เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 23687 อยากทราบเรื่องคำเรียกเพศที่สามในไทยในสมัยก่อน
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 07 ต.ค. 10, 08:10

เนื่องจากข้าพเจ้าจำเป็นต้องเขียนเรื่อง "เพศที่สามในไทย" ส่งอาจารย์ และบังเอิญว่าอยู่จีน

ข้อมูลน้อยยิ่งนัก...

อยากรบกวนว่าชาวเรือนไทยพอจะรู้บ้างหรือไม่ว่าเพศที่สามในไทยนี้เดิมเรียกว่าอะไร

ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังล้วนแต่เป็นรุ่นหลังยุค ๒๕๒๕ ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้รับทราบ ทราบแต่ว่าเก่าที่สุดใช้กะเทย แล้วในช่วงปี ๒๕๐๐ มีคำเรียกโดยเฉพาะหรือไม่

ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 09:53

จำได้ว่าในกฏมณเฑียรบาลเคยพูดถึง
คนรับใช้ในราชสำนักว่าเป็น 'เตี้ย ค่อม เทย' นะครับ
แต่ไม่แน่ใจว่า 'เทย' จะหมายความว่าอะไร ?

ผมเข้าใจว่าจะไม่ได้หมายถึง 'ขันที' หรือ 'ยูนุก'
ที่บางทีก็เห็นเรียกว่า 'นักเทศขันที' ก็มี
เพราะดูเหมือนว่า 'ขันที' ส่วนมากก็คือผู้ชายธรรมดา
ที่อาจจะผิดไปจากผู้ชายปรกติไปบ้าง ตรงที่ไม่มีฮอร์โมนเพศ
แต่ไม่ได้หมายความถึงผู้ชายที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย
หรืออยากมีร่างกายเป็นผู้หญิง หรือเปล่า ?
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 11:00

ใน พระไอยการลักษณะพยาน ของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตรามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นและได้รับการตรวจชำระแก้ไขในรัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงคนที่ไม่ควรให้เป็นพยานในศาลจำนวน ๓๓ จำพวก สองจำพวกในนั้น คือ กระเทย และ บันเดาะ (เขียนตามต้นฉบับ) แสดงว่า กะเทยกับบัณเฑาะก์ เป็นคนละพวกกัน แล้วต่างกันอย่างไร คำสองคำนี้มีที่มาต่างกัน

กะเทย เป็นคำที่ไทยยืมเขมรมาใช้ คำเดิมคือ “เขฺทีย” อ่านว่า เขฺตย (ขฺเตย) ดร. บรรจบ พันธุเมธา ท่านเขียนคำนี้เป็นภาษาไทยว่า กระเทย เหมือนในกฎหมายตราสามดวง แต่ไฉนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕  และ ๒๕๔๒ เก็บเฉพาะ กะเทย ไว้ ตามพจนานุกรมดังกล่าว กะเทย หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาตรงข้ามกับเพศของตนเอง; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลำไยกะเทย. (อะหม ว่า เทย) ถ้ายึดถือคำนิยามของราชบัณฑิตยสถานอย่างเคร่งครัด คำว่า กะเทย หมายถึงทั้งชายและหญิงก็ได้ผู้ที่มีบุคลิกภาพตรงข้ามกับเพศของตน

ส่วนคำว่า บัณเฑาะก์ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ปณฺฑก  คำนี้มีรายละเอียดเขียนถึงในคัมภีร์ สารัตถสังคหะ  ตอนว่า “ปณฺฑกาน วิภาวนกถา” (ความว่าด้วยบัณเฑาะก์) แบ่งเป็น ๕ จำพวก  ดังนี้

๑. โอปักกมิปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่ถูกตอน

๒. อาสิตตปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดบังเกิดควมกำหนัดยินดี มีความกระวนกระวายขึ้นแล้วแลเอาปากคาบซึ่งนิมิตต์แห่งบุรุษทั้งหลายอื่น ดูดกินซึ่งอสุจิจึงระงับดับความกระวนกระวาย

๓. อุสุยยปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดแล เห็นซึ่งการอัชฌาจารแห่งบุคคลทั้งหลายอื่นแล้ว บังเกิดมีความริษยาขึ้นมา ความกระวนกระวายของคนนั้น ก็พลอยระงับดับลงในกาลเมื่อแลเห็นนั้น

๔. นปุ สกปัณเฑาะก์ คือ บุคคลผู้ใดหมอิตถีภาวรูปบ่มิได้ หาบุรุษภาวรูปบ่มิได้ ในปฏิสนธิกาลม บังเกิดมิได้เป็นหญิงเป็นชาย เพศหญิงชายนั้นหาปรากฎไม่ หรือ “ผู้ไม่มีเพศแต่กำเนิด

๕. อุภโตพยัญชนกปัณเฑาะก์ คือ มีสองเพศ จะเป็นหญิงก็ได้ จะเป็นชายก็ได้ มีด้วยกันทั้งสองเพศ  จะทำการรักกับชาย ปุริสนิมิตต์เพศชายก็หายไป จะทำการรักกับหญิง อิตถีนิมิตต์เพศก็หายไป

ความเห็นในเรื่องจำพวกบัณเฑาะก์ในคัมภีร์ สมันตปาสาทิกา แตกต่างไปจาก สารัตถสังคหะ เล็กน้อย จำพวกที่ ๕ ข้างต้น ถูกแทนที่ด้วย ปักขปัณเฑาะก์ คือ ผู้ที่เป็นบัณเฑาะก์เฉพาะปักข์ เมื่อถึงข้างขึ้นเป็นเพศชาย เมื่อถึงข้างแรมเป็นเพศหญิง

เรื่องที่ว่าไม่ให้กะเทยและบัณเฑาะก์เป็นพยานในศาลนั้น มาจากคติความเชื่อว่า คนที่จะเป็นพยานได้ต้องไม่ใช่คนบาป แต่ในทางพุทธศาสนาดังเช่นที่กล่าวไว้ใน ไตรภูมิพระร่วง คนที่เกิดเป็นกะเทยเนื่องจากผลกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน ๆ คือ เป็นชายที่ผิดเมียผู้อื่น หลังจากไปตกนรกปีนต้นงิ้วแล้ว ยังต้องไปเกิดเป็นกะเทยอีก ๑,๐๐๐ ชาติ จึงจะพ้นกรรม ดังนั้นจึงถือว่า เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์และควรเชื่อถือ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 11:19

ขอต่อด้วยเรื่อง ขันทีและนักเทษด้วยเสียพร้อมกัน

พวกเราเคยได้ยินคำว่า ขันที คุ้นหูโดยเฉพาะผู้ที่ชอบเรื่องจีน แต่คำนี้มิใช่คำจีนซึ่งเรียกขันทีว่า ไท้ก่ำ สังคมก่อนสมัยใหม่หลายสังคมทั้งในยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และประเทศสุดบูรพาทิศ (จีน เกาหลี และเวียดนาม ยกเว้นญี่ปุ่น) ต่างใช้ขันทีในราชสำนักทั้งสิ้น เขาว่า หลักฐานเกี่ยวกับการตอนคนเป็นขันทีอยู่ที่เมืองลากาซในวัฒนธรรมสุเมเรียนย้อนหลังไปถึง ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์กาล ในภาษาอังกฤษคำว่า Eunuch ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ eune (bed) + ekhein (to keep) แปลว่า “เจ้าพนักงานกระลาบรรทม”

เมืองไทยในอดีตเคยมีขันทีหรือไม่ ยืนยันว่า เคยมีมาจนถึงสมัยสิ้นกรุงศรีอยุธยา เพราะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ในขบวนแห่ฝ่ายใน (พระสนมกำนัล) มีขันทีชื่อราขารและสังขสุรินทรเป็นผู้กำกับขบวนด้วย  อาณาจักรเพื่อนบ้านเราสมัยโบราณก็ล้วนมีขันทีทั้งนั้นไม่ว่า อาระกัน (ยะไข่) พม่า อินเดีย และชวา แม้แต่มอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ

ขันที มีที่มาทางนิรุกติประวัติอย่างไร ในภาษาสันสกฤต คำว่า ขณฺฑ แปลว่า ทำลาย ขณฺฑธารา แปลว่า มีด หรือ ดาบ ศาสตราจารย์ MacDonell ผู้แต่ง A Practical sanskrit Dictionary ให้ความหมายของ khandฺa ว่า “incomplete, deficient, break or cut in pieces, destroy, cause to cease” แปลว่า “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” สันนิษฐานว่า ขันที เป็นการเขียนแบบไทยสะดวกสำหรับคำว่า ขณฺฑี ในภาษาสันสกฤต

ขันทีในพม่าและอาระกันทำหน้าที่ดูแลรับใช้ฝ่ายในและจำทูล (ถือนำไป) พระราชสาสน์ ในกรณีของไทย ขุนนางกะเทยมีตำแหน่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) รับราชการฝ่ายขวา ขันทีรับราชการฝ่ายซ้าย ในทำเนียบพระไอยการลักษณะนาพลเรือน กฎมณเทียรบาล และในเอกสารอื่น มีข้อมูลกระเส็นกระสายเรื่องนักเทษขันที กฎมณเทียรบาล มีความกล่าวว่า

[๑] ถ้าเสดจ์ขนานหน้าวังตำรวจในลง ถ้าเสดจ์ในสระแก้วหฤๅไทยราชภักดีลง ถ้าเสดจ์หนไนมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวก แลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง  (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ข้อความใน [๑] กำหนดหน้าที่นักเทษขันทีอยู่ในกลุ่มผู้อารักขาความปลอดภัยและรับใช้เจ้านายฝ่ายในขณะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหนเรือ (ทางน้ำ)

[๒] อนึ่ง พระราชกุมารพระราชบุตรี นักเทษขันทีจ่าในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนนอกด่านผิดอายการ (อักขรวิธีต้นฉบับ)

บทบัญญัติในวังหลวง ถือว่านักเทษขันทีเป็นข้าราชการฝ่ายใน จะออกไปเขตนอกเมือง (พ้นขนอนและด่าน) ไม่ได้ เหตุผลคือ การติดต่อระหว่างคนรับใช้ในวังกับบุคคลภายนอกอาจเป็นภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์

[๓] ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช แลพระศรีอไภย ขุนราซาข่าน ขุนมโน บหลัดทัง ๔ นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพช  นายจ่านายกำนัลมหาดเลกเตี้ยค่อม (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ความในข้อ [๓] ระบุถึงกลุ่มข้าทูลละอองฝ่ายใน (ฝ่ายเฉลียงด้านนอก) ซึ่งประกอบไปด้วยนักเทษขันที หัวหน้ามหาดเล็กหลวง และข้ารับใช้ในวัง

ในที่นี้ได้มีการระบุชื่อข้าราชการฝ่ายนักเทษขันทีคือ (๑) พระศรีมโนราช หรือ ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยวัลย์ เจ้ากรมขันที ศักดินา ๑๐๐๐, (๒) พระศรีอไภย หรือ ออกพระศรี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 11:31

มีปัญหาในการบันทึกข้อข้ามไปข้อ [๖] เลยดีกว่า

[๖] งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล สมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าแต่งกระแจะแป้งดอกไม้ พระภรรยาเจ้าแต่งหมาก พระราชกุมารพระราชนัดดาแม่หยัวเจ้าเมืองแต่หมาก ลูกขุนสนองพระโอษฐแต่งสำรับ พระราชกุมาร พิเศศแต่งสำรับนา ๑๐๐๐๐ นา ๕๐๐๐ ท้าวอินทกัลยาแต่งสำรับลูกขุน ท้าวยศมลเฑียรแต่งเข้าแผง พลเสนาแต่งเล่าสุรินสุราแต่ง ครั้นรุ่งแล้ว ๒ นาลิกา แลเสดจ์สรงธรงพระสุคนธ ๓ นาลิกา ธรงพระภูษาเสดจ์หอพระ พระราชกุมารพระราชนัดดาฝ่ายนอกฝ่ายใน ถวายบังคมในหอพระ พระราชกุมารพระราชบุตรีสมเดจ์พระภรรยาทัง ๔ ทูลพระบาท ๔ นาลิกา เสดจ์มังคลาภิเศกนักเทศตีกรับ (อักขรวิธีต้นฉบับ)

ความที่ยกมาข้างบนนี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของนักเทษและขันทีในราชสำนักไทยมีอยุ่จำกัดในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวงเท่านั้น ชื่อเรียกนักเทษขันที ยังบอกเป็นนัยว่า เป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน ทั้งนี้อาจขัดกับความรับรู้ของคนไทยสมัยใหม่ที่ทราบเรื่องราวขันทีผ่านเรื่องจีนซึ่งมาในรูปของสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ และวรรณกรรม

อ่านรายละเอียดเรื่องนี้อีกทีที่

ภาษาอัชฌาไศรย ภาคชายคาภาษาไทย เรื่อง กะเทย / บัณเฑาะก์ / ขันที / นักเทษ  โดย อาจารย์วินัย พงศ์ศรีเพียร
http://gotoknow.org/blog/thaikm/151017




บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 12:37

ลองสืบหาดูจากภาษาในวัง สมัยก่อนมักมีเรื่องเล่า เกี่ยวกับการเล่นเพื่อนของผู้หญิงในวังมากกว่าเนื่องด้วยไม่มีผู้ชาย
ส่วน ชายกับชายคงมี แต่ไม่เป็นที่กล่าวถึงนอกจาก การเล่าปากต่อปาก หรือเสียงร่ำลือเรื่อง "ศุภมิตร"
 รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 20:22

ขอบพระคุณมากครับ

แล้วช่วงปี ๒๕๐๐ ลงมาเรามีคำเรียกอีกไหมครับ

ผมเคยอ่านว่าชายกับชายเรียกว่าเล่นมิตร

รบกวนด้วยนะครับ

...คือ ผมจะต้องเขียนถึงยุคปัจจุบัน

ถ้าท่านใดพอทราบเมตตาลงให้ด้วย

ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 20:35

หญิงกับหญิง เรียกว่า เล่นเพื่อน  สาวชาววัง ถ้าใครเป็น "เพื่อน" กันก็แปลว่าเป็นทอมกับดี้  คำนี้จึงเป็นคำต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ ๕
ชายกับชาย  เรียกว่า เล่นสวาท    ถ้าเป็นคู่ขา เรียกว่าเป็นสวาท
บันทึกการเข้า
natadol
ชมพูพาน
***
ตอบ: 171


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ต.ค. 10, 21:32

ได้มาอีกข้อมูลครับ ผมก็พึ่งจะรู้วันนึ้เองว่าถั่วดำมาจากไหนเมื่อมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2478 ว่ามีการเปิดซ่องของ โสเภณีชายของนายถั่วดำหรือการุณ ผาสุก เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยนายถั่วดำได้หลอกลวงเด็กชายอายุตั้งแต่ 10-16 ปี ให้มาอยู่ด้วยในห้องแถวเช่า ย่าน ตำบลตรอกถั่วงอก อำเภอป้อมปราบ พร้อมทั้งสอนวิธีสำเร็จความใคร่ให้กับเด็กและให้เด็กสำเร็จความใคร่กับแขก ที่มาเที่ยวโดยได้รับสินจ้างรางวัลเยี่ยงหญิง โสเภณี นับว่าเป็นการขายบริการทางเพศของชายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นครั้งแรก ดังนั้น ชื่อของนายการุณ ผาสุก หรือ นายถั่วดำ จึงเป็นที่กล่าวขานกัน อย่างกว้างขวาง จึงได้กลายเป็นคำแสลงที่ใช้เรียกพฤติกรรมรักร่วมเพศในเวลาต่อมา โดยที่สังคมถือว่าเป็นพฤติกรรมที่วิตถารและผิดจาก ธรรมชาติ
ก่อนขึ้นปี พ.ศ.2500 สังคมไทยฮือฮาและโจษจันอย่างมากเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ เมื่อมีข่าวใน หน้าหนังสือพิมพ์สยามนิกร ประจำวันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2493 ได้รายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพเมถุนทางเว็จมรรคหรือวิถีบำบัดความใคร่ของ เหล่านัก โทษในคุกที่นิยมทำต่อกันในระหว่างจำคุก ทำให้เรื่องราวของพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นที่รับรู้ในสังคมมากขึ้น ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 08 ต.ค. 10, 08:48

ข่าวจาก หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ ๒๐มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘

"เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนนี้ เวลา ๑๘ น. ร.ต.ท. แสวง ทีปนาวิณ สารวัตรสถานีตำรวจป้อมปราบ ได้จับตัว นายการุณ ผาสุก หรือ นายถั่วดำ ตำบลตรอกถั่วงอก อำเภอป้อมปราบ มาไต่สวนยังสถานีป้อมปราบ เหตุที่นายการุณ หรือถั่วดำ ถูกจับนั้น ความเดิมมีว่า ร.ต.ท. แสวง เห็นห้องแถวเช่าซึ่งนายถั่วดำเช่าอยู่ มีเด็กชายตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๑๖ ปี อยู่ในห้องมากมาย จึงสงสัยว่าเด็กชายเหล่านั้นจะเป็นเด็กที่ประพฤติในทางทุจริต ร.ต.ท.แสวง ได้ออกสืบสวนอยู่ ๒ - ๓ วัน จึงทราบว่า นายถั่วดำ เป็นคนไม่มีภรรยา และเป็นผู้ชักชวนเด็ก ๆ ผู้ชาย ไปดูภาพยนตร์บ้าง ซื้อของเล่นบ้าง ให้ขนมรับประทานบ้าง แล้วก็พากันมาที่บ้านพักของนายถั่วดำ ก็กระทำการสำเร็จความใคร่แก่เด็กชายที่พามาเสียก่อน และต่อจากนั้นแล้วก็จะจัดเด็กเหล่านั้นรับสำเร็จความใคร่กับแขกบ้าง เจ้าสัว และจีนบ้าบ๋าบ้าง พวกที่มาต้องเสียเงินเป็นรางวัล ให้แก่นายถั่วดำเยี่ยงหญิงโสเภณี"

จากนั้นชื่อของ "นายถั่วดำ" ก็กลายมาเป็นศัพท์เฉพาะที่รู้ทั่วกันว่า "อัดถั่วดำ" หมายถึง การเสพสมทางทวารหนัก

ต่อมาอีก ๖๓ ปี ในพ.ศ. ๒๕๔๑ ก็มีข่าว ข้าราชการชื่อเล่นว่า "ตุ๋ย" ทำมิดีมิร้าย กับเด็กชาย หนังสือพิมพ์ก็ใช้คำ "ตุ๋ย" พาดหัวข่าว แทนความหมายดังว่า จนเป็นที่นิยมใช้กันสืบมา

ปัจจุบันไม่มีใครกล้าตั้งชื่อลูกโดยเฉพาะลูกผู้ชายว่า "ถั่วดำ" แน่นอน และในอนาคตเด็กรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า "ตุ๋ย" คงหายากเต็มที

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 08 ต.ค. 10, 08:54

มีเพิ่มให้อีก ๓ คำ

"ตุ๊ด" "แต๋ว" และ "ประเทือง" หมายถึง สาวประเภทสอง

คำว่า "ตุ๊ด" และ "แต๋ว" ใช้กันมานานแล้ว  ส่วน "ประเทือง" กำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้เอง พร้อมกับเพลง "ประเทือง" ของไท ธนาวุฒิ

เพลงประเทือง

เธอเป็นใครถูกใจหนักหนา เป็นบุญตาได้มาพบเธอ
เจอทีไรกลับไปนอนเพ้อ ตื่นมายังเพ้อ จิตใจไหวหวั่น

ทำไงดีจะมีทางลุ้น ยอมลงทุนนั่งรอทุกวัน
เธอมองมาสบตากับฉัน ท่าทีเธอนั้น ประมาณเชื้อเชิญ

อยากจะ I love you คิดแล้วทำให้ใจมันป่วนปั่น
ก็อยากจะ I love you ทั้งที่ในจิตใจยังหวั่น ๆ

เธอเอียงอายแต่ทำตาหวาน เป็นสะพานให้เดินข้ามไป
ทางมันโรยด้วยกลีบดอกไม้ อดใจไม่ไหว หลบไปเสียเหลี่ยม
ตายเป็นตายต้องลองให้รู้ ลอง ๆ ดูเผื่อมีลู่ทาง
เจอจัง ๆ จ้องมองตาค้าง แค่มองข้างหลังเกือบลืมหายใจ

อยากจะ I love you คิดแล้วทำให้ใจมันป่วนปั่น
แต่พอเธอหันมา ตาประสานกัน มันจะบ้าตาย เป็นไปได้ไง

ว้าย ๆ ๆ นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า ว้าย ๆ ๆ นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า

นึกไม่ถึงประเทืองเพื่อนฉัน เรียนกันมาไม่มีวี่แวว
วันเวลาเปลี่ยนมันไปแล้ว โธ่ไอ้เทืองเป็นแต๋ว ตั้งแต่เมื่อไหร่


ว้าย ๆ ๆ นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า ว้าย ๆ ๆ นี่มันไอ้เทืองนี่หว่า
ว้าย ๆ ๆ นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า ว้าย ๆ ๆ นี่ไอ้เทือง
ว้ายนี่คุณประเทือง ว้ายนี่นังประเทืองนี่หว่า

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 08 ต.ค. 10, 10:59

หม่อมไกรสร มีพฤติกรรมเล่นเพื่อนกับพวกละคร ในสมัยรัชกาลที่ ๔

และนายประโนตย์ ฆ่าตัวตายใน ปีพ.ศ. ๒๕๑๐ เธอเป็นละครรำอ่อนช้อย ของกรมศิลป์ฯ จนมีบทเพลง "นางสีดา" อันโด่งดัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ต.ค. 10, 11:17

มีเพิ่มให้อีก ๓ คำ

"ตุ๊ด" "แต๋ว" และ "ประเทือง" หมายถึง สาวประเภทสอง
คำว่า "ตุ๊ด" และ "แต๋ว" ใช้กันมานานแล้ว  ส่วน "ประเทือง" กำเนิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้เอง พร้อมกับเพลง "ประเทือง" ของไท ธนาวุฒิ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ต.ค. 10, 11:23

หม่อมไกรสร มีพฤติกรรมเล่นเพื่อนกับพวกละคร ในสมัยรัชกาลที่ ๔

หม่อมไกรสรนี่เป็นผู้ชายนะยะ จะไปเล่นเพื่อนได้อย่างไร คงได้แต่เล่นสวาท

ถ้าเรื่องเล่นเพื่อน ต้องอ่านเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ของคุณสุวรรณ

http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/momped.htm

ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ต.ค. 10, 12:25


พระองค์เจ้ารักษ์รณเรศ  ท่านเป็นนักรบเต็มตัว  บังคับม้าช้าง  มีคาถาอาคม
ตาท่านเป็นใครเล่า
พี่ท่านก็เก่ง

ไม่อย่างนั้นคงเป็นเพื่อนทำราชการมากับรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้

ทีนี้พี่ท่านมีโรงงิ้วใหญ่  ท่านก็เคยคุมงิ้วแสดงอยู่เหมือนกัน

สงสัยว่างิ้วจะนำความนิยมมาจากเมืองปกิ่ง(สมัยโน้น...เรียกอย่างนี้จริง ๆ)

นายโหมดเล่าเรื่องท่านอยู่นิดหนึ่ง   เคยมีคนเอามาลงในเว็บแห่งหนึ่งแล้วลบไปภายในสองชั่วโมง
ข้อมูลบางอย่างถ้าเสียหายต่อผู้อื่น  ข้ามเสียเถิด

คนที่ตั้งความปรารถนาไว้สูง  และเลี้ยงข้าคนแถมละคอน   ก็มัวเมาและหลงไปในความบันเทิงจนเสื่อม

เสื่อมนี่การที่ท่านปล่อยให้ตัวละคอนรับสินบนจากผู้มาร้องทุกข์จนอื้อฉาว  ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

เพราะเล่นรับทั้งสองฝ่ายเลย


น่าเสียดายมากที่ท่านก็นับว่าเป็นผู้รู้วิทยาการศิลปการปกครองการสงครามการบังคับช้างม้า

ก่อนที่ท่านจะโดนเชิญตัวไป  ท่านได้ทิ้งหนังสือและเอกสารลงในสระในวังจนเต็ม   หลังจากนั้นก็มีคนไปตามเก็บคืนมาได้บ้าง

โขนสนามหลวงหรือโขนกลางแปลงที่ท่านจัดนั้นยิ่งใหญ่มาก      นักหนังสือเก่าบางคนพยายามจะเล่า

แต่ไม่มีข้อมูลก็กระอึกกระอักเล่าไม่จบ  ค้างอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์

ท่านทำเป็นตัวยักษ์กระดาษตัวเท่าบ้าน  แล้วเปิดท้องออกมาเป็นสัตว์ประเภทต่าง ๆไหลออกมา

ชาวบ้านชาวเมืองดูกันตาโต  ที่ตาโตอยู่แล้วก็ตาเหลือก  ไม่อย่างนั้นจะเล่ากันมาเป็นร้อยปีฤา


     เคยยื่นคำท้าดวลให้อัศวินแถว ๆ นี้    อัศวินก้มลงดูแหวนเพชรแล้วหัวร่องอหาย  ไม่ยอมลดตัวลงมา

แข่งเขียนเรื่องรักษรณเรศกันคนละตอน


อ้างอิงมีครบครัน   ขอเก็บไว้ก่อนค่ะ  หมู่นี้มีคนยืมไปใช้แล้วทำเฉย ๆ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 20 คำสั่ง