นอกจากความสงสัยเช่นเดียวกับคุณเจ้าของกระทู้แล้ว....
ในความเห็นของท่านอาจารย์เทาชมพูที่13นั่นบ้านใครกันล่ะครับนั่น.....แค่เห็นก็สยองขวัญพิลึกครับ....

ชื่อ บ้านเขียว เป็นบ้านขุนพิทักษ์บริหาร (พึ่ง มิลินทวนิช) นายอำเภอผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ค่ะ
บ้านของขุนพิทักษ์บริหารเป็นบ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 อายุเกินกว่า 100 ปี สถาปัตยกรรมเป็นบ้านไทยที่ได้รับอิทธิพลทางตะวันตก ซึ่งน่าสนใจมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย (ด้านหลังติดกับถนนในหมู่บ้าน ) หมู่ที่ 2 ตำบลอมฤตอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เดินทางจากตัวอำเภอผักไห่ไปทางทิศเหนือตามถนนลาดยาง เพียง 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปในบริเวณวัดอมฤต แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านโรงสีเข้าไป)
บริเวณที่ตั้งมีเนื้อที่ทั้งหมด 1 ไร่ 72ตารางวา ด้านหลังบ้านที่ติดกับถนนปักป้ายประกาศว่าเป็นที่ดินราชพัสดุของ กรมธนารักษ์ ลักษณะบ้านเป็นบ้านทรงปั้นหยาสองชั้นยกพื้นสูง ปลูกสร้างด้วยไม้สัก (บางส่วนเป็นตึก) ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า”บ้านเขียว” (เพราะเดิมทาสีเขียวเนื่องจากขุนพิทักษ์เกิดวันพุธ) หลังคามุงกระเบื้องสีน้ำตาลเข้มสภาพภายใน ยังแข็งแรงแต่สภาพภายนอกทรุดโทรม
ประตูหน้าต่างมีลวดลายแกะสลักอย่างประณีตบรรจง พื้นเป็นกระดานไม้สักแผ่นใหญ่ ชั้นล่างมีห้องโถงใหญ่1 ห้อง (มีตู้ไม้สัก 3 หลัง) ห้องเล็ก 2 ห้อง (ในห้องเล็กใกล้ระเบียงหลังบ้าน มีตู้เหล็กนิรภัย สูงถึง 1 เมตร ปิดล็อกไว้) และห้องใต้บันไดอีก 1 ห้อง ส่วนชั้นบนมีห้องโถง 1 ห้อง ห้องเล็ก 3 ห้อง และห้องซอยด้านหลังอีก 1 ห้อง ในห้องเล็กที่ใกล้กับทางลงมีห้องแยกออกไปอีก เป็นห้องที่ใช้ประตูเดียวกับห้องแรก ภายในห้องแยกมีห่วงเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลางเหล็ก 1 นิ้วตรึงอยู่กับพื้นมุมห้อง ใช้สำหรับล็อกโซ่ล่ามกำปั่นสมบัติ (ปัจจุบันยังสามารถหาดูห่วงเหล็กลักษณะนี้ได้ในเรือนเก่าหลังอื่น ๆ เช่นเรือนหลังกลางของนายแป้น สุดสนอง เลขที่ 23 หมู่ที่ 5 ตำบลผักไห่ อำเภอผักไห่) หน้าต่างและประตูใช้กลอนไม้แบบโบราณ
ด้านหน้ามีสะพานไม้เชื่อมไปที่ศาลาใหญ่ริมแม่น้ำ และเรือนพักคนรับใช้หลังเล็ก (นายฟื้น ผู้ดูแลบ้านคนสุดท้ายมีอาชีพทำขนมจีนขาย ได้เสียชีวิตที่เรือนหลังเล็กนี้ หลังจากนายฟื้นเสียชีวิต นางวาสน์ซึ่งเป็นภรรยานายฟื้นและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ได้ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชรา และไม่มีใครพบอีกเลย ส่วนเรือนหลังใหญ่ไม่ปรากฏว่า เคยมีผู้เสียชีวิตในเรือน แม้แต่ขุนพิทักษ์ฯเมื่อชราภาพใกล้สิ้นอายุขัย ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯระยะหนึ่ง จึงเดินทางกลับบ้านทางเรือ และสิ้นชีวิตในเรือระหว่างเดินทาง)
--------------------------------------------------------------------------------
หลังจากขุนพิทักษ์ฯสิ้นชีวิตแล้ว ลูกหลานย้ายไปอยู่ภูมิลำเนาอื่น ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แม่จ่างภรรยาท่านขุนจึงได้ยกบ้านให้หลวง เป็นที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ เมื่อ พ.ศ.2505 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มอบเข็มชั้นเครื่องหมายทองประดับเพชรให้กับนางจ่างด้วย
http://phakhai.ayutthaya.police.go.th/about-phakhai/phakhai-green-home/