เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6904 ก.ส.ร.กุหลาบ
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 17 ก.พ. 01, 22:16

งานเขียนของ ก.ส.ร. กุหลาบ มีอิทธิพลต่อผู้สนใจเรื่องไทยจำนวนมาก(ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ส่วนมากจะเป็นชื่อเสียงที่ไม่ค่อยจะดี ผมเองเคยอ่านเจอประวัติคร่าวๆของเขาในหนังสือนิทานโบราณคดีของกรมพระยาดำรงฯ ใครรู้เรื่องของเขา ช่วยเอามาเล่าสูกันฟังหน่อยสิครับ (ไม่อยากจะว่าขอคุณเทาชมพูตรงๆ เกรงใจแต่ แฮ่ๆ ถ้าได้ก็ดีครับ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ก.พ. 01, 13:06

บนชั้นหนังสือมีเรื่องราวของ ก.ศ.ร  รวบรวมโดยคุณ"มนันยา" นักแปลมีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย   เธอเป็นเชื้อสายของนายกุหลาบค่ะ
ได้ความว่านายกุหลาบเป็นพ่อของคุณทวดของเธอ เรียกว่า "คุณเทียด"
ขอตัวไปหยิบมาย่อยก่อนนะคะ

เท่าที่ดิฉันมอง   ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นคนไทยที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์  ซึ่งในยุคของท่าน หลักฐานต่างๆจะเก็บไว้อย่างระมัดระวังไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้อ่านเหมือนสมัยนี้
เมื่อจะเรียนรู้ในฐานะสามัญชน ก็ต้องลอบลัก  ดัดแปลงเพื่อไม่ให้จับได้ว่าเอามาจากหอพระสมุด
จึงเป็นเหตุให้ก.ศ.ร. แต่งประวัติศาสตร์ไทยขึ้นใหม่  เล่าให้ชาวบ้านฟังเสียหลายตอน    บางตอนในนั้นก็มีนัยยะกระทบถึงรัชกาลที่ ๕
เป็นเหตุให้ถูกกริ้ว   แต่ก็ไม่ได้รับโทษหนักอะไร ยังคงเขียนหนังสือต่อไปได้
ส่วนที่เหลือจะไปเก็บมาอีกที   ตอนนี้เจ้าประจำรายไหนจำได้ช่วยเล่าแทนก็จะขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ก.พ. 01, 23:36

ก.ศ.ร.นี่ย่อมาจากอะไรครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ก.พ. 01, 23:55

เกศโร เป็นฉายาของท่านสมัยบวชเป็นพระครับ สมัยนั้นชื่อไทยที่เขียนเป็นอักษรย่อตามฝรั่ง (อย่าง Arthur Conan Doyle เคยเซ็นชื่อท่านว่า ACD ) เพิ่งจะเริ่มฮิตในกรุงสยาม ถือว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ ทันสมัยใหม่เจี๊ยบทีเดียว เห็นจะเป็นคนแรกๆ ในเมืองไทยที่ใช้ชื่อเป็นอักษรย่ออย่างนี้
นึกออกอีกคนหนึ่ง คือ ต.ว.ส วัณณาโภ คือท่านเทียนวรรณ แต่ไม่ทราบว่า ตวส. ย่อมาจากอะไร

สมัยนี้ไม่เห็นค่อยมีใครเซ็นชื่อย่อสักเท่าไหร่แล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มี ป. พิบูลสงคราม ส. ธนะรัชต์ จนถึง ถ. กิตติขจรก็เคยเห็น หลังจากนั้นก็เห็นเขียนชื่อกันเต็มๆ
ส่วนเอ้อ...นกข. นั้น หางแถวของหางแถวมากครับ

ชื่อตัวท่านชื่อ กุหลาบ และด้วยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแบบที่คุณเทาชมพูเล่า ลอกลักดัดแปลงขยายแก้ไขเล่าใหม่เสียหลายตอน ทำให้เจ้านายหลายพระองค์กริ้ว ชื่อท่านเลยกลายเป็นคำกริยา ว่า สร้างเรื่อง ("กุ")
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ก.พ. 01, 01:18

ขอบคุณคุณ นกข.ครับที่ให้ความกระจ่าง ผมว่าคุณ นกข.ต้องเป็น
บุคคลที่มีความจำดีเลิศคนหนึ่ง หรือไม่ก็มีระบบการจัดการข้อมูล
ได้เป็นอย่างดี คุยได้ทุกเรื่อง นับถือจริงๆ ครับ...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ก.พ. 01, 23:04

"ก.ศ.ร. กุหลาบ (ตฤษณานนท์) เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "สยามประเภท" หนังสือพิมพ์รายเดือนฉบับแรกๆของประเทศไทย   ในสมัยรัชกาลที่ ๕  จัดเป็น " นักเลงหนังสือ" ในสมัยที่ประเทศไทยหรือประเทศสยามในสมัยนั้นยังไม่มีผู้รู้หนังสือและผู้อ่านหนังสือมากนัก   แต่ก็ทะนงตน  อวดดีและอวดกล้า  มีนิสัยชอบลองดี ไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน  โดยเฉพาะในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยนั้น   หากมิใช่เพราะพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯของพระองค์ท่านที่ทรงมีพระเมตตา และทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างยิ่งยวด " ก.ศ.ร. กุหลาบ" ตลอดจนลูกหลานทั้งหลายคงไม่สามารถมีชีวิตสืบต่อมาในแผ่นดินไทยจนถึงทุกวันนี้"
(คัดจากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงสุรนุช กานตรัตน์ ภรรยาพลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศ
คุณหญิงสุรนุชเป็นเหลนของก.ศ.ร. กุหลาบ    เกิดจากนางหญิง ธิดาของนายชาย ตฤษณานนท์ บุตรชายคนเดียวของนายกุหลาบ)
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 ก.พ. 01, 08:31

ขอบคุณมากๆเลยครับสำหรับข้อมูล
พูดตามตรงเลยว่าผมก็มีความคิดอยู่ว่าถ้า ก.ศ.ร.กุหลาบ ไม่เผยแพร่เอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ออกมาแบบบิดเบือน เราก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นของจริงอย่างที่เป็นอยู่เร็วอย่างนี้ก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ก.พ. 01, 08:55

เรื่องนี้เป็นเรื่องคุยกันได้อีกพักหนึ่ง
มีความคิดเมื่อประมาณ ๒๕ ปีมาแล้วว่า ก.ศ.ร. เป็นปัญญาชนสามัญชนยุคแรกๆที่ถูกกีดกันจากศักดินาไม่ให้ได้เรียนรู้
แต่ผู้มีความเห็น ไม่ได้มุ่งประเด็นของการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่จะก่อผลเสียหายติดตามมา หากว่างานเหล่านั้นยังคงแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน โดยไม่มีการห้ามปราม

กลับมาพูดถึงประเด็นที่ว่า "ถ้า ก.ศ.ร.กุหลาบ ไม่เผยแพร่เอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ออกมาแบบบิดเบือน เราก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นของจริงอย่างที่เป็นอยู่เร็วอย่างนี้ก็ได้"

ถ้าไม่มีท่านผู้นี้   คิดว่าเอกสารประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเก็บจากการเรียนรู้ของสามัญชนได้อีกนานเท่าใด

ดิฉันเชื่อว่าไม่เกินรัชกาลที่ ๖  เพราะพระราชบัญญัติประถมศึกษาออกมาในรัชกาลนั้น  คนไทยมีภาคบังคับถึงประถม ๔   วิชาหนึ่งที่จะต้องเรียนแน่ๆคือเรื่องประวัติศาสตร์ไทย  มันเกี่ยวเนื่องกับวิชาภาษาไทยอยู่แล้ว  เรียนอย่างหนึ่งก็ต้องรู้อีกอย่างหนึ่งประกอบกัน

ถ้าอย่างนั้น การเก็บเอกสารประวัติศาสตร์ไว้ในรัชกาลที่ ๕  ทำไปเพื่ออะไร
อย่างแรกที่เห็นง่ายที่สุดคือสมัยนั้นคือเอกสารจำนวนมาก ไม่ได้ " เผยแพร่" ก็จริง   แต่ไม่ใช่ความลับเสียจนสามัญชนอ่านไม่ได้
นายกุหลาบสามารถทูลขอยืมกรมพระสมมติอมรพันธ์ออกมาอ่านเป็นส่วนตัวได้  แต่ห้ามนำมาไว้ที่บ้าน  อ่านได้ไม่ข้ามวันก็ต้องคืน
เพราะอะไร? ก็เพราะเสี่ยงต่อการชำรุดสูญหาย ในเมื่อต้นฉบับเหล่านั้นไม่ได้พิมพ์ เป็นเอกสารคัดลอกด้วยมือ  ทำนองเดียวกับเอกสารหายากในหอสมุดแห่งชาติ
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อนายกุหลาบเอามาอ่าน  จ้างเสมียนคัดลอกเฉพาะตอนต้นและตอนท้าย   ต่อจากนั้นมาดัดแปลงเอาเอง เพื่อลงในหนังสือพิมพ์
เมื่อตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปจึงกลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงเห็นความคลาดเคลื่อนในประวัติศาสตร์ฉบับที่นายกุหลาบอ้างถึง

(ยังมีต่อค่ะ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ก.พ. 01, 17:10

ชื่อของนายกุหลาบ สะกดได้ ๒ แบบค่ะ คือ ก.ส.ร. กับ ก.ศ.ร.
ท่านสะกดชื่อท่านว่า ก.ศ.ร.
อ่านหนังสือของคุณมนันยาแล้ว   ดิฉันขอแยกบทบาทของนายกุหลาบออกเป็น ๒ อย่าง
๑) ในฐานะผู้ประพฤติผิดบิดเบือนประวัติศาสตร์ด้วยความจงใจ
๒) ในฐานะปัญญาชนคนใฝ่รู้วิชาที่ยังไม่ได้เปิดกว้างออกสู่สามัญชน  นับว่าล้ำยุค

บทบาทที่ ๒ เป็นที่มองเห็นในสายตานักวิชาการบางคนในปัจจุบัน อย่างดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช
แต่บทบาทที่ ๑ เป็นสิ่งที่เจ้านายสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมองเห็น หลายองค์ไม่ใช่องค์เดียว  และกริ้วมาก

แต่เท่าที่อ่าน ก็ดูเหมือนว่ารัชกาลที่ ๕ ท่านจะทรงมองนายกุหลาบว่าเป็นคนสติเฟื่อง   มากกว่าจะมองว่าเป็นคนทำผิดคิดร้ายแบบอาชญากร
จึงส่งไปกักตัวที่โรงพยาบาลโรคจิตเสีย ๗ วันเป็นการทำโทษ   โทษต่อจากนั้นก็คือตำหนิว่ากล่าว  แต่ไม่ได้จับกุมคุมขัง  นายกุหลาบก็ยังดำเนินชีวิตต่อมาได้จนถึงแก่กรรมในวัยชรา

ดิฉันอ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฉบับนายกุหลาบเขียนเล่าแล้ว   บอกว่าเป็นจดหมายเหตุของบาทหลวงดิป๋อง ซึ่งมาจากโรม มาเผยแพร่ศาสนาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง จนมรณภาพในแผ่นดินพระเพทราชา  ศพฝังอยู่ที่ป่าช้าฝรั่งที่อยุธยาชื่อ "ซันตะกรอด" (น่าจะมาจากชื่อซานตาครูซ)
ประวัติศาสตร์ไทยฉบับบาทหลวงดิป๋องซึ่งจะมีตัวจริงหรือไม่ก็ไม่ค่อยจะน่าเชื่อนัก  เล่าเรื่องการสั่งประหารเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้ละเอียด  มีสีสันน่าสนุก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ก.พ. 01, 17:18

ตอนประหาร  หลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือในรัชกาลต่อมาเสด็จไปดูด้วย   เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็บอกผู้คุมว่าขอพบ
เมื่อพระเจ้าเสือได้ยินก็เสด็จมายืนตรงหน้า   วิชเยนทร์ก็ถ่มน้ำลายรด ทุดๆๆสามที  กระเด็นไปถูกวังหน้า(คือพระเจ้าเสือ)  วังน่ากริ้วมากจึงถอดพระแสงดาบฟันคอวิชเยนทร์ขาด  ไม่รอเพชฌฆาต

ความตอนนี้บาทหลวงดิป๋องไปอยู่ในสถานที่ประหาร  แต่งไว้ในสมุดชื่อ ละโว้  
พอประหารแล้ว ก็เอาศพไปฝังที่ริมพระเจดีย์ใหญ่หน้าวัดนิโครธาราม ใต้ต้นไทร  มีแผ่นหินสูง ๓ ศอก กว้างศอกเศษ จารึกอักษรไทย จีน แขก ฝรั่งเศส กล่าวโทษเอาไว้  มีชื่อเจ้ากรมราชทัณฑ์และบาทหลวงดิป๋องด้วยเป็นหลักฐาน
แผ่นหินนี้นายกุหลาบบอกว่าตอนบวชเคยไปดู ยังมี  และบอกว่าสังฆราชปาเลอกัวซ์ในรัชกาลที่ ๓ ไปคัดลอกมาด้วย
จดหมายเหตุนี้นายกุหลาบบอกว่าอยู่ในครอบครองของตน  ตีราคาไว้หมื่นบาท  หาซื้อไม่ได้ในเมืองไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ก.พ. 01, 15:58

อ่านประวัติศาสตร์บางเรื่อง ฉบับของนายกุหลาบ  ดิฉันรู้สึกว่าท่านมีคุณสมบัติด้านเป็นนักประพันธ์มากกว่านักวิชาการ
ประวัติศาสตร์ที่เล่าจึงออกมาแบบมีตัวละคร มีสีสัน รสชาติ แต่ดูไม่ซีเรียสเอาจริงเท่าไร
อย่างเรื่องประหารออกญาวิชเยนทร์ที่ว่ามา  เชื่อว่าเป็นฉากสร้างขึ้นมาทั้งหมด รวมทั้งตัวบาทหลวงดิป๋องด้วย
มีข้อผิดพลาดหลายอย่างให้จับได้ เช่นชื่อบาทหลวงดิป๋องเขียนเป็นอักษรโรมันว่า Le Bae Luang-Dipong de Laevoe
(อ่านว่า เลอ บา หลวง ดิปง เดอ ละโว้)
ก็ไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสนะคะ เป็นภาษาไทยเขียนให้ออกสำเนียงคล้ายๆฝรั่งเศสเท่านั้นเอง พวกฝรั่งเศสมาอ่านก็ไม่รู้หรอกว่าแปลว่าอะไร

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่นายกุหลาบแต่งแทรก อย่างเรื่องพระเพทราชาส่งราชทูตไปฝรั่งเศสในรัชกาลของพระองค์  แล้วฝรั่งเศสไม่ต้อนรับ ขับไล่ ราชทูตต้องเอาเครื่องแต่งกายออกขายเป็นค่ากินอยู่  ยังไม่พอ ต้องเอาเครื่องบรรณาการออกขายกินอีก ถึงโดยสารเรือกลับมาได้
นอกจากนี้ยังมีนักเรียนไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ต้องกลับมา และยังมีเรื่องพระนารายณ์พิมพ์ธนบัตรใช้สมัยอยุธยาอีก

เรื่องทั้งหมดนี้มีกลิ่นอายสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อรัชกาลที่ ๔ นี่เอง ไม่ใช่อยุธยาค่ะ
เรื่องส่งทูตและขับไล่ทูตนั้นไม่เคยมี  และไม่มีเหตุผลอะไรว่าจะทำเช่นนั้น  ในเมื่อพระเพทราชารังเกียจฝรั่งเศสเอามากๆ  ส่วนการส่งทูตไปก็แน่นอนว่าต้องมีการเตรียมการกันก่อน  ไม่ใช่ว่าส่งไปแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้
ส่วนเรื่องนักเรียนไทยและธนบัตรสมัยอยุธยา ไม่เคยมีหลักฐานว่ามีจริงและไม่น่าจะมีจริง  เราเพิ่งมีเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อกับรัชกาลที่ ๕ นี่เอง เป็นยุคสมัยที่นายกุหลาบทันรู้เห็น

พูดถึงความสนใจประวัติศาสตร์ละก็ นายกุหลาบนับว่ามีมาก อาจจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ  ตาละลักษมณ์) เจ้าของตำนานศรีปราชญ์ และผู้ค้นพบพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
คนที่ยกย่องความปราดเปรื่องของนายกุหลาบ ก็ยังนับถืออยู่  อย่างเจ้าพระยานรรัตนราชมานิต(โต) ก็เรียกไปรับราชการ ในกรมตำรวจน้ำ ตั้งยศให้เท่ากับร้อยเอก
แต่วิธีการของนายกุหลาบ ไปเสียตรงที่ทำให้เจ้านายหมดความไว้วางพระทัยเสียแต่แรก   สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ สมเด็จพระสังฆราชถึงกับกริ้วเอามากมายเรื่องกล่าวเท็จด้านประเพณี
ถ้าหากว่าไม่ได้เริ่มต้นอย่างนี้  แต่หาช่องทางไปทำงานถวายในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี แบบพระยาปริยัติธรรมธาดาและพระยาโบราณราชธานินทร์  นายกุหลาบอาจจะได้รับการยกย่องมากกว่านี้ก็ได้

หนังสือเล่มหนึ่งที่ควรเอ่ยไว้ในที่นี้คือ " อภินิหารบรรพบุรุษ " เป็นพระราชประวัติของพระเจ้าตาก และบุคคลสำคัญอื่นๆ   แต่หนังสือเล่มนี้ถูกเซนเซอร์    เพราะถือว่าเป็นเรื่อง" กุ" ขึ้นมาเกือบทั้งหมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ก.พ. 01, 16:53

ประวัติเรื่องหนึ่งที่สีสันน่าสนุกก็คือเรื่องของท้าวศรีสุดาจันทร์
อ้างว่าได้จากแผ่นหินที่หม่อมไกรสร(กรมหมื่นรักษ์รณเรศ) ได้มาจากกรุงเก่า   แต่เมื่อหม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ ๓  แผ่นหินนี้ก็ถูกถ่วงน้ำไป( ทำไมก็ไม่ทราบ)
เลยไม่มีหลักฐานเหลือให้เห็น นอกจากในคำบอกเล่าของก.ศ.ร.กุหลาบ

นายกุหลาบเล่าว่าแผ่นหินนั้นจารึกประวัติของท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าเดิมชื่อบัวผันเป็นลูกสาวชาวบ้านยากจน แต่เวลาเกิด มีแผ่นดินไหว ไฟไหม้หมู่บ้านหมด ๕๐ หลังคาเรือน
พออายุ ๑ เดือนโกนผมไฟ  ฟ้าผ่าถูกต้นไม้ใหญ่ล้มบ้านเรือนพัง
อายุ ๓ เดือน มีผึ้ง แมลงต่างๆมาตอมเสมอ เพราะเกิดมาผิดคน มีกลิ่นตัวหอมหวานเหมือนดอกชำมะนาด
รูปร่างหน้าตาก็สวยมาก บรรยายไว้เหมือนนางเอกในวรรณคดี
เจ้าเมืองรู้เรื่องเข้าเห็นประหลาดจึงทำเรื่องเล่าถวายเข้าไปในวัง พระอัครมเหสีก็นำตัวไปเลี้ยงไว้  จนอายุ ๑๒ วิ่งแก้ผ้าเล่นน้ำฝนพระไชยราชาธิราชเห็นเข้าจึงนำไปเลี้ยงเป็นนางพนักงาน
แล้วได้เป็นเจ้าจอมเมื่ออายุ ๑๕-๑๖   นางไม่เหมือนคนธรรมดา  เวลามีประจำเดือน ตากผ้าไว้ จะมีแมลงผึ้งมาตอมเพราะกลิ่นโลหิตนางหอมเหมือนเกสรดอกไม้

ส่วนขุนชินราช ในเรื่องนี้บอกว่าเป็นนักเทศน์ ร้องกล่อมถวายพระไชยราชาถึงพระแท่นที่บรรทม  จึงมีโอกาสพบท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้าย
พอพระไชยราชาบรรทมหลับไป  ขุนชินราชก็เลยถือโอกาสเข้าไปในห้องของนาง แล้วได้เป็นชู้กัน

เรื่องราวของท้าวศรีสุดาจันทร์บรรยายไว้ยาวมากหลายหน้ากระดาษ   ถ้านำมาจากแผ่นหินจริงคิดว่าแผ่นหินนั้นคงใหญ่มากทีเดียว
สำนวนเล่าก็เป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือ ๖ นี่เองค่ะ

ประวัติของท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่มีบอกไว้ว่าก่อนขึ้นมานี้เป็นใครมาจากไหน
แต่เคยอ่านพบว่า  ตำแหน่งพระสนมเอกทั้งสี่ตำแหน่ง มาจากตำแหน่งธิดาเจ้าเมืองหรือแคว้นต่างๆส่งเข้ามาถวาย
ก็น่าจะเป็นไปได้  เพราะตามกฎมณเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนาถ  เราก็มีประเพณีในราชสำนักที่มีระเบียบละเอียดถี่ถ้วนเอาการ
การรับลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองมาเป็นพระสนมเอก ยังมีมาถึงจนรัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อเนื่องวัฒนธรรมจากอยุธยาตอนปลาย  
ส่วนเรื่องเป็นชู้กัน  ในพงศาวดารบอกว่า มาเป็นตอนพระไชยราชาสวรรคตแล้ว  แต่ในนี้บอกว่าลักลอบกันก่อน
ดูๆก็แปลก เพราะพระไชยราชาไม่น่าจะอนุญาตให้ผู้ชายเข้าไปกล่อมคำร้องถวายถึงห้องพระบรรทมได้   ไม่มีประเพณีจะทำเช่นนั้น   คนที่จะกล่อมพระบรรทมคือพวกผู้หญิงในวัง เสียงดีๆ
ไม่มีผู้ชาย เพราะเสี่ยงกับอันตรายมาถึงองค์อย่างหนึ่งละ  และทางฝ่ายใน ไม่มีผู้ชายคนไหนจะเข้าไปได้ถึงขนาดนั้นด้วย  
แม้แต่แพทย์หลวงเข้าไปรักษาพระอาการ ก็ต้องมีคนคุมทุกก้าว กลางคืนยังต้องนอนข้างนอกตามพระระเบียง หรือท้องพระโรง   แถมห้ามกางมุ้งเสียอีก เพื่อไม่ให้แอบหลบซ่อนทำอะไรผิด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 ก.พ. 01, 23:43

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งนายกุหลาบรวบรวมและเรียบเรียง โดยคัดจากรายงานการทัพญวน ๕๕ เล่มสมุดไทยของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ชื่อ " อานามสยามยุทธ" บรรยายการสงครามระหว่างไทยกับลาว เขมรและญวน
เป็นสามัญชนคนแรกที่นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ออกเผยแพร่สู่ประชาชน
เป็นงานที่ให้เนื้อหาแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์อื่นๆ  มีการกล่าวถึงความอ่อนแอบกพร่องหลายอย่างของผู้นำระดับบิ๊กในสงครามคราวนั้น
ข้อความในนั้นก็มีทั้งจริงและผิดเพี้ยนไปจากความจริง เช่นเดียวกับผลงานอีกหลายชิ้น

หนังสือพิมพ์ "สยามประเภท" ของนายกุหลาบ เป็นเรื่องให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และประเพณี   มีผู้คนเชื่อถือกันมาก  เพราะนายกุหลาบสามารถตอบคำถามต่างๆได้มากมาย ไม่ว่าใครจะถามอะไร
แต่บรรดาเจ้านายหลายพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เชื่อถือไม่ได้  ถึงกับกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงออกหนังสือ "สยามประภืท" ล้อเลียน

นายกุหลาบมีอายุยืนยาวมาก  เมื่อถึงแก่กรรม  เจ้านายหลายพระองค์เสด็จไปงานฌาปนกิจที่วัดสระเกศ   รับสั่งเหมือนๆกันว่าต้องไปอโหสิ  เพราะเคยด่าว่ากันเอาไว้มาก
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 ก.พ. 01, 09:48

ในหนังสือ อานามสยามยุทธ นั้น มึผู้กล่าวว่า (ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใคร)
กศร.กุหลาบ ท่านแต่งเติมบันทึกต้นฉบับเอาอย่างอำเภอใจ
มีอยู่เล่ม ๑ ลุงแก่ยังไม่ได้อ่าน เลยไม่กล้าวิจารณ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 ก.พ. 01, 10:16

นายกุหลาบมีเหตุผลในตอนแรก ที่ดัดแปลงพระราชพงศาวดาร ทำข้อความให้ผิดเพี้ยนก็เพราะแอบคัดลอกมาจากหอสมุดหลวง  ถ้าถูกสงสัย จะได้บอกว่าตัวเองมีฉบับอื่นอยู่ในมือ ข้อความไม่ตรงกัน
แต่ต่อๆมา ท่านก็ใช้วิธีแต่งแทรกปะปนความเข้าใจส่วนตัวลงไปในผลงานต่างๆ หลายเรื่อง
แม้แต่เหตุการณ์ร่วมสมัย ท่านก็ปนลงไปในเรื่องในอดีตด้วย  อย่างเรื่องการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็ดัดแปลงว่าเป็นเรื่องพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาชื่อพระจุลปิ่นเกศ ปกครองบ้านเมืองต้องเสียดินแดนไปให้อาณาจักรอื่น

"อานามสยามยุทธ" เป็นเรื่องที่นายกุหลาบเขียนขึ้นจากความจริง และแทรกลีลาเฉพาะตัวลงไป  ถ้าคุณลุงแก่อ่าน ก็ต้องตรวจสอบเทียบกับหลักฐานอื่นๆร่วมสมัยด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง