
ตำนานหนุ่มวิศวะสาวอักษรน่าจะเกิดพร้อมๆกับการเกิดของคณะทั้งสอง
แม่เล่าว่าตอนเข้าเรียนที่ตึกนี้ เรียนกัน 3 คณะในตึกเดียว ก็มีหนุ่มวิศวะมาเมียงมองสาวๆอยู่เป็นประจำ แต่ผู้ชายสมัยรัชกาลที่ 7 ไม่กล้าพูดกับผู้หญิงก่อนเป็นอันขาด แม้แต่เพื่อนนิสิตชายอักษรศาสตร์ของแม่เอง กว่าจะกล้าพูดกับแม่ก็ต่อเมื่ออายุมาก มีครอบครัวลูกเต้าโตๆกันไปหมดแล้ว ย้อนกลับมามีตติ้งนิสิตเก่ากัน ถึงกล้าบอกแม่ว่า
"ผมอยากพูดกับคุณจะตาย แต่กลัวคุณไม่พูดด้วย"
เอารูปนี้มาให้ดู ตึกซ้ายคือตึกเทวาลัย ส่วนตึกขวาคือตึกหอสมุด เหมือนกันราวกับฝาแฝด แต่เทวาลัยมีรายละเอียดที่ประณีตกว่า
ตรงกลางเป็นทางเดินยาวเชื่อมระหว่างสองตึก ตรงนี้แหละ เป็นเส้นทางมหาภัยที่วิศวะยึดหัวหาดไม่ยอมปล่อย เขาจะมายืนพิงลูกกรงสองฟากฝั่ง รอเวลาหยุดเที่ยงซึ่งสาวๆอักษร เดินผ่านไปทะลุตึกหอสมุด เพื่อลงบันไดไปกินอาหารกลางวันที่สโมสรอาจารย์ตรงมุมรั้วด้านถนนอังรีดูนังต์ ที่เรียกว่าสโมสรอาจารย์เพราะอาจารย์รับประทานกันที่นี่ แต่แยกคนละส่วนกับนิสิตซึ่งเหมือนกับโรงอาหารเล็กๆธรรมดาๆ
พวกเราก็ต้องก้มหน้าก้มตาเดินผ่านกลางไประหว่างวิศวะ ที่ยืนจ้องมองมาตลอดเส้นทาง คนไหนไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นนางงามเดินบนเวทีประกวด ก็ลงบันไดพญานาคด้านข้างด้านตึก เดินฝ่าแดดไปกินที่โรงอาหาร ร้อนหน่อยแต่สบายใจกว่า
ตอนดิฉันเข้าปี 1 กระโปรงพลีตจีบรอบตัวกำลังฮิท ที่สำคัญคือเป็นผ้าแพรไนลอนอัดจีบถาวรมีซับใน แพรพวกนี้เนื้อบางเบา โดนลมไม่ได้มันจะกลายเป็นร่มชูชีพ ระเบียงยาวนั้นก็ลมโกรกแรงเหลือทน ร้อนถึงศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ คณบดี ซึ่งเป็นเทพบิดรของเทวาลัย อดห่วงลูกสาวหน้าใหม่ๆไม่ได้ ตอนปฐมนิเทศนิสิตใหม่ หลังจากให้โอวาทแล้วท่านก็เตือนว่าอย่าสวมกระโปรงพลีตนะเธอ เพราะลมมันแรง พัดทีเดียวกระโปรงพลีตปลิวครอบหัว...
เลยอดนุ่งพลีตไปตลอดสี่ปี
กำลังจะส่งข้อความ เห็นข้อความของคุณเพ็ญชมพูเข้าเสียก่อน เลยมาเติม
เรื่องตีกันระหว่างวิศวะกับอักษร มีจริงค่ะ คนนอกคณะอาจไม่รู้ เรื่องโยนบกนั้นหนุุ่มสีเทาชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ โดนเข้า เพราะเป็นสาราณียกรหนังสือที่มีเนื้อหารุนแรงต่อศาสนา และดูถูกเพศแม่