เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5711 ตามหากาพย์ชนิดหนึ่งครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 23 ต.ค. 10, 17:05

   กราบเรียนท่านอาจารย์แหละท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ

   สมัยผมเรียน ม.๖ อยู่ ณ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยนั้น ได้เรียนวรรณคดีเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์มหาราช ความพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อถึงบทพรรณนากระบวนทัพที่พระเจ้าสญชัยจะเสด็จฯ ยกไปรับพระราชโอรสคืนสู่พระนคร กวีได้ทรงพระนิพนธ์ร่ายกลบท (กบเต้นต่อยหอย) ซึ่งผมยังประทับใจ แหละจดจำบางช่วงบางตอนได้ไม่รู้ลืมครับ

   “สรรแต่หาญสารตัวเหี้ยม เทียมช้างมารทานช้างหมื่น ฟื้นโถมศึกฝึกทนศร ร่อนงาส่ายร่ายเงยเศียร เรียนเชิงสู้รู้ชนสาร ร่านบ้าแทงแรงบ่ถอย ร้อยคชหนีรี่ขึ้นหน้า ข้าศึกยลขนแสยง ฯลฯ”
   ตอนเรียนก็สงสัยอยู่เหมือนกันครับ ว่า ร่ายอะไรหนอมีวรรคละหกคำ เนื่องจากตามปกติ จะคุ้นกับร่ายสุภาพ อันกำหนดวรรคละ ๕ คำ หรือ ๕ พยางค์ ไม่ก็ร่ายยาวอันมิได้กำหนดจำนวนคำหรือพยางค์ไว้ตายตัวในแต่ละวรรค แต่ก็เก็บงำความสงสัยไว้คนเดียว ไม่ยอมถามท่านอาจารย์รัตน์ สวนแก้ว ผู้สอนในขณะนั้น

   เวลาล่วงเลยมา กระทั่งผมได้อ่าน “โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้พบกับชื่อคำประพันธ์ ซึ่งกวีผู้ทรงพระนิพนธ์ ทรงระบุบ่งลงแจ้งชัดว่า “ร่ายกาพย์” มีวรรคละ ๖ คำ (ยกเว้นช่วงตอนท้าย อันเป็นบทลงจบ)

ร่ายกาพย์
   “ไทธยลหนหอธรรม์ อันชำรุดทรุดโทรมล้วน ถ้วนทกแหล่งแห่งหลังคา ฝาพื้นปรักหักพังเนื่อง เครื่องบนกระบาลนานผุค้าน ด้านสูงต่ำคร่ำคร่าทลาย สลายปูนอิฐพิศเพิกคราก มากร้าวแตกแมกบุราณ การควรคิดกิจเกื้อกอป ชอบบริปฏิสังขรณ์ คุณทดแทนเอย องค์พระอัยกากั้ง เกศเสียม”

   สรุป ในเบื้องแรก ผมพอจะคะเนได้แล้วครับว่า “สรรแต่หาญสารตัวเหี้ยม” ที่ชื่นชอบสมัยเรียน ม.๖  เป็นคำประพันธ์ซึ่งขนานนาม “ร่ายกาพย์” คำถามต่อไปคือ ทำไม ร่ายชนิดนี้จึงมีนามบัญญัติเช่นนั้น?

   อันคำว่า “กาพย์” นั้นก็มีนิยามอยู่สองประการ ประการหนึ่ง หมายถึง “ถ้อยคำแห่งกวี” แปลอีกชั้นว่า ร้อยกรองทุกประเภท ทุกลีลา ถือเป็น “กาพย์” ได้หมด อีกประการ กาพย์ หมายจำเพาะคำประพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งมีปัจเจกฉันทลักษณะเป็นของตัวเอง คล้ายฉันท์ หาก ไม่บังคับพยางค์ครุลหุ แล้วคำ “กาพย์” ที่อยู่ต่อจาก “ร่าย” นั่นเล่า จะยึดถือตามความหมายใด ถ้าถือตามความหมายแรก ก็ไม่จำเป็นต้องแยกชนิดของร่ายออกเป็น ร่ายสุภาพ, ร่ายดั้น, ร่ายโบราณ, ร่ายยาว เพราะร่ายทั้งหลายก็ล้วนเป็น “กาพย์ (คำแห่งกวี)” อยู่แล้ว ที่แยกร่ายออกเป็นชนิด ก็เพราะแต่ละชื่อของร่ายมีลีลา  ผิดแผกกันอยู่ ดังนั้น คำ “กาพย์” อันอยู่ต่อเนื่องจากคำ “ร่าย” ก็น่าจะเป็นคำขยาย บอกถึงลักษณะเฉพาะของร่ายชนิดนี้ว่าแตกต่างไปจากร่ายอื่นๆอย่างไร

   ผมลองตั้งสมมุติฐานดูครับ โดยให้คำนิยามของ “ร่ายกาพย์” ว่า “ร่ายประเภทหนึ่ง มีท่วงทำนองละม้ายกาพย์”  ก็แล้วกาพย์ใดเล่าที่กำหนดวรรคละ ๖ คำ  หรือ ๖ พยางค์ อย่างสม่ำเสมอไปทุกวรรคในบรรดากาพย์ที่ปรากฏให้นักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่รับรู้ มีกาพย์ยานี, กาพย์ฉบัง, กาพย์สุรางคนาง, กาพย์ธนัญชยางค์ กาพย์ขับไม้, กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่กล่อมพระบรรทม ก็ไม่เห็นมีกาพย์อะไรที่มีข้อกำหนดเช่นว่านั้นเลย ถ้ากระนั้น เป็นไปได้ไหมครับ “ร่ายกาพย์” คือหลักฐานชิ้นหนึ่งซึ่งบอกให้เรารับรู้ว่า ในบรรพสมัย เคยมีกาพย์ซึ่งกำหนดให้เขียนวรรคละ ๖ คำ หรือ ๖ พยางค์โดยตลอด แล้วต่อมา กาพย์ดังกล่าวอาจเสื่อมความนิยมลงไปเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง

   ผมมีหลักฐานบางอย่างใคร่ขอนำเสนอครับ แม้จะเป็นผลงานยุคเลยกึ่งพุทธกาลมาแล้ว ก็น่าสนใจหาน้อยไม่ นั่นคือ แหล่พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผมได้ซีดีชุดนี้มา จากคุณลุงสมภพ บุญฤทธิ์ คนตาบอดอาวุโสซึ่งผมนับถือเป็นครูอีกท่านหนึ่ง นี่เป็นงานชิ้นสุดท้ายของศิลปินชื่อก้อง ท่าน “พร ภิรมย์” ก่อนที่ท่านจะละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต ได้ฝากงานทิ้งทวนไว้ ขออนุญาตคัดบางตอนมาดังนี้ครับ

   “จะสาทกยกเรื่องลัด
กรุงเก่าผลัดแผ่นดินใหม่
รบกันมารบกันไป
กับศัตรูผู้ก่อกวน

   ขอกล่าวถึงพระองค์ดำ
เรียกอีกคำ นเรศวร
บุเรงนองมองประมวล
เอาองค์ดำค้ำประกัน

   เลี้ยงประดุจบุตรบุญธรรม
อุปถัมภ์เป็นสำคัญ
นเรศวรในตอนนั้น
ทรงพระเยาว์เก้าปีปลาย

   ต้องไปอยู่เมืองพม่า
แต่ทว่าไม่วางวาย
เก็บความแค้นไม่แคลนคลาย
สุมอุระพระองค์ดำ

   ดุจเสือร้ายที่ซ่อนเล็บ
เจ็บแสนเจ็บฝังใจจำ
ชาวตะเลงข่มเหงทำ
ราวกับไทยไร้ปัญญา

   พระแค้นกรุ่นอุ่นระอุ
ชนมายุย่างสิบห้า
พระมหาธรรมราชา
พาเข้าทัพบุเรงนอง

   พระยาจักรีเป็นไส้ศึก
บอกตื้นลึกให้ทั้งผอง
ไทยพม่าฆ่ากันกอง
รบกันเข้าถึงเก้าเดือน ฯลฯ”

น่าสังเกตตรง ผลงานแหล่ชิ้นนี้มีกฎเกณฑ์ค่อนข้างจะแน่นอน คือกำหนดให้ส่วนใหญ่ของแต่ละวรรคบรรจุ ๖ พยางค์ ทั้งๆกลอนแหล่ไม่เคร่งครัดขนาดนั้น ท่านพร ภิรมย์ เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด เป็นไปได้หรือไม่ครับว่า ท่านสร้างสรรค์งานแหล่พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยยึดแบบแผนของกาพย์ที่คฤหัสถ์ใช้แหล่สู่กันฟัง ซึ่ง
๑.   กาพย์ชนิดนั้น อาจมีปรากฏในวรรณกรรมกลอนสวดครั้งกรุงเก่า หรือ
๒.   อาจมีใช้ประพันธ์ในวรรณคดีของราชสำนักยุคโน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แหละวรรณคดีชิ้นดังกล่าวหายสูญไปเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เหลือร่องรอยตกค้างอยู่ในผลงานของชาวบ้าน นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของคนปัญญาตื้นอย่างผมเท่านั้นครับ

สาธยายเสียยืดยาว ก็เพื่อจะนำเข้าสู่คำถามครับ ขออนุญาตกราบเรียนถามว่า ทุกๆท่านเคยพบกาพย์ชนิดไหนบังคับให้เขียนวรรคละ ๖ คำ หรือ ๖ พยางค์ทุกวรรคไหมครับ หากพบ กาพย์ชนิดนั้นมีชื่อเรียกว่าอย่างไรครับ ขอท่านโปรดโอยวิทยาทานให้ผมผู้ปัญญาทรามด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ต.ค. 10, 02:37

อ่านตอนแรก เข้าใจว่าเป็นกาพย์ยานี เพิ่มเป็น ๖ พยางค์ในวรรคแรก เสียอีก  เพราะสัมผัสอย่างอื่นตรงกับกาพย์ยานีหมด จึงไม่คิดว่าเป็นคำประพันธ์ชนิดอื่น
กาพย์ยานี ๑๑ สมัยปลายอยุธยา    นั้นมีบางบทที่วรรคแรกมี ๖ พยางค์ ไม่ได้เคร่งครัดว่าต้อง ๕ เท่านั้น   เห็นได้จากกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย..................
๖ พยางค์
สมรรถไชยไกรกาบแก้ว...............
นี่ก็ ๖ พยางค์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 ต.ค. 10, 10:04

ไม่ทราบว่า เจ้าของกระทู้เคยอ่านจินดามณีฉบับที่พระเจ้าบรมวงศืเธอ กรมหลวงวงษาธิราสนิท ทรงพระนิพนธ์แล้วหรือยัง
ในนั้นมีกล่าวถึงร่ายกาพย์อยู่  ร่ายกาพย์นี่ผมยังสงสัยว่า ตกลงแบ่ง เป็นวรรคละ ๓ คำ หรือ วรรคละ ๖ คำแน่

นอกจากนั้นก็ควรอ่านในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีกับกาพย์คันถะด้วย  จะได้ทราบพัฒนาการของโคลงกาพย์ร่าย

เท่านั้นยังไม่พอ  ร่ายกาพย์ นี่   จังหวะทำนองทำให้ผมนึกถึงกลอนแหล่ เช่น แหล่บายศรีว่า
แหล่บายศรีชั้นต้น  เริ่มกลรามเกียรติ์
ทำศึกทศเศียร  องค์นเรียนนาราย์
หลานราพณ์เหลือร้าย  แปลงกายกายา...

กลอนแหล่มีมีจำนวนคำต่อวรรคไม่แน่นอน  มีทั้งที่สัมผัสแบบร่าย และสัมผัสแบบกาพย์ และสัมผัสแบบกลอน

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 ต.ค. 10, 12:01

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน

   ผมมากราบท่านอาจารย์เทาชมพูด้วยความเคารพมิเสื่อมคลายครับ คำตอบของอาจารย์ ทำให้ผมหวนประหวัดถึงหลักฐานอีกหนึ่งชิ้นขึ้นมาอย่างกะทันหันครับ นั่นคือ คำพากย์รามเกียรติ์ ตอน นางลอย พระราชนิพนธ์ในองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๒ ฉุกคิดได้ว่า ในกาพย์ชิ้นดังกล่าว วรรคคี่ (๑ กับ ๓) อันกำหนดบัญญัติ ๕ พยางค์นั้น หลายแห่งตำแหน่งที่ก็เป็น ๖ ดัง:

   “พระเหลือบแลกระแสสินธุ์ (๖)
ชลพินธุอำพน
เห็นรูปอสุรกล
อันกลายแกล้งเป็นสีดา

   ผวาวิ่งประหวั่นจิต (๖)
ไม่ทันคิดก็โศกา
กอดแก้วกณิษฐา
ฤดีดิ้นอยู่แดยัน

   พระช้อนเกศขึ้นวางตัก (๖)
พิศพักตร์แล้วรับขวัญ
ยิ่งพิศยิ่งกระสัน
ยิ่งโศกเศร้าในวิญญาณ์” หรือ:

   “สีดาเอยถึงจะตาย (๖)
จะวอดวายพระชนมาย์
จงเอื้อนโอษฐ์ออกเจรจา (๖)
จะจากแล้วจงสั่งกัน”
ฉะนั้น ก็อาจเป็นดังข้อสันนิษฐานของท่านอาจารย์ก็ได้กระมังครับ ว่ากาพย์ ๖ พยางค์ อาจเป็นยานีที่เพิ่มพยางค์เข้ามา น่าคิดมากครับ

   สวัสดีครับ คุณหลวงเล็ก
   จินดามณีฉบับซึ่งคุณหลวงระบุ ผมยังไม่เคยฟังครับ ส่วนตำรากาพย์ทั้งสองรายนาม ก็เคยได้ยินเพียงชื่อเช่นกัน ผมมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งครับ ชื่อ “ความรู้เกี่ยวกับร้อยกรอง” เรียบเรียงร่วมกันโดย ท่านอาจารย์มะเนาะ แหละท่านอาจารย์วันเนาว์ ยูเด็น ท่านเอ่ยถึงตำรากาพย์ทั้งสองเอาไว้พร้อมตัวอย่างกาพย์ด้วย เห็นที ผมคงจะต้องรื้อคัมภีร์เล่มนี้ขึ้นมาทบทวนใหม่แล้วกระมังครับ ขอบพระคุณคุณหลวงอย่างยิ่งครับ ที่กรุณาแนะนำหนังสือเพิ่มพูนคลังความรู้ให้ผม

   เอ... คุณหลวงขอรับ อ่านตัวอย่างแหล่บายศรีที่คุณหลวงยกมา ผมมีความรู้สึกส่วนตัวว่า ลีลาละม้ายๆกาพย์เห่กล่อมพระบรรทมอยู่นะครับ คือ กำหนดวรรคละ ๔ ถึง ๖ พยางค์ ทั้งนี้ วรรคใดจะ ๔ จะ ๕ หรือจะ ๖ ขึ้นกับเนื้อความเป็นหลัก ถ้าเพียงแต่แหล่นี้ ใช้คำขึ้นต้นว่า “เห่เอย” หละก็  จะใกล้เคียงกาพย์เห่กล่อมพระบรรทมเข้าไปมากทีเดียว ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผิดพลาดประการใด คุณหลวงโปรดอภัยให้ผมด้วยเถิดขอรับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 พ.ย. 10, 22:55

เคยเห็นฉันทลักษณ์แบบนี้ในงานช่วง ร.๓ - ร.๔ อยู่หลายชิ้นครับ ลองค้นดูในตู้หนังสือก็มีครับ แต่ไม่ทราบว่าเรียกว่าอย่างไร

เคยเห็นฉันทลักษณ์ของทางอีสาน เรียกว่ากาพย์ลาว หรือกาพย์อีสาน ลักษณะเหมือนร่ายคลายๆอย่างนี้แหละครับ แต่วรรคหนึ่งจะมีเจ็ดคำ คำท้ายของแต่ละวรรคจะสัมผัสกับคำที่หนึ่ง สอง หรือสามของวรรคถัดไปครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง