เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 51737 ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 13:57

เรื่องอยุธยาอีกหน่อย ขอบคุณคุณหนุ่มสยามที่เอาภาพวิหารพระมงคลบพิตรสมัยผมเด็กๆมาลงให้ ผมพยายามหาอยู่แต่หาไม่ได้

เพื่อนรักของแม่ผมเป็นภรรยาของคุณสุทัศน์ สิริสวย ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสมัยนั้น ผมจึงได้ไปเที่ยวบ่อย บางครั้งไปค้างอยู่หลายวัน ตอนกรุวัดราชบูรณะแตก ผมมีโอกาสได้เห็นสมบัติกษัตริย์ที่กรมศิลปากรขุดขึ้นมาได้อย่างใกล้ชิด จำได้แค่ว่าทองทั้งนั้น อย่างอื่นจำไม่ได้เลย

สมบัติของกรุงศรีอยุธยาถูกปล้นสดมภ์มาตั้งแต่พม่ารีบถอยทัพกลับ ทั้งคนไทยคนจีนพากันขุดล่าหาสมบัติที่พม่าตกหล่นกันแบบใครดีใครได้ จบจนสมัยนี้ก็ยังมีมั้ง ตอนที่ผมเล่านั้น โจรมาขุดเจดีย์วัดราชบูรณะ ให้ลึกกว่าที่โจรสมัยก่อนๆขุดไปแล้ว กรุแตกของดีๆทั้งนั้น ขนของออกมาเผอิญซวยมีตำรวจน้ำดีจับได้ ทางราชการจึงเห็นว่าปล่อยไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ลงมือขุดเองโจรจะเอาไปหมด จึงระดมสรรพกำลังมาขุดกันทั่วกรุง ส่วนใหญ่ที่ได้ๆกันก็เป็นพระ ที่เรียกว่าพระกรุ บางองค์เป็นแผ่นดีบุกยาวเป็นศอกก็มีเช่นพระใบขนุน นับหมื่นองค์ ทางราชการเอามาตั้งราคาขายให้ราษฎร คนแห่กันไปบูชารถติดยาวเหยียด พวกทองคำไม่ได้ปล่อยนะครับ เก็บไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ พวกที่นำมาปล่อยส่วนใหญ่ก็ชำรุด ขนาดผู้ว่ายังไม่ได้ที่สวยๆ(แต่เขาว่าเซียนได้ไปหมดแล้ว) บ้านผมไปดูกันเฉยๆ อาจจะมีใครบูชามาสักองค์สององค์ ตอนหลังมีข่าวว่าพระอยุธยาเฮี้ยนหนัก มีคนเอามาคืนกัยเยอะก็เลยเอามาคืนมั่ง ไม่เหลือถึงผมเลย

ถ้ามองในมุมของคนที่เชื่อเรื่องนี้ พระที่อยู่ในกรุส่วนหนึ่งเป็นพระที่มีคนสร้างขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ ถ้าไปเอาพระพวกนั้นมา ก็เท่ากับไปรับทุกข์ของเขาไว้ แต่คนไม่เชื่อก็มี เซียนพระหลายคนก็บอกว่าผมเล่นเป็นศิลปะ เรื่องพุทธคุณหรือไสยคุณผมไม่ถือ ขอให้พระสวยก็แล้วกัน แต่ตอนนั้น พอใครรถคว่ำตายหนังสือพิมพ์ก็ชอบลงข่าวว่ามีพระอยุธยาอยู่ในรถ เจอยังงี้เข้าไม่กี่ราย คนเอาไปคืนกันเป็นแถว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 14:10


ตึกองค์การสหประชาชาติหลังเก่าที่เชิงสะพานมัฆวาน ก็เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ของจอมพลป. ที่มีกฏเกณฑ์ให้ใส่ปั้นลม ช่อฟ้า หางหงสุ์ ตรงปลายหลังคา และหาที่ใส่ลายกนกปูนปั้นตามขอบๆผนังและหน้าต่างเสียหน่อย เพื่อแสดงเอกลักษณ์ไทย

ตรงนี้อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ท่านหนึ่งของผมเลคเช่อร์ว่า เป็นความคิดที่ตื้นเขินเต็มที


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 14:23

ค้างคาใจเรื่องการสร้างพระพิมพ์สักหน่อย จากการที่พบพระพิมพ์เนื้อโลหะ ซึ่งเป็นส่วนผสมของตะกั่วและดีบุกผสมกัน ซึ่งเรียกว่า เนื้อชิน นำมาหลอมรวมกันแล้วใช้ปรอทแล่นพิมพ์ก่อนเท เพื่อให้น้ำโลหะแล่นติดพิมพ์ได้สวยงามจับใจ มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง และพระพิมพ์ล้อสมัยศิลปะละโว้ ก็มากอยู่ ทำให้คิดในใจว่า คาดว่าคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆเลยทีเดียว

คติการสร้างพระพิมพ์บรรจุในกรุ ถือคติหลายอย่างแล้วแต่เจตนา สำหรับชนชั้นนำ สร้างเป็นหมื่นๆ แสนๆองค์แล้วจารใบทองคำ ระบุหวังผลนิพาน หวังสืบทอดพระศาสนาย่อมพึงกระทำ แต่สำหรับระดับไพร่ อยากจะสร้างพระบรรจุร่วมกรุ คงทำได้ยาก คงต้องหาเช่าแล้วจารด้วยลายมือ บูชาหย่อนลงในกรุเป็นแน่
รวมทั้งชาวต่างชาติ ชาวจีนด้วย เนื่องจากพบคำจารึกอุทิศให้แก่แซ่วงศ์ตระกูลของตนเอง บ้างเขียน บ้างสลักลงในเนื้อพระเลย

ดังนี้การบรรจุกรุมีได้หลายความหมายแล้วแต่เจตนาของบรรบุรุษเป็นที่ตั้ง สำหรับจะเฮี้ยนอย่างไร ก็เคยได้ยินมาว่า "ของเขาแรง จริง"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 14:34

สมบัติมีค่าในกรุวัดราชบูรณะ



บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 15:22

กระทู้นี้มีแต่ของสวยๆงามๆให้ชม ยิ้ม ขอบคุณค่ะ

นอกเรื่องนิดนึงได้ไหมคะ จำได้ว่า หลายปีก่อน มีข่าวสมบัติโกโบริ ที่นักการเมืองคนหนึ่งจะไปขุดหา..
ไม่ทราบเรื่องนี้ ตอนจบเป็นยังไงคะ ขออภัยทุกท่านด้วยนะคะ ที่ถามนอกเรื่อง...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 15:31

มีภาพเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะมาให้ดูอีกค่ะ

       





ขุมทองโกโบริ เงียบหายไปแล้ว   เคยอ่านพบว่าต่างประเทศก็เจอขุมทองแบบนี้เหมือนกัน  เป็นแก๊งค์ต่างชาติทำงานระดับอินเตอร์ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 16:56

เอาละครับ เราจะไปว่าเรื่องอื่นกัน

ความจริงก่อนเรื่องภาษาวิบัติ จอมพลป.ท่านมีแนวคิดในเรื่องจะยกระดับวัฒนธรรมของชาติไปสู่แนวที่ท่านคิดของท่านเองว่าดี เพื่อจะให้มีผลบังคับ สามารถปฏิบัติได้จริง ท่านจึงต้องออกกฏหมายมารองรับ เรียกว่า พระราชบัญญัติ บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2483 มีข้อความดังนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 16:58

2


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 16:58

3


บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 16:59

เสริม ค.ห .82 ผมเคยเรียนไว้ในเว็บนี้แหละ(แต่จำกระทู้ไม่ได้)ว่า ตอนผมเด็กๆผมมาวิ่งเล่น มาเก็บพุทรา ได้เคยปีนป่ายองค์พระแบบไม่มีวิหารนั้น ก็เป็นไปตามแบบภาพนี้แหละ ครับผม แต่ผมจำได้ว่าองค์พระ น่าจะไม่สูงเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นะครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 17:08

^
ขอบคุณคุณmanitครับ

เรื่ององค์พระที่ว่า ผมไม่ทราบเหมือนกัน เขาได้ยกขึ้นให้สูงกว่าเดิมหรืออย่างไรครับ องค์เดิมก็สูงมากอยู่แล้ว ถ้ายกจริงคงต้องเป็นงานวิศวกรรมระดับชาติ น่าจะมีบันทึกไว้นะครับว่าทำอย่างไร แต่ผมไม่เคยเห็นจริงๆครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 17:20

 และอาศัยอำนาจตามกฏหมายดังกล่าว ท่านก็ออกประกาศว่าด้วยรัฐนิยมขึ้นหลายฉบับ
รัฐนิยมคืออะไร ผมว่าให้ท่านอธิบายเองดีกว่า ท่านผู้อ่านก็โปรดทำความเข้าใจเอาเองด้วย

เราจะเรียกว่า "รัฐนิยม" คือ การปฏิบัติให้เป็นประเพณีนิยมที่ดีประจำชาติ เพื่อให้บุตรหลานอนุชนคนไทยเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติ รัฐนิยมนี้มีลักษณะและละม้ายคล้ายคลึงกับจรรยามรรยาทของอารยชนจะพึงประพฤตินั่นเอง ในรัฐนิยมยังมีพฤติกรรมเพิ่มพิเศษขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ "อำนาจมหาชน”

อำนาจมหาชนนั้นแปลรูปมาจากมติมหาชน ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว หมายความว่า การทำสิ่งใดให้ดำเนินตามความเห็นของส่วนมากของชาติ ความเห็นดีเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่นั้น ก่อให้เกิดอำนาจมหาชนขึ้น อำนาจมหาชนนั้น สามารถทำการปรับปรุงหรือปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยที่ยังว่านอนสอนยาก ไม่ทำตนให้ดีขึ้นมาเสมอกับผู้อื่นได้ การปราบปรามคนจำพวกนี้ บางทีก็ไม่อยู่ในข่ายของกฎหมายจะเอื้อมไปถึง เพราะยังไม่มีหลักอันใดมาเป็นกรณีให้ต้องสร้างกฎหมายขึ้นสำหรับเรื่องนั้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ชายคนหนึ่งเข้ารังแกผู้หญิงผู้เป็นเพศอ่อนกว่าตนกลางถนนหลวง รัฐนิยมก็มีว่า ผู้ชายคนนั้นควรได้รับโทษจากอำนาจมหาชนให้สมกับความประพฤติผิดอารยชนนั้น หรือเช่นเมื่องานบุปผชาติวันที่ ๓ เดือนนี้ มีบุคคลบางคนที่อ่อนทั้งศีลธรรมและการศึกษา แทนที่จะใช้ดอกไม้หรือลูกปา สายรุ้งขว้างนางบุปผชาติ กลับใช้ก้อนอิฐบ้าง ขยะมูลฝอยข้างถนนบ้าง ของอากูลต่างๆบ้าง ปาเข้าไปที่สตรีเพศเป็นต้น การกระทำอย่างนี้ไม่ใช่การกระทำของคนเจริญแล้ว เพราะคนเจริญแล้วไม่รังแกเพศอ่อน และยิ่งในคราวนั้น สุภาพสตรีได้มาทำงานเป็นการช่วยชาติด้วย ก็ยิ่งเป็นการกระทำไม่ดีดั่งว่านั้นเลย

ฉะนั้นเมื่อเรามีรัฐนิยมขึ้น ควจำพวกนี้ก็จะต้องได้รับโทษจากอำนาจมหาชนโดยตรงและโดยทันที เหมือนดั่งเราเคยได้ฟังเรื่องเกิดขึ้นในอารยประเทศบ่อยๆ ว่า คนที่รังแกผู้หญิงก็ถูกราษฎรกลุ่มใหญ่จับตัวมาสำเร็จโทษเสียก็มี และคราวผู้ร้ายเข้าทำการปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินยูโกสลาเวียในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีก่อนก็เช่นเดียวกัน อำนาจมหาชนได้เข้าจัดการกับผู้ร้ายคนนั้นเสียก่อนที่กฎหมายบ้านเมืองจะเอื้อมแขนเข้ามาถึง แต่ของไทยเราอาจไม่ทำรุนแรงถึงเช่นนั้น จะเพียงรุมกันว่ากล่าวอย่างแรง หรือหยุดยั้งไม่ให้ฝืนรัฐนิยมของเรา หรือช่วยกันจับตัวส่งเจ้าหน้าที่ก็น่าจะเพียงพอ"



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 17:23

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑

เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

     โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความ นิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย
     ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า “ไทย”
ข. ในภาษาอังกฤษ
     ๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND
     ๒.ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI
     แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป
     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 17:26

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๒

เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

     ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทอดทูลของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใดๆ การป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติกันจักต้อง ป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจมีมาด้วยประการต่าง ๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ
     ๒. ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๓. ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๔. ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้าง ซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติ ในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๕. เมื่อปรากฏว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น

     ประกาศมา ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 17:27

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๓

เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

     ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่นไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลามก็ดี ก็ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้
     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ให้เลิกการเรียกชาวไทย โดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก
     ๒. ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก
     ประกาศมา ณ วันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง