คุยเรื่อง "แสนคำนึง" ต่อ
ในยุคที่กระแสการเมือง "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" และ "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ" อบอวลอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป การออกนโยบายปฏิวัติทางวัฒนธรรมหลายอย่างจากผู้นำประเทศในขณะนั้น ได้รับการตอบสนองจากบุคคลรอบด้าน มีการขานรับด้วยพฤติกรรมเอาอกเอาใจกันมากมาย (ดูคล้าย ๆ กับสมัยนี้เลย) เบื้องหลังของเพลง "แสนคำนึง" ได้รับการบอกเล่าโดยทายาทของท่านเอง คือ อาจารย์บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก (นางมหาเทพกษัตรสมุห) บันทึกความหลังไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง บางตอนว่า
สงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านไป หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร คือญี่ปุ่นแล้ว ท่านผู้นำของประเทศไทยในสมัยนั้น ก็เร่งปรับปรุงสภาพของประชาชนไทยให้เทียมทันมิตรประเทศ อาทิ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชายต้องแต่งสากลนิยม หญิงต้องนุ่งกระโปรงสวมหมวกทุกคน จึงจะเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยเป็นชาติมหาอำนาจเทียมทันมิตรประเทศเหล่านั้นเหมือนกัน.....
....ท่านหันมาพิจารณาเรื่องศิลปะ เห็นว่าการดนตรีของไทยนั้นคร่ำครึ ล้าสมัย ป่าเถื่อน เป็นที่น่าอับอายแก่มวลมหามิตร ท่านก็เลยออกคำสั่งเป็นทางราชการ ห้ามเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดทั่วประเทศ จะเล่นได้ก็แต่ดนตรีสากลเท่านั้น....ในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรตามใจท่านผู้นำอย่างมากมาย
การที่ทางการสั่งห้ามนักดนตรีไทยเล่นดนตรีไทยนั้นเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด ขนาดที่จะแอบเล่นเองภายในบ้านก็ไม่ได้ เพราะถ้ามีเสียงดังลอดออกไปนอกบ้านอาจมีความผิด นักดนตรีไทยทุกคนรู้สึกเศร้าใจ ท้อใจ หมดกำลังใจ รู้สึกหมดอิสรภาพ ผู้ที่รักการดนตรีทั้งหลายหมดความสุขในชีวิต เสียดายอาลัยที่ศิลปะของชาติจะต้องสูญไป....
อ.บรรเลงเล่าว่า "คุณพ่อของข้าพเจ้า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกโทมนัสในคำสั่งห้ามเล่นดนตรีไทยนี้มาก ท่านได้ระบายความรู้สึกของท่านออกมาด้วยการแต่งเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง "แสนคำนึง" โดยท่านนำทำนองเพลงลาวเพลงหนึ่งซึ่งได้คิดแต่งไว้บ้างแล้วนำมาประดิษฐ์ใหม่ให้มีลีลาแผกไปจากเดิม แล้วก็แต่งเนื้อร้องระบายความเคียดแค้นที่ถูกห้ามเล่นดนตรีไทย บทร้องนั้นแต่งไว้ยาวหลายคำกลอน..."
"แต่ครั้นพอนำมาให้พี่สาวของข้าพเจ้า (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง) อ่านเพื่อจะสอนให้ร้อง พี่สาวของข้าพเจ้าอ่านจบแล้วฉีกทิ้งทันที คุณพ่อเอาสองมือตบหน้าผากของท่านแล้วร้องว่า "ฉีกของพ่อทำไม"...พ่อจะให้ร้องให้ฟัง และเก็บเอาไว้อ่าน พี่สาวของข้าพเจ้าตอบว่า "ถ้าไม่ฉีกทิ้ง เดี๋ยวพลั้งเผลอ หรือใครมาค้นบ้านได้อ่านเข้า คุณพ่อจะติดตะราง" เมื่อเป็นดังนั้น คุณพ่อเลยต้องหาเนื้อร้องใหม่ ได้เนื้อร้องจากเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ซึ่งพอจะมีความหมายเข้ากับชื่อเพลงที่ท่านเรียกว่า "แสนคำนึง" ได้ เพลงนี้เมื่อภายหลังเลิกห้ามเล่นดนตรีไทย (เลิกไปเองโดยปริยายหลังสงคราม) ก็ได้นำออกสอนศิษย์ของท่านจนเป็นที่แพร่หลายมาจนทุกวันนี้"
บางตอนจากหนังสือ "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์" โดย อานันท์ นาคคง อัษฎาวุธ สาคริก และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ)
