เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 111192 ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 28 ต.ค. 10, 10:25

ระเบง  - ระเบ็ง

          เป็นการละเล่นในชุดพระราชพิธีที่แปลกกว่าอย่างอื่น คือแสดงเป็นเรื่องมาจากเทพนิยาย
เนื้อร้องกล่าวถึงเทวดามาบอกให้บรรดากษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครไปเขาไกรลาสระหว่างเดินทาง
ก็เดินชมนกชมไม้ไปจนพบพระกาลมาขวางทางไว้ กษัตริย์เหล่านั้นไม่รู้จักก็ไล่ให้หลีกทางไปเงื้อธนูจะยิง
พระกาลกริ้วมากจึงสาปให้สลบ แล้วพระกาลเกิดสงสารจึงถอนคำสาบให้ฟื้นดังเดิม แล้วขอร้องให้กลับเมืองดังเดิม
กษัตริย์ก็เชื่อฟังกลับเมือง
          การแต่งกาย ผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่แต่งกายเหมือนกันทุกคน นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยวสวมเสื้อคอตั้ง
แขนยาว ปล่อยชายไว้นอกผ้านุ่ง มีผ้าคาดพุง ศีรษะสวมเทริด มือถือธนู
          ผู้เล่นเป็นพระกาลแต่งกายได้ ๒ แบบ คือ เครื่องแต่งตัวเหมือนผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่
สวมเสื้อครุยทับ ศีรษะสวมลอมพอก (ชฎาเทวดา ตลก สีขาว ยอดแหลมสูง) หรือแต่งตัวยืนเครื่อง
ทรงเครื่องเหมือนกษัตริย์ในละครรำ แต่ไม่สวมเสื้อ
          การเล่นในสมัยก่อนใช้ฆ้อง ๓ ใบเถาเรียกว่า "ฆ้องระเบง" ตีรับท้ายคำร้องทุก ๆ วรรค
โดยตีลูกเสียงสูงมาหาต่ำ จากต่ำมาหาสูง ปรากฏในพระราชนิพนธ์โคลงดั้น เรื่อง "โสกันต์" ต่อมาใช้ปี่พาทย์บรรเลง
เริ่มต้นจะบรรเลงเพลง "แทงวิสัย" ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะกับการเต้นของผู้เล่นเป็นกษัตริย์น้อยใหญ่
ซึ่งจะมีจำนวนเท่าไรก็ได้ให้พอกับเวทีหรือสนามที่เล่น เมื่อเต้นไปสุดเวที ผู้เล่นที่อยู่หัวแถวจะร้องต้นบทว่า
"โอละพ่อถวายบังคม" ผู้เล่นทั้งหมดจะร้องรับพร้อมๆ กันว่า "โอละพ่อถวายบังคม" ผู้เล่นทำท่าถวายบังคมไปด้วย
เป็นการรำถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดิน
           ต่อจากรำถวายบังคมแล้ว ผู้เล่นจะแปรแถวอย่างเป็นระเบียบ แล้วผู้เล่นก็ร้องบทต่อไปลุกขึ้นเต้น
ปากก็ร้องบทไปเรื่อย ๆ เมื่อยกขาขวาจะทำท่าเอาลูกธนูตีลงไปบนคันธนู วางขาขวายกขาซ้าย เหยียดมือขวาออกไป
ข้างตัวจนสุดแขนเป็นท่าง้างธนู จนกระทั่งมาพบพระกาล
ตัวอย่างบทถวายบังคมตอนหนึ่งมีว่า
          โอละพ่อขอถวายบังคม
          โอละพ่อประนมกรทั้งปวง
          โอละพ่อบัวตูมทั้งปวง
          โอละพ่อบัวบานทั้งปวง ฯลฯ
มีบทเดินดง ชมนก ชมไม้ บทปะทะ พบพระกาล บทพระกาลสาป และบทคืนเมือง

ข้อมูล http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK13/chapter7/t13-7-l6.htm

ภาพสีจาก ผู้จัดการออนไลน์

กระทู้ ประชุมพระรูปพระราชพิธีโสกันต์ เกศากันต์ และโกนจุก
 
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7650627/K7650627.html


บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 00:39

เขาไกรลาส คราวการพระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ วันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พระราชพิธีเริ่ม ๒๕ ธันวาคม เสร็จสิ้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม)

... จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์ สถาปนาไกรลาสบรรพตขึ้นที่สนามหญ้า น่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทตรงท้องพระโรงเบื้องบุรพทิศ น่าเขาตรงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฤๅด้านอัษฏงคต ตั้งตัวเขาทำด้วยไม้ไผ่สาน บุดีบุกเคลือบเปนทองเงินนาค ใช้ไฟฟ้าสำหรับทำให้ที่สว่างงดงามในเวลากลางคืน ดวงไฟฟ้าติดตามทางขึ้นลง แลที่ต่างๆ มีไฟฟ้าดวงใหญ่ที่ไหล่เขาแล ๔ มุมเขา บนเขาไกรลาสมีบุษบกองค์ใหญ่อยู่กลาง ตั้งซุ้มกินนรในบุษบกนี้ รอบบุษบกกลางล้อมด้วยราชวัตรทอง แลมีประตู ๔ ด้านปักฉัตรเครื่งสูงปิดทองแผ่นลาดตามระยะ รอบราชวัตรทองมีเฉลียงทั้ง ๔ ด้าน รายด้วยฉัตรทองเหมือนกัน มุมเฉลียงทั้ง ๔ มุมมีบุษบกเล็กตั้งเทวะรูปทุกมุม แลมีบุษบกขนาดกลางที่ไหล่เขาด้านเหนือใต้ อีกด้านละบุษบก บุษบกทิศใต้ประดิษฐานเทวะรูปนารายณ์ บุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานเทวะรูปพระอิศวรแลพระพิฆเนศวร มีพลับพลาเล็กริมเขาด้านน่า หันหลังตรงอัฒจันทพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเบื้องขวาแห่งทางลงมา น่าพลับพลามีที่สำหรับสรงเมื่อโสกันต์แล้ว เปนสระเล็กมีบัวแลรูปเต่าทองแลรูปสัตว์ต่างๆ มีน้ำพุซึ่งออกจากเขาแลไหลจากปากราชสีห์ ช้างม้า โค นาคราช สมมติเปนสระอโนดาต

ทางที่จะขึ้นเขามีสองทาง บรรไดน่าเขาทางหนึ่ง ข้างเขาด้านใต้ทางหนึ่ง ที่เขามีเทวดา ฤๅษี นารีผล ช้างเครื่องประดับต่างๆ โดยรอบเชิงเขามีตุ๊กตาภาพรามเกียรติแลเรื่องลครต่างๆ มีกลเปนพื้น มีภาพตามธรรมดาบ้าง ซึ่งพระบรมวงษานุวงศ์ประดิดมาตั้งแต่ฉลองพระเดชพระคุณ มีราชวัตรไม้จริงสลักปิดทอง แต้มสีรายรอบเขาไกรลาสเปนด้านๆ แลปักฉัตรปรุทอง, นาก, เงิน, เปนระยะ

(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙ แผ่นที่ ๔๐ วันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๑ น่า ๓๓๙)




บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 07:07

ลุงไก่ครับ
ภาพเขาไกรลาศพร้อมเจ้านายด้านบน เป็นงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 07:52

"จนในที่สุดก็ถึงวันที่เฝ้าคอยกันอยู่ทุกคน คือวันที่เจ้านายโสกันต์เสด็จออกฟังสวดวันแรก ช้อยและพลอยไปคอยดูแห่อยู่ตั้งแต่กลางวัน จนตกบ่ายจึงจะได้เห็นกระบวนแห่ ผ่านจากพระราชฐานชั้นใน ออกมายังเขตพระราชฐานชั้นนอก ในระหว่างที่คอยดูแห่อยู่นั้น ทั้งพลอยและช้อยรู้สึกร้อนจนเหงื่อตกเปียกชุ่ม ไปทั้งตัว เพราะไหนจะแดดที่กระทบกับพื้นหิน เป็นไอร้อนกลับขึ้นมา ไหนจะต้องเบียดเสียดกับคน ที่มาคอยดูแห่เช่นกัน ทั้งช้อยและพลอยตกลงว่าจะจูงมือกันไว้แน่น ไม่ยอมให้พลัดกันไปได้ พอพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกส่งทูลกระหม่อมขึ้นพระยานมาศ เสียงประโคมสังข์แตรจากข้างใน บอกให้พลอยรู้ว่า กระบวนแห่จะเริ่ม ความร้อนก็หายไปเพราะความตื่นเต้น ทำให้พลอยลืมทุกอย่าง นอกจากจะดูให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น

        ต้นกระบวนแห่นั้น เป็นทหารเดินแถวเป่าแตรวง มีทหารแบกปืนเดินก้าวเท้าพร้อมกันได้จังหวะ เดินผ่านไปกองร้อยหนึ่งก่อน เสียงกองใหญ่แตรวงตีเป็นจังหวะเร้าใจ ทำให้หัวใจพลอยเต้นเข้าจังหวะตาม พอเสียงแตรวงไกลออกไป เสียงกลองแขกคู่หนึ่งที่นำขบวนหลังก็ดังใกล้เข้ามา และเสียงปี่ชวาเจื้อยแจ้ว ก็ดังขึ้นแทนเสียงแตรฝรั่ง ที่ค่อยๆเบาลง มีขุนนางเดินประณมมือเป็นคู่เคียงเป็นคู่ๆ ถ้ดจากนั้น ไปถึงคู่แห่มหาดเล็ก เดินเป็นคู่ๆเช่นเดียวกัน แล้วจึงถึงกระบวนเด็กๆ ที่มาเข้ากระบวนแห่ ตามติดๆ มาด้วยหมวดกลองชนะและแตรสังข์ ซี่งเป่าเป็นระยะๆ สองข้างเป็นพวกเครื่องสูง มีคนแต่งเป็นอินทร์พรหม เดินถือเครื่องสูงพวกฉัตรและบังแทรก แลดูสล้างเหมือนกับต้นไม้ที่เดินได้ จากนั้นก็ถึงพวกพราหมณ์ที่เข้ากระบวน มีทั้งพราหมณ์เป่าสังข์และแกว่งกลองเล็กๆ สองหน้ามีเสาปักกลางมีลูกตุ้มแขวน ที่เรียกว่าไม้บัณเฑาะว์ เสียงดังปงปัง และมีพราหมณ์โปรยข้าวตอก ในระหว่างเครื่องสูงที่เชิญมาสลับสลอนนั้น มีมหาดเล็กถือพระแสง เดินแซงอยู่ด้วย ต่อจากนั้นไปพวกผู้หญิงที่มาดูแห่ซุบซิบกันด้วยความสนใจ และสะกิดกันให้ดู จุดที่สนใจก็คือ เด็กผู้ชายเล็กๆ สองคนแต่งตัวสวยงามถือขนนกการเวก เสียงกระซิบกันว่า "น่ารัก" หรือ "น่าเอ็นดู" ดังอยู่ทั่วไป"


แม้ว่าช้อยและพลอย จะเป็นเด็กแค่ไหน แต่เมื่อมีกระบวนแห่และผู้คนแออัดเพียงไร ก็น่าที่จะต้องนั่งอยู่กับพื้น ด้วยเจ้านาย เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอยู่เบื้องหน้า บรรนาพนักงานชาววังต่างๆ ต้องนั่งกับพื้นไม่ยืนเกะกะเป็นแน่ จะหยิบยกภาพพระราชพิธีโสกันต์และเฉลิมพระสุพรรณบัตรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัยและสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ ผ่านหน้าเกยที่ประทับ พ.ศ. ๒๔๓๔


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 08:02

พลอยเที่ยวงานโสกันต์ เพลินดูการละเล่นต่างๆ หลายอย่าง

                    พลอยและช้อยก็จูงมือกันเตร่ไปทางด้านโรงมหรสพ ที่ตรงสนามหลังวัดพระแก้ว
มีการละเล่นที่น่าดูหลายอย่าง

                    มีไม้ลอย ซึ่งคนปีนไม้สูงขึ้นไปยืนอยู่บนยอด
                    มีไต่ลวดและการแสดงโลดโผนอื่นๆ
                   ที่พลอยชอบมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ กระอั้วแทงควาย มีคนสองคนเข้าไปอยู่ในผ้าคลุม
ถือหัวควายแสดงกิริยาเหมือนควายจริงๆ มีชายคนหนึ่ง เล่นเป็นผัวนางกระอั้ว ถือหอกไล่แทงควาย และ
มีคนแต่งเป็นนางกระอั้ว อย่างตลกน่าหัวเราะ ถือร่มขาด และกระเดียดกระจาดคอยวิ่งตามหลัง
ส่วนควายนั้นก็วิ่งไล่ขวิดคนทั้งสอง ซึ่งหนีบ้างสู้บ้าง ด้วยท่าทางที่ทำให้คนดูต้องหัวเราะ ท้องคัดท้องแข็ง
ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ
                   ส่วนการละเล่นที่เรียกว่า โมงครุ่มและระเบงนั้น ผ่านไปดูได้ประเดี๋ยวหนึ่ง ช้อยก็ชวนไปที่อื่น
บอกว่าเบื่อไม่เห็นมีอะไร ร้องซ้ำๆ ซากๆ อยู่ได้

ไม้ลอย น. ชื่อการเล่นชนิดหนึ่งมีหกคะเมนบนปลายไม้ ใช้เล่นในงานพิธีใหญ่

ยังมีภาพหนึ่งซึ่งแสดงถึงเหล่าประชาชนที่มาเฝ้าดูการแสดงในพระราชพิธีโสกันต์กันอย่างเนืองแน่นที่สนามหญ้าหลังวัดพระแก้ว เพื่อชมการละเล่นต่างๆ


บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 29 ต.ค. 10, 08:28

ลุงไก่ครับ
ภาพเขาไกรลาศพร้อมเจ้านายด้านบน เป็นงานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ครับ

คือว่าทราบว่าเป็นภาพในงานพระราชพิธีฯ ตามที่คุณ siamese กล่าว แต่เจตนาของผมคือใช้ภาพประกอบคำบรรยายครับ เพราะผมไม่แน่ใจว่าภาพอื่นๆ ที่มีอยู่ ภาพไหนเป็นภาพพระราชพิธีฯ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕





บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 01 พ.ย. 10, 11:06

เรื่อง ชื่อบุคคล

พระนามของเจ้านายนั้น มักเป็นภาษาบาลี-สันสกฤต มีสร้อยพระนามยาว ๆ และมีการตั้งให้คล้องจองกัน  
หรือผูกเป็นกลอน เช่น พระนามพระราชโอรส พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๑
อรุโณทัย อภัยทัต ฉัตร ไกรสร
สุริยวงศ์ สุริยา ดารากร
ศศิธร คันธรส วาสุกรี
สุทัศน์ อุบล มณฑา
ดวงสุดา ดวงจักร มณีศรี
ธิดา กุณฑล ฉิมพลี
กระษัตรี จงกล สุภาธร
 
แม้แต่พระนามทรงกรม ราชบัณฑิต ก็ผูกพระนามให้คล้องจองกัน บางครั้ง แม้แต่อ่านทวนจากหลังก็ยังได้ใจความ และมีความคล้องจองกันด้วย
เช่น พระนามทรงกรม พระราชโอรส พระราชธิดา ในรัชกาลที่ ๔
มเหศวรศิววิลาส...วิษณุนาถนิภาธร...สมรรัตนสิริเชษฐ...นเรศวรราชวรฤทธิ์...พิชิตปรีชากร...อดิศรอุดมเดช...ภูธเรศธำรงศักดิ์...ประจักษ์ศิลปาคม...พรหมวรานุรักษ์...ราชศักดิ์สโมสร...ทิวากรวงศ์ประวัติ...ศิริธัชสังกาศ...สรรพศาสตร์ศุภกิจ...สรรพสิทธิประสงค์...เทวะวงศ์วโรปการ...วชิรญาณวโรรส...สมมติอมรพันธ์...วิวิธวรรณปรีชา...พงศาดิศรมหิป...นราธิปประพันธ์พงศ์...ดำรงราชานุภาพ...พิทยลาภพฤฒิธาดา...นริศรานุวัดติวงศ์...มรุพงศ์สิริพัฒน์...ทิพยรัตน์กิริกฎกุลินี...สวัสดิวัตน์วิศิษฎ์...มหิศรราชหฤทัย



ชื่อสามัญชน แต่แรกมักเป็นคำไทย คำโดด  
แต่บางครั้ง ก็มีการเสริมสร้อยนาม คล้ายพระนามเจ้านาย เช่นในวรรณคดี นางพิม มีสร้อยว่า พิลาไลย

อีกตัวอย่าง
ชื่อลูกพระยาศรีสรราช (วัน บุนนาค (วัน เปรียญ))                
พงษ์       สุริยัน                
พันธ์       สุริยา                
พลอย     พรรณราย                
พราย      พรรณา                
พุ่ม         มะลิร่วง                
พวง        มะลิลา
พิณ        เทพเฉลิม                
เพิ่ม        เสนหา                
พี           ยศมูล                
พูน         สมบัติมา


นอกจากการตั้งชื่อให้คล้องจองแล้ว ยังใช้อักษรต้นชื่อของบิดามารดามาตั้งชื่อลูกด้วย
อย่างเจ้านาย เช่น พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และ พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระนามขึ้นด้วย "อ"
เพราะเจ้าจอมมารดาเป็นเจ้าจอมก๊กออ (เจ้าจอมมารดาอ่อน และน้องสาว เจ้าจอมเอี่ยม เอิบ อาบ เอื้อน)

เจ้าจอมก๊กออ เป็นธิดาของ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงอู่ (วงศาโรจน์)
บุตร ธิดา ของท่านทั้งสอง ถ้าเป็นชาย จะใช้ "ท" (หรือ  "ถ" เนื่องจากเน้นการออกเสียงเป็นสำคัญ) ตามเจ้าคุณบิดา ส่วนธิดา จะขึ้นด้วย "อ" ตามคุณหญิงมารดา  ดังนี้
เทียน
เอม
เทียม
อ่อน
แถบ
อ่วน
เอี่ยม
อิ่ม
อบ  
เถลิง
เอิบ
อาบ
อาย
เอื้อน

บางครั้ง ทั้งบุตรและธิดา อาจใช้อักษรต้น ตามบิดาทั้งหมด
หรือ บุตรธิดาที่เกิดจากอนุภริยา อาจใช้ตามมารดาทั้งหมด
ฯลฯ

ทั้งนี้ ไม่ใช่หลักตายตัว    บางครอบครัว ก็ตั้งชื่อตามใจชอบ



ในเรื่องสี่แผ่นดิน

คุณเปรม (ป(ปร))
แม่พลอย (พ)    

นำอักษรต้นของชื่อทั้งสอง มาตั้งเป็นชื่อบุตรธิดา คือ
ปร นธ์
ปรพั นธ์
ปร จน์
ปร ะไ

โดยชื่อบุตรนั้น เอาพยางค์หลัง มาเปลี่ยนเป็น "อ" เพื่อตั้งเป็นชื่อเล่น คือ
พนธ์ - อ้น
พันธ์ - อั้น
พจน์ - อ๊อด
บันทึกการเข้า
pierre
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


จงก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆและมั่นคง


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 02 พ.ย. 10, 20:51

สี่แผ่นดินในบทที่ ๑๒ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งถึงการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังดุสิต "...ภายในพระราชวังสวนดุสิตก็แบ่งออกเป็นสวนต่างๆ พระราชทานนามตามลวดลายเครื่องลายครามกิมตึ๋งซึ่งเล่นกันดาษดื่นในสมัยนั้น พระมเหสีและพระสนมนั้นโปรดให้อยู่ตามสวนต่างๆ สวนสี่ฤดูเป็นที่ประทับสมเด็จที่บน สมเด็จพระตำหนักประทับสวนหงส์ พระนางประทับสวนนกไม้ ท่านองค์เล็กประทับสวนบัว ตำหนักเจ้าดารารัศมีอยู่สวนฝรั่งกังไส นอกจากนั้นก็มีสวนภาพผู้หญิงของเจ้าคุณแพ สวนพุดตาน สวนไม้สน สวนหนังสือเล็ก สวนหนังสือใหญ่ ชื่อสวนเหล่านี้ตรงกับชื่อที่เรียกลวดลายเครื่องลายครามในขณะนั้น..."

คำว่า "เครื่องลายครามกิมตึ๋ง" นั้นหมายถึงอะไรคะ? (ข้องใจคำว่ากิมตึ๋งนี่ละค่ะ)
แล้วลวดลายของเครื่องลายครามแต่ละอย่างที่นำไปตั้งเป็นชื่อสวนนั้นมีลักษณะอย่างไร? (เช่น สวนนกไม้ สวนไม้สน สวนฝรั่งกังไส)
รบกวนผู้รู้ทั้งหลายช่วยไขข้อข้องใจให้ด้วยนะคะ... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 02 พ.ย. 10, 21:23

กิมตึ๋ง มาจากยี่ห้อของเครื่องลายครามที่นิยมเล่นกันในสมัยนั้นครับ ชื่อเต็มๆ คือ กิมตึ๊งฮกกี่ เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เขียน 金堂福記 จีนกลางว่า จินถางฝูจี้ ครับ

ใน ลิงก์นี้ มีรูปให้ดูตราของหลายยี่ห้อ เสียดายว่าไม่มีของกิมตึ๊งฮกกี่ อยู่ด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 03 พ.ย. 10, 07:09

ถนนจากเครื่องลายครามจีน

  ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองเต็มไปด้วยความร่มเย็น เป็นสุขเศรษฐกิจของ ประเทศมั่นคงกว่าเดิม ทรงริเริ่มจัดสร้างงานสาธารณูปการและสาธารณูปโภคแผนใหม่ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพิ่มขึ้นตามลำดับ ในสมัยนั้นเจ้านาย ข้าราชการ ตลอดจนคหบดีต่าง ๆ นิยมสะสมเล่นเครื่องลายครามของจีน นำมาจัดคุมเป็นโต๊ะประกวดแข่งขันกัน มีข้อบังคับในการ ประกวดการตัดสินให้คะแนนตลอดจนตั้งกรรมการของหลวงขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ     
   ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นเป็นที่ประทับด้านเหนือของพระนคร มีการตัดถนนขึ้น ใหม่ หลายสายห้อมล้อมพระราชวังนั้น จึงพระราชทานชื่อถนน ชื่อคลอง ตลอดจนชื่อสวนต่าง ๆ ในพระราชวัง เป็นชื่อเครื่องลายครามจีน

    นายพิจิตร พูนพนิช อดีตสถาปนิกกรุงเทพมหานครในสมัยนั้น เป็นผู้สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติ ของถนนและสะพานเก่าใน กรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนอธิบายถึงความหมายของเครื่องลายคราม จีนไว้ในคอลัมน์การออกแบบและตกแต่งสวนใน วารสารกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๑๙ ไว้ดังนี้
   ๑. ถนนทับทิม จากเครื่องลายคราม ที่มีภาพทับทิม ประเพณีจีนมีคตินิยมว่าผลทับทิมนั้นมีเมล็ดมาก ย่อมมีพันธุ์มากจึงมีภาพเด็กหลายคน และผลทับทิมอยู่ด้วยกัน หมายถึงให้การสืบแซ่วงศ์ตระกูลมาก ๆ

   ๒. ถนนบ่วย จากเครื่องลายครามที่มีกิ่งช่อดอกบ่วย เขียนเป็นต้นก็มี เป็นรูปปักแจกันไว้ก็มี ดูได้จากบัตรเชิญงานแต่งงานเขียนไว้ที่ปก ถือว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง

   ๓. ถนนมังกรรำ จากเครื่องลายครามที่มีภาพมังกรรำคะนองฟ้า หรือมังกรดั้นเมฆ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ยิ่งใหญ่ หรือสัญลักษณ์เพศผู้ คู่กับไก่ฟ้า สัญลักษณ์ของเพศเมีย ซึ่งจะปรากฏรูปมังกรดั้นเมฆกับไก่ฟ้าในบัตรเชิญงานแต่งงานเสมอ

   ๔. ถนนเต๊ก จากเครื่องลายครามที่มีภาพกิ่งไผ่ ต้นไผ่ กอไผ่ ในงานมงคลของจีน จะมีคนถือต้นไผ่ ๒ ต้น เดินนำหน้า เป็นการขับไล่ภูต ผีปีศาจ ทำให้เป็นมงคล เซียนบางองค์มือหนึ่งถือกิ่งไผ่ อีกมือถือคนโทน้ำมนต์ก็มี

   ๕. ถนนส้มมือหนู จากเครื่องลายครามที่มีภาพส้มมือ ผลไม้ของจีนที่ถือว่าเป็นโอสถ รับประทานแล้วอายุยืนเช่นเดียวกับผลท้อ ในการเซ่นไหว้เพื่อให้อายุยืนจึงใช้ผลส้มมือและผลท้อเสมอ ปัจจุบันถนนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนสุพรรณ

   ๖. ถนนเบญจมาศ จากเครื่องลายครามที่มีภาพดอกเบญจมาศ ดอกไม้ชนิดนี้งามมากในเดือน ๕ มีสีสันต่าง ๆ ทั้งแดง แสด ขาว และสีอื่นๆ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนราชดำเนินนอก

   ๗. ถนนซางฮี้ จากเครื่องลายครามที่มีภาพซางฮี้เป็นอักษรจีนเขียนเหมือนกัน ๒ ตัว เป็นคู่กัน แปลว่าสุข สนุก สบาย อักษรซางฮี้ใช้ในพิธี แต่งงาน เช่น ติดหน้ากระจกรถยนต์เจ้าบ่าวเจ้าสาว เขียนบนบัตรเชิญ และใช้ประดับตกแต่งในห้องพิธี เช่น ติดไว้บนม่าน บนฝาห้อง ปัจจุบันถนนนี้ชื่อ ถนนราชวิถี

   ๘. ถนนดวงตะวัน จากเครื่องลายครามของจีนที่มีภาพพระอาทิตย์เต็มดวงโผล่ขึ้นมาจากน้ำทะเล เสื้องิ้วตัวสำคัญ ๆ ปักลายนี้ส่วนลูกคลื่น นั้นเขียน หรือปักซ้อนกันเหมือนเกล็ดปลา ปัจจุบันชื่อถนนศรีอยุธยา

   ๙. ถนนดวงเดือนนอกและถนนดวงเดือนใน จากเครื่องลายครามที่มีภาพดวงเดือน ประเพณีจีนมีการไหว้พระจันทร์ยังทำกันอยู่จนขณะนี้ ปัจจุบันชื่อถนนสุโขทัย

  ๑๐. ถนนดวงดาวใต้ จากเครื่องลายครามที่มีลายดาว นิยายจีนมักกล่าวถึงดาวที่เป็นเซียนต่าง ๆ เช่น ไท้แป๊ะกิมแชแชแปลว่าดาว ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นถนนนครราชสีมาใต้

  ๑๑. ถนนคอเสื้อ จากเครื่องลายครามที่มีลายแบบคอเสื้อของจีน ปัจจุบันชื่อถนนพิษณุโลก

  ๑๒. ถนนฮก จากเครื่องลายครามที่มีภาพค้างคาว ค้างคาวนั้นภาษาจีนว่า เปียนฮก จึงนำรูปค้างคาวมาใช้แทนฮกซึ่งหมายถึงบุญวาสนา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนนครปฐม

  ๑๓. ถนนลก จากเครื่องลายครามที่มีภาพลก คือขุนนางจีนสวมหมวกงามมีใบพัด ๒ ข้าง บางทีก็มีภาพกวางเขางามยืนอยู่ด้วย คือเทียบ เขากวางกับหมวกเกียรติยศ ภาพลก หมายถึง เกียรติยศ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ ๕

  ๑๔. ถนนสิ้ว จากเครื่องลายครามที่มีภาพสิ้ว สิ้ว แปลว่า อายุยืน บางทีทำเป็นรูปคนชรา แป๊ะแก่ ศีรษะล้านและงอกสูงขึ้นไป หนวดเครา ขาวสะอาด ถือผลท้อและไม้เท้ายืนอยู่ใต้ต้นสนใหญ่ รวมความว่า ต้นสนก็ดี ผลท้อก็ดี และความชราก็ดี ล้วนแสดงถึงความ เป็นผู้มีอายุยืน ทั้งสิ้น ปัจจุบันถนนสิ้วเปลี่ยนเป็น ถนนสวรรคโลก

  ๑๕. ถนนประแจจีน จากเครื่องลายครามที่มีภาพเป็นลายประแจจีน ปัจจุบันชื่อ ถนนเพชรบุรี

  ๑๖. ถนนพุดตานเหนือ จากเครื่องลายครามที่มีลายดอกไม้คล้ายดอกพุดตานของไทย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพิชัย

  ๑๗. ถนนประทัดทอง จากเครื่องลายครามที่มีภาพต้นประทัดทอง ต่อมาบางคนเรียกเพี้ยนเป็นบรรทัดทอง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระรามที่ ๖

ภาพการจัดเครื่องโต๊ะลายคราม มีหลายประเภท มีทั้งชุดเล็ก ชุดใหญ่ ประกวดประชันกัน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 03 พ.ย. 10, 07:30

ชุดโต๊ะกิมตึ๋ง แบบมาตรฐานจัดตามรูปแบบนี้

อ้างถึง "อธิบายเครื่องบูชา" ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ว่า
"เมื่อเกิดนิยม หาเครื่องโต๊ะจีนให้เป็นลายเดียวกันอย่างว่ามา พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก ต้นสกุลโชติกะพุกกณะ) จึงทูลขอให้กรมราชสีหวิกรม ทรงคิดแบบอย่าง แล้วสั่งเครื่องโต๊ะเข้ามาขายเป็นชุดๆ เรียกว่า "โต๊ะกิมตึ๋ง" แต่นั้นการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีนแกมไทยก็เลยเป็นแบบ และใช้เครื่องถ้วยของจีนเป็นพื้นมาจนทุกวันนี้"

การจัดโต๊ะทำอย่างไร

"โต๊ะเครื่องบูชาอย่างจีน จัดเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "โต๊ะใหญ่" คือ ตั้งทั้งโต๊ะขวางหลังและโต๊ะหน้าอย่าง ๑ "โต๊ะโขก" คงแต่โต๊ะหน้าตัวเดียวอย่าง ๑"

"บรรดาของที่จัดขึ้นโต๊ะนั้นจำต้องมีหย่องหรือเท้ารองทุกชิ้นไปตามชนิดของชิ้น ยกเสียแต่บางสิ่ง คือ เชิงเทียน กระถางต้นไม้ หรือ ตุ๊กตาที่มีฐานสำหรับตัวแล้ว ถ้าเป็นตุ๊กตาไม่มีฐาน ก็คงค้องมีเท้ารองเหมือนกัน"

"บรรดาชิ้นที่ควรเลี่ยม จำต้องให้เลี่ยมทุกชิ้น เว้นไว้แต่สิ่งที่ไม่ต้องเลี่ยม เช่นตุ๊กตาหรือลับแลที่มีกรอบไม้แล้วเป็นต้น"

"บรรดาชิ้นที่ตั้งโต๊ะ จะต้องดูแลเช็ดให้สะอาด อย่าให้เปื้อนเปรอะโสโครกเป็นปฏิกูล ถึงกี๋หย่องแลเท้าไม้ตลอดจนตัวโต๊ะก็ควรเช็ดให้สะอาด"

"การจัดชิ้นขึ้นโต๊ะ ถ้าเป็นโต๊ะมีขวางหลัง จะขาดลับแลและขวดปักดอกไม้ กระบอกธูป กระถางธูปใน กระถางธูปหน้า ขวดหน้า ชามลูกไม้หน้า เชิงเทียน ทั้ง ๘ อย่างนี้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้"


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
pierre
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


จงก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆและมั่นคง


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 11:59

ขอบคุณมากเลยค่ะสำหรับทุกคำตอบของทุกท่านที่ช่วยไขข้อสงสัยให้กระจ่างยิ่งขึ้น
ในเรือนไทยมีผู้รู้ในหลายๆแขนงจริงๆค่ะ ต้องขอขอบคุณการชี้แนะของผู้รู้ทุกท่านไว้ในที่นี้ด้วยจ้า  อายจัง
บันทึกการเข้า
pierre
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


จงก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆและมั่นคง


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 12:33

"สาย" เสด็จรับสั่งเรียก "บ่ายนี้มีสวดมนต์บนพระที่นั่ง ข้าว่าจะขึ้นไปสักหน่อย เสด็จตำหนักบนจะขึ้นไปหรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าไปจะได้ไปด้วยกัน"
"หม่อมฉันจะให้ไปทูลถามดูก็ได้มังคะ" คุณสายทูลตอบ แต่พอคุณสายพูดยังไม่ทันขาดคำ ก็มีเสียงคนเดินขึ้นบันไดมา เสียงข้าหลวงที่หมอบอยู่ใกล้ๆ ทางขึ้นทูลว่า
"แม่มาลัยมาจากตำหนักบนมังคะ"  และทันใดนั้นก็มีสตรีวัยกลางคนอีกคนหนึ่งโผล่หน้าขึ้นมากราบเสด็จตรงทางขึ้นและทูลอย่างเร็วปรื๋อว่า "สวดมนต์เย็นบนพระที่นั่งบ่ายวันนี้มังคะ เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วย"

คำว่า สวดมนต์บน "พระที่นั่ง" ในที่นี้หมายถึงพระที่นั่งองค์ไหนคะ?
และคำว่า "เสด็จตำหนักบน" หมายถึง "สมเด็จที่บน" ใช่หรือไม่ อย่างไร?
แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่าจะหมายถึงสมเด็จที่บนค่ะ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ข้าหลวง(แม่มาลัย)น่าจะเรียกแทนพระองค์ว่า "สมเด็จ" มากกว่า อันนี้หนูเข้าใจถูกต้องมั๊ยคะ...

ครั้งแรกๆที่อ่านสี่แผ่นดินก็ไม่ได้คิดสงสัยอะไรแบบนี้ค่ะ อาจจะเป็นเพราะมัวแต่ประทับใจกับการใช้คำว่า "เสด็จ" ของท่านผู้ประพันธ์ แต่เมื่อได้อ่านในครั้งหลังๆ (แบบอ่านเก็บรายละเอียด) ก็รู้สึกว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ข้อสงสัยบางประการก็พยายามหาคำตอบด้วยตัวเองไปบ้างแล้ว แต่บางครั้งก็อยากได้คำชี้แนะจากท่านผู้รู้อื่นๆด้วยค่ะ..^0^   


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 06 พ.ย. 10, 15:27

พระที่นั่ง  คงหมายถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ครับ

ที่บน / เสด็จที่บน / เสด็จตำหนักบน คงไม่มีที่บนหลายแห่งเป็นแน่ครับ นอกเสียจาก "พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร" ครับ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 08 พ.ย. 10, 17:26

ตอนหนึ่งในสี่แผ่นดิน พูดถึงหวย ก.ข. ไว้

คุณเชยก้มลงเปิดกระเป๋าหมาก หยิบเงินให้พิศสองบาท แล้วบอกว่า
"เอ้าพิศ เอาไปซื้อของเล่นไป๊ นานๆพบกันที"
นางพิศลงกราบอย่างดีใจ รับเงินไปแล้วบอกว่า
"คุณพลอยคอยกินขนมไว้ให้ดีนะ พรุ่งนี้แหละพิศจะรวยใหญ่ทีเดียว"
"รวยอะไร กะอีเงินสองบาท" พลอยพูดอย่างเห็นขัน
"อ้าวคุณยังไม่รู้อะไร" นางพิศอธิบาย "เมื่อคืนพิศฝันดี๊ดี เห็นนกกระยางบินมาตั้งฝูง วันนี้ต้องแทงหวย ให้เต็มภิกขาทีเดียว"
"แทงตัวอะไรพิศ" ช้อยถามอย่างสนใจ
"แทง ป. กังสือซีคุณช้อย" นางพิศตอบอย่างแน่ใจ
"ไฮ้ ! ฝันเห็นนกกระยางทำไมไปแทง ป. กังสือล่ะพิศ" คุณเชยซัก
"ก็นกกระยางมันกินปลานี่เจ้าค่า" นางพิศตอบอย่างปราศจากสงสัย "ปลาก็ ป. กังสือซีเจ้าค่า"
"ฉันชักจะเลื่อมใสเสียแล้วละ" ช้อยพูดขึ้น "พิศจะออกไปแทงหวยเมื่อไรละก็บอกฉันให้รู้มั่งนะ ฉันจะฝากไปแทงสักเฟื้องหนึ่ง"

เลยเอารูปตัวอักษรที่เล่น หวย ก.ข. มาให้ดูค่ะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง