เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 111131 ชื่อเรียกต่างๆจากวรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 11:14

เพิ่งเห็นคำถาม
คุณสายหยุดเป็นตัวละครสมมุติ   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แค่เอ่ยชื่อถึง ไม่กี่บรรทัด   ไม่มีบทบาทในเรื่องค่ะ
แต่สายสกุลบุนนาคบ้านบน มีจริง    เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยเป็นบุนนาคบ้านล่าง  แยกสายกันตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
คุณวันดีเคยเอ่ยไว้ในกระทู้เก่า   ใครหาเจอบ้างคะ

หีบพระศรีในรัชกาลที่ ๕  งามมากจริงๆ ได้เห็นรูปก็เป็นบุญตา  ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆหรือเปล่าคะ คุณ siamese

อาจารย์เทาชมพูครับ ถ้าผมเข้าใจไม่คลาดเคลื่อน เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยน่าจะเป็นพวกบ้านบน (สายสมเด็จองค์ใหญ่ - เจ้าคุณหาบน ใน ร. ๓ เพราะบ้านอยู่ฟากขะโน้น (ฝั่งธน ฯ) ด้านบน) และคุณสายหยุดน่าจะเป็นพวกบ้านล่าง (สายสมเด็จองค์น้อย -บ้านอยู่ฟากขะโน้น แต่ด้านล่าง) นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 11:23

เคยเขียนเอาไว้ในหนังสือ พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน ว่าแม่พลอยเป็นญาติทางไหนของม.ร.ว. คึกฤทธิ์  แล้วก็ลืมไปจริงๆว่าเจ้าคุณพ่อเป็นบ้านบนหรือบ้านล่าง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 11:26

คุณเทาชมพูเคยเขียนไว้ดังนี้

คนอ่านยุคปัจจุบันคงไม่ทราบว่า คำว่า "ก๊กฟากขะโน้น" หรือ " ฟากข้างโน้น" "บ้านบน" และ "บ้านล่าง" หมายถึงอะไร แต่ถ้าย้อนหลังไปสัก ๕๐ ปี สมัยที่นวนิยายลงพิมพ์เป็นตอนๆในสยามรัฐ ผู้อ่านหลายท่านเข้าใจดีถึงความหมายของคำนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็น " ก๊กฟากขะโน้น" ด้วยกัน

"ก๊กฟากขะโน้น" คือสกุลขุนนางที่รุ่งเรืองที่สุดในบรรดาขุนนางรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ มีเชื้อสายวงศ์วานมากมาย ล้วนตั้งนิวาสสถานอยู่ทางฝั่งธนบุรี มาตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาจักรี หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังประทับอยู่ฝั่งนั้น แม้ว่าต่อมาเมื่อสถาปนาเมืองหลวงขึ้นทางฝั่งตรงข้าม พวกนี้ก็ยังอยู่ฝั่งธนตามเดิม ไม่ได้ย้ายตามเสด็จมาด้วยทางฝั่งกรุงเทพฯ

เมื่อเมืองหลวงอยู่ฝั่งตะวันออก ฝั่งธนบุรีก็กลายเป็น " ฟากขะโน้น" สำหรับชาวกรุง และเมื่อเอ่ยถึง " ก๊กฟากขะโน้น" ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงพวกไหน แม้ว่ามีขุนนางหลายร้อยหลายพันบ้านอยู่ทางฝั่งธนก็ตาม ก็ไม่มีใครเรียกว่าเป็นพวก " ฟากข้างโน้น"

ใช่ค่ะ " ก๊กฟากขะโน้น" คือพวกบุนนาค ซึ่งหัวหน้าสกุลเป็นเจ้าพระยามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขุนนางสกุลบุนนาคได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาถึง ๒ ท่านด้วยกัน คือสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย

บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่เรียกกันว่า " บ้านบน" ลูกหลานเชื้อสายทางท่านก็เรียกกันว่า " พวกบ้านบน" ส่วนบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเรียกว่า "บ้านล่าง" ลูกหลานท่านก็เรียกกันว่า " พวกบ้านล่าง" ทำนองเดียวกันค่ะ

พวก " บ้านบน" ที่สำคัญที่สุดในต้นรัชกาลที่ ๕ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ท่านได้ขึ้นตำแหน่งสูงสุด คือเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

พระยาพิพิธเจ้าคุณพ่อของพลอยเป็นตัวละครสมมุติก็จริง แต่เมื่อผู้แต่งระบุว่า "เจ้าคุณเป็นก๊กฟากขะโน้นบ้านบน" ก็หมายความว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตั้งใจให้เจ้าคุณพิพิธ เป็นเชื้อสายทางฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หรือไม่ก็เชื้อสายทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

แม่พลอยก็เป็นหลานเหลนของสมเด็จเจ้าพระยาฯบ้านบน ด้วยความหมายนี้เอง

ส่วนคุณสายหยุดสาวชาววังคนนั้นเป็นพวก "บ้านล่าง" คือเป็นเชื้อสายทางฝ่าย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย


http://www.vcharkarn.com/varticle/104


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 12:04

ได้คำตอบเร็วทันใจจริงๆ
 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 12:28

บ้านบน - บ้านล่าง ยึดถือตามอะไรหรือครับ
๑. บรรดาศักดิ์ก่อน - หลังรับตำแหน่ง
๒. ความเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด
๓. ตามลักษณะภูมิสถานตั้งบ้านเรือน
     ๓.๑ ถ้าตามแผนที่ นิวาศสถานของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซึ่งแปลงที่ดินเป็นวัดประยุรวงศาวาส จะอยู่เหนือ    กว่าและตามด้วยและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งแปลงที่ดินเป็นวัดพิชัยญาติ จะอยู่ด้านล่าง
     ๓.๒ ถ้าดูจากการพายเรือ จะถึงบ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ก่อนและลึกเข้าไปในแผ่นดิน จึงถึงสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (จะเรียกบน หรือล่าง)  ฮืม ฮืม
๔. หรือว่าใกล้แม่น้ำ บ้านบน ไกลแม่น้ำบ้านล่าง


บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 13:59

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมบุนนาค เป็นพระยาอุไทยธรรม พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่ตรงบริเวณกำแพงวังหลวงด้านใต้ กับกำแพงวัดโพธิ (ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ปัจจุบันนี้เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ สถานที่นี้มีอ้างในหนังสือเรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เกิดที่นี่)

พ.ศ. ๒๓๖๑ ได้มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางใต้ จึงได้รื้อบ้านทุกหลังที่ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงวัดด้านใต้กับกำแพงวัดพระเชตุพนฯ พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค โบราณว่า พระยาสุริวงษ์มนตรี ภายหลังคือ สมเด็จองค์ใหญ่) ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใต้บ้านกุฎีจีน ซึ่งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งตะวันตกในปัจจุบันนี้

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://www.bunnag.in.th/history7-home1.html



ส่วน บ้านบน -บ้านล่าง ผมเข้าใจเอาเองว่า

นับตามทิศ หรือตามทิศทางแม่น้ำ
โดยบ้านบน อยู่ทางทิศเหนือ หรือตอนต้นแม่น้ำ
ส่วนบ้านล่าง อยู่ทิศใต้ หรือทางท้ายแม่น้ำ (ไม่ทราบว่าใช้คำถูกมั้ย  อายจัง)

บ้านบน ไม่ได้อยู่เฉพาะบริเวณ วัดประยูรเท่านั้น
และ บ้านล่าง ก็ไม่ได้อยู่เฉพาะตรงวันพิชัยญาติ เท่านั้น



"ตามประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอม มารดาแพ) พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงบ้านเรือนของพี่น้องสกุลบุนนาค ว่าอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี สร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ ใกล้ๆ กัน ในละแวกนั้น พื้นที่เริ่มจากคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) เลียบตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาจนถึงเขตคลองขนอน (คลองตลาดบ้านสมเด็จ เจ้าพระยา) ที่ดินเหล่านี้ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ อาจแบ่งเป็นเขตใหญ่ๆ ๒ เขตได้แก่ เขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จองค์ใหญ่ กับเขตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จองค์น้อย พื้นที่ทั้งสองเขตนอกจากเป็นที่อยู่อาศัยของบุตรหลานแล้ว ยังได้ถวายพื้นที่ สร้างวัดของตระกูล คือ วัดประยุรวงศาวาส วัดพิชยญาติการาม วัดอนงคาราม เป็นต้น วัดทั้ง ๓ แห่งนี้เป็นที่บุคคล ในสกุลบุนนาคบรรพชาพระภิกษุ สามเณร ประกอบศาสนกิจ และเป็นสถานที่ศึกษาอักขระเบื้องต้นอีกด้วย

เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรสมเด็จองค์ใหญ่ได้เป็นที่สมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งพระนคร ริมคลองสะพานหัน ปัจจุบันนี้ ตรงเวิ้งนครเกษม (จวนนั้นได้ตกเป็นของหลวง เมื่อเจ้าของถึงอสัญกรรมในปลายรัชกาลที่ ๓) ให้เป็นจวนหรือบ้านพักของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และได้พำนักอยู่ ๑ ปี ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) บิดาของท่านถึงพิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขอถวายจวนคืนเป็นที่หลวง เนื่องจากต้องกลับไปดูแลทรัพย์สินของท่านบิดา ดังนั้นได้ย้ายกลับไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรี แต่มิได้อยู่ที่จวนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านได้ยกจวนนั้นให้แก่น้องสาวอยู่ด้วยกันอย่างเดิม และท่านไปสร้างบ้านอยู่ใหม่ที่ บริเวณสวนกาแฟ ริมคลองสานหลังวัดประยุรวงศาวาส
 

คลองสานนี้มีมาแต่เดิม มีความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ต้นคลองเริ่มจากตรงที่ต่อกับคลองบ้านสมเด็จ (คลองสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ที่หน้าวัดพิชยญาติการาม ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ป้อมป้องปัจจามิตร คลองสานนี้ตัดผ่านคลองต่างๆ หลายคลองเช่น คลองจีน คลองวัดทองธรรมชาติ คลองวัดทองนพคุณ และคลองลาดหญ้า เป็นต้น เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้ต่อเรือกำปั่นจักรข้างขึ้นลำหนึ่ง ชื่อ "อรรคราชบรรยง" โรงต่อเรืออยู่ตรงข้ามกับหน้าวัดพิชยญาติการาม สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ขุดคลองสานเดิมขยายให้กว้างและลึกเพื่อจะนำเรือลงน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา การเรียกชื่อคลองสานจะมีต่างๆ กัน บ้างเรียกคลองสานสมเด็จ บางทีเรียกคลองลัดวัดอนงค์ ส่วนบริเวณฝั่งใต้ย่านคลองวัดทองนั้น มีคลองที่ขุดใหม่ใน สมัยเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เรียกว่า คลองสานเจ้าคุณกรมท่า

ส่วนคลองบ้านสมเด็จนั้นอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดอนงคาราม ด้านปากคลอง เป็นที่ตั้งบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ต่อมาท่านได้บูรณะวัดร้างใกล้กับวัดอนงคาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๔ โดยสร้างขึ้นใหม่ ต้องใช้วัสดุก่อสร้างจำนวนมาก และขนมาทางคลอง บริเวณนั้นเป็นป่าช้าไม่มีบ้านเรือนมาก คลองนี้จึงขุดกว้างพอที่เรือบรรทุกวัสดุก่อสร้างและหินสลักจากเมืองจีน เพื่อมาประดับตกแต่งอารามผ่านเข้ามาได้ ในตอนแรกเรียกว่าคลองตลาดสมเด็จ ต่อมาเป็นคลองสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบันเรียกว่าคลองวัดอนงคาราม

ส่วนคลองตอนในบริเวณหน้าวัดที่สร้างใหม่ เรียกว่า คลองวัดพระยาญาติ (ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดพิชยญาติการาม) นอกจากขุดคลองบ้านสมเด็จเพื่อใช้ในการสร้างวัดแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยยังได้ขุดคลองสกัดหลังวัดพิชยญาติการามอีกคลองหนึ่ง ต้นคลองเริ่มจากคลองวัดน้อย (วัดหิรัญรูจี) ปลายคลองไปบรรจบคลองสานเดิม เรียกกันว่า คลองหลัง พระปรางค์เหลือง

คลองในเขตคลองสานส่วนใหญ่จะเป็นคลองที่คนในตระกูลบุนนาคเป็นผู้ขุดเกือบทั้งสิ้น นาวาเอกพระยาชลธารวินิจฉัย (มุ้ย ชลานุเคราะห์) ได้เล่าไว้ในประวัติคลอง เขตหมู่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ขุดขยายคลองในการสร้างบ้านและวัด สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยกับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ขุดขยายคลองในการสร้างวัด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กับเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (เจ้าคุณทหาร) ขุดขยายคลองในการสร้างเรือกำปั่นหลวง และเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี หรือเจ้าคุณกรมท่า ขุดคลองในการสร้างสวนเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ สถานที่ผลิตเรือรบนั้นอยู่ทางฝั่งคลองสานเป็นส่วนใหญ่ อู่เรือบ้านสมเด็จ ซึ่งอยู่หน้าวัดอนงคารามนั้น เป็นอู่เรือที่อยู่ในความอำนวยการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งท่านชอบต่อเรือมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ต่อเรือกำปั่นใบแบบฝรั่งได้ คือเรือแกล้วกลางสมุทร (ต่อที่จันทบุรี) อู่เรือที่หน้าวัดอนงคารามอยู่ใกล้กับจวนของท่าน เป็นสถานที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่อเรือรบและเรือพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเรือสำหรับใช้เป็นการส่วนตัว เช่น เรือฤทธิแรงศร เรือลิ่ว ลอยเวหน และเรือสุริยมณฑล เป็นต้น

เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้อำนวยการต่อเรือหน้าวัดอนงคารามสืบต่อจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ เจ้าคุณทหารมีบุตรธิดา ๖๕ คน มีนิวาสถาน อยู่บริเวณพื้นที่ด้านตะวันตก (ของที่ดินเขตสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) พื้นที่ส่วนกลางจะเป็นนิวาสถานของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ส่วน ด้านทิศตะวันออก จะเป็นเขตของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ... "

รายละเอียดตามเว็บเดิม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 14:52

             คิดเหมือนกันครับ ว่าเรียกตามทิศทางการไหลของแม่น้ำ
ส่วนที่แม่น้ำไหลถึงก่อน(เหนือ) เป็นตอนบน ทางใต้ก็เป็นตอนล่าง
(คล้ายกับ Upper Egypt และ Lower Egypt - อียิปต์บนแต่อยู่ส่วนล่างในแผนที่)

            มหาวิทยาลัยไทยน่าจะมีคอร์ส สี่แผ่นดิน บ้าง นะครับ
ต่างประเทศ(อังกฤษ) มีการเปิดคอร์ส Harry Potter

BBC News August 2010

        Durham University students offered Harry Potter course

        ... the UK's first course focusing on the world of Harry Potter.

        ... to examine prejudice, citizenship and bullying in modern society.

        So far about 80 undergraduates have signed up for the optional module, part of
a BA degree in Education Studies.

ก่อนหน้านั้น 04/2009 clevelandleader.com ก็มีข่าวจากบ้านเกิดสี่เต่าทอง

        Liverpool University Launches Beatles Graduate Degree Program      
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 16:54

จากความเห็นที่ ๒๖ ของคุณ pierre

"แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างอุโมงค์ขึ้นใหม่ใกล้กับประตูศรีสุดาวงศ์เพื่อความเหมาะสม (ไม่ต้องออกไปถึงแม่น้ำ)  โดยอุโมงค์ที่สร้างสมัยนี้จะมีถังตั้งไว้ข้างล่างตลอดแถวสำหรับรับอุจจาระ และจะมีผู้นำไปเทภายหลัง"

จากหนังสือ "วังหลวง" ของนางอมรดรุณารักษ์ (อุทุมพร สุนทรเวช) ท่านผู้ประพันธ์บรรยายไว้ดังนี้

อุโมงค์ท้ายวัง

"อุโมงค์" นี้เป็นชื่อของสถานที่ที่มีการก่อสร้างพิเศษขึ้นไว้สำหรับใช้เฉพาะเหล่าสตรีทั่วไปทั้งหลายทั้งปวงในบรรดาอาศัยพำนักอยู่ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นใน ลักษณะอุโมงค์นี้เป็นอาคารชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนแบบโบราณหนาทึบคล้ายๆ สถาปัตยกรรมสมัยโรมันที่ค่อนข้างแข็งแรงเป็นพิเศษ หลังคาเป็นรูปจั่วปูนปั้นเป็นแท่งตรงๆ ขึ้นไปเหมือนมีแต่กำแพงตั้งขึ้นไปรับ ตัวอาคารตั้งหันหลังแนบชิดอยู่กับแนวกำแพงพระราชฐานชั้นกลางด้านทิศตะวันตกทางใกล้ๆ กับประตูศรีสุดาวงศ์ ค่อนข้างจะยาวและกว้างใหญ่พอที่จะรับรองผู้ต้องการมาใช้สถานที่เปลื้องทุกข์ได้พร้อมๆ กันคราวละหลายๆ คน มีท่อสำหรับไขน้ำเข้าออกให้ถ่ายเทสิ่งโสโครกลงไปตามท่ออุโมงค์ใต้พื้นดินลอดไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตลอดเวลา

ที่ตรงทางเข้าอุโมงค์นั้นไม่มีประตูปิดเปิด แต่เขาทำเป็นช่องโค้งๆ ไว้แทนช่องประตู มีความลึกตามส่วนความหนาของกำแพงตรงช่องทางเข้า พอที่จะมองไม่เห็นถึงข้างในได้เพราะมีลับแลบังอยู่ตรงกลาง พื้นภายในก่ออิฐถือปูนปูกระเบื้องหน้าวัว มีที่นั่งถ่ายเป็นเหมือนคอกกั้นด้วยฝาไม้เรียงกันเป็นแถวเฉพาะห้องเล็กๆ นั่งได้คนเดียว คอกเหล่านี้มีฝากั้นสองข้างสูงพอมิดศีรษะดังกล่าวมาแล้วโดยตลอด จำนวนคอกส้วมเหล่านี้ยาวไปจนสุดมุมกำแพงทั้งซ้ายขวา ด้านหน้าคอกมีฉากไม้กั้นเป็นบังตากันอุจาดไว้ตลอด เว้นทางเดินเข้าเป็นช่องไว้บ้างเป็นระยะๆ ห่างๆ สำหรับเดินเข้าออก ภายในอุโมงค์นี้เบื้องบนมีช่องลมกว้างมากตลอดแนวก่อนถึงหลังคา ช่วยให้มีแสงสว่างส่องถึงและถ่ายเทอากาศได้สะดวกไม่เกิดกลิ่นเหม็นจัด

อย่างไรก็ดีอุโมงค์ที่ว่านี้ย่อมเป็นเครื่องแสดงและยืนยันได้ว่าการสาธารณสุขสมัยนั้น วิธีการของอุโมงค์ในวังหลวงก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ดีพอสมควรในการใช้วิธีไขน้ำเข้ามาสูบกวาดล้างสิ่งโสโครกได้อย่างสะอาดดียิ่ง ถูกสุขลักษณะและค่อนข้างทันสมัยสำหรับยุคนั้น นับเป็นผสำเร็จอย่างเยี่ยมยอดก็ว่าได้"

แล้วการไขน้ำเข้ามาสูบกวาดล้างสิ่งโสโครก ทำอย่างไร จะรอให้ระดับน้ำขึ้น-ลงในแม่น้ำเจ้าพระยามาชักพาไปคงจะไม่ทันการเป็นแน่


บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 17:10

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ปรากฏว่าได้มีระบบประปาใช้แล้วในพระบรมมหาราชวัง แต่คงไม่ใช่น้ำประปาที่ผ่านการกรองและสะอาดจน "น้ำประปาดื่มได้" เหมือนปัจจุบันเป็นแน่

"ถัดจากข้างเหนือขึ้นไป ให้ทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง โปรดพระราชทานชื่อให้เรียกกันทั่วไปว่า ท่านิเวศน์วรดิฐ"

"อนึ่ง ที่เหนือจากท่านิเวศน์วรดิฐนี้เอง โปรดให้ตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยเครื่องจักรและสร้างถังสูงสำหรับขังน้ำที่สูบขึ้นไปจากแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วฝังท่อไขน้ำเข้าไปใช้ในพระบรมมหาราชวังดังกล่าวมาแล้ว ปรากฎว่าการประปาสมัยโบราณที่ว่านี้ยังคงใช้ได้สะดวกมาตลอดรัชกาลที่ ๕ เพิ่งจะเลิกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการประปาแบบใหม่เมื่อสร้างการประปาสำหรับพระนครในรัชกาลที่ ๖ นี้เอง โรงสูบเก่าจึงเป็นอันหมดสมัยไป"

แสดงว่าคงจะมีการวางท่อประปานี้ไปยัง "อุโมงค" ด้วย เพื่อใช้แรงดันของน้ำขับไล่สิ่งโครกออกไป
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 17:49

ท่าราชวรดิฐเป็นท่าเทียบเรือพระที่นั่ง ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นที่ตั้งของพระตำหนักน้ำซึ่งสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นตำหนักปักเสาลงในน้ำ ทอดคานเหมือนเรือนแพ มีหลังคามุงกระเบื้อง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักของเดิมเสีย แล้วลงเขื่อนถมที่ขึ้นเสมอพื้นดิน และสร้างพระที่นั่งขึ้นหมู่หนึ่งเป็นพลับพลาสูงตรงกลางองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งชลังคพิมาน" ต่อพลับพลาสูงเข้าไปทางด้านตะวันออก มีพระที่นั่งสูงเป็นที่ประทับองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต" พระที่นั่งข้างเหนือลดพื้นต่ำลงมาเป็นท้องพระโรงฝ่ายหน้าองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย" มีพระที่นั่งข้างใต้เหมือนกันกับองค์ข้างเหนือเป็นที่พักฝ่ายใน พระราชทานนามว่าพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ ส่วนตรงหน้าพระที่นั่งชลังคพิมานใต้ท่าเสด็จลงเรือ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อเขื่อนทำสระเป็นที่สรงสระหนึ่งก่อกำแพงเป็นบริเวณข้างในทั้ง 3 ด้านมีป้อมริมน้ำปลายแนวกำแพงด้านเหนือ พระราชทานนามว่า "ป้อมพรหมอำนวยศิลป์" ป้อมข้างใต้ตรงชื่อ ป้อมอินทร์อำนวยศร และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกรวมกันทั้งบริเวณว่า "ท่าราชวรดิฐ" แปลว่า ท่าอันประเสริฐของพระราชา ข้างเหนือขึ้นไปทำท่าสำหรับเรือข้าราชการอีกท่าหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "ท่านิเวศน์วรดิฐ" ซึ่งปัจจุบันเป็นท่าเรือรับส่งข้าราชการทหารเรือและประชาชนทั่วไปข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรีขึ้นตรงท่าของกรมอู่ทหารเรือ

ข้อมูลจากกระทู้ของคุณ auddy228 http://www.baanmaha.com/community/

ท่าขุนนางในปัจจุบัน - ดังนั้นโรงสูบน้ำประปาคงจะอยู่ในพื้นที่ของสนามกีฬาของสวัสดิการทหารเรือ ท่าช้างในปัจจุบัน





บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 19:33

ประตูช่องกุด และประตูศรีสุดาวงศ์


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 20:38

"....ครั้งหนึ่งช้อยหายไปข้างนอกตำหนัก กลับมาหอบอ้อยที่ตัดเป็นท่อนสั้นๆ มาหลายท่อน ช้อยเรียกพลอยมาดู แล้วแบ่งท่อนอ้อยสั้นๆ นั้นให้ครึ่งจำนวน แล้วบอกให้ช่วยกันเลี้ยง พร้อมทั้งอธิบายว่า ในท่อนอ้อยนั้นมีตัวด้วงมะพร้าว ซึ่งช้อยไปรับอาสาคนที่ห้องเครื่องต้นว่า จะเอามาเลี้ยงให้จนครบกำหนด เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องการด้วงมะพร้าวเหล่านี้ ไปทอดตั้งเครื่อง ก็จะนำไปคืน ช้อยบอกให้พลอยเอาอ้อยฟังที่หู พลอยก็ทำตาม ได้ยินเสียงตัวด้วงกัดกินอ้อยอยู่ข้างในถนัด ช้อยและพลอยเป็นห่วงใยด้วงเหล่านั้นเป็นวักเป็นเวร แม้เวลานอนก็เอาไปวางข้างหมอน เพื่อฟังเสียงด้วงกัดอ้อย จนหลับไปกลับที่ พอครบกำหนดที่จะต้องส่งคืน ที่ห้องเครื่อง ทั้งช้อยและพลอยก็หอบอ้อยไป ช้อยถึงกับร้องไห้ด้วยความอาลัยด้วง ที่จะต้องตายในเวลาเร็ว พอไปถึงห้องเครื่อง พลอยก็เห็นเขาผ่าอ้อยเอาตัวด้วงซึ่งอ้วนกว่าหัวแม่มือและสีขาว เอาลงใส่อ่างซึ่งเต็มไปด้วยหัวกะทิ ปล่อยให้ด้วงกินกะทิต่อไปอีก แต่ช้อยก็ยังไม่ยอกมกลับ ต้องนั่งรอจนเขาจับด้วงเป็นๆนั้น ลงทอดในกระทะน้ำมันร้อนๆ จนตัวด้วงนั้นเหยียดยาวออกไป แล้วก็เอาขึ้นมาหั่นเป็นแว่นๆ พร้อมที่จะจิ้มน้ำจิ้ม ช้อยจึงกลับ ระหว่างที่เดินทางกลับช้อยก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น จนคนที่รู้จักเห็นเข้าถามว่าใครตาย..."



บันทึกการเข้า
pierre
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


จงก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆและมั่นคง


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 21 ต.ค. 10, 22:12

ระหว่างทางที่แม่แช่มพาพลอยนั่งเรือจากบ้านคลองบางหลวงข้ามแม่น้ำมายังวังหลวงนั้น พลอยเกิดความสงสัยเมื่อเห็นอาคารหลังหนึ่ง หลังคามุงกระเบื้องสี มีช่อฟ้าปิดทองงามระยับริมตลิ่ง เมื่อถามแม่แช่มก็ได้รับคำตอบว่าที่พลอยเห็นนั้น คือ “ตำหนักแพ”
สำหรับตำหนักแพนี้ใช้เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียก “ท่าราชวรดิฐ”  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตำหนักแพเป็นหมู่พระตำหนักน้ำ อยู่ด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง เป็นเพียงตำหนักเล็กๆ ที่สร้างยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดคานเป็นทางเดินเหมือนเรือนแพ จึงเรียกว่า “พระตำหนักแพ” (สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวพระตำหนักทรุดโทรม จึงโปรดให้รื้อและสร้างขึ้นใหม่ ครั้งนี้โปรดให้ลงเขื่อนถมและปรับที่ให้เสมอกัน สร้างเป็นหมู่พระที่นั่งใหม่อย่างงดงาม ประกอบด้วยพระที่นั่งชลังคพิมาน พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิตย์ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ โดยพระราชทานนามบริเวณนั้นทั้งหมดว่า “ท่าราชวรดิฐ”  ยิงฟันยิ้ม
***ปัจจุบันเหลือเพียงพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยเพียงองค์เดียว
ภาพนี้ เคยพบในwebใดwebหนึ่งแต่จำไม่ได้ว่าจากที่ไหนขอคำชี้แนะจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยนะคะ ว่าพระที่นั่งใดอยู่ตรงไหน? ฮืม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 22 ต.ค. 10, 08:03

ให้ลุงไก่ ... เรื่องน้ำประปา และแถวเต็ง ที่สร้างใหม่

"...ในบริเวณพระราชวังชั้นใน เขื่อนเพ็ชรอันเปนเขตรพระราชวังชั้นใน เดิมทำเปนทิมแถวชั้นเดียว โปรดให้ทำใหม่เปนเล่าเต๊ง ๒ ชั้น ทั้งด้านตวันออกแลตวันตก แต่ด้านใต้นั้นทรงพระราชดำริห์ว่า พระราชวังชั้นในตอนที่ขยายออกไปทางวัดพระเชตุพนเมื่อในรัชกาลที่ ๒ นั้น ยังไม่ได้สร้างสิ่งใดขึ้นเปนที่ว่างร้างอยู่ในพระบรมมหาราชวังกว้างขวางนัก จึงโปรดให้กั้นเขตรข้างในพระราชวังเสียอิก คือให้สร้างเล่าเต๊งเขื่อนเพ็ชร์ขึ้นเปนแนวกำแพงด้านใต้ ๒ ชั้น ชั้นในเรียกว่าเต๊งแถวท่อ เพราะทำตามแนวท่อที่ไขน้ำเข้าในวัง ท่อนี้แต่เดิมเปนท่อเปิดเหมือนกับคลอง เปนทางไขน้ำเข้ามาใช้ในพระราชวัง แลให้น้ำไปลงสระสวนขวา โปรดให้ก่อปิดทำเปนพื้นถนน เปิดเปนปากบ่อไว้สำหรับตักน้ำใช้เปนระยะ..."

ภาพนี้เป็นภาพท่าราชวรดิฐ มีถังน้ำด้วยครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 ต.ค. 10, 08:14

เมื่อพลอยตามเสด็จไปบางปะอิน   ชาววังต้องหาของกินติดตัวไปด้วย  ระหว่างทางรถไฟ  และที่บางปะอินไม่มีของขายอย่างในวัง
ของกินเล่น ชั้นดีวิเศษของสมัยนั้น คือขนมปังหมูหยอง



รองลงมา  คือข้าวเม่าหมี่



และลูกบัวผัด  (หรือเม็ดบัวผัด)



ในยุคคริสปี้ครีม    ไม่แน่ใจว่าหนุ่มๆสาวๆกี่คนเคยกินของกินเล่นพวกนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง