ขอเสริมเพิ่มอีกเล็กน้อยคำกับคำว่า "เตี้ยน" (奠:dian4) คำว่าเตี้ยน นี้ แต่โบราณก็ออกเสียงเช่นนี้ แต่ว่าไม่แน่ใจว่าภาษาท้องถิ่นแต่ละแห่งของจีนจะออกเสียงว่าฉันใด
อย่างไรก็ตามคำว่า "เตี้ยน" ความหมายแต่โบราณ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ได้แก่
๑. การบูชาวิญญาณผู้ตาย
๒. การวาง หรือวางไว้
๓. การจัดตั้ง
ปัจจุบันนี้ความหมายไม่ใช้กันแล้ว
ส่วนคำต่อมาที่ขอเสริมอีกนิดเช่นกัน คือคำว่า "เปียน" (边:bian)
แม้ความหมายปัจจุบัน คือ ด้าน,ข้าง, ริม, ขอบ และฝ่าย
ความหมายแต่โบราณจะมีมากกว่านั้น ได้แก่
๑. พรมแดน ที่สุดของเขตแดน
๒. ส่วนที่เป็นริมขอบ ส่วนที่คาบเกี่ยวหลายเขตแดน
ทั้งนี้เนื่องจากภาษาจีนกาลเวลาเปลี่ยน ความหมายของคำบางทีก็แปลไป
คราวนี้ดูการผสมคำ ปกติการขยายในภาษาจีนจะขายคำที่อยู่ข้างหลัง อาทิ "ต้าพ่างเหริน" (大胖人:da pang ren)
คำว่า "ต้าพ่าง" แปลว่าอ้วนใหญ่ ขยายคำว่า "เหริน" ที่แปลว่าคน รวมแล้วแปลว่า "คนอ้วนใหญ่"
ส่วนการวางภาคประธานกับภาคแสดงนั้นจะเหมือนในภาษาไทยคือจากหน้ามาหลัง อาทิ "หว่อชือฟ่าน" (我吃饭:wo chi fan)
"หว่อ" เป็นภาคประธาน แปลว่า "ฉัน" ส่วน "ชือฟาน" เป็นภาคแสดง แปลว่า "กินข้าว"
ในภาคแสดงนี้การวางกริยาและกรรมก็เหมือนภาษาไทย คือ กริยามาก่อน กรรมค่อยตามมา โดย "ชือ" แปลว่ากิน ทำหน้าที่เป็นกริยา
ส่วน "ฟาน" ทำหน้าที่เป็นกรรม
แต่บางทีโบราณเขาอาจกลับกันได้ ไม่ว่ากัน
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาคำว่า “เตี้ยน เบียน” คิดว่าควรแปลว่า "อันตั้งวางไว้ ณ ชายแดน" เมื่อคิดตามหลักการวางกริยาและกรรม
ส่วน "ฟู้" ที่คราวที่แล้วบอกไปว่าเป็นจังหวัด โดยส่วนตัวคิดว่าคงเป็นส่วนประธานที่จะถูกขยาย
รวมความแล้วควรแปลว่า "เมืองอันตั้งอยู่ ณ เขตชายแดน" แปลเป็นบาลีงามๆคงได้ว่า "ปัจจันตประเทศ" กระมัง
หรือถ้าไม่คิดเช่นนั้น คิดว่าเป็นแค่คำนามที่มาวางไว้หลังคำนามอีกคำ เหมือนกับเราเขียนคำว่า "จังหวัดอุดรธานี" ก็คงแปลได้ว่า
"จังหวัดปลายแดน" หรือแปลแบบบาลีเพราะๆคงได้ว่า "จังหวัดปัจจนตคาม"
ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่น่าจะมาจากการเลียนเสียงใดๆทั้ง คงไม่มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า "แถน"
เออ... แต่ถ้าเรามองว่า "แถน" ที่แปลว่าฟ้ากับสวรรค์ เรื่อยไปถึงอำนาจเบื้องบนที่ขึ้นอยู่กับพระเป็นเจ้า ตรงกับคำว่า "เทียน" (天: tian1) ที่โบราณตราบปัจจุบันนี้แปลว่าฟ้ากับสวรรค์ เรื่อยไปจนถึงอำนาจเบื้องบนที่ขึ้นอยู่กับพระเจ้าเช่นกัน และอาจเกิดมีการเพี้ยนเสียงไปได้
อาจารย์ยรรยงค์ จิรนครท่านเคยเสนอความคิดนี้ไว้ รู้สึกปัจจุบันมีหนังสือพิมพ์ออกมาแล้วในไทย ถ้าจำไม่ผิดชื่อเรื่องน่าจะเป็น "คนไทไม่ใช่คนไท แต่เป็นเครือญาติทางภาษา" รู้สึกเป็นของสำนักพิมพ์มติชน
หากเป็นการเพี้ยนเสียงดังที่ว่านี้ก็อาจมีเค้า แต่จากคำว่า "เตี้ยนเปียนฟู้" นี้ไม่มีคำไหนพอจะเข้าเค้าเลย แล้วพอแปลแล้วก็ได้ความหมายถึงที่ตั้งปลายเขตแดน
ขอสันนิษฐานว่าคำว่าแถนหรืออื่นๆไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กับคำดังกล่าว ชื่อดังกล่าวน่าจะหมายถึงสถานที่ตั้งของเมืองมากกว่า
สวัสดี
