เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 28
  พิมพ์  
อ่าน: 863831 รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 14:57



ห้องชั้นล่างที่เห็นคือห้องปี 1  เรียกว่าห้องเลขที่ 10   อยู่ติดถนนด้านหลังหอประชุม
ตอนเข้าเรียนปี 1  เป็นยุคห้ามนิสิตนักศึกษายุ่งกับการเมือง  จอมพลประภาสนั่งเก้าอี้อธิการบดีควบไปกับรวม.กลาโหมและรมว.มหาดไทย  ในจุฬา  วิศวะยกพวกตีกับคณะอื่นๆ เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ยืดเยื้อกันมาหลายปีแล้ว   ไม่เห็นมีคณาจารย์ห้ามปรามได้  ก่อนหน้าดิฉันเข้า  ก็มีตำนานวิศวะยกพวกตีกับรัฐศาสตร์  ทำให้สองคณะนี้มองหน้ากันไม่ติด  และหลายปีก่อนหน้า วิศวฯก็ยกพวกมาตีกับอักษรศาสตร์  เห็นเขาลือกันว่าอักษรชนะ  ที่ว่าชนะคืออาจารย์มาห้ามให้เลิกแล้วกันไป

ศึกสีเทา-เลือดหมูเรื่องนี้ดิฉันยังนึกไม่ออกว่าเกิดได้ยังไง วิศวะ 4 ปีรวมแล้วสี่ห้าร้อยคน  ทั้งคณะอักษร มีผู้ชายเรียนรวมสี่ปีอยู่ 20 คนเป็นอย่างมาก  บางยุคก็ไม่ถึงด้วยซ้ำ  เวลาตั้งทีมฟุตบอลกันเพื่อแข่งกีฬา พี่ประธานกีฬาบ่นว่าหาตัวนักกีฬาทั้งง่ายทั้งยาก  ที่ง่ายมากคือไม่ต้องคัดเลือก  เกณฑ์กันมาเลย  ที่ยากคือบางปีขนาดไม่เกี่ยงแล้ว ก็ยังหาได้ไม่ครบ   สมัยดิฉันอยู่ปี 1  พี่ประธานกีฬาชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ตัวผอมนิดเดียว
พี่ผู้ชายอักษรยุคโน้นมักเป็นผู้ชายเก่งเรียนหาตัวจับยาก   ถ้าไม่เก่งจริงไม่ติดคณะนี้ เพราะพวกผู้หญิงมักผูกขาด  หนุ่มที่แหวกเข้ามาได้จึงเป็นหนอนหนังสือเก่งฉกาจเป็นส่วนใหญ่  และส่วนใหญ่ก็หุ่นบางระหงหนักไม่เกิน 50 กิโล   อย่าว่าแต่ตีกับใครเลย  แค่วิศวะเอาพัดลมมาตั้ง ก็แทบปลิวตามลม

ย้อนกลับมาเรื่องปี 1   กำลังสอบกลางปี  เคร่งเครียดกับข้อสอบซึ่งเป็นอัตนัยล้วนๆ ไม่มีปรนัยติ๊กอย่างเดียวอย่างสมัยนี้     วิศวะเลือกวันดี ตีกับคณะวิทยาศาสตร์วันนั้นพอดี   ได้ยินเสียงโห่ร้องกับเห็นนิสิตชายแต่งชุดสีน้ำเงินซึ่งเป็นฟอร์มเฉพาะคณะวิศวะฯ  เดินกันเกลื่อนเต็มถนนหน้าคณะเรื่อยมาจนถนนหลังหอประชุมติดกับห้องเรียน   
เล่นเอาใจสั่นระทึก ไม่มีสมาธิจะตอบข้อสอบ    เลยนึกแช่งพวกนี้อยู่ในใจ สาปส่งว่าชาตินี้ไม่ขอมีแฟนวิศวะเด็ดขาด     ด้วยแรงอธิษฐานซึ่งเทวดามักไม่ฟัง  หรือรับฟังเพียงครึ่งเดียว    ก็....ไม่ต้องเล่าต่อนะคะ

คุณเพ็ญชมพู  ฉันท์ของจิตร  ภูมิศักดิ์เพราะมากค่ะ   สมเป็นหนุ่มอักษรฯ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:15


หลายปีก่อนหน้า วิศวฯก็ยกพวกมาตีกับอักษรศาสตร์  เห็นเขาลือกันว่าอักษรชนะ  ที่ว่าชนะคืออาจารย์มาห้ามให้เลิกแล้วกันไป

ศึกสีเทา-เลือดหมูเรื่องนี้ดิฉันยังนึกไม่ออกว่าเกิดได้ยังไง วิศวะ 4 ปีรวมแล้วสี่ห้าร้อยคน  ทั้งคณะอักษร มีผู้ชายเรียนรวมสี่ปีอยู่ 20 คนเป็นอย่างมาก 

เรื่องศึกสีเทา-เลือดหมูไม่เคยได้ยิน

เคยได้ยินแต่สีเลือดหมูโยนบกสีเทาในหอประชุมจุฬาฯ

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:26



ตำนานหนุ่มวิศวะสาวอักษรน่าจะเกิดพร้อมๆกับการเกิดของคณะทั้งสอง    

แม่เล่าว่าตอนเข้าเรียนที่ตึกนี้ เรียนกัน 3 คณะในตึกเดียว  ก็มีหนุ่มวิศวะมาเมียงมองสาวๆอยู่เป็นประจำ  แต่ผู้ชายสมัยรัชกาลที่ 7 ไม่กล้าพูดกับผู้หญิงก่อนเป็นอันขาด     แม้แต่เพื่อนนิสิตชายอักษรศาสตร์ของแม่เอง กว่าจะกล้าพูดกับแม่ก็ต่อเมื่ออายุมาก มีครอบครัวลูกเต้าโตๆกันไปหมดแล้ว ย้อนกลับมามีตติ้งนิสิตเก่ากัน   ถึงกล้าบอกแม่ว่า
"ผมอยากพูดกับคุณจะตาย   แต่กลัวคุณไม่พูดด้วย"

เอารูปนี้มาให้ดู  ตึกซ้ายคือตึกเทวาลัย ส่วนตึกขวาคือตึกหอสมุด   เหมือนกันราวกับฝาแฝด แต่เทวาลัยมีรายละเอียดที่ประณีตกว่า
ตรงกลางเป็นทางเดินยาวเชื่อมระหว่างสองตึก     ตรงนี้แหละ เป็นเส้นทางมหาภัยที่วิศวะยึดหัวหาดไม่ยอมปล่อย  เขาจะมายืนพิงลูกกรงสองฟากฝั่ง รอเวลาหยุดเที่ยงซึ่งสาวๆอักษร เดินผ่านไปทะลุตึกหอสมุด เพื่อลงบันไดไปกินอาหารกลางวันที่สโมสรอาจารย์ตรงมุมรั้วด้านถนนอังรีดูนังต์   ที่เรียกว่าสโมสรอาจารย์เพราะอาจารย์รับประทานกันที่นี่ แต่แยกคนละส่วนกับนิสิตซึ่งเหมือนกับโรงอาหารเล็กๆธรรมดาๆ
พวกเราก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินผ่านกลางไประหว่างวิศวะ  ที่ยืนจ้องมองมาตลอดเส้นทาง    คนไหนไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นนางงามเดินบนเวทีประกวด   ก็ลงบันไดพญานาคด้านข้างด้านตึก  เดินฝ่าแดดไปกินที่โรงอาหาร  ร้อนหน่อยแต่สบายใจกว่า
ตอนดิฉันเข้าปี 1  กระโปรงพลีตจีบรอบตัวกำลังฮิท   ที่สำคัญคือเป็นผ้าแพรไนลอนอัดจีบถาวรมีซับใน    แพรพวกนี้เนื้อบางเบา โดนลมไม่ได้มันจะกลายเป็นร่มชูชีพ    ระเบียงยาวนั้นก็ลมโกรกแรงเหลือทน     ร้อนถึงศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ คณบดี ซึ่งเป็นเทพบิดรของเทวาลัย  อดห่วงลูกสาวหน้าใหม่ๆไม่ได้  ตอนปฐมนิเทศนิสิตใหม่ หลังจากให้โอวาทแล้วท่านก็เตือนว่าอย่าสวมกระโปรงพลีตนะเธอ  เพราะลมมันแรง   พัดทีเดียวกระโปรงพลีตปลิวครอบหัว...
เลยอดนุ่งพลีตไปตลอดสี่ปี

กำลังจะส่งข้อความ  เห็นข้อความของคุณเพ็ญชมพูเข้าเสียก่อน เลยมาเติม

เรื่องตีกันระหว่างวิศวะกับอักษร มีจริงค่ะ  คนนอกคณะอาจไม่รู้    เรื่องโยนบกนั้นหนุุ่มสีเทาชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ โดนเข้า เพราะเป็นสาราณียกรหนังสือที่มีเนื้อหารุนแรงต่อศาสนา และดูถูกเพศแม่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:50



สนามหญ้าด้านนี้คนละฝั่งกับรูปก่อน  เป็นตึกอักษรศาสตร์ฝั่งตะวันตก  ด้านหลังหอประชุม

เทวาลัยที่เจิดจ้าด้วยแสงไฟในยามค่ำคืน   เป็นสิ่งที่ดิฉันได้เห็นปีละครั้ง เมื่อมีงานคืนสู่เหย้า

บางปีเขาไปจัดกันในโรงแรม แล้วแต่นโยบายของสมาคมนิสิตเก่าฯ    แต่ส่วนใหญ่จัดที่สนามหญ้าด้านตะวันตก เพื่อระลึกความหลัง  ถึงเวลาก็แต่งสีชมพู หรือไม่ก็ชมพูเทากันพร้อมเพรียงมาร่วมงาน  ตั้งโต๊ะจีนกันที่ลานถนนหลังหอประชุม  ส่วนสนามหญ้าตั้งเวทีการแสดงที่แสดงกันโดยบรรดานิสิตเก่า   
ส่วนใหญ่เป็นรุ่นคุณป้าคุณน้ายังสาว ที่ยังมีแรงเต้นโชว์กันอยู่   เราไม่ค่อยจะจ้างโชว์จากภายนอก แต่ขึ้นเวทีกันเอง
ตัวแสดงหาได้ง่ายเพราะทั้งคณะมีแต่ผู้หญิง จะรำอวยพร เซิ้ง ดิสโก้  หรือคาบาเร่ต์ ก็สบายมาก  แต่ถ้าจะมีโชว์ผู้ชายล้วนละก็หายาก  ดูเหมือนไม่เคยมี    เพราะนิสิตเก่าชายที่แก่ๆ ไม่ค่อยจะมาร่วมงาน   คนไหนมาก็จะกลายเป็นเดือนในหมู่ดาว  หาเพื่อนผู้ชายด้วยกันไม่ได้   เลยเขินๆไม่ค่อยมากันเป็นส่วนใหญ่
พวกนิสิตเก่าพอกลับคืนสู่เหย้าก็กลับกระชุ่มกระชวย กลายเป็นเด็กกันอีกพักหนึ่ง   ขึ้นไปวี๊ดบู้มกันบนเวทีได้ไม่ต้องอายใคร   คนเห็นมีแต่พี่ๆน้องๆสีเทาด้วยกันทั้งนั้น   เห็นอาจารย์ท่านมาร่วมงานก็วิ่งไปไหว้อาจารย์ บอกชื่อบอกรุ่นทั้งๆก็ทราบว่าท่านคงจำไม่ไหว

พิธีกรประจำก็คือสาวอักษรที่ไปเป็นดาราในวงบันเทิง   ที่ยืนพื้นก็มีป้าจี๊ อัจฉราพรรณ    นีรนุช ปัทมสูตร   เมื่อก่อนมีนุสบามาเป็นพิธีกรด้วย  หลังๆไม่ค่อยเห็นเธอ
ดิฉันมีรูปเพื่อนๆที่ขึ้นเวทีไปเต้นโชว์ด้วย   แต่จะเอามาลงในเว็บ  ก็เกรงว่าจะถูกฆ่าเอาง่ายๆ     เชิญดูรูปตึกอย่างเดียวดีกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:51


เรื่องโยนบกนั้นหนุุ่มสีเทาชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ โดนเข้า เพราะเป็นสาราณียกรหนังสือที่มีเนื้อหารุนแรงต่อศาสนา และความเป็นแม่


ถ้าแม้นใคร่ใจที่จะมีลูก
ฤทัยผูกรักล้ำทั้งพร่ำสอน
อุตส่าห์เลี้ยงเอี้ยงกล่อมถนอมนอน
ขอกราบกรนั่นแหละแม่ที่แท้จริง

แต่เธอคลอดทอดทิ้งแล้ววิ่งหนี
ไม่รู้ชี้เป็นตายหรือชายหญิง
ไม่แลเหลียวเจียวหลังเพราะชังชิง
เธอคือหญิงรับจ้างแท้...ใช่แม่คน

จิตร  ภูมิศักดิ์
หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับปิยมหาราชานุสรณ์ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖

 ยิงฟันยิ้ม

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 15:58

กลอนบทนี้แหละค่ะ   แล้วก็มีเรื่องศาสนาด้วย
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 16:01


ที่ดินตรงนั้น ปัจจุบันเป็นของธนาคาร
แต่ผมอาจจะใช้ภาษาผิดไป คงเป็นอาถรรพ์ก็ได้
ครั้งสุดท้ายก่อนเป็นของธนาคาร

ผมไม่แน่ใจว่า มิตร ชัยบัญชา ซื้อไปแล้ว หรือเพียงตกลง
ก็มีอันเป็นไปเสียก่อน ก่อนหน้านั้นก็เป็นเรื่องเหมือนๆกัน

แต่ภาพที่เห็นชัดๆ บ้านตรงนั้นก็หน้าสนใจ
ใครทราบ ช่วยผมทั้งสองเรื่องด้วย ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 16:09

ปัจจุบันที่ดินที่คุณ puyum พูดถึงเป็นที่ตั้งของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เดิมมิตร ชัยบัญชา ซื้อที่เอาไว้เพื่อเตรียมทำเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์ แต่ต้องชะงักเมื่อเค้าประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะถ่ายทำภาพยนตร์ช่วงปี ๒๕๑๓ ต่อมาที่ดินก็ตกเป็นของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม เข้ามาบริหารจัดการ และได้ปรับปรุงเป็นหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในเวลาต่อมา





 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 16:15

ได้ยินมาอย่างที่คุณเพ็ญชมพูเล่า ค่ะ
ได้รูปหายากมาจากเว็บอักษรศาสตร์   นี่คือรูปอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๑๔  รับพระราชทานปริญญารุ่นแรก ๒๔๙๓
บัณฑิตหญิงคนที่ ๔ จากซ้ายคือศาสตราจารย์คุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย  มารดาของดร.สุรเกียรติ์   


บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 16:24

เรียนท่านประธานที่เคารพ อดีตหนุ่มวิศว ขอใช้สิทธิเนื่องจากถูกพาดพิง นะขอรับ
ผมเข้าจุฬามาได้ยังไงก็ไม่รู้ ยิ่งเข้าวิศวได้ยิ่งงงหนัก ยิ่งไม่ตกยิ่งงงที่สุด เดิมผมไม่เชื่อเรื่องพรหมลิขิตแต่ตอนหลังต้องเชื่อครับ
ตึกวิศว เดิมมีแค่ตึก 1 กับ 2 เป็นตึก 2 ชั้นแบบอังกฤษ ตอนปิดเทอมปี 3 ทางคณะต่อเติมเป็น3 ชั้น แล้วต่อมามีตึก san เป้นตึก2 ชั้นสีเขียวๆอยู่ข้างรั้ว ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า ช่วงที่ผมเรียนตึกอักษรมีการปรับปรุงและมีการสร้างหอสมุดกลาง ตอนผมเข้าปี1 นิสิตใหม่อักษรที่ผมสนใจมากชื่อ บุปผา เธอสวยเหลือเกิน เธอมาแต่เช้ามาแล้วก็นั่งอ่านหนังสืออยู่ตรงบันไดทางขึ้นตึกบันไดแรก เสียดายที่ตอนปีหลังๆไม่ได้เจอเธออีก หลังตึกวิศวมีทางลัดไปตึกรัฐศาสตร์ที่เพิ่งสร้างใหม่ได้
เรื่องกีฬา ผมเคยแฝงกายไปเล่นรักบี้ให้กับคณะอักษร บ้าง สมัยท่านสมภพ เป็นหน.ทีม
เรื่องสาวอักษร เนื่องจากตอนเรียนผมจน กลางวันไม่มีเงินกินข้าว ก็เดินไป่อาศัยน้ำเย็นที่ตึกอักษรลุบท้อง ครั้งหนึ่งผมมีงานจะต้องไปประสานกับสาวอักษรและเป็นสาวอักษรคนแรกเธอชื่อ วิจิตรา ผมงี้สั่นเป็นเจ้าเข้าเลย ที่เหลือเอาไว้เล่าวันหลัง (แต่ผมมีรักแรกพบกับสาวคณะนี้นะครับ ขอบอก) ฮิ อิ
มานิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 16:32

พอโพสต์รูปสาวอักษร ที่คุณมานิตอาจพอจำได้   แต่ไม่รู้ว่ามีสาวอักษรแห่งความหลังของคุณรวมอยู่หรือเปล่า เดาว่าไม่ใช่รุ่นนี้
แถวกลาง คนกลางที่ทำผมสวย โพสท่าเก๋ไก๋ว่าเพื่อน ชื่อสมศรี เสฐียรโกเศศ  เป็นบุตรีพระยาอนุมานราชธน   ต่อมาคืออาจารย์สมศรี สุขุมลนันทน์    แม่เล่าว่าตอนเรียนท่านเล่นละครเป็นจูเลียตของโรมิโอ   เพราะสวยมาก   อาจารย์สมศรีเพิ่งถึงแก่กรรมไปไม่กี่ปีมานี้  คุณรำเพยหลานสาวของท่านก็เป็นชาวเน็ตคนหนึ่งที่ห้องพันทิปคงรู้จักดี
ส่วนแถวบนสุดคนขวามือ คือท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ  พระอาจารย์ในสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ  คุณV_Mee คงรู้จักท่าน    ท่านยังแข็งแรงดีในวัยเก้าสิบกว่า   เดินเหินเองได้ ไม่ต้องนั่งเก้าอี้

กำลังจะโพสต์ อ่านค.ห.ความรักความหลังของคุุณมานิตเข้าเสียก่อน   อย่าลืมมาต่อตำนานรักบนตำหนักเทวาลัยให้ลูกๆหลานๆฟังบ้างนะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 18:04

ขอพาลูกทัวร์เข้าไปห้องเรียนปี 1 ของพวกเรา  ห้องหมายเลข 10 ชั้นล่างปีกซ้ายของเทวาลัย

กระดานดำอมตะประจำห้องอาจจะแขวนอยู่ตั้งแต่สมัยแม่เรียน  หรือตั้งแต่ก่อตั้งคณะ  ออกแบบโอ่อ่ามีกรอบงามตรึงกับผนัง  เหมือนนำมาประดับเป็นส่วนหนึ่งของห้องมาก่อน   แต่ไม้กระดานกลายเป็นสีดำจางซีด หน้าตาดูอิดโรยแก่ชราเต็มทีแล้วเมื่อดิฉันไปเห็นครั้งแรก   เป็นกระดานสองแผ่นซ้อนเหลื่อมกันเล็กน้อย  ชักให้เลื่อนขึ้นลงได้  ถ้าอาจารย์เขียนเต็มแผ่นแล้วก็ชักขึ้นไป ดึงอีกแผ่นเลื่อนลงมาแทน

แต่จะด้วยใครไปทำอะไรก็ไม่รู้กับเสาที่เลื่อนขึ้นลงนี่แหละ จึงเกิดปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่มาร์โคนียังค้นไม่พบ   กระดานแผ่นนี้วันดีคืนดีก็กลายเป็นเสาอากาศรับวิทยุมีเสียงคลื่นโครกครากเข้ามาได้   ครู่เดียวก็หายไป     พวกเราตอนแรกได้ยินก็เลิ่กลั่กกันนึกว่าผีหลอก  หลายๆหนก็ชินกันไปเอง 

ห้องเรียนห้องนี้บรรจุนักเรียนได้ทั้งรุ่น   ตอนเข้าเรียนรับนิสิต 150 คนอาจมีเศษเล็กน้อยสำหรับคนสอบได้คะแนนเท่ากันตอนท้ายๆ เลยต้องรับเข้ามาหมด  มีโต๊ะเก้าอี้ทำด้วยไม้หนาขึงขัง ต่อเป็นโต๊ะมีเท้าแขน  เชื่อมต่อกับแผ่นรองรับแทนพื้นโต๊ะ   เวลายกต้องยกกันไปทั้งชุด  แยกส่วนไม่ได้    จัดเรียงกันข้างละสิบกว่าตัว  แบ่งทางเดินตรงกลาง 

นิสิตทุกคนมีเก้าอี้เฉพาะตัวให้นั่งประจำที่   เรียงกันเป็นลำดับตั้งแต่ก.ไก่ถึงอ.อ่าง  (เพราะไม่มีใครชื่อขึ้นต้นด้วย ฮ.นกฮูก) พอครบเทอมก็กลับใหม่ เอาอ.อ่างขึ้นต้น แล้วเรียงย้อนลงมาถึง ก.ไก่    ที่เรียงแบบนี้มีเหตุผล เดี๋ยวจะเล่าต่อไปค่ะ     


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 18:43

      จุดต่อไปที่พาชมคือบรรยายในห้องเรียนคณะอักษร  ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 นั่งเบียดกันอยู่แบบนี้ละค่ะ   
      รูปนี้น่าจะถ่ายราวๆทศวรรษ 2490s  เพราะทรงผมนิสิตในรูปดัดหยิกเป็นลอน  เป็นแฟชั่นตอนดิฉันเล็กๆ    ตอนดิฉันเข้าเรียนมีทรงเดียวคือปล่อยผมยาว ไม่ดัดเลย ก็เหมือนทรงเดี๋ยวนี้ละค่ะ  แต่นอกจากนิสิตคนละรุ่นแล้ว โต๊ะเก้าอี้ยังชุดเดิม
   ตอนนี้มาเห็นภาพแล้วรู้สึกว่าแออัดยัดเยียด  แต่สมัยเรียนไม่รู้สึก อาจเป็นเพราะนั่งเหมือนๆกันทั้งห้อง    ส่วนพวกผู้ชายนั้นเข้าเรียนใหม่ๆเขาก็นั่งประจำที่ตามอักษรชื่อ  แต่สักพักเขาทนถูกผู้หญิงขนาบซ้ายขวาไม่ได้  จะบิดตัวเหยียดขาก็ไม่สะดวก  เขาเลยใช้อภิสิทธิ์ของความเป็นชาย หนีไปนั่งแถวสุดท้าย เพราะเก้าอี้มีมากกว่าจำนวนนิสิต  แถวท้ายสุดมักจะว่างอยู่แล้ว
   ที่พวกเราต้องนั่งประจำที่  เพราะว่ายุคนั้นมีการเช็คชื่อ  ระเบียบคณะคือต้องมีเวลาเรียนไม่ต่ำกว่า 80% ของยอดรวม   ไม่งั้นหมดสิทธิ์เข้าสอบ   ระเบียบนี้ทำกันเอาจริงเอาจัง  ไม่ใช่ตราไว้โก้ๆ
   หลังจากเข้าเรียนราว 10 นาที ประตูด้านหลังห้องก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาเงียบๆ ถือกระดาษแผ่นใหญ่ที่มีแผนผังที่นั่งนิสิตทุกคนไว้ในมือ  แล้วลงมือจดไล่ตามแต่ละแถวว่าใครมาบ้างไม่มาบ้าง  โดยเช็คจากด้านหลัง ไม่มารบกวนการเรียนของพวกเรา   จำได้ว่ามี 2 คน คนหนึ่งเป็นหัวหน้าแผนกธุรการ   เป็นผู้หญิงที่สวยสง่าดูเป็นผู้ดีสมกับเป็นหม่อมหลวง ราชสกุลอะไรดิฉันไม่เคยถาม เรียกกันว่าคุณหม่อม    ส่วนคนที่สองเป็นผู้ชายร่างท้วมท่าทางเรียบร้อยชื่อคุณยงยุทธหรืออะไรสักอย่างที่จำไม่ได้อีก    เรียกคุณยงยุทธไปก่อนแล้วกัน 
     คุณยงยุทธนี่แหละเป็นตำนานของพวกเรา  โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งชื่อ ชื่อเจ้าตี้   เจ้าตี้เป็นคนเรียนเก่งโดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน   ชอบแวบไปดูหนังที่สยามสแควร์เป็นประจำ    หนักๆเข้าก็จวนแจจะหลุดเส้น 80 % ลงไป คุณยงยุทธก็ไปเตือนว่าคุณครับ ขาดเรียนหลายหนแล้วนะ เดี๋ยวไม่มีสิทธิ์สอบ    เจ้าตี้ก็เสียดายหนัง เลยวางอุบายครั้งต่อไปที่โดดไปดูหนัง ก็ยกเก้าอี้ตัวเองออกไป ไม่ให้เห็นว่าว่างจากแถว กลายเป็นว่าเพื่อนข้างๆมานั่งที่แทนตัวเองไปโดยปริยาย   
       คุณยงยุทธก็เก่งสุดยอด  ร้อยวันพันปีไม่เคยเห็นหน้าพวกเราเพราะเช็คจากด้านหลัง  ยังจำหัวพวกนิสิตได้ทุกคนไม่พลาดว่าหัวไหนนั่งตรงไหน    หัวเจ้าตี้หายไปจากที่นั่ง  มีหัวเพื่อนที่ไม่เหมือนกันมานั่งแทน   คุณยงยุทธก็เช็คได้ว่าเจ้าตี้หายไปอีกแล้ว    เจ้าตี้ก็เลยถูกจับได้อีกครั้ง  ดูเหมือนจะถูกอาจารย์เรียกไปเตือน  กลายเป็นตำนานที่ไม่ลืมกันมาจนทุกวันนี้


บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 19:04

เข้ามาเพิ่มข้อมูลให้กับท่านCrazyhorse
1.กระดานดำที่คณะวิศวใช้เทคฯเดียวกับคณะอักษร แต่ดูว่าจะไม่classic เท่าและขนาดเล็กกว่า
2.สามแยกตรงหน้าตึก 1 เป็นที่สำหรับปี3และ4 ชาวอักษรเขาขนานนามว่า สามแยกปากส....เพราะเดินมาถึงตรงนี้ขาจะแทบขวิด
3.ตึก 2ไม่มีห้องใต้ดิน ตึก 1 มี ผมพบโดยความสอดรุ้สอดเห็น เป็นที่เก็บเอกสารเก่าๆ หนังสือรับน้องใหม่เก่าๆ ผมชอบลงไปอ่าน ปีที่แล้วไปปฐมนิเทศก์ หาไม่เจอแล้วครับ ถามใครก็ไม่มีใครรู้
4.รุ่นผมมีจะตีกับรัฐศาสตร์แต่รุ่นหลังๆเขาว่าตีกับอักษร(แล้วแพ้) และมีตีกับคณะวิทฯด้วย "พวกวิศวนิสสัยไม่ดี" เจ้าแม่จอมบ่นของผมเขาชอบพูด
5.โยนบกมีจริงและก็มีโยนน้ำด้วย
6.ท่าน ม.ร.ว.ดวงใจฯที่ท่านว่าเป็นท่านเดียวกับท่านดวงใจ จิตรพงศ์หรือไม่ครับ
7.รุ่นผมนั้นพวกมีตังเขาต้องไปกิน ทึงร้อน ทึงเย็น ที่โรงอาหารคณะบัญชี  ที่อยู่เลยคณะอักษรออกไป คนขายชื่อคุณสุดา
8.โรงอาหารของจุฬาอยู่หลังตึกจุลจักรพงศ์ จากตึก 2 มีสะพานไม้เล็ก ทาสีขาวๆ ข้ามคูไป ครับผม
9.ตอนหลังๆ ผมขึ้นไปชั้น 2ของตึกอักษรบ่อยๆ ทุกครั้งก็ทำความเคารพท่านผู้มีพระคุณต่อสถาบัน ครับผม
10.โจทก์เก่าผมมีทั้งที่คณะของท่านเพ็ญฯและท่านเทาฯ ครับผม ฮิ ฮิ
มานิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 18 ส.ค. 10, 19:25


2.สามแยกตรงหน้าตึก 1 เป็นที่สำหรับปี3และ4 ชาวอักษรเขาขนานนามว่า สามแยกปากส....เพราะเดินมาถึงตรงนี้ขาจะแทบขวิด

มานิต

รู้จักค่ะ แต่ไม่เคยเดินไปแถวนั้น    พวกอักษรไม่ได้เรียกสามแยกปาก ส..... เขาเรียกสามแยกปาก ห..... ตรงๆเลย
อาจารย์ม.ร.ว.ดวงใจ เดิมอยู่ในราชสกุล จิตรพงศ์ ใช่แล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 28
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง