เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 13
  พิมพ์  
อ่าน: 51608 ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 20:36

ระหว่างรอท่านนวรัตนมาเล่าเรื่องสถาปัตยกรรมต่อ     ขอคั่นโปรแกรมด้วยเรื่องประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๘  แม้เป็นประกาศสั้นๆแต่ก็มีความสำคัญมาก   
แรกเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย  เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เปลี่ยนแค่ชื่อประเทศ     ผลที่ตามมาเป็นพรวน ก็คืออะไรที่มีคำว่า "สยาม" ก็พลอยเดือดร้อน  ถูกไล่ที่จนหายไป  มีคำว่า "ไทย" เข้ามาแทนที่
หนึ่งในจำนวนนั้นคือเพลงสรรเสริญพระบารมี  ก็ถูกตัดทอนคำว่า "สยามินทร์" ออกไป  เนื้อเพลงก็ถูกรวบรัดตัดความให้สั้น   เหลือเพียงแค่นี้เอง


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘
เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
     โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย
     ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 20:56

เคยเขียนไว้ในกระทู้ใดกระทู้หนึ่ง ก่อนหน้านี้ ถึงรัฐนิยมที่ก้าวล้ำเข้ามาถึงในบ้านช่องห้องหับ  ในมุ้งในม่านของประชาชนไทย    แต่เอามาฉายซ้ำอีกทีก็ดี เผื่อมีบางท่านยังไม่เคยอ่าน
รัฐนิยมของท่านจอมพล ป. ไม่ใช่แค่ประกาศกว้างๆเท่านั้น  แต่มีรายละเอียดยิบย่อย ถึงขั้นวางระเบียบในชีวิตประจำวันของประชาชนไว้ทั้งเช้าสายบ่ายเย็น กลางค่ำกลางคืน  
กำหนดกระทั่งว่าควรนอนกี่ชั่วโมง  แต่ละช่วงวันควรเอาเวลาไปทำอะไรบ้าง   แม้แต่กินอาหารก็กำหนดว่าให้กินตรงเวลา และไม่ควรเกิน ๔ มื้อ
ครั้งแรกที่อ่านเจอ  แปลกใจว่าคนไทยทั่วไปเขาไม่ได้กินกันอย่างมากก็วันละ ๓ มื้อหรอกหรือ    ถ้าเป็นคนจนก็กินน้อยกว่านั้น   ท่านกำหนดราวกับคนไทยสมัยนั้นกินกันวันละ ๔-๕ มื้อ หรืออาจจะมากถึง ๖-๗ มื้อ  จนต้องมาห้ามว่า ๔ มื้อพอแล้ว
หลายปีมาแล้ว มีนิสิตอักษรศาสตร์รุ่นหลานมาสัมภาษณ์แม่ถึงเรื่องในอดีต ยุคจอมพลป.  แม่เล่าถึงประกาศข้อนี้ว่ารัฐบาลท่านบอกว่าไม่ควรกินเกิน ๔ มื้อ
แล้วต่อท้ายว่า ยายเองเกิดมาไม่เคยกินข้าววันละ ๔ มื้อเลยหนู   แล้วไม่เคยเห็นใครบ้านไหนเขากินกันถี่ขนาดนั้นด้วย

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย
     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพบเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย

     ๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดั่งต่อไปนี้
        ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ
        ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง

     ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาการและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร

     ๓. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

     ๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่นประกอบกิจในทางสาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกิฬา หรือพักผ่อนเป็นต้น.

     ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๔

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

---------------------------------------
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 21:50

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคนไทยจากรัฐนิยม นอกจากต้องเลิกหมาก ต้องแต่งกายแบบตะวันตก สวมหมวก สวมรองเท้า แล้ว  ก็คือเรื่องเปลี่ยนชื่อ
แต่เดิมมาชื่อของสามัญชนไทย ไม่แบ่งเพศ   นอกจากนี้ชาวบ้านมีค่านิยมตั้งชื่อลูกให้น่าเกลียดเข้าไว้  เป็นเคล็ดความเชื่อว่าผีจะได้รังเกียจ ไม่เอาตัวไปแต่ยังเยาว์  เพราะอัตราการตายของทารกยังสูงมาก      จอมพลป. เห็นว่ายังไม่มีวัธนธัม    จึงกำหนดใหม่ ว่าคนไทยควรจะมีชื่อที่มีความหมายดี   และแบ่งแยกให้ถูกต้องตามเพศ    
ดิฉันไม่มีรายละเอียดในประกาศ  ถึงข้อกำหนดที่รัฐบาลแจกแจงไว้ยิบย่อยไม่แพ้เรื่องกิจวัตรประจำวัน    แต่จำได้ว่า ชื่อผู้ชายควรมีความหมายถึงอาวุธ  หรือแปลว่าเข้มแข็งกล้าหาญ ทำนองนี้   ส่วนผู้หญิงก็ควรชื่ออะไรที่แปลว่าสวยๆงามๆ หรือดอกไม้ เครื่องประดับ     ถ้าหากว่าคุณเพ็ญชมพูและคุณไซมีสหาเจอช่วยกรุณานำมาลงให้ด้วยนะคะ

ประชาชนปั่นป่วนกันอีกระลอกหนึ่งจากต้องเปลี่ยนชื่อให้ตรงกับเพศ       อาจารย์สมัย พงศทัต (คุณนวรัตนน่าจะรู้จัก) เป็นหญิง จึงชื่อสมัยไม่ได้ ฟังเป็นชายเกินไป    ต้องเปลี่ยนเป็นสมัยสวาท       แม่ของเพื่อนดิฉันชื่อเจียม ต้องเปลี่ยนเป็นเจียมจิตร     ชื่อบางชื่อไม่รู้จะจัดเข้าเพศไหนเพราะได้ทั้งสองเพศ อย่างชื่อถนอม   ผู้หญิงชื่อถนอมจึงต้องเติมศรีเข้าไปเป็นถนอมศรี    ส่วนผู้ชายก็เติมเป็นถนอมศักดิ์     ชื่อเฉลิมก็แบบเดียวกัน คือน.ส.เฉลิมศรี และนายเฉลิมศักดิ์
ส่วนคุณประหยัดศรี นาคะนาทซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ชายแท้   คุณพ่อตั้งชื่อว่าประหยัดศรี    เกิดเสียดายชื่อ ไม่อยากเปลี่ยนใหม่หมด   จึงเปลี่ยนเป็น ประหยัด ศ. นาคะนาท  ก็รอดตัวไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 21:58

ระเบียบรัฐนิยมเรื่องกำหนดชื่อให้มีความหมาย ชายเป็นชาย หญิงเป็นหญิง  เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ  นายกรัฐมนตรีถึงกับแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะการนี้   โปรดดูรูปข้างล่าง
แถวนั่ง จากซ้ายไปขวา
๑.หม่อมกอบแก้ว อาภากร (ท่านเป็นหม่อมในพระองค์เจ้าอาทิตฯ ผู้สำเร็จราชการ   เป็นผู้นำแฟชั่นมาตั้งแต่ยังสาว  แต่งตัวสวยมาก)
๒.ไม่ทราบนาม
๓.พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
๔.พระนางเธอลักษมีลาวัณย์
๕.คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์
แถวยืน จากซ้ายไปขวา
๑.พระปฏิเวทวิศิษฎ์
๒.พระราชธรรมนิเทศ
๓.พระยาสุนทรพิพิธ
๔.พ.อ.หลวงสารานุประพันธ์
๕.พระสารประเสริฐ
๖.พระยาอนุมานราชธน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 22:04

ขอเพิ่มเติมรายละเอียด เด็กๆก็พลอยได้รับการส่งเสริมทางวัฒนธรรมใหม่ โดยครูชอุ่ม ปัญจพรรค์  แต่งขึ้น พ.ศ. ๒๔๙๘

เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน

หนึ่ง นับถือศาสนา
สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์
สี่ วาจานั้น ต้องสุภาพอ่อนหวาน
ห้า ยึดมั่นกตัญญู
หก เป็นผู้รู้รักการงาน
เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
แปด รู้จักออมประหยัด
เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ จะเหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา
สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา เด็กสมัยชาติพัฒนาจะเป็นเด็กที่พา ชาติไทยเจริญ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 23:28

รอคอยการฟังเรื่องการอนุรักษ์ ด้วยอีกคนครับ

ภาพการบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ก่อนและหลัง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:04

เอางานอนุรักษ์โบราณสถานที่มีปัญหามากที่สุดโครงการหนึ่งในอดีตมาฝากเป็นอุทาหรณ์

ประตูท่าแพเมืองเชียงใหม่ ขณะก่อนปี2528นั้นจะมีสภาพตามที่เห็น รถวิ่งผ่านประตูเมืองไปตามถนนได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:05

ครั้นคุณชัยยา พูนศิริวงศ์สถาปนิกใหญ่จากสำนักผังเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้ทำโครงการรื้อประตูท่าแพเพื่อสร้างใหม่ โดยให้เหตุผลว่าประตูที่เห็นอยู่นั้น สร้างในสมัยจอมพลป. ไม่ถูกต้องตามหลักฐานโบราณคดี เท่านั้นเองพวกกลุ่มอนุรักษ์ที่โด่งดังอยู่ในเชียงใหม่ก็ออกมารณรงค์คัดค้าน บอกว่าถึงจะสร้างใหม่คนละสมัย แต่ก็เก่า ถือเป็นโบราณสถานแล้วเหมือนกัน ประตูนั้นกว้างขวางดีอยู่ ผู้ว่าจะมาทำให้แคบลงแล้วปิดเส้นทางจราจร แถมดึงเอาพระว่าอ้างว่าจะทำให้ลมผ่านไม่สะดวกถือเป็นขึด(เสนียด)ต่อเมือง ด่าผู้ว่าทุกวันให้พับโครงการ ผู้ว่าก็ได้นักโบราณคดีจากเมืองหลวงไปเป็นแนวร่วม โต้กันไปโต้กันมาพอเหนื่อย ซาลงไปแล้วผู้ว่าก็ไฟเขียวให้ผู้รับเหมาเอารถไถดันกำแพงจนราพนาสูร แล้วเอารถตักๆใส่รถบรรทุกวิ่งหายไปในเวลาอันรวดเร็ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:09

พอการก่อสร้างที่บอกว่าเหมือนหลักฐานโบราณคดีเริ่มต้น คนก็งงมากว่าผู้ว่าจะสร้างตึกแถวหรืออย่างไร คือตอกเข็มทำตอม่อเป็นระยะแล้วผูกเหล็กหล่อคานคอดิน ตั้งเสาเทคานคอนกรีตลอยๆเหมือนจะทำอาคาร พอเริ่มเอาอิฐมาก่อเหมือนผนังคนจึงเริ่มเข้าใจ อ้อ ผู้ว่าจะทำกำแพงเมืองแบบกลวงข้างใน อ้าว..นี่หลอกกันชัดๆไหนว่าจะอนุรักษ์ตามแบบทางโบราณคดี คราวนี้ผู้ว่าโดนถล่มอีกยกใหญ่ ทั้งจากกลุ่มเดิมที่พักให้น้ำกลับมาสดอย่างเดิมและกลุ่มนักต่อต้านสมทบจากเมืองหลวง เซไปเซมาจวนเจียนจะโดนน็อค แม้ผู้ว่าจะไปเอารูปมาแสดงว่าฝรั่งเขาก็อนุรักษ์กันด้วยวิธีนี้ ไม่มีใครบ้านั่งเรียงอิฐกำแพงหนาตั้งสี่ห้าเมตรกันอีกแล้วในเมื่อเทคโนโลยี่สมัยใหม่มันเอื้ออำนวยให้ทำอย่างง่ายได้ เขาก็จะทำเพียงแค่“สร้างฉาก”แบบถาวรขึ้นมาทั้งนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:15

คุณชัยยา พูนศิริวงศ์ท่านไม่ใช่มวยวัดนะครับ ท่านเป็นนักเรียนอังกฤษจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล วิธีการอนุรักษ์โดยสร้างโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่ แล้ววางหินที่ค่อยๆรื้อลงมานั้น กลับไปปะตามตำแหน่งที่ถูกต้องเหมือนของเก่า ฝรั่งทำกันมากมาย พอเสร็จแล้วดูไม่ออกว่าข้างในกลวงเหมือนกัน กำแพงเมืองของเชียงใหม่เป็นอิฐดินเผา ขยับออกนิดนึงก็กลายเป็นเศษเล็กเศษน้อย จึงต้องรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่อย่างเดียว แต่อธิบายอย่างไรฝ่ายที่คัดค้านก็ไม่เห็นด้วย

แต่พอสร้างเสร็จแล้วท่านก็ปรับอาณาบริเวณแถวนั้นเป็นสวนสาธารณะเพื่อกิจกรรมของคนเมืองไป ปรับการจราจรเป็นวันเวย์ตลอดแนวคูเมือง รถก็ติดน้อยลง คนเชียงใหม่ก็เงียบเสียง

เดี๋ยวนี้ อิฐที่ก่อไว้เนี๊ยบจนดูออกว่าจอมปลอม ก็เริ่มเก่าลง นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆก็ไม่รู้สึกว่าถูกหลอกให้มาดูของที่เพิ่งสร้างใหม่ไม่กี่สิบปีมานี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:22

ดังนั้น งานนี้ผมว่าท่านผู้ว่าพลาดไปมาก ถ้าการก่อสร้างนั้นท่านทำรั้วปิดบังสายตาคนเสีย ไม่ให้เขาเห็นเบื้องหลังว่าทำอย่างไร ท่านคงไม่ต้องโดนกระหน่ำถึงสองยกเต็มๆ ถึงกับเสียรังวัดไปเยอะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:28

งานอนุรักษ์กำแพงเมืองเชียงใหม่ส่วนที่เหลือ ไม่มีใครกล้าใช้วิธีเดียวกับท่านอีกเลย เช่นที่แจ่งหัวลิน ทางไปขึ้นดอยสุเทพ
ตอนสร้างกลับเข้าที่เดิมใช้คนงานก่ออิฐกลับไปทีละแผ่นๆ


อ้อ..เดี๋ยวนี้เขาให้เปลี่ยนจากสะกดด้วยร.เรือมาเป็นล.ลิงนะครับ ลินแปลว่าท่อ
เมื่อก่อนตรงนี้มีท่อที่ระบายน้ำเข้าเมือง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:42

คราวนี้มาดูกำแพงเมืองที่ถูกทุบในสมัยจอมพลป.มาให้ดูครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:44

ความจริงทุกยุคทุกสมัยก่อนหน้าก็มีการทุบกำแพงเมืองทิ้งมาโดยตลอด เพราะการยุทธ์สมัยใหม่มันไม่ได้ใช้สงครามป้อมค่ายรักษาพระนครดังก่อน เพียงแต่สมัยจอมพลป.เป็นนายกยาวนาน ก็เลยมีผลงานทางนี้เยอะไปด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 06 ก.ย. 10, 08:47

กำแพงเมืองเก่าเคยถูกมองว่าหมดประโยชน์ ไร้คุณค่าแล้ว สมควรรื้อทิ้ง เอาแนวกำแพงทำถนนดีกว่า หรือปล่อยให้คนมาจับจองบุกรุกเพื่อสร้างบ้านเรือน เมื่อจะเอาที่คืนก็ลำบากเสียแล้ว


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง