เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 51606 ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 21:47

กลับมาเรื่องวัธนธัม
จะว่าวัธนธัมของจอมพลป.ไม่ได้ผลเสียเลยก็ไม่ใช่      เพราะบางอย่างเมื่อไม่ถูกบังคับให้ทำอีก  ก็ไม่ทำ  อย่างเรื่องตัวสะกด สรรพนาม หมวก ฯลฯ  แต่บางเรื่องไปแล้วไปลับ  ไม่กลับมาอยู่ความนิยม
อย่างแรกคือหมาก
หลังยุควัธนธัม ที่ห้ามกินหมาก  คนเมืองหลวงก็ไม่นิยมหมากกันอีก  คงจะนิยมฟันขาวมากกว่าฟันดำ  และหมากไม่เข้ากับการแต่งกายแบบตะวันตก    หมากก็ค่อยๆลดความสำคัญลง  จนหมดไปจากปากคนไทยเอง
อย่างที่สองคือการแต่งกาย   
พอเริ่มด้วยชุดตะวันตกที่เรียกว่าชุดสากลได้   คนไทยก็ไม่กลับไปห่มผ้าแถบนุ่งโจงกระเบน หรือนุ่งลอยชายเอาผ้าขาวม้าพาดบ่าอีกเลย   กลับมารับแฟชั่นฝรั่งตั้งแต่หัวถึงเท้า
ที่ประหลาดคือคนไทยแต่งอะไรแต่งได้  ตั้งแต่เสื้อนอก กระโปรงยาว  รองเท้าบู๊ต   แต่ไม่ชอบสวมหมวก  จะเป็นเพราะไม่สะดวกสบายอย่างในเพลงข้างล่างนี้หรือไงก็ไม่ทราบ

ฟังเพลงได้ที่นี่ค่ะ
http://www.maama.com/music/view.php?id=016207

เพลง สวมหมวก
คำร้อง จมื่นมานิตย์นเรศร์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ขับร้อง มัณฑนา โมรากุล

เชิญซิคะ เชิญร่วมกันสวมหมวก
แสนสะดวกสบายด้วย ทั้งสวยหรู
ปรุงใบหน้าให้อร่าม งามหน้าดู
อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง

สมศักดิ์ศรีมีสง่าเป็นอารยะ
หมวกนี้จะชวนให้ชมสมประสงค์
ถึงไม่สวยหมวกจะช่วย เสริมทรวดทรง
งามระหงเลิศวิไลหญิงไทยเรา

อย่ารีรอเลยเจ้าขามาช่วยกัน
สมานฉันท์สร้างไทยให้เทียมเขา
สวมหมวกเถิดจะสำรวยสวยไม่เบา
สนองเค้าท่านผู้นำกล่าวคำชวน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 21:59

เรื่องขายก๋วยเตี๋ยว เป็นนโยบายของจอมพล ป. ที่เห็นความสำคัญของการค้าขาย เมื่อในประกาศอีกข้อหนึ่งได้สนับสนุนให้คนไทยเลี้ยงหมู ปลูกผัก เพาะถั่วงอก ก็ควรขายก๋วยเตี๋ยวเสียให้ครบวงจร เพราะก๋วยเตี๋ยวมีรสอร่อย มีทั้งหมูและผักและถั่วงอกอยู่ในนั้น จึงมีนโยบายทำหนังสือเวียนแจกไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและครูใหญ่ทุกโรงเรียนขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ และให้กรมประชาสงเคราะห์พิมพ์คู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวออกแจกจ่าย สมัยนั้นข้าราชการที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งหลายจึงมีหน้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐด้วยดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 03 ก.ย. 10, 22:22

บางทีนโยบายชาตินิยมของท่าน ก็มองข้ามอะไรไปบ้าง  ว่าก๋วยเตี๋ยวนั้นเป็นอาหารจีน  เช่นเดียวกับการเลี้ยงหมู   อาหารไทยและเนื้อสัตว์ของไทยๆเช่นปลา  (หรือจะรวมไก่ด้วยก็ได้) ยังมีให้กินได้อีกแยะ 
บันทึกการเข้า
pa15
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 06:34

มารายงานตัวเข้าเรียน  เรื่องการกินหมาก ที่จำความได้นะค่ะ ตากับยาย ไม่ปลื้มในเรื่องนี้เท่าไหร่ค่ะ จะบ่นทุกครั้งที่เล่าถึงเรื่องนี้ เพราะท่านโตมากับการกินหมาก  แต่คุณปู่คุณย่ากลับนิยมชมชอบค่ะ หันมาสูบบุหรี สูปไปป์ และใช้ของฝรั่งค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 07:12

เรื่องให้ข้าราชการขายก๋วยเคี๋ยวนี้  ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับสนองนโยบายของท่านผู้นำด้วยการจัดก๋วยเตี๋ยวไปขายที่กระทรวงศึกษาธิการ  ปรากฏว่าขายดีมากแต่ไม่ได้เงินค่าก๋วยเตี๋ยว  เพราะลูกค้าของท่านซึ่งล้วนเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการต่างก็มาช่วยรับประทานก๋วยเตี๋ยวของท่านอธิบดีโดยไม่จ่ายสตางค์  เพราะถือกันว่าเป็นการช่วยท่านอธิบดีปฏิบัติราชการจะได้ไม่ต้องหอบข้าวของกลับบ้าน 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 08:27

ขอโทษครับ มีเรื่องแทรกนิดนึง
คือสถาปัตยกรรมจอมพลป.นี่ถูกทุบไปเกือบหมด จนคนเกิดเสียดายขึ้นมาเหมือนกัน ตามข่าวครับ


ชมรมอนุรักษ์ลพบุรีโวย เอกชนทุบโรงหนังโบราณ ร้องพ่อเมืองจี้รับเหมาระงับ 
 
ลพบุรี:นายภูธร ภูมะทน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยนายจันทร์ บัวสนธ์ อดีตประธานชมรมฯ นายโรจน์ ดุลยากร และกรรมการบริหารชมรมฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้รับหนังสือแทน เพื่อ ขอให้ยับยั้งการก่อสร้างอาคารใหม่ของเอกชนด้านหลังโรงภาพยนตร์ทหารบก เนื่องจากโรงภาพยนตร์ทหารบกมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นศิลปกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 อีกทั้งยังเป็นรมณียสถานของเมืองลพบุรีรวมทั้งใช้ประโยชน์เป็นที่ประชุมสภาหากเกิดสงครามโลกและจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงมาที่ลพบุรี

ทั้งนี้อาคารโรงภาพยนตร์ทหารบกมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัย คือ สถาปัตยกรรมแบบอาร์ต เต โค ที่หาดูได้ยากในประเทศไทย และเป็นสถาปัตยกรรมโรงมหรสพที่ทันสมัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยรองจากโรงหนังเฉลิมกรุง มีอายุนานกว่า 70 ปี ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ดูแลและให้แก่เอกชนเช่า แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการทุบอาคารที่เป็นส่วนประกอบของโรงภาพยนตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้หลังจากที่มีการเข้าเช่าพื้นที่ของทางเอกชนมานานกว่า 10ปีได้มีการทุบทำลายโบราณวัตถุต่างๆของอาคารโรงหนังทหารบกแห่งนี้ไปแล้วหลายส่วนจนทำให้ชาวบ้านเริ่มไม่พอใจและได้ร้องเรียนส่วนราชการและผู้ว่าฯหลายสมัย แต่ก็ไม่มีใครดำเนินการแต่อย่างใด และหากครั้งนี้ยังไม่มีการดำเนินการอีกทางชมรมอนุรักษ์จะเข้าร้องเรียนที่กรุงเทพฯ ต่อไป

"ทางราชการผู้ครอบครองควรมีนโยบายอนุรักษ์และดูแลรักษาอาคารสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามให้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัด ไม่ควรอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารใดๆ ขึ้นใหม่แทนพื้นที่ที่เป็นส่วนประกอบของโรงภาพยนตร์ทหารบก แต่หากว่าไม่สามารถหยุดยั้งการก่อสร้างใหม่ในส่วนนี้ได้ สมควรให้มีการออกแบบอาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่ให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ทหารบก"นายภูธร กล่าว

 ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผวจ.ลพบุรี เปิดเผยว่า หลังได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ตนเรียนว่าเพิ่งมาดำรงตำแหน่งเมื่อตุลาคมปีที่แล้วที่ผ่านมา ยังไม่ทราบว่า จ.ลพบุรี มีสิ่งสำคัญมากน้อยเพียงใด แต่จะขอรับไว้และจะนำไปพิจารณาเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือโดยเร็ว ซึ่งในขั้นต้นจะ ไปเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้หยุดการก่อสร้างจนกว่าจะดำเนินการเรียบร้อยเพื่อไม่ให้สถาปัตยกรรมดังกล่าวได้สูญเสียไป คากว่าภายใน 1 เดือนก็จะทราบผล





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 10:18

เอาบทความที่เคยเขียนในเว็บวิชาการ มาลงให้อ่าน   แล้วจะมาขยายทีหลัง

ยุคไม่ขำ..วัธนธัมไทย
เทาชมพู

      ออกจากบ้านไปไหนมาไหนต้องสวมหมวก ...ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยต้องมาขายก๋วยเตี๋ยวกัน เพราะเป็นนโยบายระดับชาติ ...ผู้ชายผู้หญิงต้องเปลี่ยนชื่อให้สมกับเพศของตน ชื่อพ่อแม่ตั้งมาใช้ไม่ได้ ...คนไทยถูกห้ามกินหมาก ...ควรเลี้ยงไก่ ปลูกผักในบ้าน ...พูดกันให้ใช้คำว่า "ฉัน" "ท่าน" และลงท้ายว่า "จ้ะ" ไม่ใช่ "คุณ" "ผม" "ฉัน" หรือ "ครับ" และ "ค่ะ"
             เคยอ่านพบเรื่องนี้แล้วขำกลิ้ง มารู้ทีหลังว่าคนสมัยนั้นนอกจากไม่ขำยังถือเป็นเรื่องซีเรียส เพราะเป็นยุครัฐนิยม หรือยุค "วัธนธัม" เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนต้องปฏิบัติตามนโยบายของท่านผู้นำอย่างเคร่งครัด



จอมพล ป. ประสงค์จะปลูกฝังความรักชาติและให้คนไทยสมานสามัคคี มองเห็นความสำคัญของชาติไทย ตลอดจนทำให้ประเทศมีความเจริญเช่นเดียวกับประเทศอารยะทั้งหลายทางตะวันตก จึงออกประกาศมา ๑๒ ฉบับ เนื้อความเป็นยังไงขอไม่เอามาลงเพราะยาวมาก แต่ในจำนวนนี้มีหลายเรื่องที่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของคนไทย เพราะมันเข้ามากำกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันกันเลยทีเดียว

เรื่องแรกคือเริ่มต้นด้วยการชักชวนให้ชายหญิงแต่งกายให้ดีมีระเบียบแบบสากล ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนมานุ่งผ้านุ่งหรือกระโปรง ผู้ชายนุ่งกางเกงแบบฝรั่ง ทุกคนควรสวมรองเท้าและไม่กินหมากเพื่อจะได้ไม่บ้วนน้ำหมากเลอะเทอะ ออกจากบ้านต้องสวมหมวก แต่เมื่อไม่ได้ผลเพราะประชาชนไทยไม่ชิน รัฐก็มีคำสั่งให้ข้าราชการทุกคนสวมหมวก แม้แต่นักเรียนก็มีหมวกเป็นส่วนประกอบเครื่องแบบ ส่วนชาวบ้านถ้าจะไปติดต่อราชการต้องสวมหมวก ในที่สุดก็กลายเป็นว่าทุกคนออกจากบ้านต้องสวมหมวก ไม่กินหมาก ไม่งั้นตำรวจจะมาเตือนได้ง่ายๆ ส่วนจะเป็นหมวกอะไรแบบไหนรัฐไม่ว่า คุณยายจะขอยืมหมวกกะโล่ของคุณตามาสวมก็ไม่เป็นไร คุณตาหาหมวกไม่ได้จะยืมหมวกเด็กนักเรียนข้างบ้านมาสวมแก้ขัดตอนออกจากบ้าน ก็ไม่มีใครว่าอีกเหมือนกัน

อีกเรื่องคือการกำหนดชื่อคนไทยเสียใหม่ เพราะรัฐเห็นว่าชื่อคนไทยแต่เดิมไม่มีระเบียบ เป็นชื่อไม่ไพเราะก็มี และชื่อไม่แบ่งเพศเป็นหญิงชายก็มาก จึงมีประกาศมากำหนดเสียใหม่ว่าผู้หญิงควรชื่อแบบไหน ผู้ชายควรชื่อแบบไหน ในประกาศบอกไว้ละเอียดเช่นชื่อผู้หญิงควรมีความหมายถึงความสวยงาม เครื่องประดับหรือดอกไม้ ส่วนผู้ชายก็ควรชื่ออะไรที่เข้มแข็งเช่นแปลว่าอาวุธ ทำให้เกิดอลหม่านล้านเจ็ดในหมู่ผู้มีชื่อไม่คล้อยตามเพศมาตั้งแต่เกิดเพราะพ่อแม่ตั้งให้แบบนั้น
อย่างนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งชื่อนายประหยัดศรี ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายประหยัด ศ. สุภาพสตรีผู้หนึ่งชื่อสมัย ก็ต้องเติมคำว่าสวาทเข้าไปเป็นสมัยสวาท ขนาดนางสาวไทยชื่อเรียม ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเรียมรมย์ แม้แต่สมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ก็ทรงได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนพระนามเสียใหม่เพราะพระนามเดิมฟังเป็นเพศชาย ทำให้กริ้ว ตรัสตอบมาว่า " ชื่อของฉัน ทูลกระหม่อม (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชชนก) พระราชทานให้ ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย"

           ส่วนเรื่องขายก๋วยเตี๋ยว เป็นนโยบายของจอมพล ป. ที่เห็นความสำคัญของการค้าขาย เมื่อในประกาศอีกข้อหนึ่งได้สนับสนุนให้คนไทยเลี้ยงหมู ปลูกผัก เพาะถั่วงอก ก็ควรขายก๋วยเตี๋ยวเสียให้ครบวงจร เพราะก๋วยเตี๋ยวมีรสอร่อย มีทั้งหมูและผักและถั่วงอกอยู่ในนั้น จึงมีนโยบายทำหนังสือเวียนแจกไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและครูใหญ่ทุกโรงเรียนขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ และให้กรมประชาสงเคราะห์พิมพ์คู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวออกแจกจ่าย สมัยนั้นข้าราชการที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งหลายจึงมีหน้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐด้วยดี

     อีกเรื่องหนึ่งที่มีผลกระทบหนักต่อครูมากกว่าอาชีพอื่น คือจอมพล ป. ริเริ่มให้ใช้ตัวสะกดแบบใหม่ในบทเรียนภาษาไทย
ตัดตัวอักษรบางตัวที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกไป เช่น ฆ ฌ ญ ฒ ศ และ รร อย่างวัฒนธรรม ก็สะกดว่า "วัธนธัม" อ่านออกเสียงอย่างไรก็สะกดตามนั้น อย่างคำว่า เสริม ก็ให้เขียน เสิม หญิง เขียนว่า หยิง และกำหนดคำสรรพนามให้เรียกกัน เพียง "ฉัน" และ "ท่าน" ลงท้ายว่า "จ้ะ" นอกจากนี้ยังมีคำติดปากอีกคือ "ขอโทษ " และ "ขอบใจ"
           ถ้าเกิดในยุคนั้น ดิฉันจะถามคุณจ้อว่าได้รับบทความที่ส่งไปหรือยัง ก็ต้องถามว่า "ท่านได้รับบทความของฉันหรือยังจ๊ะ?" และคุณจ้อก็จะต้องตอบว่า "ฉันได้รับบทความของท่านแล้วจ้ะ ขอบใจ" หรือไม่ก็ "ขอโทษ ฉันได้รับแล้วแต่ยังไม่ได้ตอบท่านจ้ะ" ถ้าทนพูดกันไหวก็พูดกันอย่างนี้ต่อไป ถ้าทนไม่ไหวก็ต้องเลิกพูดกัน นักประพันธ์หลายคนอย่างยาขอบ และมาลัย ชูพินิจ เลิกเขียนนิยายในช่วงนั้นไปเลยเพราะไม่อาจทนเขียนให้พระเอกพูดกับนางเอกว่า  "ฉันรักท่านจ้ะ"


           อีกเรื่องที่ว่าจะไม่ขำแล้วก็อดขำไม่ได้ คือพอถึงเวลาชักธงชาติขึ้นเสาทุกคนจะต้องหยุดยืนเคารพธงชาติ แต่เคร่งครัดมากกว่าตอนนี้ ขนาดหมอขึ้นเยี่ยมคนไข้ช่วงเช้า ก็ต้องหยุดยืนตรงอยู่ข้างเตียง คนไข้นอนอยู่บนเตียงถ้าลุกไหวก็ต้องลุกขึ้นยืนบนเตียง จนธงชาติขึ้นสู่เสาเรียบร้อยถึงจะนอนลงต่อไปได้

     เมื่อหมดยุค "วัธนธัม" เพราะเปลี่ยนตัวผู้นำ คนไทยก็ถอดหมวก คนแก่คนเฒ่ากลับมานุ่งโจงกระเบนกินหมาก ผู้คนพูดจากันแบบเดิม หันมาเรียนหนังสือภาษาไทยและสะกดตัวกันอย่างเดิม เหลือเรื่องนี้ไว้เป็นตำนานเท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 13:34

สรุปใจความย่อของประกาศรัฐนิยมทั้งสิบสองฉบับ ผมจะว่าไปเรื่อยๆนะครับ ท่านอยากจะแทรกอะไรก็เชิญ

รัฐนิยมฉบับที่ 1 เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามที่เรียกขานประชาชนว่าคนไทย ชื่อประเทศก็ควรเรียกว่าประเทศไทย  และติดๆกันนั้นก็มีประกาศรัฐนิยมออกมาอีก ฉบับที่ 3 เรื่องการเรียกคนในประเทศว่า “คนไทย” แม้มีเชื้อสายอื่นก็ให้ถือว่ามีสัญชาติไทย มิให้แบ่งแยก เป็นความต่อเนื่องจากรัฐนิยมแบบแรก

เรื่องนี้มีผู้วิจารณ์ไปแล้วอย่างกว้างขวางทุกยุคทุกสมัย แต่ไหนแต่ไรมาแผ่นดินที่เป็นของคนไทยนี้ มีชนชาติอื่นอยู่ร่วมอาศัยด้วยเป็นอันมาก ทั้งลาว เขมร และมลายู ช่วงต่อมายังมีจีนอีก ดินแดนตรงนี้คนไทยจึงเรียกว่าสยาม อันหมายถึงดินแดนที่มีคนหลายเชื้อชาติคล้ายกันมาอยู่ร่วมกัน (แทบทุกประเทศทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้) ชื่อสยามก็เหมาะสมอยู่ แต่จอมพลป.ท่านจะเอาอย่างอาณาจักรไรซ์ที่3ของฮิตเลอร์ ที่รวมคนทุกเชื้อชาติที่ใช้ภาษาที่มีรากฐานเยอรมันมาไว้ใต้ธงนาซีเดียวกัน เมื่อประกาศว่าสยามเปลี่ยนเป็นไทยแล้ว พวกที่เรียกตนเองเป็นอื่นเมื่ออยู่ในแผ่นดินนี้ก็ให้เรียกคนไทยด้วย นโยบายกลืนชาตินี้จะว่าดีก็ดี เพราะจุดที่ดีที่สุดคือขจัดการแบ่งแยกยกตนข่มท่าน ขีดวงความเป็นเจ้าของประเทศไว้แต่ชนกลุ่มเดียว ส่วนที่ไม่ดีมันงอกหางตอนหลังที่ไปยัดเยียดวัธนธัมไทยให้กับผู้อื่น พวกลาวพวนลาวโซ่งที่กลายเป็นไทยพวนไทยโซ่งยังไม่สู้กระไร แต่พวกแขกมลายูที่กลายเป็นไทยมุสลิมไปแล้วถึงกับกระอัก พวกเขมรและลาวในดินแดนที่เอากลับคืนมาจากฝรั่งเศสได้ใหม่ๆในยุคนั้นถึงกับต้องอพยพเผ่นหนีวัธนธัมไทยแบบไปขอตายดาบหน้า

พม่าก็เคยเอาอย่างไทยนี่แหละ พอได้เอกราชก็เรียกประเทศของตนว่าสหภาพพม่า แต่คนไทยใหญ่ มอญ คะฉิ่น ยักไข่อะไรทั้งหมดนี่ไม่ค่อยจะพอใจ ในที่สุดก็ต้องมาเปลี่ยนป็นเมียนมาร์ ในความหมายคล้ายๆกับสยาม เมื่อสักสิบปีนี้เอง


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 13:39

ขอวกกลับลำ เรื่องสถาปัตยกรรมสมัยจอมพล ป. อีกครั้งหนึ่ง ได้พบแบบร่าง "อนุสาวรีย์ไทย" ซึ่งเป็นการออกแบบในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๒ ตามนโยบายเมืองไทยสมัยใหม่ ก่อนภาวะสงครามโดยคิดจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของประเทศและของโลกเลยทีเดียว เป็นอาคารยอดแหลม เน้นสถาปัตยกกรมไทยสมัยใหม่ ตั้งไว้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ ชั้นบนทำเป็นกระโจมไฟคอยส่องเรือรบและเรือสินค้า ภายในอาคารใช้พื้นที่สุงสุดคือ กะให้เป็นโรงแรมขนาดหรู และห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ห้องลีลาศ ไปในคราวเดียวกัน แต่อนิจจาการก่อสร้างไม่สำเร็จเนื่องจากเกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียก่อน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 14:19

^
แบบที่คุรหนุ่มสยามนำมาให้ดูนี้ผิดไปจากรสนิยมของท่านผู้นำในช่วงสมัยแรก เปรียบเทียบได้กับสถาปัตยกรรมประเภทLandmarkที่ออกแบบและได้สร้างไปแล้ว อีกอย่างหนึ่ง อัตราส่วน(scale)ของอาคาร ดูจากขนาดช่องประตูหน้าต่าง ฯลฯ ไม่น่าจะเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สามารถจะบรรจุโรงแรมขนาดหรู และห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ห้องลีลาศ ไปในคราวเดียวกันได้

อย่างไรก็ดีสถานที่ตากอากาศขนาดหรู และห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยงและห้องลีลาศในคราวเดียวกัน ท่านได้ไปสร้างไว้ที่บางปู ที่ยื่นออกไปในทะเลโคลน ตั้งชื่อว่าสถานฟักฟื้นกองทัพบก สะพานสุขตา ศาลาสุขใจไงครับ

แบบนี้อาจจะเป็นแบบร่าง และท่านไม่เอากระมัง จึงไม่ได้สร้าง




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 14:32

ตอนที่กล่าวถึงการบูรณะวิหารพระศรีสรรเพชร ผมค้นหารูปนี้อยู่นาน กลัวไม่ทันการเลยลงรูปอื่นไปก่อน บัดนี้หาเจอแล้ว จึงเอามาลงให้ดูว่านี่คือโบราณสถานก่อนที่จอมพลป.จะบูรณะให้เป็นสิ่งที่ก่อสร้างที่ผุดขึ้นใหม่ในยุคสมัยของท่าน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 15:08

งั้นผมให้อาจารย์ NAVARAT.C ดูภาพลายเส้นของมูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส บันทึกไว้ เป็นภาพพวิหารพระมงคลบพิตร ดูว่ารกชัฎขนาดไหน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 15:40

ผมจะเปรียบเทียบให้ชมครับ ว่าหลังจากยุคท่านผู้นำแล้ว การอนุรักษ์โบราณสถานเขาทำกันอย่างไร

ในอยุธยาเอง เป็นดังนี้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 15:41

ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อีกหนึ่งมรดกโลกของไทย เขาทำอย่างนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 04 ก.ย. 10, 15:45

อนุรักษ์มิได้แปลว่าแตะต้องไม่ได้ การอนุรักษ์ก็เพื่อให้กลับมาสนองความต้องการของมนุษย์ต่อได้ แต่อาจจะเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยของอาคารไปบ้างก็ย่อมได้

นี่เป็นวัดไชยวัฒนารามก่อนการอนุรักษ์
และหลังจากทำการอนุรักษ์แล้ว



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง