี่พี่น้องจึงขอพระบรมราชานุญาต จัดเรือปักษ์ใต้ของหลวงนำข้าวนำเกลือจะไปขายที่นั่น เรือชนิดนี้บางทีเรียกว่าเรือลำเลียงตาโต เป็นเรือขนาดเล็กกว่าเรือสำเภา กินน้ำตื้นกว่าสามารถใช้แจววิ่งเข้าไปตามลำน้ำได้ หรือจะใช้ใบกางออกแล่นไปเลียบฝั่งไปในทะเลก็ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:45

การนำเรือหลวงไปจัดการทำการค้าขายนั้น ตามธรรมเนียมจะได้รับพระราชทานแบ่งกำไรให้สองในสิบส่วน และยกเว้นภาษีจังกอบต่างๆ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วก็นำข้าวของลงบรรทุกในระวางเรือได้เต็ม๓๒ลำ บรรดาเจ้าสัวผู้พี่ก็มอบให้เจ๊สัวอ๋องไซ น้องชายคนเล็กคุมกองเรือบรรทุกข้าวไปเขมร ออกเดินทางจากพระนครศรีอยุธยา แคล้วคลาดจากกองทัพพม่าข้าศึกที่ยกมาล้อมกรุงอย่างฉิวเฉียด
 
เจ๊สัวอ๋องไซรอนแรมในทะเลหลายวันเนื่องจากเรือหนัก เดินทางได้ช้ามากกว่าจะถึงเมืองตราด เมื่อแวะพักเรือเพื่อหาซื้อเสบียงอาหารและน้ำจืดเพิ่มเติมจึงได้ข่าวร้ายว่ากรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมไว้อยู่ตั้งแต่ตนออกเดินทางมา ส่วนทางเมืองเขมรทั้งสองนั้นเล่า ก็เกิดการจราจลอย่างหนัก คนจีนและญวนตั้งตนเป็นตั้วเฮีย คุมพลพรรคออกปล้นสดมภ์ผู้คนทั้งทางบกทางทะเลหาความปลอดภัยมิได้ จึงล่าถอยนำกองเรือมาตั้งหลักลอยลำอยู่หน้าเมืองจันทบุรีด้วยคิดไม่ตกว่าจะกระทำการอย่างไรต่อไป จนกระทั่งได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าล้อมไว้เป็นปีนั้น แตกเสียแล้ว และไม่นานเกินรอพระยาตาก(สิน)ก็ยกพลทหารม้า๕๐๐นายมาตี ยึดได้เมืองจันทบุรี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:48

เจ๊สัวอ๋องไซไม่เห็นหนทางรอดอื่น จึงขึ้นจากเรือไปเฝ้าพระเจ้าตากสิน ทรงมีรับสั่งว่า เจ้าหนีเสือจากกรุงศรีมาปะจระเข้ที่ตราด แล้วหนีจระเข้ขึ้นต้นไม้มาปะรังแตนที่จันทบุรี แต่ข้าเป็นแตนที่ไม่ต่อยเจ้า ถ้าเจ้ามาเข้ากับข้า ข้าจะเลี้ยงดูเจ้าให้สบาย ข้าจะหาลาภยศใหญ่ให้เจ้าได้ในภายหน้า เจ๊สัวอ๋องไซ่จึงถวายข้าวของและเรือทั้งหมดให้กับพระเจ้าตากสิน ซึ่งเมื่อได้รับเสบียงกรังกำลังบำรุงกองทัพถึงขนาดแล้ว  ในขณะที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระสายข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ ทำให้ผู้คนที่หลบซ่อนอยู่ออกมาเข้าด้วย พระเจ้าตากสินสามารถสรรหากำลังพลจากพวกที่เข้ามาสวามิภักดิ์ได้อีกมากมาย จนต้องต่อเรือขึ้นอีกหลายลำแล้วยกกองทัพกลับขึ้นไปกู้บ้านกู้เมือง ต่อรบกับพวกพม่าจนแตกพ่ายที่ธนบุรี นนทบุรี และโพธิ์สามต้น จนในที่สุดสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาคืนได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อพระเจ้าตากสินได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ได้ทรงชุบเกล้าชุบกระหม่อมปลูกเลี้ยงเจ๊สัวอ๋องไซสมกับเป็นผู้มีคุณูปการต่อพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็นที่พระยารัตนราชเศรษฐี ประกอบเครื่องยศ พานทอง ถาดหมากคนโทน้ำทองคำเป็นต้น และให้รับราชการว่าที่กรมท่าซ้ายและเป็นเจ้าท่าเปิดระวางเรือสำเภาทั้งสิ้นแต่ผู้เดียว กับทั้งได้พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนพักอาศัยอยู่บริเวณคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับกรุงธนบุรีให้สร้างบ้านเรือนอยู่กันกับสมัครพรรคพวกชาวจีนด้วยกันนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 23 ต.ค. 10, 21:49

ทำเลบางกอกฝั่งกรุงเทพนี้ ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีมาตั้งมั่นยังที่นั่น โดยจะทรงสร้างพระบรมมหาราชวังในที่ซึ่งพระยารัตนราชเศรษฐีและชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่ จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินให้ใหม่เป็นตำบลหนึ่ง เป็นที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้มไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) ให้ชุมชนชาวจีนสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่ใหญ่ในบริเวณนั้น ซึ่งภายหลังต่อมาบ้านของพระยารัตนราชเศรษฐีในสำเพ็งได้กลายเป็นศาลเจ้าปุนเถ้ากงไปในทุกวันนี้


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 20 คำสั่ง