เรื่องในย่อหน้าสุดท้ายของคุณหลวง
เป็นเรื่องที่ผมซาบอยู่แก่ใจดี
อีกทั้งเคยประสบพบมากับตัวเองอยู่บ้าง
ในครั้งนี้จึงรู้สึกขอบพระคุณคุณหลวงจากใจจริง
สำหรับผู้สนใจอิเหนาสำนวนรัชกาลที่ ๑
ผมเข้าใจว่าเป็นฉบับที่เจ้าพระยาเทเวศร์เป็นผู้พบ
เมื่อสอบสำนวนแล้วทำให้ปราชญ์ในยุคท่านวิเคราะห์ได้ว่า 'เก่า'
และมีเนื้อหากระชับกว่าอิเหนารัชกาลที่ ๒
เล่มที่ปัจจุบันพอหาซื้อได้บ้าง
สำนักพิมพ์คลังวิทยาเป็นผู้พิมพ์ขาย
แต่จะมีสำนักอื่นๆอีกหรือไม่ ผมไม่แน่ใจนัก
ที่จริงแล้วมีอิเหนาสมัยรัตนโกสินทร์ที่น่าสนใจอีก 2 หรือ 3 ฉบับ
ที่ผู้สนใจเรื่องอิเหนาทั้งหลายควรต้องผ่านตามาบ้าง
เล่มแรกคือ 'ปันหยี สะมิรัง' ที่ 'สมเด็จชาย'
ทรงพบและแปลจากต้นฉบับในหอสมุดเมืองปะตาเวีย
เมื่อทรงพำนักอยู่ที่พระตำหนักในเมืองบันดุง
กับอีก 2 - 3 สำนวนที่พระญาติของท่านอีกหลายองค์
ที่ทรงหนังสือติดต่อกัน ได้เก็บความเขียนลงในลายพระหัตถ์ฉบับต่างๆ
ร่วมกับบทวิเคราะห์จากศาสตราจารย์ชาวต่างชาติอีกหลายท่าน
เช่น 'โปรเฟสเซอร์ คัลเลนเฟน' ชาวฮอลันดา
ที่ได้เข้ามาทำการขุดค้นโบราณสถานในดินแดนชะวา-มะลายู
หรือ ที่ทรงเรียกกันอย่างลับๆว่า 'ตายักษ์' เป็นอาทิ
ถ้าสมาชิกเรือนไทยท่านใดอยากอ่านเพิ่มเติม
อิเหนาอีก 2 - 3 สำนวนนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่ม
ได้แก่ 'สาส์นสมเด็จ' 'บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ'
หรือ 'เล่าเรืองไปชะวาครั้งที่ ๓' ในพงศาวดารภาคที่ ๖๗ เป็นต้น
ปล. ถ้าไม่อ่านบทวิเคราะห์ข้อมูลชุดนี้
ใครจะเชื่อว่าพระเจ้าสิบเมียจอมขี้หลีองค์นี้
มีตัวตนจริงอยู่ในสมัยศรีวิชัยเมื่อเกือบพันปีที่แล้ว
แถมชื่อจริงยังชื่อ
'กาเมศวร' อีกตะหากแหนะ.. จริงไหมล่ะครับ
