เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 51736 ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 31 ส.ค. 10, 21:11

รำวงมาตรฐาน มีขึ้นในสมัยวัธนธัมของจอมพลป.   ฟังจากเนื้อร้องก็รู้ว่าเป็นเรื่องชาตินิยม    เข้าใจว่าคนแต่งเนื้อคือท่านผู้หญิงละเอียด
คำว่า "ดอกไม้ของชาติ" ก็คือศัพท์สมัยนี้ละค่ะ
ส่วนลีลาศแบบบอลรูม  เข้ามาก่อน   มีหนังสือเอ่ยถึงการเต้นเวียนนาวอลทซ์ที่วังไกลกังวล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๗  เคยได้ยินมาว่าหม่อมกอบแก้ว อาภากรฯ เต้นรำจังหวะวอลทซ์ได้เก่งมาก
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 06:49

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพกล่าวถึง "สี่ปุโรหิต" ในยุควัธนธัมนำไทยไว้ว่า

"ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น  กล่าวกันว่า พระราชธรรมนิเทศนั้นได้เป็นหนึ่งใน “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ซึ่งที่มาของชื่อเรียกนี้มาจากการที่จอมพล ป. มักพูดอยู่เสมอว่า ในมโหสถชาดกนั้น  มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่าง ๆ ให้กับมโหสถ  และโดยส่วนตัวท่านเองนั้นก็มี “ปราชญ์” สี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ  “ยง  เถียร  เพียร  นวล”  อันหมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ)  หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร  ตูวิเชียร)  พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล  ปราจิณพยัคฆ์) 

ในยุควัธนธัมนำไทยนั้น  ได้มีการปรับปรุงภาษาไทยครั้งใหญ่  ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย  เพื่อทำสงครามปลดปล่อยชนผิวเหลืองในสงครามมหาเอเชียบูรพา  และแม่ทัพญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเรียกร้องแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นว่า ภาษาไทยนั้นเรียนรู้ได้ยาก  เพราะมีพยัญชนะ  สระ และวรรณยุกต์หลากหลายมาก  เพื่อความสะดวกจึงเห็นสมควรให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน  จอมพล ป.  พิบูลสงคราม จึงหาทางออกโดยแจ้งให้แม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยทราบว่า ประเทศไทยมีภาษาอยู่สองชุด ชุดแรกสำหรับใช้ในราชการซึ่งอาจจะเรียนยากสักหน่อย  ส่วนอีกชุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน  ซึ่งชุดนี้น่าจะตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น  แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมิได้แบ่งภาษาออกเป็นสองชุดอย่างที่แจ้งแก่ญี่ปุ่น  ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะกรรมการวัธนธัมไทยขึ้น  มีจอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานกรรมการ พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ) และพระราชธรรมนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ  กับมีผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาอรกอีก ๒๓ คนร่วมเป็นกรรมการ  คณะกรรมการปรับปรุงตัวอักษรไทยนี้  ใช้เวลาประชุมเพียง ๒ ครั้ง  ในวันที่  ๒๓ และ ๒๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  ก็สามารถปรับปรุงตัวอักษรไทยแล้วเสร็จ  และได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  ๒๙  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  กำหนดให้ลดรูปพยัญชนะไทยลงเหลือเพียง ๓๑ ตัว  ประกอบด้วยอักษร “ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ “  กับได้มีการตัดสระ ใ (ไม้ม้วน) ออก  ส่วนตัว “ทร” ให้ใช้ “ซ” แทน  และได้ตัดเชิงล่างของ “ญ” ออก" 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 07:51


ต่อจากความเห็นของคุณวีหมี

ผมเคยได้อ่านเรื่องที่มาอธิบายกันตอนหลังว่า ต้นเหตุที่จอมพลป.คิดและผลักดันภาษาไทยวิบัติขึ้นมาในช่วงนั้น เพราะญี่ปุ่นจะบังคับให้บรรจุภาษาญี่ปุ่นให้เรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาบ้าง ให้เป็นภาษาราชการของไทยบ้าง ผมก็ฟังหูไว้หู มิอยากเชื่อไปทั้งหมด เพราะมันเป็นไปได้ยากที่จะเป็นเช่นนั้น ด้วยว่า

1 ในประเทศที่ญี่ปุ่นปลดปล่อยแท้ๆ อย่าง มลายู และสิงคโปร ไม่พูดถึงจีนและฟิลลิปปินส์เพราะผมไม่ทราบ แต่สองประเทศดังกล่าวข้างต้นญี่ปุ่นยังทำไม่ได้เลย นอกจากผลักดันให้มีการสอนในระดับสูงๆ เท่านั้น

2 ญี่ปุ่นอาจจะมาปรารภเรื่องความซับซ้อนของภาษาไทยจริง ผมเคยมีเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่ง บริษัทส่งมาทำธุรกิจในเมืองไทยแต่อาศัยเป็นคนมีพรสวรรค์ทางภาษา เลยสนใจเรียนภาษาไทย เรียนแล้วก็มาบ่นอย่างว่าและแสดงความเห็นว่า ถ้าอักษรไทยทำให้ง่ายลงแบบญี่ปุ่นมีตัวอักษรคันจิ(อักษรดั้งเดิมที่เอามาจากจีน)  และตัวคะตะคะนะ ที่คิดขึ้นใหม่ให้ง่ายลงมาก และสามารถออกเสียงตามภาษาต่างประเทศได้ ก็จะดี (เพื่อนคนนี้เก่งมาก เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ของไทยอยู่2ปีก็สอบเทียบประถม4ได้) ผมคิดว่าตอนนั้นญี่ปุ่นคงมาขายไอเดียนี้ให้จอมพลป. แล้วท่านอาจจะเห็นดีเห็นชอบ อยากให้ภาษาไทยมีศัพท์แสงและตัวสะกดง่ายลงเช่นนั้นบ้างก็ได้

3 สมมุติว่าญี่ปุ่นมาขอร้องแกมบังคับไทยจริงๆให้หลักสูตรไทยสอนภาษาญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำประเทศ ถ้าเห็นว่าหากฝืนไม่ได้จริงๆ เพราะญี่ปุ่นใหญ่มากและจะใหญ่อย่างนั้นไปอีกนานๆในโลกนี้ การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็มีประโยขน์ในการสื่อสัมพันธ์กับเขาเช่นภาษาอังกฤษนั่นแหละ เรียนไว้เป็นภาษาที่2 ก็ไม่น่าจะเสียหาย
แต่หากว่า ญี่ปุ่นไม่ใหญ่จริง แต่แพ้สงครามตามอย่างที่เป็นไป ก็เลิกเรียน เหมือนในมลายูและสิงคโปรที่กลับไปเรียนภาษาอังกฤษเหมือนเดิม ไม่เห็นจะต้องไปทำอะไรกับภาษาไทยของเราถึงขนาดนั้น

4 ภาษาไทยของจอมพลป. มิใช่แค่อักขระวิบัติ แต่เป็นภาษาวิบัติ มีความมุ่งหมายที่จะปฏิวัติภาษาไทยแบบหลวงเสียใหม่ให้สมกับที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น สรรพนามทั้งหมดที่แสดงระดับชนชั้นของบุรุษที่1กับที่2 เปลี่ยนเหลือเพียงท่านกับฉัน การวันเฉลิมพระชนม์พรรษาให้เปลี่ยนไปใช้ในเกิดในพระเจ้าอยู่หัว แทนเป็นต้น

ผมจึงคิดว่า การที่มาบอกภายหลังว่าที่ทำไปอย่างนั้น เพราะญี่ปุ่นอย่างโน้นอย่างนี้ ผมจึงเห็นว่าเป็นเพียงข้อแก้ตัว หลังจากถูกคนไทยด่ายับเยินไปแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:15

มาดึงกระทู้ขึ้น

ภาสาไทยของจอมพน ป.  ถ้าหากว่ายังไช้กันหยู่   ย่อมมีผนไห้วิชา "นิรุกติศาสตร์"  สาบสูนไปจากประเทสไทยโดยสิ้นเชิง  รวมทั้งราชบันดิดก็จะไม่มีงานทำ   ออกพดจะนานุกรมไม่ได้    เพราะการสะกดแบบไหม่นี้  จะปิดกั้นพัธนาการ(สะกดถูกไหมเนี่ย)ไม่ไห้เราเห็นได้เลยว่า สัพท์แต่ละคำมีที่มาจากภาสาใด   ทำไมถึงสะกดด้วยอักสรตัวนี้ ไม่ไช่ตัวนั้น  และเราก็จะไม่มีหลักเกนท์บอกได้ด้วยว่า คำที่ถูกต้องเปนหย่างไร

โอย เหนื่อย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:19

ในโอกาสเปิดเป็นกระทู้ใหม่ ขอเรื่มต้นแบบเป็นทางการเสียหน่อย
อะไรที่เป็นทางการของผม แปลว่าไปลอกเขามาครับ

ในสมัยที่รัฐบาลจอมพลป.พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัฒนธรรมไทยให้เป็นไปตามสากลสมัยนั้น  ได้ออกระเบียบแบบแผนในนามของนายกรัฐมนตรีหรือเป็นคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี แด่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับไปดำเนินงานโดยเฉพาะ ฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ขึ้นฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๕ มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

   
มาตรา ๘ ไห้จัดตั้งสภาวัธนธัมขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า “สภาวัธนธัมแห่งชาติ”และไห้สภานี้เป็นนิติบุคคล
มาตรา ๙ ไห้สภาวัธนธัมแห่งชาติมีหน้าที่
(๑) ค้นคว้า ดัดแปลง รักสาและส่งเสริมวัธนธัมแห่งชาติที่มีอยู่
(๒) ค้นคว้า ดัดแปลง รักสาและส่งเสริมวัธนธัมแห่งชาติที่มีอยู่
(๓) เผยแพร่วัธนธัมแห่งชาติไห้เหมาะสมกับกาลสมัย
(๔) ควบคุมและหาวิธีปลูกฝังวัธนธัมแห่งชาติในจิตไจของประชาชนจนเป็นนิสัย
(๕) ไห้ความเห็น รับปรึกสาและปติบัติการตามความมุ่งหมายของรัฐบาลไนกิจการอันเกี่ยวกับวัธนธัมแห่งชาติ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:21

การจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาตินั้นได้จัดทำกันอย่างฉับไว คือได้ประกาสพระราชบัญญัติข้างต้นในหนังสือราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๘๕ ซึ่งหมายความว่ามีผลบังคับใช้ในวันนั้น และในวันที่ ๒๙ กันยายนนั้นเอง ทางราชการก็ได้ประกอบพิธีเปิดสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นที่วังบางขุนพรหม ซึ่งมีรายละเอียดตามข่าวของกรมโคสนาการ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๘๕ ดังต่อไปนี้

 “ทางราชการได้ประกอบพิธีเปิดสภาวัธนธัมแห่งชาติ น สถานที่วังบางขุนพรหม พระนคร เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน สกนี้ โดยตอนเช้าเวลา ๑๐.๐๐ น. พระเถระ ๑๐ รูป มีสมเด็ดพระวันรัตวัดมหาธาตุเปนประธานจเรินพระพุทธมนต์และประน้ำโปรยซายพระพุทธมนต์ เส็ดแล้วถวายภัตตาหาร

ตอนบ่ายเวลา ๑๖.๐๐ น. พนะท่านนายกรัฐมนตรีไปยังวังบางขุนพรหม จุดธุปเทียนนมัสการพระและสมาทานสีลแล้ว รัถมนตรีว่าการกระซวงสีกสาธิการอ่านรายงานเชินกะทำพิธีเปิด พนะท่านนายกรัถมนตรีกล่าวตอบ แล้วออกจากปรำพิธีไปที่หน้าประตูไหย่กดดุมปล่อยกะแสไฟฟ้าเปิดป้ายผ้าคลุมสภาวัธนธัมแห่งชาติ ขณะนี้พระสงค์สวดชัยมงคลคาถา เจ้าหน้าที่กรมสิลปากรลั่นค้องชัย และประโคมเครื่องดุริยางค์ จบแล้วพนะท่านนายกรัถมนตรีถวายจตุปัจจัยไทยธัมพระสงค์อนุโมทนาแล้วเปนเส็ดพิธี ต่อจากนี้ เลขาธิการสภาวัธนธัมแห่งชาติเชินพนะท่านนายกรัถมนตรีไปสู่ตัวตึกวัธนธัมสถานซึ่งได้จัดไห้เปนที่เลี้ยงน้ำชา และเริ่มการเลี้ยงจ้ำชาแขกที่มาไนงานนี้โดยทั่วกัน ไนระหว่างการเลี้ยงพนะท่านนายพันเอกประยูร ภมรมนตรี รถมนตรีว่าการกะซวงสึกสาธิการ ได้กล่าวเชินชวนดื่มเพื่อกล่าวตอบ และชวนดื่มเพื่อความสำเหร็ดและความมั่นคงสถาพรของสภานี้ ไนงานนี้ทางราชการได้เชินคณะรัถมนตรี อธิบดีและข้าราชการชั้นพิเสสซึ่งเปนแขกผู้มีเกียรติมาประชุมเปนจำนวนประมาณ ๒๐๐ คน”

 ป้ายสภาวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าวติดไว้เหนือประตูระหว่างเสาใหญ่ทั้งสองตรงหัวมุมวังบางขุนพรหมด้านสี่แยกบางขุนพรหมปัจจุบันนี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:21

ตัวหย่างคำสะกดด้วยภาสาวัธนธัม

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุด             ไม่สิ้นสุดความรักสมัคสมาน
แม้ เกิด ในใต้หล้าสุทาทาน           ขอพบพานพิสวาดไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหันนบ            พี่ขอพบศรีสวัดเป็นมัดฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นพุมรา             เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่             เป็นราชสีสมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามซามสงวนนวลละออง         เป็นคู่ครองพิสวาดทุกชาดไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:23

นี่ก็ตัวอย่างครับ


เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา ขอนำคำกล่าวเชิญของพณท่านพันเอกประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชา ในการเปิดสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๘๕ มารวมไว้ด้วย ดังต่อไปนี้

กราบเรียน พนะท่านนายกรัถมนตรี เนื่องด้วยได้มีประกาสพระราชบัญญัติวัธนธัมแห่งชาติ โดยกำหนดไห้มีสภาวัธนธัมแห่งชาติขึ้นทางราชการจึงได้จัดการประกอบพิธีเปิดสภาขึ้นไนวันนี้ แต่โดยที่ได้กำหนดการกะทันหัน กิจการบางหย่างอาดไม่สมบูรน์จึงขอประทานอภัยไนที่นี้ด้วย วัธนธัมย่อมเปนของคู่กับชาติ ครอบงำชีวิตและความเปนหยู่ของชาติทั้งไนทางจิตไจ ขนบทำเนียมประเพนีการครองชีพ ตลอดจนสิลปกัมนานาประการ วัธนธัมจึงเปนรากถานอันสำคัญยอดยิ่งไนความมั่นคงและความจเรินของชาติ ซึ่งนานาประเทศต่างเร่งส่งเสิมและเผยแพร่หยู่หย่างขมักขเม้นถ้าชาติไดรักสาวัธนธัมของตนไว้ได้มิไห้เสื่อมคลาย หรือสามาถขยายไห้ไพสาลไปได้ ก็ย่อมถึงซึ่งวัธนธัมอันพึงครอบจิตใจ และความเปนหยู่ของชาตินั้น ๆ ไว้ได้โดยสิ้นเชิง ตามที่ได้มีพระราชบัญญัติวัธนธัมแห่งชาติ พุทธสักราช ๒๔๘๕ และพระราชกริสดีกากำหนดวัธนธัมออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ก็ได้เปนไปไนทางกำหนดไห้ราสดประพรีติปติบัติไนบางประการอันเปนปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อวัธนธัมแห่งชาติ แต่วัธนธัมยังมีกิจการอื่นอีกมากหลายอันจะพึงต้องปลูกฝังและจัดทำเพื่อความวัธนาถาวรของชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเปนการสมควนยิ่งที่จะได้มีองค์การกลางเกี่ยวกับการส่งเสิมวัธนธัมของชาติขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อกำหนดรูปลักสนะและแนวประสานตลอดจนการควบคุมวัธนธัมประจำชาติไว้ไห้มั่นคงไห้จเรินงอกงาม และสามารถแผ่ขยายไปไห้เหมาะสมกับนโยบายได้อีกด้วย ฉะนั้น สภาวัธนธัมแห่งชาติที่ได้กำเนิดขึ้นนี้ ก็เปนที่หวังว่าจะได้เปนกำลังสำคันไนการปรับปรุง บำรุงและส่งเสริมวัธนธัมแห่งชาติไทยไห้ไพบูลย์ยิ่งขึ้นตามลำดับสมกาลสมัย และวัธนธัมอันได้รับการทำนุบำรุงแล้วนี้ก็จะส้างความเข้มแขงเชิดชูและรักสาชีวิตของประเทสชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งเปนยอดปราถนาของมวนชนชาวไทยยามนี้ นะบัดนี้ ลุสุภดิถีมงคลเริกส์แล้ว ไนนามของสภาวัธนธัมแห่งชาติ ขอเชินพนะท่านนายกรัถมนตรีกะทำพิธีเปิดป้ายนามวัธนธัมสถาน เพื่อได้เปนแหล่งกลางแห่งวัธนธัมของชาติ เป็นสรีสง่าแก่ประเทสไทยสืบไปตลอดกาลนาน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:25

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวจบแล้ว ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติกล่าวตอบ ดังต่อไปนี้


ท่านรัถมนตรีว่าการกะซวงสึกสาธิการ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ฉันได้ฟังรายงานจัดตั้งสภาพวะนธัมแห่งชาติ ด้วยความสนไจยิ่ง และฉันขอสันเสินความพยายามของท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมแรง ร่วมไจกันประกอบก่อไห้เกิดผลเปนวัธนธัมสถานอันน่าชื่นชมยินดี นักประวัติสารทแม้ที่เปนชาวต่าวชาติ ก็ได้ยอมรับว่าชาติไทยของเรานั้นได้มีวัธนธัมอันดีมาแต่โบราณกาล นักปราชญ์ชาวตะวันตกหลายคนที่เขียนบรรยายความเปนไปแห่งชาติไทยในสมัยโบราณก็ยอมรับว่า ไทยมีวัธนธัมอย่างสูงไม่น้อยกว่าชาติได ๆ ไนสมัยเดียวกัน แต่ประวัติสารทของไทยเราเต็มไปด้วยความลำบากยากแค้นมาตลอดกาล เราต้องทำการรบต่อสู้เพื่อความเปนหยู่ของชาติมาทุกสมัย ความสนไจไนทางวัธนธัมได้ลดน้อยลงไปไนสมัยหลัง ๆ แต่เราย่อมซาบกันอยู่ดีแล้ว ว่าความจเรินก้าวหน้าของชาตินั้น วัธนธัมเปนส่วนสำคัญยิ่ง ความงอดงามทางวัธนธัมย่อมเปนความงอกงามของชาติด้วยเหมือนกัน อนึ่งไนโลกสมัยปัจจุบันนี้ ไม่มีชาติไดจะสามารถปลีกตัวอยู่โดดเดี่ยว โดยไม่เกี่ยวข้องกับชาติอื่น ๆ ซึ่งเป้นเพื่อร่วมโลก เราจำเปนต้องมีการติดต่อทางคมนาคมและสังคม และไนการที่จะติดต่อกับชาติทั้งหลายนั้น เราก็จำเปนต้องมีวัธนธัมไห้เสมอกับชาติอื่น ๆ ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่มีใครหยากมาติดต่อด้วย หรือถ้ามาติดต่อด้วยก็มาไนถานที่เปนผู้มีความจเรินมากกว่าเรา กะทำไห้เราเปนชาติที่ต่ำต้อยและไนที่สุดก็จะต้องถูกบังคับไห้หยู่ไต้อำนาด แต่ถ้าวัธนธัมดีเท่ากันเราก็สามาถจะรักสาเกียรติศักดิ์ความเปนเอกราชและทุกสิ่งทุกหย่างของเราไว้ได้ ด้วยเหตุดั่งนี้ไนระหว่างเวลา ๔ – ๕ ปีนี้ เราจึงได้ทำความพยายามขวนขวายบำรุงวัธนธัมแห่งชาติหย่างขมักขเม้นเริ่มต้นตั้งแต่ตัวคนไปจนถึงวัตถุเครื่องอุปโภคบริโภค เราพยายามส้างวัธนธัมทั้งไนทางกายและไนทางไจและบัดนี้เราก็ได้เห็นกันแล้วว่าวัธนธัมนั้นมีความสำคันหยู่เพียงได เราจำเปนต้องตั้งหน้าทำการบำรุงกันต่อไป และเมื่อมาถึงขั้นนี้ การที่จะทำงานบำรุงวัธนธัมแต่เพียงเปนงานปลีกย่อยหรืองานอดิเรกนั้นย่อมไม่เพียงพอ เราจำจะต้องทำกันเปนงานไหย่ และต้องทำกันหย่างจิงจัง ฉะนั้นฉันจึงชื่นชมยินดีไนการที่ท่านทั้งหลายได้ลงแรงจัดตั้งวัธนธัมสถานขึ้น และฉันมีความปลาบปลื้มที่ได้เห็นงานตั้งวัธนธัมสถานเปนผลสำเหร็ดไนวันนี้ บัดนี้ถึงอุดมเริกส์ ฉันจึงขอตั้งสัตยาธิถานอาราธนาคุณพระสรีรัตนตรัยช่วยอภิบาลรักสาสภาวัธนธัมแห่งชาติ ซึ่งฉันจะได้เปิดขึ้นนะบัดนี้ ไห้จเรินถาวร และขอไห้ผู้ประกอบก่อส้างสภาวัธนธัมแห่งชาตินี้ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่จะดำนเนินงานต่อไป จงประสบความสุขสวัสดี และความสำเหร็ดไนงานการทั้งหลาย เพื่อไห้สภาวัธนธัมแห่งชาตินี้เปนอุปกรณ์เครื่องชูเกียรติ และส่งเสิมความรุ่งโรจน์สถาพรแห่งประเทสชาติที่รักของเรา ด้วยสัตยาธิถานอันนี้ฉันขอเปิดวัธนธัมสถานนะบัดนี้”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:26

เมื่อตั้งวัธนธัมสถานขึ้นแล้วคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยในยุคนั้น ได้ประกาศหลักเกณฑ์ทางด้านภาษาเพิ่มเติมออกมา ดังนี้
ให้ตัดอักษรที่มีเสียงซ้ำกันออก โดยตัด ฃ ฅ ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ และ ฬ ออก สระก็ตัด ใ ฤ ฤา ฦ ฦา ออก ถือว่าตัวหนังสือไม่มีใช้แล้วก็ไม่กระทบกระเทือนการใช้ภาษาไทยจึงเอาออกได้  ดังนั้นตัวหนังสือไทยยังคงเหลือตัวอักษรเพียง ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ บ ย ร ล ว ส ห อ ฮ ตัวที่ตัดออกไปนั้นให้ใช้คำที่เสียงพ้องกันที่เหลือแทน เช่น ส แทน ศ ษ น แทน ณ ด แทน ฎ เป็นต้น

ตัว ญ นั้นโดยทั่วไปให้เขียนโดยใช้ตัว ย แทน แต่ในกรณีต้องเขียนคำบาลีหรือสันกฤต ให้ใช้ตัว ญ ได้ แต่ได้ตัดเชิงตัว ญ ออก คงมีรูปเพียง ญ เช่น  ผู้หญิง เป็น ผู้หยิง ใหญ่ เป็น ไหย่  เป็นต้น
 ตัวกล้ำ ทร ที่ออกเสียงเป็น ซ  ให้ใช้ตัว ซ เขียนแทน เช่น ทราบ เป็น ซาบ ทรุดโทรม เป็น ซุดโซม ทราย เป็น ซาย ทรัพย์ เป็น ซับ ทรวง เป็น ซวง
 ตัว ย ที่ อ นำให้เปลี่ยนเป็น ห นำ เช่น อยู่ อย่าง อย่า อยาก เขียนเป็น หยู่ หย่าง หย่า หยาก
 หลักทั่วไปใช้คำบาลีแทนสันสกฤต เช่น กัน ธัม นิจ สัจ แทน กรรม ธรรม นิตย์ สัตย์ เว้นแต่คำที่ใช้รูปบาลีมีความหมายหนึ่ง และสันสกฤตในรูปอีกความหมายหนึ่ง คงใช้ทั้งสองคำ แต่เปลี่ยนรูปการเขียนตามอักษรที่เหลืออยู่ เช่น มายา เป็น มารยา วิชชา เป็น วิชา วิทยา, กติกา, กริสตีกา, สัตราวุธ (ศาสตราวุธ), สาสตราจารย์ (ศาสตราจารย์), วิทยาสาสตร์ (วิทยาศาสตร์) และสูนย์กลาง (ศูนย์กลาง)
 ร หัน ในแม่ กก กบ กด กม ยกเลิกให้ใช้ไม้หันอากาศแทน เช่น อุปสัค วัธนา บัพ กัมการ แต่ ร กันในแม่กน ยังคงมีใช้ได้ เช่น สรรค (อุปสรรค), บรรพบุรุส (บรรพบุรษ) ,วรรนคดี (วรรณคดี) เป็นต้น
 คำที่มาจากบาลี ถ้าตัวสะกดมีอักษรซ้ำ หรืออักษรซ้อน ในกรณีตัวหลังไม่มีสระกำกับ ให้ตัดตัวสะกดตัวหน้า เช่น อัตภาพ (อัตตภาพ) หัถกัม (หัตถกรรม) ทุข (ทุกข์) อัคราชทูต (อัคคราชทูต) รัถบาล (รัฐบาล) เสถกิจ (เศรษฐกิจ) แต่ถ้าตัวหลังมีสระกำกับไม่ต้องตัดตัวสะกด เช่น อัคคี สัทธา(ศรัทธา)
 ไม้ไต่คู้ ใช้เฉพาะในกรณีต้องการให้ออกเสียงสั้น เช่น เม็ด เล็ก เย็บ เห็น ถ้าไม่ใช้อาจมีความหมายเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าไม่มีไม้ไต่คู้ จะเขียน 'เปน' ส่วนคำที่ไม่ได้ออกเสียงสั้นจริง เช่น กะหรอมกะแหรม ตะเบง ไม่มีไม้ไต่คู้ คำที่มาจากบาลีสันสกฤต ก็ไม่มีไม้ไต่คู้ เช่น เบญจ เพชร เวจ คำต่างประเทศที่จำเป็นให้คงใช้ได้ เช่น เช็ค
 คำ 'กระ' ให้เขียนเป็น 'กะ' เช่น กระจ่าง กระทิ เป็น กะจ่าง กะทิ
 คำที่ถอนมาจากคำต่างประเทศให้เขียนตามเสียงเป็นหลัก เช่น ตำรวจ เป็น ตำหรวด กำธร เป็น กำทอน


อักขรวิธีแบบนี้มาเลิกใช้เมื่อ พ.ศ.2488 หลังจากหมดยุคจอมพลป. จากนั้นคนไทยก็เขียนภาษาไทยอย่างดั้งเดิมด้วยพยัญชนะ 44 ตัว สระ 21 รูป 32 เสียง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 11:37

กำทอน ฮะฮ้า ถึงตรงนี้เพิ่งจะรู้  เพื่อนที่เพิ่งเข้าปีหนึ่งด้วยกันคนหนึ่งของผม ชื่อเขียนอย่างนี้แหละ ผมไปถามเค้าว่า คุณเป็นกระเป๋ารถเมล์หรือครับ คือว่าตอนนั้นค่าโดยสารรถเมล์ 50 สตางค์ตลอดสายน่ะครับ กระเป๋าจึงกำเหรียญ50ไว้ในมือ ใครจ่ายแบงค์มาก็ทอนเหรียญไป กระเป๋ารถเมล์จึงเหมาะที่จะชื่อคุณกำทอนมาก เพื่อนใหม่ของผมทำหน้างง แล้วบอกว่า เปล่าครับ กำทอนแปลว่าอะไรไม่รู้เหมือนกัน

ลืมบอกไป เพื่อนคนนี้เขาแก่กว่ารุ่นมาก สงสัยจะเกิดทันยุคภาษวิบัติของจอมพลป.

ถ้าคุณกำทอนมาอ่านก็รู้ซะ ชื่อคุณมาจากกำธร โฮ้ย ชื่อดารานะเนี่ย
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 12:56

อ้างถึง
เพราะศิลปวัฒนธรรมไทยยุคจอมพลป.ไม่ได้เกิดจากจินตนาภาพบริสุทธิ์ หากวางเป้าหมายไว้ที่การสร้างภาพการเมืองที่ท่านผู้นำอยากจะให้เป็น

อันที่จริง ไม่เพียงแต่ศิลปะวัฒนะธรรมเท่านั้นนะคะที่ถูกแต่งเติมเพื่อรับใช้ ระบอบ ของท่านจอมพล ป.
ประวัติศาสตร์เช่นกันที่จนวันนี้ ก็ได้เห็นมีการถกเถียงว่าอะไรถูกต้องกันแน่

หนังสือ คำให้การของหลวงอดุลย์ เคยอ่านเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว หากจำไม่ผิด ในคำให้การนั้นเอง
หลวงอดุลย์จะได้พูดตรง ๆ ออกมาว่า หลวงวิจิตร ฯ เป็นพวกสอพลอท่านผู้นำ คล้อยตามไปเสียทุกเรื่อง
จึงมีการแต่งประวัติศษสตร์ให้เกิดอาการรักชาติในระดับ "คลั่งชาติ" เชิดชูคนไทย เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย
อ้างว่าคนไทยมีหลายเผ่า

รำวงเผ่าไทย ที่มีเนื้อร้องกล่าวถึงชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่รวมกันเรียกว่าไทย ดูจะถูกลืมเลือนไปจากการพิสูจน์ว่า คนไทยมาจากไหนกันแน่
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 13:48

คุยเรื่อง "แสนคำนึง" ต่อ

ในยุคที่กระแสการเมือง "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" และ "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ" อบอวลอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป การออกนโยบายปฏิวัติทางวัฒนธรรมหลายอย่างจากผู้นำประเทศในขณะนั้น ได้รับการตอบสนองจากบุคคลรอบด้าน มีการขานรับด้วยพฤติกรรมเอาอกเอาใจกันมากมาย (ดูคล้าย ๆ กับสมัยนี้เลย) เบื้องหลังของเพลง "แสนคำนึง" ได้รับการบอกเล่าโดยทายาทของท่านเอง คือ อาจารย์บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก (นางมหาเทพกษัตรสมุห) บันทึกความหลังไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง บางตอนว่า

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านไป หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร คือญี่ปุ่นแล้ว ท่านผู้นำของประเทศไทยในสมัยนั้น ก็เร่งปรับปรุงสภาพของประชาชนไทยให้เทียมทันมิตรประเทศ อาทิ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชายต้องแต่งสากลนิยม หญิงต้องนุ่งกระโปรงสวมหมวกทุกคน จึงจะเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยเป็นชาติมหาอำนาจเทียมทันมิตรประเทศเหล่านั้นเหมือนกัน.....

....ท่านหันมาพิจารณาเรื่องศิลปะ เห็นว่าการดนตรีของไทยนั้นคร่ำครึ ล้าสมัย ป่าเถื่อน เป็นที่น่าอับอายแก่มวลมหามิตร ท่านก็เลยออกคำสั่งเป็นทางราชการ ห้ามเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดทั่วประเทศ จะเล่นได้ก็แต่ดนตรีสากลเท่านั้น....ในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรตามใจท่านผู้นำอย่างมากมาย

การที่ทางการสั่งห้ามนักดนตรีไทยเล่นดนตรีไทยนั้นเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด ขนาดที่จะแอบเล่นเองภายในบ้านก็ไม่ได้ เพราะถ้ามีเสียงดังลอดออกไปนอกบ้านอาจมีความผิด นักดนตรีไทยทุกคนรู้สึกเศร้าใจ ท้อใจ หมดกำลังใจ รู้สึกหมดอิสรภาพ ผู้ที่รักการดนตรีทั้งหลายหมดความสุขในชีวิต เสียดายอาลัยที่ศิลปะของชาติจะต้องสูญไป....

อ.บรรเลงเล่าว่า "คุณพ่อของข้าพเจ้า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกโทมนัสในคำสั่งห้ามเล่นดนตรีไทยนี้มาก ท่านได้ระบายความรู้สึกของท่านออกมาด้วยการแต่งเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง "แสนคำนึง" โดยท่านนำทำนองเพลงลาวเพลงหนึ่งซึ่งได้คิดแต่งไว้บ้างแล้วนำมาประดิษฐ์ใหม่ให้มีลีลาแผกไปจากเดิม แล้วก็แต่งเนื้อร้องระบายความเคียดแค้นที่ถูกห้ามเล่นดนตรีไทย บทร้องนั้นแต่งไว้ยาวหลายคำกลอน..."

"แต่ครั้นพอนำมาให้พี่สาวของข้าพเจ้า (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง) อ่านเพื่อจะสอนให้ร้อง พี่สาวของข้าพเจ้าอ่านจบแล้วฉีกทิ้งทันที คุณพ่อเอาสองมือตบหน้าผากของท่านแล้วร้องว่า "ฉีกของพ่อทำไม"...พ่อจะให้ร้องให้ฟัง และเก็บเอาไว้อ่าน พี่สาวของข้าพเจ้าตอบว่า "ถ้าไม่ฉีกทิ้ง เดี๋ยวพลั้งเผลอ หรือใครมาค้นบ้านได้อ่านเข้า คุณพ่อจะติดตะราง" เมื่อเป็นดังนั้น คุณพ่อเลยต้องหาเนื้อร้องใหม่ ได้เนื้อร้องจากเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ซึ่งพอจะมีความหมายเข้ากับชื่อเพลงที่ท่านเรียกว่า "แสนคำนึง" ได้ เพลงนี้เมื่อภายหลังเลิกห้ามเล่นดนตรีไทย (เลิกไปเองโดยปริยายหลังสงคราม) ก็ได้นำออกสอนศิษย์ของท่านจนเป็นที่แพร่หลายมาจนทุกวันนี้"

บางตอนจากหนังสือ "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์" โดย อานันท์ นาคคง อัษฎาวุธ สาคริก และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ)

 เศร้า

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 13:50

ตอนเด็กๆดิฉันเรียนประวัติศาสตร์ ถึงอาณาจักรสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์  เรียงลำดับเหมือนเป็นเส้นตรง  คืออย่างแรกเกิดก่อน ต่อมาก็เสื่อม   แล้วก็เกิดอย่างที่สอง   และเมื่ออย่างที่สองจบลง ก็เกิดอย่างที่สาม คือปัจจุบัน
ต่อมาโตขึ้น ถึงได้รู้ว่าจริงๆแล้วในแหลมทองสมัยโน้นมีอาณาจักรกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง   สุโขทัยเป็นหนึ่งในนั้น  อยุธยาเองก็มีประวัติศาสตร์อโยธยาของตัวเอง ซึ่งน่าเป็นอาณาจักรที่เจริญไม่น้อยมาก่อน  ดูการสร้างพระพนัญเชิงเป็นตัวอย่าง
ไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ล้านนา(หรือที่ไทยเมืองหลวงเรียกว่าลานนา)จากตำราเรียนเลย   ทวารวดี และตามพรลิงค์ ก็เช่นกัน ไม่เคยได้ยินชื่อ

แต่เดาว่าเด็กรุ่นหลังๆคงเรียนไม่เหมือนดิฉันแล้ว    

เมื่อมีงานโรงเรียนตอนป. ๑  ไม่ทราบว่าคุณร่วมฤดีเคยเห็นในร.ร.หรือเปล่าคะ   ของดิฉันมีการแสดงชุดต้นตระกูลไทย  ก็เรียงลำดับตั้งแต่สุโขทัย  เพื่อนๆก็ถูกจับแต่งตัวเป็นบุคคลสำคัญในอดีต หลายสิบคน  ขึ้นต้นเพลงปลุกใจว่า "ต้นตระกูลไทย ใจท่านเหี้ยมหาญ" มาจากสมัยชาตินิยม  ผู้แต่งคือคุณหลวงวิจิตรวาทการ
ผ่านมายี่สิบกว่าปี  ลูกสาวดิฉันตอนอยู่อนุบาล ๑ ก็ออกไปรำชุด ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จากละครเรื่องพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ของคุณหลวงวิจิตรอีกเช่นกัน
แสดงว่าวัธนธัมยังปลูกฝังในหลักสูตรได้ยาวนานจริงๆ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 01 ก.ย. 10, 13:53



เอาตัวอย่าง ภาษาไทยยุคท่านผู้นำ มาให้ชมครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง